บรรยง พงษ์พานิช
ประเทศไทย กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกไปแล้ว …ตามข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 ที่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม มีข้อมูลที่น่าเป็นห่วงมากว่า ถ้านับในด้านความมั่งคั่ง (wealth) แล้ว ไทยแลนด์แดนสารขัณฑ์ที่ได้อันดับสามในการสำรวจเมื่อสองปีที่แล้ว สามารถแซงทั้งรัสเซีย ทั้งอินเดีย ขึ้นป้ายอันดับหนึ่งได้อย่างค่อนข้างห่างด้วยซ้ำ
เมื่อสองปีที่แล้ว (2016) คนไทย (adult) 1% แรก (5 แสนคน) มีทรัพย์สินรวม 58.0% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ มาปีนี้ (2018) 1% มีเพิ่มเป็น 66.9% รวยขึ้นมากเลยครับ …แซงรัสเซียที่ลดจาก 78% เหลือแค่ 57.1% ตกไปเป็นที่สอง ขณะที่ตุรกีมาแรงทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไม่ดีแต่คนรวยกลับเพิ่มสัดส่วนขึ้นได้เป็น 54.1% แซงอินเดียที่ตกไปเป็นที่สี่ จาก 58.4% เหลือแค่เพียง 51.5%
…แล้วนอกจากสี่ประเทศนี้ก็ไม่มีประเทศไหนในโลกอีกแล้วที่คนรวย 1% มีเกินครึ่ง …โดยประเทศที่ดีที่สุดคือเบลเยียมที่ 1% มีแค่ 20.1% ตามด้วยออสเตรเลีย 22.4% (ดูตาราง 40 ประเทศ ด้านล่าง)
ที่รัสเซีย อินเดีย เศรษฐีจนลงก็พอเข้าใจได้ เพราะภาวะเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนที่ย่ำแย่เป็นตัวฉุด …แต่ตุรกีนี่ก็มีวิกฤติ สงสัยคุณแอร์โดอัน (เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดี) ออกนโยบายปกป้องพรรคพวกไว้ได้ดี เลยส่งผ่านผลวิกฤติกระจายให้คนจนได้มากกว่า …อย่างประเทศไทย ที่ตีปี๊บว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว กำลังเข้าสู่ยุคโชติช่วงใหม่ เห็นตัวเลขนี้ก็คงพอเข้าใจได้ว่าทำไมรากหญ้ายังบ่นอู้ และที่เขาว่าแข็งบน-อ่อนล่าง มันเป็นยังไง
พอไปดูรายละเอียดของตาราง (ตาราง 6.5) …คนไทยที่จนสุด 10% มีทรัพย์สิน 0% (จริงๆ ถ้ารวมหนี้น่าจะติดลบนะครับ) …ขณะที่ถ้านับ 50% (25 ล้านผู้ใหญ่) ก็ยังมีแค่ 1.7% …และถ้าเอา 70% (35 ล้าน) ก็เพิ่มไปเป็นแค่ 5% …ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจหรอกครับเพราะว่า 1% แรก (ห้าแสนคน) เอาไปหมด …แต่ที่น่ากังวลก็คือมันสะท้อนว่า คนครึ่งประเทศเป็นพวก “หาเช้ากินค่ำ” หรือไม่ก็ “เดือนชนเดือน” ไม่มีเหลือเก็บเหลือออม แล้วแถมกำลังจะแก่ก่อนมีเงินออมซะอีกด้วย
ถ้าไปดูตัวเลขค่าสัมประสิทธิ์ GINI ด้านความมั่งคั่ง (มาตรวัดการกระจาย ที่ค่าสูงสุด 100 หมายถึงคนเดียวเอาไปหมด ถ้า 0 แปลว่าทุกคนเท่ากันหมด) ตามตาราง 6.6 ก็ยืนยันว่าประเทศไทยนั้นเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก เพราะ GINI เราสูงถึง 90.2 ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นสถิติโลกที่คงหาคนทำลายได้ยาก
เห็นตัวเลข หลายคนคงจะยังสงสัย ว่าวิธีการเก็บข้อมูล วิธีการสำรวจ วิธีการประเมินของ Credit Suisse น่าเชื่อถือและถูกต้องแค่ไหน หรือหลายคนอาจจะปลอบใจว่า นี่มันวัดละเอียดกันแค่ 40 ประเทศ ประเทศจนๆ ในซับซาฮารา หรือพวกประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชโดยเฉพาะที่พวกชีคเป็นเจ้าของทุกอย่าง น่าจะแย่กว่าเรานะ
…อย่างรายงานบอกว่าความมั่งคั่งรวมของคนไทยมีแค่ $505 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 16.5 ล้านๆ บาท ผมก็คิดว่ายังตกหล่นไปเยอะ เพราะเฉพาะทรัพย์สินทางการเงินรวมในตลาดก็มีขนาด 40 ล้านๆ บาทแล้ว ไม่รวมอสังหาฯ และทรัพย์สินอื่นๆ ก็หวังว่าที่ตกหล่นน่ะส่วนใหญ่เป็นของคนจนนะครับ (กลัวจะตรงกันข้ามซะละมากกว่า)
อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ยืนยันว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เราอาจจะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน ทางการเมืองได้ดี แต่ถ้าไม่แก้เรื่องนี้ให้ได้ก็สุ่มเสี่ยงมากครับว่า เสถียรภาพทางสังคมจะมีปัญหา
ที่ยากที่จะกระจาย ก็เพราะว่ามันกระจุกแบบสุดๆ นี่แหละครับ ใครคิดว่า “รัฐสวัสดิการ” จะช่วยได้ ก็ต้องระวังแหล่งที่มาของเงินที่จะเอามากระจายด้วยนะครับ เพราะคนส่วนใหญ่ (80%) เขาก็หาได้แทบไม่พออยู่แล้ว ครั้นจะเอาจากพวก 1% ก็ต้องฝ่ากระบวนการล็อบบี้อันทรงอิทธิพลของเหล่าเจ้าสัวให้ได้ และต้องระวังเขาหอบทรัพย์หนีออกนอกประเทศกันหมดด้วย บางคนบอกว่าเอาจากงบทหารแล้วกัน ทำอย่างนั้นก็เหมือนอยู่บ้านไม้เก่าๆ โทรมๆ แล้วยังไม่ยอมจ่ายเงินซื้อประกันไฟอีก …มันเสี่ยง(นา)ครับ
ถามผมว่าอะไรคือคำตอบ …ผมก็ขอนำเสนอว่าให้ใช้หลักการ ทุนนิยมเสรีใหม่ + รัฐสวัสดิการ (Neoliberalism + Welfare) นี่แหละครับ สร้างทั้งความเติบโต พร้อมกับการกระจายไปด้วยกัน สังคมนิยม (socialism) พิสูจน์แล้วว่าไม่เวิร์ก Keynesian กับเศรษศาสตร์พัฒนาการที่นำโดยรัฐก็พาเรามาได้แค่นี้แล้วก็ติดกับมาเป็นสิบปีอย่างที่เห็นน่ะครับ ถ้าดันทุรังกันแบบเดิมๆ แผนยุทธศาสตร์จะกลายเป็นแผนฉุดกระชากชาติไป
รายละเอียดเป็นอย่างไร ต้องสารภาพว่าผมก็ไม่รู้หมดหรอกครับ แถมการขับเคลื่อนก็ยากเย็น (ก็ไอ้พวก 1% มันไม่ยอมง่ายๆ นี่ครับ) ผมเองก็พิสูจน์แล้วว่าทำไม่เป็น ทำไม่สำเร็จ …ไม่งั้นป่านนี้ไปลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วครับ
ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 5 ธันวาคม 2561