ThaiPublica > คนในข่าว > คอนเนกชัน “เนวิน-อนุทิน” ขับเคลื่อนการเมือง ยึดอำนาจต่อรอง คุมเกมเหนือฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ

คอนเนกชัน “เนวิน-อนุทิน” ขับเคลื่อนการเมือง ยึดอำนาจต่อรอง คุมเกมเหนือฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ

4 ตุลาคม 2024


“เนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด เดินเกมอำนาจคู่ขนาน “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยึดกุมอำนาจต่อรองทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ตีตั๋วให้วุฒิสภาสายสีน้ำเงินพลิกเกมแก้รัฐธรรมนูญ ถ่ายเลือดองค์กรอิสระ

งานฉลองวันเกิดครบปีที่ 66 ของนายเนวิน ชิดชอบ ผู้มีบารมีเหนือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด 4 ตุลาคม ปีนี้มีของขวัญครบเครื่องทั้งชัยชนะในกีฬา-อำนาจการเมือง

ก่อนวันคล้ายวันเกิดเนวิน 2 วัน “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” บุกชนะ “เซ็นทรัล โคสต์ มาริเนอร์ส” ทีมเก๋าจาก ออสเตรเลีย 2-1 ในศึก ACL Elite 2024-25 คว้าเงินโบนัส 50,000 ดอลลาสร์สหรัฐ

ก่อนวันคล้ายวันเกิดราว 3 เดือน ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสมาชิก (สว.) ปรากฏว่า “สว.สายสีน้ำเงิน” เข้าสู่เส้นชัยราว 2 ใน 3 ของผู้ได้รับเลือกทั้งหมด 200 คน

เสียงของสมาชิกวุฒิสภาสายสีน้ำเงินเดินหน้า “ทำถึง” และ “ทำเกิน” ในการทำเกมของสภาสูงต่อเนื่อง ตั้งการยึดหัวหาดกรรมาธิการชุดสำคัญ และพลิกผันเกมใหญ่ในฝายนิติบัญญัติได้แทบทุกครั้ง

ยึดครอง-ต่อรองเก้าอี้สำคัญในคณะรัฐมนตรี

ในฝ่ายบริหารหลังการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี จาก “เศรษฐา ทวีสิน” เป็น “แพทองธาร ชินวัตร” พรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคอันดับ 2 ได้โควตารัฐมนตรี 8 คน 9 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง คือ มหาดไทย, แรงงาน, การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วย 4 กระทรวง คือมหาดไทย, ศึกษาธิการ และพาณิชย์ นอกจากนี้ หัวหน้าพรรค นายอนุทิน ชาญวีรกูล ยังได้ควบตำแหน่งรองนายกฯ

ในฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคภูมิใจไทย ในสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มี สส. 71 คน เป็นพรรคอันดับ 3 กินตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และรับโควตาเป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) 5 คณะ คือ 1. กมธ.การศึกษา 2. กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ 3. กมธ.การปกครอง 4. กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย 5. กมธ.การแรงงาน

ในโครงสร้างพรรคภูมิใจไทย มีลูกชายนายเนวิน ชิดชอบ คือ ไชยชนก ชิดชอบ ผงาดขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค ประกบกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค

พลิกเกมฝ่ายนิติบัญญัติตัดทางแก้รัฐธรรมนูญ

ล่าสุด 30 กันยายน 2567 เกมในฝ่ายนิติบัญญัติถูกเดินหน้าสอดประสานกันระหว่าง สภาล่าง-สภาบน เฉพาะอย่างยิ่งเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกพลิกผันตั้งต้นใหม่แบบ 180 องศา เมื่อสมาชิกวุฒิสภา “สายสีน้ำเงิน” หักล้างหลักการครั้งสำคัญ

โดยวุฒิสภามีมติ 167 ต่อ 19 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วุฒิสภา ที่มี สว. สายสีน้ำเงิน เป็นประธาน เสนอแก้ไขโดยกลับไปใช้ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” ทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเอกฉันท์ 409 เสียง และวุฒิสภาเองก็มีมติรับหลักการในวาระ 1 ไปแล้ว ให้ใช้ “เสียงข้างมากชั้นเดียว” ในการทำประชามติ

การลงมติกลับหลักการ ที่นำโดย สว.สายสีน้ำเงิน ยังผลให้ต้องนำร่างกฏหมายกลับไปเริ่มพิจารณาใหม่ในขั้นสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้การทำประชามติตามแผนเดิมในช่วงต้นปี 2568 เพื่อเปิดทางไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แทบจะถูกปิดตาย

นายเนวิน ชิดชอบ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/BuriramUnitedFC/photos?locale=th_TH

เครือข่ายสภาบนถือตั๋วองค์กรอิสระ?

ขณะเดียวกัน นักการเมืองสภาล่าง-สภาบน ตั้งข้อสังเกตไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่เพียงยึดกุมอำนาจการต่อรองในฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติแล้ว…

“เนวิน-อนุทิน” ในนามของภูมิใจไทย ในฐานะพรรคสีน้ำเงิน ยังมีเครือข่าย สว.สายสีน้ำเงิน ที่ถือตั๋วการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ไว้เต็มมือ

อย่างน้อยในระยะสั้น-ยาว สว.สายสีน้ำเงิน จะสามารถแสดงอภินิหารในการแต่งตั้ง บุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งใน 6 องค์กรอิสระ และ 7 ตำแหน่งในองค์กรอื่นตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ ดังนี้

“องค์กรอิสระ” ที่ต้องใช้อำนาจ สว.
1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน
2. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 9 คน
3. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 7 คน
4. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 7 คน
5. คณะกรรมการตรวจการแผ่นดิน 7 คน
6. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน
7. ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน

“องค์กรอื่นตามกฎหมาย” ที่ต้องใช้อำนาจ สว.
1. อัยการสูงสุด
2. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 11 คน
3. เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
4. เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)
5. ประธานศาลปกครองสูงสุด
6. ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
7. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

อย่างน้อยในช่วงปลายปีนี้ มีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามกฏหมายทยอยพ้นจากตำแหน่งหลายราย เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 1 คน แทน พล.อ. บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ครบวาระ 6 คน จากทั้งหมด 7 คน คือ พล.อ. ชนะทัพ อินทามระ ประธาน, ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, จินดา มหัทธนวัฒน์, สรรเสริญ พลเจียก, อรพิน ผลสุวรรณ์

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครบวาระ 2 คน จากทั้งหมด 9 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธาน และนายปัญญา อุดชาชน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ครบวาระ 1 คน จากทั้งหมด 3 คน คือ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธาน

กรรมการ ป.ป.ช. ครบวาระ 3 คน จากทั้งหมด 9 คน คือ พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน, สุวณา สุวรรณจูฑะ และวิทยา อาคมพิทักษ์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/bhumjaithaiparty/?locale=th_TH

บ้านใหญ่บุรีรัมย์ คอนเนกชันแน่น 2 ทศวรรษ

ก่อนที่จะถึงยุคการเมือง “พลิกขั้ว” เมื่อราว 20 ปีก่อน “เนวิน” คลุกอยู่วงในทุกแวดวง ทั้งธุรกิจและการเมือง บ้านใหญ่บุรีรัมย์-มีตำนานเปิดบ้านต้อนรับผู้นำสูงสุดมาแล้วทุกคน แม้กระทั่งอนุทิน ชาญวีรกูล ก็มีทะเบียนบ้านอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ หาใช่คฤหาสน์หลังใหญ่ในกรุงเทพฯ

  • 16-17 พฤษภาคม 2548 เปิดบ้านต้อนรับทักษิณ ชันวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 23
  • 14 มีนาคม 2549 นำทีมทักษิณนั่งหลังช้าง เยือนพื้นที่ จ.สุรินทร์
  • 25 กันยายน 2550 เปิดเวทีปราศรัยให้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนก่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 25
  • 11 กรกฏาคม 2552 เปิดบ้านต้อนรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27
  • 7-8 พฤษภาคม 2561 เปิดต้อนรับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
  • สัมพันธ์ เนวิน-ทักษิณ-อนุทิน

    เนวิน ชิดชอบ, ทักษิณ ชินวัตร และอนุทิน ชาญวีรกูล มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อเนื่อง มีบางช่วงที่เว้นวรรค คือยุคที่ “สส.กลุ่มเพื่อนเนวิน” 40 คน พลิกขั้วจับมือสุเทพ เทือกสุบรรณ ดันอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551-2554

    หลังจากนั้น เนวิน ชิดชอบ ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง แต่อยู่เบื้องหลังพรรคภูมิใจไทย ให้อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นทัพหน้าในทำเนียบรัฐบาลต่อเนื่อง ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 2562 จนถึงปัจจุบัน

    นายเนวินจัดการธุรกิจการกีฬา-จับมือบิ๊กธุรกิจทำงานมวลชน ปักหลักฐานที่มั่นบุรีรัมย์และอีสานใต้ เป็นพายุหมุนใต้ปีกพรรคภูมิใจไทย เป็นแรงส่งให้สยายปีก-ขยายฐานเสียงเลือกตั้ง ส่งผลให้ สส.ภูมิใจไทย 71 คน มาจากหลากหลายพื้นที่ทั่วทุกภาค รวมทั้งปักหมุดบนพื้นที่ภาคใต้ถึง 11 ที่นั่ง

    นายทักษิณ ชินวัตร กลับสู่แผ่นดินไทย ณ อาคาร MJETS เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566

    เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีนอกพรรคเพื่อไทย (พท.) มีกำหนดกลับสู่แผ่นดินไทย ปรากฏร่างนายเนวิน ชิดชอบ จัดการสถานที่ต้อนรับที่สนามบินดอนเมือง คู่ขนานการปรากฏตัวเคียงข้างกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในกิจกรรมทางสังคมหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งการรวมตัวบุคคลวีไอพีที่สนามกอล์ฟ แรนโช ชาญวีร์ รีสอร์ท แอนด์คันทรีคลับ ครั้งล่าสุด

    ไม่เพียงบารมีในอำนาจการเมืองของเนวิน แต่อนุทิน ชาญวีรกูล ยังมีเกียรติยศแห่งชีวิต เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า และเหรียญรัตนาภรณ์ ในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

    รายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ทุติยจุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า” จำนวน 16 คน ส่วนใหญ่เป็นองคมนตรี และมีข้าราชการในพระองค์บางส่วน ในฝ่ายการเมือง ปรากฏชื่อเพียงคนเดียว คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้รับพระราชทาน

    บุคคลที่ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 3 คราวเดียวกับนายอนุทิน อีก 1 ชื่อ คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี

    อำนาจวาสนาบารมีและกำลังการต่อรอง ของนายเนวินในวัย 66 ปี มีครบเครื่องทั้งพรรค-ฝ่ายบริหาร-ฝ่ายนิติบัญญัติ มีเพียงอีกหนึ่งเป้าหมายที่ถูกกำไว้ในใจ คือ ทำให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันใดวันหนึ่ง