ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯมอบ ‘ภูมิธรรม’ ดูโผโยกย้ายบิ๊กเหล่าทัพ-ครม.ทุ่ม 3,045 ล้าน เยียวยาน้ำท่วมสูงสุด 9,000 บาท/หลัง

นายกฯมอบ ‘ภูมิธรรม’ ดูโผโยกย้ายบิ๊กเหล่าทัพ-ครม.ทุ่ม 3,045 ล้าน เยียวยาน้ำท่วมสูงสุด 9,000 บาท/หลัง

17 กันยายน 2024


เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก (ครม.) ณ ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯมอบ ‘ภูมิธรรม’ ดูโผโยกย้ายบิ๊กเหล่าทัพ
  • ชี้แก้ รธน. – จริยธรรมนักการเมือง ต้องไปคุยในสภาฯ
  • สั่ง ศปช.หาทางช่วยเหลือ-เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม
  • เล็งจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม 2.3 แสนต่อหลัง
  • ตั้ง “จิรายุ ห่วงทรัพย์” ที่ปรึกษาของนายกฯ
  • ครม.ทุ่ม 3,045 ล้าน เยียวยาน้ำท่วมสูงสุด 9,000 บาท/หลัง
  • จัดงบกลาง 23,552 ล้าน สมทบงบฯปี’67 แจก ‘ เงินหมื่น’
  • ปรับแผนกู้เพิ่ม 1.12 แสนล้าน แจก ‘เงินหมื่น’
  • อนุมัติงบฯ 5,924 ล้าน ยกระดับ ‘บัตรทอง’ รักษาได้ทุกที่
  • ต่ออายุจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอีก 2 ปี
  • อนุมัติเงินทดรองจ่าย 2,000 ล้าน ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ
  • เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก (ครม.) ณ ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นางสาวแพทองธารมอบหมายให้ นาย จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    เคาะแจก ‘เงินหมื่น’ ผู้ถือบัตรคนจน – พิการ 25 ก.ย.นี้

    นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ โดยจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนไม่เกิน 12.4 ล้านราย และคนพิการจำนวนไม่เกิน 2.15 ล้านราย เป็นจำนวน 10,000 บาท/คน จะเริ่มทยอยจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน พ.ศ 2567 เป็นต้นไป โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้เห็นชอบในหลักการและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า รายละเอียดเชิงลึกของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต กระทรวงการคลังจะเป็นผู้แถลง ซึ่งจะแจกเป็นเงินสด แต่เราจะทำเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจในเฟสแรกก่อน ส่วนเฟสต่อไป ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้แถลง และจากตัวเลขที่กระทรวงการคลังเสนอมา กลุ่มเปราะบางกลุ่มแรก จะมีการใช้จ่ายเงินในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ดังนั้น เชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอนในเฟสแรก

    จัดงบกลางช่วยผู้ประสบอุทกภัย 3,045 ล้าน

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ หลักเกณฑ์ การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประจำปีงบประมาณประจำปี 2567 งบกลางเป็นจำนวน 3,045 ล้านบาท โดยให้กระทรวงมหาดไทยเร่งขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบความเหมาะสมกับสถานการณ์และลดขั้นตอนเอกสารที่ต้องยื่นให้การช่วยเหลือต่างๆ ให้การเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว

    โดยนางสาวแพทองธารได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มเติมจากกรณีปกติที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากมีเรื่องใดที่มีความจำเป็นเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงระบบการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

    ตั้ง “ศปช. – คอส.” ติดตามน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า เมื่อวานรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ซึ่งจะมีการเรียกประชุมในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.67) คาดว่าจะมีรายงานออกมาจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศปช. และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ คอส.

    นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหารือถึงมาตรการการระบายน้ำร่วมกันนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศ กำลังจะมีการพูดคุยกับประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ประเทศเมียนมา เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาที่พบเจอเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งประเทศไทยได้เป็นประธานในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงด้วย คิดว่าไทม์ไลน์ก็สามารถเริ่มพูดคุยได้ทันที

    นางสาวแพทองธาร ยังมีข้อสั่งการถึงหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

      1. ขอให้ ศปช.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้และหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นฉุกเฉินให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที
      2. ในคณะ คอส. ให้มีการประชุมติดตามงานเป็นระยะ ๆ จนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ
      3. ขอให้ ศปช. ประเมินสถานการณ์ และกำหนดการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตาม สั่งการ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้ทันที และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
      4. ขอให้สำนักนายกรัฐมนตรีเร่งรัดมาตรการฟื้นฟูเยียวยา โดยกำหนดกรอบระยะเวลาให้ชัดเจน และเสนอ คอส. เพื่อทราบลำดับถัดไป รวมถึงการเยียวยาขอให้ครอบคลุมถึงกลุ่มชาติพันธุ์
      5. เรื่องดินโคลนถล่ม กรมทรัพยากรธรณีต้องมีการชี้จุดที่ชัดเจน และมีการซักซ้อมอย่างจริงจังในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีภัยดังกล่าว
      6. ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการประชาสัมพันธ์การรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบ เพื่อเตรียมการตามที่มีการแจ้งเตือน และขอให้กองทัพร่วมกับกรมอาชีวศึกษาระดมกำลังเข้าไปช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชน รวมถึงอาคารสถานที่ราชการโดยเร็ว

    ชี้แก้ รธน. – มาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ต้องไปคุยในสภาฯ

    นางสาวแพทองธาร ตอบคำถามเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมืองว่า การแก้กฎหมาย เพื่อนักการเมืองโดยเฉพาะ เป็นเรื่องในรัฐสภาที่ต้องพูดคุยกันในรัฐสภา และเป็นเรื่องของที่ต้องพูดคุยกันทั้งหมดดีกว่า

    มอบ ‘ภูมิธรรม’ ดูโผโยกย้ายบิ๊กเหล่าทัพ

    นางสาวแพทองธาร ยังตอบคำถามเรื่อง บัญชีแต่งตั้งนายทหารระดับสูงของทุกเหล่าทัพว่า ตนมอบหมายเรื่องนี้ให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมดูก่อน ส่วนตนเองยังไม่ได้เซ็นอะไร

    สั่ง ศปช.หาทางช่วยเหลือ-เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม

    ภายในวันเดียวกัน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ครั้งที่ 1 / 2567 และกล่าวว่า วันนี้เรียกประชุมด่วนจากที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับรัฐมนตรีหลายท่านที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงรับฟังการรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ต้องขอขอบคุณชาวเชียงราย ที่แม้จะเจออุปสรรคอย่างหนักหน่วงแต่ยังมีรอยยิ้มส่งให้กับผู้ที่ทำงาน รวมถึงรัฐบาล ตนเองขอให้กำลังใจ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย หน่วยงานความมั่นคง รวมถึงจิตอาสาที่เข้าไปช่วยประชาชนโดยไม่ต้องร้องขอ ขณะนี้มีพื้นที่พักพิงชั่วคราวอาหารและน้ำดื่มอย่างครบถ้วน ส่วนมาตรการเยียวยาก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ขอเน้นย้ำตรงนี้

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า การเยียวยาอยากให้เป็นไปอย่างเร่งด่วนและตรงกับจุด อย่างไรก็ตาม การเยียวยาอยากให้ตรงจุดเพราะหลายอย่างถูกตีกรอบการเยียวยา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมากกว่านั้น และยังมีวาระการพูดถึงจำนวนวันที่เสียหาย อยากให้พิจารณาตรงนี้ อย่างที่อำเภอแม่สาย มีอุทกภัย 3 วัน ซึ่งดูน้อย แต่ความเสียหายมากกว่านั้นมาก ฉะนั้น ถ้าเราตัดสินกันที่จำนวนวันจะไม่พอดีกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอันหนักหน่วงตรงนี้ จึงเห็นว่ากรอบการชดเชย ต้องมีการพิจารณาทบทวน โดยอาจใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ เช่น กระแสน้ำที่มาสร้างความเป็นธรรม ซึ่งให้ ศปช. พิจารณา แนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี , สำนักงบประมาณ , สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้ง สำนักนายกรัฐมนตรี รวมพิจารณารายละเอียดด้วย

    นางสาวแพทองธาร กล่าวถึงระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และการซักซ้อม โดยเฉพาะระบบ Cell Broadcast Service (CBS) หรือระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน เพื่อให้การเตือนภัยมีผลดีและถึงประชาชนโดยตรง ซึ่งจะให้คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และศูนย์ปฏิบัติการ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ที่มีนายภูมิธรรม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำงานร่วมกับนายอนุทินฯ นายสุริยะฯ และนายประเสริฐฯ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม เพื่อให้การทำงานช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที

    โดยที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนที่สำคัญ และสถานการณ์การระบายน้ำ รายงานการพยากรณ์และแนวการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงรายงานการพยากรณ์อากาศ และรายงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ซึ่ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสาโหม จะได้เรียกประชุมภายในวันพุธที่ 18 กันยายน 2567

    นอกจากนี้ นางสาวแพทองธาร กล่าว ชื่นชมกองทัพและกำลังพลจากทุกเหล่าทัพ ที่เร่งลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวอำเภอแม่สายและจังหวัดเชียงรายทันทีที่เกิดเหตุวิกฤตน้ำท่วม ตั้งแต่ การช่วยชีวิต การอพยพ การรักษาพยาบาล การจัดตั้งศูนย์พักพิง จัดหาอาหารด้วยโรงครัวเคลื่อนที่ การจัดส่งสินของจำเป็น สร้างความเชื่อมั่น สร้าง กำลังใจต่อประชาชนในพื้นที่ ยืนยันรัฐบาลจะดูแลประชาชนให้ดีที่สุด

    ตั้ง “จิรายุ ห่วงทรัพย์” ที่ปรึกษาของนายกฯ

    ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานว่า “วันนี้ไม่มีเรื่องข้าราชการการเมือง เข้าที่ประชุม ครม. เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้น ตัวอย่างเช่น แบบเสนอการแต่งตั้งสมัยก่อน การตรวจสอบประวัติ 2 – 4 ที่ แต่ปัจจุบันมีการตรวจสอบประวัติถึง 14 แห่ง โดยมีส่วนที่เพิ่มเติมเช่น สำนักงานศาลยุติธรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น กระทั่งคนที่เคยทำงานในองค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ ก็ต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้น”

    “วันนี้จึงยังไม่มีการแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายการเมืองทุกตำแหน่ง มีเพียงตำแหน่งเดียคือตำแหน่งผม ผมพูดในนาม ‘ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี’ จนกว่าจะมีการเข้าที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์ถัดไป” นายจิรายุ กล่าว

    นายจิรายุ เสริมว่า การแต่งตั้งตนในครั้งนี้ได้มีการระบุบทบาทหน้าที่ เช่น การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

    กำชับเกาะติดสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมง

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการเรื่องการตั้งคณะกรรมการอำนวยการอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม หรือ คอส. และมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลืออุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. โดยขอให้ทุกส่วนเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะประชาชนที่ตกค้าง

    อีกทั้งนายกฯ กำชับให้ติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตอนล่าง และภาคอีสานตอนบน เช่นจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียง ที่ยังคงมีสถานการณ์น้ำไหลลงมาในพื้นที่ด้านใน

    เล็งจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม 2.3 แสนต่อหลัง

    นายจิรายุ กล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีการเสนอจากหลายกระทรวง ยอดเสนอประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยนายกฯ ได้กำชับว่า “สมัยก่อนจะต้องนำเอกสารไปเสนอ ต้องมีภาพถ่ายยุ่งวุ่นวายไปหมด คราวนี้จะให้ส่วนราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันภัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงไปดูและสรุปให้รวดเร็ว”

    “บ้านหลังหนึ่ง ถ้าเสียหายเกิน 70% ก็จะสามารถรับเงินเยียวยาได้ 230,000 บาท เป็นอย่างน้อย ยังมีเรื่องการได้รับบาดเจ็บ การเยียวยาผู้เสียชีวิต ถือเป็นแนวทางที่นายก ฯ กำชับว่าจะต้องลดขั้นตอนในเอกสารได้อย่างรวดเร็วขึ้น และต้องรายงานสถานการณ์เพื่อวิเคราะห์ปัญหารายชั่วโมง ถือเป็นการทำงานเชิงรุก” นายจิรายุ กล่าว

    ยันแจก ‘เงินหมื่น’ ซื้ออะไรก็ได้

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เขตปกครองพิเศษ กรุงเทพมหานคร ไปอัพเดทข้อมูลของผู้ที่ได้รับเงินต่างๆ เช่น กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงวัย ผู้พิการ ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ เน้นย้ำเรื่องการลดขั้นตอนต่างๆ เนื่องจากผู้พิการบางกลุ่มอาจไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยให้ผู้ที่ดูแลตามกฎหมายสามารถรับเงินได้

    “นายก ฯกำชับเรื่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ที่ผ่านมาพอได้เงินไปแล้ว 5,000 หรือ 10,000 บาท ไปใช้มีข้อจำกัด แต่ ครม. นัดแรกนี้ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น ท่านสามารถนำเงินที่ได้รับจากโครงการดังกล่าวไปซื้อสิ่งใดก็ได้ในประเทศนี้ ยืนยันชัดเจนว่านายกรัฐมนตรี ลดข้อมูลและขั้นตอนต่างๆ เยอะแยะมากมาย” นายจิรายุ กล่าว

    เตือน ปชช. ระวังแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างแจก ‘เงินหมื่น’

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับว่ารัฐบาลจะไม่มีการโทรไปหาประชาชนสำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

    “วันนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เริ่มโทรไปหาประชาชน โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงาน ขอย้ำว่าวิธีการลงทะเบียนต้องทำด้วยตัวเอง เนื่องจากข้อมูลเป็นความลับ” นายจิรายุ กล่าว

    มอบ ‘สมคิด เชื้อคง’ เจรจาม็อบหน้าทำเนียบ

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้านนอกทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากวันนี้มีการชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ที่ ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เเถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ทุ่ม 3,045 ล้าน เยียวยาน้ำท่วมสูงสุด 9,000 บาท/ครัวเรือน

    วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอ ดังนี้
    1. เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567
    2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน กรณีอุทกภัย จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.52 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยรับงบประมาณและจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน ให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป รวมทั้งให้สามารถถัวจ่ายข้ามจังหวัดได้ โดยรัฐบาลได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเสนอ ขอค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย เป็นกรณีพิเศษ ดังนี้

      1) กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือ ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

      2) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท

      3) กรมีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้เสนอของบประมาณ และกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดังกล่าว

    หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 มีดังนี้
    หลักเกณฑ์

      1. เป็นกรณีอุทกภัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ทั้งกรณีน้ำท่วมโดยฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงการระบายน้ำ จนส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้
      2. เป็นที่อยู่ที่ประสบอุทกภัย ตามข้อ 1 และได้รับผลกระทบกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

        (1) ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย
        (2) ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง เกินกว่า 7 วันขึ้นไป

    เงื่อนไข

      1. ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และ

        (1) มีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และ
        (2) ต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ
        (3) ผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับกรุงเทพมหานคร ต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร

      2. กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว

    ทั้งนี้ ให้จังหวัดที่ประสบภัยเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักเกณฑ์และช่วยเหลือให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
    ประโยชน์และผลกระทบครัวเรือนผู้ประสบภัย จำนวน 338,391 ครัวเรือน ตามข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ/พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลกเพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และเพื่อให้การดำรงชีพของประชาชนเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

    จัดงบกลาง 23,552 ล้าน สมทบงบฯปี’67 แจก ‘ เงินหมื่น’

    เรื่องที่ 2 ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงินไม่เกิน 23,552.40 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
    1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 2,059.54 ล้านบาท โดยจัดสรรให้แก่ สป.กค. สำหรับกองทุนฯ และให้นำเงินที่เหลือดังกล่าวไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ต่อไป
    2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 21,492.86 ล้านบาท โดยจัดสรรให้แก่ สป.กค. และให้นำเงินเหลือจ่ายดังกล่าวส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
    สาระสำคัญ
    กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2567 ให้เป็นรูปธรรม โดยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ประกอบด้วย (1) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ (2) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ ดังนี้
    1. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

    1.1 วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตรฯ) ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) ปี 2565 ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567
    1.2 กลุ่มเป้าหมาย

      1) ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้ว ตามฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง และไม่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
      2) ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
      3) ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ ตามฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา แต่ไม่อยู่ในฐานข้อมูลของ พก. พม.

    ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 จำนวนไม่เกิน 12,405,954 ราย อนึ่ง ไม่รวมถึงผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ที่ พม. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง
    1.3 วิธีดำเนินการ

      1) กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10,000 บาทต่อคน โดยจะเริ่มทยอยจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของกลุ่มเป้าหมาย สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกรณีผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ที่ไม่สามารถผูกพร้อมเพย์ได้ ให้จ่ายเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์ในหนังสือให้ความยินยอมโอนเงินสวัสดิการเข้าบัญชีร่วมกับบุคคลอื่น หรือบุคคลอื่นไว้แล้ว ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง ตามแนวทางการจ่ายเงินของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนฯ)
      2) ในกรณีที่กรมบัญชีกลางจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรกให้ดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

        2.1) ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567
        2.2) ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
        2.3) ครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567

      ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว รัฐจะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ

    1.4 ประโยชน์และผลกระทบ การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรฯ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เนื่องจากผู้มีบัตรฯ ถือเป็น ผู้มีรายได้น้อยที่มี MPC สูงกว่ากลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้จ่ายเงินหมด ทั้งจำนวน ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินโครงการจะส่งผลให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.3 ต่อปีเมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ
    1.5 งบประมาณ วงเงินงบประมาณ รวมจำนวนไม่เกิน 124,059.54 ล้านบาท ประกอบด้วย

      1) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
      2) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 2,059.54 ล้านบาทโดยจัดสรรให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง (สป.กค.) สำหรับกองทุนฯ และให้นำเงินที่เหลือดังกล่าวไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ต่อไป

    2. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ
    2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของคนพิการ ซึ่งเป็นผู้เปราะบางที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็นของคนพิการแต่ละประเภทในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ และกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 ได้อย่างรวดเร็ว
    2.2 กลุ่มเป้าหมาย

      1) คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่ยังไม่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
      2) คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. พม. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
      3) คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. พม. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
      4) คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้ยืนยันตัวตน (e-YC) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ตามฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. พม. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ

    ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 จำนวนไม่เกิน 2,149,286 ราย อนึ่ง ไม่รวมถึงคนพิการที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ซึ่ง พม. แจ้งยืนยันข้อมูลคนพิการดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง
    2.3 วิธีดำเนินการ
    1) กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่านช่องทาง ดังต่อไปนี้

      1.1) ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา
      1.2) บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการกลุ่มดังกล่าว สำหรับคนพิการที่ไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการตามข้อ 1.1

    2) กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10,000 บาทต่อคน โดยจะเริ่มทยอยจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป และในกรณีที่กรมบัญชีกลางจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรกให้ดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

      2.1) ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567
      2.2) ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
      2.3) ครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567
      ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว รัฐจะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ
      2.4 ประโยชน์และผลกระทบ การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคนพิการโดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยที่มี MPC สูง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้จ่ายเงินหมดทั้งจำนวน ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินโครงการจะส่งผลให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.05 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ
      2.5 งบประมาณ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 21,492.86 ล้านบาท โดยจัดสรรให้แก่ สป.กค. และให้นำเงินเหลือจ่ายดังกล่าวส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

    ประโยชน์และผลกระทบ

    โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้มีบัตรฯ จำนวนไม่เกิน 12,405,954 ราย และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ สำหรับคนพิการจำนวนไม่เกิน 2,149,286 ราย โดยได้รับการสนับสนุนเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน รวมเป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่เกิน 14,555,240 ราย จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพให้ผู้มีบัตรฯ และคนพิการสามารถมีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนประมาณ 145,552.40 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.35 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ นอกจากนี้เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น จะช่วยก่อให้เกิดการผลิต การค้าขาย การจ้างงาน และการคมนาคมขนส่งตามมา ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะเอื้อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

    5. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา หรือการสูญเสียรายได้ ประมาณการวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ รวมจำนวนไม่เกิน 145,552.40 ล้านบาท ประกอบด้วย

      5.1 เงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
      5.2 เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 23,552.40 ล้านบาท

  • กลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคน เฮ! ครม.แจกเงินหมื่น 25-30 ก.ย. นี้ ‘ใช้อะไรก็ได้’
  • ปรับแผนกู้เพิ่ม 1.12 แสนล้าน แจก ‘เงินหมื่น’

    เรื่องที่ 3 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ดังนี้
    1. อนุมัติและรับทราบตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ดังนี้

      1.1 อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 3 ได้แก่ แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 112,000 ล้านบาท จากเดิม 1,030,580.71 ล้านบาท เป็น 1,142,580.71 ล้านบาท
      1.2 อนุมัติรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 3 จำนวน 1 รายการ ได้แก่ เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม)
      1.3 รับทราบการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 3 ได้แก่ แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับลดสุทธิ 12,603.87 ล้านบาท จากเดิม 2,042,314,06 ล้านบาท เป็น 2,029,710.19 ล้านบาท

    2. อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการพื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาและการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของการปรับปรุงแผนฯ ปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 3 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณากู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

    ข้อวิเคราะห์

    1. คณะกรรมการฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 เห็นชอบการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 3 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
    1.1 แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 112,000 ล้านบาท จากเดิม 1,030,580.71 ล้านบาท เป็น 1,142,580.71 ล้านบาท โดยเป็นแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล (รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง) ปรับเพิ่ม 112,000 ล้านบาท ดังนี้

    2. แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับลด 12,603.87 ล้านบาท จากเดิม 2,042,314.06 ล้านบาท เป็น 2,029,710.19 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับลดแผนการบริหารหนี้จากเดิม 49,054.00 ล้านบาท เป็น 36,450.13 ล้านบาทดังนี้

    3. แผนการชำระหนี้ คงเดิมที่วงเงิน 454,168.87 ล้านบาท ตามระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะพ.ศ. 2561 ข้อ 15 (3) กำหนดว่า หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแผนฯ ระหว่างปี กรณีโครงการพัฒนาหรือโครงการที่ไม่ได้บรรจุไว้ในแผนฯ ให้เสนอคณะกรรมการฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติคณะกรรมการฯ จึงอนุมัติโครงการพัฒนา โครงการ และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 ครั้งที่ 3 จำนวน 1 รายการ ได้แก่ เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม) ดังนี้

    ทั้งนี้ แผนฯ ในครั้งนี้อยู่ภายในกรอบกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
    1. พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ภายหลังการจัดทำแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุงครั้งที่ 3 ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ดังนี้

    2. พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายใต้กรอบการดำเนินการที่กำหนด ดังนี้

    อนุมัติงบฯ 5,924 ล้าน ยกระดับ ‘บัตรทอง’ รักษาได้ทุกที่

    เรื่องที่ 4 ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จำนวน 5,924.31 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” (นโยบายฯ) ประจำปีงบประมาณ 2567 สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของประชาชนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขได้ทุกที่ทั่วประเทศ ซึ่งนโยบายดังกล่าวประกอบด้วยบริการ ดังนี้

      1. บริการในหน่วยบริการอื่นกรณีที่มีเหตุสมควร (OP Anywhere) : ผู้รับบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลอื่นนอกเหนือจากโรงพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนไว้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

      2. บริการสาธารณสุขในหน่วยนวัตกรรม : ผู้รับบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการด้านสาธารณสุขประเภทอื่นจำนวน 8 ประเภท ได้แก่ ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และคลินิกแพทย์แผนไทย

    ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เริ่มดำเนินนโยบายฯ ในวันที่ 7 มกราคม 2567 ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด (ได้แก่ จังหวัดแพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส) และในปัจจุบันให้บริการครอบคลุมแล้ว 46 จังหวัด โดยในปัจจุบันผู้มีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีจำนวน 43,560,944 ราย

    ต่ออายุจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอีก 2 ปี

    เรื่องที่ 5 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้ 1. ขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไป 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2569 2. แผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ
    สาระสำคัญของเรื่องมีดังนี้

      1. พน. แจ้งว่า การจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 น้ำมันดีเซล หมุนเร็วธรรมดา B10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ตามนัยมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 จะครบกำหนดในวันที่ 24 กันยายน 2567 แต่ พน. เห็นว่ายังคงมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวต่อไป เพื่อเป็นกลไกในการรักษา ระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการสร้างส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อป้องกันผลกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มต่าง ๆ และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตร ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ ตามนัยมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

      2. สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้จัดทำแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ พ.ศ. 2568 – 2569 เพื่อให้การดำเนินงานในการลดการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และเพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพบรรลุตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้

    ทั้งนี้ ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว กบน. จะออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพตามรายละเอียดของแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวต่อไป

    อนุมัติเงินทดรองจ่าย 2,000 ล้าน ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ

    เรื่องที่ 6 ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติเงินงบประมาณรายรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000,000,000.00 บาท เพื่อใช้จ่ายสำหรับงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการ เพื่อช่วยหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

    สำนักงบประมาณได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้กรมบัญชีกลางใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ส่วนราชการมีเงินทดรองราชการหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

    ประโยชน์และผลกระทบ

    เพื่อให้กรมบัญชีกลางมีงบประมาณงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สำหรับชดใช้คืนเงินทดรองราชการฯ ให้แก่ส่วนราชการที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ และส่วนราชการมีวงเงินทดรองราชการหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 17 กันยายน 2567 เพิ่มเติม