ThaiPublica > Sustainability > Contributor > เปรียบปัญหาโลกร้อนกับการเพาะถั่วงอก

เปรียบปัญหาโลกร้อนกับการเพาะถั่วงอก

5 เมษายน 2023


ประสาท มีแต้ม

เปรียบปัญหาโลกร้อนกับการเพาะถั่วงอก…

เพราะว่าโลกของเรามีขนาดใหญ่โตมาก และการเปลี่ยนแปลงก็เป็นอย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบความรู้สึกของมนุษย์แต่ละคน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่ในช่วงอายุขัยของคนใดคนหนึ่งที่จะสามารถเห็นและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เข้าใจโลกได้ง่ายขึ้น ผมจึงย่อเวลาให้สั้นลงโดยขอเปรียบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกกับการเพาะถั่วงอก เพราะการเพาะถั่วงอกนั้นใช้เวลาเพียง 2-4 วันก็สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนแล้ว ไม่ต้องรอกันนานถึง 60-70 ปีหรือนานกว่านั้น

กล่าวอย่างสั้นๆ จุดใหญ่ใจความของประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้ก็คือ เมื่อถึงเวลาหนึ่งเราไม่สามารถทำให้ถั่วงอกกลับมาเป็นเมล็ดถั่วเขียวดังเดิมได้ กระบวนการเปลี่ยนแปลงในกรณีนี้ในทางวิทยาศาสตร์เราเรียกโดยรวมว่า เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถเอาคืนกลับมาได้ (irreversible process) ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนที่เป็นทีมงานขององค์การสหประชาชาติสรุปว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง ค.ศ. 1850-1900 ระบบภูมิอากาศของโลกจะกลับคืนมามีสภาพเดิมไม่ได้อีกแล้ว ความรุนแรงของภัยพิบัติที่เกิดจากระบบโลกจะมากขึ้นอย่างโกลาหลและคาดไม่ถึง

อาจจะมีบางคนแย้งว่า เราก็เอาถั่วงอกไปปลูกแล้วรอคอยเก็บผลิตผล เราก็จะได้เมล็ดถั่วเขียวคืนมา ผมเห็นว่ามันคนละประเด็นกัน เพราะเรามีเพียงโลกเดียว หากโลกพังไปแล้วก็พังเลย เราหาโลกใบใหม่ไม่ได้อีกแล้ว

ผมหยิบเรื่องนี้มาสื่อสารก็เพราะว่า คำนี้เป็น 1 ใน 2 คำที่ปรากฏอยู่ในรายงานการประเมินสถานการณ์ฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นองค์กรขององค์การสหประชาชาติ ที่เพิ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 นี่เอง

อีกคำหนึ่งคือ threshold (อ่านว่า เทรช’โฮลดฺ) หมายถึงระดับของสิ่งเร้าหรือแรงที่น้อยที่สุดที่ส่งผลให้ระบบเปลี่ยนแปลงได้ หากมีแรงมากระทำกับวัตถุหรือระบบใดๆ น้อยกว่าค่า threshold ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องมีแรงมากระทำที่มากกว่าค่า threshold เท่านั้นจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ที่ว่ามานี้เป็นความหมายเชิงทฤษฎีนะครับ แต่ในภาคปฏิบัติจริงก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น เกิดพายุ ไฟป่าและอื่นๆ ให้เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ

แต่ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของ 2 คำนี้อย่างละเอียด ผมขอลงภาพปกของรายงานดังกล่าวซึ่งเป็นรายงานตอนที่ 3 ของทั้งหมด 3 ตอนมาให้ดูกันเพลินๆ ก่อน พร้อมคำเตือนและสถานการณ์บางส่วน

อ้อ ขออีกนิดนะครับเพราะเป็นเรื่องสำคัญมากที่ไม่อยากให้เข้าใจกันผิดๆ โดยไม่ตั้งใจ ที่ผมกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นอย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบความรู้สึกของมนุษย์” นั่นเป็นความรู้สึกที่มนุษย์รับรู้ได้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โลกเราไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ โลกของหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลาด้วยความเร็ว 463 เมตรต่อวินาที เร็วว่านักวิ่ง 100 เมตรที่ได้เหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกถึง 50 เท่า แต่เราไม่รู้สึกว่าโลกกำลังเคลื่อนไหว นี่แหละคือปัญหาที่ผมจำเป็นต้องยกเรื่องถั่วงอกมาเปรียบ

กลับมาที่การเพาะถั่วงอกครับ ในช่วง 5-6 ชั่วโมงแรกหลังจากการนำเมล็ดถั่วเขียวไปแช่น้ำแล้ว เราแทบจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในเมล็ดถั่วเขียวเลย ไม่ได้พองขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่า หากเราเปลี่ยนใจ ไม่อยากจะเพาะแล้ว เราเอาเมล็ดถั่วเขียวไปตากแดด เมล็ดนี้อาจจะกลับมาเหมือนเดิมได้ คือเหมือนกับที่ไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย อาจจะนะครับ เพราะผมยังไม่เคยลองทำ

แต่หลังจากช่วงเวลา 5-6 ชั่วโมงแรกผ่านไปแล้ว เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเมล็ดถั่วเขียวอย่างรวดเร็ว มีหน่อสีขาวโผล่ออกมา เผลอแป๊บเดียวก็อาจจะเห็นใบอ่อนๆ ปล่อยไปอีกสักพักใบอ่อนๆ ก็เปลี่ยนเป็นสีเขียว ผมเองไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ดีพอ ตัวเลขที่ยกมานี้อาจจะไม่สมจริงก็ได้นะครับ แต่ขอพูดในเชิงหลักการเท่านั้น

ในวิชาฟิสิกส์ มีหลักการสำคัญที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ (ที่เป็นของแข็ง) ว่า วัตถุจะต่อต้านต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะของตนเองเสมอ ถ้ากำลังอยู่ในสถานะที่หยุดนิ่ง หากมีแรงที่มีขนาดไม่มากพอมากระทำก็จะไม่เกิดการเคลื่อนที่ หรือมีการขยับเพียงเล็กน้อยแต่ก็จะกลับเข้าสู่ที่เดิม ท่านสามารถทดลองได้ด้วยการเอานิ้วแหย่ไปที่ฟองไข่ที่วางอยู่บนโต๊ะที่พื้นเรียบ ไข่จะขยับไปข้างหน้าเล็กน้อยแล้วก็ขยับกลับมาที่ตำแหน่งเดิม แต่ถ้าแหย่แรงๆ ไข่ก็จะเคลื่อนที่ไปเลย

ระดับหรือขนาดของแรงที่น้อยที่สุดที่ทำให้ไข่เคลื่อนที่ได้ เขาเรียกว่า threshold ครับ การเคลื่อนที่ของคนก็คล้ายกัน การจะลุกจากสภาพที่กำลังนั่งก็ลำบาก ยิ่งเป็นคนอ้วนยิ่งลำบากมาก

การเพาะถั่วงอกก็ทำนองเดียวกันครับ ถ้าระยะเวลาไม่นานพอที่จะให้เกิดปฏิกริยาระหว่างเมล็ดถั่วเขียวกับน้ำไม่เหมาะกันพอดี ถั่วก็จะไม่งอก แต่เมื่องอกแล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก

กลับมาที่เรื่องโลกครับ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่จะทำให้โลกกลับมามีสภาพเดิมได้นั้นต้องไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และถือว่าค่า 1.5 องศาเซลเซียสเป็นค่า threshold สำหรับโลกใบเดียวของเรา

ถ้าอุณหภูมิของผิวโลกเกิน 1.5 องศาไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ตอบอย่างง่ายๆ ก็จะคล้ายกับการเพาะถั่วงอก กล่าวคือจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถั่วจะเติบโต เป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่ว่า “อัตราการเติบโตของสิ่งใดจะแปรตามมวลสารของสิ่งนั้น” ยิ่งมีมวลเยอะก็สามารถถูกแดดได้เยอะ ยิ่งถูกแดดเยอะก็สังเคราะห์แสงได้เยอะ และดูดน้ำได้เยอะด้วย

กล่าวสำหรับโลก ขณะนี้ (2023) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกโดยรวมแล้วมีอุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 1.1 องศาเซลเซียส แม้จะยังไม่ถึงค่า 1.5 องศาซึ่งเป็นค่า threshold แต่ก็มีภัยธรรมชาติ มีพายุ มีคลื่นความร้อน ฯลฯ แต่ถือว่ายังไม่รุนแรงมากเหมือนกับสถานการณ์ที่จะเลยค่า 1.5 องศาเซลเซียส

ความรุนแรงและความถี่ของพายุขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล อุณหภูมิที่สูงกว่าทำให้น้ำระเหยได้มากกว่า อย่าลืมว่าน้ำคือ “เชื้อเพลิง” ของพายุ ทำให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้น อยู่ได้นานขึ้นและเกิดบ่อยขึ้น

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา วานูอาตู ประเทศเล็กๆ และยากจน ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีประชากรประมาณ 3 แสนคน เจอกับพายุความรุนแรงระดับ 4 (จากทั้งหมด 5 ระดับ) ถึง 2 ลูก ภายในสัปดาห์เดียว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรามักจะไม่เคยเจอ

อีกเรื่องที่คนทั่วไปมักจะคิดไม่ถึง แต่นักวิทยาศาสตร์เข้าใจและติดตามอยู่ ก็คือ ความสามารถของดินกับน้ำในการรับความร้อนได้เร็วไม่เท่ากัน พื้นดินรับความร้อนได้เร็วกว่าน้ำ เรื่องนี้คนที่เดินเล่นชายหาดริมทะเลจะรู้ดี จากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ พบว่าในปี 2022 อุณหภูมิเฉลี่ยบนบกสูงถึง 1.7 องศาเซลเซียสแล้ว แต่ของน้ำในมหาสมุทรแค่ 0.9 องศาเซลเซียส ดังรูปประกอบ

การที่น้ำในมหาสมุทรร้อนช้ากว่าดิน ทั้งๆ ที่เป็นผู้เก็บความร้อนส่วนเกิน (ที่ถูกก๊าซเรือนกระจกขัดขวางไม่ให้หลุดออกไปจากชั้นบรรยากาศโลก) ถึง 90% ของความร้อนส่วนเกินทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณสมบัติของน้ำเอง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมหาสมุทรมีความลึกมาก ความร้อนจึงค่อยๆ ถูกส่งผ่านไปด้านล่าง ทำให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรร้อนช้าลง อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีในปัจจุบัน เพราะหากน้ำทะเลร้อนมากกว่านี้ น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายเร็วขึ้น เมื่อน้ำแข็งซึ่งมีสีขาวละลายหายไป สีของทะเลก็จะมีสีขาวน้อยลง มีสีฟ้า (สีเข้ม) มากขึ้น การสะท้อนแสงเกิดได้น้อย การดูดซับความร้อนไว้ในมหาสมุทรจึงมากขึ้น คราวนี้แหละน้ำทะเลจะร้อนเร็วขึ้น อุณหภูมิของน้ำทะเลจะถึงมากกว่าค่า threshold เร็วขึ้น

การที่อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นจะทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ส่งผลต่อการมีชีวิตของสัตว์น้ำลำบากมากขึ้น นำไปสู่หายนะทางด้านอาหารของมนุษย์ คงจะจินตนาการภาพออกนะครับว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เมื่อรวมหลายๆ ประเด็นเข้าด้วยกันมันจึงเป็นปรากฏการณ์โกลาหล ไร้ระเบียบที่ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาสู่สภาพเดิมได้

ดังนั้น ชาวโลกจึงต้องช่วยกันอย่าปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นค่า threshold โดยเด็ดขาด จบความหมายของคำสำคัญ 2 คำที่อยู่ในรายงานล่าสุดของ IPCC แล้วครับ

วิธีการมีอยู่แล้วในภาพแรกคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ซึ่งสามารถทำได้ โดยไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนลดลงแต่อย่างใด ฝุ่น PM2.5 ก็ลด

สหประชาชาติได้ออกคำเตือนเรื่องนี้มานาน 30 กว่าปีแล้ว แต่ในปี 2022 มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ระเบิดเวลาโลกร้อนกำลังใกล้เข้ามาแล้วครับ