สุนิสา กาญจนกุล
นอกจากข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้าในแง่สุขภาพแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งยังเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุที่ยากต่อการจัดการ ทั้งพลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสลายยาวนานและแบตเตอรีลิเธียมไอออนซึ่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์
ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของบุหรี่ไฟฟ้าหนักหนาจนกระทั่งสหราชอาณาจักรตัดสินใจห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งในเดือนมิถุนายนปีหน้า เพราะแต่ละวันขยะจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งมีมากกว่า 1 ล้านชิ้นในแต่ละวัน เฉลี่ยแล้วมีการทิ้งวินาทีละ 13 ชิ้น ขณะที่ในสหรัฐฯ แม้จะมีอัตราการทิ้งน้อยกว่า แต่โดยเฉลี่ยแล้วก็ยังมีการทิ้งมากถึงวินาทีละ 5.7 ชิ้น

หลายฝ่ายรุมรังเกียจ
บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมๆ กัน อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเมินกันว่ายอดขายบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2023 มีมูลค่ามากกว่า 28 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เดิมทีบุหรี่ไฟฟ้าออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่พยายามเลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของบุหรี่ไฟฟ้า แต่ต่อมาบุหรี่ไฟฟ้าตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของหลายฝ่ายเพราะหลายสาเหตุด้วยกัน
ประการแรกเป็นเพราะผู้ผลิตโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างชาญฉลาดจนเป้าหมายของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเบี่ยงเบนไปจากเดิม แทนที่จะช่วยลดการเสพติดบุหรี่ กลับกลายเป็นการดึงดูดคนกลุ่มใหม่ให้มาใช้ผลิตภัณฑ์นี้
บุหรี่ไฟฟ้าดูเป็นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เมื่อประกอบกับภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัยและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทั้งในเรื่องรสชาติและรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจ บุหรี่ไฟฟ้าจึงส่งผลเชิงจิตวิทยาในแง่บวกต่อผู้สูบมากกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิมที่มีภาพจำว่าน่ารังเกียจและเป็นอันตราย
แต่ในความเป็นจริงนั้น แม้ว่ากลไกการทำงานจะทำให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารอันตรายจากการเผาไหม้บางชนิด เช่น น้ำมันดินและคาร์บอนมอนอกไซด์
แต่สารประกอบอื่นๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน ที่สำคัญ ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคเล็กกว่า ทำให้ถูกสูดเข้าไปในปอดได้ลึกกว่าและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วกว่า
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเลือกขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มเยาวชนของบุหรี่ไฟฟ้า จนกระทั่งถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากการออกแบบบุหรี่ไฟฟ้าให้มีสีสันสดใส รูปแบบดึงดูดใจ รวมถึงปรุงแต่งไอระเหยให้มีกลิ่นผลไม้และหมากฝรั่ง คือการจงใจออกแบบเพื่อดึงดูดเด็กๆ ให้หันไปทดลองบุหรี่ไฟฟ้าอย่างชัดเจน
สิ้นเปลืองทรัพยากรมีค่า
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่บรรจุภัณฑ์ภายนอกทำจากพลาสติกเป็นหลัก และใช้พลังงานจากแบตเตอรีลิเธียมไอออนเพื่อให้ความร้อนแก่ขดลวดโลหะ ซึ่งจะทำให้ของเหลวที่มีสารนิโคตินหรือผลิตภัณฑ์กัญชากลายเป็นไอโดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป
บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งจะมีของเหลวและนิโคตินสำหรับสูดได้ราว 600 ครั้ง เมื่อของเหลวที่บรรจุอยู่ถูกใช้หมด ก็จะไม่สามารถเติมได้อีก ส่วนแบตเตอรีก็เป็นแบบไม่สามารถชาร์จไฟซ้ำได้ บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทั้งสิ้นเปลืองวัสดุในการผลิตและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิซีดีซีซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนโครงการสาธารณสุข ระบุว่ายอดขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023 มีตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 500 % และเป็นบุหรี่ไฟฟ้าประเภทที่คนหนุ่มสาวนิยมใช้มากที่สุด
โดยในสหรัฐฯ ยอดขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มเป็น 181.2 ล้านโดยประมาณ ในปี 2024 ดังนั้น เฉลี่ยแล้วจะมีการทิ้ง 5.7 ชิ้น ทุก 1 วินาที
ขณะที่ยูเอ็นระบุว่า แต่ละปี ทั่วโลกมีขยะจากบุหรี่ไฟฟ้ามากถึง 844 ล้านชิ้น
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าใช้วัสดุอย่างสูญเปล่าและสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ เนื่องจากต้องใช้โลหะมีค่าซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว เช่น ลิเธียม อลูมิเนียม เหล็ก และทองแดง แต่กลับต้องลงเอยที่ถังขยะในท้ายที่สุด ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรอันมีค่าอย่างน่าเสียดาย เพราะกว่าจะได้บุหรี่ไฟฟ้าแต่ละชิ้น ต้องมีกระบวนการผลิตพลาสติก การขุดหาวัสดุ การขนส่งและบรรจุหีบห่อ จากนั้นยังต้องจัดการกับขยะเมื่อหมดอายุการใช้งานอีกด้วย
สร้างภาระหนักให้สิ่งแวดล้อม
ถึงแม้บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งจะมีขนาดเล็กแต่ก็เป็นขยะที่ซับซ้อนยากต่อการจัดการ เพราะประกอบไปด้วยขยะพลาสติก (ปลอกพลาสติกด้านนอก) ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (แผงวงจรและแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน) และขยะสารเคมีอันตราย (นิโคตินและสารอื่นๆ ในของเหลว)
นอกจากจะมีขนาดเล็กแล้วยังมีส่วนประกอบมากมายหลายชิ้น ลำบากในการแยกส่วน ทำให้ยุ่งยากในการรีไซเคิล บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งจึงถูกนำไปรีไซเคิลเพียงเล็กน้อยหรือแทบจะไม่มีการรีไซเคิลเลย
ที่สำคัญ แบตเตอรีลิเธียมไอออนเป็นอันตรายอย่างยิ่งหากถูกบดทับหรือทำให้เสียหาย เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ในรถบรรทุกขยะ ศูนย์รวบรวมขยะและศูนย์รีไซเคิลได้ ทั้งนี้ มีรายงานว่าอัตราการเกิดไฟไหม้ในสถานที่เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยมีสาเหตุจากแบตเตอรีจากบุหรี่ไฟฟ้า
นอกจากนั้น วัสดุที่ใช้ในการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าและสารเคมีที่ใช้ในไอระเหยยังอาจเป็นอันตรายและก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นภัยต่อสัตว์ป่าหากถูกทิ้งเป็นขยะกลางป่าเขาอีกด้วย
ในสหราชอาณาจักร ยอดขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งแต่ละสัปดาห์นั้นสูงกว่า 8.2 ล้านชิ้น เฉลี่ยแล้วมากกว่า 1 ล้านชิ้นต่อวัน เทียบเท่ากับว่าจะมีขยะถูกทิ้ง 13 ชิ้นทุก 1 วินาที นั่นหมายถึงขยะจำนวนมหาศาลที่ส่วนใหญ่ไม่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่เหมาะสม ส่งผลให้บางส่วนทะลักสู่สภาพแวดล้อม มีเพียงบางส่วนที่ถูกนำไปหมุนเวียนใช้ใหม่ และส่วนที่เหลือถูกฝังกลบ
เมื่อเป็นเช่นนี้ สหราชอาณาจักรจึงตัดสินใจประกาศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและจำกัดความแพร่หลายในหมู่เยาวชน โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2025 เป็นต้นไป จะมีแต่บุหรี่ไฟฟ้าแบบชาร์จใหม่ได้หรือมีตลับแบบรีฟิลเท่านั้นที่สามารถขายได้
ผู้จำหน่ายต้องร่วมรับผิดชอบ
เนื่องจากอังกฤษดูเหมือนจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรุนแรงที่สุด รัฐบาลจึงกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะจัดการกับปัญหาขยะจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง
นอกจากการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีการจัดตั้งจุดรวบรวมบุหรี่ไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานตามซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างร้านต่างๆ โดยเฉพาะร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลมากนัก
มาตรการที่เข้มงวดกว่าเดิมจึงน่าจะถูกกำหนดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยรัฐบาลอังกฤษตั้งใจที่จะบังคับให้ผู้ค้าออนไลน์รายใหญ่ อย่างเช่น อเมซอน อีเบย์ และบริษัทอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าก็จะถูกกดดันให้จ่ายเงินเพื่อจัดการขยะส่วนนี้เพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลอังกฤษมีแผนการที่จะปรับเปลี่ยนหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์เพื่อวัตถุประสงค์ในการรีไซเคิลเสียใหม่ เพื่อที่จะรับมือกับบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งโดยเฉพาะ
ที่ผ่านมา ในอุตสาหกรรมรีไซเคิล บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งเคยถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับของเล่น อุปกรณ์สันทนาการ และอุปกรณ์กีฬา แต่ในอนาคต จะมีการกำหนดหมวดหมู่ใหม่สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งแผนการนี้คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ปี 2026 เป็นต้นไป
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.theguardian.com/society/2024/dec/16/more-than-a-million-vapes-a-day-in-uk-thrown-away-says-research
https://www.cdcfoundation.org/pr/2024/Monitoring-E-Cigarette-Trends-in-the-United-States-Report
https://www.greenpeace.org.uk/news/are-disposable-vapes-bad-for-the-environment/
https://environmentamerica.org/pennsylvania/center/resources/vape-waste-the-environmental-harms-of-disposable-vapes/
https://www.bbc.com/news/articles/cly75xnk5exo