ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ธนาคารกรุงเทพเริ่ม‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ โมเดลสิ่งแวดล้อม วางทุ่นดักขยะก่อนไหลลงทะเล

ธนาคารกรุงเทพเริ่ม‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ โมเดลสิ่งแวดล้อม วางทุ่นดักขยะก่อนไหลลงทะเล

2 มีนาคม 2024


ธนาคารกรุงเทพ ผนึกพลังหน่วยงานท้องถิ่น-ชุมชน จ.สมุทรสาคร แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม ติดเครื่องมือดักขยะก่อนไหลลงทะเล สานโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ ตอกย้ำบทบาท ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ มุ่งมั่นสร้างรากฐานความยั่งยืนตลอด 80 ปี

‘ขยะทะเล’ หนึ่งในวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ภาครัฐและเอกชนยังแก้ไม่ตก เพราะด้วยระบบนิเวศขยะและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่เป็นรูปธรรม ทำให้ในแต่ละปี ประเทศไทยมีขยะตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลมากกว่า 444 ตัน หรือมากกว่า 440,000 กิโลกรัม (ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง)

โดยขยะขยะตกค้างชายฝั่งที่พบมาก 10 อันดับแรก ตามลำดับ ดังนี้ (1) ขวดเครื่องดื่มพลาสติก (2) ถุงพลาสติก (3) เศษโฟม (4) ขวดเครื่องดื่มแก้ว (5) ถุงก๊อปแก๊ป ห่อ/ถุงอาหาร (6) เศษพลาสติก (7) เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ/แว่นตา/สร้อยคอ กล่องอาหาร/โฟม และกระป๋องเครื่องดื่ม (8) ขยะประเภทอื่น

ภาครัฐ จึงจัดทำ ‘บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ’ (MOU) และมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างมีส่วนร่วมบริเวณปากแม่น้ำ และคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดการขยะทะเลอย่างมีส่วนร่วมบริเวณปากแม่น้ำ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะบริเวณปากแม่น้ำ 5 สายหลัก

โดยมีบริษัทเอกชนร่วมรับผิดชอบดำเนินงานในพื้นที่ปากแม่น้ำ 5 สายหลัก ที่ออกสู่อ่าวไทยตอนบน ได้แก่

  • บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จํากัด (มหาชน) รับผิดชอบพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา
  • บริษัท บ้านปู จํากัด (มหาชน) รับผิดชอบพื้นที่แม่น้ำบางปะกง 
  • ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) รับผิดชอบพื้นที่แม่น้ำท่าจีน 
  • บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี จํากัด (มหาชน) รับผิดชอบพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต 
  • บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) รับผิดชอบพื้นที่แม่น้ําแม่กลอง 
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ธนาคารกรุงเทพ ร่วมแก้ปัญหาขยะต้นทาง 14 ล้านชิ้น

ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบแม่น้ำท่าจีน จึงเริ่มดำเนินโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะในแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินงานในระยะที่ 1 โดยร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน สมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสมุทรสาคร องค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม วัดสหกรณ์โฆสิตาราม และประชาชนในพื้นที่ 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพริเริ่ม “โครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ ขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะทะเล โดยแม่น้ำท่าจีน เป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายสำคัญที่จะไหลลงสู่ทะเล และพบปัญหาขยะที่มีมากกว่า 14 ล้านชิ้น หรือประมาณ 148 ตันต่อปี

“เป็นเรื่องใหญ่มากซึ่งเรารอไม่ได้ ต้องเร่งกำจัดขยะเหล่านี้ออกให้เร็วที่สุด ควบคู่กันก็คือ ต้องสกัดไม่ให้ขยะใหม่ไหลลงไปสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น อันเป็นที่มาของการติดตั้งเครื่องมือดักขยะที่เราทำในครั้งนี้ ดังจะเห็นว่าอยู่ในแผนระยะแรกของโครงการที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

ดร.กอบศักดิ์ เสริมว่า ธนาคารมีสมาชิก ‘Bualuang Green Team’ และทีมเจ้าหน้าที่จิตอาสาของธนาคาร ทั้งจากสำนักงานใหญ่ และพนักงานสาขาในพื้นที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเพื่อวัดปริมาณขยะแต่ละประเภทและวิเคราะห์ที่มาของขยะ เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาอย่างชัดเจนและแก้ไขไปจนถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา อันจะทำให้เป็นการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า ธนาคารยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงภายในอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพและสาขาธนาคาร โดยร่วมกันรณรงค์และสร้างจิตสำนึกในการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการสร้างขยะ ตอบโจทย์หนึ่งในนโยบายด้านความยั่งยืนของธนาคาร ที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน 4 แนวทาง  คือ (1) การบริหารจัดการความเสี่ยง (2) การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (3) การกำกับดูแลกิจการที่ดี และ (4) การสร้างสรรค์คุณค่าที่ยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

โมเดล ‘เครื่องมือดักขยะ’ ก่อนไหลสู่ทะเล

เอกชนที่ลงนาม MOU ร่วมกับภาครัฐ จะต้องติดตั้งเครื่องดักขยะในบริเวณแม่น้ำสายหลักและสายรองก่อนไหลสู่ทะเล และสร้างความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะ และการจัดการขยะอย่างครบวงจร ขยะที่เก็บรวบรวมได้ควรขยายผลต่อ คำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะในบริเวณปากน้ำแม่เกิดความยั่งยืน สามารถเป็นต้นแบบที่ขยายผลไปสู่การจัดการในพื้นที่ปากแม่น้ำอื่นๆ ทั้งในแม่น้ำสายหลัก สายรอง และลำน้ำสาขา

โดยธนาคารกรุงเทพได้เพติดตั้งเครื่องมือดักขยะในพื้นที่นำร่องบริเวณคลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากศึกษาข้อมูลและสำรวจพื้นที่ร่วมกันพบปัญหาขยะจำนวนมากที่ไหลจากชุมชนต่างๆ มารวมบริเวณนี้ก่อนจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกปากแม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย

สำหรับการดำเนินงานที่แม่น้ำท่าจีน ธนาคารกรุงเทพฯ ใช้เครื่องมือ 3 ประเภท ซึ่งเหมาะสมกับสภาพกระแสน้ำ สามารถรองรับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้ ช่วยดักขยะที่ไหลมาตามน้ำไม่ให้ไหลต่อลงสู่แม่น้ำท่าจีนและทะเลอ่าวไทย ได้แก่

  • ทุ่นดักขยะ (Boom) ผลิตจากพลาสติก HDPE สีเหลือง ขนาด 0.35×0.50 เมตร พร้อมตาข่ายความยาว 15 เมตร และลึกลงไปจากผิวน้ำ 50 เซนติเมตร อายุการใช้งาน 5-7 ปี
  • กระชังไม้ไผ่ดักขยะ เป็นโครงไม้ไผ่ติดอวน ขนาด 3×3 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี
  • เครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก เป็นโครงไม้ไผ่ผูกอวน ขนาด 5×10 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี

ขณะเดียวกัน ได้ทำการติดตั้ง “น้องจุด” หรือ ฉลามวาฬพี่ใหญ่แห่งท้องทะเล เป็นที่พักขยะแบบถาวร สำหรับพักขยะประเภทขวดพลาสติก ทั้งจากการดักจับบนผิวน้ำและเกิดขึ้นบนบก ซึ่งขวดพลาสติกเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในขยะทะเลที่ถูกพบมากในประเทศไทย โดยจะตั้งวาง “น้องจุด” ไว้ 2 จุดในบริเวณลานวัดสหกรณ์โฆสิตาราม ซึ่งเป็นพื้นที่วัดและตลาดนัดเป็นประจำ

ทั้งนี้ อุปกรณ์ทุกประเภทดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้ามาดูแลเป็นประจำ โดยตักขยะเพื่อนำไปคัดแยกและรีไซเคิล ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้ว หรือขยะกำพร้า จะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงทดแทนให้เกิดประโยชน์ต่อไป

นอกจากการติดตั้งเครื่องมือดักขยะแล้ว คณะทำงานยังได้เริ่มดำเนินงานตามแผนในระยะ 2 โดยจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังในเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้แก่ชุมชน และโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าและเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว และเมื่อชุมชนเริ่มมีองค์ความรู้และขยะที่คัดแยกออกมาได้มีปริมาณที่มากขึ้น ธนาคารจะเริ่มพัฒนาและต่อยอดสู่การก่อตั้งโครงการธนาคารขยะในชุมชนต้นแบบ ให้ประชาชนและบริษัทรับซื้อ เข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายขยะในพื้นที่ เพื่อให้จัดการขยะได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

โมเดลจิตอาสา แต่ต้องสร้างรายได้ในอนาคต

ด้านดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Vice President ผู้ดูแลงานด้านความยั่งยืน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน เป็นหนึ่งในโครงการเรือธง (Flagship) โดยธนาคารทุ่มเทกำลังคนและทรัพยากรมากกว่าโครงการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะให้สำเร็จ อีกทั้งปัญหาขยะไม่สามารถแก้ด้วยตัวคนเดียวได้ ดังนั้นจึงเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และชุมชน ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

เมื่อถามถึงเป้าหมาย ดร.จิระวัฒน์ ตอบว่า ”เริ่มต้นก็ขอความร่วมมือไปก่อนไม่ว่าทำโครงการอะไรก็ตามควรวัดผลได้ แต่มันไม่ง่าย เช่นเราเก็บขยะขึ้นมา ต้องมีคนช่วยชั่งน้ำหนัก แรกๆ อาจฟรี อาจเป็นอาสาสมัครหรือจิตสำนึก แต่มันไม่ยั่งยืน ฉะนั้นโมเดลในการช่วยกันต้องยั่งยืน ทุกคนต้องมีแรงจูงใจในคนละไม้คนละมือ ถ้ามาด้วยการกุศลอย่างเดียว ผมว่า 2 เดือนจบ ปกติหน่วยงานรัฐเขาชั่งน้ำหนักอยู่ แต่เรากำลังไปเพิ่มงานให้เขาเพราะมีจุดเก็บขยะใหม่ๆ ดีที่สุดคือชาวบ้านมีแรงจูงใจในการช่วยเก็บขยะ…ถ้าวางฐานดีๆ ก็ไปง่าย แต่มันไม่ง่าย

ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Vice President ผู้ดูแลงานด้านความยั่งยืน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ดังนั้น โครงการ Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน ยังขอความร่วมมือจากชุมชนในการแยกขยะในรูปแบบ ‘จิตอาสา’ จึงเป็นความท้าทายในระยะต่อไปว่า ต้องทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์ หรือต่อยอดจากธนาคารขยะของชุมชน ซึ่งจะทำให้มีรายได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ดร.จิระวัฒน์ ย้ำว่า ธนาคารกรุงเทพ ยังแก้ไขปัญหาขยะในทุกมิติ โดยเฉพาะในสำนักงานหรือสาขาธนาคารเอง ซึ่งพยายามสร้างความตระหนักในการจัดการขยะให้พนักงานเกือบ 20,000 คนทั่วประเทศอีกด้วย

“แรกสุดคือปลูกฝังว่าทำไมต้องทิ้งขยะให้ตรงถัง ถ้ามันสำเร็จและเห็นผลเมื่อไร มันจะเป็นจุดที่เปลี่ยนไปเลย มันจะไม่กลับมาสภาพเดิม ถ้าพฤติกรรมเราเปลี่ยน เริ่มคิดว่าจะทิ้งถังไหน ก่อนทิ้งจะจัดการมันอย่างไร มันคือการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่ามันไม่ย้อนกลับ วันไหนเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย” ดร.จิระวัฒน์ กล่าว

ดร.จิระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ธนาคารต้องเข้าไปมีส่วนร่วมให้แข็งแรงและมีพลังมากขึ้น จากคนกลุ่มเล็กที่แยกขยะจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม และสิ่งที่ธนาคารทำคือค่อยๆ ขยายโครงการให้คนเริ่มปรับพฤติกรรมการทิ้งขยะ

นายวสันต์ แก้วจุนันท์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

แก้ปัญหาต้นทาง-ปลูกจิตสำนึกให้เยาวชน

นายวสันต์ แก้วจุนันท์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกขาม มากว่า 37 ปี กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องมือดักขยะตามแผนงานโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ ของธนาคารกรุงเทพ น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เมืองเริ่มขยายตัวมากขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยปัญหาขยะและน้ำเสียที่ไหลลงแม่น้ำลำคลอง กระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งส่งผลให้พื้นที่การทำประมงและพื้นที่ธรรมชาติถูกรุกล้ำมากขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง หรือการทำวังกุ้ง ก็ทำได้ลำบาก หาลูกกุ้งธรรมชาติได้ยากมากขึ้น หรือแม้แต่การลงเล่นน้ำในคลองก็ทำไม่ได้ เพราะน้ำไม่สะอาด

“เราหวังว่าการติดตั้งทุ่นดักขยะ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยดักขยะไม่ให้ไหลลงสู่ชายฝั่งและทะเล ที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหา จากนั้นคงต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง พวกลูกกุ้งธรรมชาติจะได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อมีการส่งเสริมความรู้เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าเมื่อเด็กมีนิสัยที่ดีติดตัว ก็จะช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ในอนาคต” นายวสันต์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของธนาคารกรุงเทพที่ต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะทะเล โดยได้ร่วมลงนามใน “บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเข้าร่วมโครงการในระยะนำร่อง จำนวน 5 แห่ง แบ่งพื้นที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาขยะใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล (แผนงานระยะ 5 ปี ระหว่าง ปี 2566 – 2570) โดยธนาคารกรุงเทพ ดำเนินการแก้ปัญหาขยะใน ‘แม่น้ำท่าจีน’ และได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่นและชุมชน โดยตัดสินใจวางแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกันอย่างครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้แนวทางแก้ปัญหาครบวงจร เพิ่มการมีส่วนร่วม และสร้างรายได้ให้ชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน