ณัฐธิดา รัตนสวัสดิ์
วิธีการปรับตัวสู้โลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนตัวเล็กตัวน้อย จะเกิดขึ้นได้เมื่อพวกเขารวมกลุ่มสร้างพื้นที่เรียนรู้ขับเคลื่อนอย่างเป็นอิสระ เรามาลองทำความเข้าใจบทเรียนของชุมชนบ้านไผ่ที่เผยให้เห็นว่า ประชาชนในทุกถิ่นก็มีบทบาทกู้วิกฤติโลกร้อนในวิถีของตนเองที่สังคมควรเรียนรู้
ร้านกาแฟ ‘บ้านหลังวัด Coffee’ จุด Check in แห่งใหม่ ตั้งอยู่หลังวัดบูรณะสิทธิ์ บริเวณป่าที่ร่มรื่น มีการตกแต่งด้วยสิ่งของ วัสดุต่าง ๆ สีสันสดใส มีพื้นที่ถ่ายรูป เป็นคาเฟ่เก๋ ๆ ที่มีทั้งสนามเล่นดินสำหรับเด็กเล็ก พื้นที่ขายของให้คุณลุงคุณป้า อุปกรณ์ระบายสีให้น้อง ๆ มัธยมนัดเพื่อนมาแต่งแต้มเติมสีบนวัสดุสิ่งของเหลือใช้ รวมอยู่ในร้านกาแฟแห่งนี้
“หนูชอบมาที่นี่ตอนเย็น มันสงบ ชอบธรรมชาติที่นี่” เสียงจากกลุ่มน้องมัธยมปลายที่กำลังระบายสีน้ำลงบนขวดแก้วใช้แล้วบอกกับเราว่า หลังเลิกเรียนจะขี่จักรยานยนต์มานั่งเล่น เพ้นท์ศิลปะที่ร้านกาแฟแห่งนี้
มีสโลแกนของร้านว่า ‘เป็นพื้นที่ที่คนทุกวัยได้มาใช้ space ด้วยกัน’ ร้านกาแฟแห่งนี้ตั้งมาไม่นาน ด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ ใบหม่อน อุ๊บอิ๊บ และกลุ่มเพื่อน ที่พึ่งเรียนจบและมีความหวังอยากจะพัฒนาชุมชน ออกแบบพื้นที่ให้กลุ่มคนหลากหลายได้ทำกิจกรรม จัดห้องเรียนรู้ธรรมชาติให้กับเด็กเล็ก คลาสสอนภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปกับการบริหารร้านกาแฟที่ได้กลิ่นอายธรรมชาติอย่างแท้จริง
ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่นี้ได้กลายเป็นแหล่งสื่อสารกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่เสวนาพูดคุยประเด็นสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมให้คนที่สนใจมาเยี่ยมชม พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มาขายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของชุมชน ทั้งขนม ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ อาหารแปรรูป คนที่สนใจก็สมัคร Workshop ทำปลาร้า ปลาส้มได้ นอกจากจะเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันแล้ว ยังผสมผสานความต้องการสัมผัสความสงบจากธรรมชาติ เพราะมีพื้นที่กว้างขวางนี้มีมุมให้ลูกค้าได้นั่งทางกาแฟอย่างใจเย็นด้วย
บหม่อน – เพชรลัดดา บุตรมหา เล่าประวัติพื้นที่แก่งละหว้า บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นว่า ชาวบ้านที่นี่เจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เกิดจากสันเขื่อนไปขวางทางน้ำธรรมชาติ ทำให้เปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเลยรวมตัวกันไปเรียกร้องต่อหน่วยงานชลประทาน ยื่นหนังสือขอตัดคูน้ำให้กลับเป็นดังเดิม ใบหม่อนได้บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของคนในพื้นที่เพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของพวกเขา ก่อนจะเล่าต่อไปถึงพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ทั้งปลูกปอและทำไร่มันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันชุมชนได้ร่วมกันฟื้นให้กลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างบริการนิเวศและความมั่นคงอาหารให้ชุมชน ด้วยน้ำมือของคนในพื้นที่ร่วมกันฟื้นฟูป่า พัฒนาพื้นที่สู่ร้านกาแฟในป่าที่น่ารักและอบอุ่นนี้
วงโสเหร่ พูดถึง ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ หรือโลกที่รวนขึ้น ที่บ้านไผ่ เจอฤทธิพายุโพดุล ทำให้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2562 เหตุการณ์นั้นทำให้ชาวบ้านช็อค แต่ก็ต้องเตรียมตัวรับมือให้ทันสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นก่อเกิดเป็นความร่วมมือของชุมชน
อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ชาวประมงต้องเปลี่ยนไปทำงานตอนกลางคืน ทำให้ปลาในน้ำลดลง การจัดการน้ำในชุมชนเผชิญกับปัญหาน้ำเสียมากขึ้นเพราะจุลินทรีย์โตเร็ว การเกษตร ปลูกพืชหรือหาของธรรมชาติได้น้อยกว่าเดิม
ต้องหาทางปรับเปลี่ยนเป็นพืชพรรณท้องถิ่นที่ทนกับหน้าแล้ง ชุมชนแห่งนี้มีการแปลงทำผักปลอดภัย เอาเมล็ดพันธุ์จากตลาดเขียวมาส่งต่อให้ชาวบ้าน ชาวประมงพื้นบ้านหาปลาไม่ได้แบบเดิม ชาวบ้านก็นำมาแปรรูปเป็นน้ำพริกปลาร้า ปลาร้าแดดเดียว
ชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนจากการตั้งรับมาเป็นรุกด้วยการรวมกลุ่มชาวบ้าน รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้น หาแนวทางพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนิเวศที่ยั่งยืน เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
เรื่องราวและองค์ความรู้ในการรักษานิเวศ เป็นมรดกที่พร้อมจะส่งต่อให้กับเยาวชนรับช่วงทำงานในพื้นที่ต่อ ประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกเพื่อทำฐานข้อมูลและฐานทรัพยากรธรรมชาติต่อไป ชาวบ้านในพื้นที่นี้ หรือจะพื้นที่ไหน ๆ ย่อมเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดเมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ และพวกเขามีศักยภาพในการปรับตัวและตัดสินใจการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจมากระทบกับวิถีชีวิตของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับมือกับภัยธรรมชาติ หรือนโยบายปรับปรุงพื้นที่ในเมืองของพวกเขา
นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐ หรือผู้กำหนดนโยบายควรสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนมากกว่าจะตัดสินใจแทนหรือคิดแทนพวกเขา
บทเรียนจากบ้านไผ่ แก่งละหว้า เป็นหนึ่งในต้นแบบของชุมชนที่เข็มแข็ง สร้างสรรค์ความอุดมสมบูรณ์วิถีนิเวศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชน เพื่อปรับตัวรับมือกับผลกระทบ จากสร้างภูมิคุ้มกันจากจากน้ำท่วม ภัยแล้ง โลกรวน พร้อมกับปรับพื้นที่เมืองที่กระทบต่อชาวบ้าน
Space ร่วมที่ชุมชนก่อร่างขึ้นจากวิถีชีวิตและบทเรียนการต่อสู้ปัญหาซึ่งได้เชื่อมโยงคนกลุ่มต่าง ๆ เข้าหากันอย่างมีหวัง และเกิดพลังการเปลี่ยนผ่านปัญหาในพื้นที่ที่เดิมต่างคนต่างเผชิญปัญหา ให้เป็นพื้นที่สื่อสารการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีนิเวศบนหนทางใหม่ไปสู่คนทุกวัย ด้วยสำนึกท้องถิ่นที่มีภูมิคุ้มกันรับมือและเปลี่ยนผ่านในภาวะโลกรวนเข้มแข็งยิ่งขึ้นไป