ThaiPublica > คอลัมน์ > UNIT 731 ห้องทดลองสุดโหด Gyeongseong Creature

UNIT 731 ห้องทดลองสุดโหด Gyeongseong Creature

24 ธันวาคม 2023


1721955

*หมายเหตุ บทความนี้อธิบายเหตุการณ์แวดล้อมโดยไม่เปิดเผยความลับของซีรีส์

ซีรีส์จากเกาหลีที่เน็ตฟลิกซ์คาดหวัง ทุ่มทุนสร้าง และทุ่มงบโปรโมทมากที่สุดในปีนี้ ซึ่งประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะมีซีซัน 2 ตามมาอย่างแน่นอน โดยซีซันแรกจะถูกแบ่งฉายออกเป็น 2 พาร์ต คือเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมานี้เองมี 7 ตอน และอีก 7 ตอนในวันที่ 5 มกราคม 2024 Gyeongseong Creature ที่ระดมสุดยอดนักแสดงและทีมงานมาคับคั่ง ไม่ว่าจะพระเอก พัก ซอ-จุน จากซีรีส์ Itaewon Class (2020) และหนัง Concrete Utopia (2023) รวมถึงเรียลิตี้ทีวีสุดฮิตอย่าง Jinny’s Kitchen (2023) มาประกบนางเอกมาแรง ฮัน โซ-ฮี จากซีรีส์เรตติงสูงสุดตลอดกาล The World of the Married (2020), และซีรีส์มือสังหารที่เธอทุ่มสุดตัวอย่าง My Name (2021) และแม้จะได้ผู้กำกับ จอง ดง-ยุน ที่เพิ่งผ่านผลงานกำกับเดี่ยวมาแค่เรื่องเดียวคือ Hot Stove League (2019) แต่เขาก็มีผลงานกำกับร่วมที่สร้างชื่อมาหลายเรื่อง อาทิ It’s Okay to Not Be Okay (2020) Heart Surgeons (2018) และ Defendant (2017) หนำซ้ำยังได้มือเขียนบทสุดเซียนอย่าง คัง อึน-กุง ที่คร่ำหวอดในแวดวงมาตั้งแต่ซีรีส์ยุค 90s และปัจจุบันมีผลงานการันตีอย่าง Dr.Romantic ทั้งสามภาค

ซีรีส์เล่าเรื่องของ จางแทซัง (พัก ซอ-จุน) ในบทเจ้าของโรงรับจำนำ นายห้างรายใหญ่ มาพบกับ ยุนแชอ๊ก (ฮัน โซ-ฮี) นักสะกดรอย (หรือโทด็อกกุน อาชีพตามหาคนหายในช่วงสงคราม) ในปฏิบัติการตามล่าหาหญิงนางโลม (หรือกีแซง หญิงงามผู้ให้ความบันเทิงแบบเดียวกับเกอิชาของญี่ปุ่น) เมียน้อยของนายทหารญี่ปุ่นอำนาจคับเมือง เสนาธิการอิชิคาว่า แสดงโดย คิม โด-ฮยุน จากซีรีส์อันดับสองในชาร์ตเรตติงสูงสุดตลอดกาล Reborn Rich (2022) และ Arthdal Chronicles (2019 และ 2023) ก่อนที่พระนางของเรื่องจะเข้าไปพัวพันกับโปรเจกต์ลับที่พวกญี่ปุ่นซุกเอาไว้ใต้ดินในเมืองกยองซอง

FYI กยองซอง

กยองซอง เป็นคำจีน-เกาหลี แปลว่า เมืองหลวง (กยอง เมืองหลวง และซอง เมืองที่มีกำแพงล้อม คำจีนอ่านว่าจิงเฉิง) คำนี้ในยุคโบราณใช้เรียกเมืองหลวงของโครยอและซิลลา แต่กลับมาใช้กันอีกครั้งอย่างแพร่หลายในสมัยช่วงการปกครองของญี่ปุ่น 1910-1945 เนื่องจากรูปแบบอักษรเก่าของเกาหลีใช้อักษรจีนตัวเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นใช้ในคำว่าเคโจะ ซึ่งมีความหมายว่าเมืองหลวงเช่นเดียวกัน ดังนั้น คำว่ากยองซองของเหตุการณ์ในซีรีส์เรื่องนี้มีความหมายถึงกรุงโซลในปัจจุบันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม โซลเคยถูกเรียกมาหลากหลายชื่อ เช่น วีเรซองหรือฮันซองในสมัยแพ็กเจ (18 ปีก่อนคริสตกาล – 660), บุคฮันซันกุนในสมัยโกคูรยอ (37 ปีก่อนคริสตกาล – 668), ฮันยางในสมัยรัฐเหนือใต้ (698-926), นัมกย็องในสมัยโครยอ (918-1392), ฮันยางบูในสมัยใต้การปกครองมองโกล (1270-1356) และฮันซ็องหรือฮันยางในสมัยโชซอน (1392-1897) จริงๆ แล้วคำว่าโซลถูกเรียกตั้งแต่ยุคโชซอนแล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย จนในช่วงอาณานิคมญี่ปุ่นกลับถูกเรียกว่ากยองซอง สุดท้ายการใช้คำว่าโซลอย่างทุกวันนี้ถูกใช้ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นเชิงสัญลักษณ์ถึงการปลดปล่อยเกาหลีมาจนปัจจุบันนี้

“ว่ากันว่าก่อนฟ้าสางคือช่วงที่มืดมิดที่สุด” แม้ Gyeongseong Creature จะเป็นเรื่องสมมติแต่ก็วางอยู่บนประวัติศาสตร์จริงช่วงหนึ่งของเกาหลี ถ้าสังเกตดีๆ ทุกตอนจะมีคำว่าเส้นแบ่งกำกับบนชื่อตอนในทุกอีพี พระเอกเป็นเศรษฐีหนุ่มเจ้าเสน่ห์ที่ทำการค้ากับทุกฝ่าย ตั้งแต่พวกรักชาติ กู้ชาติ สวามิภักดิ์ญี่ปุ่น พวกโชซอนที่ถูกบังคับให้เข้าร่วมกองทัพญี่ปุ่น ผู้แปรพักตร์เป็นเกาหลี เศษเดนซามูไร ชาวจีนอพยพ ญี่ปุ่นยศสูง ท่านหญิงสูงศักดิ์ พ่อค้าคหบดี โสเภณีเลื่อนฐานะ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงพวกคิดคดทรยศ พระเอกอยู่ตรงกลางระหว่างคนเหล่านี้ และทุกคนต่างเอาตัวรอด

แต่ไม่ใช่แค่พระเอกเท่านั้น บทนางเอกที่เคยอยู่แมนจูเรีย เดินทางไปมาบนคาบสมุทรเกาหลีที่มีชายแดนเชื่อมต่อกัน เธอก็คือตัวละครระหว่างสองพื้นที่ ไม่เท่านั้น การวางโครงเรื่องทั้งหมดภายในปี 1945 มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นปีที่ญี่ปุ่นกำลังจะพ่ายสงครามโลกในเดือนสิงหาปีเดียวกันนั้น

มันคือเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ ปลายสงครามกดขี่ที่บ้านเมืองไม่มีขื่อแป ไม่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างปัจจุบัน และมีระบบชนชั้นที่ซับซ้อนซึ่งซีรีส์ก็อธิบายโครงสร้างอำนาจของตัวละครแต่ละตัวออกมาได้อย่างเด่นชัด ตั้งแต่พระเอกเศรษฐี มีเพื่อนเป็นพวกสนับสนุนการกู้ชาติ ถูกนายทหารญี่ปุ่นกดขี่ ส่วนนายทหารก็มีเรื่องกับเมียตัวเองที่เป็นท่านหญิงในตระกูลผู้ดีเก่าสืบเชื้อสายจากเจ้า ซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับโรงพยาบาลที่ลักลอบทำการทดลองสุดเหี้ยม

FYI ก่อนเหตุการณ์ในเรื่อง

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าซีรีส์เรื่องนี้เริ่มต้นในช่วงญี่ปุ่นประกาศสงบศึกหลังจากสหรัฐฯ ถล่มนิวเคลียร์ลงฮิโรชิม่าและนางาซากิ (ในเดือนสิงหาคม 1945) แต่แท้จริงแล้วบทได้วางหมากอย่างฉลาดมาก คือเลือกเหตุการณ์ 5 เดือนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสงบ แม้ซีรีส์นี้จะไม่ได้เล่าโดยละเอียด แต่การบอกเป็นนัยด้วยฉากที่พูดถึงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งก่อนหน้านั้นได้เปิดเรื่องในเหตุการณ์ที่ดูเหมือนฝ่ายญี่ปุ่นจะถูกโจมตีอย่างหนัก แม้ซีรีส์จะไม่ได้เจาะจงอย่างชัดเจน แต่สามารถอนุมานได้ว่าเหตุการณ์ในฉากเปิดเรื่องคือในระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 1945

เวลาดังกล่าวเป็นเหตุการณ์เดือด เมื่อกองทัพอากาศสหรัฐฯ บุกโจมตีด้วยระเบิดเพลิงทำลายล้างโตเกียว ในรหัส Operation Meetinghouse หรือเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ Great Tokyo Air Raid โดยสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดหนักจากเครื่องบินโบอิง B-29 ซูเปอร์ฟอร์ตเทรส จำนวน 279 ลำ เผาพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกของโตเกียว ผลาญคร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นคาดว่าราวแสนกว่าคนในคราวเดียวชั่วพริบตา และส่งผลให้ชาวบ้านอีกจำนวนเรือนล้านไม่มีที่อยู่อาศัย อันเป็นการโจมตีทางอากาศเพียงบึ้มเดียวที่สร้างความเสียหายหนักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์นี้มีเครื่องบินสหรัฐฯ 14 ลำ และนักบินอีก 96 นายสูญหาย)

FYI หน่วย 731

เรื่องที่เราจะเล่าต่อไปนี้ ในซีรีส์จงใจจะไม่ลงรายละเอียดมากนัก แต่ก็โหดผิดมนุษย์เกินคน และเราไม่สามารถจะใช้ภาพเหตุการณ์จริงประกอบได้เลย เหตุการณ์นี้เคยถูกสร้างเป็นหนังฮ่องกงและโด่งดังในบ้านเราในชื่อ จับคนมาทำเชื้อโรค หรือ Men Behind the Sun (1988) เอาเป็นว่าในซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้คุณอาจจะมองว่าโหดแล้ว ขนาดพระเอกเห็นครั้งแรกยังเหวอหนักมาก ของจริงนั้นโหดกว่ามาก แม้ของจริงจะไม่มีสัตว์ประหลาดอาละวาดอะไร แต่ภาพผู้คนจำนวนมากถูกโยนเป็นซากเศษศพกองพะเนินนั้น…เคยเกิดขึ้นจริง!

ในซีรีส์เราจะได้เห็นตัวเลข 七 三 一 อันหมายถึง Unit 731 ที่เป็นห้องแล็บทดลองสุดโหดในช่วงสงครามโลก สิ่งนี้ในซีรีส์ไม่ได้อธิบายอะไรเลยนอกจากกล้องจะพาไปเห็นตัวเลขจีนที่แปะอยู่บนศพหนึ่ง ก่อนจะเล่าว่ามีตัวละครหนึ่งเดินทางจากเมืองฮาร์บินของจีนมาทางรถไฟสู่กยองซอง

หน่วย 731 ตั้งอยู่ในเขตปกครองของญี่ปุ่นในจีนที่เมืองผิงฟาง, ฮาร์บิน, เฮยหลงเจียง และแมนจูกัว ปฏิบัติการตั้งแต่ปี 1936-1945 ในการทดลองอาวุธชีวภาพ สารเคมีในสงคราม เชื้อโรคร้าย วัตถุระเบิด อาวุธสังหาร และการทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ ด้วยการใช้ร่างมนุษย์สดๆ เป็นๆ ในการทำการทดลอง ปัจจุบันมีการประเมินว่าน่าจะมีผู้สิ้นชีวิตจากการทดลองทั้งหมดเฉพาะในหน่วยนี้ราวสี่แสนคน แต่แล็บทดลองสุดโหดนี้ไม่ได้มีแค่หน่วยนี้ และญี่ปุ่นไม่ได้ทำการทดลองแค่ในประเทศจีน

รหัสปฏิบัติการทดลองกับมนุษย์สดๆ นี้เรียกว่ามารุตะ หรือบางทีก็เรียกในภาษาเยอรมันว่า Holzklotz ซึ่งทั้งสองคำแปลว่า “ท่อนไม้” ดังจะเห็นในซีรีส์เรียกชาวโชซอนที่ถูกทดลองหลายครั้งว่า “ท่อนไม้” เพื่อด้อยค่าทำลายความเป็นคนของเหยื่อ ปลุกใจทหารด้วยกันเองให้ทำเรื่องโหดเหี้ยมเลือดเย็นได้อย่างง่ายดาย เมื่อมองว่าผู้คนเหล่านั้นเป็นแค่…ท่อนไม้ และเรียกแล็บทดลองเหล่านี้ด้วยรหัสว่า “โรงเลื่อย”

“พวกเขาใช้กลวิธีอันน่าสยดสยองเพื่อยึดตัวอย่างอวัยวะที่เลือกไว้ หากเพื่อนร่วมงานของเขาต้องการวิจัยเกี่ยวกับสมองมนุษย์ พวกเขาจะสั่งให้เจ้าหน้าที่หาตัวอย่างที่เป็นประโยชน์ให้พวกเขา นักโทษจะถูกนำออกจากห้องขังของเขา เจ้าหน้าที่จะจับเขาไว้ในขณะที่เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งจะสับหัวของเหยื่อด้วยขวาน สมองของเขาจะถูกแยกออกไปให้นักพยาธิวิทยา จากนั้นจึงส่งไปที่โรงเผาศพเพื่อนำไปกำจัดตามปกติ”
-นักประวัติศาสตร์สงครามชาวอเมริกัน เชลดอน เอช แฮร์ริส เขียนไว้ใน Fatories of Death (1994)

ครั้งหนึ่งเดอะนิวยอร์กไทมส์ ฉบับมีนาคม ปี 1995 เคยสัมภาษณ์อดีตสมาชิกหน่วย 731 ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้ช่วยแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่ยืนยันโดยไม่เปิดเผยชื่อว่า

“การทดลองส่วนหนึ่งมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาระเบิดโรคระบาดสำหรับใช้ในสงคราม…ผมผ่าคนเป็นๆ ออกตั้งแต่อกถึงท้อง เขากรีดร้องสุดๆ ใบหน้าบิดเบี้ยวด้วยความเจ็บปวด เขาส่งเสียงที่ไม่อาจจินตนาการได้ กรีดร้องอย่างสยดสยอง แต่สุดท้ายเขาก็แน่นิ่งไป นั่นคือประสบการณ์ผ่ามนุษย์เป็นๆ ครั้งแรกของผม”

“เหยื่อถูกมัดติดกับเสาและใช้เป็นเป้าในการทดสอบระเบิดที่ปล่อยเชื้อโรคชีวภาพ อาวุธสารเคมี เศษกระสุนที่มีส่วนประกอบแตกต่างกันไป ตลอดจนดาบปลายปืนและมีด นักโทษชาวจีนต้องเผชิญกับแรงระเบิดโดยตรง พวกเขาถูกมัดโดยไม่มีอะไรป้องกัน และส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดคนเป็นๆ ไปจนถึงศึกษาเศษชิ้นอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ขณะยังหายใจ” -หนังสารคดี Unit 731: Nightmare in Manchuria (1998)

“ว่ากันว่าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กที่น่าสงสารเหล่านี้จำนวนหนึ่งหลังจากใช้งานเป็นมารุตะแล้วจะถูกทำให้เป็นมัมมี่ ในการทดลองภาวะขาดน้ำออกจากร่างกายทั้งหมด พวกเขาจะเหงื่อกาฬแตกพล่านออกทุกรูขุมขนจนตายภายใต้ความร้อนของเครื่องเป่าลมร้อนหลายตัว เมื่อตายศพจะเหลือน้ำหนักเพียง 1 ใน 5 ของน้ำหนักตัวปกติ” -หนังสือ Japan’s Infamous Unit 731(2011)

“มีการทดลองเชื้อซิฟิลิสโดยการให้นักโทษชายและหญิงที่ติดเชื้อนี้มารวมกันเพื่อบังคับให้พวกเขามีเพศสัมพันธ์กัน ถ้าใครขัดขืนจะถูกยิงทิ้ง หลังจากเหยื่อติดเชื้อ พวกเขาจะถูกชำแหละในระยะฟักเชื้อต่างๆ กัน เพื่อศึกษาอวัยวะภายในและภายนอกในแต่ละช่วงเวลาของโรค อวัยวะเพศของนักโทษหญิงที่ติดเชื้อซิฟิลิสนี้ถูกเจ้าหน้าที่เรียกกันอย่างเหยียดหยันว่า ซาละเปาไส้แยม” -หนังสือ UNIT 731 (2004)

“นักวิจัยคนหนึ่งมีกำหนดทดลองกับมนุษย์เป็นๆ แต่ยังพอมีเวลาเหลือ เขาและสมาชิกหน่วยอีกคนจึงเปิดห้องขังของหญิงชาวจีนคนหนึ่ง หนึ่งในนั้นข่มขืนเธอ ส่วนสมาชิกอีกคนเข้าหาหญิงจีนห้องขังข้างๆ ซึ่งเธอเคยถูกใช้ในการทดลองกัดด้วยความเย็น ทำให้นิ้วของเธอขาดไปหลายนิ้ว และกระดูกของเธอเป็นสีดำ มีเนื้อตายเน่าหลายส่วน ขณะที่เขาพยายามจะข่มขืนเธอ พบว่าอวัยวะเพศของเธอเปื่อยเน่า มีหนองไหลออกมา ทำให้เขาเปลี่ยนใจแล้วกลับไปทำการทดลองต่อ” -หนังสือ UNIT 731 (2004)

FYI โจเซ็นจิน

ในเรื่องนี้จะปรากฏคำว่า “โจเซ็นจิน” อยู่บ่อยมาก คำว่าจินในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าคนหรือพวก เช่น ไกจิน = ชาวต่างชาติ, นิฮงจิน = คนญี่ปุ่น, ไทจิน = คนไทย ฯลฯ ทีนี้คำว่า โจเซ็นจิน ก็คือพวกโจเซ็น นั่นเอง แล้วพวกโจเซ็นคือใคร คำตอบคือ คำว่าโจเซ็นเป็นสำเนียงญี่ปุ่นของคำว่าโชซอน หรือในที่นี้หมายถึงพวกโชซอน อันเป็นการเจาะจงยุคสมัยไปในตัวด้วยว่า เป็นช่วงที่เกาหลีอยู่ใต้อาณานิคมญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้คนญี่ปุ่นบางจำพวกยังคงใช้คำว่าโจเซ็นจินเรียกชาวเกาหลีอยู่ แต่เป็นไปในลักษณะเหยียด เหมือนเราเรียกชาวอเมริกาว่า “ไอ้กัน” หรือเรียนคนญี่ปุ่นว่า “ไอ้ยุ่น” แต่ความหมายของคนญี่ปุ่นที่เรียกชาวเกาหลีว่า “โจเซ็นจิน” มีความหมายซ่อนอยู่ในคำนี้คือ หมายความว่าพวกเกาหลีต่ำกว่า เป็นเบี้ยล่าง เป็นพวกใต้อาณัติ เป็นทาสรับใช้ และอีกอย่างคือในความหมายว่าวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกาหลีมีในทุกวันนี้มีหลายอย่างที่หยิบยืม ดัดแปลง หรือฉกฉวยมาจากญี่ปุ่น เช่น เกอิชาญี่ปุ่นก็คือกีแซงเกาหลี, ราเม็งญี่ปุ่นก็กลายมาเป็นรามยอน, คาราเต้ญี่ปุ่นก็กลายมาเป็นเทควันโด้ หรือแม้แต่บอยแบนด์เกาหลีอันลือลั่นทั่วโลก จริงๆ แล้วญี่ปุ่นเป็นเจ้าแรกที่ทำมาก่อน

FYI ศาลเจ้ายาสุคุนิ

ศาลเจ้าแห่งนี้ปัจจุบันถูกตราหน้าว่าเป็นสุสานอาชญากรสงคราม เป็นศาลเจ้าที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1869 ในเขตชิโยดะ กรุงโตเกียว กระทั่งในปี 1956 เจ้าหน้าที่ศาลเจ้ากับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการได้ร่วมมือกัน จัดระบบให้ศาลเจ้านี้เป็นที่เคารพศพสำหรับผู้ร่วมรบในสงครามทั้งหมด ผู้เสียชีวิตที่ได้รับเกียรติตั้งป้ายสุสานในศาลเจ้านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้รับใช้จักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นในช่วงสงครามระหว่างปี 1867 ถึง 1951 แต่ยังรวมถึงพลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่และเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย อันเป็นความเชื่อของศาสนาชินโตที่ว่ายาสุคุนิประดิษฐานป้ายวิญญาณของคนตาย หรือที่เรียกกันว่า “คามิ” โดยทุกศพจะได้รับเกียรติผ่านพิธีกรรมคาถาอันสูงศักดิ์ที่เรียกว่า “โนริโตะ”

ข้อถกเถียงที่เป็นบาดแผลฉกรรจ์เนื่องจากสุสานนี้ได้นับรวมอาชญากรสงครามใหญ่ๆ เอาไว้ด้วย รวมถึงบรรดาทหารในหน่วย 731 และกรณีทหารญี่ปุ่นสังหารหมู่ชาวจีนอย่างนองเลือดที่นานกิง ในปี 1937 ไปจนถึงทหารเหล่านี้ได้ขืนใจหญิงชาวบ้านในเกาหลี (และอีกหลายประเทศ) บังคับให้พวกเธอเป็นหญิงบำเรอกาม ฯลฯ ความร้าวฉานฉาวโฉ่เหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ทั้งต่อเกาหลีและต่อจีน อย่างกรณีอื้อฉาวเมื่อปี 2021 ที่ดาราหนุ่มจีน จางเจ๋อฮั่น ได้ไปร่วมงานแต่งของเพื่อนชาวญี่ปุ่นแล้วมีภาพถ่ายในสุสานแห่งนี้ ทางการจีนถึงกับลงดาบแบนดาราคนนี้ทันทีในฐานะที่เป็นดาราไม่รักชาติ ทำให้แบรนด์สินค้าทุกตัวประกาศถอนการสนับสนุนดาราคนนี้หมดเกลี้ยง ทางการถึงกับประณามผ่านสมาคมอุตสาหกรรมนักแสดงจีน ด้วยการลบผลงานของเขาออกจากทุกแพลตฟอร์มราวกับดาราคนนี้ไม่เคยมีตัวตนในสารบบอีกต่อไป

เกิดเหตุการณ์ร้ายต่อศาลเจ้านี้หลายต่อหลายครั้งตั้งแต่การโจมตีในโลกไซเบอร์ ไปจนถึงการเผาทำลายในปี 2011 และวางระเบิดในปี 2015 ความวายป่วงทางการเมืองของศาลเจ้ายาสุคุนิมีสาเหตุจาก 2 ปัจจัย ประการแรกคืออุดมการณ์ของรัฐชินโต ซึ่งถือว่าสงครามใดๆ ที่เกิดขึ้นในนามองค์จักรพรรดินั้นยุติธรรมเสมอ และใครก็ตามที่เสียชีวิตในการต่อสู้เพื่อองค์จักรพรรดิอยู่ในฐานะเอเรอิ (จิตวิญญาณวีรชน) อีกประการคือองค์กรต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนศาลเจ้าแห่งนี้ โดยเฉพาะสมาคมครอบครัวผู้สูญเสียจากสงครามญี่ปุ่นอิโซกุไค อันเป็นองค์กรใหญ่ที่สุด กล่าวคือ เมื่อรัฐประกาศยกย่องทหารชั่วเหล่านี้ว่าเป็นวีรบุรุษทำเพื่อชาติเพื่อราชา ประกอบความเชื่อทางศาสนาว่าพวกเขาจะได้ไปดี ได้รับเกียรติสูงสุดจากกษัตริย์ ทำให้กลุ่มหัวเก่าแห่กันมาสนับสนุนแนวคิดนี้ และยังคงเชื่อว่าสิ่งที่ทหารเหล่านี้ทำเป็นความดีงามเพื่อปกบ้านป้องเมือง ขณะที่ฝ่ายเหยื่อสงครามทั้งหลายเห็นว่าไม่เป็นธรรมในการให้เกียรติความชั่วระดับโลกครั้งนี้ พวกอาชญากรควรถูกประณามไม่ใช่ยกย่องสรรเสริญแม้จะตายไปแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในประเทศที่ดูจะเอ็นดูทหารญี่ปุ่นแห่งองค์จักรพรรดิเสียเหลือเกินก็คือไทย ดังจะเห็นได้จากนิยายสุดฮิตของทมยันตี เรื่องคู่กรรม ที่ยังคงวนซ้ำผลิตย้ำชุดความคิดทหารญี่ปุ่นสุดหล่อโกโบริพลีชีวิตปกป้องหญิงไทย อังศุมาลิน มีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 เวอร์ชันทั้งละคร หนัง และละครเวที แม้หลายคนจะตาสว่างรู้แล้วว่าทมยันตี หรือวิมล ศิริไพบูลย์ เป็นหนึ่งในแกนนำยุยงให้มวลชนผู้คลั่งชาติฮือขึ้นสังหารหมู่นักศึกษากลางเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976 ก็ตามที

FYI โรงเรียนมัธยมกเยซอง

การถ่ายทำฉากโรงพยาบาลทหารญี่ปุ่นทำกันบนพื้นที่ประวัติศาสตร์อันเป็นโรงเรียนมัธยมเก่าอายุ 116 ปีในเมืองแดกู ซึ่งครั้งหนึ่งในช่วงปี 1919 บริเวณชั้นใต้ดินเคยเป็นที่ลักลอบเตรียมการของบรรดาผู้กอบกู้เอกราชชาวเกาหลี โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาครูในโรงเรียนแห่งนี้ จนกลายเป็นศูนย์กลางการชุมนุมลับในเมืองแดกูที่ปลุกไฟปลดแอกให้กับชาวเกาหลีในยุคต่อๆ มา

“หนึ่งหล้าหลังคาเดียว” เป็นคติพจน์ฝั่งทหารญี่ปุ่นที่เขียนปลุกใจในทุกพื้นที่ ปรากฏหลายต่อหลายครั้ง และบ่อยครั้งพวกเขาพูดถึงการทำเรื่องระยำตำบอนเพื่อให้องค์มหาจักรพรรดิพึงพอใจ นับเป็นการตอบโต้สุดแสบครั้งล่าสุดจากฝั่งเกาหลีที่แสดงมุมมองเหล่านี้ผ่านซีรีส์เรื่องยิ่งใหญ่และโด่งดังสุดแห่งปีเรื่องนี้

จนบัดนี้เรายังไม่รู้ว่าโครงเรื่องทั้งหมดจะไปจบที่ตรงไหน เพราะนอกจากซีรีส์นี้ยังจะมีอีกครึ่งหนึ่งที่จะสตรีมมิงต้นปีหน้าแล้วยังจะมีต่อภาคสองด้วย ทำให้เรายังคาดเดาไม่ได้ว่าเหตุการณ์จะไปสิ้นสุดลงที่ปีไหน หากนับจากจุดเริ่มต้นคือมีนาคม หรือ 5 เดือนก่อนที่ฝ่ายญี่ปุ่นจะพ่ายสงครามในเดือนสิงหาคม 1945 ทว่าหากเรื่องจะไปไกลกว่านั้นสัก 5 ปีให้หลัง อีกเหตการณ์สำคัญที่เกาหลีต้องเผชิญคือการแบ่งประเทศแยกเป็นเหนือใต้ในช่วงสงครามเกาหลีในปี 1950 ที่กินระยะเวลายาวนานถึง 3 ปีไปจนถึงปี 1953

สัตว์ร้ายที่ควบคุมไม่ได้ในเรื่องถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ให้ขบคิดได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่อุดมการณ์ทางการเมือง ไปจนถึงอำนาจ การกดขี่ ความโหดเหี้ยม เหยื่อความทารุณ ความชั่วร้ายของสงคราม และการเอาตัวรอดของมนุษย์ที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป

สมาชิกกลุ่มผู้รักชาติ: จางแทซังก็เป็นแค่คนพื้นเพต่ำต้อย คนน่ารังเกียจที่สนแต่เงินกับตัวเขาเอง
จางแทซัง: คนน่ารังเกียจรึ?
สมาชิกกลุ่มผู้รักชาติ: ก็คุณใช้ชีวิตมาแบบนั้นจริงๆ นี่ ถึงประเทศล่มสลายหรือคนโชซอนถูกข่มเหง คุณก็ทำเป็นเมินเฉย แถมปฏิเสธหลายครั้งตอนถูกชวนเข้ากลุ่มคนรักชาติ…ไม่จริงหรือ?
จางแทซัง: ผมขอถามแค่อย่างเดียว ถ้าหากคิดเห็นไม่ตรงกับพวกคุณ ถือว่าเลวหมดเลยหรือ
สมาชิกกลุ่มผู้รักชาติ: เพราะคุณไม่มีจุดยืนที่แน่นอนเป็นของตัวเอง เราจะเชื่อคุณได้ยังไง
จางแทซัง: แล้วทางเลือกของคนที่มีจุดยืนชัดเจนอย่างคุณ มันถูกเสมอหรือ?