ThaiPublica > สู่อาเซียน > “บทบาทจีน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมี “นัยสำคัญ” ในเมียนมา

“บทบาทจีน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมี “นัยสำคัญ” ในเมียนมา

3 ธันวาคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ในการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ในเมียนมา นับแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่มาภาพ : Popular News Journal

2 สัปดาห์มานี้ สื่อฝั่งตรงข้าม “สภาทหาร” หรือสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC), สื่อที่สนับสนุน “รัฐบาลเงา” หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG)ของพรรค NLD รวมถึงสื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังสู้รบกับกองทัพพม่า ต่างออกมาตั้งข้อสังเกตุ วิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับบทบาทของจีนที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเมียนมา

แนวโน้มดังกล่าวปรากฏชัดขึ้นหลัง หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เดินทางเยือนเมียนมาเมื่อกลางเดือนสิงหาคม และได้พบกับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาทหาร ถือเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ นับแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2564

ตามมาด้วยการเชิญ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ให้เดินทางไปจีนในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการเยือนจีนครั้งแรกของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย หลังจากเขานำกำลังออกมาทำรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่แล้วด้วยเช่นกัน

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ไปจีนเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง(GMS) การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง(ACMECS) และการประชุมประเทศในกลุ่ม CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน

……

“ฮึนก๋ายาง” นักเขียน และคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าว Shan News ที่มาภาพ : Shan News

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 “ฮึนก๋ายาง” นักเขียน และคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าว Shan News ได้เผยแพร่คลิปเสียงและบทวิเคราะห์ทางเพจ Shan News ภาคภาษาไทใหญ่ มีเนื้อหาว่า ระหว่างการเดินทางเยือนจีนของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เกิดข้อตกลงกันของ 2 ประเทศว่า จีนและเมียนมาจะร่วมกันจัดตั้งกองกำลังรักษาความมั่นคงขึ้น ภารกิจของกองกำลังร่วมชุดนี้คือการคุ้มครอง รักษาความปลอดภัยให้กับโครงการลงทุนของจีนที่มีอยู่ในเมียนมา

สิ่งที่ ฮึนก๋ายาง ต้องการสื่อคือ ข้อตกลงนี้เป็นการเปิดโอกาสกำลังพลทหารรับจ้างจากจีนสามารถเข้ามาเคลื่อนไหวในเมียนมา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 42(B) ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ของเมียนมา ที่กำหนดว่า ห้ามไม่ให้มีกองกำลังติดอาวุธจากต่างชาติมาประจำการอยู่ในดินแดนเมียนมา

ฮึนก๋ายาง เป็นนักวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีผู้ติดตามและได้รับความเชื่อถืออย่างมาก ไม่เฉพาะในรัฐฉาน เขาเกิดเมื่อปี 2499 ที่เมืองหมู่เจ้ ภาคเหนือของรัฐฉาน เรียนจบมหาวิทยาลัยทั้งจากที่เมืองมิตจีน่า รัฐคะฉิ่น และเมืองมัณฑะเลย์ จึงเข้าใจภาพสายสัมพันธ์ระหว่างจีนและเมียนมาในทุกระดับ

บทความของ ฮึนก๋ายาง ยังให้ข้อมูลอีกว่า ในจำนวน 52 ประเทศที่ลงทุนอยู่ในเมียนมาขณะนี้ จีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของจีนในเมียนมาอย่างน้อย 19 โครงการ มีถึง 10 โครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภายใต้ควบคุมของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ เช่น โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า และสะพานข้ามแม่น้ำสาละวิน ที่เมืองกุ๋นโหลง โครงการศูนย์เศรษฐกิจชายแดนชิงส่วยเหอ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกองทัพโกก้าง(MNDAA) โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าหนองผา ในพื้นที่ของกองทัพสหรัฐว้า(UWSA) ไม่นับรวมโครงการสร้างถนน สะพาน และโรงงานอุตสาหกรรมอีกหลายแห่ง

เขาได้อ้างข้อมูลจากการสืบสวนของ The Center for Advanced Defense Studies (C4ADS) เมื่อปี 2564 ซึ่งระบุว่า มีบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน(Private Security Companies : PSCs) 49 แห่ง ที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เช่น กัมพูชา และเมียนมา ในนี้เป็นบริษัทของจีนถึง 29 แห่ง และเฉพาะในเมียนมา มีบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนของจีนอยู่ถึง 6 แห่ง จากที่มีอยู่ทั้งสิ้น 9 แห่ง

แม้ว่าที่ผ่านมา บริษัทรักษาความปลอดภัยเหล่านี้ ทำหน้าที่เพียงคุ้มครอง รักษาความปลอดภัยให้กับโครงการลงทุนของจีนเท่านั้น ไม่ได้สู้รบกับกองกำลังติดอาวุธที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของสภาทหาร

แต่การที่จีนแสดงท่าทีชัดเจนออกมาในระยะหลังว่าให้การรับรองความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของสภาทหาร และพร้อมสนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไปที่สภาทหารกำลังเตรียมจัดขึ้น รวมถึงการที่จีนพยายามกดดันให้กองกำลังติดอาวุธในภาคเหนือของรัฐฉานหยุดสู้รบกับกองทัพพม่า

ทำให้กระแสข่าวการร่วมจัดตั้งกองกำลังรักษาความมั่นคงระหว่างจีนกับเมียนมา ถูกตีความได้ว่า จะเป็นการเพิ่มบทบาทและศักยภาพให้กับบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนของจีน หรืออีกนัยหนึ่งคือทหารรับจ้างจากจีน จนอาจกลายเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งกลุ่มใหม่ และสามารถคานกำลังกับกองทัพชาติพันธุ์ และกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน(PDF) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเงาได้

บทความของฮึนก๋ายาง ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Shan News ภาคภาษาอังกฤษ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567

รุ่งขึ้น วันที่ 21 พฤศจิกายน เว็บไซต์ข่าว DVB(The Democratic Voice of Burma) และสำนักข่าว Irrawaddy นำเสนอบทความที่มองประเด็นใกล้เคียงกับบทวิเคราะห์ของ ฮึนก๋ายาง โดยตั้งข้อสังเกตุถึงบทบาทของบริษัทรักษาความปลอดภัยที่เป็นการร่วมทุนของจีนและเมียนมา ที่เปิดโอกาสให้จีนสามารถส่ง “ทหารรับจ้าง” เข้ามาเคลื่อนไหวอยู่ในเมียนมาได้

ข่าวเชิงวิเคราะห์ที่ The Irrawaddy เผยแพร่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ตั้งข้อสังเกตุบทบาทของจีนในเมียนมาที่กำลังเพิ่มนัยสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

ทั้ง 2 สำนักข่าว ได้ย้อนถึงที่มาของความเคลื่อนไหวนี้ว่าเริ่มเห็นแนวโน้มมาตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม โดยกองทัพพม่าได้ตั้งคณะทำงานเพื่อร่างบันทึกความเข้าใจ สำหรับเตรียมจะไปลงนามกับจีน ในโครงการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยขึ้น ทำหน้าที่ปกป้อง คุ้มครองโครงการลงทุนของจีน กิจการของคนจีน และพลเมืองจีนที่อยู่ในเมียนมา

ข่าวการตั้งคณะทำงานของกองทัพพม่าเกิดขึ้นเพียง 3 วัน หลังเกิดเหตุสถานกงสุลจีนในเมืองมัณฑะเลย์ถูกโจมตีด้วยระเบิดในตอนเย็นของวันที่ 19 ตุลาคม

แม้เหตุการณ์นี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีความเสียหายไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ทางการจีนไม่พอใจ มีการสั่งให้ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัย และเรียกร้องให้รัฐบาลของสภาทหารเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยแก่คนจีน ทรัพย์สินและกิจการของคนจีนในเมียนมา…

เผิง ต้าซุน ผู้บัญชาการกองทัพโกก้าง ที่มาภาพ : Shan News

ไม่กี่วัน ก่อนที่สื่อฝั่งตรงข้ามรัฐบาลของสภาทหารจะเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของจีนในเมียนมา ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้น

วันที่ 18 พฤศจิกายน สำนักข่าว Myanmar Now เว็บไซต์วิทยุเอเซียเสรี(RFA) ภาคภาษาพม่า และเพจข่าว People’s Spring ต่างมีรายงานตรงกันว่า เผิง ต้าซุน ผู้บัญชาการกองทัพโกก้าง ได้ถูกทางการจีนควบคุมตัวเอาไว้แล้ว ณ สถานที่แห่งหนึ่งในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน

เผิง ต้าซุน เป็นลูกชายของเผิง เจี่ยเซิง อดีตผู้นำเขตปกครองตนเองโกก้างและผู้บัญชาการกองทัพโกก้าง ที่เสียชีวิตไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ตามข้อมูลที่ปรากฏในรายงานของสำนักข่าวทั้ง 3 แห่ง ซึ่งอ้างที่มาจากหลายแหล่งข่าว ทั้งจากฝั่งจีนและในเมียนมา ระบุว่า เมื่อปลายเดือนตุลาคม เติ้ง ซีจุน ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเอเซีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ได้เชิญเผิง ต้าซุน ให้เดินทางไปพบในจีนเพื่อเจรจาในประเด็นที่จีนต้องการให้กองทัพโกก้างยุติการสู้รบกับกองทัพพม่าในเมืองล่าเสี้ยว และคืนเมืองล่าเสี้ยวแก่รัฐบาลเมียนมา

ปรากฏว่า หลังจาก เผิง ต้าซุนเดิน ทางเข้าไปในจีนแล้ว กลับเงียบหายไป กระทั่งผ่านไปนานเกือบ 3 สัปดาห์ เขาก็ยังไม่กลับออกมาจากจีน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ทางการจีนได้ควบคุมตัว เผิง ต้าซุน เอาไว้แล้ว เพื่อกดดันให้กองทัพโกก้างปฏิบัติตามคำขอของจีน

ข่าวจากเพจ Myanmar Now เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 บอกว่าเผิง ต้าซุน ผู้บัญชาการกองทัพโกก้าง ถูกควบคุมตัวโดยทางการจีน

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนพยายามกดดันมานานเกือบ 2 เดือน ให้กองทัพโกก้างหยุดการสู้รบกับกองทัพพม่าในภาคเหนือของรัฐฉาน และคืนเมืองล่าเสี้ยวที่กองทัพโกก้างยึดไว้ได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคมแก่รัฐบาลเมียนมา แต่กองทัพโกก้างยังไม่ปฏิบัติตาม สำนักข่าวเหล่านี้จึงเชื่อว่า การควบคุมตัว เผิง ต้าซุน เอาไว้ จึงเป็นการเพิ่มแรงกดดันโดยตรงลงไปยังกองทัพโกก้างอีกระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของกระทรวงต่างประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน หลิน เจี้ยน(Lin Jian) โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ตอบผู้สื่อข่าวที่ได้ถามขึ้นมาถึงข่าวการจับกุมเผิง ต้าซุน โดยเขาตอบคำถามนี้เพียงสั้นๆว่า เผิง ต้าซุน เดินทางมาจีนเพื่อเข้ารักษาตัว และขณะนี้กำลังพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจีน

หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า เผิง ต้าซุน เดินทางมาจีนเพื่อรักษาตัว ที่มาภาพ : คลิปข่าวของ Mizzima TV

……

กองทัพโกก้าง เป็น 1 ใน 3 กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่รวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ โดยกองกำลังติดอาวุธอีก 2 กลุ่ม คือ กองทัพตะอั้ง(TNLA) และ กองทัพอาระกัน(AA)

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 พันธมิตรภาคเหนือเปิด “ปฏิบัติการ 1027” นำกำลังบุกโจมตีฐานที่มั่นของทหารพม่าในหลายพื้นที่ในภาคเหนือของรัฐฉาน ทางการจีนรับรู้ปฏิบัติการ 1027 เพราะวัตถุประสงค์หนึ่งของปฏิบัติการนี้ คือการกวาดล้างกลุ่มจีนเทาที่ใช้พื้นที่ชายแดนรัฐฉาน-จีน เป็นฐานตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์หลอกลวงเงินจากชาวบ้านในหลายประเทศ

ปฏิบัติการ 1027 สิ้นสุดลงในกลางเดือนมกราคม 2567 กองทัพโกก้างสามารถบุกยึดเมืองเล่าก์ก่าย เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้างที่เป็นฐานใหญ่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เอาไว้ได้ ผู้บริหารเมืองเล่าก์ก่ายเดิมที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพพม่าถูกส่งตัวกลับไปดำเนินคดีในจีน เพราะเป็นหัวหน้าใหญ่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ กองทัพโกก้างยังได้เข้าไปควบคุมพื้นที่ด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ช่องทางขนส่งสินค้าจีน-เมียนมา ที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 2 รองจากด่านชายแดนที่เมืองหมู่เจ้

ส่วนกองทัพตะอั้งสามารถยึดครองเมืองน้ำคำ เมืองชายแดนรัฐฉาน-จีน ที่อยู่ห่างจากเมืองหมู่เจ้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนเข้าสู่พื้นที่รัฐคะฉิ่น

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2567 จีนได้แสดงบทบาทเป็นตัวกลางจัดการเจรจาสันติภาพระหว่างกองทัพพม่ากับพันธมิตรภาคเหนือ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างส่งตัวแทนเดินทางไปประชุมกันที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานหลายครั้ง

เป้าหมายของจีนต้องการให้พื้นที่ภาคเหนือของรัฐฉานสงบสุข ปลอดจากการสู้รบ เพราะตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สั้นที่สุดในการเปิดทางออกสู่ทะเลทางด้านมหาสมุทรอินเดียให้กับจีน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเจรจาสันติภาพที่เมืองคุนหมิงยังไม่ได้ข้อสรุป ปลายเดือนมิถุนายน กองทัพโกก้างกับกองทัพตะอั้งได้เปิดปฏิบัติการ 1027 รอบ 2 ขึ้นอีก โดยนำกำลังบุกยึดหลายเมืองที่ตั้งอยู่ตามแนวทางหลวงหมายเลข 3 ที่เป็นเส้นทางโลจิสติกส์หลักตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา

กองทัพตะอั้งสามารถบุกยึดเมืองสีป้อ จ๊อกแม หนองเขียว ลงไปจนถึงเมืองปินอูลวิน ในภาคมัณฑะเลย์ ส่วนกองทัพโกก้างสามารถบุกยึดเมืองล่าเสี้ยว เมืองศูนย์กลางการคมนาคม และถือเป็นเมืองหลวงของรัฐฉานภาคเหนือ

ปฏิบัติการ 1027 รอบ 2 สร้างความไม่สบายใจอย่างยิ่งแก่จีน เพราะนอกจากเป็นการรบกวนเส้นทางโลจิสติกส์หลักของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาแล้ว ปฏิบัติการครั้งนี้ กองทัพโกก้างและกองทัพตะอั้ง ยังได้ร่วมมือกับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน(PDF) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเงา(NUG)

จีนมองว่า ทั้งรัฐบาลเงาและ PDF ต่างได้รับการสนับสนุนจากประเทศตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการ 1027 รอบ 2 จึงเป็นความจงใจจะสร้างอุปสรรคให้กับระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา โดยตรง

หลังจากกองทัพโกก้างยึดเมืองล่าเสี้ยวได้ในต้นเดือนสิงหาคม จีนพยายามใช้การกดดันทุกรูปแบบเพื่อบีบให้กองทัพตะอั้งและกองทัพโกก้างยุติการสู้รับกับกองทัพพม่า และคืนเมืองล่าเสี้ยวที่ยึดไว้แก่รัฐบาลเมียนมา

มีทั้งการตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า และสัญญานอินเทอร์เน็ต ที่ส่งข้ามจากจีนมายังเมืองที่อยู่ตามแนวชายแดนรัฐฉาน

มีทั้งการสั่งปิดด่านชายแดน ห้ามส่งน้ำมัน สินค้าอุปโภค-บริโภค อาหารและสินค้าจำเป็นข้ามมาขายในเมียนมา

รวมถึงเพิ่มแรงกดดันผ่านกองทัพสหรัฐว้า(UWSA) ซึ่งมีอิทธิพล เปรียบเสมือนเป็นพี่ใหญ่ของกองทัพโกก้างและกองทัพตะอั้ง ให้ตัดความช่วยเหลือทุกทางที่กองทัพสหรัฐว้าเคยให้แก่ 2 กองทัพนี้ เพื่อบีบทางอ้อมให้ทั้ง 2 กองทัพหยุดรบกับกองทัพพม่าในภาคเหนือของรัฐฉานเสียที

แต่สถานการณ์ในภาคเหนือของรัฐฉานจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่สงบ!

ข้อสังเกตุและบทวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อฝั่งตรงข้ามรัฐบาลของสภาทหาร ที่ถูกเผยแพร่ออกมาตลอดช่วง 2 สัปดาห์นี้ จึงเป็นประเด็นที่ไม่สามารถมองข้ามได้…

  • เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-เมียนมา” กรุยเส้นทางสั้นที่สุด สู่มหาสมุทรอินเดีย
  • “เป้าหมาย”ของจีน ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่คู่ขนานกับ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา”
  • “ปฏิบัติการ 1027” เขย่า “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-เมียนมา”