ThaiPublica > คอลัมน์ > ประสบการณ์ชีวิตวัยรุ่น จากซึมเศร้าสู่ไบโพลาร์

ประสบการณ์ชีวิตวัยรุ่น จากซึมเศร้าสู่ไบโพลาร์

30 มีนาคม 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

30 มีนาคมของทุกปีถูกจัดให้เป็นวันเวิลด์ไบโพลาร์ ซึ่งนอกจากนี้ยังเป็นวันเกิดของ “วินเซนต์ แวนโก๊ะ” ด้วย ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพจิตกันมากยิ่งขึ้น แต่สุขภาพจิตยังได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากสุขภาพกาย เวลาป่วยทางใจ ไม่เหมือนป่วยทางกายที่มีคนเอาดอกไม้ไปให้ เอากระเช้ามาเยี่ยม อีกเช่นกัน เรามักตรวจสุขภาพกายเป็นประจำ แต่กับสุขภาพจิต เรากลับปล่อยปละละเลย หลายปีมานี้เราได้เห็นว่า คนในสังคมยอมรับว่าตัวเองเป็นซึมเศร้าได้มากขึ้น และกล้าไปหาจิตแพทย์กันมากขึ้น ซึ่งเป็นสถิติที่น่าดีใจ แต่ในขณะที่โรคซึมเศร้าถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย โรคไบโพลาร์กลับกลายเป็นคำไว้ด่าและความไม่เข้าใจ ทำให้โรคไบโพลาร์ คนยังไม่รู้จักเท่าโรคซึมเศร้า

คำว่าไบโพลาร์ยังคงเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคม บทความนี้จึงชวนมาสำรวจโรคไบโพลาร์จากประสบการณ์ตรงของวัยรุ่นที่เป็นถึงเรื่องราว การรักษา และการอยู่ร่วมกับสังคม

“เราหน้าตาดำ ทาปากดำ แต่งคร็อปท็อปไปเดินจตุจักร คนมองกันหมด มาคิดถึงตอนนี้แล้วอายมาก” ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงวันที่มีอาการแมเนีย ก่อนจะรู้จากหมอในภายหลังว่า เธอเป็นไบโพลาร์

“ช่วงแมเนียเราพูดเร็วมาก พูดเป็นภาษาอังกฤษ แฟนก็คุยอังกฤษใส่ แต่ไม่มีใครรู้ว่านี่คือป่วยอยู่ อยากทำอะไรเยอะไปหมด เราไปทำสบู่ ไปเจอเพื่อนที่ไม่ค่อยได้คุยกัน และนอนน้อยมาก” สิ่งที่กล่าวมา เธอกล่าวว่าขัดแย้งกับบุคลิกปกติของเธอที่เป็นคนค่อนข้างเก็บตัว “เรารู้ตัวว่าเป็นซึมเศร้า แต่ไม่คิดว่ามันจะพัฒนากลายเป็นไบโพลาร์ จนไปเช็กอัปกับหมอ”

โรคไบโพลาร์ หรืออารมณ์สองขั้ว ยังมีประเภทย่อยๆ ลงไปอีก แต่หลักๆ คือ มีด้านเศร้าซึมและด้านคึกคัก ซึ่งด้านหลังหลายคนที่ประสบกับโรคนี้มีพฤติกรรมคล้ายกัน คือ พูดเร็ว มีปัญหาด้านการทำงาน หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ และบางทีอารมณ์ดีมากจนไฮเปอร์ ซึ่งตรงกับที่ผู้ให้สัมภาษณ์บรรยายถึงตนเอง อารมณ์แปรปรวนนี้สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง และโรคนี้ไม่ใช่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เป็นแป๊บๆ หาย แต่เป็นกันเป็นสัปดาห์ๆ

“มันจะใช้เงินเยอะโดยไม่รู้ตัว อยากซื้อนู่นซื้อนี่เต็มไปหมด และโมโหง่าย อาจจะโชคดีที่ตอนนั้นไม่ค่อยมีเงิน” เธอยังเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้พบหมอว่า “หมอประเมินว่า คนในครอบครัวเราที่เคยพามาหาด้วยกันก็มีโรคทางอารมณ์” ไบโพลาร์ยังเป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดูในวัยเด็กด้วย

หลังจากผู้ให้สัมภาษณ์รู้ตัวว่าเป็นไบโพลาร์ก็ปรับยาที่กินอยู่เป็นประจำและรักษาต่อเนื่อง เธอเล่าว่าอาการแมเนียยังวนมาอีกครั้ง และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะกลับมาอีกในอนาคต “แต่ตอนนี้เรารู้แล้ว ถ้าวันหนึ่งมีอาการคล้ายๆ ที่เคยเป็น ก็คิดว่าสังเกตตัวเองได้ อย่างน้อยแฟนก็ช่วยสังเกตได้” แฟนของเธอเป็นอีกคนนอกจากครอบครัวที่พาเธอไปพบจิตแพทย์เป็นประจำ เข้าไปนั่งฟังและให้ข้อมูลเมื่อจิตแพทย์สอบถามด้วย

“หลายคนคงอยากเลิกกับแฟนที่ป่วย เราก็เคยอ่านในอินเทอร์เน็ตบ่อยๆ เคยคุยเรื่องนี้กับแฟนด้วย แฟนบอกว่า กลัวเลิกกันแล้วคนอื่นจะไม่เข้าใจอย่างที่เขาเข้าใจเรา” ความเข้าใจและการดูแลจากคนใกล้ชิดถือเป็นหัวใจสำคัญให้ผู้ประสบกับภาวะดังกล่าวนี้ผ่านพ้นช่วงเวลาต่างๆ ไปได้

“ครอบครัว แฟน หรือคนที่เราสุงสิงด้วยมีผลมาก หลังวันที่หมอบอก แฟนเราก็ซื้อหนังสือเกี่ยวกับไบโพลาร์มาอ่านทันทีเลย ถึงเนื้อหาในหนังสือจะเหมือนในเน็ตทุกประการ แต่ก็รู้สึกว่าเขาเอาใจใส่” นอกจากนี้ การหมั่นดูแลให้ผู้ป่วยทานยาตามที่แพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเอง และพยายามทำความเข้าใจในพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงที่เป็นแมเนียและช่วงเศร้าซึมว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความเจ็บป่วยไม่ใช่นิสัยส่วนตัว รวมถึงคอยควบคุมการแสดงออก การใช้จ่าย และกิจกรรมเสี่ยงๆ ทั้งหลายให้ผู้ป่วยปลอดภัย

“ทุกวันนี้โรคทางจิตเวช หลายคนเอาไปใช้เป็นคำด่า ทีนี้เลยทำให้คนที่เค้าป่วยด้วยโรคนั้นจริงๆ นอกจากคนอื่นจะเข้าใจมันแบบผิดๆ แล้ว ยังทำให้เค้ารู้สึกแย่และไม่กล้าบอกใคร ไม่กล้าไปหาหมอ เราว่า การยอมรับว่าตัวเองป่วยด้วยโรคที่คนอื่นใช้เป็นคำด่านี่ยากอยู่นะ” แม้สังคมจะมีความเข้าใจโรคดังกล่าวมากขึ้น แต่เมื่อพบว่ามันเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว สารพัดบทความที่เคยอ่านผ่านๆ ก็จำเป็นต้องกลับมาทำความเข้าใจใหม่

“ช่วงเศร้ามันทรมานมาก ช่วงแมเนียก็ทรมานอีกแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นความทรมานหลังจากช่วงแมเนียจบลง แล้วพบว่าตนเองเผลอทำอะไรลงไปบ้าง แต่สุดท้ายมันก็จะผ่านไปได้ ตอนนี้เรามั่นใจว่า ถ้ามันกลับมาอีกครั้ง เราจะดีขึ้นแน่นอน” เธอกล่าวกับทีมงานหลังยื่นใบนัดแพทย์ที่จะเดินทางไปพบช่วงบ่ายนี้ให้ดู