นายกฯสั่งพลังงานหามาตรการแก้ค่าไฟแพง ชง ครม.สัปดาห์หน้า ขอให้ทูตสหรัฐฯ เสนอผลตอบแทนการค้าก่อนตัดสินใจซื้อ F-16 แถลงงบฯกลางปี’67 ต่อสภาฯพรุ่งนี้ นัดคลังถกเรื่องจัดเก็บรายได้ 19 ก.ค.นี้ รับซื้อ ‘ปลาหมอคางดำ’ โลละ 15 บาท – สั่ง ‘ธรรมนัส’ หาต้นตอมาจากไหน สั่ง ผบ.ตร.สอบเหตุฆาตกรรมชาวเวียดนาม 6 ศพ มติ ครม.ไฟเขียว ‘หวยเกษียณ’ ลุ้นรับ 1 ล้าน ทุกวันศุกร์ BEM คว้าสัมปทาน ‘รถไฟฟ้า สีส้ม’ 10 ปีแรก เก็บค่าตั๋ว 15 – 44 บาท ไฟเขียวซอฟต์โลนออมสิน 1 แสนล้าน ลงบัญชี PSA ลดเงินนำส่งกองทุนแบงก์รัฐ 0.125% ถึงสิ้นปี’67 ประกันภัย’ ‘ข้าวนาปี’ ปี’67 วงเงิน 2,302 ล้าน รับทราบ ปชช.ร้องทุกข์ผ่าน 1111 – ทส.มากสุด 1,877 เรื่อง
เข็น “หวยเกษียณ” รองรับสังคมผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแนวทางในการส่งสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อออมยามเกษียณ เป็นสลากดิจิทัลขายผ่านช่องทางออนไลน์
อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขในการจำกัดการซื้อสลากต่อคนได้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน โดยจำนวนเงินที่ซื้อสลากจะถูกเก็บเป็นสะสมเฉพาะบุคคล แต่จะได้รับเงินที่ซื้อสลากคืนทั้งหมดในรูปแบบของเงินบำเหน็จเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์
ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคม Aging Society ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก โดยโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดการออม ซึ่งรัฐบาลสร้างแรงจูงใจในรูปแบบของเงินรางวัล และทำให้รัฐสามารถลดงบประมาณในการดูแลกลุ่มเปราะบางเฉพาะนี้
เผย ‘ออมสิน’ ไม่รับงบฯชดเชย ‘ซอฟต์โลน’ 1 แสนล้าน
นายเศรษฐา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเรื่องการแยกบัญชีโครงการสินเชื่อ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชนรายย่อย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน GSB Boost Up ของธนาคารออมสินวงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Sevice Account : PSA) โดยไม่ต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม แต่อย่างใด
ขยายเวลากองทุนช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ FTA อีก 20 ปี
ส่วนประเด็นที่ 3 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ในการขอขยายระยะเวลาดำเนินการของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันของประเทศ ออกไปเป็นระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2567 ถึง 19 กรกฎาคม 2587 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี หรือ FTA โดยมีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 130,706 ครัวเรือน
จ่ายค่าสินไหมประกันภัยข้าวนาปี 100% ทุกกรณี
ส่วนเรื่องที่ 4 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอโครงการให้ประกันภัยข้าวนาปี ฤดูการผลิตปี 2567 โดยให้เกษตรกร เป็นผู้รับประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทน 100% จากทุกกรณี และให้มีการศึกษามาตรการเยียวยาเกษตรกร เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลในอนาคต โดย รมว.คลัง และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงต่อไป
ไฟเขียว BEM คว้าสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม
เรื่องที่ 5 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาร่วมลงทุนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้องในทุกคดี และร่างสัญญาร่วมลงทุนได้ผ่านการตรวจพิจารณาของอัยการสูงสุดแล้ว โดยให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงในรายละเอียดต่อไป
ขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดประเภท 3
เรื่องที่ 6 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอร่างกฎกระทรวงการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 และตำรับวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือ ในประเภท 4 เพื่อกำหนดกระบวนการขึ้นทะเบียน สำหรับยาเสพติดและตำรับวัตถุออกฤทธิ์ให้มีคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งเพื่อควบคุมและกำกับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลของยาเสพติดและนำไปใช้ไปในทางที่ผิด
แถลงงบฯกลางปี’67 ต่อสภาฯพรุ่งนี้
ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเองหรือจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีไปชี้แจง
นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมไปเองครับจะมีการแถลง และเข้าใจว่าจะต้องมีการอ่านนิดหน่อย ซึ่งผมจะเดินทางไปเอง”
กำชับ ‘เผ่าภูมิ’ ลงพื้นที่ให้มากขึ้น
ถามต่อว่าในช่วงเช้าวันนี้ (16 ก.ค.) ก่อนการประชุม ครม.มีรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเข้าพบ ได้มีการหารือหรือกำชับประเด็นอะไรพิเศษหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อเช้ามีรัฐมนตรีหลายท่านมาแต่เช้า จึงได้ไปพบและพูดคุยกันในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเท่าที่ได้มีการพูดคุยกับ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกำกับดูแลกรมธนารักษ์อยู่ ผมจึงได้กำชับให้ลงพื้นที่ให้บ่อย และมากขึ้น ซึ่งท่านลงพื้นที่อยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ลงพื้นที่เพิ่ม
นัดคลังถกเรื่องจัดเก็บรายได้ 19 ก.ค.นี้
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า จากนั้นได้พบกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้พูดคุยกันถึงเรื่องการลงพื้นที่เช่นเดียวกัน รวมทั้งให้ดูแลในเรื่องของเฟคนิวส์ ซึ่งช่วงมีเยอะเหลือเกิน ก็ได้มีการกำชับลงไป และมีพุดคุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็พูดคุยกันเรื่องทั่วไป และตามเรื่องของโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีดูแลอยู่ เพราะเราจะมีการพูดคุยกับรัฐมนตรีจากกระทรวงการคลังทั้ง 3 ท่าน บวกกับอธิบดีที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดหารายได้ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคมนี้ โดยได้ให้โจทก์ไปว่าเราจะมีการพูดคุยเรื่องเรื่องอะไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการติดตามงานธรรมดาไม่ได้มีอะไร
เปิดลงทะเบียนแจกเงินหมื่น 1 ส.ค.นี้ – ใช้เวลาเดือนครึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามกรณี วันที่ 1 สิงหาคม ที่จะเปิดลงทะเบียนโครงการดิจิทัล วอลเล็ตมีความคืบหน้าหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า ตามนั้นเลย และให้รอฟังการแถลงข่าวในวันที่ 24 กรกฎาคม นี้ ส่วนการลงทะเบียนในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 จะใช้เวลาในการลงทะเบียนประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง
โยน ‘ธรรมนัส’ แจง “ปุ๋ยคนละครึ่ง” เดินหน้าต่อหรือไม่
ถามถึง ความคืบหน้าโครงการปุ๋ยคนละครึ่งมีการหาที่ประชุม ครม.หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า ยังไม่มี
ถามต่อว่า ได้มีการสอบถาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ หรือไม่ว่าจะเดินหน้าหรือจะหยุด นายเศรษฐา ตอบว่า ได้ให้ ร.อ.ธรรมนัสพิจารณา ท่านกำลังดูอยู่
รับซื้อ ‘ปลาหมอคางดำ’ โลละ 15 บาท – สั่ง ‘ธรรมนัส’ หาต้นตอมาจากไหน
ถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ นายเศรษฐา ตอบว่า ร.อ.ธรรมนัส แถลงไปแล้วไม่ใช่หรือว่าจะขึ้นราคารับซื้อจากราคากิโลกรัม 8 บาท เป็นกิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องหาต้นตอว่ามันมาจากไหน
ถามว่า โครงการหวยเกษียณได้มีการประเมินหรือไม่ว่าจะได้ประโยชน์กับประชาชนอย่างไร และจะได้รับความนิยมแค่ไหน นายเศรษฐา ตอบว่าได้บอกไปแล้วเป็นเรื่องของการออม และจะช่วยกลุ่มที่เปราะบางเวลาเกษียณที่จะได้รับเงินคืน
กำชับ รมต.แก้เฟคนิวส์ วอนอย่าไปให้ราคา
มีหลายอย่างมาก แต่อย่าไปให้ราคาตรงนั้นเลยดีกว่า เดี๋ยวจะเป็นการไปช่วยขยายผลในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผมรู้อยู่แล้ว ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องอะไรสั่งพลังงานหามาตรการแก้ค่าไฟแพง ชง ครม.สัปดาห์หน้า
ถามถึงการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงอย่างไร นายเศรษฐา ตอบว่า วันนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ไม่ได้เข้าประชุม ครม. แต่ก็จะมีการโทรศัพท์ไปพูดคุย และสั่งการไป คาดว่าที่ประชุม ครม.ครั้งถัดไปหน้า น่าจะมีมาตรการออกมา
เมื่อถามว่า จะใช้วิธีการตรึงราคาไว้หรือจะปรับมาตรการใหม่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ตามที่บอกไปเมื่อกี้ครับ
ยังไม่เคาะซื้อเรือดำน้ำ ขอหารือ ‘สุทิน’ ก่อน
ผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ไขสัญญาเรือดำน้ำ ที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์จีน รุ่น CHD 620 นายเศรษฐา ตอบว่า ยังเลยครับ ยังไม่มีการพูดคุย ว่าจะคุยส่วนตัวว่ากับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่นายสุทิน ลาประชุม ครม.เพราะปวดฟัน
ขอให้ทูตสหรัฐฯ เสนอผลตอบแทนการค้าก่อนตัดสินใจซื้อ F-16
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีรายงานว่ารัฐบาลอยากจะได้การแลกเปลี่ยนสินค้าจากจีนมากขึ้นใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า ก็เป็นหนึ่งในข้อต่อรอง และไม่ใช่แค่เรื่องเรือดำน้ำอย่างเดียว แต่รวมถึงโครงการเครื่องบินรบด้วย ระหว่างเครื่องบิน Gripen E จากสวีเดน และ F-16 Block 70 ต้องมีการพูดคุย เขาเรียกว่า “การตอบแทนทางการค้า” หรือ “Offset Policy” ที่ไม่ใช่ แค่ราคาอย่างเดียว ไม่อยากจะมาคุยเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เราจะมีการพูดคุยเรื่องการอนุมัติ เอาหรือไม่เอาจะต้องครบทั้งหมด และสรุปเลย
นายเศรษฐา บอกด้วยว่าเมื่อวานนี้ (15 ก.ค.) ได้โทรไปพูดคุยกับเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ว่าเรื่องของเครื่องบิน F-16 Block 70 ที่จะเสนอมาก็อยากให้เสนอ Offset Policy พร้อมกับราคามาด้วย เพื่อเตรียมพิจารณาเพื่อตัดสินใจ
ถามว่า จะให้เวลาต่อไปใช่หรือไม่ ภายหลังกองทัพอากาศได้ส่งผลสรุปคะแนน Gripen E ชนะ F-16 มาแล้ว นายเศรษฐา ตอบว่า ส่วนตัวคิดว่ายังสรุปไม่ได้ เพราะยังไม่มีเรื่องของนโยบายการชดเชย หรือ Offset Policy มา ก็พยายามทำให้เร็วที่สุด เพราะทั้ง 2 บริษัทก็ต้องเต็มที่ เพราะไม่ใช่เงินเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนให้คุ้มค่าที่สุด ก็ขอความเห็นใจแล้วกันตรงนี้ ว่ามันต้องดูให้ดี
ถามว่า มีการกำหนดระยะเวลาหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า ผมไม่ทราบจริงๆ ในเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วนขนาดไหน แต่ยืนยันว่าหากยังไม่มีความพร้อม ข้อมูลไม่ครบ ก็ไม่ตัดสินใจ
ถามว่ากองทัพอากาศมีอำนาจในการตัดสินใจจะซื้อเครื่องบินรบแบบใด ยืนยันได้หรือไม่ว่าทางรัฐบาลจะไม่ล้วงลูกไปเปลี่ยนให้ซื้อตามแบบที่รัฐบาลอยากได้ แต่จะเป็นการพิจารณาและคิดร่วมกันหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า แน่นอน เราทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งทางกองทัพอากาศ ก็เข้าใจเรื่องของ Offset Policy ผมไม่ไปก้าวก่ายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างอยู่แล้ว
สั่ง ผบ.ตร.สอบฆาตกรรมชาวเวียดนามดับ 6 ศพ โรงแรมดังย่านราชประสงค์
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีสั่งการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ ควบคุมสถานการณ์ กรณีเกิดเหตุฆาตกรรมภายในโรงแรมดังย่านราชประสงค์ เบื้องต้นทราบมีผู้เสียชีวิต 6 ราย จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้เกิดผลกระทบและอันตรายต่อประชาชน เบื้องต้นทราบว่าผู้เสียชีวิตเป็นชาวเวียดนาม สัญชาติอเมริกัน โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยโดยด่วนด้วยความเคร่งครัดรอบคอบรัดกุม ไม่ต้องการให้กระทบภาพลักษณ์ รวมทั้งเร่งตรวจสอบไม่ให้เกิดผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว
มติ ครม.มีดังนี้
ไฟเขียว ‘หวยเกษียณ’ ลุ้นรับ 1 ล้านบาท ทุกวันศุกร์
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักการตามแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว กอช. จะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้ เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ในส่วนที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และมอบหมายให้ กอช. ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินโครงการสลากสะสมทรัพย์ต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และในปี 2576 คาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ซึ่งแนวโน้มของผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณในการดูแลด้านหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุด้วย แม้ว่าปัจจุบันระบบบำนาญและระบบสนับสนุนการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ สำหรับผู้สูงอายุจะครอบคลุมประชากรวัยทำงานทุกกลุ่มทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ แต่ความท้าทายหลักยังเป็นเรื่องของความไม่ยั่งยืนทางการเงินจากแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และความไม่เพียงพอของรายได้ที่จะได้รับจากระบบการออมต่างๆ ในวัยสูงอายุ ดังนั้น เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด โดยเฉพาะการดูแลประชาชนกลุ่มแรงงานนอกระบบไม่ให้อยู่ในภาวะยากจนในวัยชรา ลดภาวะพึ่งพิงของประชาชน และลดภาระงบประมาณของรัฐมรการดูแลผุ้สูงอายุ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนากลไกการออมเพื่อรองรับการเกษียณสำหรับแรงงานนอกระบบ และสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานนอกระบบมีการสะสมเงินออมได้อย่างเพียงพอ และต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อใช้จ่ายในวัยสูงอายุ
นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ กค. ศึกษาแนวทางส่งเสริมการออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมให้เกิดความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ โดยให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อ ครม. พิจารณาในโอกาสแรก ประกอบกับพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มีบทบัญญัติที่ยังไม่ครอบคลุมการส่งเสริมการออมสำหรับแรงงานนอกระบบทั้งหมด จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเพื่อขยายให้ครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเป็นกลไกการออมสำหรับแรงงานนอกระบบในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะกรรมการ กอช. ในการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของ กอช. เพื่อรองรับการเกษียณแก่ประชาชน รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ผู้สูงอายุและโครงสร้างประชากรในประเทศ โดยใช้วิธีดำเนินโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว กอช. จะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้ เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับหลักการโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ รายละเอียดโครงการสรุปได้ ดังนี้
วัตถุประสงค์
-
1. ขยายโอกาสให้ผู้ประกันตนตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 และกลุ่มแรงงานนอกระบบมีทางเลือกในการออมแบบสมัครใจเพิ่มมากขึ้น
2. กระตุ้นและเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบการออมเพื่อให้เกิดความมั่นคงทงการเงินในวัยเกษียณ
3. ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่อาจจะกลายเป็นคนยากจนในวัยเกษียณอายุ
4. ลดภาระทางการคลังในระยะยาวสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งสามารถลดการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ผู้มีสิทธิซื้อสลาก – สมาชิก กอช. ปัจจุบัน ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
เป้าหมายโครงการ – การมีจำนวนสมาชิกประเภท ข. (บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 (ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพหรือเป็นบุคคลอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวง โดยรัฐบาลไม่จ่ายเงินสมทบ)) ไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ภายในระยะเวลา 3 ปี (คาดว่าจะมีสมาชิกที่จะเข้าร่วมโครงการ 0.36-21 ล้านคนต่อปี)
รูปแบบการดำเนินโครงการที่สำคัญ ดังนี้
-
1. ออกสลากเริ่มต้นประมาณ 5 ล้านใบต่องวด (ต่อสัปดาห์) หรือ 260 ล้านใบต่อปี โดยกำหนดออกรางวัลทุกวันศุกร์ (รวม 52 งวดต่อปี) ในราคาขายใบละ 50 บาท คิดเป็นเงิน 250 ล้านบาทต่องวด หรือ 13,000 ล้านบาทต่อปี
2. กำหนดรูปแบบสลากเป็นสลากดิจิทัล (สลากขูดดิจิทัล) โดยผู้ซื้อลงทะเบียนการซื้อและซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ในลักษณะแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ จำกัดการซื้อสลากต่อคนได้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน หรือคนละไม่เกิน 60 ใบต่องวด
3. จำนวนเงินที่ซื้อสลากจะถูกเก็บเป็นเงินสะสมเฉพาะบุคคล โดยจะได้รับเงินที่ซื้อสลากคืนทั้งหมดในรูปแบบเงินบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่สมทบเงินให้กับผุ้ซื้อสลากและไม่รับประกันผลตอบแทนจากการซื้อสลาก
4. เมื่อสมาชิกประเภท ข. อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กอช. จะจ่ายเงินบำเหน็จผ่านพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือจ่ายเงินบำเหน็จให้กับผู้รับผลประโยชน์ผ่านพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีสมาชิกประเภท ข. เสียชีวิต)
เงินรางวัล
-
1. เงินรางวัลกรณีถูกรางวัลจะได้รับเมื่อประกาศผลตามวันเวลาที่คณะกรรมการ กอช. กำหนด
2. กำหนดรูปแบบรางวัลต่องวด (1 สัปดาห์) รวมเงินรางวัล 780 ล้านบาทต่อปี ดังนี้ รางวัลที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล รวมเงินรางวัล 5 ล้านบาท รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล รวมเงินรางวัล 10 ล้านบาท
3. การออกรางวัลจะดำเนินการโดย กอช. ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
4. การรับเงินรางวัล กอช. จะจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ถูกรางวัลผ่านบัญชีพร้อมเพย์หมายเลขบัตรประชาชนไม่เกินวันถัดไป
งบประมาณ
-
1. โครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ ในปีแรกใช้งบประมาณ 830 ล้านบาท ประกอบด้วย (1.1) เงินรางวัลจำนวน 780 ล้านบาทต่อปี (1.2) การพัฒนาระบบเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน ระบบ Clearing และระบบงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 20 ล้านบาท (1.3) โครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 30 ล้านบาท
2. ขอรับการสนับสนุนเงินรางวัลจากรัฐบาล งวดละ 15 ล้านบาท รวม 780 ล้านบาทต่อปี (คิดเป็นร้อยละ 6 ของเงินซื้อสลากที่สะสมเข้ากองทุนประมาณปีละ 13,000 ล้านบาท) หรือในจำนวนที่มีความเหมาะสมกับปริมาณการออกสลาก และความต้องการของสมาชิกเป้าหมาย
โดยแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกเพื่อรองรับการเกษียณ ผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ ดังกล่าว เป้นแนวทางเบื้องต้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้ กอช. จัดทำประมาณการความเสี่ยงของภาระทางการคลังที่จะเพิ่มขึ้นในกรณีต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางรองรับไว้ล่วงหน้า และให้เร่งศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทางเลือกของรูปแบบการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการออมด้วยเงินรางวัล (prize – linked savings) ทั้งจากกรณีในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นพฤติกรรมการออมและการใช้จ่ายของแรงงานนอกระบบ ผลตอบแทนที่สมาชิกจะได้รับตลอดระยะเวลาการออมของโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ สภาวะการแข่งขันจากผลิตภัณฑ์คู่แข่ง และแนวทางการบริหารเงินลงทุนของโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดแนวทาง ซึ่งจะทำให้โครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ สามารถสร้างรายได้เพื่อใช้เป็นต้นทุนของเงินรางวัล และครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ กอช. ได้อย่างมั่นคง รวมทั้งช่วยลดภาระทางการคลังและความเสี่ยงทางการเงินของโครงการดังกล่าวได้ด้วย
เห็นชอบ BEM คว้าสัมปทาน ‘รถไฟฟ้า สีส้ม’ 10 ปีแรก เก็บค่าตั๋ว 15 – 44 บาท
นายชัย กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยโครงการนี้เป็นคดีมหากาพย์ที่มีการฟ้องร้องกันตั้งแต่ศาลปกครองกลางไปจนถึงศาลปกครองสูงสุด จนกระทั่งล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินยกฟ้องแทบทุกกรณี ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ผ่านการตรวจทานของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำเสนอที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจาก BEM ยื่นข้อเสนอดีกว่าคู่แข่ง คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ITD”
“สำหรับเงื่อนไขการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนฯโครงการนี้มีหลักการสำคัญ คือ บริษัทไหนยื่นข้อเสนอ ขอรับงบประมาณในการก่อสร้างหักลบด้วยผลตอบแทนที่ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอให้กับ รฟม. หรือ “ขอรับงบฯสนับสนุนสุทธิจากภาครัฐ” น้อยกว่าเป็นผู้ชนะการประมูล ปรากฏว่า BEM ขอรับงบฯสนับสนุนสุทธิจากรัฐแค่ 78,000 ล้านบาท จึงเป็นผู้ชนะ ขณะที่ ITD คู่แข่งเสนอขอรับงบฯสนับสนุนสุทธิจากรัฐกว่า 102,000 ล้านบาท” นายชัย กล่าว
นายชัย กล่าวต่อว่าสัมปทานโครงการนี้มีอายุ 30 ปี โดยเริ่มนับอายุสัญญาตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออกตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยถึงมีนบุรีเปิดให้บริการ ซึ่งในขณะนี้ รฟม.ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2571 ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ถึงศูนย์วัฒนธรรมฯ คาดว่าก่อสร้างเสร็จในช่วงปลายปี 2573 ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันประมาณ 2 ปีครึ่ง แต่อายุของสัมปทานจะนับ 30 ปี เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออกเปิดให้บริการ
“ส่วนอัตราค่าโดยสารที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกได้มีการเจรจาตกลงกับ BEM ว่า ใน 10 ปีแรก เก็บค่าโดยสารจะอยู่ที่ 15 – 44 บาท หลังจากปรับราคาขึ้นตามอัตราค่าครองชีพเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 2 ปี ดังนั้น ในช่วง 10 ปีแรก การจัดเก็บอัตราค่าโดยสารจะเป็นไปตามที่กล่าว โดยที่ภาครัฐไม่ต้องจัดงบประมาณมาอุดหนุน ซึ่ง ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด” นายชัย กล่าว
ประกันภัย’ ‘ข้าวนาปี’ ปี’67 วงเงิน 2,302 ล้าน
นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. ให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี (โครงการฯ) ปีการผลิต 2567 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวมการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยเพิ่มเติมโดยสมัครใจ (Tier 2) จำนวน 21 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณโครงการฯ รวม 2,302.16 ล้านบาท ประกอบด้วย
-
(1) วงเงินที่รัฐบาลอุดหนุนจำนวน 1,612.16 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) วงเงินงบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย Tier1 จำนวน 1,569.32 ล้านบาท และ (2) วงเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาล และเงินชดเชยจากรัฐบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงิน โดยคิดอัตราชดเชยด้วยอัตราต้นทุนทางการเงินจากรัฐบาล ในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2.73) จำนวน 42.84 ล้านบาท
(2) วงเงินที่ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จำนวน 690 ล้านบาท
โดยโครงการฯ ปีการผลิต 2567 สรุปได้ดังนี้
ผู้รับผลประโยชน์
-
(1) กรณีเกษตรกรเป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ให้ เกษตรกรผู้เอาประกันภัย เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวน
(2) กรณีเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซื้อเพิ่มเอง และเกษตรกรทั่วไป (ภาคสมัครใจ) – เกษตรกรผู้เอาประกันภัย
อัตราเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
-
tier 1 (1) ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 115 บาทต่อไร่ (2) เกษตรกรทั่วไป -พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่นำร่อง) 70 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 199 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 218 บาทต่อไร่
tier 2 -พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 60 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่
ความคุ้มครอง (1) ภัยธรรมชาติ 7 ภัย tier 1 1,190 บาทต่อไร่ และ tier 2 240 บาทต่อไร่ (2) ศัตรูพืชหรือโรคระบาด tier 1 595 บาทต่อไร่ และ tier 2 120 บาทต่อไร่
อัตราการอุดหนุนเบี้ยประกันภัย (เฉพาะ tier 1) รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 124.12 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 78.12 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส. อุดหนุน 46 บาทต่อไร่ (จำกัดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปีการผลิต 2566- 2567 และ (2) เกษตรกรทั่วไป
-
-พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่นำร่อง) 75.47 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 70.97 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 5 บาทต่อไร่
-พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 214 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 84 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 130 บาทต่อไร่
-พื้นที่ความเสี่ยงสูง 234.33 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 85.33 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 149 บาทต่อไร่
ธ.ก.ส. เริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยทั่วประเทศ (63 จังหวัด) ตั้งแต่วันที่ครม. มีมติถึง 31 กรกฎาคม 2567 ยกเว้นภาคใต้ (14 จังหวัด) สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2567 ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลประกอบการขออนุมัติต่อขอมตามมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพรบวินัยการเงินการคลังพ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว
ขยายเวลากองทุนฯช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ FTA อีก 20 ปี
นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินงานของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุนฯ) ออกไปเป็นระยะเวลา 20 ปี (ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ถึง 19 กรกฎาคม 2587) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติ (20 กรกฎาคม 2547) เห็นชอบในหลักการของการจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีในการพัฒนาโครงสร้างด้านเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนาคุณภาพตลอดจนการแปรรูป และการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 20 ปีแต่ปี 2548 – 2567 โดยจะสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงานในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567
กองทุนฯ ดังกล่าวยังมีความจำเป็นต้องดำเนินงานต่อไป เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำและกลไกของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี เป็นการเฉพาะให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียน เพื่อนำไปเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ และอาจมีการเจรจาการค้าเสรีอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต
หากกองทุนฯ สิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานจะส่งผลกระทบดังนี้ (1) ภาครัฐจะไม่มีกลไกในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐได้เจรจาเปิดการค้าเสรี (2) เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเปิดการค้าเสรีจะขาดแหล่งเงินทุนที่จะช่วยเหลือสนับสนุนในการโครงสร้างการผลิต และการพัฒนาคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และ(3) โครงการต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุนจะไม่มีเงินสนับสนุนต่อเนื่อง โดยเกษตรกรบางรายจำเป็นต้องส่งชำระเงินกองทุนก่อนเวลาตามแผนชำระคืน
ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 20 ปี รวมเป็นเงิน 998 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ จำนวน 34 โครงการ 11 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว ชา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว พริกไทย ผักเมืองหนาว โคเนื้อ โคนม และสุกรรวมทั้งทั้งสิ้น 1,183.25 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินยืม 620.92 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 562.33 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 130,706 ครัวเรือน
แหล่งงบประมาณที่จะใช้สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไปประกอบด้วย
-
(1) เงินและทรัพย์สินของกองทุนสะสม โดย ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนเงิน 541.059 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินสด 209.897 ล้านบาท สินทรัพย์ 3.022 ล้านบาท และลูกหนี้ 328.740 ล้านบาทซึ่งสามารถใช้หมุนเวียนสำหรับอนุมัติโครงการในช่วงปี 2567-2568 ได้ประมาณ 200 ล้านบาท และ
(2) ในกรณีที่เงินทุนหมุนเวียนของกองทุนฯ มีไม่เพียงพอจะเสนอของบฯ ประจำปี โดยคาดว่าจะเสนอของบฯ เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2568-2577 เฉลี่ยปีละ 208 ล้านบาท
กองทุนฯ ของ กษ. ไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เนื่องจากกองทุนของ กษ. มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรที่ทำการผลิตวัตถุดิบขั้นต้น ในขณะที่กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของ พณ. มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนระหว่าง 2 กองทุน อาจมีการกำหนดเงื่อนไข เช่น (1) กองทุนทั้ง 2 กองทุนอาจมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเกี่ยวกับโครงการที่เคยให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมา (2) ผู้ขอรับความช่วยเหลือในการผลิตสินค้าเกษตรอาจสามารถเลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือได้จากทั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของ พณ. หรือกองทุนฯ ของ กษ. แต่จะสามารถได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนใดกองทุนหนึ่งเท่านั้น เป็นต้น
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ ดังนี้
-
– กองทุนฯ เป็นกองทุนที่จัดตั้งตามพ.ร.บ. งบประมาณประจำปี ดังนั้น เห็นควรให้ กษ. จัดตั้งกองทุนโดยตราเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ประกอบกับมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี
– อาจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนที่จัดตั้งขึ้น
– ขอให้ดำเนินการไปตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
– สำหรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ขอให้ กษ. จัดทำแผนการปฎิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
– กษ. ควรประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อบูรณาการการดำเนินงานและสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ควรกำหนดรายละเอียด รูปแบบ เงื่อนไข วิธีการ และกลุ่มเป้าหมายของกองทุนฯ ให้มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและทุนหมุนอื่น
– กษ. ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรและเครือข่ายการพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีทั้งในปัจจุบันและในระยะต่อไป เพื่อให้สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือตามขอบเขตภารกิจของกองทุนฯ ให้มากขึ้น รวมทั้งติดตาม กำกับดูแล และประเมินผลการดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ อย่างใกล้ชิด
– กองทุนฯ ควรมีการดำเนินการในลักษณะที่มีความต่อเนื่อง และยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรต่อไปด้วย
เพิ่มอำนาจศาลภาษีอากรตัดสินคดีอาญา
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากร) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร
นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ เป็นการกำหนดให้ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยอนุโลม แก้ไขเพิ่มเติมการรับทราบกำหนดนัดของศาลในคดีภาษีอากรไม่ใช้กับคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร และแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีภาษีอากร เพื่อให้คู่ความดำเนินคดีไปคราวเดียวไม่ต้องแยกไปดำเนินคดีในอีกศาลหนึ่ง (ปัจจุบันคดีภาษีอากรในส่วนแพ่งดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลภาษีอากร ส่วนคดีภาษีอากรในส่วนอาญาดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรมอื่น) ซึ่งเป็นการลดภาระทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายของคู่ความ ศาล และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายภาษีอากรเพื่อจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐ และการให้ศาลภาษีอากรซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษ ด้านภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร จะเป็นผลให้การดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวกับอากรมีความถูกต้องและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อันเป็นการยกระดับในการคุ้มครองสิทธิของคู่ความในคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้มติเห็นชอบด้วยแล้ว
นายคารม กล่าวต่อไปว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลภาษีอากรสามารถพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร โดยจะมีการปรับปรุงอาคารที่ทำการศาลหรือก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลซึ่งจะมีผลกระทบด้านงบประมาณ เนื่องจากต้องมีการเพิ่มกรอบอัตรากำลังของข้าราชการตุลาการและข้าราชการศาลยุติธรรม เห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมร่วมกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมต่อไป
ขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติด-วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 – 4
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราค่าธรรมเนียมการขอขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 อาทิ โคเดอีน (ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดในรูปแบบยาน้ำ ยาเม็ดใช้รักษาอาการไอ บรรเทาอาการปวด) หรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 อาทิ เพนโตบาร์บิทาล (รูปแบบฉีด ยาเม็ดใช้รักษาโรคลมชัก ยานอนหลับ) หรือประเภท 4 อาทิ ไดอะซีแพม (รูปแบบยาฉีด ยาเม็ดใช้รักษากลุ่มโรควิตกกังวล ยานอนหลับ) เพื่อเป็นการกำหนดกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดและตำรับวัตฤออกฤทธิ์ให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งเพื่อเป็นการควบคุมและกำกับดูแลไม่ให้เกิดการรั่วไหลของยาเสพติดและนำไปใช้ในทางที่ผิด สรุปได้ดังนี้
-
1. ผู้ซึ่งจะขอขึ้นทำเบียน ต้องเป็นผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4
2. การยื่นคำขอขึ้นทะเบียน การยื่นคำขอขึ้นทะเบียนให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยแนบข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การยื่นคำขอ การแจ้ง และการติดต่อใด ๆ และการออกเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยหากมีเหตุไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการดังกล่าวได้ ให้ดำเนินการ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สธ. หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนด
3. การพิจารณาคำขออนุญาต กรณีที่คำขอขึ้นทะเบียน รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วนให้แจ้งให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยหากผู้ขอขึ้นทะเบียนไม่แก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ขอขึ้นทะเบียนไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไปและให้จำหน่ยเรื่องออกจากสารบบ กรณีที่คำขอขึ้นทะเบียน รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานถูกต้องครบถ้วนให้พิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 300 วัน โดยให้แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ กรณีที่ประสงค์จะต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียน ให้ยื่นคำขอภายใน 180 วัน ก่อนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนเดิมหมดอายุ และให้พิจารณาคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
4. อายุใบอนุญาต กำหนดให้อายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนมีอาย 7 ปี (เดิมกำหนดให้มีอายุ 5 ปี)
5. ค่าธรรมเนียม ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้ (1) ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ ฉบับละ 5,000 บาท (เดิมฉบับละ 2,000 บาท) (2) การอนุญาตให้แก้ไขรายการขึ้นทะเบียนตำรับ ฉบับละ 1,500 บาท (เดิมฉบับละ1,000 บาท) (3) การต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ เท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบสำคัญนั้น ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน สภา กาขาดไทย และหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ
ผ่านกฎกระทรวง เยียวยาผู้เสียหายจากมาตรการควบคุมโรคติดต่อ
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายค่าทดแทน เพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทน เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
นายคารม กล่าวว่า ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 48 บัญญัติให้ในการดำเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้ หากเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลใดจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรค ให้ทางราชการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้นั้นตามความจำเป็น ซึ่งการชดเชยความเสียหายดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการกำหนดมาตรการทางกฎหมายของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็น พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม สธ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเขยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. …. เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายในกรณีการดำเนินการของเจ้าพนักงานควบคมโรคติดต่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลใดจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคอันจะเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายของประชาชนที่เกิดขึ้น จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดให้ในกรณีที่มีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อแล้วเกิดความเสียหายขึ้น ให้ดำเนินการกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
-
(1) ในกรณีที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้รายงานด้วยตนเองถ้าความเสียหายเกิดขึ้นในเขตจังหวัด ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดรายงานต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่หากความเสียหายเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร รายงานต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ต้องดำเนินการภายใน 7 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความเสียหาย
(2) ในกรณีผู้เสียหายหรือทายาทโดยธรรมของผู้เสียหายได้ยื่นคำขอรับค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายด้วยตนเอง ให้ผู้เสียหายยื่นคำขอที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หากความเสียหายเกิดขึ้นในเขตจังหวัด หรือสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครหากเกิดความเสียหายขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร โดยต้องยื่นคำขอภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความเสียหาย โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครรายงานต่อรายงานต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
1.2 กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่พิจารณากำหนดค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยให้คำนึงถึงสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ ประโยชน์ที่ผู้เสียหายได้รับ รวมถึงโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายในทางอื่นด้วย ซึ่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับรายงาน และหาถมีเหตุจำเป็นอาจขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ไม่เกิน 30 วันนับแต่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โดยกำหนดให้พิจารณาค่าทดแทนเพื่อชดเขยความเสียหาย ดังนี้
-
(1) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
(2) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
(3) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานไต้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ประกอบการงาน ณ วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ไม่สมารถประกอบการงานได้ตามปกติ
(4) ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครพิจารณากำหนดค่าทดแทน เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้เสียหายนั้น ดังต่อไปนี้ 1) ค่าทดแทน ให้จ่ายเป็นเงินจำนวนตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 2) ค่าจัดการศพ ให้จ่ายเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท และ 3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ให้จ่ายเป็นเงินจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท
(5) ค่าเสียหายอื่นนอกจาก (1) (2) (3) และ (4) ให้จ่ายเป็นเงินตามจำนวนที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และ
(6) ในกรณีความเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของผู้เสียหาย ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครคำนึงถึงสภาพของทรัพย์สินนั้น ราคาตามท้องตลาด หรือราคาอ้างอิงจากทางราชการในวันที่เกิดความเสียหายและปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดความเป็นธรรม
1.3 ในกรณีที่กำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือทรัพย์สินของผู้เสียหายแล้ว ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดำเนินการ ดังนี้ 1) ในกรณีที่ค่าทดแทนความเสียหายเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 400,000 บาท ให้เสนอเรื่องไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อพิจารณากำหนดค่าทดแทนและดำเนินการเบิกจ่ายค่าทดแทนต่อไป 2) ในกรณีที่ค่าทดแทนความเสียหายเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 400,000 บาท ให้เสนอเรื่องไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณากำหนดค่าทดแทน โดยให้กรมควบคุมโรคดำเนินการเบิกจ่ายค่าทดแทนต่อไป
1.4 ในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือทรัพย์สินของผู้เสียหายต่อเนื่องกันหลายจังหวัดหรือระหว่างจังหวัดกับกรุงเทพมหานคร ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนายการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี รายงานต่อกรมควบคุมโรคภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือวันที่ได้รับคำขอจากผู้เสียหาย และให้กรมควบคุมโรคเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเพื่อพิจารณาค่าทดแทนต่อไป
“ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ เป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจ ตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน ๒๕๖๖) ซึ่งคณะรัฐมนตร์ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นขอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ครบกำหนด จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567” นายคารม กล่าว
รับทราบ ปชช.ร้องทุกข์ผ่าน 1111 มากสุด ทส. 1,877 เรื่อง
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีรายละเอียดดังนี้
1. สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 32,517 ครั้ง หรือคิดเป็น 17,050 เรื่องสามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ จำนวน 13,525 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 79.33 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3,525 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20.67 โดยหน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรกมีดังนี้
-
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (1,877 เรื่อง) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) (1,501 เรื่อง) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (750 เรื่อง) กระทรวงการคลั่ง (681 เรื่อง) และกระทรวงคมนาคม (468 เรื่อง)
(2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (153 เรื่อง) การประปาส่วนภูมิภาค (107 เรื่อง) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (102 เรื่อง) การไฟฟ้านครหลวง (87 เรื่อง) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (75 เรื่อง) (3) จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (796 เรื่อง) จังหวัดนนทบุรี (276 เรื่อง) สมุทรปราการ (186 เรื่อง) ปทุมธานี (156 เรื่อง) และชลบุรี (145 เรื่อง)
2 การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สรุปได้ดังนี้ 1) สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 17,050 เรื่อง มากกว่าไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,611 เรื่อง (มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 14,439 เรื่อง) 2) ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่
-
(1) การนำเข้าและส่งออกสัตว์นอกราชอาณาจักร โดยขอให้นำช้างพลายประตูผากับพลายศรีณรงค์ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกากลับสู่ประเทศไทย ซึ่ง สปน. ได้ประสานส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทส. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และ มท. รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้ว จำนวน 1,710 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,690 เรื่อง (ร้อยละ 98.83)
(2) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น การเปิดเพลงเสียงดังการแสดงดนตรีสด การรวมกลุ่มดื่มสุรา การรวมกลุ่มแข่งรถจักรยานยนต์ การจัดคอนเสิร์ต การจัดงานวัด ร่วม 1,608 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,471 เรื่อง (ร้อยละ 91.48)
(3) ไฟฟ้า เช่น ปัญหาไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ไฟฟ้าตกบ่อยครั้งขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ขอติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง ขอให้ตรวจสอบการคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติขอผันผ่อนการชำระค่าไฟฟ้า รวม 791 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 683 เรื่อง (ร้อยละ 86.34)
(4) การเสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐ เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวม 730 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 662 เรื่อง (ร้อยละ 90.68)
(5) ถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซมถนน ต้องปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีต เนื่องจากถนนชำรุด มีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อมีฝุ่นละอองจากการสัญจรของรถบรรทุก รวม 566 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 389 เรื่อง (ร้อยละ 68.73)
(6) โทรศัพท์ เช่น การให้บริการทางโทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรอสายนาน มีการต่อสายไปยังหน่วยงานย่อยภายในหลายครั้ง และคู่สายเต็ม รวม 561 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 450 เรื่อง (ร้อยละ 80.21)
(7) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน หลอกลวงให้โอนเงิน หลอกลวงให้ซื้อสินค้า หลอกลวงให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ รวม 488 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 313 เรื่อง (ร้อยละ 64.14)
(8) น้ำประปา เช่นขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลหรือไหลอ่อนเป็นบริเวณกว้าง การขอขยายเขตการให้บริการ ,ห่อน้ำประปาแตกชำรุด น้ำประปาขุ่นและมีตะกอน รวม 436 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 377 เรื่อง (ร้อยละ 86.47)
(9) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกหมิ่นประมาท รวม 409 เรื่องดำเนินการจนได้ข้อยุติ 319 เรื่อง (ร้อยละ 78)
(10)การจัดระเบียบการจราจร เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด การจอดรถกีดขวางทางจราจร ขอให้แก้ไขปัญหาระบบสัญญาณไฟจราจรซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่มีการจัดงานเทศกาล กิจกรรมประจำปีและการเดินทางกลับภูมิลำเนา รวม 354 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 300 เรื่อง (ร้อยละ 84.75)
3. ปัญหาและความต้องการของประชาชนที่ร้องทุกข์/หน่วยรับการประสานเรื่องร้องทุกข์ ดังนี้
-
1) การดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆประกอบด้วยผู้นำการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน (Chief Complaint Executive Officer: CCEO) เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานเรื่องราวร้องทุกข์ และเครือข่ายสายข่าว ซึ่ง สปน. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลกับหน่วยงานเครือข่ายในหลายโครงการ โดยได้รับข้อเสนอแนะให้ สปน. จัดให้มีการประกาศเกียรติคุณหรือรางวัลให้แก่หน่วยงานที่สามารถจัดการเรื่องร้องทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ และเป็นการสร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2) กรณีช้างพลายที่ส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรี เป็นประเด็นที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นจำนวนมากและต่อเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจกับปัญหานี้และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนรัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญและตรวจสอบข้อเท็จจริงและสื่อสารให้ประชาชนมั่นใจในความเป็นอยู่ของช้างพลาย
3) กรณีปัญหาความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันและการใช้บริการสาธารณูปโภค เช่น เหตุเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังรบกวน ปัญหาไฟฟ้า น้ำประปา ถนนและโทรศัพท์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงาน บูรณาการทำงานร่วมกันและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดอัตราการร้องเรียนซ้ำ
4) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน กลุ่มมิจฉาชีพยังคงมีวิธีการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อจนสูญเสียเงินและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการเชิงรุกร่วมกับการป้องกันและปราบปราม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กลโกง/กลลวงของกลุ่มมิจฉาชีพให้ประชาชนทราบอย่างทันท่วงที และครอบคลุมทุกช่องทางและทุกพื้นที่
4 ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ดังนี้
-
1) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนทราบตามระยะเวลาที่กำหนดรวมทั้งหาแนวทางเพื่อป้องกันการร้องเรียนซ้ำในประเด็นเดิม
2) มอบหมายให้ สปน. จัดให้มีการมอบประกาศเกียรติคุณหรือรางวัลให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องร้องทุกข์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบที่ดี (Best Practice) โดยจะพิจารณาจากการเข้ารับงานในระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์และผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จนได้ข้อยุติ หรือแนวทางอื่นใดที่มีความเหมาะสมที่จะส่งผลให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
3) มอบหมายให้ กต. ประสานทางการทูตเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงสภาพความเป็นอยู่ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของช้างพลาย และสื่อสารให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าช้างพลายได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี หรือหากมีความจำเป็นต้องนำช้างพลายกลับประเทศขอให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำกลับคืนสู่ประเทศต่อไก่
4) หน่วยงานควรมีการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรเชิงรุกกรณีมีประเด็นที่เป็นกระแสสังคม อีกทั้งกรณีที่มีการดำเนินนโยบาย/มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ควรสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน
ออก กม.ควบคุมการติดตั้งป้ายบนอาคาร
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือ สิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับความสูง และแนวร่นของป้ายบนหลังคา หรือ ดาดฟ้าของอาคารและป้าย หรือ สิ่งที่สร้างขึ้น สำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อเป็นการผ่อนปรนให้ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่มีอยู่ก่อนกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2558 ใช้บังคับและมีความมั่นคงแข็งแรงสามารถขออนุญาตก่อสร้างได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และคณะกรรมการควบคุมอาคารได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว ดังต่อไปนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับความสูงและแนวร่นของป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร และป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรง ดังนี้
-
1.1 ป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารต้องไม่ล้ำออกนอกแนวผนังรอบนอกอาคาร มีความสูงของป้ายไม่เกิน 6 เมตร และมีพื้นที่ป้ายไม่เกิน 75 ตารางเมตร (ไม่นำความสูงของอาคารมาพิจารณาด้วย เพื่อให้พิจารณาแต่เฉพาะความสูงของป้าย) ปัจจุบันกำหนดให้ป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารต้องไม่ล้ำออกนอกแนวผนังรอบนอกอาคาร มีความสูงของป้ายไม่เกิน 6 เมตร และมีความสูงของป้ายและอาคารรวมกันไม่เกิน 30 เมตร เมื่อวัดจากระดับพื้น และมีพื้นที่ป้ายไม่เกิน 75 เมตร
1.2 กำหนดขนาดความสูงของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้ายบนพื้นดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกิน 30 เมตร ยาวไม่เกิน 32 เมตร และต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินด้านที่ไม่อยู่ใกล้ถนนสาธารณะไม่น้อยกว่าความสูงของป้าย เว้นแต่ในกรณีที่ห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 6 เมตร ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านนั้น (เพื่อให้ขนาดความสูงของป้ายที่ก่อสร้างริมถนนสาธารณะ ไม่ถูกจำกัดความสูงที่ต้องวัดในทางราบจากขอบป้ายไปจนถึงกึ่งกลางของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้ป้ายนั้น) ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรงต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดในทางราบ 1 จากขอบป้ายไปจนถึงกึ่งกลางของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้ป้ายนั้น ต้องมีความสูงไม่เกิน 30 เมตร ยาวไม่เกิน 32 เมตร
1.3 ผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือ ตั้งป้ายที่มีอยู่ก่อนกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย ฯ พ.ศ. 2558 ใช้บังคับ ให้สามารถขออนุญาตก่อสร้างได้ ดังนี้
-
(1) ให้ดำเนินการตามข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะ ขนาด ระยะ ความสูง แนวร่น และพื้นที่ ตามที่กฎหมายกำหนดในขณะที่ก่อสร้างป้ายนั้น เช่น ป้ายที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2550 จะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยในกรณีที่ป้ายนั้นเป็นป้ายที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารจะต้องไม่ล้ำออกนอกแนวผนังรอบนอกของอาคาร และส่วนบนสุดของป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายต้องสูง ไม่เกิน 6 เมตร จากส่วนสูงสุดของหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคารที่ติดตั้งป้ายนั้น หรือในกรณีที่ป้ายนั้นเป็นป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้ป้ายนั้นที่สุด และมีความยาวของป้ายไม่เกิน 32 เมตร ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ (1) ป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารต้องไม่ล้ำออกนอกแนวผนังรอบนอกของอาคาร และ (2) ต้องไม่เพิ่มพื้นที่และความสูงของป้าย
(2) เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายดังกล่าว ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใหม่ใช้บังคับ พร้อมหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดที่แสดงได้ว่าเป็นป้ายที่มีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายฯ ใช้บังคับ ได้แก่ (1) หลักฐานการตรวจสอบป้ายตามมาตรา 32 ทวิ2 (2) หลักฐานการเสียภาษีป้าย และ (3) หลักฐานอื่น ๆ
ไฟเขียวซอฟต์โลนออมสิน 1 แสนล้าน ลงบัญชี PSA
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการแยกบัญชีโครงการให้สินเชื่อ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนรายย่อย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กค. รายงานว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ต้นทุนการผลิตและระดับราคาสินค้าทั่วไปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนในการประกอบอาชีพปรับตัวสูงขึ้น และยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ทำให้กำไรลดลงและประสบกับปัญหาด้านสภาพคล่อง ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขและบรรเทาลง ธนาคารออมสินจึงได้ดำเนินโครงการให้สินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนรายย่อย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up (ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารออมสินดำเนินการเองโดยไม่ได้ของบประมาณจัดสรรเพิ่มเติม)
สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up มีวัตถุประสงค์ – เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในด้านการลงทุนและเสริมสภาพคล่อง
วิธีดำเนินงาน – ธนาคารออมสินสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 100,000 ล้านบาทให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท (รวมทุกสถาบันการเงิน) ทั้งนี้ ภายใต้วงเงินดังกล่าวธนาคารออมสินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยตรงในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ
ระยะเวลาดำเนินงาน – ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน โดยให้เบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์โครงการ จึงเห็นควรขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์โครงการ โดยให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการสอบทานกระบวนการอนุมัติสินเชื่อและสุ่มทานสินเชื่อรายลูกหนี้ในโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ พร้อมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการสอบทานดังกล่าวเป็นการแยกเฉพาะจากธุรกรรมสินเชื่อประเภทอื่นๆ เป็นประจำทุกไตรมาสและรวบรวมรายงานดังกล่าวไว้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการสอบทานสินเชื่อสำหรับการเข้าตรวจสอบสถาบันการเงินประจำปีของ ธปท.
เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการกำกับดูแล การตรวจสอบและการประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐเพื่อฟื้นฟู และช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น กค. จึงเห็นควรเสนอการแยกบัญชีโครงการให้สินเชื่อดังกล่าวของธนาคารออมสินเป็นบัญชี PSA
โดยโครงการให้สินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชนรายย่อยของธนาคารออมสินมีรายละเอียดดังนี้
1. กลุ่มสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย 4 มาตรการ
1.1 สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ประกอบธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้สร้างโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท (2 มาตรการ)
-
1.1.1 สินเชื่อ GSB D – Home กระตุ้นเศรษฐกิจ
-
-อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.99 ต่อปี
-ระยะเวลากู้ไม่เกิน 4 ปี
1.1.2 สินเชื่อ GSB D – Home สร้างบ้านเพื่อคนไทย
-
-อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.5 ต่อปี
-ระยะเวลากู้ไม่เกิน 4 ปี
1.2 สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มประชาชนรายย่อยที่ต้องการซื้อหรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของการมีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท (2 มาตรการ)
-
1.2.1 สินเชื่อบ้านออมสินเพื่อคนไทย เพื่อซื้อ/ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย
-
-อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 1.95 ต่อปี
-วงเงินกู้ไม่เกิน 7 ล้านบาท
1.2.2 สินเชื่อ Top Up เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งบ้าน หรือสิ่งจำเป็นอื่นในการเข้าอาศัย
-
-อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.49 ต่อปี
2. กลุ่มสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อบรรเทาผลกระทบและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยการ Refinance สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูงในตลาด มาใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน ภายใต้โครงการ “สินเชื่อรีไฟแนนซ์เพื่อสังคม” ที่ดำเนินการภายในปี 2567 ประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย
2.1 สินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้าฐานราก (2 มาตรการ)
-
2.1.1 สินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Re – Nano) เพื่อชำระหนี้สินเชื่อ Nano Finance ที่กู้ไปเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ
-
-อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี (จากเดิมสูงสุดร้อยละ 33 ต่อปี)
-วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย
-ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 8 ปี โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อยค้ำประกันสินเชื่อ
2.1.2 สินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนบุคคล (Re P – loan) เพื่อชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (P – loan) ของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – Bank)
-
-อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (จากเดิมสูงสุดร้อยละ 25 ต่อปี)
-วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย
-ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี
2.2 สินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยบุคคล (2 มาตรการ)
-
2.2.1 สินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต (Re – Card) เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตของสถาบันการเงิน
-
-อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 8.99 ต่อปี (จากเดิมสูงสุดร้อยละ 16 ต่อปี)
-วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย
-ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 7 ปี
2.2.2 สินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Re – Home) เพื่อไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น
-
-อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 1.95 ต่อปี (จากเดิมร้อยละ 6-7 ต่อปี)
-วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย
-ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 40 ปี
เห็นชอบ ปตท.วางท่อก๊าซผ่านป่าชายเลนบางปะกง
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น 4 ฉบับ คือที่ออกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 วันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ที่ห้ามมิให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนในทุกกรณี เพื่อให้บริษัท ปตท. (จำกัด (มหาชน) (ปตท.) สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน บริเวณแม่น้ำบางปะกง ตำบลบางปะกง และตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง พื้นที่ประมาณ 3-0-75 ไร่ สำหรับดำเนินโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ได้ ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พน. รายงานว่า ปตท. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโครงข่ายระบบท่อก๊าซธรรมชาติบนบก ให้สามารถรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าในเขตนครหลวง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปในลักษณะของการวางท่อใต้แนวสายไฟฟ้าแรงสูง ขนาดท่อ 36 นิ้ว ตั้งแต่สถานีควบคุมความดันก๊าซธรรมชาติ BP4 ในพื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปจนถึงโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ในพื้นที่ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ รวมระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนรวม 13,590 ล้านบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2568
จากการสำรวจพื้นที่ป่าพบว่า การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติของโครงการฯ ผ่านพื้นที่ป่าชายเลน ตามมติ ครม. โดยตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ในพื้นที่ตำบลบางปะกงและตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ขนาดพื้นที่ 3-0-75 ไร่ (5,000 ตารางเมตร) ซึ่งยังคงมีสภาพเป็นป่าชายเลนและมีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนขึ้นอยู่ โดยป่าชายเลนดังกล่าวเป็นป่าชายเลนที่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินโดยเอกชน ระยะทางประมาณ 652 เมตร และเป็นพื้นที่ป่าชายเลนไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ระยะทางประมาณ 85 เมตร ดังนั้น ปตท. จึงต้องขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 4 ฉบับ ที่ห้ามใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 3-0-75 ไร่ และต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน ทั้งนี้ ปตท. ได้ดำเนินการขออนุญาตจากคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
โดยกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้อง/เห็นชอบตามที่ พน. เสนอ และมีความเห็นเพิ่มเติม ซึ่ง พน. ควรรับไปดำเนินการ เช่น หากมีการก่อสร้างวางระบบท่อก๊าซธรรมชาติ หรือสิ่งก่อสร้างก่อสร้างวางระบบท่อก๊าซธรรมชาติหรือสิ่งก่อสร้างอื่นใด ในเขตทางหลวงให้ดำเนินการขออนุญาตต่อกรมทางหลวงตามขั้นตอน และให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ในส่วนค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลนทดแทนไม่น้อยกว่า 20 เท่า ของพื้นที่ป่าชายเลนที่ได้รับอนุญาต สงป. เห็นควรให้ ปตท. พิจารณาใช้จ่ายจากเงินรายได้
ลดเงินนำส่งกองทุนแบงก์รัฐ 0.125% ถึงสิ้นปี’67
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
-
1. การกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่อัตราร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567
2. ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวม 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) โดยปรับลดอัตราเงินนำส่งเหลือร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กค. เสนอว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบันเริ่มคลี่คลายลง และสภาวะเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ยังคงส่งผลต่อกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ประชาชนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่ยังอยู่ระหว่างฟื้นตัว และอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ สถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงเป็นกลไกสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจ และยังคงต้องให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีช้อสั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง จัดทำข้อเสนอโครงการหรือมาตรการใหม่ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้รับการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะสามารถส่งผ่านการลดอัตราเงินนำส่งดังกล่าวเพื่อไปช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม
ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจส่งผ่านการลดอัตราเงินนำส่งไปช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ประชาชนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงลูกหนี้นอกระบบ กค. พิจารณาแล้วเห็นควรขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวม 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธอส. และ ธอท. จากเดิมอัตราร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชนออกไปอีก 1 ปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2567 และกลับมาใช้อัตราร้อยละ 0.25 ต่อปีสำหรับรอบการนำส่งเงินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
คณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ได้พิจารณาทบทวนอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และมีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบ การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง โดยปรับลดอัตราเงินนำส่งลงกึ่งหนึ่งจากร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ออกไปอีก 1 ปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนฯ ยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566
- กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ นำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตรา ดังต่อไปนี้
-
(1) ร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2567
(2) ร้อยละ 0.25 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับการนำส่งเงินในปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
(3) กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง ได้จัดทำรายละเอียดโครงการหรือมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยสามารถส่งผ่านการลดอัตราเงินนำส่งดังกล่าวเพื่อไปช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ลูกหนี้ประชาชนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และลูกหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย (1) การลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราผ่อนปรนพิเศษให้แก่ลูกหนี้เป็นการทั่วไป เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) เป็นต้น (2) การลดอัตราดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยค้างรับตามสัญญา และ (3) การเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ที่ทำให้เงินต้นของลูกหนี้ปรับลดลงในทุกงวดที่ผ่านชำระ ซึ่งคาดว่าจะได้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ประมาณ 5 ล้านบัญชี
โดยธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) มีตความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจว่า ควรพิจารณาถึงความพอเพียงของสภาพคล่องในการดำเนินงานตามพันธกิจในอนาคต และควรมีกระบวนการติดตาม และประเมินผลการส่งผ่านความช่วยเหลือของสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปยังลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงว่าการปรับลดอัตราเงินนำส่งดังกล่าวถูกส่งผ่านไปเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม รวมทั้งควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบที่จะหยุดชำระหนี้ (moral hazard) เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อวินัยทางการเงินที่ดี
เห็นชอบความร่วมมือท่องเที่ยว ‘ไทย-กัมพูชา’
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยว ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 จำนวน 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยว ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร กก. จัดทำและเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยว ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 ประกอบด้วย
-
1. แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ปี พ.ศ. 2566-2568 ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้น ซึ่งกำหนดกลยุทธ์และการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ผ่านการสนับสนุนให้เกิดการไหลเวียนของนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยจะมีการร่วมมือกันใน 5 ด้านดังนี้ (1) ความร่วมมือและการประสานงานข้ามพรมแดนเพื่อความสะดวกในการเดินทางและการผ่านแดน (2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาดร่วมกันภายใต้แนวคิด “สองราชอาณาจักร หนึ่งจุดหมายปลายทาง” (3) การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว (4) การพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยว และ (5) การลงทุนด้านการท่องเที่ยว
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 มีเนื้อหาที่มุ่งเน้นความคืบหน้าการดำเนินการของแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ได้แก่
-
(1) การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกการเดินทางและการเชื่อมโยงข้ามพรมแดน ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการเชื่อมโยงทางอากาศ ทางทะเล และทางบก
(2) การจัดทำโครงการและกลยุทธ์การตลาดภายใต้หัวข้อหลัก “สองราชอาณาจักร หนึ่งจุดหมายปลายทาง” การอบรมเกี่ยวกับแพ็คเกจทั่วโลกร่วมกัน การเดินทางเพื่อศึกษาดูงาน และงานแสดงสินค้าทางการท่องเที่ยว
(3) การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือในการจัดโครงการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะใหม่ (reskill) และยกระดับทักษะเดิม (upskill) ของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน
(4) การพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวผ่านการกำหนดมาตรฐานการบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้แน่ใจว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในสองประเทศมีความปลอดภัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยว
(5) การลงทุนด้านการท่องเที่ยว ผ่านการขยายเครือข่ายธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและนักลงทุนด้านการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค ส่งผลให้เกิดความยืดหยุ่นของภาคการท่องเที่ยว และการส่งเสริมความร่วมมือและนวัตกรรม อันนำมาสู่การเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวของสองประเทศ
โดยเนื้อหาของเอกสารผลลัพธ์การประชุมภูมิภาคระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวไทย-กัมพูชาครั้งที่ 3 เป็นการระบุเจตนารมณ์ของไทยและกัมพูชาในการส่งเสริมความร่วมมือระดับทวิภาคีในด้านการท่องเที่ยว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมการพิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศ และสามารถปฏิบัติได้ภายใต้กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เพิ่มเติม