ThaiPublica > เกาะกระแส > FETCO ชี้ต้องเร่งฟื้น Trust ในตลาดทุนไทยปิด Dark spot ให้ตลาดทุนไทยมีสินค้าคุณภาพมากขึ้น

FETCO ชี้ต้องเร่งฟื้น Trust ในตลาดทุนไทยปิด Dark spot ให้ตลาดทุนไทยมีสินค้าคุณภาพมากขึ้น

12 ธันวาคม 2023



ตลาดทุนไทย ปี 2566 ประสบปัญหาทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ดัชนีตลาดฯ ทำสถิติลดลงถึง 17% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูญไปกว่า 20% แต่ละวันนักลงทุนต่างชาติมีการทยอยเทขายหุ้นออกไป ปัญหาภายในหลายอย่างทำให้ตลาดทุนไทยขาดความน่าเชื่อถือไม่ว่าจะเป็นกรณี บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) ที่มีการซื้อขายผิดปกติตั้งแต่ปลายปี 2566 มาจนถึงการทุจริตในหุ้นบมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ตามมาด้วยบมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ที่ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้หุ้นกู้ 600 กว่าล้านบาท ขณะที่ปัจจัยภายนอก มีทั้งความผันผวนในเศรษฐกิจ ปัญหาสงครามในยูเครน ตามมาด้วยสงครามในฉนวนกาซา รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2567 – 2569 ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย ผ่านการพัฒนาศักยภาพตลอดสายของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน (Value Chain) ควบคู่กับการเป็นกลไกตอบโจทย์ประเทศเพื่อปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำจากการมีความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เศรษฐกิจ และตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ ดร.พิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดสัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ปี 2567 ของสำนักงาน ก.ล.ต.ว่า แผนยุทธศาสตร์ก.ล.ต.ฉบับนี้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทยผ่านการยกระดับบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ร่วมตลาดทุน รวมถึงการยกระดับศักยภาพของก.ล.ต.ในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ควบคู่กับบทบาทการพัฒนาตลาดทุนในด้านต่าง ๆ

นางพรอนงค์  บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต

ก.ล.ต.เผยยุทธศาสตร์ปี 2567 มุ่ง Trust & Confident

การเสวนาในหัวข้อ “ร่วมสร้างและพัฒนาตลาดทุนเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ” มี รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้าร่วม

นางพรอนงค์  บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงทิศทาง การกำกับและการพัฒนา ตลาดทุนไทยเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนของประเทศ ว่า ทิศทางการทำงานของ ก.ล.ต. ในปี 2567 ประการแรกที่มุ่งเน้น และให้น้ำหนัก และมีมาตรการรองรับในระดับสูงสุด คือ การส่งเสริมความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ (Trust & Confident) ให้เกิดขึ้น ด้วยการป้องกัน ปราบปราม และการประสานความร่วมมือในการดับไฟ ให้ความสำคัญกับการยกระดับ 3 LINES OF DEFENSE บริษัทจดทะเบียน ผู้ระดมทุน ต้องไม่ทำให้สิ่งที่ไม่ดีให้เกิดขึ้น ตลาดทุนก็ควรมีระบบ detector อัตโนมัติ ป้องกันให้ไฟลุกลาม สำนักงานก.ล.ต.ก็ต้องปรับเปลี่ยนการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความคาดหวังของผู้ร่วมตลาดได้อย่างเหมาะสม

ประการที่สอง คือ บทบาทของก.ล.ต. ในการส่งเสริม การสร้างนวัตกรรมให้ตลาดทุนไทยมีกลไกในการเปลี่ยนผ่าน ทั้งผู้ร่วมตลาด และทั้งประเทศ ไปสู่สังคมดิจิทัล สู่การใช้เทคโนโลยี การใช้ดาต้า และนำไปสู่การระดมทุน การลงทุนที่มุ่งสู่ความยั่งยืน เช่น ในด้าน digital asset เดิมก.ล.ต.มุ่งเน้นการกำกับ ปัจจุบันจะมุ่งเน้นใช้ merit ของสินทรัพย์ที่ระดมทุนตอบโจทย์ผู้ระดมทุนรายใหม่ ๆ และ merit การใช้เทคโนโลยี มาต่อยอดเพื่อรองรับตลาดทุนไทยในโลกของ Web 3.0 หรือเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ในอดีตเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยการนำ ESG ไปปรับใช้ในบริษัทจดทะเบียน ในอนาคตจะยกระดับการเปิดเผยข้อมูลให้เทียบเท่ากับระดับสากล ภายใต้การสร้าง ecosystem ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เปิดเผยไปสู่สังคม Green Investment โดยก.ล.ต.ต้องปรับตัวเอง ด้วยการใช้เทคโนโลยี การใช้ data ในการดำเนินนโยบายสาธารณะและมาตรการต่าง ๆ ต้องมีการวิจัย มีบุคลากรมืออาชีพ

FETCO ชี้ต้องเร่งฟื้น Trust ปิด Dark spot

ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มองว่า ตลาดทุนไทยมี 2 ประเด็นหลักที่คิดว่าสำคัญ คือ “สร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา (Restore Trust)” ขณะเดียวกัน จะต้องมีการ modernization ตลาดทุน ซึ่งทั้งสองประเด็น FETCO พร้อให้ความร่วมมือกับก.ล.ต. ในการดำเนินการ

เริ่มจาก Trust ถือเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะที่ทำงานภาคธนาคาร จะได้ยินเสมอว่า คนฝากเงินแบงก์เพราะเชื่อใจว่าเขาสามารถถอนเงินได้ คนกล้าขึ้นเครื่องบิน เพราะรู้ว่าเครื่องบินแลนดิ้งได้ เป็น trust อย่างยิ่ง การที่คนเอาเงินทั้งชีวิตมาฝากไว้ที่เราเพื่อลงทุนจะอยู่บนพื้นฐานว่า เขาเชื่อใจว่า ที่นี่ไว้ใจได้

“และที่เลขาก.ล.ต. บอกว่าจะใช้พลัง 50% ในการขับเคลื่อนเรื่อง trust นั้น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะดูจับต้องยาก แต่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ที่ผ่านมา ตลาดทุนเผชิญปัญหาเรื่อง MORE ตามมาด้วย STARK ที่สะท้อนเรื่องเหล่านี้ ตามมาด้วยปัญหาต่อเนื่องเรื่องหุ้นกู้ ถ้ามีปัญหาเหล่านี้บ่อย ๆ ความมั่นใจในตลาดทุนไทยก็จะค่อย ๆ ลดลง เมื่อลดลงก็จะเริ่มคิดแล้วว่า เครื่องบินมีโอกาสตก 1% ถ้าตก 1% ก็มีโอกาสที่อาจจะไม่ขึ้นเครื่องบิน อาจจะไปขอขึ้นเครื่องบินที่อื่นแทน โดยเฉพาะในยุคที่สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้ นี่คือหัวใจว่า ต้องมีการ Restore Trust และ FETCO ก็พร้อมดำเนินการ”

โดยก.ล.ต.เป็นองค์กรที่อยู่ด้านบน ทำอย่างไรให้มาถึง front line และทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนไปด้วย FETCO พร้อมที่จะดำเนินการและให้การสนับสนุน ตัวอย่างเช่น ความกังวลใจในหุ้นขนาดเล็กหลายตัวที่มีปัญหาในขณะนี้ ทาง FETCO ได้คุยกับนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ในโครงการขับเคลื่อนการวิเคราะห์หุ้นตัวเล็ก ซึ่งสำคัญ และมีความยาก มีการลองมาหลายครั้งแล้วในการให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทำการวิจัยหุ้นตัวเล็ก แต่ได้คำตอบว่า ไม่คุ้มทุน ไม่มีใครซื้อ วิจัยไปก็ไม่ได้ประโยชน์ กดดันเท่าไหร่ก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ใช้วิธีการทำงานกับสมาคมนักวิเคราะห์ ส่วนการลงทุนจะขอทุนจาก กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ในการขับเคลื่อนตั้งทีมงานมาช่วยวิเคราะห์หุ้นเล็ก ๆ เพื่อเป็นหูเป็นตาให้ประชาชนที่ดูไม่ทัน อย่างน้อยก็มีคนหนึ่งไปดูโรงงาน ดูที่บริษัท ถามคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ขณะเดียวกันทำบทวิเคราะห์ ใครอยากลงทุนก็มีที่พึ่งว่ามีข้อมูลที่แท้จริงที่ดูได้ รวมถึงการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาดูสิ่งเหล่านี้ จะช่วยปิดจุดมืดของตลาดทุนไทยได้

“ต้องยอมรับว่า ด้าน Bright spot ของตลาดทุนมีเยอะมาก แต่ด้าน Dark spot ก็มีเหมือนกัน ซึ่งจะต้องร่วมมือกันระหว่างก.ล.ต.กับ FETCO ในการทำความสะอาด ทำให้ตลาดทุนไทยมีปัญหาน้อยลง ดึงความเชื่อมั่นกลับมามากขึ้น เพราะปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ dominate headline ต่าง ๆ ทำให้คนมีความกังวลใจ รวมทั้งมีโครงการต่าง ๆ ในการปัญหาด้านมืด Dark side ลดลง ทำให้ตลาดทุนไทยมีสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น นี่คือหัวใจ และเป็นคำมั่นสัญญาของเรากับผู้ลงทุนและทุกภาคส่วน”

เรื่องที่สอง ที่ FETCO จะดำเนินการกับก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ modernization ที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากังวลใจที่สุด คือ วันหนึ่งตลาดทุนไทยจะถูกลดความสำคัญลง (marginalize) จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โอกาสจะถูก marginalize มีเยอะ ดูไม่ยากเพียงแค่ 2 ปีที่ผ่านมาที่สินทรัพย์คริปโตเข้ามาเยอะ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องคอยดูตลอด และใช้เวลาไม่กี่ปีก็มีเป็นล้านบัญชี เทียบกับตลาดทุนที่ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ขณะที่ในอนาคตนักลงทุนสามารถลงทุนได้ทั่วโลก อยู่ที่ไหนก็ลงทุนได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในไทย ฉะนั้นสินทรัพย์ใหม่ ๆ ตลาดใหม่ ๆ เป็นทางเลือกเสมอ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีเสน่ห์น้อยลงเรื่อย ๆ นี่คือความเสี่ยงที่แท้จริงอันดับสอง รองจากเรื่องของ trust คือ คนอาจจะ trust เรา แต่เรามีเสน่ห์น้อยลง ไม่ชอบเราอีกก็ได้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงมีหลายเรื่องที่อยากจะทำให้ให้ตลาดทุนไทยมี modernization มากขึ้น ซึ่งต้องทำในหลายประเด็น

ประเด็นแรก คือ โครงการ guillotine หรือการการแก้ไขและปัดกวาดกฎเกณฑ์ที่เกินความจำเป็น ไร้สาระ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการมาระยะหนึ่งแล้ว และได้รับการสนับสนุนจาก CMDF และสมาชิกของ FETCO เพื่อสนับสนุนก.ล.ต. อย่างไรก็ตาม แม้ว่าก.ล.ตงจะดำเนินโครงการ guillotine มาระยะหนึ่ง และ guillotine ไปมากแล้ว แต่ไม่ได้เฉลียวใจว่า มีกฎเกณฑ์จำนวนมากที่ไร้สาระ และเนื่องจากเป็นกฎเกณฑ์ตั้งแต่ในอดีตและบางทีซุกซ่อนตามที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้เฉลียวใจ ตั้งแต่ระดับรัฐบาล ระดับประเทศ ระดับองค์กร ลงมาถึงก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

โดยกฎเกณฑ์เหล่านี้สร้างต้นทุนให้กับผู้เล่นต่าง ๆ และถึงจุดหนึ่งที่ต้องช่วยกันปัดกวาด ซึ่งก.ล.ต.เป็นองค์กรที่ทำเรื่อง guillotine ได้ดีที่สุด FETCO ก็สนับสนุนด้วยการจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ดูประเด็นเพิ่มเติมที่เหลืออยู่ และทำงานร่วมกับก.ล.ต.อย่างต่อเนื่องมาได้ 6-7 เดือนเพื่อทำความสะอาดได้ง่ายมากขึ้น เพราะถ้าแก้ไขกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้จะทำให้เดินไปข้างหน้าได้ บางกฎเกณฑ์อาจจะอยู่นอกเหนือตลาดทุน เช่น เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วมีการแก้ไขพ.ร.บ.มหาชน ที่ช่วยได้มาก จากแต่ก่อนที่ต้องลงหนังสือพิมพ์ มาเป็นการลงผ่านเว็บไซต์ได้เลย การส่งจดหมายเชิญทำผ่านออนไลน์ได้ ทำให้เกิดความสะดวกและลดต้นทุนได้ปีละหลายพันล้านบาท เป็นต้น

ประเด็นที่สอง ที่ FETCO อยากขับเคลื่อน คือ digitalization service ทำอย่างไรให้การติดต่อกับก.ล.ต. กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มีช่องทางการบริการเพียงช่องทางเดียว (Single portal) และมีกระบวนการติดตาม ถ้าเปลี่ยนจุดนี้ได้จะเปลี่ยนตลาดทุนไปสู่อีกระดับหนึ่ง รวมถึงการนำการ data นำข้อมูลมารวมกัน ซึ่งมีการหารือมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มีปัญหาไมได้นำข้อมูลมาชนกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ การรายงานข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางเดียว หากทำได้จะเกิดความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนต่างๆ

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทำให้เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนครั้งใหญ่ ที่ชี้ว่า โลกกำลังเข้าสู่ disruptive world หลายบริษัทที่รู้จักกันในขณะนี้อาจจะหายไป เศรษฐกิจก็กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีผู้เล่นใหม่ ๆ ขณะที่ประเทศไทยก็แข่งขันได้ไม่เต็มที่ ซึ่งน่ากังวลใจด้วยตัวมันเอง เรื่อง geopolitics ก็ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน เมื่อ 3 ปีที่แล้วใครจะคิดว่าโลกจะอยู่ในจุดนี้ได้ เมื่อ 3 ปีที่แล้วมีสันติภาพ เงียบ คิดอย่างเดียวว่าจะสู้กับโรคโควิดอย่างไร แต่ไม่มีปัญหาการเมืองเลย แต่ ณ วันนี้มีทั้งในยุโรป ในตะวันออกกลาง แม้กระทั่งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา หรือในเอเชียเอง เป็นประเด็นที่หลายคนหนักใจ สถานการณ์เหล่านี้กำลังเข้าสู่เฟสใหม่ แม้กระทั่งสภาพภูมิอากาศก็พูดถึง global warming มานาน แต่ไม่เคยใส่ใจมาก เทียบกับวันนี้โลกเริ่มร้อนระอุ เป็น global boiling

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า การเข้าสู่ disruptive world และนับวันจะยิ่ง disruptive มากขึ้น เหมือนการล่องแก่ง ล่องสบายมานาน ตอนนี้กำลังเข้าแก่งมรณะ มันยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของบริษัท ของหน่วยงานต่าง ๆ แม้กระทั่งของประเทศว่าจะขึ้นหรือลง เมื่อเป็นอย่างนี้ สิ่งที่ต้องทำ คือ การตัดสินใจ (make decision) เป็นเรื่องจำเป็น ถ้าไม่ make decision ตัวสถานการณ์ก็จะ make decision เรา บางที no decision อาจจะไม่ใช่คำตอบในหลายสถานการณ์ เช่น ในอนาคตต้องตัดสินใจเรื่องอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง digital asset เรื่อง start up จะจัดการอย่างไร จะทำอย่างไรให้กระแส digital asset หรือ asset of the future มาเป็นพลังของเรา หลายประเทศอย่าง อินโดนีเซีย มีสตาร์ตอัพ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนที่ใหญ่ และเป็นตัวขับเคลื่อนและเปลี่ยนตลาด สำหรับไทย มี 3 ยูนิคอร์นที่ยังไม่ได้ไปอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่บอกไว้เลยว่า ถ้าประเทศเพื่อนบ้านมีสิ่งเหล่านี้ แต่เมืองไทยไม่มี จะทำอย่างไร

นอกจากนี้ ที่สำคัญ คือ ความจำเป็นที่จะต้องคิดว่า จะนำจุดแข็งภายนอกมาเป็นของไทยหรือไม่ ต้องรับคนจากภายนอกเข้ามาทำงานหรือไม่ โดยเฉพาะนักวิจัย ที่ประเทศไทยทั้งประเทศมีเพียง 1 หมื่นคน เทียบกับบริษัท หัวเหว่ย ที่มีนักวิจัย 6 หมื่นคนจากพนักงานทั้งหมด 8 หมื่นคน เป็นนักวิจัยที่ทำเรื่องวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียวและยังจะทุ่มทุนเรื่องนี้อีกมาก ขณะที่ไทยมีปัญหาในเรื่องการสร้างคน บริษัทต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงช้าไปในเรื่องเทคโนโลยี ขณะที่การก้าวสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน มีความสามารถ น้อยไปคำถาม คือ ผลิตภัณฑ์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยจะสู้กับบริษัทที่มีนักวิจัยมากมายได้อย่างไร จะผลิตสินค้าแบบเดิม ๆ ที่ได้ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย บางอย่างราคาตกด้วย แต่สินค้าของบางประเทศ สินค้าชิ้นละเป็นล้านบาท เป็นสิบล้านบาท เป็นเรื่องน่าหนักใจ ถ้าเราสร้างคนของเราเองไม่พอ ไทยอาจจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะเปิดประตูให้กว้างรับคนข้างนอกเข้าสู่ประเทศไทย รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงสตาร์ตอัพ

“น่าคิดว่า ยูนิคอร์นที่อยู่ในป่าหิมพานต์ แต่ป่าหิมพานต์กำลังไฟไหม้ ยูนิคอร์นที่มีมากมายอยู่ไม่ได้ ต้องหาที่ที่สงบ มีสันติภาพ เพื่อทำธุรกิจได้ ถ้าไทยอ้าแขนรับ ก็มั่นใจว่าจะมีสิ่งเหล่านี้เข้ามา แต่นอกเหนือจากการเปิดประเทศแล้ว ยังหมายถึงการเปลี่ยนมาตรฐานทางกฎหมายต่าง ๆ อีกด้วย การเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่อนาคต นอกจากเรื่อง digital asset ในประเทศ จะทำอย่างไรจะดึงสิ่งเหล่านี้เข้ามาด้วย

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า สุดท้าย คือ กระแส ESG (Environment, Social, และ Governance) เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นกระแสที่มาแน่ สำหรับไทยไปได้ดีเรื่อง E แล้ว และกองทุน TESG ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ที่ FETCO มองว่า ที่ยังทำได้ไม่ดี คือ ด้าน S ยังเป็นสิ่งที่ตลาดทุนไทยไม่ได้เน้นมาก และในอนาคตคงต้องมองเรื่อง Social Credit ที่ผ่านมา ไทยมีแนวทางเรื่อง carbon credit ขณะที่ก.ล.ต. มีแผนต้องการลดความเหลื่อมล้ำในตลาดทุน เพียงแต่ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร และไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม เป็นงบที่ต้องใช้อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันใช้แบบเบี้ยหัวแตก แต่ถ้าก.ล.ต.อยากได้เรื่องไหน FETCO ก็จะโฟกัสเรื่องนั้นให้ จึงมองว่า เรื่อง ESG จะต้องทำอีกประเด็น ในเรื่องของ S โดยจะมีการหารือกับก.ล.ต.อย่างใกล้ชิดในการทำรายงานเรื่อง social credit และทำให้ไทยเป็นผู้นำของโลกในการขับเคลื่อนการสร้าง contribution ให้กับสังคม การมี social credit ซึ่งจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเสน่ห์ให้ตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้นมาก

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า แม้แผนยุทธสาสตร์ของก.ล.ต.จะดี แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผนเยอะมาก แต่การปฏิบัติ (execution) ไม่ดี สิ่งที่ FETCO จะร่วมมือกับก.ล.ต.ทำงานร่วมกันได้ตามแผนยุทธศาสตร์ที่จะเริ่มในปีนี้ คือ การร่วมมือ execution เป็นเรื่อง ๆ ตามที่ก.ล.ต.ต้องการ เพราะแผนยุทธศาสตร์จะวางไว้กว้าง ๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำทุกเรื่อง

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ผู้ร่วมตลาดต้องได้ข้อมูลทันการณ์เพื่อตัดสินใจ

ด้าน ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจและสอบถามความเห็นถึงความต้องการของผู้ร่วมตลาด(stakehoder) พบว่า ผู้ร่วมตลาดต้องการใน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก กฎเกณฑ์ วิธีการทำงาน สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือทำให้คนเข้าใจกฎระเบียบ สิ่งต่างๆ ที่ภาคกำกับดูและตลาดหลักทรัพย์ฯได้ทำไป เพื่อที่จะให้ เกิด Trust เกิดความเชื่อมั่นในตลาดได้ว่า ได้มีการทำงานตามสิ่งที่ควรจะเป็นและได้มีการตรวจสอบ ว่าสิ่งที่ได้ทำไปมีประสิทธิภาพ ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ทันสมัยและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน กฎเกณฑ์ที่ทันต่อการพัฒนาตลาดทุน

กฎเกณฑ์ที่ว่าไม่ใช่แค่กำกับดูแล ต้อมีควมสมดุลกับการสนับสนุนการสร่างนวัตกรรม ต้องส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ส่งเสริมให้เกิดลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ส่งเสริมให้เกิดการออม การลงทุนระยะยาว ในอดีตกฎเกณฑ์ที่มีทันต่อเหตุการณ์ แต่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความไม่แน่นอนมีมาก การทำงาน ระเบียบ กระบวนการต่างๆต้องมีการปรับ

เรื่องที่สอง การใช้ดิจิทัล การมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมในการที่จะทำให้ธุรกิจสามารถขยายได้อย่างสะดวกและง่ายขึ้น กระบวนการต่างๆจะมีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการต่างๆ ของผู้ร่วมตลาดของนักลงทุน ของผู้ลงทุน ของผู้ระดมุทน ของตัวกลาง รวมไปถึงการพัฒนาให้เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น

“ผมเชื่อมาตลอดว่า กฎเกณฑ์ต่างๆที่มีจะไม่สามารถตามได้ทัน กับสภาวะตลาดได้ตลอดเวลา เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่สิ่งที่จะทำให้ตลาดหรือผู้ร่วมตลาด สามารถเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆได้ดีขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น คือการที่มีข้อมูลที่มากขึ้น เร็วขึ้น ทันต่อเหตุการณ์ขึ้น เอามาใช้ในการตัดสินใจได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องการจะทำมาตลอดอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ คือการทำให้ธุรกิจขยายตัวได้โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก มีคนที่มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯมองว่า โครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญ

เรื่องที่สาม คุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ การทำให้ผลิตภัณฑ์ของตลาดทุนมีความหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และตอบโจทย์กับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องการจะทำเพื่อตอบสนองกับผู้ร่วมตลาด