ThaiPublica > สู่อาเซียน > “โรคระบาด”… ปัญหาสาธารณสุขของ “เพื่อนบ้าน” ที่ไม่อาจมองข้าม!

“โรคระบาด”… ปัญหาสาธารณสุขของ “เพื่อนบ้าน” ที่ไม่อาจมองข้าม!

14 มกราคม 2025


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เจ้าหน้าที่กาชาดลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่ชาวเมืองย่างกุ้ง หลังเกิดการระบาดของโรคบิดและอหิวาตกโรค เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 ที่มาภาพ : https://burmese.dvb.no/post/659467

การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคภายในพื้นที่เมืองใหม่ “ฉ่วยก๊กโก” จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2567 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ในอำเภอแม่สอดและแม่ระมาด จังหวัดตาก ของไทย เกิดความวิตกกังวลไม่น้อย

ข้อมูลล่าสุดลจากเพจ “เรื่องเล่าหมอชายแดน” ที่ได้โพสต์ไว้เมื่อคืนวันพุธที่ 8 มกราคม 2568 มีเนื้อหาดังนี้

“ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2567 จนถึงวันนี้ เราได้ตรวจเพาะเชื้ออุจจาระของผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียไปทั้งสิ้น 753 ตัวอย่าง พบผลบวกอหิวาตกโรคในกลุ่มที่เป็นคนไข้ 4 ราย พาหะ 2 ราย ซึ่งเป็นตามข่าวที่สื่อต่างๆได้เสนอไป เราไม่มีคนไข้อหิวาตกโรคมานานกว่า 17 วันแล้ว โดยคนสุดท้าย ผลบวกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567”

“เรื่องเล่าหมอชายแดน” เป็นเพจที่จัดทำโดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งนอกจากต้องดูแลคนไข้ที่เป็นคนในอำเภอแม่สอดและพื้นที่ใกล้เคียงของจังหวัดตากแล้ว ยังมีภารกิจที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ข้ามมาจากฝั่งเมียวดี รวมถึงแรงงานชาวเมียนมา ที่ข้ามมาทำงานหรืออาศัยอยู่ในแม่สอดอีกด้วย

ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีหลายครั้งที่ต้องมีการส่งทีมบุคลากรการแพทย์จากอำเภอแม่สอด หรือส่งเครื่องไม้เครื่องมือ เวชภัณฑ์ รวมถึงยารักษาโรค ข้ามชายแดนไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เพราะมีความจำเป็น

กรณีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเขตเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโกรอบนี้ ก็เป็นเช่นนั้นด้วยเช่นกัน

“สาธารณสุขไทยให้การช่วยเหลือฝั่งเมียนมาด้วยยาและเวชภัณฑ์จำนวนหนึ่ง เมื่อเกิดการระบาดในเขตพื้นที่ชายแดนจำเป็นต้องช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากไม่สามารถหาอุปกรณ์ได้ทัน และเป็นการป้องกันไม่ให้การติดเชื้อลุกลามระบาดเข้าสู่ประเทศไทย” เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อความ ที่เพจ “เรื่องเล่าหมอชายแดน” โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567…

“ฉ่วยก๊กโก” เป็นเมืองใหม่ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยนักลงทุนชาวจีนในเขตบ้านก๊กโก ทางตอนเหนือของตัวเมืองเมียวดี ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอแม่สอดและแม่ระมาด จังหวัดตาก

แต่ทุกวันนี้ เมืองใหม่ฉ่วยก๊กโกกลับถูกใช้เป็นที่ตั้งหรือฐานใหญ่ของเหล่าสแกมเมอร์ หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ของพวกจีนเทา ประมาณกันว่ามีคนจีนและชาวต่างชาติ รวมถึงเด็กหนุ่ม-สาวชาวไทย ที่ทำหน้าที่คอลเซนเตอร์ คอยโทรศัพท์หลอกลวงเงินจากผู้คนในหลายประเทศทั่วโลก ทำงานอยู่ในเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโกหลายพันคน ข้อมูลบางแหล่งบอกว่ามีนับหมื่นคน มีทั้งพวกที่ถูกหลอกหรือถูกลักพาตัวมาทำงาน และพวกที่ตั้งใจข้ามมาทำงานเอง เพราะเป็นงานที่ทำรายได้สูง

โพสต์ของ Drama-addict เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ระบุว่าการใช้ชีวิตของพวกจีนเทาในเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโก “สกปรกมาก”

ด้วยความที่พื้นที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นฐานในการก่ออาชญากรรม จึงส่งผลต่อเนื่องให้คุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโกอยู่ในระดับต่ำ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567 หลังเกิดข่าวการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโกปรากฏออกมาไม่ถึง 1 สัปดาห์ เพจ Drama-addict มีโพสต์ที่อ้างอิงว่าเป็นข้อมูลจากลูกเพจชาวไทยคนหนึ่งที่ข้ามไปทำงานในเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโก

เนื้อความในโพสต์บอกว่า พฤติกรรมและการใช้ชีวิตของพวกจีนเทาในนี้ “สกปรกมาก” การกินอยู่หลับนอน ไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะ ขับถ่ายเรี่ยราด อาหารที่กินก็แปลกประหลาด พิสดาร ในเมืองมีแมลงวันบินว่อนอยู่เต็มไปหมด

รุ่งขึ้น วันที่ 23 ธันวาคม 2567 เพจ “เอก เกียรติศักดิ์ แม่สอด..” ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นซึ่งประจำอยู่ในอำเภอแม่สอด ได้โพสต์ภาพชุด https://www.facebook.com/share/p/14ACXy1E1p/ ซากเศษขยะที่ลอยอยู่ในแม่น้ำเมยและตามริมตลิ่ง ส่วนหนึ่งของคำบรรยายภาพชุดนี้ เขียนว่า

ภาพชุดขยะในแม่น้ำเมย ที่เพจ “เอก เกียรติศักดิ์ แม่สอด..” เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567

“ทุกๆวันประเทศเพื่อนบ้านจะระดมทิ้งขยะเน่าจำนวนมากลงแม่น้ำเมย จนขยะลอยเต็มน้ำมีกลิ่นเน่าเหม็น มองจากฝั่งแม่สอดเห็นชัดเจน บางวันก็มีศพลอยอย่างสโลโมชั่น ปัจจุบัน แม่น้ำเมยกั้นพรมแดนไทย-เมียนมา ฝั่งเมียวดี ขยะเต็มริมตลิ่งยาวตลอดแนวชายแดนกลายเป็นแหล่งแปลงร่างเชื้อโรคมากมาย ปัญหานี้สะสมมานาน”…

ปัญหาสาธารณสุขในเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโก ไม่ใช่เพิ่งปรากฏเป็นข่าวครั้งแรกจากการระบาดของอหิวาตกโรคเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เท่านั้น

ก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2567 เคยมีการตรวจพบผู้ป่วยวัณโรคจำนวนมากในพื้นที่เมืองใหม่ฉ่วยก๊กโก ถึงขั้นที่ว่า… “จากจำนวนคนที่มาเอกซเรย์ปอด 100 คน พบว่ามีผู้ป่วยเป็นวัณโรคถึง 50 คน” ทำให้ต้องมีการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายแห่งในอำเภอแม่สอด ให้คอยเฝ้าระวัง และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน

รายงานข่าวจากสื่อที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 อ้างอิงคำสัมภาษณ์ของ นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ที่ยืนยันว่า ในที่ประชุมร่วมเครือข่ายสาธารณสุขในอำเภอแม่สอด ซึ่งมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีการรายงานข้อมูลเรื่องการการติดเชื้อวัณโรคในชุมชนชาวจีนจริง โดยเป็นการรายงานเพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวัง ป้องกันการระบาด

……

เมืองใหม่ฉ่วยก๊กโกเป็นเพียงจุดหนึ่งของเมียนมาที่เกิดปัญหาสาธารณสุขรุนแรง จนเรื่องแดงกลายเป็นข่าวใหญ่ข้ามมาแพร่หลายตามหน้าสื่อไทย กระตุ้นให้คนไทยจำนวนมากเริ่มตื่นตัว หันมาให้ความสนใจสถานการณ์นี้

แต่ในเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีเขตแดนกว้างถึง 676,578 ตารางกิโลเมตร มีชายแดนติดกับประเทศไทยยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่ชาวบ้านยังต้องยังต้องเผชิญกับปัญหาสาธารณสุขอย่างหนัก แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวในเมืองไทย หรือมีแต่ก็ไม่เป็นข่าวใหญ่

คำแนะนำเพื่อทำน้ำเกลือแร่แบบง่ายๆ ที่องค์กรอนามัยรัฐชินเผยแพร่ในชุมชนออนไลน์ให้ชาวบ้านช่วยตัวเอง หลังเกิดการระบาดของโรคบิดในพื้นที่สู้รบที่ความช่วยเหลือเข้าถึงได้ลำบาก ที่มาภาพ : เพจข่าว Zalen

ปัญหาสาธารณสุขที่พบบ่อย คือการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหาร!

วันที่ 16 มิถุนายน 2567 องค์กรอนามัยรัฐชิน (Chin Health Organization) หรือ CHO ประกาศว่า ในเมืองปะแลตวะและมินดัท 2 เมืองทางตอนใต้ของรัฐชิน กำลังเกิดการระบาดของโรคบิด (dysentery) อย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจากโรคบิดแล้วถึง 14 รายใน 2 เมืองดังกล่าว

ขณะที่เกิดโรคบิดระบาด ทั้งเมืองปะแลตวะและมินดัท ล้วนเป็นพื้นที่ซึ่งมีการสู้รบอย่างรุนแรง โดยในเมืองมินดัทเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ PDF หรือกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงา ที่รบกับกองทัพพม่า ส่วนเมืองปะแลตวะซึ่งอยู่ติดกับรัฐยะไข่นั้น กองทัพอาระกัน (AA) ได้ประกาศชัยชนะต่อกองทัพพม่า โดยสามารถเข้าควบคุมพื้นที่เมืองปะแลตวะเอาไว้ได้ทั้งหมดแล้วตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2567

บิดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัว ซึ่งมาจากอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือไม่ได้รับการปรุงให้สุก เมื่อติดเชื้อจะมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง มีการถ่ายเหลวเหมือนถ่ายไม่สุด มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าพบในเด็กอาจมีอาการชักร่วมด้วย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดย CHO ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคบิด อยู่ที่ 30-50%

ต้นเหตุการระบาดของโรคบิด นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการกินอยู่ของประชาชนแล้ว สถานการณ์สู้รบที่เกิดขึ้นใน 2 เมืองทำให้มีการปิดกั้นถนนหลายเส้นทาง เวชภัณฑ์และการรักษาพยาบาลเข้าถึงได้ลำบาก หลายพื้นที่ขาดแคลนยารักษาโรค CHO จึงใช้วิธีเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ระบาดสามารถป้องกันตนเองได้ในระดับหนึ่ง

ไม่เฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีการสู้รบ ในเมืองหลักอย่างกรุงย่างกุ้งก็ยังตรวจพบการระบาดของโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ได้เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคและโรคบิด ในเขตตาเกต๊ะและเขตดอโบ่ง ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงย่างกุ้ง พบผู้ป่วยซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่มากถึง 230 คนภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ แต่การระบาดของโรคยังไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต ฝ่ายสาธารณสุข เทศบาลย่างกุ้ง ได้สั่งปิดร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านขายขนมจีน ร้านขายขนม หลายสิบแห่งเป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบและทำความสะอาด

ต้นเดือนกันยายน 2567 ได้เกิดการระบาดของโรคบิดในเมืองไจก์คะมี เมืองชายทะเลในอำเภอตานพยูซะยะ รัฐมอญ ห่างจากชายแดนไทยด้านอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ประมาณ 105 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย

ปลายเดือนตุลาคม 2567 พบการระบาดของโรคบิดที่เมืองปอง เมืองชายทะเลอีกแห่งหนึ่งของรัฐมอญ ห่างจากชายแดนด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประมาณ 120 กิโลเมตร มีผู้ป่วยอย่างน้อย 70 คน แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต…

โรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหาร ก็ไม่ใช่โรคระบาดเพียงประเภทเดียวของปัญหาสาธารณสุขในเมียนมา

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 สำนักข่าว Kachin Waves รายงานว่า พื้นที่โดยรอบเมืองหล่ายจ่า รัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์กรเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organisation หรือ KIO) และฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army หรือ KIA) ได้เกิดการระบาดอย่างหนักของโรคมาลาเรียและไข้หวัดใหญ่ มีการตรวจพบผู้ป่วยมากนับหลายร้อยราย

เมืองหล่ายจ่าตั้งอยู่ชายแดนรัฐคะฉิ่น-จีน ฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองหยิงเจียง หรือชื่อในภาษาไตว่า “เมืองหล้า” พื้นที่ระดับอำเภอของเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน

หลายพื้นที่ของรัฐคะฉิ่น โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบเมืองหล่ายจ่า ล้วนเป็นสมรภูมิสู้รบของกองทัพเอกราชคะฉิ่นกับกองทัพพม่า

พื้นที่โดยรอบเมืองหล่ายจ่า นอกจากเป็นที่ตั้งของชุมชนดั้งเดิมของชาวคะฉิ่นแล้ว ยังมีค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบภายใน (Internally Displaced People หรือ IDPs) ตั้งอยู่อีกอย่างน้อย 4 แห่ง

โรงพยาบาลประจำเมืองหล่ายจ่า รัฐคะฉิ่น ที่มาภาพ : Kachin Waves

ฝ่ายสาธารณสุข KIO รายงานว่า ได้พบผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายเจ่หย่านและค่ายพงลูนหย่านถึงกว่า 700 ราย ทั้งหมดถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลประจำเมืองหล่ายจ่า นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยที่เป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยรวมอยู่ด้วยอีกจำนวนมาก ผู้ป่วยเหล่านี้ มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ตามรายงานในตอนนั้นของ Kachin Waves ระบุว่าช่วงหัวค่ำของแต่ละวัน บริเวณด้านหน้าของโรงพยาบาลหล่ายจ่า สามารถพบเห็นภาพผู้ป่วยยืนต่อแถวกันยาวเหยียดเพื่อรอรับยาต้านมาลาเรียที่เจ้าหน้าที่นำมาแจก

Kachin Waves ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นมา แผนกคนไข้นอกของโรงพยาบาลหล่ายจ่า มีผู้ป่วยมาพบแพทย์เฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 900 คน ในจำนวนคนไข้นอกเหล่านี้ มีสัดส่วนของคนที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรียและไข้หวัดใหญ่มากที่สุด

โรคมาลาเรีย หรือไข้ป่า หรือไข้จับสั่น เกิดจากเชื้อโปรโตซัว กลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium) เข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วย โดยมียุงก้นปล่องตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปหลังถูกยุงกัด ระยะแรกจะมีไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เชื้อจะเข้าสู่สมอง ทำให้มีอาการซึม ชัก น้ำตาลในเลือดต่ำ ไตวาย น้ำท่วมปอด มีโอกาสเสียชีวิตสูง…

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าว Kantarawaddy Times ของชาวกะเหรี่ยงแดงในรัฐกะยา มีรายงานว่า ได้เกิดโรคผิวหนังระบาดอย่างรุนแรงในตำบลดอตะมะจี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดดีมอโซ รัฐกะยา ส่งผลให้ชาวบ้านกว่าครึ่งที่อาศัยอยู่ในตำบลนี้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่างป่วยเป็นโรคผิวหนังกันถ้วนหน้า โดยสัดส่วนของผู้ป่วยที่เป็นเด็กมีมากที่สุด

ตำบลดอตะมะจีอยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 50 กิโลเมตร (ดูแผนที่ประกอบ) ปัจจุบันมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 800 คน ในปี 2566 พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นสมรภูมิสู้รบหนักระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน ทั้งของรัฐบาลเงาและของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง ทำให้ชาวบ้านจำต้องละทิ้งบ้านเรือน อพยพไปหลบภัยอยู่ที่อื่น เมื่อสถานการณ์สงบ ชาวบ้านกลับมายังหมู่บ้านของตนอีกครั้ง พบว่าแหล่งน้ำหลักที่ชาวบ้านเคยใช้บริโภค ใช้ดื่มกิน อยู่ในสภาพที่สกปรกมาก เพราะถูกทิ้งร้างมานาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคผิวหนังครั้งนี้

โรคผิวหนังเริ่มพบการระบาดในตำบลดอตะมะจีตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาชาวบ้านต้องช่วยตัวเองด้วยการหาซื้อยามากินเอง และรับยาจากหน่วยแพทย์อาสาที่นำไปให้ชาวบ้าน แต่จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน สถานการณ์ยังไม่ทุเลาลง ตรงข้ามกลับยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ที่ตั้งตำบลดอตะมะจีที่เกิดโรคผิวหนังระบาด อยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 50 กิโลเมตร
……

ปัญหาสาธารณสุขของเมียนมาส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากความผันผวนของภูมิอากาศแบบสุดโต่งตลอดทั้งปี ในปี 2567 มีทั้งความแห้งแล้งจนต้องปันส่วนน้ำกินน้ำใช้ อากาศที่ร้อนจัดจนอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นติดอันดับ 1 ในโลกในเดือนเมษายน รวมถึงฝนและพายุที่รุนแรงจนทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม กินบริเวณกว้าง

แต่อีกปัจจัยหนึ่งและเป็นปัจจัยหลักที่มีบทบาทสำคัญ คือความขัดแย้งทางการเมือง จนกลายเป็นสงครามภายใน ทำให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ไม่สามารถถูกนำส่งไปได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศ

การอพยพหนีภัยสงครามทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านตกต่ำ การที่ผู้คนจำนวนมากต้องพากันไปใช้ชีวิตซ่อนตัวอยู่ตามป่า ตามเขา เพื่อลี้ภัย ทำให้เชื้อโรคที่เคยหายไปจากเขตเมืองมาเป็นเวลานาน มีโอกาสฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง

หลายปีมานี้ มีชาวเมียนมานับล้านคนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเป็นแรงงานและเพื่อลี้ภัยสงคราม ประเทศไทยและเมียนมามีชายแดนติดกันยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ตลอดแนวชายแดนมีช่องทางที่เปิดโอกาสให้ชาวเมียนมา สามารถข้ามมาหลบซ่อนตัวอยู่ในไทยแบบผิดกฎหมายอีกหลายสิบจุด

การที่หลายพื้นที่ในเมียนมา กำลังเผชิญกับปัญหาหลากหลายในระบบสาธารณสุข จึงไม่ใช่สถานการณ์ที่ควรมองข้าม…

อ่านเพิ่มเติม

  • <อากาศที่แปรปรวนแบบ "สุดโต่ง" ตามแนวแม่น้ำอิระวดี!