ThaiPublica > เกาะกระแส > ASEAN Roundup เมียนมาลงนาม 33 โครงการกับจีน มาเลเซียส่งขยะพลาสติกกลับอังกฤษ

ASEAN Roundup เมียนมาลงนาม 33 โครงการกับจีน มาเลเซียส่งขยะพลาสติกกลับอังกฤษ

26 มกราคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 19-25 มกราคม 2563

  • เมียนมาลงนาม 33 โครงการกับจีน
  • มาเลเซียเริ่มบริการ 5G เชิงพาณิชย์ไตรมาส 3
  • มาเลเซียส่งขยะพลาสติกกลับอังกฤษ
  • เวียดนามบังคับแท็กซี่บริการผ่านแอปติดป้ายชัดเจน
  • ลาวเล็งดึงนักลงทุนเข้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • เมียนมาลงนาม 33 โครงการกับจีน

    ที่มาภาพ: http://www.xinhuanet.com/english/2020-01/18/c_138714159.htm

    เมียนมาได้ลงนามความตกลงที่ครอบคลุม 33 โครงการกับจีน ระหว่างการเดินทางไปเยือนเมียนมาของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา โดยครอบคลุมโครงการ ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การค้า

    แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการเขื่อนมิตสนและเขื่อนพลังงานไฟฟ้าอีก 6 แห่งที่มีมูลค่ารวม 25 พันล้านดอลลาร์ในรัฐกะฉิ่นหลังจากที่ระงับโครงการในปี 2011 และ 2012 อันเนื่องจากการประท้วงของประชาชน ซึ่งโครงการทั้งหมดจะมีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 21,000 เมกะวัตต์ และส่วนหนึ่งจะส่งออกไปจีน

    นอกจากนี้ ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนต่อกรณีความขัดแย้งที่ส่งผลให้การค้าชะงักงัน ที่เมืองมูเซ บริเวณชายแดนเมียนมากับจีน ทั้งสองฝ่ายยังไม่เปิดเผยว่า จีนจะเดินหน้าอย่างไรกับการเจรจาสงบสุขที่คืบหน้าช้ามากกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธจากหลายชาติพันธุ์

    นาย หม่อง หม่อง โซ นักสังเกตการณ์ทางการเมืองในเมียนมาให้ความเห็นว่า โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ Belt Road Initiative (BRI) ของจีนจะไม่สำเร็จหากภูมิภาคทางเหนือยังไม่สงบ ทั้งนี้ จีนมีโครงการใหญ่ในพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของกลุ่มพันธมิตรติดอาวุธทางตอนเหนือ และโครงการท่อก๊าซเมียนมา-จีนกับโครงการพลังงานไฟฟ้าในทางตอนเหนือขิงแม่น้ำอิรวดีก็อยู่ในพื้นที่นั้น

    นายอ่อง โก โก นักเศรษฐศาสตร์มองว่า จีนจะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ในเมียนมามีเสถียรภาพมากขึ้น และหากเมียนมายังไม่สงบ ก็ต้องดูว่าจีนจะลงทุนมากแค่ไหน และเป็นไปได้ว่าจีนจะขาดทุนมหาศาล

    เมียนมาและจีนได้ลงนามในสัญญาสัมปทานและข้อตกลงผู้ถือหุ้นในโครงการท่าเรือน้ำลึกที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจ๊อกพิว ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา หรือ China-Myanmar Economic Corridor (CMEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BRI ที่ครอบคลุมหลายประเทศในเอเชีย

    การพัฒนาท่าเรือจ๊อกพิวในรัฐกะฉิ่น จะเสริมบทบาทจีนในมหาสมุทรอินเดีย เปิดทางให้นำเข้าน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซีย โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา จ๊อกพิวจึงเป็นสถานีน้ำมันและก๊าซที่สำคัญสำหรับจีน เพราะส่งออกก๊าซที่ผลิตในเมียนมาผ่านท่อส่งก๊าซไปยังจีน

    ข้อตกลงนี้มีขึ้นหลังจากที่เมียนมาเจรจาใหม่ในปี 2018 เพื่อลดมูลค่าโครงการท่าเรือน้ำลึกจ๊อกพิวลงจาก 7.3 พันล้านดอลลาร์เป็น 1.3 พันล้านดอลลาร์เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระหนี้ที่มากเกินไป

    จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเมียนมา โดยมีหนี้กับจีน 4 พันล้านดอลลาร์หรือราว 40% ของหนี้ที่มีกับเจ้าหนี้ต่างประเทศ และจากรายงานของคณะกรรมการร่วมตรวจเงินแผ่นดิน ดอกเบี้ยที่เมียนมาจ่ายให้จีนสูงที่สุดในบรรดาหนี้ที่เมียนมามี ซึ่งหนี้บางก้อนมีดอกเบี้ยสูงถึง 4.5%

    สำหรับความตกลงอื่นที่ต้องเจรจาต่อเนื่องก็คือ กรอบความตกลงทางเศรษฐกิจข้ามแดนระหว่างเมืองรุยลี่ของจีนกับเมืองมูเซของเมียนมา

    นอกจากนี้ยังมีการตกลงที่จะเดินหน้าโครงการพลังงานไฟฟ้า LNG มูลค่า 2.6 พันล้านดอลลลาร์ที่เขตอิรวดี มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,390 เมกะวัตต์

    การเยือนเมียนมาของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นการเยือนเมียนมาครั้งแรกและเป็นประเทศแรกของการเดินทางเยือนต่างประเทศในปีนี้ ประธานาธิบดีจีนคนหลังสุดที่เยือนเมียนมาคือนายเจียง เจ๋อหมิน ซึ่งก็ได้ลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจและข้อตกลงข้ามแดนหลายฉบับในปี 2001

    จีนไม่เพียงเป็นพันธมิตรสำคัญของเมียนมาแล้ว แต่ยังเป็นนักลงทุนและคู่ค้ารายใหญ่ ที่เป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจได้หากเมียนมาถูกประเทศตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

    มาเลเซียเริ่มบริการ 5G เชิงพาณิชย์ไตรมาส 3

    ที่มาภาพ: https://www.thesundaily.my/local/malaysia-on-track-to-commercially-roll-out-5g-in-q32020-mahathir-BG1910443

    ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมาเลเซีย เปิดเผยว่า มาเลเซียจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์จากเทคโนโลยี 5Gในไตรมาส 3 ปี 2020 นี้ หลังการพัฒนาเป็นไปตามเป้า

    ดร.มหาธีร์กล่าวในการเปิดโครงการสาธิต 5G ว่า เป็นก้าวสำคัญของประเทศที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในความรุ่งเรือง

    “โครงการนี้จะทำให้บรรลุเป้าหมายในการทำให้ประชาชนทุกคนในประเทศมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีภายในปี 2030″ ดร.มหาธีร์กล่าวและว่า การเตรียมการรองรับการใช้ 5G มีความคืบหน้าอย่างดีนับตั้งแต่มีการเปิดตัวบริการนำร่องในเดือนเมษายน 2019 ที่สำคัญในทางเศรษฐกิจ 5G คือโครงสร้างพื้นฐานของการขยายตัวทางนวัตกรรม

    “เมื่อ 5G มาบรรจบกับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งเกษตรกรรม การศึกษา เฮลท์แคร์ การผลิต การขนส่งและการท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นโอกาสใหม่ของภาคอุตสาหกรรม สังคมและทุกคนที่จะผลันดันเป้าหมายทางดิจิทัล และสร้างบริการใหม่ที่ดีกว่า” ดร.มหาธีร์กล่าว

    ดร.มหาธีร์กล่าวว่า เทคโนโลยีจะมีผลต่อพฤติกรรมของคน และหากไม่ปรับตัวก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็เปิดโอกาสใหม่อย่างนับไม่ถ้วนหากสามารถปรับตัวได้

    มาเลเซียต้องมีความคล่องตัว ยืดหยุ่น เพราะหากยังคงเฉื่อยชา ก็จะไม่สามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลกได้ เพราะมาเลเซียมีต้นทุนอยู่แล้วจากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และมีศักยภาพจึงพร้อมที่ก้าวสู่ยุคใหม่

    ภายใต้โครงการสาธิต 5G มีโครงการตัวอย่างรวม 100 โครงการ โดยที่ 72 โครงการดำเนินการที่สถานี 5G จำนวน 56 แห่งครอบคลุมเคดะห์ กัวลาลัมเปอร์ เปรัก เซลังงอร์ ตรังกานู และปีนัง

    ดร.มหาธีร์กล่าวว่า องค์ประกอบอื่นที่สำคัญของเทคโนโลยี 5G ของประเทศ คือ บรอดแบนด์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้โดยอาศัยโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ ซึ่งมีพลังในการรองรับบริการใหม่ เสริมประสิทธิภาพการผลิตและกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

    มาเลเซียส่งขยะพลาสติกกลับอังกฤษ

    นางยิว บี ยิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สหพันธรัฐมาเลเซีย ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ ที่มาภาพ:https://www.bbc.com/news/uk-51176312

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สหพันธรัฐมาเลเซีย ประกาศว่า มาเลเซียส่งขยะพลาสติกที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมายจำนวน 42 ตู้คอนเทนเนอร์กลับไปยังสหราชอาณาจักร

    นางยิว บี ยิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกล่าวว่า มาเลเซียจะใช้มาตรการเข้มขึ้นเพื่อไม่ให้ประเทศกลายเป็นที่ทิ้งขยะของโลก และให้ข้อมูลอีกว่า มาเลเซียได้ส่งขยะกลับคืนประเทศต้นทางไปแล้ว 150 ตู้คอนเทนเนอร์

    รัฐบาลอังกฤษกล่าวว่า ได้รับคำขอจากทางการมาเลเซียในปีที่แล้วให้รับตู้คอนเทนเนอร์ที่ใส่ขยะคืน ซึ่งมีบางส่วนของตู้คอนเทนเนอร์ได้กลับมายังอังกฤษแล้ว

    โฆษกสำนักงานสิ่งแวดล้อมอังกฤษกล่าวว่า ได้ทำงานร่วมกับบริษัทชิปปิงและทางการมาเลเซียเพื่อนำขยะคืนกลับมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเสริมว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้มีการส่งขยะออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย

    การส่งขยะพลาสติกออกไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงขึ้นมากหลังจากจีน ซึ่งเคยเป็นผู้นำเข้าขยะพลาสติกรายใหญ่ของโลก ประกาศห้ามการนำเข้าในปี 2017

    มาเลเซียเปิดเผยว่า มีขยะจำนวน 3,737 ตันที่ส่งกลับไป 13 ประเทศต้นทาง รวมทั้ง 43 ตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งกลับฝรั่งเศส, 42 ตู้คอนเทนเนอร์ส่งกลับอังกฤษ, 17 ตู้คอนเทนเนอร์ส่งกลับสหรัฐฯ และ 11 ตู้คอนเทนเนอร์ส่งกลับแคนาดา

    รัฐบาลหวังว่าจะส่งกลับอีก 110 ตู้คอนเทนเนอร์ภายในกลางปี 2020 นี้ซึ่งในจำนวนนี้ 60 ตู้คอนเทนเนอร์จะส่งกลับไปสหรัฐฯ

    ประเทศมั่งคั่งหลายประเทศส่งขยะรีไซเคิลออกนอกประเทศ เพราะมีราคาถูก และตอบโจทย์การรีไซเคิล ขณะที่ลดขยะที่ต้องกลบฝังภายในประเทศ

    สหภาพยุโรปเป็นผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายใหญ่ แต่หากนับเป็นรายประเทศแล้วสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุด ทั้งนี้ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ได้ส่งขยะคืนประเทศต้นทางในรอบปีที่ผ่านมา

    ในปีที่แล้วนางยิว บี ยิน ระบุชัดเจนถึงอังกฤษ โดยกล่าวว่า “สิ่งที่คนอังกฤษคิดว่าส่งมาเพื่อรีไซเคิล จริงๆ แล้วเป็นขยะในประเทศของเรา”

    โฆษกสำนักงานสิ่งแวดล้อมอังกฤษกล่าวว่า ความรับผิดชอบในการรับคืนขยะเป็นของบริษัทเอกชนที่ส่งออกไปและต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายอังกฤษ สำหรับผู้ที่พบว่ากระทำผิดในการส่งขยะออกอย่างผิดกฎหมายอาจจะต้องโทษจำคุก 2 ปีและโทษปรับจำนวนมาก

    เวียดนามบังคับแท็กซี่บริการผ่านแอปติดป้ายชัดเจน

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/grab-cars-must-have-taxi-lightbox-or-logo/167525.vnp
    เวียดนามเผยแพร่ประกาศนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2020 กำหนดให้รถแท็กซี่ที่บริการผ่านแอปพลิเคชันต้อง ติดป้ายหรือกล่องไฟบนหลังคารถอย่างถาวร หรือติดป้ายไฟติดสติกเกอร์โลโก้ของแพลตฟอร์มเครือข่ายบนให้เห็นอย่างชัดเจนทั้งกระจกหน้า กระจกข้าง ของรถคันที่นำมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2020

    คำสั่งใหม่นี้มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมกันระหว่างแท็กซี่แบบเดิมกับแท็กซี่ที่บริการผ่านแอปพลิเคชัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีผลต่อภูมิทัศน์การคมนาคม การจัดการที่ยากขึ้น

    คำสั่งใหม่นี้เป็นผลจากโครงการนำร่องการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือ e-hailing ที่เริ่มขึ้นในปี 2016 ซึ่งมี Grab และบริษัทแท็กซี่ในประเทศเข้าร่วม ทั้งนี้ Grab เข้ามาในเวียดนามปี 2014 และหลังจากที่เทกโอเวอร์ Uber ก็เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม

    รายงานของ ABI Research ระบุว่า Grab ซึ่งมี ซอฟต์แบงก์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดราว 73% เมื่อวัดจากจำนวนใช้บริการในปี 2019 แต่ก็ไม่ถือว่าสดใสนัก เพราะมีการต่อต้านจากผู้ให้บริการแท็กซี่ในประเทศ

    ในเดือนธันวาคม 2018 ศาลประชาชนในโฮจิมินห์ได้มีคำสั่งให้ Grab จ่ายเงิน 4.8 พันล้านด่องหรือราว 200,000 ดอลลาร์ชดเชยให้ Vinasun ในฐานที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บริษัทขาดทุน

    นอกจากบริษัทให้บริการแท็กซี่แล้ว Grab ยังเจอคู่แข่งทั้ง Go-Viet และแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันในประเทศ เช่น FastGo, BE Group รวมไปถึงบริษัทแท็กซี่ในประเทศที่พัฒนาแอปพลิเคชันของตนเอง เช่น V.Car, Thanh Cong Car, Vic.Car, HomeCar, Mai Linh Car, LB.Car, Emddi-Phuc Xuyen

    Grab มีแผนจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านดอลลาร์ในเวียดนามในอีก 5 ปีข้างหน้าหลังจากที่ลงทุนไปแล้ว 200 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน Grab มีบริการยานพาหนะ บริการส่งอาหาร บริการชำระเงิน บริการขนส่ง บริการจองโรงแรม และ GrabKitchen ในเวียดนาม

    ลาวเล็งดึงนักลงทุนเข้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    ที่มาภาพ: http://www.investlaos.gov.la/index.php/where-to-invest/special-economic-zone
    สำนักงานส่งเสริมและบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (Special and Specific Economic Zone (SEZ) Promotion and Management Office) และหน่วยงาน SEZ ระดับท้องถิ่นของ สปป.ลาว กำลังเร่งส่งเสริมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่ทั่วประเทศ

    ในปีนี้สำนักงานมีเป้าหมายที่จะดึงนักลงทุนจำนวน 163 บริษัทที่มีความสามารถที่จะลงทุนได้อย่างมีคุณภาพและส่งเสริมให้บริษัทที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งแล้วดำเนินการตามข้อตกลง

    ในปีที่แล้วมี 202 บริษัทจดทะเบียนกับสำนักงาน โดย 193 เป็นบริษัทต่างชาติ 5 รายเป็นกิจการร่วมทุน และอีก 4 รายเป็นบริษัทในประเทศ ซึ่งรวมกันทั้งหมดมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 629.67 ล้านดอลลาร์ และมีเงินลงทุนกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์

    สปป.ลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ 12 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมี 806 บริษัทเข้าไปลงทุน

    จัมปา คำสุกสี หัวหน้าสำนักงาน SEZ กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายในภาพรวมของรัฐบาลเป็นอันดับต้นๆ โดยมีแผนที่จะดึงการลงทุนและนักลงทุนเข้ามาในเขต SEZ ให้ได้ 477.52 ล้านดอลลาร์ มีการสร้างงาน 21,288 ตำแหน่งโดยเน้นไปที่การจ้างคนในประเทศในปีนี้

    สำนักงาน SEZ ตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้ส่งรัฐจำนวน 151.46 พันล้านกีบหรือ 17 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าและอุปกรณ์ก่อสร้างมาใน SEZ 719.42 ล้านดอลลาร์ และมีการส่งออกสินค้าจาก SEZ รวม 426.71 ล้านดอลลาร์

    ในปีหน้า สำนักงาน SEZ และหน่วยงาน SEZ อื่นจะเชิญ 140 บริษัทที่มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 655.71 ล้านดอลลาร์มาลงทุนในเขต SEZ และผลักดันให้ผู้พัฒนาโครงการและนักลงทุนเริ่มดำเนินการ

    ในปีหน้าการจัดส่งรายได้จาก SEZ ไปให้รัฐบาลคาดว่าจะมีจำนวน 119 พันล้านกีบ และมีการสร้างงาน 16,000 ตำแหน่ง ส่วนการนำเข้าในเขต SEZ คาดการณ์ไว้ที่จำนวน 43.93 ล้านดอลลาร์ และการส่งออก 427.63 ล้านดอลลาร์

    ปีที่ผ่านมาการส่งออกจาก SEZ มีมูลค่า 394.4 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าสูงถึง 1,101.5 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกมีทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่มีการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และอุปกรณ์ก่อสร้าง สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขต SEZ