ThaiPublica > คอลัมน์ > “คลื่นความร้อน” ฆาตกรหน้าใหม่ที่ต้องจับตา

“คลื่นความร้อน” ฆาตกรหน้าใหม่ที่ต้องจับตา

17 สิงหาคม 2022


ประสาท มีแต้ม

คลื่นความร้อนในฝรั่งเศส ที่มาภาพ : https://insideclimatenews.org/news/08072016/climate-change-blame-deadliness-2003-heat-wave-new-study-paris-london/

แม้ว่าช่วงนี้คือเดือนสิงหาคมประเทศเรากำลังเจอกับฤดูฝน ไม่ใช่ฤดูร้อนแต่ถ้าไม่กับตรงเวลาที่ฝนกำลังตกเราจะรู้สึกว่าอากาศร้อนอบอ้าวมากซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในช่วงก่อนฝนจะตกแต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือขณะนี้ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือทุกประเทศกำลังเจอกับ “คลื่นความร้อน(heatwave)” อย่างรุนแรง

ผมขอให้ google ช่วยหาข้อมูลพบว่า ในช่วง 12 มิถุนายน – 23 กรกฎาคม 2565 ชาวยุโรป 7 ประเทศได้เสียชีวิตด้วยเหตุที่สัมพันธ์กับคลื่นความร้อนไปแล้วถึง 5,466 คน ในจำนวนเป็นสเปน 2,742 คนเยอรมนี 1,636 คน โปรตุเกส 1,063 คน (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย) ในสหรัฐอเมริกาแม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่มากเท่า แต่มีประชากรกว่า 125 ล้านคน ได้รับการเตือนภัยจากคลื่นดังกล่าวแล้วแถมด้วยไฟป่าที่สร้างความสูญเสียนับหลายหมื่นเอเคอร์

เนื่องจากเราอาศัยอยู่บนโลกเดียวกัน เพียงแต่ฤดูกาลมาไม่พร้อมกันเท่านั้นเองในเมื่อฤดูร้อนของปีนี้ชาวยุโรปและทวีปอเมริกากำลังโดนอย่างหนักฤดูร้อนปีหน้าในบ้านเราอาจจะโดนบ้างก็ได้

ดังนั้นเราคนไทยจึงควรให้ความสนใจกับเหตุการณ์คลื่นความร้อนที่ไม่ธรรมดานี้ ซึ่งผมขอเรียกว่า “ฆาตกรหน้าใหม่” ของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาแรง แซงหน้าภัยพิบัติด้านอื่นๆไปหมดแล้วโดยที่ชาวโลกเราไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ

เรามาดูสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลก หรือจาก “ฆาตกร” ประเภทต่างๆในรอบ 120 ปีกันครับ

ข้อมูลดังกล่าวมาจาก Our World in Data ซึ่งจัดทำโดยองค์กรการกุศลที่ใช้ทีมวิจัยมากมหาวิทยาออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษโดยมุ่งไปที่ปัญหาใหญ่ๆของโลก เช่น ความยากจน โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ มีทั้งระดับประเทศและระดับโลก น่าสนใจมากครับ ทั้งเนื้อหาและวิธีการนำเสนอในรูปดังกล่าว เขาแสดงจำนวนผู้เสียเสียชีวิตด้วยขนาดของวงกลมหากมีจำนวนมากจนเด่นก็มีตัวเลขและชื่อเหตุการณ์สำคัญกำกับด้วย นับเป็นเทคนิคการสื่อสารที่เยี่ยมมากครับที่ผมบอกว่าเขามีวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจมากก็ตรงนี้แหละครับ ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์คณิตศาสตร์ข้อมูลที่มีจำนวนแตกต่างกันมากขนาดนี้ หากแสดงด้วย การพล็อตกราฟแบบธรรมดาที่เราเห็นกันบ่อยๆข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มากก็จะกดทับข้อมูลขนาดเล็กมากจนไม่เห็นอะไรเลยไม่สามารถเห็นความเป็นจริงอย่างรอบด้านได้

จากเรื่องดังกล่าว เขาแบ่งภัยพิบัติออกเป็น 6 ประเภท คือ แผ่นดินไหว (ซึ่งรวมถึงสึนามิด้วยเขาเรียกสึนามิในฝั่งอันดามันบ้านเราเมื่อปี 2547 ว่า Boxing Day Tsunami เพราะเกิดหลังวันคริสมาสต์ 1 วัน) ภูเขาไฟ พายุ อุณหภูมิอากาศสุดขั้ว(ส่วนใหญ่เกิดจากคลื่นความร้อน) ดินโคลนถล่ม และไฟป่า ประเภทที่ผมให้สนใจคืออุณหภูมิอากาศสุดขั้วมี่ 2 ประเด็นสำคัญ คือ

(1) ในช่วง 100 ปีแรก จาก 1900-2000 จำนวนผู้เสียชีวิตถูกแทนด้วยวงกลมขนาดเล็กมาก(แต่ก็มีคนเสียชีวิต) มีบางปีขนาดวงกลมโตขึ้นเล็กน้อย แต่ในปี 2003 และ 2010ได้เกิดคลื่นความร้อนในทวีปยุโรปและประเทศรัสเซีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 75,000 และ 57,000
คน ตามลำดับ

(2) สังเกตได้ด้วยตาเปล่าก็เห็นว่า ในปี 2019-2020 จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยคลื่นความร้อนมีมากกว่าประเภทอื่นๆนี่เป็นแนวโน้มที่น่ากลัวและอันตรายอย่างยิ่งสอดคล้องกับรายงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมีมากที่สุด

คลื่นความร้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร

การเกิดขึ้นของคลื่นความร้อนเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมาก แต่หากคิดอย่างง่ายๆ ก็ได้ 4ขั้นตอนดังรูปประกอบ นอกจากนี้เราลองคิดเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เราได้จากการใช้กระทะซิครับแล้วจะเข้าใจมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า คลื่นความร้อนสามารถเกิดได้ทุกพื้นที่ของโลกโดยที่ขนาดของโดมของความกดอากาศสูงมีขนาดกว้างขวางมาก (ครอบคลุมข้ามประเทศ ดังรูปประกอบ)ความสูงของโดมก็อาจสูงถึงนับสิบกิโลเมตร อุณหภูมิของอากาศอาจจะสูงกว่าสภาพปกติ(ซึ่งสูงอยู่แล้ว) ถึง 5-15 องศาเซลเซียส ผลกระทบจากคลื่นความร้อนไม่ได้ทำให้ผู้คนรู้สึกร้อนหรือทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องเสียชีวิตเท่านั้น
แต่ส่งผลไปถึงผลเสียหายทางการเกษตร ความอดยาก ชั่วโมงในการทำงานกลางแจ้งลดลง ขาดแคลนรายได้การขาดแคลนน้ำ มีไฟป่า รวมถึงในบางกรณีภายหลังคลื่นความร้อนจบลง อาจมีฝนตกหนักและน้ำท่วมดินโคลนถล่มตามมาด้วย เช่น กรณีประเทศปากีสถาน เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่าง คลื่นความร้อนกับปรากฎการณ์ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จากข้อมูลของ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)ซึ่งได้รวบรวมโดยวิกิพีเดีย สรุปว่า “คลื่นความร้อนได้เกิดขึ้นบ่อยขึ้นบนแผ่นดินและมีความรุนแรงขึ้นเกือบจะทุกพื้นที่นับตั้งทศวรรษ1950 เป็นต้นมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของ US.EPA (องค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา) ที่พบว่าในช่วง 60 ปี นับจาก ค.ศ.1961-2010 คุณสมบัติทั้ง 4ประการของคลื่นความร้อนเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากขึ้น คือ (1) เกิดบ่อยขึ้น (2) แต่ละครั้งเกิดนานขึ้น (3)ฤดูกาลเกิดนานขึ้น และ (4) ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังรูปประกอบ

Dr. James Hansen นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การ NASAสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยผลงานวิจัย พบว่า ในช่วง 1951-1980 บริเวณพื้นดินที่เกิดคลื่นความร้อนมีเพียง 1%ของโลกเท่านั้น แต่ในอีก 30 ปีถัดมา คือ 1981-2010 พื้นที่ดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นเป็น 10% และในช่วง 2006-2010 เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% แล้ว

“มันไม่มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์(ที่จะอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นความร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) แต่ตอนนี้เราได้ประสบการณ์จากความจริงทางวิทยาศาสตร์เราสามารถพูดด้วยความมั่นใจในระดับสูงว่า คลื่นความร้อนจะไม่รุนแรงขึ้น หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Dr.James Hansen กล่าวกับผู้สัมภาษณ์ (ข้อมูลจาก Climate Central)

ผมเข้าใจว่า ผู้วิจัยใช้หลักการทางสถิติมาวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากในปี 2016 Dr. James Hansen ได้ โพสต์ว่า

“ในฤดูร้อนของพื้นที่เขตร้อนและในตะวันออกกลางกำลังตกอยู่ในอันตราย ที่เริ่มเข้าสู่สภาพ ที่สิ่งมีชีวิต ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ (becoming practically uninhabitable) ภายในก่อนสิ้นศตวรรษนี้ หากชาวโลกยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในอัตราปกติที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

เอ๊ะ! ไปๆมาๆ คลื่นความร้อนชักจะเกินกว่าคำว่า “ฆาตกรหน้าใหม่” แล้วนิ