สุนิสา กาญจนกุล รายงาน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องหนึ่งเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้คือเรื่องสภาพอากาศร้อนจัดที่พาให้รายจ่ายค่าไฟฟ้าพุ่งทะยานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ผู้คนเผชิญปัญหาเรื่องค่าสาธารณูปโภคแพงลิบลิ่ว แต่คนมากมายในเมืองใหญ่ทั่วโลกต่างก็กำลังร่วมชะตากรรมเดียวกับคนไทยและมีบางคนที่กล้าหาญพอจะตัดสินใจบอกลาชีวิตแบบเดิมและหันไปใช้ชีวิตแบบไม่พึ่งสาธารณูปโภคส่วนกลางหรือพึ่งพาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ที่น่าทึ่งก็คือ บางคนสามารถดำรงชีวิตเช่นนั้นได้ทั้งที่อยู่กลางเมืองหลวงของประเทศที่แสนไฮเทคอย่างประเทศญี่ปุ่น และไม่ได้เพิ่งทำมา 3-4 เดือน แต่ทำมากว่าสิบปีแล้ว ซึ่งชิคาโกะ ฟูจิ คือศิลปินหญิงใจเด็ดวัย 62 ปีคนนั้น
ลองชมวิดีโอวิธีการใช้ชีวิตของ ชิคาโกะ ฟูจิ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=AIwhLYzjf-0
หายนะคือจุดเริ่มต้น
ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ปี 2011 ทางตะวันออกของญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าดับในช่วงเวลานั้น ฟูจิจึงรู้สึกว่าควรมีการเตรียมไฟฟ้าไว้ใช้เองบ้าง เธอจึงเริ่มติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หนึ่งแผง และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนแผงโซลาร์เซลล์เป็น 4 แผง ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 1,000 วัตต์ในวันที่แดดจ้า นั่นเพียงพอที่จะให้พลังงานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าและหลอดไฟในบ้านของเธอได้นาน 2-3 วัน
ในช่วงที่มีแสงแดดน้อย ฟูจิจะปั่นจักรยานสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเวลา 10 นาที ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 10 วัตต์ เธอบอกว่านั่นเพียงพอที่จะจ่ายไฟให้หลอดไฟได้นาน 3 ชั่วโมง
ฟูจิไม่มีทีวี เตาอบ เครื่องซักผ้าหรือเครื่องปรับอากาศ ทำอาหารด้วยเตาอบพลังแสงอาทิตย์ อุ่นอาหารด้วยเทียนไข เก็บรวบรวมน้ำฝนไว้เพื่อใช้ในการชำระล้างและใช้ห้องน้ำที่สามารถเปลี่ยนของเสียเป็นปุ๋ยหมักได้ อีกทั้งยังปลูกพืชสวนครัวเพื่อใช้เป็นอาหารเองในสวนเล็กๆ
ฟูจิกล่าวว่า…
“ในตอนแรก การปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบนี้ค่อนข้างท้าทาย แต่ตอนนี้ฉันรักมัน ฉันได้ประหยัดเงินและมีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น”
ชีวิตนอกระบบสาธารณูปโภค
วิถีชีวิตที่ฟูจิเลือกเป็นวิถีชีวิตที่เรียกกันว่า “การใช้ชีวิตนอกระบบสาธารณูปโภค off-the-grid living” เดิมทีคำว่า “grid” ในทีนี้หมายถึงเฉพาะโครงข่ายไฟฟ้า (power grid) แต่ภายหลังอาจรวมเอาระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น ระบบน้ำ แก๊ส และระบบระบายน้ำทิ้งเข้าไปด้วย
การใช้ชีวิตนอกระบบสาธารณูปโภคจึงหมายถึงวิถีชีวิตที่บุคคลหรือครัวเรือนไม่ต้องพึ่งพาระบบสาธารณูปโภคสิ้นเปลือง เช่น ไฟฟ้า แก๊ส หรือน้ำประปา โดยทั่วไปแล้ว ผู้อยู่อาศัยนอกระบบสาธารณูปโภคต้องสามารถจัดหาพลังงานและน้ำดื่มสำหรับตัวเอง ตลอดจนมีวิธีจัดการเศษอาหาร ของเสีย และน้ำเสียที่ตนผลิตขึ้นมาด้วย
บางรายอาจใช้วิธีผลิตไฟฟ้าใช้เองผ่านแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์หรือกังหันลม และใช้น้ำจากบ่อน้ำ เก็บน้ำฝน หรือใช้น้ำจากแหล่งอื่นๆ นอกจากนั้น พวกเขาอาจใช้ห้องสุขาในการทำปุ๋ยหมักและหาวิธีการกำจัดขยะด้วยทางเลือกต่างๆ
ผู้ใช้ชีวิตนอกระบบมักยึดโยงกับวิถีชีวิตแบบพอเพียงที่เน้นความยั่งยืน การพึ่งพาตนเอง และการได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น การอยู่อาศัยนอกระบบสาธารณูปโภคเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้ดีขึ้น เอาตัวรอดได้เก่งขึ้นหากตกอยู่ในภาวะคับขัน ซึ่งเหมาะมากสำหรับผู้ที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดค่าครองชีพ
หลายปัจจัยเป็นตัวเร่งกระแส
แกรี่ คอลลินส์ ซึ่งใช้ชีวิตแบบนอกระบบสาธารณูปโภคมานับสิบปี ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านหนังสือและเปิดคลาสออนไลน์เพื่อสอนผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ อธิบายว่า “การใช้ชีวิตนอกระบบสาธารณูปโภคไม่ได้หมายความว่าเลิกซื้อของตามร้านค้า หรือไม่เอาขยะไปทิ้งที่ลานขยะแถวบ้าน การใช้ชีวิตนอกระบบสาธารณูปโภคก็แค่การไม่เชื่อมต่อกับระบบสาธารณูปโภคของส่วนกลางเท่านั้น”
การใช้ชีวิตนอกระบบจึงมีตั้งแต่การอาศัยในรถบ้านที่ไม่มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าหรือน้ำประปา ไปจนถึงคฤหาสน์หลังงามที่เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนที่ดินกว้างใหญ่
ปัจจุบันยังมีประชากรชาวอเมริกันที่ใช้ชีวิตแบบไม่พึ่งพาระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางไม่มากนัก ซึ่งคอลลินส์คาดว่ามีเพียง 1% ที่ใช้ชีวิตแบบนอกระบบ ส่วนนิตยสารโฮมเพาเวอร์ระบุว่าพลเมืองสหรัฐฯ ราว 180,000 คนใช้ชีวิตนอกระบบในปี 2020 แต่บางแหล่งข้อมูลเชื่อว่าตัวเลขนี้สูงถึง 250,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากผลจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสิ่งอุปโภคบริโภคอยู่ช่วงหนึ่งได้ส่งผลให้หลายคนหันมาทบทวนตัวเองว่ามีความสามารถในการรับสถานการณ์ได้มากแค่ไหนเมื่อต้องเผชิญหายนภัย
การต้องกักตัวเองอยู่ในบ้านเป็นเวลานานก็ทำให้บางครอบครัวเริ่มครุ่นคิดอย่างจริงจังว่าแท้ที่จริงแล้วตนเองต้องการอะไรจากชีวิตกันแน่
เมื่อประกอบกับอัตราดอกเบี้ยจำนองที่สูงลิ่ว ค่าเช่าแพงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงจนแม้แต่สินค้าที่เคยเป็นอาหารคนจนอย่างเช่น ไข่ไก่ ก็ขึ้นราคาไม่หยุด ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กระแส “การพึ่งตนเอง” กำลังทวีความนิยมขึ้นอย่างรวดเร็วจนเห็นได้ชัด
ผู้คนไม่น้อยทิ้งบ้านในเมือง เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตและย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากในปัจจุบัน การเข้าถึงและการจัดเก็บพลังงานหมุนเวียนด้วยแบตเตอรี่ทำได้สะดวกกว่าเดิม บางครอบครัวก็ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารเองทั้งหมด
ธุรกิจและกองทัพพากันตื่นตัว
เอคเซนเชอร์ บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังคาดการณ์ว่าภายในปี 2035 ราวๆ 12 % ของครัวเรือนอเมริกันจะต้องพึ่งพาพลังงานนอกโครงข่ายไฟฟ้าอย่างบรรดาพลังงานทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย และแนวโน้มนี้อาจจะถูกเร่งให้เร็วขึ้นเนื่องจากความไม่มั่นคงด้านพลังงานทั่วโลกที่มีต้นตอจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
ในเวลาเดียวกัน ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะอากาศที่แปรปรวนรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้ไฟฟ้าดับบ่อยขึ้น กลุ่มวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ ไคลเมต เซ็นทรัล วิเคราะห์ว่า ช่วงปี 2000-2021 สหรัฐฯ เผชิญปัญหาไฟฟ้าดับเพิ่มขึ้นถึง 64 %
ข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนกเท่านั้น แต่ยังทำให้ธุรกิจต่าง ๆ และหน่วยงานรัฐบาลอย่างกองทัพอเมริกันหวั่นไหวด้วยเช่นกัน
นิก โรเซน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Off-grid.net กล่าวว่า การอยู่นอกระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางกำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอเมริกา แต่อัตราการขยายตัวมาจากธุรกิจขนาดใหญ่และกองทัพมากกว่าปัจเจกบุคคล
บริษัทผู้ผลิตอาหารในแคลิฟอร์เนียอย่างเทย์เลอร์ ฟาร์มส์ และอัลมอนด์ เวิลด์ผู้พัฒนาห้องเย็นสำหรับจัดเก็บผลิตภัณฑ์ คือตัวอย่างของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประกาศแผนการสร้างแหล่งจ่ายไฟแบบไม่เชื่อมต่อกับใคร (stand alone) หรือโครงข่ายระบบไฟฟ้าย่อย (microgrid) ของตนเอง
ขณะที่เครือข่ายระบบไฟฟ้าย่อยนั้นเป็นที่แพร่หลายในค่ายทหารของสหรัฐฯ มาหลายปี เพราะในโลกธุรกิจ หากไฟฟ้าดับอาจทำให้สูญเสียเงินหลายพันล้าน แต่ในโลกของกองทัพ ไฟฟ้าดับอาจส่งผลถึงชีวิตคนจำนวนมาก เครือข่ายระบบไฟฟ้าย่อยพร้อมแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
เว็บไซต์เอ็นไวรอนเมนต์พลัสเอเนอร์จีลีดเดอร์ระบุว่า กองทัพสหรัฐมีแผนจะนำโครงข่ายระบบไฟฟ้าย่อยไปใช้กับฐานทัพกว่า 130 แห่งทั่วโลกภายในปี 2035 โดยปัจจุบัน กองทัพมีโครงข่ายระบบไฟฟ้าย่อยที่ฐานทัพในแอละแบมา นอร์ทแคโรไลนา และแมสซาชูเซตส์ เรียบร้อยแล้ว
ทั้งกองทัพเรือและกองทัพบกมีความเห็นว่า ภายในปี 2025 ค่ายทหารควรอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายสาธารูปโภคส่วนกลางได้ราวสองสัปดาห์ ดังนั้น กองทัพและหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรจึงมีการลงทุนทั้งในด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ และโครงข่ายระบบไฟฟ้าย่อย
หลีกหนีชีวิตจริง
ในขณะเดียวกัน รายการทีวีซึ่งเน้นการใช้ชีวิตในถิ่นทุรกันดารและทักษะการเอาชีวิตรอดก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
ตัวอย่างหนึ่งของรายการที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือ Alone ซึ่งเป็นการแข่งขันเอาชีวิตรอดเพียงลำพังในถิ่นทุรกันดารโดยใช้อุปกรณ์ยังชีพจำนวนจำกัด ผู้เข้าแข่งขันที่อยู่รอดได้นานที่สุดจะได้รับรางวัลใหญ่ ช่วงแรกเงินรางวัลมีมูลค่า 500,000 ดอลลาร์ แต่เพิ่มเป็น 1 ล้านดอลลาร์ในฤดูกาลที่ 7 ซึ่งเริ่มออกอากาศในเดือนมิถุนายน 2020 โดยฤดูกาลที่ 9 สิ้นสุดการออกอากาศเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2022
ขณะที่แบร์ กริลส์ นักผจญภัยชาวอังกฤษที่แสดงเทคนิคการเอาชีวิตรอดในรายการทีวีชื่อ Man vs. Wild ก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วโลกด้วยบุคลิกที่มีเสน่ห์ จนมีรายการอื่นๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน รวมถึงมีผลงานด้านอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การเป็นนักเขียน การเป็นนักพูดสร้างแรงจูงใจ ฯลฯ
การที่รายการแนวนี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพื่อตอบสนองความปรารถนาลึกๆ ในใจเรื่องการหลีกหนีความวุ่นวายแบบเมืองใหญ่ในชีวิตจริง และอีกส่วนหนึ่งก็หวังว่าอาจจะเป็นการช่วยเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับหายนภัยที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
รายการเหล่านี้ให้ทั้งความบันเทิงและความรู้แก่ผู้ชม เนื่องจากเป็นการแสดงทักษะและเทคนิคที่จำเป็นสำหรับการเอาชีวิตรอดในถิ่นทุรกันดาร และสร้างความรู้สึกร่วมของการได้ออกไปผจญภัยและพึ่งพาตนเอง ด้วยความสนใจที่เพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิตแบบยั่งยืนและวิถีชีวิตนอกระบบ จึงมีแนวโน้มว่ารายการประเภทนี้น่าจะยังคงได้รับความนิยมต่อไป
ไม่ใช่เรื่องง่าย
ถึงแม้ทางเลือกในการดำเนินชีวิตแบบนอกระบบสาธารณูปโภคจะมีประโยชน์มากมาย รวมทั้งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาสาธารณูปโภคแบบดั้งเดิม และส่งเสริมวิถีชีวิตแบบพอเพียงและเป็นอิสระ แต่การใช้ชีวิตนอกระบบสาธาณูปโภคไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสำหรับทุกคน เพราะการใช้ชีวิตนอกระบบต้องอาศัยการวางแผนที่ดี การบริหารทรัพยากรอย่างเข้มงวด และการทำงานอย่างหนักจึงจะดำเนินชีวิตได้อย่างมีราบรื่น
แม้แต่ฟูจิเองก็ยังเริ่มคิดเรื่องการกลับไปพึ่งพาระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางเพราะสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทุกทีและอายุของเธอที่มากขึ้นทุกวันจนทำให้การใช้ชีวิตแบบนอกระบบยากขึ้นเรื่อยๆ
แต่โดยสรุปแล้ว การใช้ชีวิตแบบนอกระบบยังสามารถเป็นทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่คุ้มค่าและเติมเต็มความรู้สึกทางใจได้ แม้ว่าอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนและเสียสละความสะดวกสบาย ดังนั้น หากใครกำลังมองหาวิธีใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน เป็นอิสระ และมีคุณค่า น่าจะลองเปิดใจพิจารณาโลกของการใช้ชีวิตนอกระบบสาธารณูโภคดูบ้าง มันอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บางคนมีความสุขและอิ่มเอมกว่าเดิมก็เป็นได้
แหล่งข้อมูล:
https://www.euronews.com/green/2022/09/22/cooking-with-sunlight-how-one-japanese-woman-said-goodbye-to-energy-bills-forever?fbclid=IwAR26yoAwKfEyWGASzhhrvl5OgOOykcbPy9LcFNoALM-Vh81bFdcWDkUrb90
https://www.dailymail.co.uk/news/article-11780923/Self-sufficiency-movement-sees-rise-people-living-grid.html
https://www.ft.com/content/1ae476b6-83b1-47b9-bd80-75972b27fd33
https://apnews.com/article/trending-news-climate-and-environment-business-solar-power-a81b524effe6b953ba87371d6d081cfb
https://www.environmentalleader.com/2022/02/microgrids-are-becoming-essential-for-the-military/