ThaiPublica > คอลัมน์ > Detention: The Series ยุครัฐอุ้มฆ่านักเรียนเลวและครูชังชาติ

Detention: The Series ยุครัฐอุ้มฆ่านักเรียนเลวและครูชังชาติ

26 มกราคม 2021


1721955

“เรื่องราวต่าง ๆ ถูกบิดเบือน จนบิดเบี้ยว จากการปกปิดและกีดกันกว่า 30 ปี ทำให้ความเกลียดชังแพร่กระจายอย่างเงียบเชียบ…แต่อดีตไม่เคยจางหายไป…จนกว่าเราจะตาสว่างขึ้นอีกครั้ง”

เสียงครูใหญ่ประกาศก้องในหอประชุมโรงเรียน “ฟ่างรุ่นซิน นักเรียนชั้นปีสามห้องหนึ่ง ทำความดีความชอบโดยรายงานพวกสายลับชังชาติ เธอจึงได้รับใบประกาศนียบัตรในวันนี้ ทำดีเพื่อชาติแล้ว ทำดีเพื่อชาติแล้ว” จากนั้นในฉบับซีรีส์ นักเรียนหญิงฟ่างรุ่นซิน ตัดสินใจโดดตึกตาย ขณะที่ในฉบับเกม และภาพยนตร์ เธอแขวนคอตายบนเวที ต่อหน้าธงสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) และรูปดร.ซุนยัดเซ็น

เพื่อทำความเข้าใจถึงจักรวาล Detention ทั้งหมดให้ง่ายขึ้น เราขอเล่าตามลำดับโดยย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น เมื่อครั้งยังเป็นเพียงโปรเจคของพวกเนิร์ดเกมส์ คอฟฟี่ เหยา คือหัวหอกสำคัญของค่ายเกม Red Candle เล่าว่า “ผมก่อตั้งบริษัทไปพร้อมกับความวุ่นวายตอนกำลังออกแบบเกมต้นแบบของ Detention ในช่วงมีนาคม 2014 จากนั้นปีถัดมาก็เริ่มชวนคนอื่น ๆ มาร่วมสมทบด้วย” โดยก๊วนที่ชวนกันมา แม้จะเคยเจอหน้ากันในชีวิตจริง เพราะพวกเขาไปร่วมโปรแกรมรัฐบาลที่เรียกว่า IGD Share ที่ให้พื้นที่เล็ก ๆ สำหรับพวกคอเกมได้มาร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียกัน แต่พวกเขาไม่เคยคุยกันเลย กระทั่ง เหยา เริ่มทักไปหาบางคนทางออนไลน์ จากนั้นก็เริ่มค่าย Red Candle ขึ้นในตึกแถวเล็ก ๆ ที่ทั้งทีมมีกันแค่ 8 คน

โดยตอนนั้นพวกเขาไม่เคยคิดเลยว่า ในอีกไม่กี่ปีต่อมา เกมนี้จะดังสุด ๆ จนกลายเป็นหนังกวาดรางวัล แจ้งเกิดผู้กำกับและนักแสดงหน้าใหม่ แถมยังมีเกมตอนต่อที่อลังการกว่าเดิม และล่าสุดกลายเป็นซีรีส์ฉายทั่วโลกทางเน็ตฟลิกซ์โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน ผ่านช่องทีวีสาธารณะ (PBS-ช่องที่ผลิตรายการโดยใช้เงินภาษี แต่มีข้อแม้ว่ารัฐบาลห้ามเข้ามาครอบงำหรือเซ็นเซอร์เนื้อหาใดใด แม้เนื้อหานั้นจะวิจารณ์รัฐบาล)

แต่เกม Detention (2017) แม้จะอัดแน่นไปด้วยฉากสยองขวัญ ทว่าหากเทียบกับค่ายเกมใหญ่ ๆ แล้ว รายละเอียดทางกราฟฟิกของเกมนี้ เรียบง่ายเกินไป แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังกลายเป็นจุดสนใจและถูกพูดถึงในทุกแวดวงสื่อ

Detention ขุดคุ้ยเรื่องจริงที่ถูกกลบฝัง

โปรเจคเกมนี้เริ่มจากการวาดวิช่วล โดยใช้ข้าวของต่าง ๆ ในช่วงยุค1960s ทำให้ฉากดูหลอกหลอน เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยภูตผีปีศาจ แล้วตั้งชื่อเกมต้นแบบชิ้นแรกนั้นว่า Devilpolis แต่สุดท้ายพวกเขานึกไม่ออกว่าจะวางโครงเรื่องไว้ในแบ็คกราวด์แบบไหนดี จึงจะทำให้เนื้อเรื่องชวนติดตามและน่าสนใจ ระหว่างพัฒนาพวกเขาจึงทำเกมต้นแบบขึ้นมาอีกชิ้น โดยวางแบ็คกราวด์ให้เป็นโลกแบบดิสโทเปีย อย่างในนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล จากตรงนี้เองที่ทำให้พวกเขาร่วมกันขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ และตัดสินใจวางแบ็คกราวด์ใหม่ ในยุคที่ไต้หวันอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แล้วตั้งชื่อภาษาจีน อันมีความหมายว่า “กลับสู่โรงเรียน” ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ความน่าสะพรึงกลัวสีขาว (Taiwan White Terror)”

คอฟฟี่ เหยา เล่าถึงการตัดสินใจในเวลานั้นว่า “จากตอนแรกที่เราหวังจะทำเกมเจาะตลาดผู้เล่นคอเกมเท่านั้น กลายเป็นว่าการใส่ประวัติศาสตร์ลงไปด้วย ทำให้เราเจาะตลาดผู้สนใจกลุ่มใหม่ ๆ ได้ด้วย คือแม้ว่าพวกเขาจะไม่เคยเล่น เขาอาจจะอยากดูการแคสต์เกมส์ที่คนอื่นเล่นให้ดูกันทางออนไลน์ ไปจนถึงอยากลองหาเกมมาเล่นเองก็เป็นได้ เพราะเรามีเนื้อหาเข้มข้นพอที่จะทำให้คนพูดถึงกันปากต่อปาก ยิ่งในยุคโซเชียลด้วยแล้วก็ยิ่งง่ายต่อการกระจายข่าว ผมคิดว่าบรรยากาศของช่วง white terror สอดคล้องกับงานของเราอย่างยิ่ง และยังให้ความรู้สึกหวนรำลึกถึงวันเก่าอันงดงาม มีความท้องถิ่น มีเสน่ห์ต่างจากปัจจุบัน ซึ่งง่ายที่จะทำให้ผู้เล่นเกิดอารมณ์ร่วม โดยนอกจาก นิยาย 1984 แล้ว เรายังได้ไอเดียจากบรรยากาศจากเกมอย่าง Silent Hill หรือหนังไต้หวันนิวเวฟอย่าง City of Sadness (1989) ของผู้กำกับโหวเชี่ยวเฉียนมาเป็นแกนหลักของเกมด้วย”

FYI ความน่าสะพรึงกลัวสีขาว

ชนวนเหตุเริ่มต้นในปี1947 อันเป็นช่วงแรก ๆ ที่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งเพิ่งจะเข้ามารับการถ่ายโอนอำนาจบริหารไต้หวันหลังจากญี่ปุ่นพ่ายสงครามโลก ประชาชนในท้องถิ่นเห็นว่าพวกเจ้าหน้าที่พรรคก๊กมินตั๋งลุแก่อำนาจ ชอบข่มเหง ขูดรีด และคอร์รัปชัน หรือไม่ก็ยึดทรัพย์และจับกุมชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงพยายามกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง กระทั่งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1947 ณ กรุงไทเป เมื่อคนของฝ่ายรัฐทำร้ายหญิงม่ายคนหนึ่งที่ต้องสงสัยว่าลอบขายบุหรี่เถื่อน แล้วเจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นได้ยิงไปยังฝูงชนที่มุงดูเหตุการณ์อยู่ด้วยความโกรธแค้น ส่งผลให้ชายคนหนึ่งเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น ทำให้เกิดกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาต่อต้าน และเข้ายึดสถานีวิทยุส่งข่าวไปทั่วทั้งเกาะ จนผู้คนทยอยกันออกมามากขึ้น พรรคก๊กมินตั๋งพยายามหยุดเหตุการณ์ลุกลามนี้โดยส่งกองทหารเข้าล้อมปราบ และสังหารหมู่ประชาชนไปกว่าห้าพันคน (ปัจจุบันเชื่อว่าอาจมีเกือบสามหมื่นคน)

เหตุการณ์ครั้งนี้ต่อมาเรียกว่า อุบัติการณ์228 อันส่งผลให้รัฐประกาศกฎอัยการศึกขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม 1949 – 15 กรกฎาคม 1987 ที่รัฐเผด็จการทหารของเจียงไคเช็คหลอกว่าจะขอเวลาอีกไม่นาน แต่กลับยืดเยื้อยาวนานไปถึง 38 ปี 57 วัน แถมก๊กมินตั๋งยังเป็นพรรคเดียวที่ครองอำนาจมาตลอด 55 ปีนับจากนั้น ที่นักเรียนต้องฝึกวินัยอย่างทหาร ศึกษาแบบเรียนล้างสมอง รวมถึงรัฐส่งสายตรวจเข้าไปประจำการตามโรงเรียน เพื่อสอดส่ายรายงานว่ามีครูชังชาติหรือนักเรียนเลวคนไหน ฝักใฝ่แนวคิดฝ่ายซ้าย แอบศึกษาวรรณกรรมนอกรีต จำพวก 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล, โลกวิไลซ์ (Brave New World) ของ อัลดัส ฮักซ์ลีย์, วอลเดน ของ เฮนรี เดวิด ทอโร ฯลฯ ไปจนถึงสายตรวจพวกนี้สามารถลอบอุ้มฆ่าด้วยใบอนุญาติจากรัฐเผด็จการ ที่ป้ายสีว่าคนเหล่านี้ผิดกฎหมายมาตรา100 ว่ากระทำ “อาชญากรรมแห่งพลเรือนผู้ก่อความไม่สงบ” บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวหลอกหลอนนี้เอง คือฉากหลังที่จักรวาล Detention วางโครงเรื่องทั้งหมดเอาไว้

จากเกมสู่หนังกวาดทั้งรางวัลและรายได้

Detention มีฉบับภาพยนตร์ในปี2019 หรือเพียงแค่ 2 ปีหลังจากฉบับเกมวางตลาด โดยฉบับภาพยนตร์เล่าเรื่องราวด้วยกลวิธีเดียวกันกับฉบับเกมแทบทุกประการ อาทิ โครงเรื่องในการเล่า คือเริ่มจากเหตุการณ์ B ตัดย้อนกลับมาเหตุการณ์ A และจัดฉากด้วยกราฟฟิกสมมาตรเรียบง่าย แต่สยองนองเลือดขึ้นกว่าฉบับเกม และจุดที่ต่างกันอย่างชาญฉลาดคือ ฉบับเกมระบุเหตุการณ์คร่าว ๆ ว่าเกิดในยุค60s ขณะที่ฉบับหนังตอกย้ำความเฮี้ยนด้วยการระบุปี1962 อันเป็นปีที่ 13 หลังจากประกาศกฎอัยการศึก และเป็น 13 ปีก่อนที่ประธานาธิบดีเผด็จการเจียงไคเช็กจะถึงแก่อาสัญกรรมในปี1975 โดยคราวนี้ในหนังจงใจเปิดฉากด้วยอนุสาวรีย์เจียงไคเช็คหน้าโรงเรียนอย่างโดดเด่น เพื่อชี้เป้านโยบายอันผิดพลาดนี้ว่าเป็นฝีมือใครอย่างจงใจ

เรื่องย่อที่เหมือนกันทั้งในฉบับเกมและหนังคือ เมื่อ ฟ่างรุ่นซิน(จิงเกิล หวัง) นักเรียนหญิงย้ายเข้ามาใหม่ในโรงเรียนกรีนวูดที่ตั้งอยู่ในเมืองชนบท เธอเผลอหลับไปในห้องเรียนก่อนจะผวาตื่นขึ้นมากลางดึก แล้วเดินไปเจอกับ เว่ยจงถิง(เฉิงจิ้งฮวา) นักเรียนชายรุ่นน้อง ทั้งคู่ช่วยกันหาทางออกจากโรงเรียนแต่ระหว่างทางก็เจอภูติผีและเรื่องประหลาดเลือดสาดมากมาย ก่อนที่ฟ่างรุ่นซิน จะจำได้ว่าเธอได้ก่อเรื่องคอขาดบาดตายอะไรเอาไว้ เรื่องก็ย้อนกลับไปเล่าตั้งแต่วันแรกที่เธอย่างเท้าเข้ามาเรียนที่นี่ และรู้ว่าครูหนุ่มที่เธอแอบรักลักลอบเปิดชมรมอ่านวรรณกรรมต้องห้าม ก่อนที่การติดสินใจผิดพลาดที่ฟ่างรุ่นซินคิดว่าไม่น่าจะใช่เรื่องใหญ่โตอะไร กลับส่งผลบานปลายเกินคาด

จากหนังที่ลงทุนไม่ถึงร้อยล้าน พาหนังทำรายได้เกือบจะทะลุสามร้อยล้าน เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลกว่า 22 สาขาจากเวทีสำคัญทั้งในและนอกประเทศ และกวาดไปได้ถึง 13 รางวัล ซึ่งรวมไปถึงรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม จากทั้งเวทีม้าทองคำ, ไทเปฟิล์มอะวอร์ด เข้าฉายในเทศกาลร็อตเตอร์ดัม, ฟิลาเดลเฟีย, ไมอะมี่ และแฟนตาสปอร์โต(โปรตุเกส) ฯลฯ

จอห์น ฉู่ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเกิดในช่วงปลายของ White Terror ซึ่งพอถึงเวลานั้นแม้จะไม่มีเรื่องฉ้อฉลทำนองนั้นมากนัก แต่แบบเรียนในยุคของผมกลับเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงนี้เพียงไม่กี่บรรทัด และเล่าอย่างคลุมเครือ มันยังคงมีข้อเท็จจริงบางประการที่ผู้คนไม่อยากจะรับรู้ถึงมันอีก โดยเฉพาะผู้มีอำนาจบางกลุ่มที่มองว่าความโหดเหี้ยมเหล่านั้นทำไปด้วยความรักชาติ เพื่อขจัดผู้เห็นต่าง และพวกเขาคือฮีโร่กู้ชาติ โดยไม่ยอมรับความจริงอีกฝั่งหนึ่งว่าแท้จริงพวกเขามือเปื้อนเลือดและฆ่าญาติพี่น้องร่วมชาติ มันเหมือนเป็นบาดแผลเรื้อรังรักษาไม่หายที่ยังคงเจ็บปวด แต่เราก็ทำเป็นลืม ๆ กันไป กระทั่งเมื่อสักสิบปีมานี้เอง เมื่อคนรุ่นใหม่โตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาเปิดกว้างขึ้น ค้นหาความจริงผ่านประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และเปิดใจรับได้ทั้งส่วนดีและส่วนเสีย เผชิญหน้ากับบาดแผลเหล่านั้น เพื่อเรียนรู้จดจำ และหวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยอีก ผมหวังว่าการสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา จะไม่ใช่เป็นการเปิดปากแผลให้ฉีกลึกขึ้นไปอีก แต่เป็นการเยียวยาความเจ็บปวดให้ทุเลาลง”

Your Name Engraved Herein (2020)

Detention นอกจากจะแจ้งเกิดผู้กำกับหน้าใหม่แล้ว ยังแจ้งเกิดดารานำชาย เฉิงจิ้งฮวา จนได้เข้าชิงสาขานักแสดงหน้าใหม่จากทั้งเวทีม้าทองคำ และไทเป ฟิล์ม อะวอร์ด และในปีถัดมาเขาก็กวาดคำชมไปอย่างล้นหลาม ด้วยบทบาทในหนัง LGBTQ ย้อนยุค Your Name Engraved Herein (2020) https://youtu.be/Ph-rRFGmJPg ที่เล่าเหตุการณ์ในช่วงยุค80s หลังจากเลิกกฎอัยการศึกได้ไม่นาน ทำให้โรงเรียนประจำ คาทอลิก ชายล้วนที่เขาเรียนอยู่นั้น มีนักเรียนหญิงเข้ามาเรียนด้วย ตัวละครอยู่ในยุคที่ประเด็น LGBTQ ยังเป็นเรื่องต้องห้าม ในยุคที่ผู้คนยังคงถกเถียงกันเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ และสับสนระหว่างต้องเลือกความรักกับชายหรือหญิง ผ่านช่วงเวลามาสู่ยุคปัจจุบันที่ผันผ่านจนกลายให้ไต้หวันผ่านร่างกฎหมายสมรสระหว่างเพศเดียวกันได้เป็นประเทศแรกในเอเชีย

Detention: The Series

ความคาดหวังของคอเกมและแฟนเดนตายของหนังเรื่องนี้ย่อมบังเกิด เมื่อมีการประกาศสร้าง Detention: The Series ที่จะออนแอร์ในไต้หวันไปพร้อม ๆ กับฉายสตรีมมิ่งทั่วโลกผ่านเน็ตฟลิกซ์ สำหรับคนที่เคยผ่านมาแล้วทั้งสองเวอร์ชั่น ก็ได้แต่กังขาว่าฉบับซีรีส์จะเล่าอย่างไรเมื่อทางช่องประกาศว่าจะมีทั้งหมด 8 ตอน เพราะเอาเข้าจริง ๆ พล็อตของหนังเรื่องนี้ไม่ได้ยาวมาก แถมถ้าจะไปเล่าเรื่องซ้ำกับเวอร์ชั่นเดิม ๆ อีก คนเคยดูก็รู้ไต๋หมดแล้ว ทางออกของฉบับซีรีส์คือการขยายเรื่อง โดยวางเหตุการณ์หลักในซีรีส์ไว้ที่ปี1999 เสมือนเล่าต่อเนื่องจากเวอร์ชั่นเดิม และห่างจากไทม์ไลน์เดิมมากกว่า 30 ปี

เหตุการณ์ยังคงเกิดในโรงเรียนเดิม มัธยมกรีนวูด ที่ยังคงยึดกฎอัยการศึกอย่างเคร่งครัด แม้กฎนี้จะถูกยกเลิกไปแล้วถึง 11 ปี ราวกับทั้งเมืองนี้ถูกแช่แข็งไว้ด้วยกาลเวลา ขณะที่นักเรียนใหม่ หลิวยุ่นเสียง(ลี่หลิงเหว่ย) ย้ายจากไทเปมาเรียนในชนบทแห่งนี้โดยไม่มีใครล่วงรู้ถึงอดีตของเธอ พร้อม ๆ กับที่เธอกำลังค่อย ๆ รู้เกี่ยวกับอดีตอันโหดเหี้ยมของโรงเรียนนี้ ทว่าน่าเสียดายที่แทนที่ซีรีส์จะเน้นย้ำประเด็นไต้หวันภายใต้กฎอัยการศึก ซีรีส์กลับพุ่งเป้าไปที่ความรักต้องห้ามระหว่างครูหนุ่มกับลูกศิษย์สาวแทน และเน้นประเด็นทางจริยธรรมของกลุ่มพวกฝักใฝ่เสรีนิยม กับอำนาจนิยมในแบบชายเป็นใหญ่

FYI: ทำไมต้อง 1999

แม้ไม่มีใครบอกสาเหตุว่าทำไมฉบับซีรีส์จึงเลือกวางโครงเรื่องหลักไว้ที่ปี1999 แต่ส่วนตัวเราเชื่อว่าผู้ชมชาวไต้หวันน่าจะไม่มีวันลืมว่าเกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรในปีนั้น ซึ่งซีรีส์ได้บอกเป็นนัยผ่านข่าวหนึ่งที่จงใจจะให้คนดูรับรู้ในช่วงท้ายเรื่องที่มีเสียงจากข่าวบอกว่า “แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ยังเปิดเผยด้วยว่าสมาชิกสภาหลี่ ใช้คณะกรรมการบรรเทาภัยพิบัติถ่ายโอนทรัพย์สินของโรงเรียนกรีนวูดเพื่อซื้อที่ดินในราคาถูก แต่โฆษกรัฐบาลบอกว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสีเพื่อทำลายชื่อเสียงของฝ่ายรัฐบาล” และข่าวใหญ่ที่ซีรีส์ไม่ได้เล่า คือ เมื่อวันที่ 21 กันยายนปลายปีนั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2,415 คน และสูญหายอีก 29 คน ตึกถล่มทั้งหมด 51,711 ตึก โดยส่วนใหญ่เกิดจากการคอรัปชันระหว่างการสร้างตึกด้วยการลดสเปควัสดุก่อสร้าง

Devotion

เกมภาคต่อจากค่ายเดิม Devotion (2019) (ชื่อจีนมีความหมายว่า “ปฏิบัติตามคำปฏิญาณ”) เรื่องราวเกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 1987 หรือราว 3 เดือนหลังจากเพิ่งยกเลิกกฎอัยการศึกไปหมาด ๆ ผู้เล่นรับบทบาทเป็น ตู้ฟ่งหยู มือเขียนบทหนังที่กำลังประสบภาวะสมองตัน อาศัยอยู่กับครอบครัวในแฟลตซอมซ่อ กงลี่ฟาน เมียของเขาเป็นอดีตนักร้องที่หวังจะหวนคืนเวทีเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวที่กำลังยากจนลง ในขณะที่ ตู้เหม่ยซิน ลูกสาวคนเก่งของเขากำลังเป็นนักร้องดาวรุ่ง หลังจากเธอเข้าประกวดเวทีนักร้องสมัครเล่น และใช้เพลงฮิตของแม่เธอ “Lady of the Pier” (碼頭姑娘) ในการประกวด แต่แล้วจู่ ๆ เหม่ยซิน ก็เกิดอาการป่วยประหลาด ทำให้ฝ่ายพ่อต้องเข้าพึ่งคนทรงเจ้าเข้าผี คนทรงแนะนำให้เขาบูชาซื่อกู่กวนอิม (โพธิสัตว์กวนอิมปางเมตตา) เพื่อหวังให้ช่วยสภาพครอบครัวของเขากลับมาดีขึ้น แต่ความเชื่อนี้กลับทำให้เขามองว่าลูกเมียถูกผีสิง และเขาต้องใช้ไสยดำปัดเป่าผีร้ายให้พ้นไปจากบ้าน

(ซ้าย) ยันต์แบบเดิม (ขวา) ยันต์อวยพรปีใหม่

แม้เกมจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกราฟฟิกที่โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม แต่ทันทีที่วางแผงเพียง 2 วัน เกมนี้ก็ถูกถล่มเละจนระบบล่มไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากชาวเนตจีน ค้นพบอีสเตอร์เอ้ก ที่ซ่อนความหมายไว้บนยันต์แผ่นหนึ่งที่สามารถแปลความได้ว่า กำลังแอบด่าท่านผู้นำจีน สีจิ้นผิง เพราะรูปบนยันต์ตีความได้ถึงค้อนเคียวและหมีวินนี เดอะ พูห์ กับ คำจีน 你媽八七 (หนี่มาปาชิ) ที่ถ้าอ่านด้วยสำเนียงจีนกลางในสองตัวแรก และสำเนียงฮกเกี้ยนในสองตัวหลัง จะพ้องเสียงกับคำว่า 你媽白痴 (หนี่มาไป๋ชื๊อ) อันแปลได้ว่า “แม่มึงปัญญานิ่ม” จนภายหลังทางค่ายเกมต้องเปลี่ยนเอายันต์ สุขสันต์ปีใหม่ เข้าไปแปะทับยันต์เดิมแทน

อย่างไรก็ตามน่าสนใจว่า เฉินซื่อม่าย รองนายกรัฐมนตรีไต้หวันได้โต้ออกสื่ออย่างไม่เกรงจีนว่า “เฉพาะประเทศที่มีประชาธิปไตยและเสรีภาพเท่านั้นที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ทำให้เกมนี้โดนแบนในจีนอย่างเป็นทางการ แต่ถึงกระนั้นก็ตรวจพบว่ามีผู้เล่นชาวจีนลักลอบเล่นเกมนี้มากกว่า 30ล้านล็อกอิน

FYI: สาดสีใส่ท่านผู้นำ

ในบ้านเราเมื่อปีก่อนอาจมีดราม่ากรณีสาดสีตามที่ต่าง ๆ แต่ถ้าเทียบกับที่ไต้หวันแล้วยังห่างไกลกันหลายขุม การประท้วงยังคงเกิดขึ้นในทุกวันนี้ โดยเฉพาะกรณีการเชิดชู เจียงไคเช็ค ในฐานะจอมพลวีรบุรุษผู้สร้างประเทศไต้หวัน โดยทำเป็นหลับตาอีกข้าง กลบเกลื่อนความโหดเหี้ยมที่เขาเคยกระทำและซุกซ่อนไว้มากมาย ส่งผลให้เกิดกลุ่ม Vandalism ที่คนไทยมักจะเข้าใจไปในทางพวกชอบทำลายทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย เช่น ขูด ขีด เขียน พ่น คำหยาบคาย หรือแม้แต่ทุบทำลายว่าเป็นพวกมือบอน ขณะที่ในทางการเมืองแนวคิดนี้ในโลกเสรีประชาธิปไตย ได้เกิดกราฟฟิตี้ไปพ่นเพื่อปลุกจิตสำนึก ตั้งคำถามต่าง ๆ เพื่อช่วยกันขุดคุ้ยความจริงออกมา อย่างกรณี White Terror ทุกวันนี้ยังคงมีความพยายามในการทุบทำลาย บั่นคอ หรือสาดสีรูปปั้น ไปจนถึงหลุมศพ อนุสาวรีย์รำลึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจียงไคเช็ค เพราะพวกเขาต้องการจะย้ำเตือนให้ผู้คนตาสว่างตื่นรู้ว่าแท้จริงแล้ว เจียงไคเช็ค ไม่ใช่วีรบุรุษ หากแต่เป็นอาชญากรที่ผลาญคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเป็นหมื่น ๆ คนในสมัยอำนาจปกครองอันยาวนานของท่าน

FYI: สวนสันติภาพรำลึกอุบัติการณ์228

นอกจากนี้ทางการเองก็อนุญาติให้มีการตั้งสวนสันติภาพ ที่มีพิพิธภัณฑ์ถาวรและหมุนเวียนอยู่ภายใน เพื่อรำลึกถึง และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณี228 น่าสนใจว่าสวนแห่งนี้ ตั้งประจันหน้า ตรงข้ามหอรำลึกเจียงไคเช็คอันใหญ่โตของท่านอย่างไม่เกรงกลัวใคร แถมวันดีคืนดียังมีผู้ออกมาชุมนุมเรียงเป็นตัวเลข 228 เพื่อสื่อสารให้ผู้คนไม่ลืมเหตุการณ์โหดเหี้ยมนั้น แม้จะผ่านไปแล้วกว่า 70 ปี

ฉบับซีรีส์เล่าย้อนไปว่าในโรงเรียนกรีนวูด เคยมีครูใหญ่คนเก่าหัวก้าวหน้า ที่ออกมาโต้ผู้ตรวจการจากรัฐว่า “การรักษาระเบียบเป็นเรื่องดี แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็เป็นนักเรียน ไม่ใช่ทหาร สิ่งที่เราถ่ายทอดคือความรู้ พวกเขาไม่ได้จะออกไปรบเสียหน่อย” น่าสนใจว่าขณะที่กาลเวลาผ่านไปเกือบศตรวรรษ จนหลาย ๆ ชาติตื่นรู้ตาสว่างและตระหนักถึงความจริงนี้กันหมดแล้ว แต่ในบางประเทศกลับยังคงบอนไซและแช่แข็งประเทศด้วยการใช้ระบอบทหารมาจัดระเบียบในรั้วโรงเรียน ตั้งแต่ชุดนักเรียน ทรงผม ไปยันแบบเรียนบิดเบือนประวัติศาสตร์ ด้วยคำอ้างว่า “ทำดีเพื่อชาติ” (ปรบมือ!)