ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯโทรถาม “บิ๊กป้อม” เหตุลาประชุม ครม.ยันไม่ป่วย – ติดภารกิจ – มติ ครม.ลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตร 4 เดือน

นายกฯโทรถาม “บิ๊กป้อม” เหตุลาประชุม ครม.ยันไม่ป่วย – ติดภารกิจ – มติ ครม.ลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตร 4 เดือน

17 มกราคม 2023


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ครม.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯโทรถาม “บิ๊กป้อม” ลาประชุม ครม. ยันไม่ได้ป่วย แต่ติดภารกิจ
  • ห่วง “บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ ขอให้ดูแลสุขภาพ
  • ย้อนถามนักข่าวตรึงดีเซล 35 บาท/ลิตร ใช้เงินเท่าไหร่
  • ดัน “ไทยแลนด์คอนเน็กซ์” เป็นแพลตฟอร์มแห่งชาติ
  • มติ ครม.ยอมเฉือนรายได้ 4 หมื่นล้าน ลดภาษีดีเซลต่อ 4 เดือน
  • รับทราบ 6 มาตรการ อุ้มชาวสวนปาล์มน้ำมัน
  • ปรับชื่อยา – เพิ่มค่าธรรมเนียมหมอ 30% ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
  • เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน พร้อมกับมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    วางแนวทางกลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอ ครม.

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุม และพิจารณาเรื่องใหม่ๆ ที่เข้ามาใน ครม. รวมถึงมีวาระสัญจรตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยแนวทางการทำงานของรัฐบาล และประเด็นทั้งหมดจะนำเสนอมาให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบร่วมกัน และนายกรัฐมนตรีอนุมัติ ส่วนประเด็นที่ยังไม่เรียบร้อย หรือ มีปัญหา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอบข้อสงสัยให้ได้ก่อนเข้า ครม.

    “มีหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ เป็นปัญหา และเป็นมาตรการรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งต่างๆ เราก็ประคับประคองประเทศให้เดินหน้าไปให้ได้ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้ว ขอให้ติดตามรายละเอียดโฆษกฯ จะชี้แจง” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ย้อนถามนักข่าวตรึงดีเซล 35 บาท/ลิตร ใช้เงินเท่าไหร่

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการขยายเวลามาตรการภาษีน้ำมันออกไปอีก 4 เดือน พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ดำรงรักษาไว้ให้ได้ 35 บาท ขึ้นราคามันควรจะ 40 กว่าบาทตั้งนานแล้ว เราดูแลอย่างนี้รู้ไหมว่าต้องใช้งบประมาณเดือนละเท่าไรนายกรัฐมนตรี ตอบว่า 10,000 ล้านบาทต่อเดือน (พูดเสียงดัง) คือ เราลดภาษีสรรพสามิตตัวเดียว ก็เห็นว่ายังเดือดร้อนก็ต้องทำต่ออีก 4 เดือน ก็ 40,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันงบประมาณของเราก็ติดลบกว่าเดิม ถ้าเราลดภาษีเรื่อยๆ รายได้ก็ไม่กลับมา การแก้ปัญหาพลังงานเฉพาะจุดก็ไม่มี ต้องไปดึงตรงอื่นขึ้นมา ซึ่งอาจจะมีภาษีสูงขึ้น เก็บรายได้มากขึ้น แทนที่จะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นก็ต้องเอามาดูแลตรงนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพราะเราตัดสินใจ ประชาชนเดือดร้อน เราเลยแก้ปัญหา”

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องดูสถานการณ์ภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน การสู้รบหรือสงคราม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างยิ่ง

    ห่วง “บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ ขอให้ดูแลสุขภาพ

    ผู้สื่อข่าวยังถามถึง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวันนี้ (17 มกราคม 2565) พลเอกประวิตรลาประชุม ครม. หลังจากที่ไปลงพื้นที่เมื่อวาน พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ผมก็เป็นห่วงท่านอยู่แล้ว เคยเตือนท่านอยู่แล้ว ระมัดระวังหน่อยแล้วกัน ดูแลสุขภาพ เดี๋ยวท่านก็หาย ท่านแข็งแรงอยู่แล้ว”

    สั่ง กต.-ท่องเที่ยว-พาณิชย์ สานต่อความร่วมมือ “ยูเออี”

    นายอนุชา รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตอาหรับเอมิเรตส์ เข้าพบนายกรัฐมนตรี และหารือประเด็นความร่วมมือ 4 ประเด็น ดังนี้

      1) การเมืองและความมั่นคง โดยทั้งสองฝ่ายยินดีลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ

      2) เศรษฐกิจ ไทยมีความพร้อมผลิตอาหารที่มีคุณภาพเพื่อส่งออก

      3) การท่องเที่ยว อาหรับเอมิเรตส์เป็นตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญของคน โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism หรือการท่องเที่ยวการแพทย์

      4) ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าไทยและอาหรับเอมิเรตส์จะสามารถสานต่อความร่วมมือระหว่างภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันและสานต่อความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาให้ทั้งสองประเทศเจริญเติบโตอย่างรุดหน้า รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน

    กำชับ ขบ.กวดขัดบริการแท็กซี่ หลังขึ้นค่าโดยสาร

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี พูดถึงการขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการอาชีพขับรถแท็กซี่ เนื่องผู้ประกอบการอาชีพรถแท็กซี่เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามอัตราค่าโดยสารไม่ได้มีการปรับเป็นระยะเวลา 8 ปี แล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้ราคาพลังงาน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงมีความผันผวนและมีอัตราสูงขึ้น ทั้งสองปัจจัยทำให้ผู้ประกอบการอาชีพรถแท็กซี่ได้รับความเดือดร้อนจากาการที่ค่าโดยสารคงตัวเป็นระยะเวลานาน รัฐบาจึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยปรับราคาค่าโดยสารแท็กซี่ในครั้งนี้ มีผลมาตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2566

    นายอนุชา รายงานว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะกรมขนส่งทางบกควบคุมคุณภาพการให้บริการให้สอดคล้องกับราคาที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะปัญหาแท็กซี่ไม่จอดรับผู้โดยสาร และไม่กดมิเตอร์เมื่อผู้โดยสารขึ้นมาใช้บริการ และการขับขี่ที่ปลอดภัย รักษาวินัยจราจร และให้กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ฯ ติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารแท็กซี่อย่างใกล้ชิด

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ให้เร่งดำเนินการและให้เสนอเพื่อพิจารณาโดยเร็ว

    ปลื้มต่างชาติขอ BOI ปี’65 กว่า 6.6 แสนล้าน

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ว่าในปี 2565 มียอดขอรับการส่งเสริมกว่า 660,000 ล้านบาท เป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 สูงสุด นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

    ส่วนยอดส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36 โดยมีจีนเป็นอันดับ 1 สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคจากการมีห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า แนวโน้มการลงทุนปี 2566 คาดว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาระดับการลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 500,000 – 600,000 ล้านบาท

    ดัน “ไทยแลนด์คอนเน็กซ์” เป็นแพลตฟอร์มแห่งชาติ

    นายอนุชา กล่าวถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทยว่า เมื่อเช้าก่อนการประชุม ครม. วันนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ได้นำเสนอ 2 โครงการให้นายกรัฐมนตรี รับทราบ โดยทั้งสองโครงการเป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่น โครงการ ‘ไทยแลนด์คอนเน็กซ์’ แพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือเรียกว่าเป็น National Digital Tourism ของไทย ซึ่งจะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการการท่องเที่ยวต่างๆ กับ Online Travel Agent ที่เรียกว่า OTA ของดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย รวมถึง OTA ที่ดำเนินการในไทยในปัจจุบัน

    “ต้องบอกว่าเป็นแพลตฟอร์มที่อาจจะไม่ใช่สำหรับ retail หรือ consumer ทั่วไป แต่เป็น B2B (Business to Business) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญในอนาคตและเป็นแพลตฟอร์มของประเทศไทยในอนาคตต่อๆ ไปที่จะเป็นแพลตฟอร์มแห่งชาติ” นายอนุชา กล่าว

    ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ได้มีข้อสั่งการให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้โปรโมท เพื่อให้ทั่วโลกทราบถึงแพลตฟอร์มนี้

    ตั้งคณะทำงานกวดขันจัดซื้อทุกโครงการ ต้องไม่มีคอร์รัปชัน

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี กำชับให้ รัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆ กำชับข้าราชการทุกระดับ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ทั้งปลัดกระทรวงและอธิบดีว่าจะต้องปฏิบัติราชการโดยยึดถือคุณธรรมและจริยธรรม ถ้าหากมีเรื่องร้องเรียนขอให้ดำเนินการโยกย้ายออกจากตำแหน่งหน้าที่โดยเร็วเพื่อจะตรวจสอบก่อนในทุกกรณี รวมทั้งลงไปติดตามตรวจสอบ เรื่องการทุจริตการจัดซื้ออย่างเคร่งครัด

    “ให้มีคณะทำงานประเมินเพื่อกวดขันทุกส่วนราชการในการทำงานทุกโครงการตามนโยบายของรัฐบาล จะต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันจากตำแหน่งหน้าที่” นายอนุชา กล่าว

    แนะแนวทางสร้างรายได้จากขยะ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีให้แนวคิดการบริหารจัดการขยะว่า ต้องมีการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ต้นทางอย่างเหมาะสมและชัดเจน โดยเฉพาะขยะขนาดใหญ่ที่เป็นตัวอย่าง เช่น เครื่องใช้ภายในบ้านที่ชำรุดเสียหาย อาจมีสถานที่ หรือ บริการซ่อมแซมต่าง ๆ เพื่อไปขายต่อสร้างรายได้ หรือ บริจาคเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น โดยนายกรัฐมนตรี มอบแนวทางให้แต่ละหน่วยงานพิจารณา

    มอบหมาย กอ.รมน. บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งครอบคลุม 3 ด้าน คือการป้องกันปราบปราม การเยียวยารักษา และการฟื้นฟู โดยพบว่าเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทำให้มีปัญหาที่อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ประการหนึ่งคือการติดตามนำผู้ติดยาเสพติดเข้าระบบการบำบัดรักษา โดยนายกรัฐมนตรี อยากให้มีกลไกการนำผู้ติดยาเสพติดเข้ากระบวนการบำบัด ฟื้นฟูและรักษาให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยมีการมอบหมายเพิ่มเติมให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าไปเสริม เพื่อช่วยภารกิจนี้ และให้หารือแนวทางกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาวิธีการดำเนินการที่เหมาะสม และหาข้อสรุปหลังจากประชุมกับทุกหน่วยงานแล้วภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรี รับทราบ

    ฝากหัวหน้าพรรค สั่ง ส.ส.เข้าประชุมสภาฯ 19 ม.ค.นี้

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกพรรคการเมืองในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยพร้อมเพรียง โดยเฉพาะวันพฤหัสบดี 19 มกราคม 2566 จะมีกฎหมายสำคัญเพื่อพิจารณา และขอให้ทุกพรรคกำชับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดของตนเองเข้าร่วมประชุม และลงมติด้วยความพร้อมเพรียงกัน

    โทรถาม “บิ๊กป้อม” ลาประชุม ครม.ยันไม่ได้ป่วย แต่ติดภารกิจ

    จากที่ผู้สื่อข่าวถามถึงการลาของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะที่พลเอกประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์อยู่ นายอนุชา ชี้แจงว่า “บางส่วนรายงานว่าท่านอาจจะอ่อนเพลียจากการลงพื้นที่ สุขภาพ ตอนนี้ไม่สบาย โดยหลังจากที่นายกรัฐมนตรี ขึ้นไปห้องทำงานแล้ว ได้ยกหูโทรศัพท์โทรหาพลเอกประวิตรทันทีด้วยความเป็นห่วง ปรากฏว่าข้อเท็จจริงคือวันนี้นายกรัฐมนตรี ทราบว่าพลเอกประวิตร ติดภารกิจในการทำหน้าที่ วันนี้จึงลาการประชุม ครม. โดยสุขภาพยังแข็งแรงและไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานใดๆ”

    “จะเห็นว่าข้อมูลที่นายกรัฐมนตรี ทราบจากผู้สื่อข่าว ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยท่านได้ยกหูโทรศัพท์และพูดคุยกัน นายกรัฐมนตรี ก็มีความสบายใจที่พลเอกประวิตรยังสุขภาพแข็งแรงดี และวันนี้ที่ลาก็เนื่องจากติดภารกิจ” นายอนุชา กล่าว

  • พลังประชารัฐ เติมเงิน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เดือนละ 700 บาท
  • มติ ครม. มีดังนี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ยอมเฉือนรายได้ 4 หมื่นล้าน ลดภาษีดีเซลต่ออีก 4 เดือน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (17 มกราคม 2566) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันในบัญชีพิกัดภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 01.05 รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันและรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ โดยปรับอัตราภาษีลดลงประมาณ 5 บาท/ลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 ถึง 20 พฤษภาคม 2566 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่อง ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา และจะสิ้นสุดในวันที่ 20 มกราคม 2566

    ร่างกฎกระทรวงที่เสนอในครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาตรการภาษีครั้งนี้จะดำเนินการเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในครั้งนี้ จะช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจในระดับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดอัตราภาษี ทั้งนี้ เพื่อให้ฐานะการคลังของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐเป็นไปตามประมาณการการจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า “รัฐบาลดูแลมาตรการนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลพี่น้องประชาชน ในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานของโลกยังคงผันผวนและสูงอยู่”

    ต่อมาตรการควบคุมราคาสินค้าปี’66 จำนวน 5 รายการ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุมปี 2566 จำนวน 5 รายการ ได้แก่ หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ เศษกระดาษและกระดาษที่กลับนำมาใช้ได้อีก และไก่เนื้อไก่ ซึ่งเป็นตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

    เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จึงกำหนดให้ หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์ (Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย และผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ เป็นสินค้าควบคุม เพื่อกำกับดูแล ติดตามผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ และราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งเพื่อกำกับ ดูแลปริมาณและราคารับซื้อเศษกระดาษและกระดาษที่กลับนำมาใช้ได้อีกให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นธรรม ขณะที่ไก่ เนื้อไก่ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการบริโภคของประชาชน ให้เป็นสินค้าควบคุม เพื่อกำกับ ดูแล ติดตามปริมาณไก่และเนื้อไก่มีอย่างเพียงพอ และราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้บริโภค ด้วย

    ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565 เรื่องกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 24 มกราคม 2566 นี้ จึงมีความจำเป็นต้องออกประกาศใหม่และนำประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อนวันสิ้นสุดผลการบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

    ชู BCG ต่อยอดแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์แร่ต่อจากแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 1 ที่สิ้นสุดในปี 2565 และมีเป้าหมายเพื่อสร้างบัญชีทรัพยากรแร่ที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งเพื่อพัฒนากลไกการกำกับ ดูแล และอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากแร่ เช่น ระบบการอนุมัติอนุญาตกิจกรรมเหมืองแร่ ตลอดจนมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการแร่ของประเทศต่อประชาชน โดยใน (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 นี้มีการเพิ่มเติมรายละเอียด ต่อยอด ปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และมีบางส่วนเป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ เช่น การดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และ BCG ในการทำเหมือง การส่งเสริมการลงทุน สำหรับการสำรวจแหล่งแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การบูรณาการด้านการขนส่ง

    ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 มีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี ตั้งแต่ ปี 2566-2570 มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาไว้ 4 ด้าน 10 เป้าประสงค์ 18 ตัวชี้วัด 29 กิจกรรมหลัก และมีหน่วยงานขับเคลื่อนประมาณ 35 หน่วยงาน มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

      1. แนวทางการพัฒนาด้านที่ 1 : การพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแร่ ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์ 3 ตัวชี้วัด 10 กิจกรรมหลัก เช่น ไทยมีบัญชีทรัพยากรแร่ที่สมบูรณ์เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการทำเหมืองให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีตัวชี้วัด คือ ร้อยละของพื้นที่ศักยภาพแร่เป้าหมายทั่วประเทศได้ถูกสำรวจ ภายใต้กิจกรรมหลัก คือ เพิ่มอัตราการสำรวจและจำแนกแหล่งแร่

      2. แนวทางการพัฒนาด้านที่ 2 : การพัฒนากลไกการอนุญาต กำกับดูแล และการจัดสรรผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรแร่ ประกอบด้วย 2 เป้าประสงค์ 6 ตัวชี้วัด 9 กิจกรรมหลัก เช่น ทบทวน ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย กลไกการอนุญาต ระบบกำกับ ดูแล ติดตามเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยมีตัวชี้วัด คือ จำนวนกลไกการอนุมัติ อนุญาต และการจัดสรรผลประโยชน์ ที่ได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้กิจกรรมหลัก คือ การพัฒนาระบบการยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ One Stop Service

      3. แนวทางการพัฒนาด้านที่ 3 : การวิจัยพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากแร่ ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์ 6 ตัวชี้วัด 7 กิจกรรมหลัก เช่น สร้างและพัฒนานวัตกรรมที่ทันสมัยที่นำมาใช้ในการเพิ่ม มูลค่าแร่ และการนำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ โดยมีตัวชี้วัด คือ ร้อยละของของเสียในกระบวนการทำเหมือง หรือ การผลิตแร่ของสถานประกอบการที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ภายใต้กิจกรรมหลัก คือ ส่งเสริมการวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่นำของเสียจากกระบวนการทาเหมืองกลับมาใช้ใหม่

      4. แนวทางการพัฒนาด้านที่ 4 : การสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ประกอบด้วย 2 เป้าประสงค์ 3 ตัวชี้วัด 3 กิจกรรมหลัก เช่น สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ในกระบวนงานต่างๆ โดยมีตัวชี้วัด คือ ความสำเร็จของการสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการเหมือง เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การก่อสร้าง การดำเนินกิจการ การฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดเหมือง ภายใต้กิจกรรมหลัก คือ จัดทำแผนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการเกี่ยวกับเหมือง

    “ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทแร่ดังกล่าว และให้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 1 จากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 16 มกราคม 2566 และให้มีการติดตามประเมินผลโดยกำหนดเกณฑ์การประเมินระดับความก้าวหน้า ระดับความสำเร็จฯ และแบ่งระยะติดตามประเมินผลเป็น 2 ช่วง คือ หลังสิ้นสุดครึ่งแรกของแผนและหลังสิ้นสุดแผน” นางสาวทิพานัน กล่าว

    เห็นชอบ 21 ม.ค.ของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน”

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 21 มกราคมของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอ เพื่อหยุดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถชนคนข้ามทางม้าลายเกิดขึ้นซ้ำอีก และเพื่อกระตุ้นเตือน สร้างความตระหนักให้มีจิตสำนึกรักความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ถนน ทุกเพศ ทุกวัย และผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ตลอดจนส่งเสริมและสร้างการรับรู้ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัย มีระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนน ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนขึ้นอีก

    “ความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเป็นเรื่องที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เมื่อได้รับข้อเสนอและได้หารือกับ น.พ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ในประเด็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน จึงเล็งเห็นว่าการพิจารณาจัดการรณรงค์และกำหนดวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนจะเป็นมาตรการเสริมส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างความปลอดภัย และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ สร้างความตระหนักกระตุ้นเตือนให้ผู้ใช้ถนนและผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด จึงกำชับให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทาง มาตรการ การจัดกิจกรรมในการดำเนินการเพื่อลดอุบัติเหตุให้มีความชัดเจน จริงจัง และต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรฐานในการปฏิบัติและความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมหรือการลงโทษผู้กระทำผิดหรือกระทำผิดซ้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และยังให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินการเพื่อให้อุบัติเหตุและการสูญเสียทางถนนลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย” นางสาวทิพานัน กล่าว

    รับทราบ 6 มาตรการ อุ้มชาวสวนปาล์มน้ำมัน

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 3/65 และเห็นชอบให้เปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี (ปี 2566-2568)

    การประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 3/65 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 มีมติ 6 เรื่อง ได้แก่ 1. การกำหนดมาตรฐานการรับซื้อผลปาล์ม 2. โครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์ม 3. การเปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี (ปี 2566-2568) 4. การขอขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2565 (อยู่ระหว่างรอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ) 5. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2565-2566 และมาตรการคู่ขนาน ปี 2566 (อยู่ระหว่างรอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ) และ 6. การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า นอกจากที่ครม. รับทราบมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 3/65 ดังกล่าวแล้ว วันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบ การเปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี (ปี 2566-2568) เงื่อนไขเป็นไปตามข้อผูกพันของทุกกรอบการค้า และให้ องค์การคลังสินค้า เป็นผู้นำเข้าและกระจายสินค้าให้ผู้ผลิตภายในประเทศ ตามที่สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเป็นผู้จัดสรร ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงการค้าเสรีไทย – ชิลี ( TCFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) (เฉพาะน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยให้มีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งนี้ ยกเว้นความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand – Australia Free Trade Agreement : TAFTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (Thailand – New Zealand Closer Economic Partnership : TNZCEP) ที่ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าและปฏิบัติตามมาตรการการบริหารการนำเข้า

    ปรับชื่อยา – เพิ่มค่าธรรมเนียมหมอ 30% ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) (ฉบับที่ 4 ) ซึ่งสิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เป็นสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

    สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เสนอในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงแก้ไขบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP ครั้งที่ 4 จำนวน 2 รายการ ใน 2 หมวด คือ การจัดทำรายการยา และค่าธรรมเนียมแพทย์ ดังนี้

      1. การจัดทำรายการยา ในหมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด เป็นการปรับรายการยาในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP จำนวน 3,138 รายการ จากเดิมที่กำหนดตามชื่อการค้า (Trade name) ของยาทั้งหมด โดยปรับใหม่ ดังนี้ ประเภทที่ 1 ยาต้นแบบ (Original drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้ทั้ง 2 ชื่อ คือ ชื่อสามัญทางยา (Generic name) และชื่อการค้า (Trade name) จำนวน 227 รายการ ส่วนประเภทที่ 2 ยาสามัญ (Generic drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้เฉพาะชื่อสามัญทางยา (Generic name) เพียงอย่างเดียว จำนวน 1,060 รายการ เมื่อปรับปรุงแล้วจะส่งผลให้มีรายการยาทั้ง 2 ประเภท คงเหลือในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP รวมทั้งสิ้น 1,287 รายการ

      การปรับปรุงรายการยาดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาของการเบิกจ่ายยา เนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้า จะทำให้ยาที่มีตัวยาสามัญชนิดเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อหรือไม่อยู่ในบัญชีแนบท้าย จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นชื่อสามัญของยาแก้ปวด ลดไข้ แต่มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น ยี่ห้อ SARA ยี่ห้อ PARA GPO หรือยี่ห้อ PARACAP

      2. ค่าธรรมเนียมแพทย์ ในหมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ เป็นการปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ (ค่าตรวจวินิจฉัยและทำหัตถการโดยแพทย์) เพื่อให้เป็นไปตามคู่มือแนวทางการกำหนดค่าธรรมเนียมการแพทย์ ปี 2563 ของแพทยสภา โดยปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 อาทิ 1)การเย็บแผลฉีกขาดหรือบาดแผลของหนังศีรษะ ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 9,000 บาท จากเดิม 6,000 บาท 2)การซ่อมแซมหลอดเลือดแดงโป่งพองในสมอง ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 90,000 บาท จากเดิม 60,000 บาท 3) การใส่ท่อช่วยหายใจ ปรับค่าธรรมเนียมใหม่เป็น 2,250 บาท จากเดิม 1,500 บาท

    ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมแพทย์ (ค่าบริการวิชาชีพ) คิดเป็นร้อยละ 45 ของค่าบริการผู้ป่วย UCEP ทั้งหมด (ค่าบริการผู้ป่วย UCEP เช่น ค่าห้อง และค่าอาหาร ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ค่าทำหัตถการ และค่าบริการวิชาชีพ) ดังนั้น การปรับเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมแพทย์ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ค่าบริการผู้ป่วย UCEP ในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5

    จัดงบฯ 6 พันล้านบาท สร้างอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ”

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน วงเงินงบประมาณ 6,200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 ปี (ปีงบประมาณ 2567 – 2573) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภคของประชาชนในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน รวมถึงสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดได้

    โครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านวังผา หมูที่ 2 ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีพื้นที่รวม 1,733 ไร่ 84 ตารางวา พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำยาวและป่าน้ำสวด ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว และกรมชลประทานได้ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ พร้อมเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเรียบร้อยแล้ว โครงการนี้ เป็นการก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ความจุ 52.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวเขื่อน 845 เมตร ความสูงเขื่อน 81.5 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 12 เมตร พร้อมอาคารประกอบ เช่น อาคารส่งน้ำ อาคารทางระบายน้ำล้น และระบบชลประทานแบบท่อส่งน้ำและคลองส่งน้ำคอนกรีต ความยาวรวม 88.13 กิโลเมตร

    สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ มีพื้นที่ชลประทานเกิดขึ้นจำนวน 35,558 ไร่ ครอบคลุม 8 ตำบล ของจังหวัดน่าน ได้แก่ ตำบลผาทอง ตำบลผาตอ ตำบลป่าคา ตำบลแสนทอง ตำบลศรีภูมิ ตำบลริม ตำบลตาลชุม และเทศบาลตำบลท่าวังผา และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 6,305 ครัวเรือน

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและกรมชลประทานได้ออกแบบท่อส่งน้ำและอาคารโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไว้ด้วยแล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยรอบ ที่ประชุมเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการร่วมกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหรือพลังแสงอาทิตย์ของโครงการด้วย โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดของโครงการเป็นสำคัญ

    ไฟเขียววิทยาลัยชุมชนปัตตานี สร้างอาคารเรียนในพื้นที่ป่าชายเลน

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบ การขอยกเว้นมติ ครม. ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลน ในการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน เนื้อที่ 1.08 ไร่ บริเวณตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อขยายพื้นที่สำหรับการดำเนินการจัดการเรียนการสอนของสถาบันวิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยชุมชนปัตตานี ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ

    ปัจจุบันสถาบันวิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยชุมชนปัตตานี จัดการเรียนการสอนหลักสูตรอนุปริญญา 6 หลักสูตร มีนักศึกษาปีการศึกษา 2564 จำนวน 1,125 คน ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 8.75 ไร่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์ก่อสร้างอาคารจนเต็มพื้นที่แล้ว แต่ด้วยวิทยาลัยชุมชนปัตตานี มีแผนจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมอีก 5 หลักสูตร เช่น สาขาวิชาการจัดการสุขภาวะผู้สูงอายุในชุมชน สาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรม เป็นต้น จึงจำเป็นต้องขอขยายการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณด้านหลังของวิทยาลัย จากการตรวจสอบพื้นที่โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า สามารถให้วิทยาลัยดำเนินการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ประมาณ 2.3 ไร่ แต่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าชายเลน จำนวน 1.08 ไร่ ซึ่งเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรมและมีวัชพืชปกคลุมเต็มพื้นที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงเสนอเรื่องขอยกเว้นมติ ครม. ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลนมาในครั้งนี้

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มเติมบนเนื้อที่ 2.29 ไร่ วิทยาลัยชุมชนปัตตานี มีแผนดำเนินการก่อสร้างอาคาร จำนวน 2 หลัง ประกอบด้วย อาคารเรียน 4 ชั้น 1 หลัง เนื้อที่ประมาณ 1.29 ไร่ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระดับอนุปริญญาเพิ่มเติมทั้ง 5 หลักสูตร และอาคารศูนย์การเรียนรู้ชุมชน 1 หลัง เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ เพื่อดำเนินภารกิจสนับสนุนการเรียนการสอน เช่น เป็นสถานที่สาธิตการทำเกษตรแบบครบวงจร และศูนย์การแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ วิทยาลัยชุมชนปัตตานี ได้จัดทำแผนการจัดสรรงบประมาณ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทน เพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อมไม่น้อยกว่า 20 เท่า ของพื้นที่ป่าชายเลนที่ใช้ประโยชน์ (คิดเป็นงบประมาณเท่ากับ 263,304 บาท) ตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนฯ พ.ศ.2556 โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2566

    ผ่าน กม.เวนคืนที่ดิน สร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยา จ.ยะลา

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลาจังหวัดยะลา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยใช้พื้นที่ประมาณ 450 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,527 ไร่ มีค่าทดแทนทรัพย์สินทั้งโครงการ จำนวน 475.48 ล้านบาท และใช้จ่ายเงินจากเงินงบประมาณประจำปีตลอดระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567)

    สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ในการก่อสร้างทำนบดิน อาคารหัวงาน และอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น ตามโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีกำหนดเวลาใช้บังคับ 3 ปี โดยให้เจ้าหน้าที่เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนที่แน่ชัด

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า เมื่อโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ประมาณ 8,100 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภคในฤดูแล้งของประชาชนในพื้นที่ และประชาชนบริเวณใกล้เคียงที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ประมาณ 690 ครัวเรือน หรือประมาณ 3,450 คน รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูน้ำหลากด้วย

    ยกเลิกมติ ครม.โยก “วัลลพ สงวนนาม” นั่งรองปลัด ศธ.

    ดร.รัชดา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1.การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายทศเทพ บุญทอง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2564

      2. นางสาวอังคณา นรเศรษฐ์ธาดา นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2565

      3. นางอุษณีย์ สังคมกำแหง นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาสูติ – นรีเวชกรรม) กลุ่มงานสูติ – นรีเวชกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาสูติ – นรีเวชกรรม) โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอแต่งตั้ง นายนพดล อุเทน ผู้อำนวยการกองข่าวกรองทางการเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและพัฒนามาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายศิระ สว่างศิลป์ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย ให้ดำรงตำเหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์

      2. นายฟาบีโอ จินดา กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้งสองรายดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

    4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายสยาม บางกุลธรรม

      2. นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

    5. การพิจารณาแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาวิศวกร

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาวิศวกร ดังนี้

      1. นายพิศุทธิ์ สุขุม คุณวุฒิวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งวิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง

      2. นายประเสริฐ วรปัญญา คุณวุฒิวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทองมาคอนแทรคเตอร์ จำกัด

      3. นายสมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์ คุณวุฒิวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน)

      4. นายเอนก ศิริพานิชกร คุณวุฒิวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

      5. นายอาทร สินสวัสดิ์ คุณวุฒิวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

    6. ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง รายนายวัลลพ สงวนนาม

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ราย นายวัลลพ สงวนนาม เนื่องจาก นายวัลลพ ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 17 มกราคม 2566 เพิ่มเติม