1721955
มาหมาด ๆ เพิ่งออนแอร์ไป 2 อีพี Romance in the House ซีรีส์ล่าสุดของ จิจินฮี ที่บ้านเราน่าจะคุ้นหน้าเขาจากบทพระเอกซีรีส์สุดคลาสสิก แดจังกึม หรือ A Jewel in the Palace (2003) เมื่อสิบปีก่อน แต่คราวนี้เขามารับบทพ่อ พยอนมูจิน จอมไม่เอาไหนผู้คอยแต่จะทำให้ครอบครัวมีอันวายวอดด้วยความเจ้าโปรเจกต์ แต่ไม่เคยมีกิจการใดรอดเลยสักอย่าง แถมยังไปเป็นหนี้นอกระบบจนเดือดร้อนมาถึงครอบครัวอันเป็นเหตุให้เมียขอหย่า ลูกสาวเฉดหัวส่ง ก่อนจะหายหัวไปจากครอบครัวนี้นานถึง 11 ปีจนคิดว่าเขาตายไปแล้ว
ตัดมาปัจจุบันเมื่อนางเอก พยอนมีแร (ซอนนาอึน จาก Agency-2023, Ghost Doctor-2022) ลูกสาวคนโตของบ้านที่พยายามทุกอย่างเพื่อจะเป็นเสาหลักของบ้านแทนพ่อ ตอนนี้เธอเป็นกรรมการผู้จัดการในมาร์ทใหญ่แห่งหนึ่ง ส่วนแม่ กึมแอยอน (คิมจีซู จาก High Class-2021, A Korean Odyssey-2018) ก็ทำงานพาร์ทไทม์ในมาร์ทเดียวกันกับลูกสาว ส่วนลูกชายคนเล็กก็ได้เลือดพ่อมาเต็ม ๆ คือไม่เอาไหนพอกัน พยอนฮยอนแจ แสดงโดย ยุนซานฮา สมาชิกวงบอยแบนด์ Astro ซึ่งเคยเป็นตัวประกอบซีรีส์ Crazy Love (2022) แต่ปลายปีนี้เขาจะขึ้นแท่นเป็นพระเอกครั้งแรกใน My Girlfriend is a Tough Guy
ส่วนพระเอกของเรื่องคือ นัมแทพยอง (ชเวมินโฮ แห่งวงเคป๊อป SHINee เขาเคยแสดงใน The Fabulous-2022, 18 Again-2017) รปภ.ในมาร์ทที่นางเอกทำงานอยู่ อดีตเทควันโดทีมชาติ ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาเป็นลูกชายคนเดียวของเจ้าของมาร์ทที่นางเอกและแม่ทำงานอยู่นั่นแหละ พล็อตฟังดูน้ำเน่าเนาะ เพราะเขาจงใจให้มันเมโลดราม่าตามชื่อเกาหลีที่มีความหมายว่า ครอบครัวXเมโล และยิ่งเมโลดราม่าไปกันใหญ่เมื่อ พยอนมูจิน พ่อที่หายไป 11 ปีจู่ ๆ ก็กลับมาในคืนพิธีรำลึกการตายของตัวเขาเอง แถมร่ำรวยเป็นเศรษฐีพันล้าน แล้วยังจะเป็นเจ้าของตึกคนใหม่ที่ครอบครัวนางเอกอาศัยอยู่ไปอีก
โครงเรื่องหลักจึงมาถึงจุดที่ พยอนมูจิน จีบเมียตัวเองอีกครั้งเพื่อกลับมาเป็นครอบครัวเหมือนเดิม แต่ฝ่าย พยอนมีแร ผู้เป็นลูกสาวของทั้งคู่กลับรั้นหัวชนฝาเบอร์แรงมาก เนื่องจากประสบการณ์ในอดีตที่พ่อเคยทำเอาไว้มันพังยับมาก เธอจึงพยายามอย่างหนักที่จะลากแม่ออกไปจากตึกหลังนี้เพื่อหาที่อยู่ใหม่ แต่ชีวิตจริงคือการหาบ้านใหม่ในโซลเป็นเรื่องหฤโหดอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อันเป็นประเด็นที่เราอยากจะเล่าสู่ให้ฟังว่ามันหฤโหดกันเบอร์ไหน
แพงหฤโหดเกินเอื้อมถึง
นี่คือโจทย์สำคัญแรก ๆ สำหรับรัฐบาลของนายยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน เมื่อมีการสำรวจว่าปัญหาอะไรในโซลที่อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขก็พบว่ากว่า 63% ตอบว่า “ที่อยู่อาศัย” ที่ราคาพุ่งแรงไปเกินเบอร์มาก
โดยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง สถาบันวิจัยแรงงานแห่งสมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (Korean Confederation of Trade Unions) ได้เปิดเผยผลสำรวจช็อคโลกล่าสุดว่า “หากคนวัยทำงานในช่วงอายุ 20-29 ปีจะใช้เงินเดือนของพวกเขาเพื่อซื้ออพาร์ตเมนต์ในโซล พวกเขาต้องใช้เวลานานถึง 86.4 ปี” อันแปลว่านานกว่าช่วงชีวิตของคนเรา และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสะสมเงินเดือนทั้งหมดโดยไม่ต้องใช้จ่ายอย่างอื่นเลย เรียกได้ว่าอาจต้องเก็บเงินไปจนแก่ตายไปถึงชาติหน้า(ถ้ามีจริง)
แล้วเพื่อที่เราจะเห็นภาพได้ชัดขึ้นถึงราคามหาโหดของที่อยู่อาศัยในเกาหลี เราอาจต้องเทียบกับราคาในเมืองไทย ซึ่งเว็บ Gen C Blog ระบุว่า ‘คอนโดระดับหรูทั่วไปในกรุงเทพ มีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ 200,000-300,000 บาท ต่อตารางเมตร หรือราคาโดยรวมแล้วเริ่มต้น 8 ล้านบาท คอนโดเหล่านี้มักตั้งอยู่ในย่านสำคัญ เช่น สาทร สุขุมวิท ทองหล่อ และตกแต่งอย่างหรูหรา ด้วยวัสดุระดับพรีเมียมและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันมาก’
ขณะที่หนังสือพิมพ์ The Chosun Daily ระบุถึงขนาดคอนโดทั่วไปในโซลว่า ‘โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีพื้นที่ 82 ตารางเมตร’ ส่วนแอปท่องเที่ยวเกาหลีครบวงจร Creatrip สาธยายเกี่ยวกับราคาที่อยู่อาศัยในเกาหลีให้ฟังว่า ‘ราคาจะขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้ง จากการวิเคราะห์ราคาซื้อขายอพาร์ตเมนท์ 183 แห่งในเกาหลีใต้เมื่อปี 2020 โดยแอปอสังหาริมทรัพย์ “จิกบัง” พบว่าราคาที่อยู่อาศัยที่แพงที่สุดอยู่ในย่านอับกูจองแหล่งชอปปิ้งแถวกังนัมคือเกือบ 3 พันล้านวอน (ราว 80 ล้านบาท หรือแพงกว่าสิบเท่าของคอนโดหรูกลางเมืองในไทย)
ส่วนราคาเฉลี่ยในโซลโดยทั่วไปจะสูงกว่า 2 พันล้านวอน (คือสูงกว่า 54 ล้านบาทหรือเกือบเจ็ดเท่าของคอนโดหรูในไทย) เช่น ย่านบันโพ 2,626 ล้านวอน, ย่านยงซาน 2,239 ล้านวอน, ย่านแดชินดง 2,26.32 ล้านวอน, ย่านยงซาน 2,187.6 ล้านวอน, ย่านโดกุก 2,1109 ล้านวอน และย่านซอโช 2,026.13 ล้านวอน’
ส่วนราคาในย่านขอบเมืองหรือห่างออกไปจากตัวเมือง จนถึงจังหวัดใกล้เคียงก็อาจจะราคาต่ำกว่านั้น แต่ก็ยังสูงเกินเอื้อมอยู่ดี ซึ่งมีทั้งหมด 113 แห่ง มี 97 แห่งในโซลและอีก 15 แห่งในจังหวัดคยองกีและอินชอน ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่สูงกว่า 1 พันล้านวอน (คือสูงกว่า 27 ล้านบาทหรือมากกว่าของไทยกว่าสามเท่า)
อย่างไรก็ตามใน 113 แห่งนี้ยังมีอยู่อีกย่านหนึ่งในโซลที่ราคาต่ำกว่าพันล้านวอน และเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในโซล ก็คือเขตโดบงที่อยู่ไกลสุดกู่จากใจกลางโซลมาก เดินทางลำบาก ราคาต่ำที่สุดอยู่ที่ 455.79 ล้านวอน (ราว 12 ล้านบาทซึ่งก็ยังแพงกว่าราคาคอนโดหรูกลางเมืองในไทยอยู่ดี)
ล่าสุดในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วสำนักสถิติเกาหลียังมีรายงานเพิ่มด้วยว่า “รายได้ครัวเรือนหลังหักภาษีในเกาหลีใต้ตกวูบเป็นประวัติการณ์ คือลดลงร้อยละ 5.9 ทำให้ค่าเฉลี่ยของรายได้ครัวเรือนต่อเดือนในตอนนี้อยู่ที่ 4.79 ล้านวอน (ราวแสนสองหมื่นบาท) ขณะที่การใช้จ่ายรายเดือนของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 หรือ 3.65 ล้านวอน (ราว 9 หมื่นบาท)”
กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา The Korea Times ระบุว่า ‘จำนวนประชากรสุทธิของกรุงโซลลดลง 861,000 คนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงในเมืองหลวง ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักสถิติแห่งชาติเกาหลี จำนวนผู้คนที่ย้ายออกจากกรุงโซลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไหลออกไปยังเมืองหรือจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งปูซาน อินชอน และคยองกี อยู่ที่ประมาณ 5.47 ล้านคน ในขณะที่จำนวนผู้คนที่ย้ายเข้ามาในเมืองหลวงมีจำนวน 4.61 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน กรุงโซลจึงต้องเผชิญกับการไหลออกสุทธิประมาณ 861,000 คนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา’
รูปแบบที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ในโซล
โกชิวอน 고시원 เป็นห้องขนาดเล็กมากเท่ารูหนู สำหรับนักศึกษาหรือแรงงานแบบให้เช่ารายเดือน มีทั้งแบบห้องอาบน้ำรวมและแบบมีห้องน้ำในตัว ซึ่งขนาดพอจะอาศัยได้แค่คนเดียว โดยเฉพาะถ้ามีห้องน้ำในตัวก็ยิ่งจะทำให้พื้นที่แคบลงและมีกลิ่นอับชื้น ส่วนใหญ่นักศึกษาจากต่างจังหวัดจะนิยมกัน มักจะอยู่ใจกลางเมืองหรือใกล้มหาวิทยาลัยแสะสถานีรถไฟ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่บนอาคารชั้น 4 หรือชั้น 5 ส่วนชั้นแรก ๆ มักจะเป็นอพาร์ตเมนต์หรือออฟฟิศธุรกิจแบ่งเช่าอื่น ๆ ส่วนราคาจะอยู่ราว สองแสน-หกแสนวอน (ห้าพัน-หมื่นห้าพันบาท) ขึ้นอยู่กับมีหน้าต่าง หรือไม่มีหน้าต่าง แบบพัดลม หรือแอร์
ฮาซุกจิป 하숙집 จริง ๆ แล้วคล้ายกับโกชิวอน เพียงแต่จะมีห้องครัวในพื้นที่ส่วนกลาง และมักเป็นแบบห้องน้ำรวม ความแตกต่างกันคือแบบฮาซุกจิปคุณจะได้รับอาหารสองมื้อต่อวัน ในมื้อเช้ากับมื้อเย็น โดยมีผู้ดูแลเป็นอาจุมม่าที่อาศัยอยู่ในอาคารเดียวกันหรือละแวกใกล้เคียง นางจะเป็นผู้ปรุงอาหารให้กับผู้พักอาศัย บางแห่งอาจจะซักผ้าให้คุณด้วย ความที่กิจการแบบนี้ดำเนินการโดยอาจุมม่าซึ่งพวกเธออาจจะไม่เก่งเรื่องการโปรโมทในเนต ส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเสิร์ชเจอได้ในเนต ดังนั้นคุณจึงต้องลงพื้นที่ไปหาเอาเอง ใครที่เคยดูซีรีส์ที่สร้างจากเว็บตูนสุดระทึกขวัญเรื่อง Strangers From Hell (2019) ที่มีแต่คนประหลาด ๆ มาอาศัยรวมกันในแหล่งอาชญากรรมชุกชุม นั่นแหละห้องเช่าแบบฮาซุกจิป
One Room
ในที่นี้หมายถึงมีพื้นที่ทุกอย่างภายในห้องเดียว คือมีห้องครัว ห้องน้ำ และห้องนอนภายในห้องเดียวกัน ขนาดเล็กหรือใหญ่โตก็จะมีราคาแพงถูกแตกต่างกันไป
Two Room
ส่วนห้องแบบ Two Room ก็คือห้องที่มีการแบ่งพื้นที่ระหว่างห้องนั่งเล่นกับห้องนอน คือไม่ว่าในบ้านนั้นจะมีห้องนอนห้องเดียว หรือสองห้องก็ตาม ถ้ามันแบ่งพื้นที่ระหว่างห้องนอนกับห้องนั่งเล่นได้ก็ถือเป็น Two Room
OfficeTel
ส่วนที่กำลังเป็นที่นิยมในโซลอย่างมากก็คือห้องแบบออฟฟิศเทล ก็คือมีพื้นที่กว้างขึ้น ให้ผู้คนสามารถเข้ามาทำงานร่วมกัน หรือทำงานเองคนเดียว และยังมีพื้นที่สำหรับหลับนอนได้ด้วย เป็นทั้งออฟฟิศและโฮเทล มันจึงถูกเรียกว่าออฟฟิศเทลนั่นเอง
ห้องดาดฟ้า 옥탑방
อกตั๊ปบัง หรือห้องบนชั้นดาดฟ้า คือห้องเก็บของบนชั้นดาดฟ้าของบ้านแบบแบ่งเช่าซึ่งจะมีราคาถูกกว่าชั้นอื่น ๆ และมันถูกโรแมนติไซส์อย่างยิ่งในซีรีส์เกาหลีหลายเรื่อง ด้วยความที่มันอาจจะมีพื้นที่หน้าห้องไว้นั่งเล่น หรือดูดาวก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วที่มันถูกกว่าชั้นอื่น ๆ ก็เพราะนอกจากต้องเดินขึ้นลงเหนื่อยกว่าแล้ว มันยังร้อนตับแล่บอีกต่างหาก ไหนจะฝุ่นควันพิษใดใดอีก
บ้านกึ่งใต้ดิน반지하
บ้านกึ่งชั้นใต้ดิน หรือ พันจินฮา คำนี้มีความหมายว่า “ต่ำกว่าฝน” แปลว่าฝนตกเมื่อไหร่ก็น้ำท่วมวอดเมื่อนั้น ไหนจะควันพิษจากรถตามถนนอีก อย่างที่เราน่าจะเคยเห็นกันในหนังคานส์ออสการ์ Parasite (2019) เป็นบ้านที่มีครึ่งหนึ่งอยู่ใต้ดิน แล้วด้วยความที่สภาพมันค่อนข้างจะแออัด ทำให้มันมีราคาถูกกว่าห้องเช่าในชั้นอื่น ๆ
ทำให้ต่อมาในปี 1970 รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.อาคารและสร้างกฎระเบียบใหม่โดยกำหนดว่า “ในเมืองที่มีประชากรสองแสนคนขึ้นไป จะต้องสร้างชั้นใต้ดินที่มีพื้นที่รวมอย่างน้อย 200 ตารางเมตร” ดังนั้นอาคารส่วนใหญ่จึงมีชั้นใต้ดินเพื่อใช้หลบภัย ในยามสงคราม หรือให้ทหารแทรกซึมเข้าไปปฏิบัติการแทนสนามเพลาะ
ปัจจุบันเมื่อไม่มีภัยสงครามแล้ว ในอาคารใหญ่จึงถูกเปลี่ยนเป็นลานจอดรถ ส่วนอาคารบ้านอาศัยของผู้คนทั่วไปที่มองว่าปล่อยว่างไว้ก็จะเสียเปล่าจึงปรับเปลี่ยนเป็นห้องว่างให้เช่า อย่างไรก็ตามเดิมทีห้องเหล่านี้เป็นห้องที่อยู่ใต้ดินจริง ๆ ทว่าเมื่อมีการไหลบ่าของแรงงานเข้ามาในโซล ช่วงปี 1984 จึงมีการแก้กฎหมายให้ยกพื้นชั้นใต้ดินขึ้นมาให้มีความสูงของห้องครึ่งหนึ่งต้องอยู่เหนือพ้นจากพื้นถนน (ทำให้ความสูงของห้องลดลงด้วย) และต้องมีหน้าต่างเพื่อให้เกิดแสงและระบายอากาศ ในอีกด้านหนึ่งบ้านแบบให้แบ่งเช่าโดยทั่วไปตามกฎหมายแล้วสามารถมีได้เพียง 4 ชั้นเท่านั้น การซอยชั้นกึ่งใต้ดินแบบนี้จึงทำให้เจ้าของอาคารมีพื้นที่ให้เช่ามากขึ้นด้วย]
ระบบการจ่ายเงินค่าเช่า
วอลเซ 월세 คือระบบการจ่ายเงินค่าเช่าที่พักอาศัยรายเดือนที่ใช้กันอยู่ทั่วไปทั่วโลก
ชอนเซ 전세 มีความหมายว่า “เช่าเหมา” เป็นรูปแบบหนึ่งในสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เช่าจะต้องวางเงินมัดจำล่วงหน้าไว้กับเจ้าของบ้านเป็นจำนวนสูงมาก เช่น ในอดีตคือจำนวนตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปของจำนวนค่าเช่า แต่สมัยนี้คือตั้งแต่ 30%-70% ของราคาเต็มของราคาห้องหรือบ้านเช่าหลังนั้น (อันเป็นราคาที่สูงมาก ว่ากันว่าอย่างน้อยคือสามล้านบาทขึ้นไป)
แต่ข้อดีคือผู้เช่าไม่จำเป็นต้องจ่ายรายเดือน แล้วยังอยู่ได้อีกอย่างน้อยสองปีตามกฎหมายปัจจุบัน โดยที่ภายหลังจากการเลิกเช่าแล้ว ผู้เช่าจะสามารถได้เงินคืนเต็มจำนวนทั้งหมดของเงินที่วางมัดจำเอาไว้ เสมือนว่าผู้เช่าไม่ต้องจ่ายรายเดือนเลย
คำถามคือ แล้วผู้เช่าจะได้อะไร คำตอบคือในทางกลับกันแล้วระบบนี้เหมือนผู้เช่าให้เจ้าของบ้านยืมเงินก้อนโตไปฟรี ๆ โดยไม่คิดดอกเบี้ย กล่าวคือสมมติถ้าเรายืมเงินใครมา ห้าหมื่นบาท โดยทั่วไปเราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในการยืมเงินด้วย ทว่าการให้เช่าแบบชอนเซนี้ เจ้าของบ้านสามารถนำเงินมัดจำก้อนนี้ไปทำกำไรอะไรก็ได้ในช่วงสองปีนั้น บางรายถึงกับสามารถหมุนเงินไปซื้อบ้านอีกหลังปล่อยให้เช่าได้เลย แล้วเมื่อผู้เช่าได้กำไรจากผลประกอบการที่งอกเงยขึ้นมา นั่นแหละผลประโยชน์ที่ผู้เช่าจะได้รับ
อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการที่เจ้าของบ้านจะสามารถประหยัดค่าภาษีได้ด้วย กล่าวคือหากให้เช่าแบบรายเดือน บ้านที่มีมูลค่าตั้งแต่ 900 ล้านวอนขึ้นไป (ราว23ล้านบาท) เจ้าของบ้านต้องจ่ายภาษีจากรายได้ตั้งแต่ผู้เช่ารายแรก แต่หากมีมูลค่าต่ำกว่านั้น ต้องจ่ายภาษีตั้งแต่ผู้เช่ารายที่สอง ทว่าการให้เช่าแบบชอนเซ เจ้าของบ้านจะต้องเริ่มจ่ายภาษีตั้งแต่ผู้เช่ารายที่สามเป็นต้นไป นั่นแปลว่าหากผู้เช่ารายแรกต่อสัญญาเช่าอยู่ไปยาว ๆ เจ้าของบ้านก็ไม่ต้องจ่ายภาษีในส่วนนี้เลย
ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้เช่าสามารถอาศัยอยู่ในบ้านที่เหมือนบ้านจริง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่ดีโดยจ่ายในราคาที่ต่ำกว่าการซื้อบ้านทั้งหลัง ซึ่งถ้าเทียบกับการจ่ายรายเดือนทั่วไปแล้วก็จะถูกกว่า
ทว่าการจ่ายเช่าเหมาแบบชอนเซนี้ ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินคืนเต็มจำนวน ล่าช้า หรือไม่ได้คืนเลยแม้แต่วอนเดียวก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณี เช่น เจ้าของบ้านล้มละลาย เสียชีวิต หย่าร้าง จำคุก หรือฉ้อโกง
รวมถึงมีรายงานว่านับตั้งแต่ปี 2010 มีการค้นพบการฉ้อโกงโดยใช้บัตรประชาชนปลอมตัวเป็นเจ้าของบ้าน ทำสัญญาแล้วเชิดเงินชอนเซไปทั้งหมด เกิดขึ้นมากกว่า 100 ครัวเรือนในปีนั้น รวมถึงในปีล่าสุดยังมีอีกหลายกรณีที่ผู้เช่าฆ่าตัวตายเนื่องจากไม่ได้เงินชอนเซคืนจากผู้ให้เช่า เนื่องจากกรณีผิดสัญญาเช่าชอนเซเมื่อนำเรื่องไปขึ้นศาลพบว่าถูกตัดสินว่าไม่ถือเป็นการฉ้อโกง แต่เป็นเพียงการละเมิดระหว่างบุคคลต่อบุคคล ต้องไปไกล่เกลี่ยกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ
ควันรีบี 관리비 เงินค่าส่วนกลางที่ต้องจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละเดือนให้กับสำนักงานซ่อมบำรุงของอาคาร ค่าบำรุงรักษาจะแตกต่างกันไปตามความหรูหราลักซ์ชัวรี่ของแต่ละอาคารที่เราอาศัยอยู่ มีตั้งแต่ราคาราว 500-5,000 บาท หรือมากกว่านั้นเพราะบางที่ก็จะรวมไปถึงค่าเนต ค่าสัญญาณทีวี ค่าไฟฟ้า ค่าเครื่องทำความร้อน ค่าน้ำ ฯลฯ
สถานการณ์ล่าสุด
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า ประธานาธิบดียุนซอกยอลได้ลั่นคำมั่นว่าจะยกเลิกนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ฝ่ายบริหารชุดก่อนนำมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาบ้าน โดยระบุว่า “นโยบายดังกล่าวมีแต่จะทำให้ประชาชนได้รับความทุกข์ทรมานมากขึ้นเท่านั้น”
ยุน อ้างถึงนโยบายปี 2020 ที่รัฐบาลของประธานาธิบดี มุนแจอิน ตัดสินใจค่อย ๆ ขึ้นราคาอพาร์ตเมนต์และอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ที่ประกาศไว้เป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของราคาตลาดภายในปี 2035 กล่าวคือในเกาหลีใต้ รัฐบาลจะใช้ราคาที่ประกาศเป็นพื้นฐานสำหรับภาษีทรัพย์สินต่าง ๆ และเป้าหมายของมาตรการนี้คือเพื่อจัดเก็บภาษีที่ “ยุติธรรมกว่า” แต่ก็ส่งผลกระทบคือทำให้ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นภายใต้การควบคุมนี้
“รัฐบาลของเราจะยกเลิกแผนเร่งด่วนที่จะทำให้ราคาที่ประกาศเป็นจริงโดยสิ้นเชิง เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องกังวล” ยุนกล่าวระหว่างการดีเบตระหว่างที่กรุงโซล อาร์ตสเปซ มุลลา ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์อเนกประสงค์ทางตะวันตกของกรุงโซล
“คงจะดีมากถ้าเราสามารถแก้ไขกฎหมายได้ แต่ก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมาย เราจะใช้เครื่องมือนโยบายต่าง ๆ เพื่อสร้างผลของการยกเลิก” เขากล่าว ยุน อ้างว่ารัฐบาลที่แล้วของนายมุนพยายามที่จะลดราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากความล้มเหลวทางนโยบายของตัวมุนเองด้วยการกำหนดภาษี “เชิงลงโทษ” แต่ภาษีดังกล่าวส่งผลให้ภาระที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วไปที่เป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว “ผลข้างเคียงมีมากมายมหาศาล และความทุกข์ทรมานของประชาชนก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น” เขากล่าว
นอกจากนี้นายยุนยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลจะซื้อบ้านขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่สร้างขึ้นใหม่จำนวน 100,000 ยูนิตภายในสองปีข้างหน้า เพื่อปล่อยให้เช่าแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสด้วยค่าเช่าต่ำ อีกทั้งเขายังให้คำมั่นว่าจะดำเนินการโครงการฟื้นฟูเมืองครั้งใหญ่ในใจกลางย่านเมืองเก่าของกรุงโซล
“โครงการหมู่บ้านใหม่” นี้จะได้เห็นการปรับปรุงบ้านเดี่ยวเก่า และอาคารที่พักอาศัยหลายหลังให้เป็นทาวน์เฮาส์สมัยใหม่ ด้วยความช่วยเหลือจากการลงทุนของรัฐบาลมูลค่า 10 ล้านล้านวอน (ราวสองแสนห้าหมื่นล้านบาท) ในอีก 10 ปีข้างหน้า”เขากล่าว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมทีผ่านมา โครงการหมู่บ้านใหม่นี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Human Town 2.0” โดยรัฐบาลจะค้นหาสถานที่สำหรับโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมอุปทานที่ไม่ใช่อพาร์ตเมนต์ในพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่น ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นใหม่ได้ยาก อันเป็นโครงการฟื้นฟูการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับที่อยู่อาศัยแนวราบทั้งเก่าและยากจน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การประกวดราคาจะจัดขึ้นในเขตปกครองตนเอง 25 เขต และระยะเวลาการสมัครคือวันที่ 16-30 สิงหาคมนี้
โครงการ Human Town 2.0 เป็นวิธีการสนับสนุน “การก่อสร้างส่วนบุคคล” ของอาคารเก่าเดิมที่มีอยู่แล้วในแต่ละหลัง แทนที่จะพัฒนาโครงการขึ้นมาใหม่ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมของพื้นที่อยู่อาศัยแนวราบ แต่มีปัญหาในการจัดหาเงินทุนสำหรับต้นทุนโครงการ เนื่องจากข้อจำกัดและขั้นตอนทางกฎหมาย
หากถูกกำหนดให้เป็นสถานที่โครงการ Human Town 2.0 มาตรฐานอาคารต่าง ๆ เช่น อัตราส่วนพื้นที่ อัตราส่วนการก่อสร้าง พื้นที่ภูมิทัศน์ และที่ดินจะถูกผ่อนคลาย รัฐบาลกรุงโซลจะจัดสรรงบประมาณให้กับเขตปกครองตนเอง จำนวน 200 ล้านวอน (ราว 5 ล้านบาท-พอหรือ?) ต่อพื้นที่เป้าหมายที่จำเป็นสำหรับการวางแผน รวมถึงการกำหนดพื้นที่อาคารพิเศษ และจะให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้ผู้อยู่อาศัยเดิม และการรักษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
อันสืบเนื่องมาจากในเดือนมีนาคม รัฐบาลโซลได้กำหนดให้ เขตชอนยอง, จองโน, กูโร, มังวู, จุงนัง เป็นสถานที่นำร่องสำหรับโครงการ Human Town 2.0 นอกจากนี้ ยังจะช่วยจัดตั้งศูนย์ MoA (สำนักงานจัดการหมู่บ้าน) ที่ให้บริการการจัดการที่อยู่อาศัย เช่น การลาดตระเวนด้านความปลอดภัย การซ่อมแซมบ้านแบบธรรมดา เครื่องมือขนย้าย และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตของผู้อยู่อาศัย เช่น ถนนและที่จอดรถสาธารณะ ฯลฯ
ไซต์เป้าหมายจะต้องตรงตามเงื่อนไขของพื้นที่ 20,000 ตารางเมตรขึ้นไป อัตราส่วน 50% ขึ้นไปของบ้านเก่าและชำรุด แต่หากคาดว่าจะมีผลกระทบทางธุรกิจ ก็สามารถสมัครในประเภทพื้นที่น้อยกว่า 20,000 ตารางเมตรได้เช่นกัน
“Human Town 2.0 เป็นมาตรการวัดจำนวนอุปทานอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่อพาร์ตเมนต์ในทางปฏิบัติ ซึ่งสามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของอาคารสูงในจุดบอดของการพัฒนาได้อย่างมาก” ฮันบยองยง หัวหน้าสำนักงานการเคหะของศาลาว่าการกรุงโซล-กล่าว “เราจะขยายและกำหนดที่ตั้งธุรกิจใน Human Town นี้เพื่อส่งเสริมการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนทั่วไปโดยการฟื้นฟูการบำรุงรักษาบ้านแต่ละหลังในอาคารพักอาศัยแนวราบเก่า” ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าโครงการนี้จะมีผลช่วยดึงราคาที่อยู่อาศัยให้ลดลงได้จริงหรือไม่