ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯขอคุย ‘สนธิ’ อย่าเพิ่งไล่-เยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาทสัปดาห์หน้า – แผนบริหารหนี้ปี’68 กู้เพิ่ม 1.2 ล้านล้าน

นายกฯขอคุย ‘สนธิ’ อย่าเพิ่งไล่-เยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาทสัปดาห์หน้า – แผนบริหารหนี้ปี’68 กู้เพิ่ม 1.2 ล้านล้าน

1 ตุลาคม 2024


เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี ณ โถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯขอคุย ‘สนธิ’ อย่าเพิ่งขับไล่รัฐบาล
  • นัดพรรคร่วมรัฐบาล ถกแก้รัฐธรรมนูญ
  • รุดเยี่ยม นร.บาดเจ็บ เหตุรถทัศนศึกษาไฟไหม้
  • ชง ครม.เคาะเยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาท สัปดาห์หน้า
  • มติ ครม.ปรับเกณฑ์ปล่อยซอฟต์โลน 50,000 ล้าน – ค้ำหนี้ SMEs
  • เห็นชอบงบลงทุน รสก.ปี’68 วงเงิน 264,106 ล้าน
  • ผ่านแผนบริหารหนี้ปี’68 กู้เพิ่ม 1.2 ล้านล้าน
  • ปปช.แนะตั้ง คกก.ระดับชาติ ปราบพนันออนไลน์
  • ตั้ง ‘อนันต์ แก้วกำเนิด’ ผอ.สำนักงบฯ โยก ‘ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร’ ปลัดสำนักนายกฯ
  • เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

    สั่ง ศปช.รายงานน้ำท่วม 10.00 น. และ 15.00 น.

    นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ศปช. ส่วนหน้า (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม) ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยต่อที่ประชุม ครม. เพื่อให้รับทราบและประสานงานกับส่วนราชการ โดยตนสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเร่งรัดการต่อไฟเข้าบ้านของประชาชน อำเภอแม่สาย และขอให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมยา เช่น ยารักษาโรค ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า และ EM Ball

    นอกจากนี้ นางสาวแพทองธาร สั่งการให้ ศปช. ทุกส่วนรายงานสถานการณ์มายัง ศปช.ส่วนกลางในช่วง 10.00 น. และ 15.00 น. เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

    “เมื่อกี้ได้พูดคุยกับ รมช.มหาดไทย (ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์) กับทางกระทรวงกลาโหมที่อยู่หน้างาน มีรายงานว่า ได้เข้าพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้าน มีอะไรที่ขาดเหลือทางรัฐมนตรีก็จัดการให้เรียบร้อย” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    จัดซอฟต์โลนท์ 5 หมื่นล้าน อุ้ม SMEs – พักหนี้อีก 3 เดือน

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 2 เรื่อง ดังนี้

    1. การปรับวงเงินหลักเกณฑ์การดำเนินงานโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) หรือ GSB Boost up ของธนาคารออมสิน จำนวน 50,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มรายย่อย และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย

    2. ธนาคารออมสินดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือ โดยพักหนี้อัตโนมัติ พักจ่ายเงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2567 และให้สินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท และสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท รวมถึงสินเชื่อพัฒนากลุ่มอาชีพและสินเชื่อสวัสดิการ ซึ่งจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ธนาคารออมสินในพื้นทีี่ประสบภัยตามประกาศจำนวนกว่า 110,000 บัญชี คิดเป็นเงินต้นรวมกว่า 43,000 ล้านบาท

    ชง ครม.เคาะเยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาท สัปดาห์หน้า

    ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการเยียวยาจากสถานการณ์อุทกภัย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เคาะแล้ว ยังมีเรื่องของคณะอนุกรรมการ ศปช. ศึกษาในรายละเอียด และกระทรวงมหาดไทยได้มีการเสนอ (งบฯเยียวยา) ตอนแรกมีงบ ฯ 5,000 , 7,000 และ 9,000 บาท แต่เราจะให้เท่ากันทุกคน คนละ 9,000 บาท เพราะเราทราบแล้วว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างหนักหน่วงมาก”

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 8 ตุลาคม 2567 หรือในสัปดาห์หน้า

    นัดพรรคร่วมรัฐบาล ถกแก้รัฐธรรมนูญ

    เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อันนี้มันต้องมีการคุยกันกับพรรคร่วมทุกคน หัวหน้าพรรคต้องคุยกัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็เป็นหัวหน้าพรรคด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องมีการคุยกันนอกรอบแน่นอน”

    ถามต่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสะดุดหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ยังคงตอบว่า “มันต้องเป็นการรวมความคิดเห็นของพรรคร่วม แต่คำตอบสุดท้ายต้องพี่น้องประชาชน เราทำร่วมกันเสร็จต้องมีการคุยกัน ตกลงกันอย่างที่เคยแถลงต่อรัฐสภาไว้ ต้องมีการคุยกันอยู่ดี”

    ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หมายถึงต้องมีการคุยกันมาก่อนแล้วใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการนัดคุยกัน

    “ที่ผ่านมายังไม่มีการนัด นักข่าวก็ยังไม่มีใครไปทำข่าวเรื่องของการนัดคุยกัน แต่หลังจากนี้ก็แพลนไว้ว่าเดี๋ยวต้องคุยในรายละเอียดกัน พอดีว่ามีความเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด เพราะฉะนั้นก็กำลังค่อยๆ จัดระเบียบในการทำงาน แล้วเดี๋ยวค่อยหารือกันอีกที เรื่องนี้ต้องหารือในมุมของพรรคร่วมทุกพรรคแน่นอน ต้องหารือจริงจัง” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    ถามต่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ต้องรอดูว่าความคิดเห็นจะเป็นอย่างไรบ้าง”

    นางสาวแพทองธาร ยังตอบคำถามเรื่องบางคนไม่อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นว่า “มีทั้งสองอย่าง มีทั้งอยากให้แก้ และไม่อยากให้แก้”

    ขอคุย ‘สนธิ’ อย่าเพิ่งขับไล่รัฐบาล

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่จะประกาศชุมนุมขับไล่รัฐบาล โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เพิ่งทำงานได้เดือนเดียวเอง จะไล่แล้วหรอ (หัวเราะเบาๆ) จะไล่แล้วหรอคะ อย่าเพิ่งไล่เลยค่ะ (หัวเราะเบาๆ)”

    ถามต่อว่า นายสนธิต้องการอะไรหรือไม่จากข้อเรียกร้องต่างๆ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยังไม่ได้มีโอกาสได้คุยกับคุณสนธิเลย”

    เมื่อถามย้ำว่า นายกฯ พร้อมคุยหรือไม่ นางสาวแพทองธาร บอกว่า “พร้อมอยู่แล้ว วันนี้เป็นรัฐบาล เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นเราต้องพูดคุยกับทุกภาคส่วนอยู่แล้ว อีกอย่างคือการทำให้ประเทศชาติสงบสุขเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสงบสุข คนไทยมีความสุขแล้ว ต่างประเทศก็จะมาลงทุนด้วย อันนี้ก็สำคัญ”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดคุยจะเป็นลักษณะอย่างไร ทำให้นางสาวแพทองธาร พูดกับนักข่าวว่า “แนะนำหน่อยค่ะ ยังไงดี” พร้อมย้ำว่า

    “แนะนำหน่อยค่ะ ให้ประเทศชาติสงบสุข ช่วยกันด้วย ยังไงดี ได้หมด พร้อม ไม่พร้อมมีเรื่องอยู่แล้ว ไม่สู้อะไรนอกเหนือจากนี้ จริงๆ แล้วตัวของดิฉันเองและรัฐบาลโฟกัสในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเชื่อจริงๆ ว่าถ้าเศรษฐกิจดี คนไทยมีฐานะที่รวยขึ้น สบายขึ้น move ทุกอย่างจะดีขึ้น และเราก็ไม่อยากจะมีเรื่องหรืออะไร เพราะถ้าประเทศชาติมันดี พร้อมเดินต่อ เศรษฐกิจมันไป นั่นแหละเป็นสิ่งที่อยากให้เป็น”

    ถามต่อว่า นายกฯ มองการนำคนลงถนนเป็นการเมืองหรือการขับไล่แบบเก่าหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ไม่ได้คิดเรื่องการลงถนนเลย ถ้าขนาดลงถนนจริงๆ มาคุยกันก่อนก็ได้ว่าปัญหาคืออะไร ทุกอย่างมันน่าจะคุยกันได้ มันไม่จำเป็นต้องใช้ความเกลียดชัง หรือ ความรุนแรงเข้าหา คิดว่าทุกท่านคุยกันได้ วันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มาจากหลายพรรค เราก็คุยกันได้”

    หลังจบคำถามนี้ นางสาวแพทองธาร พูดต่อทันทีว่า “โอเค ขอบคุณมาก” และเตรียมจะหยุดการแถลงข่าว แต่ผู้สื่อข่าวรีบถามต่อว่า เพราะตระกูลชินวัตรใช่หรือไม่ และนางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ถ้าสมมติว่าปี 2019 ที่แต่งงานไป เปลี่ยนนามสกุลอาจไม่มีปัญหาใช่ไหม ไม่ทราบเหมือนกันอันนี้ ไม่อยากให้มีเรื่อง ขอบคุณทุกท่านมาก”

    โยนคลังตอบปมค่าเงิน

    ผู้สื่อข่าวยังถามเรื่องสถานการณ์ค่าเงินบาท โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เดี๋ยวให้คลังตอบอีกที”

    รุดเยี่ยม นร.บาดเจ็บ เหตุรถทัศนศึกษาไฟไหม้

    ช่วงบ่ายของวันนี้นางสาวแพทองธาร ยกเลิกภารกิจตรวจติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เปลี่ยนเป็นเยี่ยมให้กำลังใจนักเรียนจากเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาฯ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเกิดเหตุที่ถนนวิภาวดี 10 หน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์ รังสิต กรุงเทพมหานคร

    ภายหลังรับทราบรายงานเหตุการณ์ นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือกับผู้สื่อข่าวว่า ได้มอบหมายให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รีบลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์แล้ว

    โดยนายกรัฐมนตรีได้โพสแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์รถบัสนักเรียนไฟไหม้ผ่าน Twitter (X) ส่วนตัวว่า

    “ดิฉันทราบถึงเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสจากอุทัยธานี ที่โดยสารนักเรียนเข้ามาทัศนศึกษาในกรุงเทพฯ และเกิดอุบัติเหตุบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ในฐานะแม่ ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในฐานะรัฐบาล ได้สั่งการให้ท่านอนุทิน ท่านสุริยะ และ ท่านซาบีดา ลงไปยังพื้นที่เกิดเหตุด้วยตัวเองแล้ว โดยรัฐบาลจะดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตค่ะ”

    เร่งไฟฟ้า – ประปา เข้าพื้นที่ ช่วยชาวบ้านหลังน้ำลด

    ด้านนายจิรายุ รายงานข้อสั่งการเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงรายว่า ที่ประชุมมีการประชุม Zoom จากพื้นที่ ศปช. ส่วนหน้า มีดร.ธีรรัฐ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย และพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม เป็นคณะกรรมการที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ในพื้นที่มาแล้ว 2 วันตามคำบัญชาของนายกฯ

    “ส่วนใหญ่เป็นการรายงานขั้นพื้นฟู และขณะนี้มีฝนตกอย่างหนัก เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชะล้างดินโคลนที่มีฝุ่นละออง แต่ส่วนพื้นที่ลุ่มติดแม่น้ำสายก็ให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง” นายจิรายุ กล่าว

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มีข้อสั่งการไปกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลการไฟฟ้าภูมิภาคว่า เนื่องจากสายเมนเดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 100% แต่สายรองที่จะวิ่งเข้าบ้านเรือนประชาชนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น นายกฯ สั่งการให้เร่งดำเนินการให้รวดเร็วให้ประชาชนมีไฟทุกบ้าน รวมถึงเรื่องน้ำประปาด้วย เพราะมีบ้านของประชาชนที่โดนดินโคลนทับถมไว้ ขอให้เร่งดำเนินการในขณะนี้

    ระดมนักจิตวิทยา เยียวยาจิตใจผู้ประสบอุทกภัย

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มนักจิตวิทยาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้กำลังใจ หรือ สอบถามเรื่องราวต่างๆ ของประชาชนที่อาจเกิดความวิตกกังวลจากสถานการณ์อุทกภัย

    นอกจากนี้ยังสั่งการให้กระทรวงสาธารสุขจัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่นอกเหนือจากปกติ ตัวอย่างเช่น ยาป้องกันน้ำกัดเท้า กระทั่ง EM Ball เพื่อลดน้ำเน่าเสียในพื้นที่

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ขยายเวลาแก้หนี้เกษตรกรอีก 5 ปี

    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) และโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) (การแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ) ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2567 เป็นสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2572 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ (สงป.) ยังขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามและรายงานผลการชำระเงินคืนให้เสร็จสิ้น ตามระยะเวลาที่กำหนดของโครงการต่อคณะรัฐมนตรีด้วย

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 เห็นชอบการขยายระยะเวลาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2567 และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้งดคิดค่าบริหารสินเชื่อของต้นเงินกู้ทั้งหมด แต่เนื่องจากผลการดำเนินงานปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว พบว่ายังคงมีเกษตรกรเป็นหนี้ จำนวน 21,968 ราย ต้นเงินกู้ จำนวน 558.55 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดภายในวันที่ 30 กันยายน 2567

    ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีเวลาในการชำระหนี้ เนื่องจากยังมีเกษตรกรบางส่วนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามศักยภาพได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการรักษาวินัยการชำระหนี้ของเกษตรกร ประกอบกับการขยายระยะเวลาดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต กษ. จึงเสนอขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) และโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) (การแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ) ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2567 เป็นสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2572

    ปรับเกณฑ์ปล่อยซอฟต์โลน 50,000 ล้าน – ค้ำหนี้ SMEs

    ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทำให้ขาดรายได้และมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข และบรรเทาลงก่อนที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินและรับทราบโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี 2567 ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 11 (โครงการ PGS 11) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

    1. จัดสรรวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน และภายใต้วงเงินดังกล่าวธนาคารออมสินสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยโดยตรงภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกัน ทั้งนี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567

    2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี 2567 ภายใต้โครงการ PGS 11 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้ได้รับสินเชื่อได้อย่างเพียงพอ และช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ โดย บสย.จะจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการนี้เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมเฉลี่ยร้อยละ 30 โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการใน 3 ปีแรก หลังจากนั้น บสย. คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันจากผู้ประกอบการร้อยละ 1.25 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี รับคำขอค้ำประกันถึงวันที่ 30 เมษายน 2568

    กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่า การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้สามารถฟื้นฟูกิจการเพื่อกลับมาประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ภายหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างต่อไป

    เห็นชอบงบลงทุน รสก.ปี’68 วงเงิน 264,106 ล้าน

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒนาฯ)(สศช.) เสนอ มีรายละเอียดดังนี้

    1. เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีวงเงินดำเนินการจำนวน 1,512,294 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 264,106 ล้านบาท ประกอบด้วย

      (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการที่ได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,212,294 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 214,106 ล้านบาท และ

      (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติม ระหว่างปี วงเงินดำเนินการ จำนวน 300,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการและให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ

    2. เห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2568 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์วิธีการงบประมาณหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ (สงป.) แล้ว และปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการและกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี

    3. เห็นควรมอบหมายให้สภาพัฒนาฯ โดยประธานสภาพัฒนาฯ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีภายใต้กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2568 ที่ได้รับความเห็นชอบไว้แล้ว เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการ สำหรับโครงการลงทุนที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบตามขั้นตอนและการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เห็นควรให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน

    4. เห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และเห็นควรให้รัฐวิสาหกิจรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนปี 2568 ให้ สศช. ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือน อย่างเคร่งครัด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะและความก้าวหน้าการทำเป็นโครงการลงทุนทุกไตรมาส เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง

    5. รับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2568 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 89,086 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2569 – 2571 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 352,939 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 90,808 ล้านบาท

    6. เห็นชอบการปรับปรุงงบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2567 โดยปรับเพิ่มวงเงินดำเนินการ จำนวน 1,965.81 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 987.59 ล้านบาท แบ่งเป็น

      • งบลงทุนของบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด โดยปรับเพิ่มวงเงินดำเนินการและเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 973.81 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าโดยใช้แสงอาทิตย์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำเย็น PTC Chiller Plant บริเวณพื้นที่ลานจอดรถระยะยาวและบ่อน้ำด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ

      • โครงการระบบผลิตไฟฟ้าโดยใช้แสงอาทิตย์ บริเวณบ่อน้ำทิศใต้ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังคาอาคารจอดรถโซน 2 หลังคาอาคารครัวการบินไทย และหลังคาอาคารโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ

      • งบลงทุนของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด โดยปรับเพิ่มวงเงินดำเนินการ จำนวน 992.00 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 13.78 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารและที่พักอาศัยของกรมสรรพากร

    สาระสำคัญ
    สภาพัฒนาฯ รายงานว่า รัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง* ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง ได้ส่งข้อเสนองบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2568 ให้ สศช. พิจารณาตามนัยพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550 ซึ่งสภาพัฒนาฯ ได้กำหนดแนวทางการพิจารณากลั่นกรองการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2568 โดยเน้นให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ เช่น

      (1) ความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์และนโยบายรัฐ
      (2) ความจำเป็นในการลงทุนตามภาระผูกพันและตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ และ
      (3) ความพร้อมในการดำเนินการทั้งด้านกายภาพและฐานะการเงิน

    ทั้งนี้ สภาพัฒนาฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจ (คณะอนุกรรมการฯ) เพื่อพิจารณารายละเอียดข้อเสนอดังกล่าวก่อนเสนอสภาพัฒนาฯ พิจารณา รวมทั้งได้เชิญผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดเข้าร่วมพิจารณาด้วย
    หมายเหตุ * : ไม่รวมรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทและบริษัทมหาชนจำกัด สถาบันการเงิน และธุรกิจประกันภัย

    ผ่านแผนบริหารหนี้ปี’68 กู้เพิ่ม 1.2 ล้านล้าน

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้
    1. อนุมัติและรับทราบตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ดังนี้

      1.1 อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ประกอบด้วย (1) แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,204,304.44 ล้านบาท (2) แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,783,889.64 ล้านบาท และ (3) แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 489,110.70 ล้านบาท

      1.2 อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2568 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฯ ดังกล่าวด้วย

      1.3 รับทราบแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2572) และมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะต่อไป

    2. อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อการกู้เงิน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 (พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะฯ) มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ตามกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 16 แห่ง ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

    สาระสำคัญของเรื่อง

    คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ในการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 มีมติเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สรุปได้ ดังนี้

    โดยสาระสำคัญของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

      (1) แผนการก่อหนี้ใหม่ เช่น การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 865,700 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี จำนวน 145,000 ล้านบาท

      (2) แผนการบริหารหนี้เดิม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 1,384,280.91 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569-2572 จำนวน 279,876.76 ล้านบาท และ

      (3) แผนการชำระหนี้ เช่น แผนการชำระหนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 410,253.68 ล้านบาท นอกจากนี้ ในแผนฯ
      ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การรถไฟแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่มี *DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติการกู้เงินต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งคณะกรรมการฯ ได้จัดทำแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572) โดยมีโครงการลงทุนรวม 108 โครงการ และวงเงินลงทุนรวม 776,046.73 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในครั้งนี้ยังอยู่ภายในกรอบกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

    หมายเหตุ * : Debt Service Coverage Ratio (DSCR) หมายถึง อัตราส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทางการเงินที่ใช้ในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้

    ต่อ Credit Line กฟผ.ปีละ 30,000 ล้าน 3 ปี

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการต่ออายุเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วงเงินปีละ 30,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ภายใต้เงื่อนไขเดิม ประกอบด้วย กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) โดยให้พิจารณาทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินที่เสนอรูปแบบที่มีต้นทุนต่ำที่สุดตามอัตราดอกเบี้ยตลาด โดยกระทรวงการคลัง (กค.) ไม่ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่องมีดังนี้

    1. วงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ที่ กฟผ. ได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 และ 26 กรกฎาคม 2565 ซึ่งหมดอายุลงในวันที่ 11 กันยายน 2567 แต่ กฟผ. ยังมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินกู้ดังกล่าว เพื่อรองรับการบริหารสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพและเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องในระหว่างเดือน สำหรับการดำเนินงานของ กฟผ. เนื่องจาก

      1.1 การดำเนินงานของ กฟผ. จำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเป็นจำนวนที่สูงมาก โดยมีรายจ่ายประจำที่ต้องชำระ ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อกระแสไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายลงทุน และอื่น ๆ รวมทั้งรายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐ เช่น นโยบายการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า โดย กฟผ. ช่วยรับภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) แทนประชาชนไว้ก่อน ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. รับภาระค่า Ft ค้างรับ ณ เดือนสิงหาคม 2566 จำนวน 95,777 ล้านบาท และมีภาระเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง รวม 72,000 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง จำนวน 17,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อบริหารภาระค่า Ft จำนวน 55,000 ล้านบาท

      1.2 กฟผ. อาจได้รับความเสี่ยงที่ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงจะสูงกว่าประมาณการ ทำให้มีผลกระทบต่อประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. อย่างต่อเนื่อง

    2. คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ต่อเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line เป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงิน ปีละ 30,000 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ภายใต้เงื่อนไขเดิม ประกอบด้วย กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงินการทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) โดยพิจารณาทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินที่เสนอรูปแบบที่มีต้นทุนต่ำที่สุดตามอัตราดอกเบี้ยตลาดโดย กค. ไม่ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินด้วยแล้ว

    ปปช.แนะตั้ง คกก.ระดับชาติ ปราบพนันออนไลน์

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงยุติธรรม (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
    สาระสำคัญของข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับพนันออนไลน์ และเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรี สรุปได้ ดังนี้

    1) ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

      (1) ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยมอบหมายรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านนโยบาย หน่วยงานด้านเทคโนโลยี หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลคลื่นความถี่ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และเสนอให้คณะกรรมการระดับชาติดังกล่าว พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น

      (2) กำหนดเป็นนโยบายว่าการมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการพนันออนไลน์ ให้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องมีการดำเนินการโดยเร่งด่วน

      (3) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงาน ปปง. จัดทำนโยบายร่วมกันในการยกระดับความสำคัญของปัญหาการพนันออนไลน์ และดำเนินการเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ รณรงค์เพื่อให้ประชาชนเห็นโทษของการพนันและไม่ฝักใฝ่ในการเล่นการพนัน รวมถึงกระทำความผิดเกี่ยวกับการรับเป็นบัญชีม้า ตลอดจนการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพนันออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้น

      (4) กำชับให้หน่วยงานภาครัฐต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด และจัดทำโครงสร้างใหม่ดำเนินการย้ายฐานข้อมูลการทำงานของระบบราชการเข้าไปอยู่ใน Cloud Computing เพื่อให้เกิดการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

    2) ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

    ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้พิจารณาดำเนินการศึกษา เพื่อกำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกระดับ ให้มีหน้าที่ต้องยื่น

    ผ่อนผันนำไม้ป่าสงวนที่โค่นล้ม ช่วย ปชช.ซ่อมบ้าน

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการผ่อนผันให้ส่วนราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และดำเนินการ ซ่อมแซม ปรับปรุง และฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

      1. ผ่อนผันให้ส่วนราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าทำประโยชน์ ในพื้นที่ป่าไม้ (ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ) ได้เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน เฉพาะในกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน และจำเป็นอย่างแท้จริง จนกว่าจะได้รับอนุญาตตามระเบียบและกฎหมายที่ว่าด้วยการป่าไม้ โดยให้ส่วน ราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ยื่นคําขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้โดยเร่งด่วนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมป่าไม้) เร่งรัดพิจารณาการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขออนุญาต โดยให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ค่าปลูกป่าทดแทน และค่าบำรุงหรือปลูกสร้างป่าตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

      2. ผ่อนผันให้ส่วนราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐ สามารถดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับต้นไม้ที่โค่นล้มอันเกิดจากเหตุภัยพิบัติสาธารณะ เพื่อเป็นการบรรเทาแก่เหตุที่เกิดขึ้นไปพลางก่อนได้ เช่น ตัดทอนและนําเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ในสถานที่ปลอดภัย แล้วให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ ดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบ จัดทำบัญชี และอนุญาตให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐนําไปช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติสาธารณะเป็นลำดับแรก หากคงเหลือจำนวน เท่าใด ให้นําไปใช้ประโยชน์ในราชการ หรือบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์ สำหรับการอนุญาตดังกล่าว ให้งดเว้นไม่ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่าตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติ ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

      3. ผ่อนผันให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุง และฟื้นฟู สิ่งก่อสร้างในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ไปพลางก่อน ทั้งนี้ เฉพาะพื้นที่ที่ประกาศเป็นภัยพิบัติ และให้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยไม่ชักช้าแต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ได้เข้าดำเนินการ

    สาระสำคัญ

    1. กรณีพื้นที่ป่าไม้ (ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ) ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนของประชาชน ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าว ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการให้ทันท่วงที ไม่สามารถขออนุญาตได้ในขณะนั้น ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ได้เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน เฉพาะในกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน และจำเป็น อย่างแท้จริง จนกว่าจะได้รับอนุญาตตามระเบียบและกฎหมายที่ว่าด้วยการป่าไม้ โดยให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ยื่นคําขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้โดยเร่งด่วนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ เร่งรัดพิจารณา การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ดังกล่าวให้เสร็จสิ้น ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด นับตั้งแต่วันที่ได้รับคําขออนุญาต โดยให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ค่าปลูกป่าทดแทน และค่าบำรุงป่าหรือปลูกสร้าง สวนป่าตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    2. สำหรับต้นไม้ที่โค่นล้มอันเกิดจากเหตุภัยพิบัติสาธารณะ ให้ส่วนราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อเป็นการบรรเทาแก่เหตุที่เกิดขึ้นไปพลางก่อนได้ เช่น ตัดทอนและนําเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ในสถานที่ปลอดภัย แล้วให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ ดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบ จัดทำบัญชี และอนุญาตให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐนําไป ช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติสาธารณะเป็นลำดับแรก หากคงเหลือจำนวนเท่าใด ให้นําไปใช้ประโยชน์ในราชการ หรือ บริจาคเพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์ สำหรับการอนุญาตดังกล่าว ให้งดเว้นไม่ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่าตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    3. การดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุง และฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณูปโภคกินพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์โดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อการบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างเดิม หรือ เพื่อการก่อสร้างใหม่แทนสิ่งก่อสร้างเดิมที่ชํารุด ตามระเบียบกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้กระทำการในอุทยานแห่งชาติวนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ตามมาตรา 22 วรรคสอง มาตรา 27 วรรคสาม และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 หรือตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วย การอนุญาตให้กระทำการในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 53 วรรคสาม มาตรา 54 วรรคสอง มาตรา 55 วรรคสาม มาตรา 67 วรรคสอง และมาตรา 71 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2565 แล้วแต่กรณี กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐจะต้องยื่นคําขออนุญาตล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนวันประสงค์เข้าดำเนินการพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีระยะเวลาการพิจารณาตามระเบียบฯ 45 วันก่อนที่จะเข้าดำเนินการได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้การฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ ที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วและเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม

    ประโยชน์และผลกระทบ

      1. ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
      2. ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการบริการสาธารณะที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
      3. ราษฎร หรือ ส่วนราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติสาธารณะ สามารถนําไม้ที่โคนได้ พิบัติสาธารณะไปใช้ประโยชน์ในการซ่อมแซมบ้านเรือน อาคารสำนักงาน หรือ สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นได้

    ไฟเขียวกรมชลฯปรับปรุงคลองชักแม่น้ำยม 3,557 ล้าน

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จังหวัดสุโขทัย ภายในกรอบวงเงิน 3,557 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – พ.ศ. 2573) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) ทั้งนี้ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ขอให้กรมชลประทานจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความสามารถในการใช้จ่ายและการก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณ ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอย่างเคร่งครัดเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

    สาระสำคัญของเรื่อง

    ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำยมยังไม่สามารถบริหารจัดการภายในลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำยม ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก และปัญหาภัยแล้งเป็นประจำโดยเฉพาะในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำยม ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี รวมทั้งสร้างความเสียหายไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จังหวัดสุโขทัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทานจึงได้วางแผนการดำเนินโครงการ 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน จังหวัดสุโขทัย [ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ] และ (2) โครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จังหวัดสุโขทัย (โครงการฯ) (กษ. เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้) โดยเป็นการตัดยอดน้ำบางส่วนออกจากแม่น้ำสายหลักและควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยให้คงเหลือประมาณ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเพียงพอกับศักยภาพของแม่น้ำยมในบริเวณตัวเมือง โดย กษ. รายงานว่า

    1. ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีปริมาณเฉลี่ย 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำของแม่น้ำยมผ่านจังหวัดสุโขทัย จะใช้ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำแบบประตูบานโค้ง (Radial Gate) ขนาด 12.00 X 10.25 เมตร จำนวน 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,804 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำหน้าที่ควบคุมการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายน้ำให้สมดุลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ด้านเหนือน้ำ ร่วมกับการระบายน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ดังนี้

      1.1 ระบายน้ำผ่านคลองสาขา ในอัตรา 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

      1.2 ระบายน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งซ้าย ผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาทเข้าสู่คลองหกบาทในอัตรา 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยแบ่งการระบายน้ำออกเป็น 2 ทาง ได้แก่ (1) ระบายน้ำไปสู่คลองยม – น่าน ในอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ (2) ระบายน้ำไปสู่แม่น้ำยมสายเก่าในอัตรา 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

      1.3 ระบายน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งขวา ผ่านประตูระบายน้ำคลองน้ำโจน (คลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา) ในอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
      ดังนั้น ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมจะไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย เกินกว่าความสามารถที่แม่น้ำยมในบริเวณดังกล่าวจะรองรับได้ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ปริมาณน้ำไหลผ่าน 880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ประกอบกับแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักเพียงสายเดียวที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการภายในลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี อีกทั้งสภาพภูมิประเทศทางตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำยมมีสภาพลำน้ำแคบกว่าตอนบนทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำจากทางตอนบนจะไหลบ่าลงมาตอนกลางและตอนล่างอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น เทศบาลเมืองสุโขทัย ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท รวมทั้งไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภค – บริโภค และทำเกษตรกรรมได้อย่างเพียงพอในฤดูแล้ง โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมตอนล่างในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตรที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

    2. เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จังหวัดสุโขทัยและช่วยให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยคงเหลือประมาณ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเพียงพอกับศักยภาพของแม่น้ำยมในบริเวณตัวเมืองสุโขทัย กรมชลประทานได้วางแผนการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้

      2.1 โครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน จังหวัดสุโขทัย เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สามารถระบายน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งซ้าย ผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาท เข้าสู่คลองหกบาท ในอัตรา 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยแบ่งการระบายน้ำออกเป็น 2 ทาง ได้แก่ (1) ระบายน้ำไปสู่คลองยม – น่าน ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ (2) ระบายน้ำไปสู่คลองยมเก่าในอัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที [คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 อนุมัติการดำเนินโครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน จังหวัดสุโขทัย วงเงิน 2,875 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2567) แล้ว ทั้งนี้ ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง]

      2.2 โครงการฯ เป็นการปรับปรุงคลองตลอดความยาว 54.65 กิโลเมตร ให้สามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (กษ. ขอเสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้) เนื่องจากที่ผ่านมาคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวามีสิ่งกีดขวางทางน้ำและลำน้ำแคบเป็นคอขวดหลายจุดทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ จึงต้องมีการปรับปรุงและระบายน้ำลงแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงที่มีพื้นที่แก้มลิง 3,850 ไร่ ความจุ 32.40 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่ไหลลงแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงจะระบายลงแม่น้ำยมด้านท้ายตัวเมืองสุโขทัย

    3. โครงการฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

    ตั้ง ‘อนันต์ แก้วกำเนิด’ ผอ.สำนักงบฯ โยก ‘ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร’ ปลัดสำนักนายกฯ

    นายจิรายุ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ รายละเอียดมีดังนี้

    1. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นหลักการ มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    2. เรื่อง การมอบหมายผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

    คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นหลักการ มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

      1. นางมนพร เจริญศรี
      2. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. นายสมคิด เชื้อคง
      2. นางสาวธีราภา ไพโรหกุล
      3. นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    4. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กระทรวงมหาดไทย)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่งตั้ง นายจักรพงศ์ คำจันทร์ เป็นผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ในการประชุมครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 และครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

    ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    5. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายกำธร ชีพชัยอิสสระ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แทนนายสมัย โชติสกุล ประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขอลาออก

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    6. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

    คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นหลักการ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้

      1. นายรองวุฒิ วีรบุตร ตำแหน่ง อัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
      2. นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ ตำแหน่ง อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นางศิริลักษณ์ นิยม ตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ข้าราชการในลำดับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง และข้าราชการในลำดับที่ 2-3 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศในลำดับที่ 1 ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับแล้ว

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้

      1. นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายกิตติ อินทรกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    9. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. นายธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย)
      2. นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ)
      3. นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    10. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายอนันต์ แก้วกำเนิด รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง) ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง) ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    11. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ รับโอนนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มาดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้การแต่งตั้งมีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) (ตำแหน่งเลขที่ 3) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหารระดับสูง) (ตำแหน่งเลขที่ 1) กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม
      2. นายโกมล พรมเพ็ง ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) (ตำแหน่งเลขที่ 10) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหารระดับสูง) (ตำแหน่งเลขที่ 3) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม
      3. พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ ตำแหน่งรองอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับต้น) (ตำแหน่งเลขที่ 3) กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับดับสูง) (ตำแหน่งเลขที่ 1) กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธธรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายสุภชัย จันปุ่ม ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 13 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นางสาววันเพ็ญ บุรีสูงเนิน ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายพิเชฐร์ วันทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. ว่าที่ร้อยเอก วิสาร ปัญญชุณห์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      5. นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
      6. นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นายดุสิต เมนะพันธุ์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายจักรพรรดิ์ คล่องพยาบาล ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
      2. นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการเมือง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายพรรณธนู วรรมกางซ้าย ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
      2. นายอัฐฐเสฏฐ จุลเสฏฐพานิช ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงแรงงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
      2. นายอารี ไกรนรา ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพลังงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอแต่งตั้ง นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงอุตสาหกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
      2. นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง นายธนรัช จงสุทธานามณี เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฃ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    22. เรื่อง การเปิดสถานกงสุลใหญ่ราชอาณาจักรกัมพูชา ณ จังหวัดสงขลา

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรณีการเปิดสถานกงสุลใหญ่ราชอาณาจักรกัมพูชา ณ จังหวัดสงขลา โดยมีเขตกงสุลครอบคลุม 12 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต พังงา และสุราษฎร์ธานี ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

    สาระสำคัญของเรื่อง

      1.ประเทศไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2493 ปัจจุบันความสัมพันธ์อยู่ในระดับดีมาก และผู้นำระดับสูงมีความใกล้ชิดและมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอในทุกระดับ ขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ แรงงานกัมพูชายังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ตามสถิติ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 มีแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยทั้งสิ้น 482,809 คน

      2. เมื่อปี 2543 รัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาได้จัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดสระแก้ว เพื่อปฏิบัติงานด้านกงสุลและให้การดูแลคุ้มครองชาวกัมพูชาในประเทศไทยโดยปัจจุบันจำนวนแรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคการประมงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย และเมื่อปี 2566 มีแรงงานประมงชาวกัมพูชาในประเทศไทย ประมาณ 33,001 คน ดังนั้น รัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาจึงประสงค์จัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ราชอาณาจักรกัมพูขา ณ จังหวัดสงขลา

      3. กต. ได้รับหนังสือกระทรวงการต่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา แจ้งความประสงค์ขอเปิดสถานกงสุลใหญ่ราชอาณาจักรกัมพูชา ณ จังหวัดสงขลา โดยมีเขตกงสุลครอบคลุมจังหวัดสงขลา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต พังงา และสุราษฎร์ธานี และตั้งอยู่บ้านเลขที่ 3/27 และ 5/8 หมู่ที่ 1 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ กต.ได้สอบถามความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้รับแจ้งว่า ไม่ปรากฏข้อห่วงกังวลที่อาจะส่งผลระทบต่อความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ การเปิดสถานกงสุลใหญ่ราชอาณาจักรกัมพูชา ณ จังหวัดสงขลา จะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดมากขึ้น

    23. เรื่อง การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Deputy Chief Executive Officer, DCEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย (Ms. Yusrinawati Ibaruslan)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง Ms. Yusrinawati Ibaruslan ที่รัฐบาลมาเลเซียเสนอให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Deputy Chief Executive Officer, DCEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567-30 กันยายน 2571 ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ

    สาระสำคัญของเรื่อง

    1. รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งมาเลเซียได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรร่วมไทย – มาเลเซียขึ้น เพื่อร่วมกันแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย โดยตามโครงสร้างการบริหารงานองค์กรร่วม ตามที่รัฐบาลทั้งสองได้ให้ความเห็นชอบไว้กำหนดให้มีการสลับหมุนเวียนตำแหน่งหัวหน้า และรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ระหว่างคนไทย และคนมาเลเซียทุก ๆ 4 ปี และการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศก่อน จึงจะสามารถดำเนินการแต่งตั้งได้

    2. เนื่องจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Deputy Chief Executive Officer, DCEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี (8 กรกฎาคม 2563) ซึ่งปัจจุบันมี นายสุพัฒน์ นภานพรัตน์แก้ว เจ้าหน้าที่ของประเทศไทยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยวาระถัดไปตำแหน่งรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Deputy Chief Executive Officer, DCEO) ขององค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย จะเป็นวาระของประเทศมาเลเซีย

    3. พน. แจ้งว่ารัฐบาลมาเลเซียได้เสนอชื่อ Ms. Yusrinawati lbaruslan ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านธุรกิจปิโตรเลียม มีภาวะผู้นำ และประสบการณ์ทำงานด้านการวางแผน การเงิน และการกำกับดูแลธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Deputy Chief Executive Officer, DCEO) ของค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย โดย พน. พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวจึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เพิ่มเติม