ThaiPublica > เกาะกระแส > เสวนา “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโลกร้อนเกิน 2 °C ” – นักวิชาการชี้วิธีรับมือ 2 องศาที่เปลี่ยนโลก

เสวนา “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโลกร้อนเกิน 2 °C ” – นักวิชาการชี้วิธีรับมือ 2 องศาที่เปลี่ยนโลก

22 กันยายน 2016


เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดงาน Thailand Go Green ปี 2559 ในหัวข้อ “เมืองไทยไร้ขยะ” โดยมี ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโลกร้อนเกิน 2 °C”

ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ ฝ่ายสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

2 °C ที่เปลี่ยนโลก

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ กล่าวว่า 2 องศาเซลเซียส เปลี่ยนโลกได้อย่างไรนั้น เมื่อดูจากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลก สรุปได้ว่า อุณภูมิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2423 (ค.ศ. 1880) คือประมาณ 130 ปีที่แล้ว แต่กราฟที่แสดงอาจมีขึ้นลงสลับกัน เพราะอุณหภูมิอาจขึ้นแล้วลดลงมาได้เช่นกัน ซึ่งโดยภาพรวมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในรอบ 100 ปี เพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณ 0.85 องศาฯ

“ใน 30 ปีที่ผ่านมานี้ เป็น 30 ปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 1 แสนปี แปลว่า เรื่องโลกร้อนนั้นไม่ใช่เรื่องที่คิดเอาเอง มันมีหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่ หลายคนอาจจะไม่ทราบ ในอเมริกายังมีการถกเถียงกันอยู่ ยังมีคนที่ไม่เชื่อว่าปรากฏการณ์ climate change หรือที่แปลให้ถูกคือ ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ ไม่ใช่ ‘global warming’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ นั่นเป็นเพียงศัพท์สื่อสารมวลชน เพราะยังมีช่วงที่อากาศหนาวอยู่ แต่ climate change คือ การเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทั้งโลก เป็นอุณหภูมิเฉลี่ย แต่ในบางบริเวณอาจจะร้อนขึ้น หรืออาจจะหนาวลง และเป็นบางช่วงเวลา ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป”

ดร.นำชัยกล่าวถึงตัวเลข “2 องศาฯ” ว่า ตัวเลขนี้มาเริ่มปรากฏในปี 2553 จากการประชุมกรอบความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้หยิบยกตัวเลขดังกล่าวขึ้นมาระบุว่า เราต้องช่วยกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเปลี่ยนมากถึง 2 องศาฯ ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใช้เครื่องจักรมหาศาล ประมาณปี 2343 ในประเทศอังกฤษมีการใช้เครื่องจักรไอน้ำ และในกระบวนการดังกล่าวได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาในอากาศจำนวนมาก เขาจะนับตัวนั้น เพราะก่อนหน้านี้ หลายหมื่น หลายแสนปี ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์แทบไม่ขยับ แต่หลังปี 2343 เริ่มขยับขึ้นทีละน้อยๆ ถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

จากรายงานของ William Nordhaus นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกา ที่เผยแพร่เมื่อปี 2520 ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมค่อนข้างคงที่ แต่ว่าหลังจากปฏิวัติอุตสาหกรรม คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่ม อุณหภูมิก็เพิ่มตาม โดย William อ้างว่าตัวเลข 2 องศาฯ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นั่นคือ จะมีหายนะครั้งใหญ่ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงมาก ฉะนั้น 2 องศาฯ จึงสำคัญมากในความเห็นของเขา

ต่อมาในปี 2543 ได้มีคนนำรายงานดังกล่าวมาอ้างอิง เทียบกับ 1 แสนปีในอดีต เพื่อให้รู้ว่าระดับของคาร์บอนไดออกไซด์มีอยู่เท่าไหร่ จึงใช้วิธีการเจาะน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ลงไป แล้วดึงน้ำแข็งขึ้นมา เพื่อดูการทับถมของหิมะที่กลายเป็นน้ำแข็งในแต่ละชั้น ทำให้เห็นว่า ปีใดที่หิมะตกมาก ก็จะเห็นเป็นชั้นหนา ปีใดที่ตกน้อยก็จะเห็นเป็นชั้นบาง คล้ายๆ กับเรื่องวงปีของต้นไม้ ซึ่งยิ่งเจาะลึกเท่าไร ก็หมายถึงการมองกลับไปเห็นประวัติศาสตร์มากขึ้นเท่านั้น ทั้งอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น ต่างพัฒนาวิศวกรรมเครื่องเจาะเพื่อดึงน้ำแข็งที่เก่าแก่ที่สุดขึ้นมา กะเทาะทีละชั้นแล้ววัดสิ่งเจือปนว่าอากาศแต่ละช่วงเป็นอย่างไร

อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นแต่ละปี ที่มาภาพ : http://www.cbc.ca/news2/interactives/2degrees/
อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นแต่ละปี ที่มาภาพ: http://www.cbc.ca/news2/interactives/2degrees/

“แอนตาร์กติกาเป็นทวีปที่ค่อนข้างอากาศบริสุทธิ์ ฉะนั้นมันจะบอกค่าเฉลี่ยของทั้งโลกที่อะไรต่อมิอะไรอยู่ในอากาศ แล้วมันเคลื่อนไปทั้งโลก เวลาอยู่ในบรรยากาศ มันไม่ได้อยู่กับที่ มันเคลื่อนไปหมด ฉะนั้น ตัวเลขเวลาเราบอกว่าอุณหภูมิเท่าไหร่ มีคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ มันไม่ได้เกิดจากการประมาณ ยิ่งในระดับ 100-200 ปีมานี้ จดบันทึกทุกวัน แต่ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์เราสามารถดูได้จากบันทึกในชั้นน้ำแข็งได้”

ดร.นำชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน หากเป้าอยู่ที่ 2 องศาฯ ตอนนี้เราไปครึ่งทางแล้ว ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะเวลาพูดถึง 2 องศาฯ บ้างก็บอกว่าจะถึงจุดนั้นภายในปี 3043 แต่บ้างบอกว่าเป็นปี 2643 ประเด็นก็คือยังไม่ทันไร เราไปเสียครึ่งทางแล้ว ต่อไปคือระหว่างที่อุณภูมิเพิ่มขึ้นต่อไปจะเอาอยู่หรือเปล่า

ที่ผ่านมามีการจัดประชุมเพื่อพูดคุยหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ที่โดฮา ประเทศการ์ตา ที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มีผู้นำระดับโลกมาประชุมกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสำเร็จ เพราะการจะหยุดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมีค่าใช้จ่ายอยู่

“อเมริกาและจีนเป็นผู้ผลิตสองเจ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถามว่าถ้าต้องลดการผลิต ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง เขาอยากทำไหม ไม่ทำ เพราะว่าจะทำให้ตัวเองเสียความสามารถทางการแข่งขัน หากเก็บภาษีเขาเพิ่ม เพื่อเอาชดเชย ปลูกต้นไม้ ก็ไม่ยอม เป็นปัญหาคนที่ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศสูงสุดเป็นคนที่มีอำนาจในการกำหนดอะไรมากสุด ไม่ค่อยยอม”

อุณภูมิเพิ่ม 2 °C กรุงเทพฯ จมน้ำ

ดร.นำชัยระบุว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิอาจขึ้นไปถึง 3-4 องศาฯ แต่ช่วงหลังมีกระแสเรื่องการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะในยุโรป ตัวเลขจึงลดลงมาเหลือแค่ 2-3 องศาฯ แต่ยังมีความหวังกันอยู่ว่าจะกดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 หรือ 2 องศาฯ ให้ได้

อย่างไรก็ตาม การลดอุณหภูมินี้ขึ้นอยู่กับความพยายามทางด้านการเมือง ความพยายามของประชาชนทั่วไปทุกคน และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี แม้ยังไม่ถึง 2 องศาฯ อุณหภูมิเปลี่ยนไปยังไม่ถึง 1 องศาฯ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นดังนี้

ในรอบ 100 ปีมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไปมาก โลกเคยหนาวจัดจนเป็นยุคน้ำแข็ง บางช่วงร้อนมากๆ กลับไปกลับมา แต่ละยุคกินเวลาหลายแสนปี หลายล้านปี ซึ่งจะมีช่วงสั้นๆ ประมาณหมื่นถึงแสนปีเป็นช่วงที่อากาศอุ่นขึ้น ปัจจุบันอยู่ในช่วงยุคหลังน้ำแข็ง

ในช่วง 100 ปี ที่อุณหภูมิเปลี่ยนไปเฉลี่ย 0.85 องศาฯ ดูตัวเลขนิดเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสังเกตได้จากปรากฏการณ์บางอย่าง เช่น ปะการังฟอกขาวเป็นระยะๆ ซึ่งเมื่อโลกร้อนไม่ได้ร้อนทุกพื้นที่ของโลก แต่ร้อนเป็นบางจุด บางช่วง ซึ่งการไหลเวียนของอากาศระหว่างบกและทะเลของอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปทำให้ในรอบประมาณ 10-20 ปี สหรัฐอเมริกาเกิดทอร์นาโดเพิ่มขึ้น พร้อมระดับความรุนแรงที่เพิ่มตาม

การที่กระแสน้ำของโลกไหลถึงกันหมด เรียกว่า conveyer เกิดเป็นวัฏจักรให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้ ซึ่งเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2554 จากแผ่นดินไหวและสึนามิ นำไปสู่เหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ก็พบว่ามีบางส่วนของชิ้นส่วนหรือมีบางส่วนของกัมมันตรังสีไปถึงชายฝั่งของอเมริกา

ดร.นำชัยกล่าวว่า สำหรับเมืองไทย สิ่งที่เผชิญมาแล้วในรอบ 50 ปีนี้คือสิ่งที่เรียกว่า extreme weather and climate change คือ จู่ๆ ปีหนึ่งก็มีน้ำมหาศาล เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งปัญหาในปีนั้นมี 2 อย่างที่มาประจวบเหมาะกัน 1. มีพายุเข้าจำนวนมาก ประกอบกับมีปริมาณน้ำมาก 2. ก่อนหน้ามีปัญหาน้ำแล้ง ทำให้เขื่อนพยายามเก็บน้ำเอาไว้ให้มากสุด โดยไม่ได้อาศัยข้อมูลที่มองไปข้างหน้าว่าในปีที่กำลังจะมาถึงพายุจะเพิ่มมากกว่าปกติ ไม่ควรเก็บน้ำมาก

ที่มาภาพ : www.climateactiontracker.org)
ที่มาภาพ: www.climateactiontracker.org)

“เมื่อต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อน สิ่งที่เกิดคือ ความวุ่นวาย อย่างที่เห็น แล้วเหตุการณ์แบบนี้จะไม่ได้เกิดหนเดียว เหตุการณ์นี้ในประเทศไทยจริงๆ เกิดขึ้นในรอบ 70-80 ปี เกิดหนเดียว แต่ต่อไปวัฏจักร 70-80 ปี จะสั้นลง เราอาจจะเจอมันบ่อยขึ้น และอาจจะไม่ได้เจอแค่บางจังหวัดแบบครั้งที่ผ่านมา”

ดร.นำชัยกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอีกว่า อีกกรณีที่เห็นได้ชัดคือ glaciers หรือแผ่นธารน้ำแข็ง ในกรีนแลนด์กับแอนตาร์กติกา เดิมมีขนาดใหญ่ 10-100 กิโลเมตร ที่ผ่านมาแต่ละแผ่นจะมีส่วนขอบที่ละลายหายไปบ้าง แต่ในช่วงหลังที่ผ่านมาแผ่นธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายไปเกือบหมด

ส่วนแอนตาร์กติกา บริเวณที่เรียกว่า permafrost เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นน้ำแข็งตลอดปี ก็เริ่มละลายไปบางส่วน ซึ่งสิ่งมีชีวิตแรกที่ได้รับผลกระทบคือหมีขาว เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลายไปมาก หมีขาวจึงเริ่มจมน้ำตาย ซึ่งจะเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์แรกๆ ที่มีโอกาสจะสูญพันธุ์เร็วมากในเวลาอันใกล้ ถ้าอากาศยังไม่เปลี่ยนกลับไปดีกว่าเดิม

“ระดับน้ำโดยเฉลี่ยในช่วง 110 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งประเทศไทยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาฯ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เมตร พื้นที่ของประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ใต้น้ำ ไม่ต้องถามสาเหตุแล้วว่าเหตุใดต้องช่วยให้ไม่ถึง 2 องศาฯ เราคงอยู่บนดอยกันทุกคนไม่ได้”

ดร.นำชัยกล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดถึงคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อน ซึ่งก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้น หรือ greenhouse gases ไม่ได้มีแค่คาร์บอนไดออกไซด์ แต่มีก๊าซอื่นๆ อีก ซึ่ง 3 ชนิดที่สำคัญที่สุด คือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ พวกนี้เกิดจากกระบวนการในชีวิตเมืองยุคใหม่ คาร์บอนไดออกไซด์เกิดในกระบวนการอุตสาหกรรม การเดินทางทั้งหลาย มีเทนจากกระบวนการเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ ที่เลี้ยงแบบมหาศาล โดยการเคี้ยวเอื้อง กระบวนการนี้จะบ่มให้เกิดก๊าซมีเทนขึ้นมา

ในระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นแล้ว 40% ในบรรยากาศ มีเทนเพิ่มขึ้น 150% และไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้น 20% ก๊าซ 3 ชนิดนี้เป็นตัวกักความร้อน ทำให้แสงแดดผ่านออกไปสู่อวกาศได้น้อยลง

ดร.นำชัยกล่าวต่อไปว่า อีกปัญหาใหญ่คือน้ำทะเล คือมีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูง ถึง 30% ของทั้งโลก อีก 70% อยู่ในอากาศ แต่เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปอยู่ในน้ำมากๆ ทำให้ทะเลเป็นกรด (ocean acidification) สิ่งที่ได้รับผลกระทบชัดเจนอย่างรวดเร็วคือสิ่งมีชีวิตที่ต้องสร้างเปลือก มีโครงสร้างที่มีคาร์บอเนต เช่น หอย ปะการัง โดยเฉพาะปะการังที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ ถ้าปะการังเกิดขึ้นไม่ได้ ก็แปลว่าสิ่งมีชีวิตที่ต้องเติบโตจากตัวอ่อนก็เกิดขึ้นไม่ได้ แล้วอาหารมหาศาลที่ได้จากทะเลก็จะหายไป

จะรับมือช่วยโลกอย่างไร

ดร.นำชัยกล่าวถึงแนวทางที่จะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นว่า มีความพยายามระดับโลกในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งต้องทำหลายอย่าง ทำทั้งระดับรัฐบาล ออกกฎหมาย ทั้งระดับประชาชนทั่วไป มีการระดมทุนเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น การตั้งกองทุนเพื่อเทคโนโลยีที่พลังงานสะอาด มีการสร้างพลังงานหลายๆ รูปแบบ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานทดแทน เพื่อไม่ให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่ม ประเทศไทยก็มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ พลังงานลม

สำหรับพลังงานคลื่น ก็มีคนที่อยากจะนำมาใช้ มีการฟาร์มโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ตรงกลางจะวางกระจกแล้วให้ท้อนแสง รวมโฟกัสอยู่ตรงกลาง เป็นหอสูง ซึ่งมีของเหลว น้ำมัน จะใช้วิธีต้มให้น้ำมันเดือด แล้วเอาความร้อนไปทำอย่างอื่นต่อไป จะเห็นได้ว่าพลังงานมีหลายรูปแบบมาก

หรือพลังงานที่เรียกว่า geothermal ที่มีการดึงพลังงานจากความร้อนจากภูเขาไฟมาใช้ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร คิดเสมอคือทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิม จะทำอะไรได้อีก จะเห็นว่าแผนของโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น จะสร้างเป็นชุดกังหันขนาดใหญ่ ด้านเนเธอแลนด์ตั้งเป้าไว้ปี พ.ศ. 2593 ว่า 100% ของพลังงานจะเป็นพลังงานสะอาด หมายถึงไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปเลย โดยใช้พลังงานส่วนใหญ่จากพลังงานลม จากโซลาร์เซลล์ และมีพลังงานอื่นๆ เล็กๆ น้อย ในประเทศสวีเดน ขยะไม่พอให้กำจัด จึงเกิดโรงงานเผาขยะที่ประสิทธิภาพสูง ที่เผาแล้วได้พลังงานกลับมาใช้ (คลิกภาพเพื่อขยาย)

ที่มาภาพ : www.worldbank.org
ที่มาภาพ: www.worldbank.org
เครื่องดักจับคาร์บอน (Carbon Trapping Machine) ที่มาภาพ : www.fastcoexist.com
เครื่องดักจับคาร์บอน (Carbon Trapping Machine)
ที่มาภาพ: www.fastcoexist.com

“ที่สุดของที่สุดที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้คือต้นไม้ คำถามคือจะทำอย่างไรให้มีต้นไม้เพิ่ม ทำอย่างไรให้ต้นไม้ที่มีอยู่แล้วไม่โดนตัด ในต่างประเทศ เวลาผมไปประเทศแออัด แต่ตามระเบียงก็จะมีกระถางเล็กๆ ปลูกต้นไม้ ลักษณะแบบนี้ในเมืองไทยยังมีน้อย น่าจะทำกันให้ติดนิสัย รณรงค์กัน ผมนึกเล่นๆ ถ้าคำนวณน้ำหนักไว้ดีพอ หากตลอดแนวทางด่วนมีต้นไม้แขวนไว้ น่าจะเพิ่มความสามารถการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกมหาศาล”

ดร.นำชัยกล่าวต่อไปว่า การปลูกต้นไม้สำหรับหลายคนอาจจะคิดว่าประสิทธิภาพยังไม่ดีพอ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรดีกว่า แต่ในเชิงวิศวกรรม ได้มีการคิดค้นกลไกที่จะสามารถดึงคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแล้วอัดเป็นก้อน หรือมีคนพยายามจำลองการทำงานของใบพืช โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ฉะนั้น สิ่งที่ได้คือสามารถดึงเอาแสงแล้วมาผลิตเป็นแป้ง แต่ว่ามันเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ คือเทคโนโลยีจะมาเรื่อยๆ แต่คำถามคือ เราไม่มีทางรู้เลยว่าเทคโนโลยีอะไรจะมา แล้วจะดีพอไหม จะทันใช้งานหรือเปล่า

“ศัพท์ในวงการบอกว่า ถ้าจะสู้กับ climate change มี 2 อย่างคือ มี mitigation (รับมือให้เบาบาง) กับ adaptation (การปรับตัว) หลายอย่างเราทำให้มันไม่รุนแรงได้หลายอย่าง ถึงจุดหนึ่งทำไม่ได้ เราก็ต้องปรับตัวให้อยู่กับมัน”

ดร.นำชัยกล่าวสรุปถึงแนวทางที่สามารถเริ่มต้นทำได้ ดังนี้

  1. เคลื่อนจากพลังงานซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปยังพลังงานซึ่งไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และหาวิธีใช้พลังงานที่ลดลง

“มีใครสงสัยไหมว่าโฆษณาที่บอกว่าเปิดแอร์ 25 องศาฯ เอาตัวเลขมาจากไหน ผมสงสัยมาก ค้นแล้วค้นอีกว่าตัวเลขนี้อ้างอิงบนอะไร คำถามที่เกิดคือ ทำไมไม่เปิดสัก 27-28 องศา แล้วเปิดพัดลมด้วย เชื่อไหมว่าประหยัดพลังงานได้ จ่ายค่าไฟน้อยลง แล้วรู้สึกเย็นเท่าเดิม การที่เรารู้สึกเย็นไม่ได้ขึ้นกับอุณหภูมิเท่านั้น มันขึ้นกับกระแสอากาศที่วน”

  1. Reuse ทั้งหลาย แค่ใช้ถ่านแบบชาร์จก็ช่วยโลกมากขึ้น
  2. ช่วยกันปลูกต้นไม้ ปลูกสักต้นสองต้นก็ยังดี
  3. กินผักมากขึ้น กินเนื้อน้อยลง

“พลังงานในทางชีววิทยา มีกฎ 10% ใจความว่า เนื้อซึ่งเกิดจากการกินแต่ละทอดมันจะเหลือไปยังทอดต่อไป 10% เช่น พืช 100% สิ่งมีชีวิตที่กินพืชจะกินไปแล้วไปสร้างเป็นเนื้อตัวเองได้ไม่เกิน 10% เป็นค่าคร่าวๆ สิ่งมีชีวิตถ้ามีสัตว์อื่นมากินมันอีกก็จะไปเหลืออีกแค่ 10% สรุปว่า เป็น 1% จากพืช แล้วในระหว่างกระบวนการพวกนี้มันต้องหายใจออกไปสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ ฉะนั้น ถ้าเรากินพืชมากขึ้น ลดการกินสัตว์ มันช่วยโลก”

  1. อะไรถ้าซื้อในท้องถิ่นได้ ก็ช่วยอุดหนุนท้องถิ่น เพราะมีการใช้พลังงานมหาศาลไปกับการขนส่งสินค้า

“ทั้งหมดนี้เราทุกคนควบคุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ด้วยมือเรา เพียงแต่มากหรือน้อย”