นายกฯแจงตั้ง ‘ณัฐวุฒิ’ เป็นที่ปรึกษาฯ ไม่เกี่ยวรับมือม็อบ สั่งคมนาคมตรวจรถเอ็นจีวี 13,000 คัน ใน 60 วัน ยันน้ำท่วม กทม. ปีนี้ไม่รุนแรงเท่าปี’54 ชี้เจ้าพระยารับได้อีก 6,000 ลบ.ม. มติ ครม.แก้ กม.เปิดทาง อปท.กู้เงินทำโครงการแข่งเอกชนได้ เคาะเยียวยาน้ำท่วมครัวเรือนละ 9,000 บาท ไฟเขียว กฟผ.ปรับปรุงสายส่ง รองรับ ‘APG’ วงเงิน 38,500 ล้าน โยกบิ๊กมหาดไทย 25 ตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
จ่ายเยียวยาน้ำท่วมครัวเรือนละ 9,000 บาท
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ทบทวนหลักเกณฑ์เงินเยียวยา จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดนเปลี่ยนเป็นช่วยเหลือแบบเหมาจ่าย อัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิมตามมติ ครม. 17 กันยายน 2567 คือจำนวนเงิน 3,045 ล้านบาท
คาดน้ำท่วมเชียงใหม่กลับสู่ภาวะปกติใน 5 วัน
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า วันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รายงานเรื่องของ ศปช.ส่วนหน้า ว่าจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่วางกรอบไทม์ไลน์ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่รับผิดชอบ
นางสาวแพทองธาร กล่าวถึงการรายงานของ ศปช. ส่วนหน้าว่า “ทุกอย่างเสร็จตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงในตัวของพื้นที่ของแม่สายด้วย ส่วนในพื้นที่อำเภอเมืองที่จังหวัดเชียงใหม่ และที่อำเภอแม่แตงโดยเฉพาะในพื้นที่ปางช้างมีช้างเสียชีวิต โดยกำลังพลทหารได้เคลื่อนย้ายช้างที่เสียชีวิต 2 เชือกออกจากพื้นที่แล้ว รวมถึงเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่ปลอดภัย พร้อมทั้งมีการเตรียมอาหารสัตว์แล้วก็มีการเตรียมเครื่องนุ่งห่มอย่างเพียงพอ”
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า “ข้อกังวลเรื่องน้ำจากเชียงใหม่ ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว ภายใน 4 – 5 วันนี้ คิดว่าทุกอย่างน่าจะกลับไปสู่เหตุการณ์ปกติ”
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ส่วนจังหวัดลำปางและลำพูน คาดการณ์จะมีน้ำจากจังหวัดเชียงใหม่ไหลลงไป แต่คาดว่าไม่ได้ท่วมเยอะ เพราะว่าน้ำจะมีการเคลื่อนตัวไปลงที่เขื่อนภูมิพล และแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าจะมีน้ำท่วมแต่ไม่เยอะ เพราะฉะนั้นได้มีการส่งกำลังพลไปเตรียมพร้อมไว้แล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้ชาวลำปางกับลำพูนสบายใจในส่วนนี้ มีทีมงานค่อยช่วยเหลือในส่วนดังกล่าว
ยันน้ำท่วม กทม.ปีนี้ไม่รุนแรงเท่าปี’54 ชี้เจ้าพระยารับน้ำได้อีก 6,000 ลบ.ม.
นางสาวแพทองธาร ยังกล่าวถึงสถานการณ์ของกรุงเทพมหานครว่า “ส่วน กทม. น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 2554 แน่นอน ตอนนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับน้ำได้อีกเยอะ”
“คราวที่แล้วที่เราบอกว่า ปี 2554 รองรับน้ำได้แค่ 1,000 กว่าลูกบาศก์เมตร แต่ตอนนี้ 6,000 กว่า เพราะฉะนั้นยังไม่่ต้องกังวล เรามีการวางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ได้คุยกับ สทนช. ตลอด รวมถึงพื้นที่ท้ายเขื่อนด้วย การปล่อยน้ำ ก็จะพยายามทำให้ไม่กระทบกับพี่น้องประชาชน เรามอนิเตอร์เรื่องนี้ตลอด”
นอกจากนี้ นางสาวแพทองธาร กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันในสถานการณ์อุทกภัย ทั้งความร่วมมือในด้านของอุปกรณ์ อาหาร ยานพาหนะต่างๆ และในพื้นที่ภาคเหนือที่ตอนนั้นก็คือต้องการรถ ยานพาหนะ และเครื่องมือต่างๆ โดยส่วนดังกล่าวมีความพร้อมทั้งหมด ต้องขอบคุณทุกภาคส่วน
เล็งนัด คอส. วางระบบน้ำทั้งประเทศ
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการ “คอส.” แล้วก็จะประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า และวางแผนในการป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระบบ ทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาวในการประชุมครั้งหน้า ภายหลังจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 จะแต่งตั้งคณะกรรมการทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้คำปรึกษา ในเรื่องของการวางระบบน้ำทั้งระบบของทั้งประเทศ
แจงตั้ง ‘ณัฐวุฒิ’ เป็นที่ปรึกษาฯ ไม่เกี่ยวรับมือม็อบ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นการแต่งตั้ง เพื่อตอบโต้ม็อบโดยเฉพาะหรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อาจจะเป็นเวลาที่พอเหมาะพอดีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมมา แต่ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกัน ซึ่งจริงๆ แล้วตั้งแต่การทำครอบครัวเพื่อไทย ได้มีการทำงานร่วมกับทางด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อยู่ตลอด และเห็นความสามารถ ในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทางด้านการเมือง หรือ ด้านบริหารจัดการในหลายๆ อย่างที่ให้คำปรึกษามาโดยตลอด”
“คิดว่าช่วงเวลาดังกล่าว เหมาะกับทางด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เข้ามาพอดี และในช่วงนอกรอบได้มีการพูดคุย และปรึกษากันอยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้ว คิดว่าน่าจะสามารถทำประโยชน์ได้เยอะ” นางสาวแพทองธาร กล่าว
สั่งคมนาคมตรวจรถเอ็นจีวี 13,000 คัน ใน 60 วัน
ด้านนายจิรายุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันการใช้รถใช้ถนน โดยให้กระทรวงคมนาคมไปตรวจสอบรถที่ติดตั้งก๊าซ CNG หรือ NGV 13,000 คัน ภายใน 60 วัน และหยุดเดินรถก่อนจนกว่ากระทรวงคมนาคมจะตรวจสอบให้เสร็จเรียบร้อย พร้อมสั่งการให้ ครม. พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเดินทางของประชาชนให้มีความปลอดภัย ด้านนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบเรือโดยสารทั้งประเทศ 15,000 ลำ และเรือภัตตาคารที่วิ่งอยู่ตามลำน้ำทั่วประเทศอีก 108 ลำ ตรวจสอบถังแก๊สที่ใช้ทำอาหารวางในจุดที่เหมาะสมหรือไม่ โดยต้องตรวจสอบอย่างละเอียด และให้รายงานที่ประชุม ครม. ต่อไป
เผยกำหนดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
นายจิรายุ กล่าวว่า วันนี้นายกฯ จะเดินทางไปที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ตั้งแต่วันนี้ (8 ตุลาคม 2567) ถึงวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 และจะมีการรายงานถึงกรอบความร่วมมือต่างๆ ในอาเซียนเป็นระยะ โดยการประชุมดังกล่าวจะมีนานาประเทศต่าง ๆที่เข้าร่วมด้วย เช่น เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้แทนสหภาพยุโรป หรือ EU และประเทศคู่ขนานที่จะร่วมทวิภาคี โดยนายกฯ จะประชุมกว่า 20 นัดในห้องประชุมตลอด 4 วันนี้ โดยการหารือไทย – สปป.ลาว วันนี้ได้เห็นพ้อง เดินหน้าทำงานเชิงรุก 5 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) ยาเสพติด (2) คอลเซ็นเตอร์และ online scams (3) ปัญหาการค้ามนุษย์ (4) หมอกควันข้ามแดน และ (5) การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ ได้กระจายภารกิจ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้านตั้งคณะทำงาน และให้มีการประชุมต่อเนื่อง และขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ช่วยติดตามความคืบหน้าในแต่ละด้านด้วย โดยครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการในฐานะนายกรัฐมนตรีครั้งแรก และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ติดต่อกันไป
มติ ครม.มีดังนี้
เคาะเยียวยาน้ำท่วมครัวเรือนละ 9,000 บาท
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และให้ใช้แทนหลักเกณฑ์เดิมที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เสนอ สาระสำคัญมีดังนี้
1. ผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 16.30 น.)
-
(1) มีผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ ในพื้นที่ 50 จังหวัด จำนวน 63,296 ครัวเรือน
(2) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือให้ธนาคารออมสินและได้โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ แล้วรวมจำนวน 6,363 ครัวเรือน เป็นเงิน 31,857,000 บาท
2. ขอทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ภายใต้กรอบวงเงินเดิม ดังนี้
-
1) กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
2) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท
3) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท
ขอทบทวนเป็น กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือ ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 7 วัน ให้ความช่วยเหลืออัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท สำหรับผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ไปแล้ว ให้จ่ายเงินช่วยเหลือฯ เพิ่มเติมให้ครบ จำนวนเงิน 9,000 บาท กรณีผู้ประสบภัยที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือฯ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือฯ ตามหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินฯ ที่ขอทบทวนในครั้งนี้
ประโยชน์และผลกระทบ
ครัวเรือนผู้ประสบภัย จำนวน 338,391 ครัวเรือน ตามข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ/พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 สำหรับเป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย เป็นกรณีพิเศษและเพื่อให้การดำรงชีพของประชาชนเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
แก้ กม.เปิดทาง อปท.กู้เงินทำโครงการแข่งเอกชนได้
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์ การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. ตามที่ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี ตรวจพิจารณาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญร่างระเบียบฯ เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 โดยปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ การกำกับดูแล และการรายงานข้อมูลหนี้ของ อปท. เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ของ อปท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม ตลอดจนมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขอกู้เงินเป็นไปตามลำดับขั้นตอนและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยยังคงหลักการเดิม ร่างระเบียบฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ไฟเขียว กฟผ.ปรับปรุงสายส่ง รองรับ ‘APG’ วงเงิน 38,500 ล้าน
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (Transmission System Improvement Project in Northeastern, Lower Northern, Central Regions and Bangkok Area to Enhance System Security) (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TIEC ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 แล้ว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (14 กรกฎาคม 2558) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ทั้งหมด 3 ระยะ ในวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 94,040 ล้านบาท โดยให้ดำเนินโครงการดังกล่าวเฉพาะระยะที่ 1 – 2 วงเงินลงทุน 36,690 ล้านบาท ไปก่อน สำหรับการดำเนินโครงการ TIEC ในระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 55,350 ล้านบาท ให้ กฟผ. พิจารณาปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับปริมาณพลังงานทดแทนในปัจจุบันในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนความจำเป็นในการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าสำหรับรองรับไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง กฟผ. ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการ TIEC ระยะที่ 3 และดำเนินการปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับปริมาณพลังงานทดแทน รวมทั้งให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อจากโรงไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) โดยได้แบ่งการดำเนินโครงการ TIEC ระยะที่ 3 ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินลงทุนตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ และคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีมติอนุมัติรายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว แต่โดยที่โครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 มีขอบเขตงานเปลี่ยนแปลงไปจากขอบเขตงานโครงการ TIEC ระยะที่ 3 ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยเห็นชอบไว้ กระทรวงพลังงานจึงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินโครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 ในครั้งนี้
2. โครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีศักยภาพในการรองรับการเชื่อมต่อของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และรองรับการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่สามารถรองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ได้ในอนาคต ประกอบกับโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยแล้ว โดยมีแผนการดำเนินงานระหว่างปี 2566 – 2571 ภายในกรอบวงเงิน 38,500 ล้านบาท [แบ่งเป็น
-
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 8,202.50 ล้านบาท และ
(2) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้าง 30,297.50 ล้านบาท] มีขอบเขตงานที่สำคัญ เช่น การก่อสร้างและปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kV วงจรคู่ ในเส้นทางต่าง ๆ เช่น (1) ชัยภูมิ 2 – นครราชสีมา 3 ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร (2) นครราชสีมา 3 – วังน้อย ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตรและ
(3) วังน้อย – หนองจอก ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งแบบใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่และใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิมแล้วก่อสร้างใหม่เป็นวงจรคู่และการก่อสร้าง/ปรับปรุง/ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง
3. ภาพรวมโครงการ
ขยายเวลาสร้างระบบชลประทาน จ.ชัยภูมิ 2 โครงการ 6,540 ล้าน
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 2 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (ระยะที่ 1) จากเดิม 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2567) เป็น 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2570) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม จำนวน 3,440 ล้านบาท และ (2) โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ จากเดิม 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2567) เป็น 8 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2569) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม จำนวน 3,100 ล้านบาท (ขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเป็นครั้งแรกทั้ง 2 โครงการ) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (Covid – 19) ซึ่งรัฐบาลได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลและสกัดกั้นการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้ผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร – เครื่องมือไม่เพียงพอ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสถานที่ก่อสร้างได้
กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พิจารณาแล้วเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีความเห็นเพิ่มเติมว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานควรมีแผนการติดตามตรวจสอบ และเร่งรัดการดำเนินโครงการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการโดยเร็ว ตามแผนปฏิบัติการที่กำหนด และระยะเวลาที่ขอขยายไว้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการ การใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใสและเกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งประโยชน์และความคุ้มค่าที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติยังเห็นควรให้เสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติรับทราบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี เนื่องจากทั้ง 2 โครงการดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาดำเนินการที่ต่างจากที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้เคยมีมติ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติรับทราบการขอขยายระยะเวลาของทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว
โยกบิ๊กมหาดไทย 25 ตำแหน่ง
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงกลาโหม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแต่งตั้ง พลเอก ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม เป็นต้นไป
2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมเป็นต้นไป
3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รัฐมนตรีเจ้าสังกัด เสนอการแต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด ตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สังกัด สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง สังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 25 ราย ดังนี้
-
1. ให้นายขจร ศรีชวโนทัย พ้นจากตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และแต่งตั้งให้ตำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
2. ให้นายสันติธร ยิ้มละมัย พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดลำพูน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
3. ให้นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอุบลราชธานี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
4. ให้นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดพังงา และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
5. ให้นายอดิเทพ กมลเวชช์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดพิจิตร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
6. ให้นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ พ้นจากตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการปกครอง
7. ให้นายภาสกร บุญญลักษม์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
8. ให้นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมโยธาธิการและ ผังเมือง
9. ให้นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดบุรีรัมย์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
10. ให้นายอังกูร ศีลาเทวากูล พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดกระบี่
11. ให้นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดนครศรีธรรมราช และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดฉะเชิงเทรา
12. ให้นายชรินทร์ ทองสุข พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดยโสธร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดเชียงราย
13. ให้นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดราชบุรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดนนทบุรี
14. ให้นายสมคิด จันทมฤก พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี
15. ให้นายวีระพันธ์ ดีอ่อน พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดปราจีนบุรี
16. ให้นายทวี เสริมภักดีกุล พันจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดนครสวรรค์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดพิษณุโลก
17. ให้นายศรัณยู มีทองคำ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดเพชรบูรณ์
18. ให้นายชุติเดช มีจันทร์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดแพร่ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดลำปาง
19. ให้นายโชตินรินทร์ เกิดสม พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดสงขลา
20. ให้นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดพัทลุง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดสมุทรสงคราม
21. ให้นายนริศ นิรามัยวงศ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดระนอง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดสมุทรสาคร
22. ให้นายพิริยะ ฉันทดิลก พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอ่างทอง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดสุพรรณบุรี
23. ให้นายชำนาญ ชื่นตา พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดสุรินทร์
24. ให้นายราชันย์ ซุ้นหั้ว พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอุดรธานี
25. ให้ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอำนาจเจริญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองระดับสูง) จังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1
-
) นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2) นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง บุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 12 ราย ดังนี้
-
1. นายชัยเกษม นิติสิริ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
2. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
3. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
4. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
5. นายจักรพงษ์ แสงมณี ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
6. นายฉัตริน จันทร์หอม ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง(รองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง)
7. นายศรัณยสัณฑ์ วีรกุลสุนทร ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ)
8. นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง)
9. นายวัฒนา เตียงกูล ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายชูศักดิ์ ศิรินิล)
10. นายกฤช เอื้อวงศ์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร)
11. นายธเนศ กิตติธเนศวร ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายชูศักดิ์ ศิรินิล)
12. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
7. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 7 ราย ดังนี้
-
1. นายชยุต ภุมมะกาญจนะ
2. นายรัศม์ ชาลีจันทร์
3. นายศุภชัย ใจสมุทร
4. นายวรวงศ์ รามางกูร
5. นายพงศกร อรรณนพพร
6. นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์
7. นายสิรภพ ดวงสอดศรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามประกาศแต่งตั้ง เป็นต้นไป
8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
9. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 7 ราย ดังนี้
-
1. นายอัครุตม์ สนธยานนท์ ประธานกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
2. นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
3. นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการ
4. นายธะเรศ โปษยานนท์ กรรมการ
5. นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ
6. นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ กรรมการ
7. นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา กรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
10. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ มอบหมายเป็นหลักการให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ)
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
11. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้ง นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ วิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำ มีประสบการณ์ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และมีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง ดังนี้
-
1. ให้ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง)สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
2. ให้ นางสาวบุปผา เรืองสุด พ้นจากตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
3. ให้ เรือเอก สาโรจน์ คมคาย พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
4. ให้ นางมารศรี ใจรังษี พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ (นักบริหารสูง) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
5. ให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เพิ่มเติม