ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯยันรัฐบาลบริหารวิกฤติได้ดี “พลังงาน-อาหาร” ไม่ขาด-มติ ครม.จัดงบฯเพิ่มเบี้ยคนชราคนละ 100-250 บาท

นายกฯยันรัฐบาลบริหารวิกฤติได้ดี “พลังงาน-อาหาร” ไม่ขาด-มติ ครม.จัดงบฯเพิ่มเบี้ยคนชราคนละ 100-250 บาท

5 กรกฎาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯยันรัฐบาลบริหารวิกฤติได้ดี “พลังงาน-อาหาร” ไม่ขาดแคลน-เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เบอร์มือถือไม่คุ้นอย่ารับ-มติ ครม.จัดงบกลางเพิ่มเบี้ยคนชราคนละ 100-250 บาท 6 เดือน-ยกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกิจโรงแรมอีก 2 ปี-สั่งเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น คาดทั้งปี 9.3 ล้านคน

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

ตั้ง คกก.ลุยแก้ปัญหา ศก. มั่นใจพลังงาน-อาหารไม่ขาด

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาหลายด้าน รัฐบาลก็เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ รัฐบาลจึงจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา 2 ชุด เพื่อบริหารสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และเร่งรัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

“ผมและครม.เข้าใจความลำบากของประชาชนขอให้พี่น้องมั่นใจว่า ประเทศไทยเรามีแผนยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์ ทั้งระยะสั้น 3 เดือน ระยะกลาง 6 เดือน ระยะยาว 1 ปี เพื่อให้เราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่เกิดการขาดแคลน ทั้งด้านพลังงานและอาหาร” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

แจกเบี้ยผู้สูงอายุคนละ 100-250 บาท

พลเอก ประยุทธ์ รายงานว่า ในที่ประชุมครม.วันนี้ได้อนุมัติการจัดสรรงงบกลางของปี 2565 วงเงิน 8,300 ล้านบาท โดยจ่ายเงินพิเศษแก่ผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 10.9 ล้านคน ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 100-250 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2565

“อาจไม่มากนักในรายบุคคล ถึงแม้ (เงิน) จะน้อย แต่ยามนี้เชื่อว่า มีส่วนช่วยพี่น้องผู้สูงอายุไม่มากก็น้อย รัฐบาลต้องทำเท่าที่เราสามารถทำได้” พลเอกประยุทธ์กล่าว

เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เบอร์มือถือไม่คุ้นอย่ารับ

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ครม.เห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัล ร่วมกับประเทศกัมพูชา แก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ โดยปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนจำนวนมาก โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลและจับกุมส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำให้การปราบปรามมีประสิทธิภาพ

“ทุกคนต้องระมัดระวัง อย่ารับโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย ไม่จำเป็น ก็อย่าไปรับ เพราะจะถูกแอบอ้าง ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันก็ดีกว่า ใครจะเคยโทรศัพท์กับใครพูดกับใคร ก็เมมเบอร์ไว้ ถ้าไม่ได้เมมไว้ ก็ไม่ต้องรับ อย่าไปเชื่อการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ในเมื่อตัวเองไม่ได้มีความผิดอะไรก็ไม่ต้องไปกลัวเขา” พลเอกประยุทธ์กล่าว

ยันรัฐบาลบริหารวิกฤติได้ดี “พลังงาน-อาหาร” ไม่ขาดแคลน

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลรับฟังทุกปัญหาของประชาชน บางอย่างแก้ไขเร่งด่วน บางอย่างต้องนำเข้าสู่กระบวนการ บางอย่างต้องไปดูกฎหมายต่างๆ ถ้ากฎหมายไม่พร้อมจะไม่สามารถทำได้ ต้องไปปรับกฎหมายก่อน ทำให้เกิดความล่าช้า แต่ทั้งนี้รัฐบาลได้อนุมัติไปแล้วหลายโครงการ และประชาชนจำนวนมากได้รับประโยชน์ ส่วนบางโครงการจะเริ่มดำเนินการเร็วๆ นี้

“เราก็ต้องประเมินสถานการณ์ไปด้วยกันว่า วันนี้เราเจอปัญหาแบบนี้ วันหน้าถ้าเราเจอหนักกว่าวันนี้ เราจะทำอย่างไร ตั้งแต่โควิดถึงพลังงาน วันนี้เราบริหารได้ดีพอสมควร พลังงานยังไม่ขาดแคลน ยังมีขายอยู่ แต่ราคามันสูงขึ้น เราคงต้องเตรียมความพร้อมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลก็สามารถบริหารงบประมาณประเทศให้อยู่ในสถานะที่มั่นคง มีเสถียรภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้ไม่ขาดแคลนพลังงานและอาหาร พลเอกประยุทธ์กล่าว

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “เราเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องอาหารคงไม่มีปัญหา แต่จะทำอย่างไรให้ส่งสินค้าไปต่างประเทศได้มากขึ้น และทำผลิตผลทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ผมพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันก็มุ่งหวังว่าทำอย่างไรจะคลี่คลายความโศกเศร้า ความทุกข์ตรมของประชาชนให้ได้มากที่สุด”

สั่งทุกหน่วยเร่งขับเคลื่อน ศก.ฐานราก

ด้าน ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและคำปรารภของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ขอให้ทุกส่วนราชการ รวมถึงกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังาน และสภาพัฒน์ฯ ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ในการประชุม สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการกำหนดแผนงานเชิงยุทธศาสตร์ ตามระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2565) และช่วง 6 เดือน (จนถึงเดือนธันวาคม 2565) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบรับมือเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ทั้งวิกฤตอาหารและพลังงาน ร่วม ทั้งส่งเสริมแนวทางใหม่ๆ โดยเฉพาะการส่งออก

กำชับดูแลเกษตรกรให้ได้ประโยชน์จากมูลค่าส่งออก

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายก ฯ กำชับให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแลห่วงโซ่การส่งออกของภาคการเกษตร และย้ำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 15 เดือนต่อเนื่อง โดย 5 เดือนแรก เพิ่มถึง 11.3% ทำเงินเข้าประเทศถึง 3.16 ล้านล้านบาท

สั่งเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น คาดทั้งปี 9.3 ล้านคน

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายก ฯ สั่งการให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมการรองรับการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น (high season) โดยคาดว่า ทั้งปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวถึง 9.3 ล้านคน ประมาณรายได้จากนักท่องเที่ยวสูงขึ้น 1.27 ล้านล้านบาท และเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ทั้งเรื่องที่พักและราคาตั๋วเครื่องบิน

นอกจากนี้นายกฯ ยังมอบหมายให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ประชาสัมพันธ์มติ ศบค.ในการยกเลิก Thailand Pass สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งความปลอดภัยด้านสาธารณสุขการป้องกัน และลดความเสี่ยง ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในลักษณะคลัสเตอร์

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม ครม.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

จัดงบกลางเพิ่มเบี้ยคนชราคนละ 100-250 บาท 6 เดือน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติวงเงิน 8,382.2 ล้านบาท จ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ จำนวน 10.95 ล้านคน เพื่อบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ เดือนเมษายน – กันยายน 2565 ตามที่มติครม. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 65 อนุมัติหลักการ ให้จ่ายช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ (เฉลี่ยรายละ 100-250 บาท/คน/เดือน ตามช่วงอายุ)

โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ เมษายน – กันยายน 2565 มีสิทธิ 4 กลุ่ม ดังนี้

  • อายุ 60 – 69 ปี ( จำนวน 6.5 ล้านคน) อัตราเงินช่วยเหลือ 100 บาท/คน/เดือน
  • อายุ 70 – 79 ปี (จำนวน 3.0 ล้านคน) อัตราเงินช่วยเหลือ 150 บาท/คน/เดือน
  • อายุ 80 – 89 ปี (จำนวน 1.2 ล้านคน) อัตราเงินช่วยเหลือ 200 บาท/คน/เดือน
  • อายุ 90 ปี ขึ้นไป (จำนวน 1.9 แสนคน) อัตราเงินช่วยเหลือ 250 บาทต่อคนต่อเดือน

ปัจจุบัน ได้รับการยืนยันข้อมูล จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา พบว่ามีผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมายจำนวน 10,946, 646 คน เพิ่มขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 จำนวน 50,202 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ลงทะเบียนของกลุ่มผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยสูงอายุ ที่นับรวมผู้สูงอายุที่จะครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปี 2565 วงเงินงบประมาณจำนวน 8,382.2 ล้านบาท

สำหรับแผนการจ่ายเงินครั้งแรก กำหนดงวดที่หนึ่ง ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นี้ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษครั้งเดียวสำหรับ 4 เดือน (เมษายน-กรกฎาคม 2565) ครั้งที่สอง 19 สิงหาคม 2565 สำหรับเดือนสิงหาคม และครั้งที่สาม 19 กันยายน สำหรับเดือนกันยายน 2565 โดยวิธีการดำเนินการการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ จะดำเนินการทั้งในรูปแบบการจ่ายเข้าบัญชีธนาคาร โดยกรมบัญชีกลาง และการจ่ายเงินสดให้กับผู้สูงอายุ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา

ยกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกิจโรงแรม 2 ปี

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. โดยสาระสำคัญ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมปีละ 40 บาท/ห้องพัก เป็นเวลา 2 ปีตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 65 – 30 มิถุนายน 2567 จากที่กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2563 จะสิ้นสุดผลใช้บังคับในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปัจจุบัน จะมีมาตรการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมหลายอย่างให้สามารถบริการได้แต่เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจต้องใช้ระยะเวลาไปอีกระยะหนึ่ง และแม้ว่ามาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้เฉลี่ยประมาณปีละ 24,893,080 บาท แต่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมจะที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมคิดเป็นเงินจำนวน 47,354,200 บาท เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19

ผ่านแผนป้องกันสาธารณภัย ชูแนวคิด “ลดภัยเก่า ป้องกันภัยใหม่”

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ภายใต้แนวคิดการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบอัจฉริยะ (Resilience by Smart DRM for 3s) โดยมีเป้าหมาย ลดความเสี่ยงที่มีอยู่เดิมและป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงใหม่ และประยุกต์ใช้งานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี และภูมิปัญญา เพื่อให้ทุกภาคส่วนรู้เท่าทันการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย

แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 จะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

    ยุทธศาสตร์ที่ 1 การมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยลดความเปราะบางและความล่อแหลม พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการเตรียมพร้อมรับกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้น
    ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านสาธารณภัย เสริมสร้างระบบบริหารจัดการ การวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีและภูมิปัญญา ใช้เพิ่มศักยภาพในการป้องกันและจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย
    ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนัก และเข้าร่วมความเป็นหุ้นส่วนในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยในระดับชาติและนานาชาติ
    ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการในภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการ เป็นการกำหนดแนวทางของการจัดตั้งองค์กรปฏิบัติในการจัดการภาวะฉุกเฉินและแนวทางปฏิบัติในการสนับสนุนการปฏิบัติงาน และ
    ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เป็นการดำเนินงานภายหลังเกิดภาวะฉุกเฉินเพื่อให้ชุมชนหรือสังคมสามารถฟื้นฟูกลับมาได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวง กรม องค์กรและหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ถือปฏิบัติตามแผนการป้องกันฯ นี้ ด้วย

จัดงบฯ 309 ล้าน เร่งส่งออกน้ำมันปาล์ม อุ้มราคาขายใน ปท.

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2565 ภายใต้เงื่อนไขระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก โดยอนุมัติวงเงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 309 ล้านบาท เพื่อลดปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินในประเทศให้เข้าสู่ระดับสมดุล และยกระดับราคาผลปาล์มทะลายที่เกษตรกรขายได้ให้สูงขึ้น รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ

สาระสำคัญ โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2565 สนับสนุนค่าบริหารจัดการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil :CPO) ปริมาณเป้าหมาย 150,000 ตัน ระยะเวลาการส่งออกภายในเดือนกันยายน 2565 ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ ผู้ค้าผู้จัดเก็บ หรือผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มหรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม โดยจะสนับสนุนค่าบริหารจัดการสำหรับการส่งออก ในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาท เช่น ค่าขนส่ง ค่าคลังจัดเก็บ ค่าปรับปรุงคุณภาพ ค่าเอกสารและค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น ระยะเวลาการส่งออก ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจนถึงเดือนกันยายน 2565 และระยะเวลาโครงการตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจนถึงเดือนธันวาคม 2565

วงเงินทั้งสิ้น 309 ล้านบาท โดยเป็นค่าบริหารจัดการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบให้ผู้ส่งออก 300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการในส่วนราชการอีก 9 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขต่อเมื่อระดับสต๊อก น้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตันและราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวนี้ เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพตลาดปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มภายในประเทศในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รวมทั้งสอดรับกับความต้องการการใช้น้ำมันปาล์มจากภาพพลังงานภายในประเทศที่ลดลง จากมาตรการปรับลดสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล รวมทั้งระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ 300,000 ตัน คิดเป็น 1.5 เท่าของความต้องการใช้ภายในประเทศต่อเดือน ซึ่งถือเป็นระดับสต๊อกที่ปลอดภัย (Safety Stock) มั่นใจได้ว่า จะไม่ส่งผลให้เกิดขาดแคลนภายในประเทศ แต่จะช่วยป้องกันและบรรเทาสถานการณ์น้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมันล้นตลาด ลดความผันผวนในตลาดหากมีการปฏิเสธการซื้อปาล์มน้ำมันจากเกษตรกร รวมทั้งสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการระบายผลผลิตส่วนเกินออกนอกประเทศด้วย

เห็นชอบแนวทางบริหารแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีเห็นชอบ แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศ ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเห็นร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน จำนวน 15 ฉบับ

โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    1.เห็นชอบให้ กลุ่มคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มมติ ครม. 29 ธันวาคม 2563 มติ ครม. 13 กรกฎาคม 2564 มติ ครม. 28 กันยายน 2564 จำนวนประมาณ 1,690,000 คน อยู่และทำงานได้ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ 2568
    2.เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยหากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับทราบ ข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการว่ายังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน

สำหรับแนวทางการดำเนินการของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้อง หรือ แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 จะแบ่ง เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่รับการตรวจลงตรา หรือ ตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการ ตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้อีก 2 ปี (13 กุมภาพันธ์ 2568) โดย ครม. เห็นชอบให้ ขยายระยะเวลาการตรวจลงตราจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 (จากเดิมวันที่ 1 สิงหาคม 2565) และ 2) กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียน จะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

ในส่วนการบริหารจัดการคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name list) ต่อกรมการจัดหางาน จากนั้นจะต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 60 วัน หลังยื่น Name List และชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท ให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขอดังกล่าวคู่กับใบเสร็จรับเงินเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งหลังดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นจะทำงานและอยู่ได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้การดำเนินการของคนทั้ง 2 กลุ่มจะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังจากประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว

จับมือกัมพูชาปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam

เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศ ได้ใช้มาตรการทีเหมาะสมและมีความสอดคล้องกับกฎหมายภายในของทั้ง 2 ประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับปราบปรามผู้กระทำผิด ตลอดจนการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งไทยและกัมพูชา เพื่อผลักดันมาตรการต่างๆ ร่วมกัน เน้นย้ำนโยบายที่รัฐบาลถือว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นเร่งด่วน เนื่องจากมีประชาชนชาวไทยได้รับผลกระทบและเสียหายจากการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ในลักษณะดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของความตกลงระหว่างไทยและกัมพูชา จะมีกิจกรรมที่ผ่านการตัดสินใจร่วมกัน ดังนี้

    1) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam ภายใต้ระบบและกรอบการทำงานที่ดำเนินงานร่วมกัน อาทิ กลไกสนับสุนทีนส่งเสริมส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดน
    2) แต่งตั้งผู้ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสืบหาหลักฐานในไทย และกัมพูชา และขยายการสืบสวนเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดโดยหลักฐานดังกล่าวอาจจะรวมถึงข้อมูลที่อยู่ผู้ใช้บริการการสื่อสารทางเสียงผ่านอินเตอร์เน็ต และบันทึกการใช้โทรศัพท์ของผู้กระทำความผิดที่ได้กระทำระหว่างก่ออาชญากรรมทั้ง 2 ประเทศ
    3) ประสานงานและอำนวยความสะดวกในกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการส่งผู้รายข้ามแดน รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศของผู้เข้าร่วมทั้ง 2 ฝ่าย
    4) ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของทั้งไทยและกัมพูชา และ
    5) ความร่วมมืออื่นๆ ตามที่ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจที่ทำร่วมกันนี้จะมีผลบังคับเป็นเวลา 3 ปีนับแต่วันลงนาม และอาจขยายระยะเวลาบังคับได้อีก 3 ปี ด้วยการจัดทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งการลงนามจะมีขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่กัมพูชา ในโอกาสที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเดินทางไปเยือนกัมพูชา เพื่อติดตามาประเด็นการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam

ไฟเขียวไทยเข้าร่วมสมาชิก “The Asia Initiative” แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการ The Asia Initiative โครงการที่ก่อตั้งขึ้นโดย Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes หรือ Global Forum ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD

สาระสำคัญของโครงการ The Asia Initiative จะเป็นการดำเนินตามมาตรฐานสากลด้านความโปร่งใสทางภาษี เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาหลบเลี่ยงภาษีและทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ผ่านความร่วมมือระหว่างสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย ทั้งในส่วนของการกำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างความโปร่งใสทางภาษี การร่วมกันจัดกิจกรรมพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยจัดเก็บภาษีในเอเชีย การใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคี (Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters :MAC) ของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ โครงการ The Asia Initiative จะมีระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ 2565-2569 โดย Global Forum ได้เชิญประเทศสมาชิกในเอเชียรวมถึงประเทศไทยเข้าร่วมโครงการนี้ โดยประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ คือการได้ยกระดับการดำเนินการด้านแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งส่วนของแบบร้องขอ ข้อมูลการเงินแบบอัตโนมัติ เพื่อเป็นเครื่องมือบริหารจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงจุดยืนประเทศไทยในการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศตามมาตราฐานสากล รวมถึงได้ศึกษานโยบายและมาตรการบริหารการจัดเก็บภาษี การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย

รับทราบข้อเสนอกฤษฎีกา ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหากำไร

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือ กำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …. และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วมีผลสรุปในภาพรวมว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว โดยที่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอครม.ต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่สำคัญเช่น การดำเนินมาตรการของรัฐต่อองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ควรเน้นที่การส่งเสริมสนับสนุนและการพัฒนามากกว่าการควบคุมกำกับ นอกจากนี้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯมีเจตนารมณ์ในการควบคุมกำกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน อาจก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการรวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์และกระทบต่อการร่วมมือกับรัฐในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ต้องปฏิบัติซ้ำซ้อนกับที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วตามกฎหมายอื่นอาจเป็นการมีกฎหมายเกินความจำเป็นและเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน

ปรับโครงสร้าง “กองทัพอากาศ” ดูแลความมั่นคงทาง “อวกาศ-ไซเบอร์”

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพอากาศ กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและภารกิจของส่วนราชการกองทัพอากาศ โดยในส่วนของกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ เปลี่ยนชื่อเป็น กองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ และได้แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ เพื่อให้ครอบคลุมการปฏิบัติการทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ทางอากาศ ทางอวกาศ และ ทางไซเบอร์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ในการปรับปรุงโครงสร้างและภารกิจของกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ เปลี่ยนชื่อมาเป็น กองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ นอกจากจะเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการบัญชาการและควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ทางอวกาศ และทางไซเบอร์ เพื่อรองรับภารกิจการปฏิบัติการทางทหารทั้งการรบและไม่ใช่การรบแล้ว ยังสามารถสนับสนุนภารกิจอื่นของรัฐในการพัฒนาประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติและการช่วยเหลือประชาชน และยังสามารถรองรับการปฏิบัติการของอากาศยานรบ ยุคที่ 5 ที่วางแผนจะจัดหาในอนาคต และเป็นการสร้างสมดุลของระบบเตรียมกำลังและระบบการใช้กำลังกองทัพอากาศ ส่งผลดีต่อการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของเหล่าทัพและกองทัพไทย

สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างและการจัดอัตรากำลังพลนั้น ให้กระทรวงกลาโหมยึดถือหลักการ ปรับเกลี่ยและจัดกลุ่มงานใหม่ ของหน่วยงานที่มีความจำเป็นลดน้อยลงแล้วเพิ่มให้กับหน่วยงานที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถ โดยปรับเกลี่ยอัตรากำลังพลภายในตรงตามชั้นยศ ไม่ทำให้อัตรากำลังพล ยอดอัตรากำลังพลแต่ละชั้นยศ และงบประมาณรายจ่ายกำลังพลภาครัฐทุกประเภทเพิ่มขึ้น

โอนรายได้ FIDF ชดเชยความเสียหายในอดีตเพิ่มอีก 4 พันล้าน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้โอนเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าบัญชีสะสม เพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในปีงบประมาณ 2565 เพิ่มเติม จำนวน 4,031 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ.2545 (FIDF 3)ในปีงบประมาณ 2565 รวมจำนวนทั้งสิ้น 6,531 ล้านบาท

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ครม.เคยมีมติอนุมัติให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนฯเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF 1และ FIDF 3 มาแล้วรวม 19 ครั้ง วงเงินรวมทั้งสิ้น 236,887 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังรายงานว่า ในเดือนพฤษภาคม 2565 กองทุนฯ ได้รับเงินปันผลจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) รวมจำนวน 4,031 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการจัดการกองทุนมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ให้เสนอครม.อนุมัติให้โอนเงินกองทุนดังกล่าว เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF 1 และ FIDF 3 สำหรับปีงบประมาณ 2565 เพิ่มเติมทั้งจำนวน โดยในปีงบประมาณ2565 จะมีเงินกองทุนที่นำส่งเข้าบัญชีสะสมฯ เพื่อชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF 1 และFIDF 3 รวมจำนวนทั้งสิ้น 6,531 ล้านบาท

สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มียอดหนี้ต้นเงินกู้ FIDF 1 และ FIDF 3 ดังนี้ ยอดรวมต้นเงินกู้ที่รับมาดำเนินการตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 จำนวน 1,138,305 ล้านบาท มียอดชำระหนี้สะสมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555-เมษายน 2565 รวม 775,298 ล้านบาท เป็นการชำระหนี้เงินต้นจำนวน 438,954 ล้านบาท และดอกเบี้ย จำนวน 336,331 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการจำนวน 12 ล้านบาท โดยมียอดหนี้คงค้าง ณ เดือนเมษายน

ผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดทำประมวล กม. ให้ ปชช.เข้าถึงสะดวก

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยสะดวก พ.ศ…..โดยมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมกฎหมายและกฎในเรื่องเดียวกัน เกี่ยวข้อง หรือ เกี่ยวเนื่องกันเข้าไว้ด้วยกัน จัดทำหมวดหมู่บทบัญญัติให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล โดยไม่มีการแก้ไขหลักการ เนื้อความ หรือสาระสำคัญเดิม และใช้บังคับแทนกฎหมายและกฎที่นำมารวบรวมนั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายรวม 3 คณะ ดังนี้

    1) คณะกรรมการนโยบายการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำแผนงานหรือโครงการเกี่ยวกับการรวบรวมกฎหมายและการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและขอบเขตของเนื้อหาในการรวมรวม ตลอดจนพิจารณาเห็นชอบร่างประมวลกฎหมายและกฎที่ดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อนำเสนอต่อ ครม.
    2) คณะกรรมการรวบรวมกฎหมายคณะหนึ่งหรือหลายคณะ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ แต่งตั้ง มีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายหรือกฎที่เป็นเรื่องเดียวกัน เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกันเพื่อดำเนินการรวบรวมไว้ในแหล่งเดียวกัน
    3) คณะกรรมการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎคณะหนึ่ง หรือ หลายคณะ ซึ่งคณะกรรมการนโยบาย ฯ แต่งตั้ง มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตเนื้อหาของประมวลกฎหมาย และกฎเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และจัดทำประมวลกฎหมายและกฎตามขอบเขตเนื้อหาที่คณะกรรมการเห็นชอบ

สำหรับขั้นตอนดำเนินการ เมื่อคณะกรรมการนโยบายเห็นชอบกับร่างประมวลกฎหมายและกฎดังกล่าวให้เสนอร่างพระราชกฤฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ แล้วจึงเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายและกฎต่อไป และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ โดยมีผลเป็นการยกเลิกบทบัญญัติของกฎหมายและกฎที่นำมารวบรวมในประมวลกฎหมายและกฎนั้น

ตั้ง “เกชา ศักดิ์สมบูรณ์” เป็นผู้ช่วย รมต.

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง] กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาโรคไม่ติดต่อ) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอการแต่งตั้ง นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เพิ่มเติม

ป้ายคำ :