ThaiPublica > ประเด็นร้อน > วิกฤติโครงสร้างประเทศไทย > ‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ แจง “คนจนลดลง” ภาพลวงตาของความสำเร็จ แนะเปลี่ยนสมการใหม่ ‘อุ้มอย่างมีศิลปะ’

‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ แจง “คนจนลดลง” ภาพลวงตาของความสำเร็จ แนะเปลี่ยนสมการใหม่ ‘อุ้มอย่างมีศิลปะ’

11 กรกฎาคม 2024


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพราะ “ชุมชน” ล้ำ
จึงปิดจบ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ “ฐานราก” ?

คำกล่าวที่ว่า “ประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอยเดิม” ฟังแล้วให้ความหวัง แต่มันจะเป็นไปได้จริงๆ หรือ ถ้าเรื่องยากๆ อย่าง “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทย จะปิดจบได้จริงและยั่งยืน

“การที่จะดูแลสังคมให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่และยากที่จะเป็นไปได้”

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวเปิดประเด็นไว้ในงานปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หัวข้อ “โอกาส อนาคตของการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ก่อนอื่นจะต้องพูดความจริง ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถตอบโจทย์สำคัญของประเทศได้ นั่นคือ เรากำลังสร้างภาพว่า ประเทศไทยมีความสำเร็จในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ จากดัชนีจินี่ที่ดีขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ลดลงทุกปี จาก 4 ล้านครัวเรือน เหลือเพียง 1 ล้านครัวเรือน !

“แต่สิ่งนี้ คือภาพลวงตาของความสำเร็จ เพราะความจริงแล้วนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลอุ้มไว้”

“อุ้ม” แบบไหนหรือ ? ดร.กอบศักดิ์แกะเปลือกของปัญหาให้เห็นถึงแก่นว่า รัฐบาลอุ้มด้วยการให้เงินสนับสนุนคนไทยทุกคนๆ ละ 1 พันบาท หรือเกือบ 3 พันบาทตามแนวคิดบำนาญถ้วนหน้า นั่นหมายความว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินมากถึง 2.4 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเกินครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด

“การลดความยากจนบนพื้นฐานของการอุ้มมันใช่ทางออกหรือไม่ ที่สำคัญ ยากที่จะเป็นไปได้”

ดังสมการ 66* 2,997 *12 = 2,373,624 ล้านบาท (คนไทย 66 ล้านคน X เงินช่วยเหลือ 2,997 บาทต่อคน X 12 เดือน)

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่น่ากังวลมากที่สุดกลับเป็น “64 เปอร์เซ็นต์” ของคนไทย 66 ล้านคนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็น “ผู้สูงอายุ” ซึ่งยากที่จะมีรายได้ในอนาคต นั่นหมายความว่า รัฐบาลจะต้องแจกต่อไปอีก 10 – 20 ปี หรือตราบเท่าที่จะมีชีวิต

หากอนาคตประเทศไทยยังคงเดินบนเส้นทางนี้ สุดท้ายรัฐบาลจะอุ้มไม่ไหว และจะนำไปสู่ “การตกหลุมพรางเชิงนโยบาย” แบบเดียวกับ “สหรัฐอเมริกา”

ที่จัดเต็มเรื่องรัฐสวัสดิการดูแลประชาชนแต่กลับเต็มไปด้วยปัญหาไม่จบ ไม่สิ้น ข้อมูลระบุว่า ประชากรอเมริกันกว่า 200 ล้านคนอยู่ใต้เส้นความยากจนและประมาณครึ่งหนึ่ง มีรายได้แบบเดือนชนเดือน

ล่าสุด คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 สหรัฐอเมริกาจะต้องใช้เงินเพื่อการนี้สูงถึง “ครึ่งหนึ่ง” ของงบประมาณประจำปี และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ในปีต่อๆ มา

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา

แล้วอะไรคือทางออก ไม่ให้ประเทศไทยตกหลุมพรางนี้?

สำหรับดร.กอบศักดิ์ เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ใช่ โอกาสกำลังมา เพราะถ้าพูดเรื่องนี้เมื่อ 10 ปีก่อนคงไม่เห็นความหวัง แต่ ณ วันนี้พร้อมมากสำหรับประเทศไทยที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยพลังของ “ชุมชน” ดังตัวอย่างความสำเร็จและกลไกหรือเครื่องมือการลงทุนเพื่อสังคมที่มีให้เห็นมากมาย

ดร.กอบศักดิ์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ผ่านงานทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคเอกชน มาอย่างเจนจบบอกว่า ตำแหน่ง “ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” หรือ “พอช.” นับเป็นความภูมิใจสูงสุดของชีวิต เพราะทำให้เขาค้นพบว่า ประชาชนคนธรรมดานั้น มีศักยภาพยิ่งใหญ่ชนิดที่สามารถลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ impossible ให้เป็นไปได้ ด้วยการรวมพลัง ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เกิดเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง”

“งานของพอช. คือ การสร้างผู้นำชุมชนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีผู้นำก็จะมี เครือข่ายตามมา ผู้นำชุมชน 1 คน มีค่าระดับพันล้าน ถ้าเค้าทำได้ก็จะเป็นตัวคูณในการสร้างองค์กรชุมชนที่พึ่งตนเองได้ ขยายเป็นเครือข่ายที่หลากหลาย ทั้งสถาบันการเงินชุมชน สวัสดิการชุมชน ร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน ป่าชุมชน รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก”

ยกตัวอย่าง “การจัดสวัสดิการชุมชน” น่าอัศจรรย์หรือไม่ที่ประเทศไทยตอนนี้มี “กองทุนสวัสดิการชุมชน” ที่หมายถึงเงินของประชาชนสะสมเก็บออมกันมาต่อเนื่อง จนวันนี้มีเงินกองทุน (สะสม) มากกว่า 2.13 หมื่นล้านบาท (21,353,537,123 บาท) จากทั้งหมดเกือบ 6,000 กองทุนทั่วประเทศ ทำให้แต่ละชุมชนมีทุนไปบริหารจัดการดูแลสวัสดิการแก่สมาชิกกว่า 6.77 ล้านคน เป็นกลไกช่วยเหลือกันเองในด้านต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย การเผชิญภัยพิบัติ โรคอุบัติใหม่ ปัญหาหนี้สิน ที่ดินหลุดมือ ไปจนถึงปัญหาไร้บ้าน ฯลฯ และขยายผลเป็นโครงการต่างๆ อีกจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้ คือ การปลดปล่อยพลังของชุมชนในการยืนบนขาของตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี วิธีนี้อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ วางแนวทางไว้ตั้งแต่สมัยท่านยังทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มาสานต่อ

“ถ้าเราทำตามแนวทางที่ท่านวางไว้ สร้างผู้นำชุมชน สร้างองค์กรชุมชนเข้มแข็งแล้วรวมพลังกัน ผมเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนชีวิตพี่น้องประชาชนจำนวนมากแล้วจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืน”

แล้ว “เอกชน” จะมีบทบาทอย่างไร ได้บ้าง ?

วนหลูบกลับมาที่ภาพลวงตาของความสำเร็จสำหรับภาคเอกชน นั่นคือ การใช้งบประมาณในการทำกิจกรรม CSR จำนวนมากที่ไม่เกิดผล ไม่ต่างจากการเทเงินทิ้งน้ำ ด้วยสาเหตุเพราะทำกับ “คนที่ไม่ใช่”

“พอช.จะเป็นกลไกให้บริษัทเอกชนและผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งหากันจนเจอ”

ประการต่อมา ภาคเอกชนจำเป็นจะต้องปรับมุมคิดใหม่ในเรื่องเป้าหมายงาน แทนการดูแลโจทย์สังคมในระดับองค์กร เปลี่ยนมาเป็นโจทย์สังคมในระดับประเทศ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศแล้ว สิ่งนี้ยังเป็นโอกาสในทางธุรกิจของภาคเอกชนด้วย

ตัวอย่างกลไกการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคมที่โดดเด่น และเหมาะสำหรับองค์กรภาคเอกชนอย่างยิ่ง นั่นคือ “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ให้แรงจูงใจเป็นสิทธิและประโยชน์ทางภาษีแก่ภาคเอกชนที่เข้าร่วมมาตรการนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา 3 ปี วงเงิน 200 เปอร์เซ็นต์ของเงินสนับสนุนทำโครงการเพื่อสังคมกับภาคชุมชนกลุ่มต่างๆ

ยัง..ยังไม่พอ “จะดีกว่ามั้ย ถ้าภาคเอกชนจะทำงานเพื่อสังคมร่วมกันในเป้าหมายที่โฟกัสร่วมกัน” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ยกตัวอย่าง “โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย” หรือ ICAP มูลนิธิยุวพัฒน์ ที่กระจายอยู่กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ณ วันนี้ขยายผลไปแล้วกว่า 60 ศูนย์ และปีนี้จะทำให้ครบ 100 ศูนย์ ขณะที่ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เกือบ 1,000บริษัท ถ้าจะมีบริษัทเอกชนแต่ละจังหวัดรับไปดูแล 1 ศูนย์ด้วยงบประมาณเพียง 60,000 กว่าบาทต่อปีผ่านมาตรการบีโอไอ เงินที่ได้คืนจากมาตรการนี้ เอกชนสามารถแบ่งครึ่งใช้สำหรับดำเนินการโครงการเพื่อสังคมต่อเนื่องในปีต่อไปและอีกครึ่งคืนกลับบริษัท และถ้าทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ต่อเนื่องทุกปีๆ ละ 1,000 โครงการ ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ด้วยการทำโครงการที่ใช่ ใช้เงินจำนวนเล็กๆ แล้วทำพร้อมๆ กันจำนวนมาก และขับเคลื่อนโดยอาศัยพลังของคนที่เหมาะสม เป็นต้นว่า รัฐบาลแก้ไขกฏเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดการขับเคลื่อน ราชการดูแลการจัดสรรงบประมาณ เอกชนรับเงินมาทำงานร่วมกับโครงการที่สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยึดโยงกับชุมชนคนฐานราก

“นี่เป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ของบีโอไอ ขออย่าให้หายไปนะครับ เพราะลึกๆแล้วโครงการนี้เป็นการเบียดงบประมาณรัฐมาอยู่ในมือเอกชน แล้วทำโครงการเพื่อชุมชนด้วย productivity ที่ใช่ ด้วยความรู้ที่ใช่ ทำแบบ collective ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะเป็นการสร้างความเข้มแข็งที่ฐานราก หรือ strength from Bottom ไม่ใช่ strength from the TOP ที่ทำกันมามากแต่ไม่สำเร็จ”

หากทำให้ชุมชนสามารถยืนด้วยตนเองได้ ก็จะกลับมาที่สมการใหม่ ที่มีความเป็นไปได้

10* 6,000*12 = 720,000 (10 ล้านคนที่ลำบากจริง X เงินช่วยเหลือ 2 เท่าให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี X12 เดือนหรือ 1ปี จะใช้งบประมาณ 7.2 แสนล้านบาท )

“นี่คือการอุ้มอย่างมีศิลปะ”

เพราะสุดท้ายรัฐบาลทั้งโลกต่างมีเงินจำกัด การมุ่งหน้าจัดสวัสดิการเพื่อทุกคนย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าชุมชนได้รับการเสริมพลัง และมีกลไกการสนับสนุนอย่างเป็นระบบก็จะปลดปล่อยศักยภาพพวกเขาได้ จะทำให้ภาระการอุ้มเหลือเฉพาะคนที่จำเป็นจริงๆ ทั้งหมดนี้นำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง แม้แต่อเมริกายังทำไม่สำเร็จเลย

“ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้ ประเทศไทยจะเป็นต้นแบบของโลก”