ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ นอนชั้น 14 – แจก ‘เงินหมื่น’ ไม่ตรงปก

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ นอนชั้น 14 – แจก ‘เงินหมื่น’ ไม่ตรงปก

18 ธันวาคม 2024


ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ชี้ไม่มีข้อเท็จจริง -หลักฐานยังห่างไกล รวมทั้งไม่รับคำร้อง กรณีพรรคเพื่อไทย – นายกรัฐมนตรี แจก ‘เงินหมื่น’ ไม่ตรงกับนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ ๆหลายคดี แต่ที่สนใจมี 2 คดี คือ เรื่องพิจารณาที่ 38/2567 กรณีที่นายคงเดชา ชัยรัตน์ (ผู้ร้อง) ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ผู้ถูกร้องที่ 1) มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ และรับทราบการบังคับใช้กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 , อธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ผู้ถูกร้องที่ 2) และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกร้องที่ 3) มีอำนาจให้ความเห็นชอบ และอนุญาตบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าว ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีอาการป่วยรุนแรง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 วรรคหนึ่ง (2)

อีกทั้งไม่ได้ดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร ให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 โดยขอให้อัยการสูงสุด ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร เลิกการกระทำที่เป็นการครอบงำ หรือ จูงใจให้ผู้ถูกร้องทั้งสาม ใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสามเลิกการกระทำดังกล่าว

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำพร้อมเป็นเพียงการกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องทั้งสามปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นที่ชัดเจนเพียงพอ และยังห่างไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสาม กระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

คดีที่ 2 เรื่องพิจารณาที่ ต.74/2567 กรณีที่ นายสนธิญา สวัสดี (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้อง) ใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ซึ่งต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และกลุ่มเป้าหมายของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเดิม เป็นการกระทำที่ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 257 (1) และ มาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (2) และ (3) และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (1) และ (5)

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องโต้แย้งนโยบายพรรคของผู้ถูกร้อง และไม่ปรากฏว่าผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพและได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ หรือ เสรีภาพโดยตรง กรณีไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง และ วรรคสอง ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

อ่าน แถลงข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่ 48/2567 เพิ่มเติมที่นี่