ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยัน รทสช. ไม่เกี่ยว “ชูวิทย์” แฉคมนาคม – มติ ครม. อัดงบ 9,140 ล้าน เพิ่มสิทธิบัตรคนจน เริ่ม1 เม.ย. นี้

นายกฯ ยัน รทสช. ไม่เกี่ยว “ชูวิทย์” แฉคมนาคม – มติ ครม. อัดงบ 9,140 ล้าน เพิ่มสิทธิบัตรคนจน เริ่ม1 เม.ย. นี้

28 กุมภาพันธ์ 2023


เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
  • นายกฯประชดนักข่าว “ยุบสภา” พรุ่งนี้ก็แล้วกัน
  • ยัน รทสช.ไม่เกี่ยว “ชูวิทย์” แฉคมนาคม
  • ปัดตอบดึง “บิ๊กป้อม” ร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
  • ย้ำยังรัก-เคารพ “บิ๊กป้อม”
  • มติ ครม. อัดงบ 9,140 ล้าน เพิ่มสิทธิบัตรคนจน เริ่มใช้ 1 เม.ย.นี้
  • ไฟเขียว PGS เฟส 10 ค้ำหนี้ SMEs วงเงิน 5 หมื่นล้าน
  • เคาะประกันรายได้ชาวสวนยาง เฟส 4 กว่า 7,643 ล้าน
  • โยก “สุริยา สิงหกมล” นั่งอธิบดี DSI
  • เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และมอบหมายนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการในที่ประชุม ครม.

    เริ่มใช้ “บัตรคนจน” 1 เม.ย.นี้

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีหลายวาระสำคัญ เป็นวาระเพื่อทราบ 14 เรื่อง วาระเพื่อการพิจารณา 34 เรื่อง รวมกับวาระจรอีก 8 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการดูแลประชาชน โดยเฉพาะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้อนุมัติในการประชุมวันนี้

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ในขั้นตอนพิสูจน์ตัวตน คาดว่าจะใช้เวลาอีกสักพัก และจะเริ่มใช้วันที่ 1 เมษายน 2566

    อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ ย้ำว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้มีรายได้น้อย ทำเป็นระยะๆ ซึ่งใช้เงินหลายหมื่นล้านบาทในแต่ละครั้ง

    “ถึงแม้จะเป็นช่วงปลายรัฐบาลก็ตาม แต่ยืนยันว่าจะดูแลประชาชนของเราให้ดีที่สุด ก็ได้มีการขอร้องพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคแล้ว และขอความร่วมมือในช่วงสุดท้ายของการเป็นรัฐบาล” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ยัน รทสช. ไม่เกี่ยว “ชูวิทย์” แฉคมนาคม

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้มให้แก่นายกฯ โดย พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า มีการรายงานมาตลอดว่าอยู่ในขั้นตอนไหน แต่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล แม้แต่นายกรัฐมนตรี ก็ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้

    “ถ้ามีข้อกล่าวหาก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ในส่วนของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติในหลักการไป และนำเข้าการพิจารณา ขั้นตอนการดำเนินการมีคณะกรรมการที่มีอำนาจสิทธิขาด กระทรวงก็รับผิดชอบในส่วนกระทรวง มีคนรับผิดชอบเป็นระยะๆ ไป” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ถามอีกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของชูวิทย์หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่เกี่ยวอะไรกับผม ผมบอกแล้วว่า วันนี้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็จำเป็นต้องรักษาความเป็นพรรคร่วมอยู่แล้ว เพราะร่วมรัฐบาลกันมา 4 ปีแล้ว ในส่วนพรรคการเมืองผมก็ให้นโยบายพรรคการเมืองที่ว่าไปแล้วจะไม่ไปก้าวล่วงใครทั้งสิ้น เราต้องเป็นสุภาพบุรุษ และทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกา ใครจะว่าอะไรผมก็เฉยๆ เรื่องของผม เพราะถือว่าเรื่องของการหาเสียงก็ว่ากันไป”

    ย้ำยังรัก-เคารพ “บิ๊กป้อม”

    พลเอกประยุทธ์ ยังตอบคำถามเรื่องการพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า “ก็คุยกันตลอดเวลาแหละจ้า วันนี้ฉันก็คุยมาตั้งแต่เช้าแล้ว ก็ยังรักและเคารพเหมือนเดิม ใครจะพูดอะไรก็ว่ากันไป ใครจะเขียนก็เขียนไปเถอะ จะกี่ร้อยก็ว่าไป”

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นายกฯ เคยถาม พล.อ.ประวิตร หรือไม่ว่า หลังเลือกตั้งจะไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า “คงไม่ถามอะไรหรอก ก็เป็นสิทธิของท่าน แต่ท่านก็บอกว่า ไม่ได้พูดว่าจะไปจับมือกับใคร ท่านก็พูดอย่างนั้นกับผมนะ ท่านก็บอกว่าไม่ได้ไปสัญญากับใครทั้งสิ้น”

    ปัดตอบดึง “บิ๊กป้อม” ร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

    ถามอีกว่า ถ้าพรรครวมไทยสร้างชาติได้จัดตั้งรัฐบาลจะมีพรรคลุงป้อมเป็นพรรคร่วมเหมือนเดิมหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบทันที “เอาไว้รอให้มันเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยว่ากัน เขาไม่พูดกันตอนนี้ เขาพูดกันตอนเลือกตั้งเสร็จแล้วไม่ใช่หรือ แต่ผมไม่พูดอะไรทั้งนั้นแหละ เรื่องส่วนพรรคก็ส่วนพรรค อยู่ที่ประชาชนเลือกตั้งมากน้อยก็ว่ามา

    “แต่การจะร่วมรัฐบาลมันมีการคุยกันทีหลังอยู่แล้ว ครั้งที่ผ่านมาผมก็อยู่ในกระบวนการนี้อยู่แล้ว พูดทีหลังหมด ไม่ได้มาพูดก่อน” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ผู้สื่อข่าวยังถามการลง ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ แต่พลเอกประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “ยังไม่ตอบ ยังไม่ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น”

    ประชดนักข่าว “ยุบสภา” พรุ่งนี้ก็แล้วกัน

    คำถามว่ากระแสข่าววันยุบสภาวันที่ 21 มีนาคม 2566 ตรงกับวันคล้ายวันเกิด พลเอกประยุทธ์ บอกว่า “ก็มันวันเกิดผมไม่ใช่หรือ ทำไมต้องยุบพรรควันเกิดผมล่ะ”

    เมื่อผู้สื่อข่าวพูดต่อว่า ‘เป็นของขวัญนายกฯ’ ทำให้พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า “อ๋อ ของขวัญของผม คนเขารังเกียจผมหรือไง ยุบสภาเอาผมออกไปเพราะวันเกิดผมหรือไง”

    ถามต่อว่าเป็นยุบสภาวันที่ 20 มีนาคม หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ บอกว่า “เมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละน่ะ เธอจะรีบร้อนอะไรนักหนา”

    เมื่อถามว่าวันที่ 8 มีนาคมนี้เร็วเกินไปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบก่อนเดินยุติการให้สัมภาษณ์ว่า “พรุ่งนี้ก็แล้วกัน”

    ชูผลงานแก้โควิดฯ – เปิดประเทศ ฟื้นท่องเที่ยว

    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า วันนี้ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงปีที่ 4 โดยมีผลงานสำคัญของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น การดำเนินการที่ทำให้โควิด-19 เกิดการคลี่คลายจากมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ การประกาศยกเลิกการระบาดของเชื้อออกจากการเป็นโรคติดต่ออันตราย

    นอกจากนี้ ประชาชนได้รับวัคซีนในระดับที่ครอบคลุมสูง จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง, มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการยุบ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019), มีการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างรัดกุม, มีการเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ

    ยก APEC 2022 เป็นไฮไลท์ผลงานรัฐบาล

    นายอนุชา ให้ข้อมูลว่า “อีกส่วนที่เป็นไฮไลท์ของรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลในปีที่ 4 คือการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APEC 2022 ช่วงปลายปี 2565 ซึ่งประสบความสำเร็จที่ประเทศไทยได้เป็นผู้นำนำเสนอแนวคิดเรื่องการทำให้การดำเนินธุรกิจหรือเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต และผู้เข้าร่วมจากผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้งหมดได้เห็นชอบเรื่อง Bangkok Goal หรือเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG”

    นายอนุชา เสริมว่า ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนสหภาพยุโรปสมัยพิเศษ ซึ่งในครั้งนั้นที่นายกฯ เดินทางไปที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ได้มีการลงนามความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ไทย-อียู หรือ PCA (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) นำไปสู่การเจรจาการจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-อียู หรือ FTA ต่อไป

    เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลิกโฉมประเทศสู่ศตวรรษ 21

    นายอนุชา กล่าวถึงการพัฒนาด้านอื่นๆ ว่า รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การแก้ไขปัญหาอุทกภัย การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม

    ที่สำคัญคือ การเพิ่มกำลังซื้อผู้มีรายได้น้อย ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โครงกาารเราเที่ยวด้วยกัน และการช่วยเหลือลูกหนี้ครัวเรือนแระกลุ่มเปราะบางในส่วนเอสเอ็มอี นายจ้างและลูกจ้าง ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ

    นายอนุชา ย้ำว่า รัฐบาลได้พลิกโฉมประเทศไทยเพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นประเทศชั้นนำของโลกในการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ทำให้เกิดความง่ายในการทำธุรกิจหรือ The East of Doing Business เป็นความสะดวกทั้งการค้าและการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกภาคส่วน

    นอกจากนี้ นายอนุชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านคมนาคม ขนส่งทางบก ราง อากาศและทะเล รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Creative Economy มีการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม, มีการพัฒนาชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City, การสร้างเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farmer และการเป็นศูนย์กลางผติรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ, ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    อัดงบ 9,140 ล้าน เพิ่มสิทธิบัตรคนจน เริ่มใช้ 1 เม.ย.นี้

    นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการฯ พร้อมทั้งอนุมัติงบกลาง จำนวน 9,140.35 ล้านบาท ให้กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม นำมาสมทบกับเงินกองทุนฯ ในการดำเนินการจัดสรรประชารัฐสวัสดิการใหม่ เช่น วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคจากร้านธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 300 บาท/คน/เดือน วงเงินค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาท/คน/เดือน เป็นต้น

    สำหรับรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนโครงการฯ ปี 2565 มีรายละเอียด ดังนี้

    1. ผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนโครงการฯ ปี 2565 ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 14,596,820 ราย ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 5,050,421 ราย ซึ่งผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ อาทิ มีรายได้เกิน 100,000 บาท/ปี มีบัญชีเงินฝากเกิน 100,000 บาท มีบัตรเครดิต มีวงเงินกู้บ้าน/รถ เป็นต้น

    2. กรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ ปี 2565

      – ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติและเริ่มกระบวนการยืนยันตัวตน 1 มีนาคม 2566
      – เริ่มใช้สิทธิ์สวัสดิการสำหรับผู้ลงทะเบียนรอบปกติ 1 เมษายน 2566
      – กระบวนการอุทธรณ์ (กรณีผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ) 1 มีนาคม – 1 พฤษภาคม 2566
      – ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ 20 มิถุนายน 2566 – เริ่มใช้สิทธิ์สำหรับผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ 1 กรกฎาคม 2566

    3. ข้อเสนอประชารัฐสวัสดิการใหม่ที่จัดสรรให้แก่ผู้มีบัตรฯ

      1) วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้า: ต่างจังหวัดและกทม. 300 บาท/คน/เดือน
      2) วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม: 80 บาท/คน/สามเดือน
      3) วงเงินค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาท/คน/เดือน
      4) วงเงินค่าไฟฟ้า ต่างจังหวัดและกทม. 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน
      5) วงเงินค่าน้ำประปา ต่างจังหวัดและกทม. 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน แต่ไม่เกิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ โครงการฯ ปี 2565 วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จะได้รับเท่ากันทุกคนและเพิ่มครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะ 8 ประเภท เช่น รถ ขสมก., รถ บขส., รถไฟฟ้า, รถสองแถว, เรือโดยสาร และขยายสิทธิ์ให้เท่าเทียมกันทุกพื้นที่ รวมทั้งสามารถเฉลี่ยการใช้วงเงินได้กับทุกประเภท รวมทั้งยังกำหนดให้วงเงินค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ให้เป็นสวัสดิการหลักที่ไม่มีเวลาหมดอายุด้วย โดย กระทรวงการคลัง คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดสรรประชารัฐสวัสดิการใหม่ ปีละ 65,413.80 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายประชารัฐสวัสดิการใหม่ให้กับผู้ถือบัตรที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการแล้ว

    เคาะ PGS เฟส 10 ค้ำหนี้ SMEs วงเงิน 5 หมื่นล้าน

    นายอนุชา กล่าวว่าครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 10 โดยอนุมัติงบฯ วงเงินรวมไม่เกิน 7,125 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการฯ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

      – วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพที่ต้องการสินเชื่อ แต่หลักประกันไม่เพียงพอหรือมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินและสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

      – วงเงินค้ำประกันรวม 50,000 ล้านบาท (ไม่เกิน 40 ลบ./ราย รวมทุกสถาบันการเงิน และการยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท)

      – อายุการค้ำประกัน ไม่เกิน 10 ปี ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

      – ค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน รวมทั้งโครงการเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี และสามารถจัดสรรอัตรา ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละโครงการย่อยได้ตามความเหมาะสม

      – การจ่ายค่าประกันชดเชย บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการ (10 ปี) โดย บสย. จะเริ่มจ่ายค่าประกันชดเชยครั้งแรกในปีที่ 2 ของการค้ำประกันและในปีถัดไปจนสิ้นสุดการค้ำประกัน

      – การขอรับการชดเชย รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,125 ล้านบาท

      – ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ – มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 76,900 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ PGS ระยะที่ 10 ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการ PGS ระยะที่ 9 ซึ่งครั้งนี้ ได้เพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายให้รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กด้วย (SSMEs) ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการ PGS ระยะที่ 9 สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs แล้ว 37,823 ราย และเกิดสินเชื่อจำนวน 187,494 ล้านบาท

    ไฟเขียววางเคเบิ้ลใต้ทะเลไปเกาะสมุย 11,230 ล้าน

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้าง โครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลไปยังบริเวณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงินรวมทั้งสิ้น 11,230 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการส่งพลังงานไฟฟ้าไป อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เกาะข้างเคียง (เกาะเต่า และเกาะพะงัน) สนองตอบต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นและเสริมความมั่นคง ระบบไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ทั้งนี้ กฟผ. จะใช้เงินรายได้ (Internal Cash Flow) เป็นลำดับแรกไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และแหล่งเงินทุนอื่นๆ ร้อยละ 75 ซึ่งหากมีความต้องการใช้เงินกู้จะพิจารณากู้เงินในประเทศเป็นลำดับแรก

    โครงการฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

    – ขอบเขตงานก่อสร้าง เช่น ก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 เควี (kV) ขนอม – เกาะสมุย จำนวน 2 วงจร รวมระยะทางประมาณ 52.5 กม. และติดตั้ง Fiber Optic – ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี (kV) ขนอม พร้อมปรับปรุงอุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้อง – ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 เควี (kV) เกาะสมุย (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่) พร้อมติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 230/115 เควี (kV) ขนาด 300 MVA จำนวน 2 ชุด จัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 เควี (kV) เกาะสมุย (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่)

    – ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ : 7-8 ปี โดยมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณ มิถุนายน 2572

    -วงเงินลงทุน : รวมทั้งสิ้น 11,230 ล้านบาท ประกอบด้วย(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 4,969.5 ล้านบาท (2) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้างอีก 6,260.5 ลบ.

    – แหล่งเงินทุน : เงินรายได้ของ กฟผ. ร้อยละ 25 และแหล่งเงินทุนอื่นๆ ร้อยละ 75

    – ประโยชน์ : โครงการฯ จะเพิ่มขีดความสามารถของระบบไฟฟ้าในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เกาะข้างเคียง (เกาะเต่าและเกาะพะงัน) ซึ่งระบบเดิมรองรับได้ถึงปี 2574 เท่านั้น ทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าลดการเกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ดังกล่าว

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าบนเกาะสมุยและเกาะข้างเคียง(เกาะพะงัน และเกาะเต่า) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรม ทางเศรษฐกิจและธุรกิจท่องเที่ยวของเกาะต่างๆ ในอนาคต ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination :IEE) โดยมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) (ณ อัตราคิดลดเท่ากับร้อยละ 5.51) อยู่ที่ 10,130.7 ล้านบาท จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเพิ่มขึ้น 0.0025 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการฯ โดยกระทรวงการคลัง ไม่มีความจำเป็นต้องค้ำประกันเงินกู้ เนื่องจาก กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีศักยภาพและมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีสัดส่วนความสามารถในการทำรายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

    ขยายเวลา “โครงการสินเชื่ออาชีพอิสระ” ถึง มี.ค.2568

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โรคโควิด – 19) ขยายระยะเวลากู้เพิ่มอีก 2 ปี จากเดิมไม่เกิน 3 ปี เป็นไม่เกิน 5 ปี สิ้นสุดระยะเวลากู้วันที่ 24 มี.ค. 2568 เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามกำหนด มีเวลาในการผ่อนชำระหนี้มากขึ้นและสามารถทยอยชำระหนี้ได้ตามศักยภาพ

    โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด – 19 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ เช่น หาบเร่ แผงลอย ลูกจ้างภาคการเกษตร เป็นต้น ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นหรือภาระหนี้ที่ต้องชำระ เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน รวมถึงป้องกันการผิดนัดชำระหนี้หรือพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหรือสินเชื่อนอกระบบ โดยวงเงินสินเชื่อรวม 40,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ให้วงเงินสินเชื่อ 10,000 บาท/ราย และอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 /เดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 12 เดือน ปัจจุบัน ได้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ หรือสิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2564 โดยข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.พ. 66 ธ.ออมสิน มียอดอนุมัติสินเชื่อ 1,980,464 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 19,804.64 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อคงค้าง 6,669 ล้านบาท ขณะที่ ธ.ก.ส.มียอดอนุมัติสินเชื่อจำนวน 913,548 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 9,086 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อคงค้าง 2,349 ล้านบาท

    จ่ายเงินน้ำท่วมปี’65 วงเงิน 1,190 ล้าน

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้จ่ายเงิน ช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 เพิ่มเติม สำหรับกรณีพื้นที่ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2565 – 31 มกราคม 2566 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 15 จังหวัด (ได้แก่ ชุมพร ตรัง นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พัทลุง ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี และอ่างทอง) ซึ่งต้องไม่เป็นครัวเรือนที่ได้รับความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ตามมติ ครม. (29 พ.ย. 65) จากการสำรวจเบื้องต้น มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ กทม. และ 15 จังหวัด จำนวน 237,048 ครัวเรือน วงเงิน 1,190.46 ล้านบาท

    หลักเกณฑ์การเยียวยาฯ

    • 24 ชั่วโมง – 7 วัน จำนวน 193,802 ครัวเรือน อัตราจ่าย 5,000 บาท วงเงิน 969.01 ล้านบาท
    • เกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน จำนวน 40,808 ครัวเรือน อัตราจ่าย 5,000 บาท วงเงิน 204.04 ล้านบาท
    • เกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน จำนวน 2,265 ครัวเรือน อัตราจ่าย 7,000 บาท วงเงิน 15.86 ล้านบาท
    • เกินกว่า 60 วัน จำนวน 173 ครัวเรือน อัตราจ่าย 9,000 บาท วงเงิน 1.56 ล้านบาท

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเคยมีมติให้ความช่วยเหลือไว้แล้วแต่ยังคงมีประชาชน ที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และการระบายน้ำ ในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 65 – 31 ม.ค. 66 โดยเป็นจังหวัดที่เคยได้รับความช่วยเหลือตามมติ ครม. (29 พ.ย. 65) แต่คนละพื้นที่จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร อ่างทอง ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ระนอง สตูล สุราษฎร์ธานีและชุมพร และจังหวัดที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสงขลา จึงได้อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฤดูฝน 2565 เพิ่มเติม เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำรวจ หรือผู้ประสบภัยยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือภายใน 30 วัน และให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับ ธนาคารออมสิน เร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ด้วย

    เคาะประกันรายได้ชาวสวนยาง เฟส 4 กว่า 7,643 ล้าน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงิน 7,643.86 ล้านบาท และอนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2 วงเงินกู้ยืม 20,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

    โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงิน 7,643.86 ล้านบาท มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2566 ระยะเวลาประกันรายได้รวม 2 เดือน คือ ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และเป็นเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 1.6 ล้านคน รวมพื้นที่สวนยางกรีดได้ 18.18 ล้านไร่ ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ยังคงเดิม อาทิ 1)เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ 2)ราคายางที่ประกันรายได้ มีดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม 3)แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของเงินค่าประกันรายได้ สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านมา 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 วงเงินสะสมโครงการรวมทั้งสิ้น 46,682.88 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้เฉลี่ยปีละ 1.4 ล้านคน

    ดร.รัชดา กล่าวว่า โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2 วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท มีระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติ โครงการนี้ เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการแปรรูปไม้ยางและผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยมากกว่าร้อยละ 50 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อไม้ยาง การดำเนินงานกิจการไม้ยาง การขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และค่าดำเนินการ รวมวงเงิน 604 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมาย คือ 1)ลดพื้นที่ปลูกยาง จำนวน 200,000 ไร่ และ 2)ราคาไม้ยางไม่ต่ำกว่า 1,500 บาทต่อตัน การดำเนินโครงการในระยะที่ผ่านมา สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบกิจการแปรรูปไม้ยางพาราที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์โควิด – 19 ได้กว่า 38 บริษัท และสามารถดูดซับไม้ยางจากการโค่นต้นยางได้ 4.22 ล้านตัน จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 6 ล้านตัน

    ใช้งบฯกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 1,566 ล้าน เดินหน้า “โคบาลชายแดนใต้”

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมปศุสัตว์ยืมเพื่อใช้ดำเนินโครงการโคบาลชายแดนใต้ วงเงิน 1,566.20 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยกำหนดชำระคืนภายใน 7 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 มีระยะเวลาโครงการ พ.ศ.2565 – 2572 โครงการโคบาลชายแดนใต้ของกรมปศุสัตว์นี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึง แหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคของเกษตรกรสู่มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GFM/GAP และเพิ่มปริมาณโคพร้อมทั้งปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.ระดับต้นน้ำ ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเนื้อให้กลุ่มวิสาหกิจโคไทยในหมู่บ้าน จำนวน 1,000 กลุ่ม ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา) 2.ระดับกลางน้ำ จัดตั้งศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) 3. ระดับปลายน้ำ ส่งเสริมร้านตัดแต่ง แปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อโค (Butcher Shop) จำนวน 5 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้

    ดร.รัชดา กล่าวว่า การใช้งบจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร วงเงิน 1,566.20 ล้านบาทในครั้งนี้ เพื่อดำเนินโครงการโคบาลชายแดนใต้ ในส่วนระดับต้นน้ำ ซึ่งเป็นการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเนื้อให้กลุ่มวิสาหกิจโคไทย จำนวน 1,000 กลุ่ม ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา) โดยให้แต่ละกลุ่มวิสาหกิจโคไทยจัดทำคอกกลางในหมู่บ้านแห่งละ 1 คอก สำหรับเลี้ยงแม่โคพื้นเมืองกลุ่มละ 50 ตัว เพื่อผลิตโคลูกผสมไทยทาจิ และปลูกพืชอาหารสัตว์ (หญ้าสยาม หญ้าแพงโกล่า หญ้าซิกแนล หญ้าเนเปียร์ และข้าวโพด) จำนวน 20 ไร่ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1)ระยะนำร่อง เกษตรกร 60 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว 2)ระยะที่ 2 เกษตรกร 440 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 22,000 ตัว 3)ระยะที่ 3 เกษตรกร 500 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 25,000 ตัว

    สำหรับแผนชำระเงินคืนภายใน 7 ปี กรมปศุสัตว์จะนำเงินกู้ที่ได้รับคืนจากกลุ่มวิสาหกิจโคไทยที่เข้าร่วมโครงการ ส่งคืนกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยเกษตรกรจะต้องคืนเงินต้นให้กรมปศุสัตว์ร้อยละ 25 เป็นจำนวน 4 งวด คือ ทุกสิ้นปีที่ 4 ปีที่ 5 ปีที่ 6 และปีที่ 7 ส่วนที่มาของรายได้กลุ่มวิสาหกิจโคไทย เช่น การขายลูกโคตั้งแต่ปีที่ 2-7 ปีละ 600,000 บาท ขายแม่โคปลดระวางในปีที่ 8 จำนวน 800,000 บาท ขายมูลโคของแม่โคและลูกโคทั้ง 8 ปี ปีละ 86,400 บาท และขายพืชอาหารสัตว์ ปีละ 304,500บาท

    “รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การมีส่วนร่วมและศักยภาพของท้องถิ่น การส่งเสริมการเลี้ยงโคเป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคของเกษตรกรสู่มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GFM/GAP เพิ่มปริมาณโคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพดีที่เป็นความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและตลาดฮาลาลโลกอีกด้วย” ดร.รัชดา กล่าว

    เห็นชอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ “ไทย – UAE”

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) พร้อมทั้งเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับใช้ในการเจรจาจัดทำความตกลง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับ 18 ประเทศ รวม 14 ฉบับ ส่วนการจัดทำความตกลงฉบับนี้ ถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง ถือเป็นตลาดศักยภาพใหม่ของไทย โดยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้า การธนาคาร และการคมนาคมในตะวันออกกลาง ตลอดจนเป็นแหล่งขนถ่ายและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ในปี 2565 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง

    สำหรับร่างกรอบเจรจาจัดทำความตกลงฉบับนี้ ใช้หลักการเดียวกันกับการยกร่างรอบการเจรจา FTA ฉบับอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ส่งเสริมและดึงดูดการลงทุน 2)ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนของไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยให้มีระยะเวลาในการปรับตัวและมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น สำหรับสาระสำคัญร่างกรอบเจรจาจะครอบคลุม 20 ประเด็น อาทิ

      1. การค้าสินค้า เช่น 1) ลดหรือเลิกมาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีให้มากที่สุดล 2) ให้มีระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการปรับตัวที่เหมาะสมแก่สินค้าที่มีความอ่อนไหว เช่น อินทผาลัม รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากการลดภาษี

      2. การค้าบริการ เช่น 1) มีกฎเกณฑ์การค้าบริการที่มีมาตรฐานสูงในระดับสากล 2) มีตลาดการค้าบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเพิ่มเติมจากข้อผูกพันการเปิดตลาดของประเทศภาคีภายใต้ WTO และ 3) เปิดตลาดการค้าบริการในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ และมีความพร้อมและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

      3. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าดิจิทัล ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกและความร่วมมือทางการค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าดิจิทัล

      4. ทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมการใช้ความยืดหยุ่น ข้อยกเว้น และข้อจำกัดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างสมดุลระหว่างเจ้าของสิทธิ ผู้บริโภค และสาธารณชนโดยรวม ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขให้ไม่มีข้อจำกัดเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีสุขภาพที่จำเป็น ส่วนทรัพยากรพันธุกรรมและพันธุ์พืชนั้น ต้องไม่กระทบวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อย

      5. วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยทุกกลุ่มระดับ สามารถประกอบธุรกิจและใช้ประโยชน์จากความตกลง

      6. การค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น 1) ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับกฎระเบียบภายในประเทศ 2) ประเทศคู่ภาคีจะต้องไม่นาข้อบทนี้มาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า 3) ส่งเสริมความร่วมมือด้านสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม

      7. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เช่น 1) ลดการใช้มาตรการด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าตามหลักการ ของความตกลงของ WTO 2) ส่งเสริมการใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่มีความเหมาะสมและปฏิบัติได้

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ไทยขาดดุลการค้าน้อยลง เนื่องจากไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้มากขึ้น โดยจากผลการศึกษาพบว่า จะทำให้ GDP ของไทย ขยายตัว 318 – 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ ผลิตภัณฑ์ไม้ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

    ปรับแผนที่แนวเขตที่ดินรัฐ 11 จว. แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และ เลย (ยกเว้นกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี และให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map โดยใช้แผนที่ One Map ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วแทนแผนที่แนบท้ายกฎหมาย และใช้เป็นแนวเขตที่ดินของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชนให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 65 ที่ให้นำไปใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน และที่ประชุม ครม. ยังรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นกรณีเร่งด่วน

    “การปรับปรุงแผนที่ One Map เป็นการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินเพื่อให้มีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้อง ทันสมัย อยู่บนมาตรฐานแผนที่มาตราส่วน 1 : 4000 ภายใต้แนวความคิด “หนึ่งพื้นที่ หนึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ” มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาการกำหนดเขตประเภทที่ดินของรัฐมีความทับซ้อนกัน โดยไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320.7 ล้านไร่ แต่จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีที่ดินของรัฐที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานรวมมากถึง 465.08 ล้านไร่ ซึ่งเกิดจากการมีกฎหมายกำหนดแนวเขตประเภทที่ดินของรัฐหลายฉบับและใช้มาตราส่วนในแผนที่แนบท้ายแตกต่างกันทำให้แนวเขตที่ดินทับซ้อนกัน โดยโครงการปรับปรุงแผนที่ One Map แบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด เริ่มจาก กทม. และปริมณฑล ซึ่งที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุง แผนที่ One Map ดังกล่าวไปแล้ว 2 กลุ่ม โดยพื้นที่กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี และพื้นที่กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี” นางสาวทิพานัน กล่าว

    สำหรับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map ในพื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด โดยในภาพรวมพบว่า มีพื้นที่ก่อนปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ รวม 89.9 ล้านไร่ ภายหลังปรับปรุงแนวเขตฯ มีพื้นที่ลดลงเหลือ 41.35 ล้านไร่ โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชนใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น

    1. กรณีการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map แล้วปรากฏว่ามีที่ดินของหน่วยงานของรัฐที่จัดสรรให้กับประชาชนตามกฎหมายต่างๆ นอกเขตพื้นที่ตามกฎหมาย หรือนอกเขตดำเนินการของหน่วยงานนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากประชาชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินมีข้อโต้แย้ง ให้พิจารณาดำเนินการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย และหาแนวทางแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม

    2. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลนตามมติ ครม. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 โดยมีสาระสำคัญ เช่น เมื่อผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอนแล้วว่าเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิมจริง ให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่พิจารณาอนุญาตตามกฎหมายโดยไม่ให้เอกสารสิทธิ และอาจกำหนดเงื่อนไขให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์พื้นที่ป่าด้วย

    3. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตที่ราชพัสดุและที่สาธารณประโยชน์ กรมธนารักษ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการจัดให้เช่า การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือแนวทางอื่นที่เหมาะสมตามกฎหมาย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรีนั้น การดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ยึดเส้นแนวเขตของ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่ One Map ข้อ 5.1 และข้อ 6.1 คือ

      1. ข้อ 5.1 กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินให้ใช้แนวเขต ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีแผนงานดำเนินการแล้วเป็นหลัก และกรณี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล อำเภอ ที่ ส.ป.ก.ประกาศกำหนดเขตปฏิรูปในภาพรวมทั้งตำบลหรืออำเภอโดยไม่ได้กันบางพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ป่าออก มีแนวทางดาเนินการ เช่น ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ ส.ป.ก. เป็นต้น

      2. ข้อ 6.1 กรณีกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. และได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินก่อนการกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก เว้นแต่เป็นพื้นที่ที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดิน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 37 ให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติฯ เป็นหลัก

    “สำหรับกรณีพื้นที่นอกแนวเขตที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ แต่อยู่ภายในเขตเส้นปรับปรุงปี 2543 ที่ประชุม มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการ การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน รับเรื่องไปพิจารณาว่าควรใช้แนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมอย่างไรและให้นำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไปเพื่อดำเนินการอย่างเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประชาชนประมาณ 300 ราย” นางสาวทิพานัน กล่าว

    เพิ่มทุนการศึกษา หนุนครูเรียน ป.โท ต่างประเทศ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบทบทวน มติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 59 เรื่องโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2559-2572) ในประเด็นอัตราค่าใช้จ่ายทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในต่างประเทศ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเสนอ เพื่อให้นักศึกษาทุนโครงการฯ มีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในการศึกษาต่อ ในต่างประเทศ สอดคล้องกับค่าครองชีพของแต่ละประเทศ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เดิมได้กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเป็นทุนการศึกษาปริญญาโททางการสอนในต่างประเทศ อัตรา 1,547,500 บาท/คน/ปี แต่ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมให้อัตราค่าใช้จ่ายเป็นทุนการศึกษาดังกล่าวให้เป็นไปตามอัตราค่าใช้จ่ายนักเรียนทุนรัฐบาลที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด โดยเป็นอัตราที่ไม่เกินกรอบวงเงินเดิมของโครงการฯ ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 59

    อัตราค่าใช้จ่ายเป็นทุนการศึกษาปริญญาโททางการสอนในต่างประเทศ กำหนด ดังนี้

      1. สำหรับการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นบรรจุปี พ.ศ.2559-2561 มีผู้รับทุนในแต่ละปี 4 คน อัตราค่าใช้จ่าย 2,702,470 บาท/คน/ปี
      2. สำหรับการศึกษาในประเทศอังกฤษ รุ่นบรรจุปี พ.ศ.2559-2561 มีผู้รับทุนในแต่ละปี 15 คน อัตราค่าใช้จ่าย 2,163,740 บาท/คน/ปี
      3. สำหรับการศึกษาในประเทศออสเตรเลีย รุ่นบรรจุปี พ.ศ.2559-2561 มีผู้รับทุนในแต่ละปี 4 คน อัตราค่าใช้จ่าย 1,795,550 บาท/คน/ปี
      4. สำหรับการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ รุ่นบรรจุปี พ.ศ.2559-2561 มีผู้รับทุนในแต่ละปี 1 คน อัตราค่าใช้จ่าย 1,357,080 บาท/คน/ปี

    “รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนไทย ซึ่งการเพิ่มศักยภาพของบุคคลากรทางการศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญ ครม. จึงมีมติเห็นชอบโครงการนี้ในเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 59 สำหรับตลอดระยะเวลาโครงการ 14 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูระบบจำกัดรับ (ระบบปิด) ในสาขาและพื้นที่ที่ขาดแคลน โดยการคัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครู เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิลำเนาตนเอง และเมื่อทำงานครบ 3 ปี จะมีทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโททั้งในและต่างประเทศ จำนวนรุ่นละ 100 ทุน แบ่งเป็น ทุนการศึกษาต่อในประเทศ 50 ทุน และทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ 50 ทุน” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ผ่านแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ – ปชช.

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป

    (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการบริหารงานของภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัล และสามารถยกระดับการให้บริการประชาชนให้มีความสะดวกและเปิดเผยมากขึ้น โดยมีแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focus Area) 10 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการศึกษา (2) ด้านสุขภาพและการแพทย์ (3) ด้านการเกษตร (4) ด้านความเหลื่อมล้าทางสิทธิสวัสดิการประชาชน (5) ด้านการมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ของประชาชน (6) ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (7) ด้านสิ่งแวดล้อม (8) ด้านแรงงาน (9) ด้านท่องเที่ยว และ (10) ด้านยุติธรรม โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    1. วัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1. เพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลสาธารณะของรัฐที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ สามารถอำนวยความสะดวกในการให้บริการและเป็นที่ยอมรับของประชาชน 2. เพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการบริหารจัดการและการดำเนินงานภาครัฐให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว มีการบูรณาการแบบไร้รอยต่อ เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และ 3. เพื่อเป็นกรอบทิศทางให้หน่วยงานภาครัฐจัดทาแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 และสร้างความต่อเนื่องในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย

    2. ตัวชี้วัดความสำเร็จและค่าเป้าหมาย คือ ระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อการใช้บริการออนไลน์ภาครัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E – Government Development Index: EGDI) ของไทยไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก ซึ่งปัจจุบันอันดับของไทยอยู่ที่ 55 ของโลก

    3. กลไกการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติจะต้องอาศัยกลไกการขับเคลื่อนสำคัญ คือ 1. กลไกด้านนโยบาย ที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 2. กลไกการทำงานร่วมกัน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินกิจกรรม หรือโครงการร่วมกันภายใต้แผนดังกล่าว 3. กลไกด้านงบฯ กำหนดเกณฑ์ในการอนุมัติงบฯ เพื่อให้การจัดสรรงบฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 4. กลไกการติดตามและประเมินผลโครงการ มีการพัฒนาชุดข้อมูลการดำเนินโครงการฯ ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวในการรวบรวมข้อมูล เพื่อตรวจสอบติดตามและประเมินผลโครงการของแผนรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    4. ยุทธศาสตร์ 4 ข้อสำคัญ คือ

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐ เพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว และขยายสู่หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่น เช่น ภาครัฐดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง โดยภายในปี 2570 ร้อยละความสำเร็จของการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านสำคัญคิดเป็นร้อยละ 100 ประกอบด้วยการพัฒนาที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านบริการพื้นฐาน (Common Services) และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Foundation) รวม 14 โครงการ เช่น โครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ โครงการพัฒนาศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาบริการที่สะดวกและเข้าถึงง่าย เพื่อประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างครบถ้วน ณ จุดเดียว (One – Stop Service) โดยภายในปี 2570 ระดับความสำเร็จในการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จในด้านสำคัญ คิดเป็นร้อยละ 100 ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focus Area) 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน และด้านสิ่งแวดล้อม รวม 8 โครงการ เช่น โครงการแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติ โครงการแผนที่สิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของไทย (E – Workforce Ecosystem) โครงการพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลสิทธิสวัสดิการเพื่อการวิเคราะห์และอำนวยความสะดวกในการให้บริการ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างมูลค่าเพิ่มและอานวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ เพื่อผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการดิจิทัลของภาครัฐ โดยภายในปี 2570 ระดับความสำเร็จในการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการภาคธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จในด้านสำคัญ คิดเป็นร้อยละ 100 ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focus Area) 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตร ด้าน SMEs ด้านแรงงาน และด้านท่องเที่ยว รวม 7 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร โครงการหนึ่งรหัสหนึ่งผู้ประกอบการ (One Identification : ID One SMEs)
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ เพื่อทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานภาครัฐที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ผ่านช่องทางที่หลากหลาย โดยภายในปี 2568 ร้อยละความสำเร็จของการจัดให้มีช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านสำคัญคิดเป็นร้อยละ 100 ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focus Area) 2 ด้าน ได้แก่ การมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ของประชาชน และด้านยุติธรรม รวม 9 โครงการ เช่น โครงการระบบศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม Data Exchange Center โครงการภาษีไปไหน
  • “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้าการวางโคงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมาโดยตลอดเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ผู้นำด้านดิจิทัล ด้วยวิสัยทัศน์ คือ บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน ที่จะให้บริการที่ตอบสนองประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม และเพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยมีโครงการที่ประสบความสำเร็จและสร้างผลประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจและสังคมที่โดดเด่น เช่น พร้อมเพย์ และระบบภาษีออนไลน์ และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย พ.ศ. 2563-2565 ที่กำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ ได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม เช่น โครงการ Digital Transcript เป็นโครงการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐทั่วไปยังได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อการบริหารจัดการและการบริการประชาชนในวงกว้าง” นางสาวทิพานัน กล่าว

    จัดงบกลาง 826 ล้าน ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายโครงการช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 826.68 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

    ทั้งนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการช่วยเหลือผู้เสพยา/ผู้ติดยาเสพติดของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมฯ ขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดให้สามารถกลับคืนสู่ชุมชนและใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ซึ่งโครงการนี้ สืบเนื่องมากจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องเร่งด่วน และนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่ง ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและอาวุธปืน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.มหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้กำหนดมาตรการด้านการบำบัดผู้ติดยาเสพติด แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะต่อเนื่อง

    โดยในระยะเร่งด่วนนั้นได้ให้กระทรวงมหาดไทยค้นหาผู้เสพยาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชน และจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครบทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการให้ผู้เสพยาสามารถกลับสู่สังคมได้

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการฯ มาจากที่กรมการปกครองดำเนินการสำรวจ และรวบรวมและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ค้ายาและผู้เสพยาเสพติด ด้วยการค้นหาผู้เกี่ยวข้องในตำบล หมู่บ้านทั่วประเทศ 119,195 คน และดำเนินการคัดกรองเหลือ 100,000 คน โดยกลุ่มเป้าหมายจะได้รับความช่วยเหลือโดยยึดหลัก ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา และป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงเข้าไปเป็นเหยื่อยาเสพติด โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่การค้นหากลุ่มเป้าหมาย การฝึกอบรม และติดตามดูแลหลังผ่านการอบรมเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ ต.ค. 65-ก.ย. 66

    สำหรับขั้นตอนการฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมายจะดำเนินการ 15 วัน โดยมีกิจกรรมในส่วนการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางร่างกาย จิตใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติการใช้ชีวิต รวมถึงการฝึกอาชีพ และการประกอบอาชีพ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงรายละเอียดของการใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการฯ วงเงิน 826.68 ล้านล้าน ประกอบด้วย ค่าอาอาหารสำหรับผู้เช้ารับการฝึกอบรม 516 ล้านบาท, ค่าสมนาคุณวิทยากร 104 ล้านบาท, ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม 75 ล้านบาท, ค่าพาหนะสำหรับวิทยากร 69.60 ล้านบาท, ค่าบำรุงสานที่ 27 ล้านบาท, ค่าพาหนะผู้เข้าร่วมอบรม 20 ล้านบาท, ค่าวัสดุอุปกรณ์5 ล้านบาท, ค่าถ่ายเอกสาร 4.5 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายในพิธีเปิด-ปิด 3 ล้านบาท ค่าประกาศนยบัตร 1.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการติดตามผลการดำเนินงาน 6.8 แสนบาท

    ปรับงบก่อสร้างรถไฟสายสีม่วงในกรอบวงเงินเดิม

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าครม. มีมติอนุมัติทบทวนมติ ครม. วันที่ 25 ก.ค. 60 เกี่ยวกับการอนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ

    สำหรับการทบทวนมติ ครม. ฯ ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินรายการดำเนินงานตามโครงการฯ แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณเดิมที่ ครม. ได้อนุมัติไว้ที่ 101,112 ล้านบาท โดยรายการที่มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การปรับลดวงเงินรายการค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 1,323 ล้านบาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากเดิม 15,913 ล้านบาท เป็น 14,590 ล้านบาท เพื่อนำไปปรับเพิ่มเป็นรายการค่าก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างที่เพิ่มจาก 1,335 ล้านบาท เป็น 2,658 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,323 ล้านบาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าสิ่งปลูกสร้างทดแทนฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงการก่อสร้างของสัญญาที่1 (จากทั้งโครงการมีทั้งหมด 6 สัญญา) ที่เดิมขอบเขตงานได้ให้ผู้รับจ้างงานโยธาต้องดำเนินการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างทดแทนของหน่วยงานของกองทัพบก (ทบ.) และหน่วยงานอื่นๆ วงเงิน 1,069 ล้านบาท (ส่วนของ ทบ. 1,028 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นๆ 41 ล้านบาท) โดยพื้นที่ของ ทบ. ได้รับผลกระทบจากโครงการประกอบด้วย กรมสรรพาวุธทหารบก, กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน, กรมทหารม้าที่1 รักษาพระองค์ และ กองพันทหารม้าที่4 กองพลที่1 รักษาพระองค์

    โดย ทบ. แจ้งว่างบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการดำเนินการย้ายที่ตั้งของหน่วย เนื่องจากอาคารบริเวณที่ตั้งเดิมของโรงเรียนสรรพวุธทหารบกมีการใช้ อาคาร/สิ่งปลูกสร้างและระบบสาธารณูปโภคร่วมกับหน่วยงานที่อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเมื่อต้องย้ายหน่วยไปอยู่พื้นที่ใหม่(ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง นครราชสีมา) จะต้องย้ายกำลังพลและครอบครัวไปอยู่พื้นที่แห่งใหม่ทั้งหมด ทบ.จึงยืนยันข้อเสนอรายการก่อสร้างอาหารและสิ่งปลูกสร้างฯ วงเงินรวม 2,350.05 ล้านบาท แยกเป็นราการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เดิม 1,027.62 ล้านบาท และรายการก่อสร้างฯ (เพิ่มเติม) 1,322.43 ล้านบาท

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงรายการดำเนินงานตามโครงการฯ แล้ว กรอบวงเงินเพื่อดำเนินการตามโครงการฯ จะมีดังนี้ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,590 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาฯ 32 ล้านบาท(คงเดิม) ค่าก่อสร้างงานโยธา 77,385 ล้านบาท(คงเดิม) ค่าสิ่งปลูกสร้างทดแทนฯ 2,658 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท(คงเดิม) ค่า Provisional Sum 3,582 ล้านบาท(คงเดิม) รวมทั้งสิ้น 101,112 ล้านบาท

    สำหรับรายละเอียดการก่อสร้างงานโยธาของโครงการฯ ประกอบด้วย 6 สัญญา โดยสัญญาที่1-4 เป็นงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน แยกเป็น สัญญาที่1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ, สัญญาที่2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า, สัญญาที่3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ และสัญญาที่4 ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง ส่วนสัญญาที่5 เป็นงานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ดาวคะนอง-ครุใน และสัญญาที่6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบราง ตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ

    สร้างอ่างเก็บน้ำ “แม่ตาช้าง” จ.เชียงราย 1,325 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงราย กรอบวงเงินงบประมาณ 1,325.28 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ

    โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคของราษฎรในฤดูแล้ง ช่วงบรรเทาอุทกภัยในฤดูฝนและสามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ อนุรักษ์สัตว์น้ำ และรักษาสภาพต้นน้ำลำธารฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้ดีขึ้น

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กรมชลประทานจะใช้เวลาสำหรับดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี ระหว่างปี 2567-69 โดยตัวเขื่อนจะเป็นเขื่อนดินถมชนิดแบ่งส่วน(Zone Type) สันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ความยาวเขื่อน 657 เมตร ความสูง 42 เมตร กักเก็บน้ำได้ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเขื่อนหัวงานและอ่างเก็บน้ำของโครงการตั้งอยู่บริเวณบ้านใหม่เจริญ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ป่าทั้งหมดรวม 1,696 ไร่ 2 งาน 37 ตรว. ซึ่งกรมชลประทานได้รับอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ประกอบด้วยป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย 1,595 ไร่ 1 งาน 12 ตร.ว. และป่าไม้ถาวร ตามมติ ครม. วันที่ 7 เม.ย. 36 จำนวน 101 ไร่ 1 งาน 25 ตร.ว.

    ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 12,865 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานปัจจุบัน 4,560 ไร่ และพื้นที่เปิดใหม่ 8,305 ไร่ สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจำนวน 17,200 ไร่ และครอบคลุมการอุปโภค บริโภคของประชาชน 4,775 ครัวเรือน ในพื้นที่ ต.ป่าแดด บางส่วนของ ต.ศรีถ้อย และบางส่วนของ ต.แม่พริก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

    จัดงบฯแจกรางวัล “BCG-APEC” ปีละไม่เกิน 15,000 ดอลลาร์

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณ โดยสมัครใจแก่โครงการรางวัลบีซีจีของเอเปคของไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี ปีละไม่เกิน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 526,000 บาท) โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป

    สำหรับรางวัลบีซีจีของเอเปคนี้ ได้ริเริ่มโดยประเทศไทย และได้มีการประกาศเปิดตัวรางวัลในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปค ครั้งที่ 33 เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เป้าหมายของรางวัลนี้มีขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพมหานครว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวคิดบีซีจีในภูมิภาคเอเปค โดยให้การยกย่องบุคคลหรือองค์กรที่ได้นำแนวคิดบีซีจีไปปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จ เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้

    โดยรางวัลมี 3 ประเภท ได้แก่ สตรี, เยาวชน และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ซึ่งผู้ชนะแต่ละรายละได้รับเงินรางวัล 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 175,330 บาท) ซึ่งเงินรางวัลนี้มาจากงบประมาณสนับสนุนโดยความสมัครใจจากเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยจะเริ่มมอบรางวัลในปี 2566 เป็นปีแรก ซึ่งจะเปิดรับการเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลจากทุกเขตเศรษฐกิจในเดือนมี.ค. 66 คัดเลือกผู้ชนะในครึ่งหลังปี66 และประกาศผู้ชนะในช่วงการประชุมเอเปค ครั้งที่34 ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

    กระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า ไทยในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ จึงควรสนับสนุนงบประมาณปีละ 15,000 ดอลลาร์ เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวคิดบีซีจี

    ชงยูเนสโกขึ้นทะเบียน “ผ้าขาวม้า” เป็นมรดกวัฒนธรรม

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้เสนอ ผ้าขาวม้า : ผ้าเอนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย (Pha Khoa Ma : Multifunctional cloths in Thai life) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก และให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญหาทางวัฒนธรรมเป็นผู้ลงนามในเอกสารการนำเสนอต่อไป

    การเสนอนี้ เป็นไปตามที่ไทยได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนและรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ซึ่งตามอนุสัญญาได้ให้รัฐภาคีสามารถเสนอรายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ต่อยูเนสโกได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเสนอรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ และได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก อาทิ ปี 2561 ขึ้นทะเบียนโขน ปี 2562 ขึ้นทะเบียนนวดไทย และปี 2564 ขึ้นทะเบียนโนรา

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ก่อนนำเสนอต่อยูเนสโกในครั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้มีการพิจารณาถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณค่าความสำคัญที่ผ้าขาวม้าที่มีต่อวิถีชีวิตคนไทย ด้วยผ้าที่มีลวดลายตารางสี่เหลี่ยมเป็นเอกลักษณ์ขนาดกว้าง 60-80 ซม.และยาว 120-180 ซม. พบการใช้ประโยชน์อยู่ทุกภาคและชุมชน รวมถึงชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มไทลื้อ ไทยวน ไทยลาว ภูไท ส่วย กูย เป็นต้น โดยมีลวดลายหรือสีแตกต่างกันตามเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ เข้าถึงง่ายและผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยหลายด้าน ทั้งการทอผ้าใช้กันเองในครัวเรือน แลกเปลี่ยนในหมู่บ้านและชุมชน ไปจนถึงเป็นของขวัญ และใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่าผ้าขาวม้ามีมาตั้งแต่สมัยเชียงแสนจนถึงปัจจุบัน ผ่านการปรับปรุงต่อยอดภูมิปัญญา พัฒนาคุณภาพให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายขึ้น

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ผ้าขาวมามีลักษณะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทั้งด้านการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติด้วยการที่สะท้อนชีวิตที่เรียบง่ายและยั่งยืนเนื่องจากผ้าขาวม้าหนึ่งผืนสามารถนำมากลับใช้ใหม่และใช้หมุนเวียน ตลอดจนเกณฑ์ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม

    นอกจากนี้การเสนอขึ้นทะเบียนผ้าขาวม้าจะส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมฯ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่นำไปสู่การสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ เป็นต้น

    โยก “สุริยา สิงหกมล” นั่งอธิบดี DSI

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผูเบริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    ครม.มติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาววิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

    ครม.มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง นางสาวกัลยา ชินาธิวร ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กลุ่มที่ปรึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    ครม.มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นางสาวบุญศิริ จันศิริมงคล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565

      2. นายไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) ระดับสูง] โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2565

      3. นายไพฑูรย์ สมุทรสินธุ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายสิริพงศ์ สิริกุลพิบูลย์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) กลุ่มงานศัลยศาสตร์ ภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

      2. นายกำธร ลีลามะลิ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2565

      3. นายวิรัช ทุ่งวชิรกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาโสต ศอ นาสิก) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาโสต ศอ นาสิก) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2565

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางสาวเบ็ญจมาส พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมสุขภาพจิต ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    6. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นางสาวศศิธร พลัตถเดช ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    7. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นายพิษณุ โสภณ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

    8. ขอความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอการแต่งตั้ง พลตำรวจโท พรชัย สุธีรคุณ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (ตามมติคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565) เนื่องจากผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเดิมพ้นจากตำแหน่งตามกำหนดเวลาในสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

    9. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

      2. พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    10. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้ง นายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    11. แต่งตั้งอะมีรุ้ลฮัจย์ หรือรออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) ประจำปี พ.ศ. 2566 (ฮ.ศ. 1444)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล เป็นอะมีรุ้ลฮัจย์ หรือรออิสบิซาตุลฮัจย์ อัลรัสมียะห์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) ประจำปี พ.ศ. 2566 (ฮ.ศ. 1444) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง (28 กุมภาพันธ์ 2566) จนเสร็จสิ้นการประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปี พ.ศ. 2566 (ฮ.ศ. 1444)

    12. การโอนข้าราชการพลเรือนสามัญ (พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร) เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อประโยชน์ของทางราชการและสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี ให้กำกับการบริหารราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบ

    13. การโอนข้าราชการพลเรือนสามัญ (นางสาวสุลักขณา ธรรมานุสติ) เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน นางสาวสุลักขณา ธรรมานุสติ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (รองเลขาธิการ ก.พ.) (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) สำนักนายกรัฐมนตรี มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 เพื่อประโยชน์ของทางราชการและสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี ให้กำกับการบริหารราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบ และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอนแล้ว

    14. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งนางสาวสุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

    15. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกหนึ่งวาระ จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. นายสมัย ลี้สกุล โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2566

      2. นายนิรุตติ สุทธินนท์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2566

      3. นางลลิตา สิริพัชรนันท์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2566

      4. นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2566

    16. การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งนายอรรถพล อรรถวรเดช เป็นกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

    17. การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการการประปานครหลวง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่งตั้ง นายโชตินรินทร์ เกิดสม ให้เป็นกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย) ในคณะกรรมการการประปานครหลวง แทนกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

    18. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

    ครม.มีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเสนอแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แทน รองศาสตราจารย์ทิศนา แขมมณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    19. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แทนตำแหน่งที่ว่าง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอแต่งตั้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป