ThaiPublica > เกาะกระแส > ไก่ทอดและพิซซ่าซ้ำเติมวิกฤติน้ำบาดาลของสหรัฐฯ

ไก่ทอดและพิซซ่าซ้ำเติมวิกฤติน้ำบาดาลของสหรัฐฯ

30 ธันวาคม 2023


สุนิสา กาญจนกุล รายงาน

ปีกไก่ทอดและพิซซ่าหน้าชีสล้นคืออาหารที่คนอเมริกันชื่นชอบ อัตราการบริโภคไก่และชีสจึงสูงลิ่วและนับวันตัวเลขก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ต้องต่อสู้กับวิกฤติน้ำบาดาลที่รุนแรงขึ้นโดยตลอด แต่เมื่อโต๊ะอาหารเต็มไปด้วยไก่และชีส ฟาร์มเลี้ยงไก่และโคนมก็ต้องขยายพื้นที่ตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำใต้ดินอันมีค่าถูกสูบขึ้นมาเพื่อใช้ในการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์สองประเภทนี้ รวมทั้งใช้ในการทำไร่ถั่วเหลือง ข้าวโพดและอัลฟัลฟาซึ่งเป็นอาหารหลักของไก่และวัว เท่ากับเป็นการซ้ำเติมวิกฤติน้ำบาดาลในสหรัฐฯ ให้รุนแรงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

ฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมหลายด้านอย่างคาดไม่ถึง ที่มาภาพ: https://waterkeeper.org/news/how-big-poultry-in-north-carolina-became-a-pollution-threat/

เนื้อไก่โตทันเนื้อวัว

เดิมทีคนอเมริกันชื่นชอบเนื้อวัวและเนื้อหมูมากกว่าเนื้อไก่ แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แนวโน้มการบริโภคเนื้อสัตว์ของสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนแปลงจากเดิม

ไก่กลายเป็นโปรตีนที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2022 อัตราการบริโภคไก่ของชาวอเมริกันเพิ่มจาก 64.4 ปอนด์ต่อคนในปี 1990 เป็น 90.4 ปอนด์ต่อคน ในปี 2022 เฉลี่ยแล้วเท่ากับว่าคนอเมริกันกินไก่คนละครึ่งตัวทุกสัปดาห์

แผนภูมิแสดงให้เห็นว่าอัตราการบริโภคไก่ (เส้นกราฟสีเหลือง) ของชาวอเมริกันไต่สูงขึ้นโดยตลอดจนแซงหน้าเนื้อหมู (เส้นกราฟสีแดง) และทัดเทียมกับการบริโภคเนื้อวัว (เส้นกราฟสีเทาอ่อน) ขณะที่การบริโภคอาหารทะเล (เส้นกราฟสีเทาเข้ม) ค่อนข้างทรงตัว ที่มาภาพ: https://www.ers.usda.gov/data-products/chart-gallery/gallery/chart-detail/?chartId=105929

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความสะดวกสบายในการหาซื้อ ราคาที่ต่ำกว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ รวมถึงการทำตลาดของบริษัทธุรกิจทำให้ความนิยมบริโภคอาหารจานด่วนและอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อตอบสนองต่อุความต้องการ การผลิตไก่ของสหรัฐฯ จึงเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่านับตั้งแต่ปี 1990 หรือคิดเป็นปริมาณเกินกว่า 28 พันล้านปอนด์ต่อปี

ชีสได้แรงส่งจากพิซซ่า

ปริมาณการบริโภคชีสของชาวอเมริกันก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ข้อมูลจากสมาคมผลิตภัณฑ์อาหารจากนมนานาชาติ (The International Dairy Foods Association หรือ IDFA) แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันบริโภคชีสเพิ่มจาก 30.3 ปอนด์ต่อคนในปี 1990 เป็น 50.8 ปอนด์ต่อคน ในปี 2022 เฉลี่ยแล้วเท่ากับว่าคนอเมริกันบริโภคชีสคนละครึ่งปอนด์ทุกสัปดาห์

พิซซ่าคือตัวการหลักที่กระตุ้นการบริโภคชีสได้อย่างสุดยอด แต่ความนิยมใส่ชีสในแซนด์วิช สลัด พาสต้า และของว่างชนิดอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยเสริมให้การบริโภคชีสโดยรวมของชาวอเมริกันพุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

ใครจะไปคิดว่าแนวโน้มทั้งสองประการที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย กลับผูกพันกันจนกลายเป็นปมปัญหาที่ยากจะแก้ไข เหลือเชื่อที่ความคลั่งไคล้ด้านการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิมจะกลายเป็นวิบากกรรมที่กระหน่ำซ้ำเติมปัญหาสำคัญด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ แต่มันก็เป็นไปแล้ว

การผลิตสัตว์ปีกต้องใช้น้ำปริมาณมากในการเลี้ยงดูและในการแปรรูป ไม่เพียงเท่านั้น ข้าวโพดและถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารไก่ ยังเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างมากในการเพาะปลูก

ชีสซึ่งเป็นส่วนประกอบยอดนิยมของอาหารอเมริกันหลายชนิดเป็นผลผลิตจากนม การเติบโตของตัวเลขการบริโภคชีสจึงส่งผลกระทบต่อวิกฤติน้ำบาดาลของสหรัฐฯ อย่างหนัก เนื่องจากการผลิตนมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลก

การผลิตนม 1 ลิตร ต้องใช้น้ำถึง 1,800 แกลลอน

จากการสำรวจของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ พบว่า อุตสาหกรรมนมเป็นผู้ใช้น้ำบาดาลรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามในสหรัฐฯ โดยใช้น้ำบาดาลประมาณ 2.3 พันล้านแกลลอนต่อปี

น้ำบาดาลลดลงจนน่าเป็นห่วง

วิกฤติน้ำบาดาลของสหรัฐฯ เป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนานและกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ปริมาณฝนตกลดลงและอุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาณน้ำบาดาลจึงลดลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ชาวอเมริกันมากกว่าหนึ่งในสามหรือประมาณ 115 ล้านคน ต้องพึ่งพาน้ำบาดาลสำหรับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน การเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมต่างๆ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ ประเมินว่า…

น้ำบาดาลถูกสูบขึ้นมาใช้ประมาณ 82.3 พันล้านแกลลอนต่อวัน ซึ่งสูงเกินกว่าที่ธรรมชาติจะเติมน้ำกลับคืนเข้าสู่ระบบได้ทัน

การใช้อย่างฟุ่มเฟือยนี้ทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลงทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางตะวันตกของสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำบางแห่งลดลงหลายร้อยฟุตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ปริมาณน้ำบาดาลที่ร่อยหรอส่งผลกระทบถึงขั้นคุกคามแหล่งน้ำดื่ม กดดันให้หลายชุมชนต้องหันไปหาทางเลือกอื่นที่แพงกว่าในการใช้น้ำบาดาล เช่น การทำน้ำจืดจากน้ำเค็ม เกษตรกรต้องเผชิญปัญหาผลผลิตลดลง ระบบนิเวศก็สั่นคลอนเมื่อที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์แห้งแล้งกว่าที่เคยเป็น

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่

วิกฤติน้ำบาดาลของสหรัฐฯ ไม่ใช่ความท้าทายที่เอาชนะไม่ได้ เพียงแต่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง การเพิ่มความตระหนักและการใช้น้ำอย่างประหยัดโดยปัจเจกบุคคลและอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญ การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ และการสำรวจแหล่งน้ำทดแทน เช่น น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดและน้ำฝน สามารถช่วยลดการพึ่งพาน้ำบาดาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลสหรัฐฯ เองไม่ได้นิ่งนอนใจและหาทางรับมือวิกฤติน้ำบาดาลแบบรอบด้าน มีการให้ทุนสนับสนุนโครงการอนุรักษ์น้ำ ออกกฎหมายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำพร้อมกับจัดสรรเงิน 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การตรวจจับและซ่อมแซมการรั่วไหล และเทคโนโลยีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับดำเนินการวิจัยอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำใต้ดิน การทำแผนที่ชั้นหินอุ้มน้ำ และการติดตามระดับน้ำ

กฎเกณฑ์และนโยบายใหม่ๆ ถูกกำหนดขึ้นและนำมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด มีการออกข้อจำกัดการสูบน้ำบาดาลในหลายรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย และแอริโซนา กำหนดและบังคับใช้มาตรฐานระดับชาติเพื่อปกป้องน้ำใต้ดินจากการปนเปื้อนเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน

รวมถึงการสำรวจหาแหล่งน้ำทางเลือก ลงทุนด้านการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลเพื่อเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ส่งเสริมการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในการชลประทาน กระบวนการทางอุตสาหกรรม สนับสนุนระบบการเก็บกักน้ำฝนทั้งในระดับบุคคลและชุมชน

และสิ่งที่มีการทำควบคู่กันไปคือการสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนด้วยการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำและการใช้น้ำบาดาลอย่างรับผิดชอบ รวมถึงการสนับสนุนการศึกษาเรื่องน้ำในโรงเรียนเพื่อปลูกฝังคุณค่าการดูแลน้ำให้กับคนรุ่นใหม่อีกด้วย

นี่เป็นเพียงแนวทางบางส่วนที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินการ แต่จะทำสำเร็จได้คงต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การค้นหานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม และกำหนดแนวปฏิบัติด้านการจัดการน้ำอย่างเข้มงวด เพื่อถนอมรักษาสายธารชีวิตที่รินไหลอยู่ใต้ดินให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน

ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.nytimes.com/interactive/2023/12/24/climate/groundwater-crisis-chicken-cheese.html
https://www.idfa.org/news/recorddairyconsumption
https://waterkeeper.org/news/how-big-poultry-in-north-carolina-became-a-pollution-threat/
https://www.usgs.gov/mission-areas/water-resources/science/science-topics/water-availability-and-use
https://study.com/academy/lesson/environmental-problems-associated-with-groundwater.html