17219755
“ข้าพเจ้าจะต่อสู้จนถึงที่สุด! เพื่อปกป้องไม่ให้กองกำลังและกลุ่มอาชญากรที่ทำให้รัฐบาลของประเทศต้องหยุดชะงัก พวกมันทำลายระเบียบรัฐธรรมนูญของชาติ! คุกคามอนาคตของสาธารณรัฐเกาหลี!”…คือคำประกาศก้องของนายยุนซ็อกยอลผู้ที่กำลังจะกลายเป็นอดีต
ประธานาธิบดีคนต่อไป โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังฆ่าตัวตายทางการเมืองทันทีที่เขาประกาศกฎอัยการศึก ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา เขายังคงโกหกประชาชนต่อไปด้วยว่า “ตอนนี้ฝ่ายค้านกำลังตั้งท่าเงื้อดาบแห่งความโกลาหล โดยอ้างว่าการประกาศกฎอัยการศึกถือเป็นการกบฏ แต่นั่นเป็นความจริงหรือ?”
ในสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ครั้งนี้ ยุน ผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมกล่าวว่าเขาได้ประกาศกฎอัยการศึกเพื่อเป็นการเตือนพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (DKP ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภา 170 จาก 300 ที่นั่ง) นายยุนเรียกพรรคนี้ว่า “สัตว์ประหลาด” และ “กองกำลังต่อต้านรัฐ” ซึ่งเขากล่าวหาว่าคนกลุ่มนี้พยายามใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูง บ่อนทำลายร่างงบประมาณของรัฐบาลสำหรับปีหน้า และให้ความเห็นอกเห็นใจต่อเกาหลีเหนือ
ยุนกล่าวอีกว่า “กฎอัยการศึกเป็นการกระทำเพื่อการปกครองที่ไม่สามารถสอบสวนได้และไม่ถือเป็นการกบฏ…การส่งทหารเกือบ 300 นายไปยังรัฐสภาได้รับการออกแบบมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่เพื่อสลายการชุมนุมหรือทำให้ความสงบเรียบร้อยหยุดชะงัก” อันเป็นการประกาศกฎอัยการศึกในรอบ 45 ปีของเกาหลีใต้ (ครั้งก่อนหน้านี้ที่เคยประกาศใช้ถูกยกเลิกไปพร้อม ๆ กับการสิ้นสุดยุคเผด็จการทหารในปลายทศวรรษ 1980)
“สมัชชาแห่งชาติได้กลายเป็นแหล่งรวมอาชญากร ทำให้ระบบระดับชาติ ระบบตุลาการ และการบริหารหยุดชะงักผ่านเผด็จการนิติบัญญัติ…และข้าพเจ้ากำลังประกาศกฎอัยการศึกอย่างเร่งด่วนเพื่อกำจัดกองกำลังต่อต้านรัฐที่พยายามโค่นล้มระบบประชาธิปไตยเสรีนิยม” นายยุนแถลง
ใครจะว่าเรากำลังจับแพะชนแกะก็ช่าง เมื่อเราหยิบยกถ้อยแถลงของนายยุน มาเกี่ยวโยงกับซีรีส์รอมคอม สุดจะเมโลเรื่องนี้ When the Phone Rings ที่ไม่ใช่เพียงเพราะในอีพีที่ 5-6 ถูกเลื่อนออนแอร์ไปหนึ่งสัปดาห์เพราะในช่วงสล็อตเวลาเดิมนั้นถูกตัดเข้าช่วงข่าวการลงมติถอดถอนนายยุนให้พ้นจากตำแหน่งเท่านั้น ในขณะเดียวกันกระแสมวลชนที่ไม่มีอันจะจดจ่อดูซีรีส์ได้อีกต่อไป ทั้งที่เป็นช่วงแห่งการสอบซูนึงหรือระบบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยที่ชาวเกาหลีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ประชาชนก็ยังหลั่งไหลดาหน้าออกมาต่อสู้กับกองกำลังทหารที่ออกมาเต็มอยู่หน้าบลูเฮาส์ตามคำสั่งกฎอัยการศึก มวลชนต่างแสดงพลังขืนสู้อาวุธทหารอย่างไม่ต้องรีรอหรือไตร่ตรองอะไรเลย เพราะพวกเขาต่างตระหนักได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ และเป็นเรื่องผิดมหันต์
เช่นเดียวกับช่วงต้นอีพีแรกของ When the Phone Rings เมื่อพระเอกของเรื่อง แพกซาออน โฆษกรัฐบาลจอมเคร่งขรึม ได้ประกาศท่ามกลางสื่อมวลชนทั่วทุกหัวระแหงว่า “เวลา 17:02 น.เป็นต้นไป จะมีการจำกัดสื่อชั่วคราว ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลครับ” ฟังดูเป็นคำไม่น่าเชื่อ และเราคนไทยคงคิดว่าการปิดหูปิดตาสื่อน่าจะมีอยู่แค่ในละคร เพราะเกาหลีใต้เป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มขั้น แต่ก็ยังไม่วายที่สื่อยังคงถูกจำกัดเสรีภาพทั้งในซีรีส์และในชีวิตจริงที่กำลังซ้อนทับกันอยู่อย่างเหลือเชื่อ
ตลอดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายยุนใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อบรรดาสื่อและผู้วิพากษ์วิจารณ์ โดยอ้างว่าเป็นการปราบปราม “เฟคนิวส์” (เช่นเดียวกับคำประกาศในซีรีส์เรื่องนี้ เพียงแต่ถูกเล่าในเชิงเสียดสีและขบขัน) ซึ่งเป้าหมายมักเป็นสื่อที่จวกนายยุนอย่างรุนแรง บ้านและสำนักงานของนักข่าวหลายแห่งถูกรื้อค้นด้วยข้ออ้างเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ไม่เท่านั้นนายยุนยังถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางมิชอบ เช่น การแทรกแซงการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมในกรณีการเสียชีวิตของทหารเมื่อปี 2023 ไปจนถึงการยับยั้งร่างกฎหมายที่เสนอให้มีการตั้งคณะอัยการพิเศษสอบสวนกรณีอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องกับภรรยาของเขา
When the Phone Rings เล่าเรื่องของ แพกซาออน ผู้ประกาศข่าวสุดหล่อที่ถูกดึงตัวไปเป็นโฆษกรัฐบาล มีอันต้องมาแต่งงานกับ ฮงฮีจู ลูกสาวคนเล็กของสื่อหลักใหญ่ที่คอยทำหน้าที่กลบข่าวให้กับตระกูลของพระเอกที่อยู่ในสายการเมืองมาตั้งแต่รุ่นปู่ ทว่าปมแรกของซีรีส์นี้จริง ๆ แล้วเขาตั้งใจจะแต่งงานกับ ฮงอินอา ลูกสาวคนโต แต่กลายเป็นว่าคนโตกลับหนีงานแต่ง ทิ้งให้เขาต้องหันมาแต่งกับคนน้องแทน
แล้วด้วยข้ออ้างด้านความปลอดภัย แพกซาออน จึงไม่เคยประกาศว่าเขาแต่งงานกับใคร สื่อทั่วไปจึงลือกันไปเองว่าภริยาของโฆษกรัฐบาลนายนี้คือพี่สาวคนโต ดังนั้นการอยู่กินใต้ชายคาบ้านเดียวกันระหว่าง แพกซาออน กับ ฮงฮีจู จึงรู้กันแค่เฉพาะคนในครอบครัวสองบ้านนี้
ปมถัดมาที่เป็นปัญหาหลักและเป็นต้นตอของชื่อเรื่อง คือโทรศัพท์เครื่องหนึ่ง เมื่อวันหนึ่ง ฮงฮีจู ถูกคนร้ายลักพาตัว โดยคนร้ายได้ใช้มือถือที่ติดตั้งอุปกรณ์แปลงเสียงเอาไว้ ซึ่งสุดท้ายมือถือเครื่องนั้นก็ดันมาตกอยู่ในมือของ ฮงฮีจู ทีนี้เรื่องเลยยิ่งชุลมุนไปกันใหญ่เมื่อเธอใช้มือถือเครื่องนั้นดัดเสียงเป็นผู้ชายแล้วโทรไปคุยกับสามีตัวเอง เพื่อซ้อนแผนว่าหนทางเดียวที่จะช่วยให้ภรรยาปลอม ๆ ของเขารอดจากการถูกปองร้ายไปได้ คือเขาต้องหย่าขาดจากภรรยา
ด้านหนึ่ง แพกซาออน จึงต้องพยายามตามหาคนร้ายรายนี้ แต่อีกด้านหนึ่งที่ทำให้พระเอกสุดหล่อฉลาดและเก่งไปเสียทุกอย่าง กลับมีอันต้องมาถูกปั่นหัวเละเทะ และเขาไม่เคยสงสัยในตัวภรรยาปลอม ๆ ของเขาก็เพราะเขาไม่เคยรู้เลยว่า ฮงฮีจู สามารถพูดได้ เนื่องจากตลอดมาเธอแสดงตนว่าเป็นใบ้ และใช้ภาษามืออย่างคล่องแคล่ว เรื่องจึงยิ่งซับซ้อนไปอีกหลายอย่าง ทั้งปมที่ว่าทำไม ฮงฮีจู จึงต้องตัดสินใจใช้ชีวิตแบบคนใบ้, การหายตัวไปของ ฮงอาอิน พี่สาวคนโตของเธอ ไปจนถึงเรื่องราวในวัยเด็กของตัวพระเอกเอง และอีกมากมายสารพัดที่ทำให้สามีภรรยาปลอม ๆ ที่อยู่ร่วมบ้านกันมานาน 3 ปี แต่แทบจะไม่เคยรู้จักกันเลย กลับได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แล้วก่อเกิดเป็นความรักจริง ๆ ขึ้นมา
When the Phone Rings ดัดแปลงจากเว็บตูนชื่อดังชื่อเดียวกัน ที่เขียนโดยนามปากกา Geoneomulnyeo กำกับซีรีส์โดย พัคซังวู ผู้เคยกำกับ The Forbidden Marriage (2022-2023) และ Never Twice (2019-2020) นางเอกแชซูบิน ที่คนดูน่าจะคุ้นหน้าเธอจากบทคู่หมั้นองค์รัชทายาทใน Love in the Moonlight (2016) หรือไม่ก็บทสาวแกร่งสู้ชีวิตใน Strongest Deliveryman (2017) ส่วนพระเอก ยูยอนซ็อก ที่มักจะรับบทหนุ่มอุ่นละมุน ฉลาด หัวขบถหน่อย ๆ อย่างศัลยแพทย์กุมารเวชหนุ่มผู้ไร้รักและตั้งเป้าจะเป็นบาทหลวงใน Hospital Playlist ทั้งสองภาค (2020 และ 2021) และบทศัลยแพทย์หนุ่มไฟแรงหัวดื้อใน Dr. Romantic ภาค 1 และ 3 (2016-2017 และ 2023)
สถานการณ์ปัจจุบัน
รายงานล่าสุดเมื่อต้นธันวาคมที่ผ่านมาจาก องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) ระบุว่า ‘หากขยายเวลาบังคับใช้กฎอัยการศึกออกไป จะทำให้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้มีอำนาจควบคุมสื่อทั้งหมดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย การยุติกฎอัยการศึกอย่างรวดเร็วเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเกาหลีใต้ต่อหลักนิติธรรมและเสรีภาพสื่อ อย่างไรก็ตาม ความพยายามของประธานาธิบดีในการควบคุมสื่อแสดงให้เห็นว่าเสรีภาพสื่อยังคงตกอยู่ในความเสี่ยง และ RSF ขอเรียกร้องให้ทางการเกาหลีใต้ยุติแนวโน้มที่น่ากังวลนี้โดยเด็ดขาด’
‘กฎอัยการศึกเป็นมาตรการฉุกเฉินที่สั่งให้สถาบันและสื่อมวลชนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทหาร แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาอันสั้นเพราะหลังจากนั้นรัฐสภาได้พลิกคำตัดสินดังกล่าวในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงต่อมา แต่กฎอัยการศึกก็ส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนในทันที โดยนักข่าวบางส่วนถูกกองทัพปฏิเสธไม่ให้เข้าห้องข่าว ขณะที่นักข่าวบางส่วนต้องหลบภัยในสถานที่ทำงาน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกทางการตรวจค้นอำพราง’
เซดริก อัลเวียนี ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ RSF ให้ความเห็นว่า “หากกฎอัยการศึกไม่ได้ถูกยกเลิกในทันที กฎดังกล่าวจะทำให้ประธานาธิบดียุนซ็อกยอล มีอำนาจในการเซ็นเซอร์สื่อและควบคุมข้อมูลที่สื่อเผยแพร่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้วิจารณ์นับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้ง การที่ประธานาธิบดียุนซ็อกยอล ถูกปฏิเสธการตัดสินใจครั้งนี้ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ถือเป็นการบรรเทาทุกข์ เราเรียกร้องให้ผู้นำสถาบันและนักการเมืองทุกคนในเกาหลีใช้โอกาสนี้เพื่อยืนยันพันธกรณีที่มีต่อเสรีภาพสื่อ และให้คำมั่นที่จะต่อสู้กับการเสื่อมถอยของเสรีภาพสื่อ ซึ่ง RSF ได้สังเกตเห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อฟื้นฟูบรรยากาศที่เอื้อต่อการสื่อสารมวลชนในเกาหลีใต้”
สำนักข่าว VOD รายงานเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ‘ในช่วง 18 เดือนแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐบาลของนายยุนและพันธมิตรทางการเมืองได้ดำเนินคดีหมิ่นประมาทที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวอย่างน้อย 11 กรณี..และมีการสั่งให้อัยการบุกค้นบ้านหรือสำนักงานของนักข่าวอย่างน้อย 6 ครั้ง’ เป็นการคุกคามสื่อสูงสุดเมื่อเทียบกับประธานาธิบดีคนอื่น ๆ ก่อนหน้าเขานับตั้งแต่ปี 2008
สถานการณ์ในอดีต
แม้ว่าปัจจุบันเกาหลีใต้จะถือว่าสื่อมีเสรีภาพแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องเผชิญแรงกดดันหลายประการ อย่างไรก็ตามเสรีภาพนี้เริ่มลดน้อยลงในช่วงทศวรรษ 2010 ที่มีช่วงตกต่ำถึงขีดสุดคือฮวบไปถึงอันดับ 70 (จาก 181 ประเทศ) ในปลายสมัยรัฐบาลของนางพัคกึนฮเยเมื่อปี 2016 แต่ในที่สุดก็ไต่กลับขึ้นมาในอันดับที่ 42 ได้ในสมัยของนายมุนแจอิน
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกในเดือนตุลาคม 1948 เมื่อเกิดกบฎยอซู-ซุนชอน อันเนื่องมาจากความไม่พอใจของทหารบางส่วนที่แตกแถวเอียงซ้าย เนื่องจากทนไม่ได้ต่อการกดขี่ปราบปรามผู้มีแนวคิดฝ่ายซ้ายในสมัยรัฐบาลอีซึงมัน (ประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐที่หนึ่ง) นายอีตราหน้าทหารกลุ่มนั้นว่าเป็น “กบฏ” ทั้งที่ความจริงคือพวกเขาลุกขึ้นปฏิเสธที่จะปราบปรามฝ่ายซ้ายที่ลุกฮือขึ้นสู้กองทัพในเวลานั้น แต่การประกาศกฎอัยการศึกยิ่งนำไปสู่ความสูญเสียทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารกว่าพันราย อันเป็นครั้งแรก ๆ ที่ขั้วอุดมการณ์ในสังคมเกาหลีเริ่มปรากฎชัดขึ้น ก่อนจะนำไปสู่การแบ่งขั้วเหนือใต้
ในตอนนั้นเสรีภาพของสื่อยังเป็นแนวคิดที่ใหม่มาก การปกครองอย่างยาวนานถึงเกือบจะ 12 ปีของรัฐบาลอีซึงมัน สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเขาจัดเลือกตั้งปาหี่เพื่อให้ตนเองชอบธรรมในการเป็นผู้ชนะเสียงเลือกตั้ง จนกลายเป็นที่ก่นด่ากันหนาหูอึงอล นายอีก็อาศัยพรบ.ความมั่นคงแห่งชาติสั่งปิดสำนักหนังสือพิมพ์ คยองฮยัง ชินมุน ในปี 1959 ด้วยข้อกล่าวหาว่า “บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ และเผยแพร่ข่าวปลอม” แต่สำนักพิมพ์นี้ก็กลับมาเปิดทำการอีกครั้งในปี 1960 เมื่อนายอีหมดอำนาจลงหลังจากปราะชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงอย่างหนักจนนายอีถึงกับต้องลี้ภัยไปฮาวาย
แต่ไม่ช้าก็เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยนายพลพัคช็องฮี (พ่อของนางพัคกึนฮเย) เมื่อปี 1961 เผด็จการทหารได้ใช้คำสั่งฉุกเฉินหลายฉบับอันเนื่องมาจากกฎอัยการศึกหลายปิดปากสื่ออย่างกว้างขวาง และหนึ่งในการประกาศกฎอัยการศึกครั้งที่ฉาวโฉ่สุดเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 1972 เมื่อพัคช็องฮีเพิ่งชนะเลือกตั้งมาแบบคาบเส้น จนมีข้อครหาว่าเขาโกงเลือกตั้ง ผู้คนจำนวนมากออกมาประท้วง ทำให้นายพลพัคประกาศกฎอัยการศึกอีกครั้ง โดยอ้างอันตรายระหว่างประเทศภายใต้ความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็น แล้วพัคก็ฉวยอำนาจยุบสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิม ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญยูชิน อันยังผลให้เขาจะสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปได้ตลอดชีวิต
รัฐธรรมนูญยูชินให้อำนาจนายพลพัคในการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ เพื่อให้เขารักษาเสียงข้างมากในสภา ทั้งยังเปิดทางให้เขาออกกฤษฎีกาได้อีกหลายฉบับเพื่อใช้เป็นมาตรการปราบปรามสื่อไปจนถึงพลเมืองผู้เห็นต่าง ผ่านหน่วยงานรัฐต่าง ๆ อาทิ สำนักข่าวกรองเกาหลี (NIS หรือ KCIA ก่อตั้งในปี 1961)
แต่พัคช็องฮีไม่อาจเป็นประธานาธิบดีตลอดกาลได้อย่างที่ตั้งใจ และกฎอัยการศึกถูกประกาศใช้อีกครั้งหลังการลอบสังหารนายพลพัคในปี 1979 อันทำให้การปกครองภายใต้จอมเผด็จการพัคช็องฮีที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 18 ปี มีอันต้องสิ้นสุดลง และอำนาจบารมีบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ค่อย ๆ ถอยออกไป จนเกาหลีเพิ่งจะมาเข้ารูปเข้ารอยอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่สมัย คิมยองซัม (1993-1998) และคิมแดจุง (1998-2003 ผู้คว้าโนเบลสันติภาพโลก เจ้าของฉายาเนลสัน แมนเดลาแห่งเอเชีย)
แม้จะไม่มีกฎอัยการศึกมาอย่างยาวนานในอีก 45 ปีต่อมา แต่อย่างที่บอกว่าเสรีภาพสื่อตกต่ำในสมัยนางพัคกึนฮเย ผู้เป็นบุตรีจอมเผด็จการพัคช็องฮี และเธอมาจากพรรค Liberty Korea จนเกาหลีใต้กลับมาอื้อฉาวล่าสุดอีกครั้งในปีนี้ด้วยน้ำมือของนายยุนซ็อกยอล จากพรรค People Power ทั้งสองพรรคที่ฟังเผิน ๆ เหมือนจะเชื่อในพลังประชาชน (People Power) เชื่อในเสรีภาพ (Liberty) แต่ทั้งสองพรรคนี้จัดอยู่ในฟากฝั่งอนุรักษ์นิยมขวาจัดทั้งคู่
ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่า…” พล็อตเดิม ๆ แค่เปลี่ยนตัวแสดง”
ไม่ใช่แค่เกาหลีใต้
แต่พล็อตซ้ำ ๆ วน ๆ พายเรือในอ่างน้ำแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเกาหลีใต้ ล่าสุดที่ไต้หวันเมื่อ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา พรรคชาตินิยม ก๊กมินตั๋ง (KMT) ได้ใช้เทปกาวกับเก้าอี้ปิดประตูกันไม่ให้พรรครัฐบาลหัวก้าวหน้า DPP เข้าไปลงมติแก้ไขร่างกฎหมาย ทำให้รัฐบาลพลาดโอกาสลงคะแนนเสียงครั้งสำคัญ กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ก็เกิดเหตุปะทะกลางสภานิติบัญญัติไต้หวัน เมื่อพรรค DPP ฝั่งรัฐบาลเข้ายึดสภาล็อคประตูไม่ให้พรรค KMT เข้าไปโหวตผ่านร่างแก้ไข้กฎหมาย 3 ฉบับ เป็นการแก้เผ็ดด้วยวิธีเดียวกัน มีการปาขวดน้ำ ขว้างเก้าอี้
ทว่าเมื่อหันกลับมามองไทย ชาวไทยหลายคนอาจจะหัวเราะเยาะเกาหลีใต้ที่โชว์โง่ล่าสุด ไปจนถึงขบขันต่อกรณีสภาไต้หวัน แต่ใช่ว่ากรณีคล้าย ๆ กันนี้จะไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2012 ก็เคยเกิดเหตุการณ์พรรคประชาธิปัตย์บุกล้อมประธานสภามาแล้ว
ขณะที่ไต้หวันเองก็เคยอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมาอย่างยาวนานถึง 48 ปี ที่เรียกกันว่าความน่าสะพรึงกลัวสีขาว (White Terror 1947-1987) ภายใต้รัฐบาลชาตินิยมก๊กมินตั๋ง มีเหยื่อผู้เห็นต่างถูกคุมขังไม่ต่ำกว่าแสนสี่หมื่นราย ถูกอุ้มฆ่าอุ้มหายเท่าที่นับได้ไม่ต่ำกว่าสี่พันคน (คาดว่าตัวเลขจริงคือสองหมื่นแปดพันคน) จึงไม่แปลกใจที่การทะเลาะกันในสภาจะทำให้ประชาชนออกมาร่วมกันชุมนุมปกป้องสิทธิ์ของตนเองอย่างมหาศาล
คุณอาจจะมองว่าทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันน่าอดสูใจ แต่ความจริงแล้วประชาชนในชาติเขาพยายามอย่างหนักเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหาร ขณะที่บางประเทศมีรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า จนติดอันดับรัฐประหารมากที่สุดในเอเชีย (และเป็นอันดับ 2 ของโลก) ทว่าโลกไม่ได้สนใจประเทศนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะความไร้มูลค่าทางเศรษฐกิจ ไร้อำนาจบารมีในการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อประเทศที่ว่านั้นถูกนำไปเปรียบเทียบกับไต้หวันหรือเกาหลีใต้
ประเทศนั้นประกาศกฎอัยการศึกล่าสุดเมื่อปี 2014 (10 ปีที่ผ่านมา) ที่มาพร้อมกับการรัฐประหารโดยเผด็จการทหารรุ่นลุง แล้วทันทีที่มีผู้ออกมาต่อต้าน คนเหล่านั้นกลับถูกใส่ร้ายแล้วจับยัดคุกไปอีกหลายปี บางคนยังเป็นเพียงนักศึกษา หลายคนโดนข้อหาหนัก โดยเฉพาะการซ่องสุมอาวุธโดยไม่มีการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง อีกหลายคนลี้ภัย และบางคนถูกอุ้มหายกลายเป็นศพลอยลำน้ำโขง
ไม่เพียงเท่านั้นอันที่จริงประเทศดังกล่าว ตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้ มีการใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ทางด้านใต้สุดของประเทศ ข่าวถูกปิดถูกบิดเบือนโดยสมบูรณ์ และผู้คนในเมืองแทบไม่มีใครสนใจใคร่รู้ความเป็นตายร้ายดีของคนในพื้นที่เหล่านั้น แม้กระทั่งเมื่อจังหวัดดังกล่าวเพิ่งจะถูกน้ำท่วมถล่มหนักเมื่อไม่นานมานี้ ก็ยังมิวายมีคนชาติเดียวกันในพื้นที่แห่งอื่นสาปแช่ง
ประเทศอะไรหนอ?