ThaiPublica > สู่อาเซียน > LFX : “กลไก”ที่จะลดบทบาทตลาดเงินตราต่างประเทศนอกระบบในลาว

LFX : “กลไก”ที่จะลดบทบาทตลาดเงินตราต่างประเทศนอกระบบในลาว

25 สิงหาคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ในลาว ที่ร่วมพัฒนาระบบ LFX

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 เป็นวันแรกที่ระบบ LFX : Lao Foreign Exchange หรือตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ(ตลต.) ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้ถูกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ

LFX เป็นตลาดซื้อขาย แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในระบบออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารพาณิชย์บนโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้แต่ละคน วัตถุประสงค์ของตลาดแห่งนี้ เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว มีเสถียรภาพ โปร่งใสที่สุด และไม่มีความเสี่ยง

ผู้จะใช้งานซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราผ่าน LFX เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่มีบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศอยู่กับธนาคารพาณิชย์ในลาว 15 แห่ง ที่ตกลงเข้าร่วมโครงการนี้ รวมถึงได้โหลตแอพพลิเคชั่นของธนาคารแห่งนั้นไว้บนโทรศัพท์มือถือ

ระบบ LFX บนโทรศัพท์มือถือ ที่มาภาพ : ธนาคารแห่ง สปป.ลาว

ระยะแรก มีธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ที่สามารถเปิดใช้งานระบบ LFX ในแอพพลิเคชั่นของธนาคารได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม คือ ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว(BCEL) ธนาคารเอสที(STB) และธนาคารส่งเสริมกสิกรรม(APB) ส่วนธนาคารอื่นๆอีก 12 แห่ง คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ได้ในอีกไม่นานหลังจากนี้

เบื้องต้น LFX สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยนเงินกีบได้กับ 3 สกุลเงิน คือ เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทไทย และเงินหยวนของจีน ทุกๆธุรกรรมบน LFX เป็นการจับคู่โดยกลไกของระบบ โดยที่ระบบจะค้นหาผู้ซื้อขายที่เหมาะสมที่สุดให้โดยทันที

LFX เป็นผลต่อเนื่องจากบันทึกความเข้าใจ(MOU)ว่าด้วยการสร้างตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราแบบรวมศูนย์(Centralized Foreign Exchange Market) ที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้ลงนามร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในลาว 15 แห่ง เมื่อตอนเย็นของวันที่ 5 สิงหาคม 2567

พิธีเซ็น MOU ครั้งนั้น จัดขึ้นที่โรงแรมสุพัดตา นครหลวงเวียงจันทน์ มีวัดทะนา ดาลาลอย รักษาการ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว พุดทะไซ สีวิไล ประธานสมาคมธนาคารลาว และผู้บริหาร 15 ธนาคารพาณิชย์ในลาว ร่วมลงนาม

ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ในลาว ที่ร่วมพัฒนาระบบ LFX

สุลิสัก ทำนุวง หัวหน้ากรมนโยบายเงินตรา ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ในฐานะหัวหน้าคณะค้นคว้าจัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบรวมศูนย์ กล่าวรายงานถึงที่มาของการตั้งตลาดดังกล่าวว่า เกิดจากปัญหาความไม่สมดุลระหว่างความต้องการเงินตราต่างประเทศ กับการสนองเงินตราต่างประเทศให้กับระบบเศรษฐกิจของลาว

เนื่องจากความต้องการเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ รวมถึงพันธะหนี้สินต่างประเทศของลาว มีมากกว่าปริมาณเงินตราต่างประเทศที่จะสนองให้ได้ ทำให้เงินกีบอ่อนค่า และอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ในลาวยังมีตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรานอกระบบ ที่ทำให้การตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ทำได้ยาก เป็นอุปสรรคต่อการกำกับดูแล

ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จึงต้องการสร้างตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราแบบรวมศูนย์ เพื่อเป็น Platform ซื้อขายเงินตรา ที่อนุญาตให้บุคคลและนิติบุคคลสามารถเข้าร่วมซื้อขายเงินตราได้อย่างสะดวก สอดคล้องกับการทำธุรกิจ และสามารถติดตามตรวจสอบได้

พุดทะไซ สีวิไล ประธานสมาคมธนาคารลาว กล่าวว่า ในระยะทดลองระบบ สมาคมธนาคารลาวจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างแผนฝึกอบรม ทำคู่มือการใช้งาน ให้กับ 15 ธนาคารที่มาร่วมเซ็น MOU ในครั้งนี้ เพื่อให้ระบบดังกล่าว สามารถปฏิบัติและใช้งานได้จริง

สำหรับธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ที่เซ็น MOU สร้างระบบระบบ LFX ร่วมกับธนาคารแห่ง สปป.ลาว ประกอบด้วย

    1.ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL)
    2.ธนาคารบีไอซี ลาว (BIC)
    3.ธนาคารร่วมธุรกิจลาว-เวียด (LAOVIET)
    4.ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (APB)
    5.ธนาคารอินโดจีน (INDOCHINA)
    6.ธนาคารอุตสาหกรรมและการค้าจีน สาขานครหลวงเวียงจันทน์ (ICBC)
    7.ธนาคารเวียดติน ลาว (VIETIN)
    8.ธนาคารเอสที (STB)
    9.ธนาคารพัฒนาลาว (LDB)
    10.ธนาคารมารูฮาน แจแปน ลาว (MARUHAN)
    11.ธนาคารกสิกรไทย (KASIKORNBANK)
    12.ธนาคารลาว-ฝรั่ง (BFL)
    13.ธนาคารร่วมพัฒนา (JDB)
    14.ธนาคารแคนาเดีย ลาว (CANADIA)
    15.ธนาคารไซ่ง่อน เทือง ติน ลาว (SACOM)
ธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งแรกที่เริ่มเปิดใช้งานระบบ LFX ได้ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567

เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 22 สิงหาคม 2567 เพจทางการของธนาคารแห่ง สปป.ลาวได้เผยแพร่คลิปอธิบายขั้นตอนการทำงานของระบบ LFX มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

1.ผู้ที่ต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ต้องเข้าไปยังแอพพลิเคชั่นของธนาคารพาณิชย์ที่ได้เปิดบัญชีไว้ จะมีเมนู LFX ปรากฏอยู่ จากนั้นกดเข้าระบบ LFX บนเมนู ระบบจะแสดงสกุลเงินในบัญชีที่มี

2.ขั้นตอนการเติมเงิน กดเข้าปุ่มฝาก-ถอน เลือกสกุลเงินที่ต้องการจะเติม เงินจะถูกโอนย้ายออกมาจากบัญชีหลักที่ผูกกันไว้ แอพพลิเคชั่นจะแสดงจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนเงินที่ได้โอนย้ายมา

3.ขั้นตอนการแลกเปลี่ยน กดเข้าปุ่มแลกเปลี่ยน เลือกสกุลเงินที่ต้องการซื้อหรือขาย จะปรากฏหน้าต่างแสดงอัตราแลกเปลี่ยน เลื่อนหน้าจอลงมาเพื่อกดปุ่มต้องการซื้อหรือขาย ป้อนอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการ โดยต้องไม่ให้น้อยหรือมากกว่าอัตราที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว กำหนดไว้ในแต่ละระยะ เสร็จแล้วป้อนจำนวนเงินลงในช่องสกุลเงินที่ต้องการแลกเปลี่ยน กดเลือกจุดประสงค์ในการแลกเปลี่ยน กดยืนยัน หน้าจอจะแสดงรายการแลกเปลี่ยนที่เพิ่งส่งไป หลังจากนั้นรอให้ระบบจับคู่กับผู้ซื้อหรือขายที่ต้องการแลกเปลี่ยนด้วย โดยจะแสดงผลที่ช่อง”รายการรอคอย” ถ้าหากรายการแลกเปลี่ยนสำเร็จแล้ว สกุลเงินที่ขายจะถูกตัดออกจากบัญชี ส่วนสกุลเงินที่ซื้อจะถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชี โดยจะแสดงในช่อง”รายการสำเร็จ”

ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบประวัติการซื้อหรือขายได้ที่หน้าต่าง “ประวัติ”

4.ขั้นตอนการถอนเงินออกจากระบบ ให้กดเข้าไปที่หน้าต่างฝาก-ถอน เลือกถอนเงิน เลือกสกุลเงิน ป้อนจำนวนเงิน กดถอน และกดยืนยัน

ระบบ LFX เปิดให้บุคคลหรือนิติบุคคลเข้ามาใช้งานได้ในวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลาตั้งแต่ 09.00 น.-14.00 น. โดยบัญชีบุคคลธรรมดาสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้เทียบเท่าไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์ต่อวัน หรือไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์ต่อเดือน ส่วนบัญชีนิติบุคคลสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้เทียบเท่าไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์ต่อวัน หรือไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์ต่อเดือน

……

ที่มาภาพ : ธนาคารแห่ง สปป.ลาว

ก่อนหน้านี้ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว ที่ลาวต้องเผชิญกับสถานการณ์ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลพยายามระดมใช้ทุกกลไก ทุกเครื่องมือ ทุกหน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไข

ไม่กี่วัน ก่อนการเปิดใช้ระบบ LFX รัฐบาลลาวได้สร้างกลไกที่บีบให้โครงการลงทุนของภาคเอกชนต้องปรับมาเน้นใช้เงินสกุลกีบให้มากขึ้น จากเดิมซึ่งเคยเปิดเงื่อนไขที่เอื้อให้นักลงทุนเหล่านี้สามารใช้เงินสกุลต่างประเทศได้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่เป็นสัมปทานของรัฐ

โดยวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ใบคำ ขัดทิยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ออกหนังสือแจ้งการเรื่อง การกำหนด และการเบิกจ่ายเงินเดือนหรือค่าแรงงาน ให้แก่ผู้ออกแรงงาน ส่งไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ภาคธุรกิจ การค้า และภาคการผลิตทั่วประเทศ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1.ทุกกิจการหรือองค์กรที่กำหนดจ่ายเงินเดือน ค่าแรงงาน หรือผลตอบแทนอื่นๆ ให้แก่ผู้ออกแรงงานของตนเป็นเงินตราสกุลต่างประเทศ แล้วแปลงกลับมาจ่ายเป็นเงินกีบ ให้คำนวณอัตราเงินเดือนโดยอิงพื้นฐานจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์แห่งใดแห่งหนึ่งได้ประกาศออกมาล่าสุด ภายใน 3 วันทำการรัฐบาล ก่อนวันคำนวณเงินเดือน แต่ต้องคำนวณโดยไม่ให้ต่ำกว่าอัตราที่ธนาคารพาณิชย์แห่งนั้นประกาศ และให้สอดคล้องกับกฏหมายและระเบียบการที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว กำหนดไว้ในแต่ละระยะ

2.สำหรับกิจการใดที่ปฏิบัติไม่สอดคล้องกับหลักการนี้ ให้เร่งปรับปรุง แก้ไขสัญญาจ้างแรงงานและกฏระเบียบภายในองค์กรของตนให้เสร็จและสอดคล้องกับเนื้อหาในแจ้งการฉบับนี้

3.ถ้ากิจการใดจ่ายเงินเดือน หรือค่าแรงงาน หรือผลตอบแทนอื่นๆ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศไว้ จะถูกดำเนินการตามกฏหมายหรือระเบียบการที่เกี่ยวข้อง พร้อมคิดคำนวณค่าแรงเพื่อชดเชยคืนแก่ผู้ใช้แรงงาน

ถัดมา วันที่ 14 สิงหาคม 2567 กระทรวงการเงิน ได้ส่งหนังสือแจ้งการไปถึงผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นบุคคล นิติบุคคล องค์กรจัดตั้งทุกประเภท เรื่องการชำระค่าพันธะต่างๆในประเทศลาว ด้วยเงินตราต่างประเทศ มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

เพื่อให้การชำระค่าพันธะต่างๆภายในประเทศ สอดคล้องตามกฏหมาย และตามสัญญาที่กำหนดไว้ ได้มีการปฏิบัติที่ตรงกัน กระทรวงการเงินจึงขอแจ้งว่า

1.บุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรจัดตั้ง ต้องมอบพันธะอากร, ทรัพย์สิน, ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ รวมทั้งค่าปรับ ผ่านระบบธนาคาร หรือคลังเงินแห่งชาติ ด้วยเงินสด เช็ค เงินโอน หรือรูปแบบอื่น ตามสัญญาที่ได้กำหนดไว้ ระหว่างเจ้าของโครงการ และผู้รับเหมา หรือตามการซื้อ-ขายจริง แต่ต้องบันทึกเป็นรายรับลงในงบประมาณเป็นเงินสกุลกีบ เพื่อการเทียบเคียงกับคลังเงินแห่งชาติ ตามการแจ้งเสียอากรแต่ละประเภทบนพื้นฐานอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ที่ถูกประกาศไว้ในแต่ละระยะ

2.สำหรับค่าเช่า และค่าสัมปทานที่ดินของรัฐเท่านั้น ที่สามารถชำระเป็นเงินตราต่างประเทศหรือเงินกีบก็ได้ ตามรัฐบัญญัติของประธานประเทศ ฉบับเลขที่ 02/ปปท. ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552(ปีคศ.2009) ว่าด้วยอัตราค่าเช่า และสัมปทานที่ดินของรัฐ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 15

3.มอบให้กรมส่วยสาอากร, กรมควบคุมทรัพย์สินแห่งรัฐ, กรมควบคุมวิสาหกิจที่รัฐลงทุนและการประกันภัย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดัน เผยแพร่การปฏิบัติให้มีประสิทธิผล โปร่งใส และรับประกันการเก็บรายรับดังกล่าว เข้าระบบงบประมาณแห่งรัฐให้ครบถ้วน

ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ในลาว ที่ร่วมพัฒนาระบบ LFX
……

การนำระบบ LFX มาใช้ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการแก้ปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ โดยสร้างตลาดที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินกีบกับเงินตราต่างประเทศได้โดยสะดวก และรัฐสามารถควบคุมและเก็บรวบรวมข้อมูลได้

รัฐบาลลาวคาดหวังว่า ความสะดวกที่เกิดขึ้นจาก LFX จะช่วยลดธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนอกระบบธนาคารพาณิชย์ ที่นักธุรกิจลาวส่วนมากนิยมใช้เป็นเวลานานแล้ว ให้ลดลงไปได้บ้าง รวมถึงช่วยให้ธุรกรรมที่เคยทำแบบกระจัดกระจายกับผู้ที่ตุนเงินตราต่างประเทศจำนวนมากไว้ในมือ เปลี่ยนเข้ามาอยู่ในระบบของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ในอนาคต…