ThaiPublica > คนในข่าว > พระสุเทพ-อนุทิน-เนวิน-สมคิด-สุดารัตน์ ชื่อร้อนๆ ในกระแส “พรรคทหาร” จับตาการจรยุทธ์ในดงขมิ้น และวัน “เผด็จสึก ปภากโร”

พระสุเทพ-อนุทิน-เนวิน-สมคิด-สุดารัตน์ ชื่อร้อนๆ ในกระแส “พรรคทหาร” จับตาการจรยุทธ์ในดงขมิ้น และวัน “เผด็จสึก ปภากโร”

4 พฤศจิกายน 2014


ชื่อที่หล่นบนโต๊ะจีน ในโรงแรมหรู ถูกเอ่ยชู ขึ้นมาในกระแสการเคลื่อนไหว จัดตั้งเครือข่ายพรรคการเมืองที่เกาะกลุ่มระหว่างอำนาจฝ่ายอำมาตย์เก่า-นายทหารนอกราชการ-ทหารในรัฐบาล กับนักการเมืองอาชีพนอกสภา ในนามของ “พรรคทหาร” ในเวลานี้มี 5 ชื่อ

พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)https://www.facebook.com/suthep.fb?fref=photo
พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)https://www.facebook.com/suthep.fb?fref=photo

ชื่อแรก คือ พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเป้าหมายของนายทหารระดับสูง –นายทหารนอกราชการและกลุ่มอำมาตย์เก่า

แม้ว่าจะปลีกตัวไปอยู่ในดงขมิ้น ห่มเหลือง แต่ไม่ได้ห่างเหิน คนการเมืองทุกระดับ เพราะในช่วง 90 กว่าวัน มีอีเวนต์ เดินสายจัดกิจกรรม ทางศาสนา โดยมีหัวหน้ากลุ่มการเมือง หัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่น ร่วมขบวน ไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งทอดกฐิน บรรยายธรรม และจัดพบรรพชาอุสมปทหมู่ มีบุตรหลานแนวร่วม เข้าสู่ร่มห่มเหลืองแล้ว 136 รูป

มีบุคคลวีไอพี เดินสายไปสนทนาธรรมด้วย ทั้งในสวนโมกข์ และสำนักปฏิบัติธรรมบนเกาะสมุย

บุคคลวีไอพี บางคนถูกทาบทามไว้แล้วว่า หลังลาสิกขา จะทำกิจกรรมการเมืองร่วมกันอีกครั้ง

“ท่านปภากโร เวลานี้ เหมือนพาวเวอร์แบงก์ชุดใหญ่ รุ่นอเนกประสงค์ สามารถเป็นเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ ให้กับทุกกลุ่ม ทุกเครือข่าย คาดว่าอย่างช้าต้นปีหน้า 2558 คงจะสึกออกมา” บุคคลระดับวีไอพีที่เพิ่งได้สนทนาธรรมกับพระสุเทพกล่าว

สอดคล้องกับ คำพูดของโฆษก กปปส. ลูกชายของภริยา พระสุเทพ “นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์” ที่แจ้งข่าวกับสาธารณะว่า “พระสุเทพ บอกให้แกนนำทุกคนปล่อยวางสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ และขอให้แกนนำให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและ คสช. ในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ส่วนพระสุเทพ จะบวชต่อไปให้ครบ 204 วันตามจำนวนที่ กปปส. ชุมนุม ซึ่งจะครบกำหนดประมาณต้นเดือน ก.พ. 2558 แต่จะลาสิกขาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพระสุเทพ”

การเคลื่อนตัวเข้าหากัน ระหว่างเครือข่ายรัฐประหาร 2549 และเครือข่ายอำนาจใน กปปส. ก่อนรัฐประหาร 2557 จึงหวังใช้ “พระสุเทพ” เป็นพาวเวอร์แบงก์ สำหรับตั้งพรรคการเมืองในนาม “พรรคทหาร”

นายเนวิน ชิดชอบ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเนวิน ชิดชอบ
นายเนวิน ชิดชอบ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเนวิน ชิดชอบ

ชื่อที่สอง ที่สาม คือ นายเนวิน ชิดชอบ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย และบุรีรัมย์ยูไนเต็ด สายสัมพันธ์กับ 2 ชื่อนี้มาแรง ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพราะทั้งอนุทิน-เนวิน ได้รับบริการระดับวีไอพีในค่ายทหาร และยังใกล้ชิดระดับเดินเข้า-ออก บ้านใหญ่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายอนุทินนั้น ให้ความร่วมมืออย่างดีกับ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่ออนุทินถูกเชิญเข้าร่วมงานปฏิรูปประเทศไทยในฐานะบุคคลวีไอพีในแถวหน้าของคณะที่ถูกเชิญทั้งหมด และเมื่อประกาศชื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็มีชื่อ “ชัย ชิดชอบ” ติดอยู่ในดงอำนาจ

ทั้ง อนุทิน-เนวิน ไม่เคยแสดงบทการเมืองล้ำเส้น แต่เขายังไต่ลวดอำนาจอยู่ใกล้ๆ ไม่ห่างวงโคจร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
สมการของ อนุทิน-เนวิน อาจยังกุมบังเหียนพรรคภูมิใจไทย แต่ต่อสายโยงใย ขับเคลื่อนให้เกิดการ “ดีล” ระหว่าง “พรรคทหาร” กับคนการเมืองในฤดูการเลือกตั้งใหญ่ หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในต้นปี 2559

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ชื่อที่สี่ ไม่มีใครไม่เอ่ยถึง คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เป็นทั้งที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 1 ใน 15 คณะ คสช. เป็นพลเรือน 1 ใน 2 คน ที่อยู่ในคณะ “พูลิตบูโร” ร่วมกับ มีชัย ฤชุพันธ์ุ นักกฎหมายระดับพญาอินทรี

ชื่อ ดร.สมคิด ถูกเอ่ยถึงในฐานะที่จะถูกผลักขึ้นไปใช้ในสมการที่ “พรรคทหาร” มีขุนพลการเมืองพร้อมทั้งกระแส-กระสุน แต่ “ขาดหัว” ชื่อของเขาอยู่ในแถวที่ ขึ้นเป็น “หัว” ได้ เพราะที่ผ่านมาได้ใช้ชีวิตร่วมกับนายพลในค่ายทหาร จนเรียนรู้วัฒนธรรมการการอยู่-การใช้อำนาจสไตล์นายพล ได้ระดับหนึ่งแล้ว

ชื่อที่ห้า อยู่ในกระแสเครือข่าย “พรรคทหาร” สม่ำเสมอ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ เจ้าแม่การเมืองกรุงเทพฯ ที่มีสายสัมพันธ์ทั้งกับนายทหารเก่า นายทหารใหม่ แม้คุณหญิงสุดารัตน์เคยเปิดใจทำนองว่า “ไม่โง่พอไปตั้งพรรคกับทหาร”

แต่หลังรัฐประหารได้ 1 เดือน ขณะที่ชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ถูกพาดพิงหลายหย่อมหญ้า คุณหญิงออกมาปรากฏตัวและปฏิเสธข่าวเตรียมการตั้งพรรคการเมืองใหม่ร่วมกับนายทหาร แต่ก็ยอมรับว่า “สนิทกับนายทหารระดับบิ๊กหลายคนก็จริง เพราะไม่ได้มีศัตรูหรือไปทำร้ายใคร กับบิ๊กทหาร รู้จักตั้งแต่รุ่นแม่ สมัยคนเหล่านี้เป็นผู้พัน ไม่ใช่รู้จักกันตอนนี้ที่มีอำนาจเป็นบิ๊ก คสช. ตอนนี้มีคนถามว่าจะรับตำแหน่งโน่นนี่หรือไม่ แม้แต่สภาปฏิรูปก็ไม่ต้องการเข้าไป”

แต่การเคลื่อนตัวของคุณหญิงสุดารัตน์ก็ยังกระเพื่อมไหว ในเดือนถัดมา เมื่อนักการเมืองระดับแกนนำหลายพรรคพูดถึงชื่อเธอ หลายกรรม หลายวาระ ทั้งในค่ายทหารและคำหล่นบนจานอาหารหรู ในโรงแรมระดับห้าดาว ทำนองว่า จะต่อสายนายทหารระดับบิ๊ก เพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยรวมคนจากพรรคเพื่อไทยและคนรุ่นใหม่สาย “กทม.” จนแล้วจนรอด คุณหญิงต้องจัดอีเวนต์ นัดผู้สื่อข่าวนอกรอบ แบ่งรับ แบ่งสู้ บอกว่า “กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ไม่ได้คิดหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่เวลา ตอนนี้ขอสานต่องานทางด้านศาสนาที่กำลังทำอยู่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ส่วนจะกลับมาทำงานทางด้านการเมืองหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ ขอให้สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติก่อนค่อยกลับมาคิดทบทวนอีกครั้ง”

ทั้ง 5 ชื่อ คือคนการเมือง ส่องการเมือง ผ่านกิจกรรม ความเคลื่อนไหว ที่ไร้ร่องรอย แต่เห็นเงา เห็นร่าง ของการวางโครงเรื่อง “พรรคทหาร” ในอนาคต

ทั้ง 5 ชื่อ ไม่นับรวมสมการกลุ่มอำนาจ 3 ป. แห่งค่ายบูรพาพยัคฆ์ ที่ประกอบด้วย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือ บิ๊กป๊อก ที่อาจเตรียมทางลงจากบัลลังก์ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ผ่านบันได “พรรคทหาร”

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความเคลื่อนไหว ของคนการเมือง-นายพล และบุคคลวีไอพี ที่ต้องการคืนอำนาจ อีกครั้ง หลังเส้นทางร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มชัดเจนขึ้น

“ย้อนรอยพรรคทหาร” ในเส้นทางการเมือง

หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ นานถึง 10 ปี จนถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีแทน จึงเกิดร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2511 กำหนดให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้

จอมพลถนอม จึงจัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อพรรคสหประชาไทย ลงเลือกตั้ง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512

หลังจากการเลือกตั้ง จอมพลถนอมได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนต้องยึดอำนาจตัวเอง ในปี 2514 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพรรคการเมือง

ข้ามมา 3 ทศวรรษ ในยุค คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจาก พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดย พล.อ. สุจินดา คราประยูร จากนั้นให้เพื่อน คือ พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผนึกกับกลุ่มการเมือง ตั้งพรรคสามัคคีธรรม

จากนั้นอีก 14 ปีต่อมา พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยึดอำนาจจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หลังจัดการเลือกตั้ง พล.อ. สนธิ เข้าสังกัดพรรคมาตุภูมิ

ในช่วงเดียวกันนั้น มีเครือข่ายอำมาตย์และเครือข่ายนักการเมือง รวมตัวกันตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน ท่ามกลางข่าวในวงการทหารว่า นี่คือตัวแทนสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหาร โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าพรรค ร่วมด้วย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย, นายพินิจ จารุสมบัติ, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ

ชะตากรรมของนักการเมืองและนายพล ที่โหนอำนาจนอกระบบ อยู่ใต้ร่มเงาของ “พรรคทหาร” ใน 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนมีที่มาและจุดจบที่ไม่สวยงามนัก บทเรียนนี้ ย่อมทำให้นักการเมืองยุคปัจจุบัน หันรี-หันขวาง ท่ามกลางกระแส “พรรคทหาร” กำลังเชี่ยว