
วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดงานพบปะสื่อมวลชน Meet the Press โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ พูดคุยในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และหนี้ครัวเรือนกับสินเชื่อ โดยชี้วา Landscape การแข่งขันเปลี่ยน ต้องสร้างประสิทธิภาพต่างๆ ในเรื่องของโครงสร้างมากกว่าการกระตุ้น และย้ำธปท.ไม่ยึดติดดอกเบี้ย เตือนเสถียรภาพทางการคลัง หัวใจสำคัญของเสถียรภาพโดยรวม กระสุนมีจำกัดต้องใช้ให้ถูกจุด
แรงงานในอุตสาหกรรมที่เจอปัญหาเชิงโครงสร้างรายได้ฟื้นช้า
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในภาพรวมฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ภาพเศรษฐกิจไทยที่อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะว่า ธปท.มองเศรษฐกิจดีเกินไป ไม่เห็นความลำบากของประชาชน หรือธปท.มองแต่ตัวเลข ไม่รู้สึกถึงสิ่งที่หลายกลุ่มเผชิญ ก็ต้องบอกว่าธปท.ทราบดีว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีมากนัก การฟื้นตัวของไทยเทียบกับโลก กับประเทศอื่นนั้นฟื้นช้า
“เศรษฐกิจฟื้นตัว โตต่อเนื่อง ทะยอยกลับสู่ศักยภาพ เห็นชัดจากการฟื้นตัวในแง่ภาพรวมโดยเฉลี่ยของคน ตัวเลข GDP แต่เราเข้าใจดีว่าการฟื้นตัวในภาพรวม ซ่อนความลำบาก ความทุกข์ของประชาชนไม่น้อยในหลายกลุ่ม”
ดร.เศรษฐพุฒินำข้อมูลรายได้ของลูกจ้างนอกภาคเกษตรและผู้ประกอบการอิสระมาแสดงให้เห็นว่า ยังมีประชาชนที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยใช้ปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิดเป็นปีฐาน พบว่ารายได้ของลูกจ้างนอกภาคเกษตรซึ่งอยู่ที่ระดับ 100 ในปี 2562 ได้กลับมาที่ 108.9 ในไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนรายได้ของผู้ประกอบการอิสระกลับมาที่ระดับ 109 จากสองตัวเลขนี้ก็บอกได้ว่ารายได้สองกลุ่มนี้ฟื้นตัว สูงกว่าระดับก่อนโควิด “แต่ตัวเลขนี้ซ่อนความลำบาก ความทุกข์ของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด มีรายได้ที่หายไป”
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า นอกจากรายได้หายไปแล้ว รายจ่ายที่วัดในแง่ค่าครองชีพยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) จากเดิมอยู่ที่ 100 เพิ่มขึ้นมาที่ 107.2 และเมื่อดูจากค่าสะสมรายได้รวมกับค่าสะสมรายจ่ายรวมแล้ว อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการอิสระ
นอกจากนี้รายได้แรงงานในภาคผลิตและท่องเที่ยว ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร โดยในกลุ่มแรก ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระนอกภาคเกษตร(รวมนายจ้าง)ทั้งหมด 10 ล้านคนนั้น ผู้ที่อยู่ในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว 3 ล้านคนรายได้ฟื้นกลับมา 92% เทียบกับปี 2562 ส่วนผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมอีก 1 ล้านคน รายได้ฟื้นกลับมา 79% เทียบกับปี 2562 และกลุ่มที่สองซึ่งเป็นลูกจ้างที่อยู่ในบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว 1.5 ล้านคน และอยู่ในอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง 0.6 ล้านคน รายได้ฟื้นกลับมา 94% และ 88% เทียบกับปี 2562 ตามลำดับ
“กลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเท่ากับโควิดรวมกัน นับเป็นสัดส่วนของแรงงานที่ไม่น้อย สะท้อนว่ามีแรงงานไม่น้อยที่ยังมีปัญหารายได้”ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า เงินเฟ้อต่ำแล้ว ทำไมธปท.ไม่ลดดอกเบี้ย คำตอบก็คือที่บอกว่าเงินเฟ้อต่ำ ไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าต่ำลง ราคาสินค้ายังสูงแม้เงินเฟ้อลดลง เพราะราคาสินค้าหลายหมวดสำคัญที่คนบริโภคเป็นประจำทั้งพลังงาน อาหารสดไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยปี 2562
“ราคาของเพิ่มขึ้นเทียบกับ 5 ปีก่อน เพิ่มขึ้นไม่น้อย ของที่ใช้บ่อย น้ำมัน ไข่ไก่ สะท้อนว่าตอนที่เงินเฟ้อเกิดขึ้น ราคาขึ้นแล้วไม่ลง ทุกอย่างแพงขึ้นเยอะ เราเห็นลักษณะเดียวกันทั่วโลก ไม่เฉพาะที่ไทย จึงเป็นที่มาของความรู้สึกของคน แม้ตัวเลขเฉลี่ยดีขึ้น ภาพรวมดีขึ้น บวกกับปัญหาภายในที่ซ้ำเติมคือ หนี้ครัวเรือน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ถามว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงและเป็นภาระของประชาชนมีนัยอย่างไรต่อนโยบายของธปท. การที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นกลับสู่ศักยภาพไม่ได้หมายความว่าคนไม่ลำบาก เพราะตัวเลขสะท้อนภาพรวม ซ่อนความทุกข์ของคนไม่น้อย เป็นเรื่องการใช้จ่าย
ในแง่เศรษฐกิจตัวเลข ภาคการผลิตธุรกิจ ก็จะมีลักษณะคล้ายกัน โดยเศรษฐกิจไทยพี่งการท่องเที่ยวและการส่งออกมาก จึงมีความลำบากอยู่พอสมควร ภาคที่มีสัดส่วนใหญ่คือ ภาคบริการ ซึ่งได้รับอิทธิพลไม่น้อยจากการท่องเที่ยว ขณะที่การผลิตของไทยที่ส่งออกในธุรกิจที่สำคัญเจอปัญหาเชิงโครงสร้างที่หนักขึ้น เป็นส่วนหนึ่งทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยช้ากว่าที่อื่น
“ความลำบาก ไม่ได้มาจากปัจจัยการฟื้นตัวหลังโควิดและอุปสงค์ไม่กลับมา แต่มาจาก landscape การแข่งขันเปลี่ยน ในหลายเซ็กเตอร์จะเห็นว่าเจอการแข่งขันที่เข้มขึ้นขึ้นกว่าเก่าเยอะ โดยเฉพาะที่มาจากจีน เป็นตัวที่ซ้ำเติม อาจจะไม่ได้มาจากอุปสงค์ต่างๆ แต่มาจากอุปทาน สภาวะการแข่งขันเข้มข้นและหนักกว่าเดิม ส่วนภาคที่เคยเป็นเซ็กเตอร์นำเดิม ตอนนี้ก็เจอแรงกดดัน เช่น เซ็กเตอร์ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ HDD ไม่ได้รับอานิสงส์จากกระแสใหม่ๆ เช่น ที่โยงกับ AI ก็เป็นตัวถ่วงอีกอันของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้จะทำให้เรา tune ความคาดหวัง เกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นและฟื้นแบบช้าๆ กลับเข้าไปสู่ศักยภาพระยะยาวของเศรษฐกิจไทย” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ถ้าทำเหมือนเดิม ‘กระตุ้นให้ตาย’ โตได้แค่ 3%
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไม่ได้สูงมาก ไม่ได้อยู่ที่ 4% ไม่ได้อยู่ที่ 5% น่าจะอยู่ที่ ประมาณ 3% บวก/ลบ จากการใช้ตัวเลขเบื้องต้นเพื่อมองภาพเศรษฐกิจ พบว่าไม่ได้ต่างจากแบบจำลอง โดยใช้วิธีการแบบง่าย เพื่อหาว่า GDP เศรษฐกิจประเทศไทย จะสามารถเป็นเท่าไรได้ ด้วยการตั้งต้นว่า GDP หรือ ผลผลิตมวลรวมของประเทศที่ได้จากจำนวนแรงงานที่มีและผลิตภาพของแรงงานแต่ละคน หรือแรงงานแต่ละคนสามารถผลิตได้เท่าไร
“ลองคิดง่ายๆ GDP เท่ากับแรงงานที่เรามีคูณด้วยแรงงานแต่ละคนผลิตได้เท่าไร แล้วแปลงออกมาเป็นอัตราการเติบโต จะเห็นว่าความสามารถในการเติบโตก็จะขึ้นอยู่กับว่าแรงงานเรา จะโตเท่าไร เพิ่มเท่าไร บวกกับอัตราการเติบโตของประสิทธิภาพของแรงงานนั้น ถ้าแรงงานเยอะ ก็จะเติบโตเยอะ และถ้าแรงงานแต่ละคนมี productivity ประสิทธิภาพสูง ก็จะยิ่งโตขึ้นได้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิยังได้แสดงข้อมูลอัตราการขยายตัวแรงงานไทยย้อนกลับไปในปี 2547-2556 ว่าอยู่ที่ 1.2% อัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตอยู่ที่ 2.6%
“จากข้อมูลนี้ คิดแบบง่าย GDP ของเราก็น่าจะโตได้ 1.2%+2.6% เท่ากับ 3.8% คือศักยภาพเรา แต่ตัวเลขจริงที่ออกมาที่ 4% ซึ่งสะท้อนออกมาว่าท้ายที่สุด ถ้าอยากให้ GDP โตอย่างยั่งยืนมาได้จากสองอย่าง คึอ แรงงานมีมากขึ้นหรือประสิทธิภาพแรงงานเพิ่มขึ้น แต่จากที่เห็นปี 2547-2556 และก่อนช่วงโควิด ปี 2557-2566 สิ่งที่เห็นชัดและทราบกันดี สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วมาก การเติบโตของกำลังแรงงานลดลงจาก 1.2% เป็น 0.04% แทบจะเป็นศูนย์ คิดง่ายๆ GDP หายไปแล้ว 1.2% จากการที่แรงงานหดตัว อัตราการเติบโตของผลผลิตในช่วงนั้นก็เท่าเดิมที่ 2.6% เมื่อนำมาบวกกัน ก็จะได้ GDP ที่ 2.7% ซึ่ง GDP จริงที่ออกมาคึอ 2.8%” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ตัวเลขที่นำมาแสดงวันนี้ เพื่อให้เห็นเหตุผลหลักๆของการลดลงของ GDP ในช่วงนี้ ว่ามาจากปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งคำนวณได้ศักยภาพเศรษฐกิจประมาณ 2% กว่า แต่หากใช้แบบบจำลองของธปท.ได้ตัวเลขประมาณ 3% บวกลบ จากที่ประมาณเดิม 3-3.5%
“ที่ย้ำตรงนี้เพื่อที่จะบอกว่าการคาดการณ์ที่ว่าจะฟื้น ก็ไม่ใช่กลับไปที่ 4-5% แต่ฟื้นที่ประมาณ 3% บวกลบ”
“ตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขตายตัว ปรับเปลี่ยนไม่ได้ แต่หากต้องการจะให้โตมากกว่านี้ ต้องทำอะไรในเชิงโครงสร้าง ต้องมีการลงทุน มีเทคโนโลยีใหม่ ต้องมีอะไรใหม่ แต่ไม่ได้มาจากการไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าผลิตได้แค่นี้ กระตุ้นให้ตาย ก็จะกลับมาเท่านี้ ถ้าเราอยู่อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ศักยภาพของเราก็ประมาณ 3%”
“การฟื้นตัวก็กลับไปที่ 3% ที่บอกว่าการฟื้นตัวกลับไปที่ศักยภาพ ศักยภาพก็อยู่ที่ 3% การฟื้นตัวกลับเข้าไปที่ศักยภาพไม่ได้สูง ถามว่าพอไหมถ้าเทียบกับรายได้ที่เป็นอยู่ ความยากจนที่มีอยู่ ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ ก็ไม่ใช่เป็นตัวเลขที่พอ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
การปรับอัตราดอกเบี้ยต้องชั่งน้ำหนักหลายมิติและดูผลข้างเคียง
จากนั้นดร.เศรษฐพุฒิได้อธิบายถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ย โดยกล่าวว่า “อาจจะมองกันว่าก็ธปท.เองบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ เงินเฟ้อดูเหมือนไม่สูงนัก เงินเฟ้อตอนนี้ต่ำกว่ากรอบ แล้วทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย ก็ต้องบอกว่า อย่างแรก กรอบเงินเฟ้อที่แบงก์ชาติใช้ เป็นกรอบที่ยืดหยุ่น เรียกว่า Flexible Inflation Targeting ความหมายก็คือ ตอนที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าจะเป็นเท่าไร ไม่ได้ให้น้ำหนักแค่เงินเฟ้ออย่างเดียว ต้องประเมินควบคู่กับด้านอื่น ในหลายมิติด้วยกันได้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงิน”
“ไม่มีอะไรที่เป็นสูตรตายตัวหรือเป็น fixed angle แบบที่ว่าเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบปั๊บ ต้องลดดอกเบี้ย ไม่ได้เป็นสูตรตายตัวแบบนั้น ประเทศอื่นที่มีกรอบ Inflation Targeting ก็เช่นเดียวกัน”
“ตอนที่เราดูต้องดูหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งในการที่จะดูหลายอย่าง ต้องเข้าใจข้อจำกัดของดอกเบี้ย ดอกเบี้ย เป็น blunt tool ค่อนข้างหยาบ แล้วกระทบสารพัดอย่าง โดยลักษณะดอกเบี้ยเป็นเครื่องมืออันเดียว แต่ต้องตอบโจทย์หลายโจทย์ ต้องตอบโจทย์ทั้งเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ ต้องตอบโจทย์ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ต้องตอบโจทย์ทั้งเรื่อง เสถียรภาพ ทั้งเรื่องการเงิน หรือเรื่องของต่างประเทศ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ไม่ว่ามองจากมุมใดมุมหนึ่ง ดูเหมือนไม่ตอบโจทย์เต็มที่ เพราะดอกเบี้ยต้องตอบหลายโจทย์พร้อมกัน ดังนั้นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องคำนึงในแง่ภาพรวม ต้องชั่งหลายด้าน ยกตัวอย่าง ผลของดอกเบี้ย ในแง่ผู้มีเงินฝากและลูกหนี้ ในแง่ลูกหนี้ก็อยากจะเห็นดอกเบี้ยต่ำ แต่ผู้ฝากเงินซึ่งเจออัตราผลตอบแทนจากการฝากเงินที่หักเงินเฟ้อติดลบมานานมากก็บอกว่าดอกเบี้ยต่ำไปไม่ดี จึงต้องหาจุดที่สมดุล หรือตัวอย่างจากกลุ่มผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกก็อยากเห็นเงินบาทอ่อน อยากเห็นดอกเบี้ยต่ำ ส่วนผู้นำเข้าก็ต่างกัน ไม่อยากเห็นบาทอ่อนเกินไป ไม่อยากเห็นดอกเบี้ยในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนต่ำเกินไป ในส่วนของผู้บริโภคก็ไม่อยากเห็นเงินเฟ้อที่สูงเกินไป เงินเฟ้อสูงกระทบทุกคน เพราะค่าครองชีพสูง ในแง่ผู้ผลิตก็ไม่อยากเห็นเงินเฟ้อที่สูงเพราะมีผลต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ขีดความสามารถในการแข่งขันจากต่างประเทศก็จะลดลง
“เรื่องดอกเบี้ยจะพยายาม balance หลายอย่างด้วยกัน อาจจะไม่ได้เหมาะในมุมหนึ่ง แต่ต้องชั่งในหลายมิติด้วยกัน ซึ่งหากดูจากด้านหลักๆที่แบงก์ชาติต้องชั่ง กรอบเงินเฟ้อไม่ได้ดูเรื่องเงินเฟ้อ แต่ดูอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และต้องดูเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงิน รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่สูง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในช่วงที่เงินเฟ้อปรับขึ้นไปสูงมากและสูงสุดที่ 8% เมื่อเทียบรายเดือน ช่วงนั้นแบงก์ชาติถูกต่อว่า ว่าทำไมไม่ขึ้นดอกเบี้ย ทำไมไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ประเทศอื่นขึ้นไปเร็วและเยอะแล้ว ขึ้นไปครั้งละ 0.50% แบงก์ชาติขึ้นช้ากว่าประเทศอื่น และยังขึ้นครั้งละ 0.25% ช้ากว่าประเทศอื่น ศัพท์ที่พูดกันคือ behind the curve แต่ที่แบงก์ชาติไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจาก หนึ่งได้ชั่งจากภาพเศรษฐกิจ ซึ่งภาพเศรษฐกิจตอนนั้นประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิดหนักกว่าประเทศอื่น การฟื้นตัวก็ช้ากว่าประเทศอื่น แบงก์ชาติจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเหมือนประเทศอื่น ก็อาจจะไม่เหมาะสม
“ตอนนั้นมีเสียงเรียกร้องให้แบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ย เราก็ปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและคอย balance สิ่งที่เห็น เศรษฐกิจที่ฟื้นช้ากว่าที่อื่น บวกกับการที่ต้องดูแลเงินเฟ้อ จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลยก็ไม่ได้ เพราะเงินเฟ้อขึ้นไปสูงแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ การดำเนินนโยบายการเงิน ต้องการให้ยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต inflation expectation เพราะหากหลุดไป คนจะคิดว่าเงินเฟ้อจะปรับขึ้นเรื่อย เงินเฟ้อจริงก็จะปรับตามขึ้น ก็จะเกิดความหนืดของเงินเฟ้ออย่างที่เห็นในต่างประเทศ ที่เงินเฟ้อขาลง ลงช้ากว่าไทย ไทยสามารถที่จะยึดการคาดการณ์เงินเฟ้อไว้ได้ดี ทำให้เงินเฟ้อที่สูงสุด 8% กลับเข้าในกรอบบนใน 7 เดือน ถือว่าเร็ว” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน transition เป็นช่วงที่มองไปข้างหน้าประเมินตัวเลขต่างๆ มีการพิจารณาเรื่องการ กำหนด ดอกเบี้ยนโยบายว่า trend outlook เป็นอย่างไร ไม่ได้ดูเฉพาะปัจจุบัน ซึ่งมีความสำคัญ
“ขอย้ำว่าการตัดสินใจเรื่องนโยบายเหมือน ต้องดูว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร เพราะข้อมูลที่ออกมามัน lag แต่นโยบายที่ตัดสินใจวันนี้ ไม่ได้มีผลวันนี้แต่มีผลในข้างหน้า ทุกอย่างต้องมองไปข้างหน้า”
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า หากดูข้อมูลเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่โต 1.5% เงินเฟ้อติดลบ หนี้ครัวเรือนยังสูง ก็อาจมีคำถามว่าทำไมไม่ลดดอกเบี้ย ก็ตอบว่า ตัดสินใจบนฐานตัวเลขวันนี้ไม่ได้ ต้องมองไปข้างหน้า และเมื่อมองไปข้างหน้า “การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยไม่ใช่ data dependent ไม่ใช่ข้อมูลที่ออกมาวันนี้ แต่เป็น outlook dependent คือ ตัดสินใจเพื่อดูแนวโน้ม”
ในแง่แนวโน้ม ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆทยอยฟื้น กลับเข้าสู่ศักยภาพซึ่งก็คือ 3% ในแง่ตัวเลข GDP ไตรมาสหนึ่ง 1.5% ดีกว่าที่คาด ไตรมาสสองน่าจะเห็นเกิน 2% ส่วนไตรมาสสามซึ่งมีรูปแบบปัจจัยเรื่องฐานที่ต่ำ ก็น่าจะเห็นใกล้ 3% และไตรมาสสี่น่าจะใกล้ 4% “รูปแบบการฟื้นตัวที่เทียบปีต่อปี จะค่อยๆเพิ่มขึ้น มองไปข้างหน้าโต 3-3.5% ซึ่งก็คือศักยภาพของเรา”
ส่วนเงินเฟ้อก็เช่นเดียวกัน จากที่ติดลบจากมาตรการอุดหนุนราคา ก็คาดว่าจะค่อยๆกลับเข้าสู่กรอบในไตรมาสสี่ โดยที่ครึ่งแรกของปีเงินเฟ้อแทบจะไม่เพิ่มเลย ส่วนครึ่งหลังน่าจะเฉลี่ย 1.1% เป็นที่มาของประมาณการทั้งปี 0.6% ถ้าครึ่งหลังน่าจะเฉลี่ย 1.1% ก็เข้ากรอบล่างของกรอบเงินเฟ้อแล้ว
เครื่องมืออื่นที่ตรงจุดกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในอีกด้านหนึ่งที่ต้องชั่งคือ หนี้ครัวเรือน ซึ่งแบงก์ชาติเป็นห่วงมากและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานแล้ว โดยสิ่งที่ต้องคำนึงมีสองข้อ ข้อแรก ดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อการดูแลหนี้เก่า และข้อสองดอกเบี้ยใหม่ก็ไม่ควรอยู่ในระดับที่เอื้อให้มีการกู้ยืมเพิ่มขึ้น การกำหนดดอกเบี้ยต้องชั่งหลายอย่าง จะพิจารณาจากมิติหรือมุมใดมุมหนึ่งอาจจะไม่เหมาะ
“ในการกำหนดดอกเบี้ย ต้องดูว่าดอกเบี้ยที่เหมาะสมในแง่ของหนี้ว่าควรเป็นเท่าไร ดอกเบี้ยสูงภาระหนี้ของคนที่มีหนี้สูงก็จะสูง ในทางกลับกันถ้าดอกเบี้ยต่ำเกินไป การกู้ยืมจะโตไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้เสถียรภาพในฝั่งการเงินเสื่อมไป” ดร.ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวและว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 60-70% ของ GDP มาจนถึง 85% ของ GDP ส่วนหนึ่งเป็นช่วงที่แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ดังนั้นดอกเบี้ยที่ลงหรือต่ำ ไม่มากก็น้อย เอื้อให้การกู้ยืมเกิดขึ้นและทำให้เสถียรภาพเสื่อมลง ประกอบกับแบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำค่อนข้างนานหรือ low for long
สำหรับหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 91% ของ GDP
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ถ้าถามว่าตอนนี้แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ก็ตอบว่า เหมือนกับที่กนง.แถลงไป คือ “ดอกเบี้ยที่กนง.กำหนดไว้ เหมาะสมกับ outlook ที่เห็น แต่หาก outlook เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัย เงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจาก path ที่มองไปอย่างมีนัย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัย และมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนเรื่องของดอกเบี้ย ไม่มีการปิดประตู”
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า ตอนนี้ปิดประตูอะไรไม่ได้ ความเสี่ยง ความไม่แน่นอนในโลกมหาศาล แบงก์ชาติไม่ได้จะยึดติด แต่แค่ว่า “ตอนนี้ในภาพรวมแล้วเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การดูแลหนี้ และเสถียรภาพการเงิน”
นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวย้ำว่า ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเดียว แต่ต้องตอบโจทย์หลายโจทย์ ตอบทั้งโจทย์เงินเฟ้อ GDP เสถียรภาพการเงิน และต้องจับตาเสถียรภาพด้านต่างประเทศด้วย ซึ่งปีที่ผ่านมาเงินไหลออกจากการลงทุนในหุ้น(porfoilo outflow)มีมูลค่า 9.9 พันล้านดอลลาร์ ปีนี้ตั้งแต่ต้นปี(year to date) ไหล ออกไป 5.4 พันล้านดอลลาร์ “porfoilo outflow ก็ต้องจับตา แม้ไม่ใช่ policy objective ทื่เน้น แต่ในแง่เสถียรภาพ ก็ต้องติดตาม เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยก็มีนัย”
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า เงินไหลออกในปีที่แล้วมีมูลค่า 9.9 พันล้านดอลลาร์ และในครึ่งแรกปีนี้ไหลออกอีก 5.4 พันล้านดอลลาร์ โดยไหลออกจากหุ้นจำนวนมาก 3.3 พันล้าน และจากตลาดพันธบัตร 2.1 พันล้านดอลลาร์ ในตลาดพันธบัตรส่วนหนึ่งโยงกับส่วนต่างดอกเบี้ย ส่วนเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นซึ่งเป็นก้อนใหญ่ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็น dividennd play มีการลงทุนเพื่อเงินปันผล ซึ่ง dividennd play จะน่าสนใจเมื่อดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำ แต่ช่วงนี้ดอกเยี้ยทั่วโลกปรับขึ้น ความน่าสนใจของตลาดทุกตลาดที่เป็น dividennd playก็ลดลง สาเหตุที่สอง คือกลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในตลาด ของไทยไม่มีกลุ่มใหม่ต่างจากสหรัฐที่มี เทคโนโลยี กับ AI
“ดังนั้นจะเห็นว่าดอกเบี้ยคือ หนึ่งเครื่องมือแต่ต้องตอบโจทย์หลายอย่าง ตอนที่มองมุมใดมุมหนึ่ง อาจจะดูเหมือนไม่ใช่ แต่ต้องพยายาม balance ระหว่าง objective โจทย์ต่างๆและ balance กลุ่มต่างๆ ผู้ฝาก ผู้กู้ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า แบงก์ชาติได้นำเครื่องมืออื่นมาใช้ เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยออกแรงอย่างเดียว และจะช่วยตอบโจทย์เหล่านี้ รวมทั้งลดผลข้างเคียง เพราะการใช้ดอกเบี้ยมีผลข้างเคียง จึงต้องเสริมด้วยมาตรการอื่นๆ ซึ่งกรอบหนึ่งที่แบงก์ชาติใช้ คือ ที่ IMF เรียกว่า Integrated Policy Framwork(IPF) ส่วนของ BIS เรียกว่า Macro Finance Stability Framwork แต่มีแนวคิดเดียวกันคือ ในการดำเนินนโยบายส่วนหนึ่งใช้ดอกเบี้ย โดยหลักใช้ดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ของราคา และเสริมด้วยเครื่องมืออื่น เช่น ใช้ Macro Prudential หรือ ดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น มาตรการ LTV หรือ DSR รวมถึงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ผลของอัตราแลกเปลี่ยน และที่สำคัญ ใช้มาตรการทางการเงินต่างๆเข้าเสริมเพราะการใช้ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์
“เป็นวิธีการที่เราใช้ผสมผสานระหว่างการใช้ดอกเบี้ย ให้เหมาะสมตอบโจทย์ประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ที่เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นช้า สินเชื่อลดลง แต่ก็ไม่อยากลดดอกเบี้ยเร็ว ช่วงโควิดก็ได้มีการผ่อนปรนมาตรการ LTV เข้ามาเสริม เพื่อลดผลข้างเคียงของการพึ่งดอกเบี้ยอย่างเดียว”
ตัวอย่าง คือ จากการระบาดของโควิด-19 สินเชื่อ SME หดตัว แบงก์ชาติได้มีมาตรการทางการเงิน 2 มาตรการเจาะจงเป้าหมายไปที่ SME คือ 1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) 2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้) ซึ่งช่วยให้สินเชื่อ SME ที่หดตัวกลับมาเป็นบวก
โดยจากวงเงิน 500,000 ล้านบาท ของสินเชื่อฟื้นฟู ได้มีการปล่อยเงินกู้มูลค่า 273625 ล้านบาท และปรับโครงสร้างหนี้ในมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ อีก 250,000 ล้านบาท และช่วยลูกหนี้ภายใต้มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 16.32 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ 5.06 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการ responsible lending เป็นแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เน้นการปรับโครงสร้างหนี้และแก้หนี้
เร่งแบงก์ช่วยเหลือลูกหนี้แก้หนี้
นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่ามาตรการ responsible lending จุดประสงค์เพื่อให้มีการรับผิดชอบทั้งตลอดการเป็นหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้และเป็นหนี้แล้ว หนี้มีปัญหา เพราะฉะนั้นไม่อยากให้เจ้าหนี้อยู่กับลูกหนี้แค่วันที่ต้องชำระหนี้ เจ้าหนี้มีความรับผิดชอบกับลูกหนี้ตลอดอายุการเป็นหนี้
มาตรการ responsible lending มีผลบังคับใช้กับแบงก์ และนอนแบงก์(non bank)ที่อยู่ภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ ทั้งนอนแบงก์ที่เป็นบริษัทลูกของแบงก์ และนอนแบงก์ทั่วไป
นางสาว สุวรรณี กล่าวว่า แบงก์ชาติให้ความสำคัญกับการเร่งรัดสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ โดยหลังจากออกเกณฑ์วันที่ 1 มกราคมได้ให้สถาบันการเงินใช้ข้อมูลที่มีประเมินตัวเองและนโยบายที่ใช้อยู่ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน แบงก์ชาติได้จัดทีมออกไปตรวจสอบ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ที่เป็นรายใหญ่มีส่วนแบ่งตลาด 80-90% รวมทั้งหมด 35 ราย การตรวจเน้นที่การแก้หนี้ตามเกณฑ์ responsible lending ก่อนที่จะเป็นหนี้เสียหรือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring: DR) และแก้หนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว NPL (Non-performing Loan หนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน)และอีกส่วนหนึ่งคือ หนี้เรื้อรัง (Persistent Debt)
สิ่งที่แบงก์ชาติต้องการคือ สถาบันการเงินต้องเสนอความช่วยเหลือให้ครบถ้วน โดยดูข้อมูลตั้งแต่การติดต่อ การเสนอเพิ่มเติม ซึ่งพบว่า หนี้ที่มีหลักประกัน( secured loan) เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน(unsecured loan) เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ได้เสนอความช่วยเหลือสินเชื่อที่มีหลักประกันได้มากกว่าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน โดยลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีถึง 45% ของลูกหนี้ที่เริ่มมี day past due หรือเริ่มไม่ชำระตามกำหนด ส่วนลูกหนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำ DR/TDR หรือลูกหนี้ อยู่ระหว่างตัดสินใจมีประมาณ 2% ลูกหนี้ปฏิเสธความช่วยเหลือ 12% ซึ่งบางส่วนแจ้งว่ารอเข้าคลีนิกแก้หนี้ เพราะต้องการเงื่อนไขที่ดีเนื่องจากดอกเบี้ยจะลดลงไปลงถึง 3-5%
แต่กลุ่มที่กังวลมากที่สุดคือ กลุ่มที่ติดต่อไม่ได้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกันติดต่อได้ยากมาก มีสัดส่วนถึง 61% ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการบันทึกการติดต่อของสถาบันการเงิน ทั้งการส่งข้อความ การติดต่อผ่านโทรศัพท์ การติดผ่านแอป สถาบันการเงินมีข้อมูลละเอียด ในกรณีที่เป็นลูกหนี้ที่มีหลักประกันจะมีการบันทึกการส่งพนักงานออกไปพบลูกหนี้ จากข้อมูลที่มีพบว่า สถาบันการเงินไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้จริง
การที่ติดต่อไม่ได้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ลูกหนี้เกรงว่าจะเป็นมิจฉาชีพ แต่นางสาว สุวรรณีเตือนลูกหนี้ว่า การที่ไม่มีการติดต่อกับสถาบันการเงินนาน 6 เดือนประวัติการชำระหนี้จะเสีย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆที่เจ้าหนี้ตั้งเงื่อนไขจนลูกหนี้ไม่สามารถเข้าแก้ไขได้จริง แต่แบกง์ชาติได้สั่งให้แก้ไขแล้ว และจะมีการตรวจสอบครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวม 8.2 แสนบัญชี หรือ 2.3 แสน ล้านบาท คิดเป็น 5.3 เท่าของหนี้ที่มี day past due ที่จะเป็น NPL ถ้าไม่มีการช่วยเหลือหนี้ก็จะหลุดไปเป็น NPL จำนวนมาก
นอกจากนี้แบงก์ชาติยังตรวจสอบอีก 4 เรื่องคือ นโยบายและระบบสนับสนุน การสื่อสารและการติดตามลูกหนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และ การแก้ไขหนี้ PD ซึ่งยังมีจุดบกพร่องของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งได้สั่งการให้สถาบันการเงินแก้ไขแล้ว รวมไปถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนในการโฆษณาด้วยซึ่งดีขึ้นเป็น 63% ในเดือนมิถุนายนจาก 3% ในเดือนมกราคม
สำหรับผลการลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อลูกหนี้นั้น ในสินเชื่อรายย่อยไม่ใช่ทุกคนจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนใหญ่ประมาณ 40% ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ fixed rate เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล แต่สินเชื่อที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว floating rate คือ สินเชื่อบ้าน ที่ส่วนใหญ่เกือบทุกธนาคารใช้ดอกเบี้ย MRR ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง 0.25% อัตราส่งผ่าน การตอบรับของธนาคาร ขึ้นอยู่กับการบริหาร portfolio ของธนาคาร
ในการปรับดอกเบี้ยรอบที่แล้ว ซึ่งแบงก์ชาติมีกาารดูแลให้การขึ้นกับลูกค้ารายย่อยที่ต่ำ ทำให้ผลการส่งผ่าน MRR อยู่ที่ 50% ส่งผลให้ดอกเบี้ย MRR ลดไป 0.125% จากตัวอย่างหนี้สินเชื่อบ้าน คงเหลือ 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อน 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.2%อัตราดอกเบี้ย MRR – 0.5% โดยอัตราดอกเบี้ย MRR = 6.7%) ค่างวด 11,000 บาท (ตัดต้น 5,900 บาท ตัดดอกเบี้ย 5,100 บาท) เมื่อลดดอกเบี้ยลง 0.125% จะลดภาระดอกเบี้ยลงได้ 1,200 บาทต่อปี
ลูกหนี้จ่ายค่างวดบ้านเท่าเดิม เพราะค่างวดนั้นกำหนดตายตัวเป็น fixed installment ประโยชน์ที่ได้คือ จากเดิมที่ต้องตัดดอกเบี้ย 5,100 บาท ต่อเดือน ก็จะตัดดอกเบี้ย 5,000 บาทแต่ตัดต้นเพิ่มได้ 100 บาท
การแก้หนี้จะช่วยได้ การปรับโครงสร้างหนี้มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา ขึ้นอยู่กับการให้ข้อมูลของลูกหนี้ถึงสถานะการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้รวมทั้งแผนการชำระหนี้ โดยตัวอย่าง สินเชื่อบ้าน หนี้บ้านคงเหลือ 1 ล้านบาทระยะเวลาผ่อน 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.2% เมื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารขยายเวลาชำระหนี้ให้อีก 2 ปีรวมเป็น 12 ปี แต่ดอกเบี้ยยังไม่ได้ปรับลง ลูกหนี้รายนี้ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ 6.2% แต่ภาระค่างวดนั้นลดลง จาก 11,000 บาทเหลือ 9,800 บาทและตัดดอกเบี้ยเท่าเดิม 5,100 ค่างวดที่ลดลงก็ลดภาระปัจจุบันให้ลูกหนี้รายนี้ได้
ตัวอย่างที่สอง ลูกหนี้ได้รับการขยายเวลาชำระหนี้ให้อีก 2 ปีรวมเป็น 12 ปี แต่ดอกเบี้ยลดลงมาที่ 3.90% นาน 6 เดือน เนื่องจากสถานะการเงินมีปัญหา หลังจากนั้นกลับไปที่ 6.20% ฉะนั้นเงินงวด 6 เดือนที่ต้องจ่ายเท่ากับ 9,800 บาทแต่ดอกเบี้ยลงไปค่อนข้างเยอะเหลือ 3,200 บาทต่องวด และีโอกาสที่จะตัดต้นมากขึ้น
“นี่เป็นตัวอย่างที่เรามองว่าถ้าหนี้มีปัญหา และช่วยด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ จะส่งผลกับลูกหนี้ได้มากกว่า ซึ่งลูกหนี้ก็ต้องให้ข้อมูลครบ” นางสาวสุวรรณีกล่าว
สินเชื่อ SME ชะลอเพราะความเสี่ยงด้านเครดิต
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวถึงประเด็นสุดท้ายของ Meet The Press ได้แก่ สินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาชะลอตัว แม้มีการเพิ่มขึ้นในหลายหมวด แต่ติดลบในหมวด SME ซึ่งเป็นหมวดสำคัญและแบงก์ชาติมีความเป็นห่วง ช่วงการระบาดของโควิดก็มีมาตรการสินเชื่อ softloan เข้ามาช่วยทำให้ดีขึ้นแต่ตอนนี้กลับชะลอตัวลงอีก “และ top of mind concerns การเข้าถึงสินเชื่อ เป็นโจทย์ที่เรากังวลมากกว่า” การชะลอตัวของสินเชื่อเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ ตามวัฏจักร เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงขาลงของ credit cycle ช่วงไหนที่สินเชื่อโตเยอะหลังจากนั้นก็จะกลับเข้ามาสู่แนวโน้มที่ควรจะเป็น ไม่เฉพาะไทย แต่เป็นทั่วโลก และขอย้ำว่า การชะลอตัวของสินเชื่อไม่ได้มาจากเกณฑ์ของแบงก์ชาติที่เข้ม การตัดสินใจเรื่องสินเชื่อเป็นเรื่องของธนาคาร
ดร.เศรษฐพุฒิได้นำข้อมูลมาแสดงให้เห็นถึงว่า วัฎจักรสินเชื่ออยู่ในช่วงขาลง ตามศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลงและสินเชื่อที่ขยายตัวมาระยะหนึ่ง โดยชี้ว่า ช่วงไหนที่สินเชื่อโตกว่าแนวโน้ม ท้ายที่สุดก็จะลง ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ตกลงมาก จากก่อนหน้านั้นที่ขึ้นไปเร็ว หรือ สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเร็วหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งมีทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐทั้งรถคันแรก บ้านหลังแรก ปี 2554-2555 การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้นชะลอตัวลงจากสงครามการค้า การระบาดของ COVID-19
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ยังมีความเข้าใจผิดว่าสินเชื่อที่ชะลอตัวลงมาจาก การขาดสภาพคล่อง ที่มาจากการดูดซับสภาพคล่องของแบงก์ชาติ และอธิบายว่า การปล่อยสินเชื่อของ ธนาคารพาณิชย์ไม่สัมพันธ์กับสภาพคล่องที่ฝากไว้กับ ธปท. ซึ่งขึ้นกับความจำเป็นในการดูดซับสภาพคล่องของ ธปท.โดยสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 4 ล้านล้านบาท แต่ยอดคงค้าง Bilateral Repo ที่ ธปท.มีจำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาท
ยอดคงค้าง Bilateral Repo ของธปท.มาจากการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย เช่น การเข้าซื้อดอลลาร์ในกรณีที่มีเงินต่างประเทศไหลเข้าเร็ว จนทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ผันผวนเร็ว และขายบาทออกมา การที่ปล่อยเงินบาทออกมาในระบบ ซึ่งโดยปกติเมื่อปล่อยบาทออกมาแล้ว จะไม่ดำเนินการอะไร แต่ด้วยการที่มีเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แบงก์ชาติจึงดูดเงินบาทกลับออกไป
การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดำเนินนโยบายการเงินของแบงก์ชาติในตลาด repurchase แต่มาจากความเสี่ยง credit risk
แม้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง LCR ตามเกณฑ์แบงก์ชาติ ให้เพียงพอเพื่อรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้า ไม่ว่า ทั้งสินเชื่อและเงินฝาก แต่LCR ของธนาคารพาณิชย์ไทยปัจจุบันอยู่ที่ 200% เพิ่มขึ้นจาก 160% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าเกณฑ์สากลที่กำหนดให้มากกว่า 100% แสดงว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเพียงพอ ที่สามารถรองรับการปล่อยสินเชื่อได้ ไม่มีข้อจำกัดด้านสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อ
สิ่งที่เป็นข้อพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารได้แก่ สถานะการเงินของลูกค้า ทั้งรายได้ มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ มีโอกาสที่ผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ดังนี้ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อหรือไม่ ต้องประเมินจาก อัตราผลตอบแทนที่ธนาคารจะได้รับจากการปล่อยสินเชื่อลูกหนี้แต่ละราย และความเสี่ยงที่อาจจะเจอลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้
สิ่งที่กำหนดว่าสินเชื่อจะโตหรือไม่ ส่วนหนึ่งคือ ทุน แต่ทุนของธนาคารมีมากและไม่ต้องกังวล ธนาคารจะพิจารณาว่าปล่อยไปแล้วจะเสี่ยงขนาดไหน และผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่
นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ SMEs อยู่ในระดับสูง จากความเสี่ยงด้านเครดิต โดยเฉพาะ SMEs รายย่อย จากการศึกษา portfolio ของธนาคารโดยรวม พบว่าเกือบ 70% ของ SMEs รายย่อย จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 10% ซึ่งก็น่าจะเป็นผลตอบแทนที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับจากการปล่อยสินเชื่อ แต่หากดูในด้านต้นทุนพบว่า ธนาคารก็มีต้นทุนที่สูงเช่นกัน โดยแยกเป็นต้นทุนทางการเงิน (funding cost) 2-3% ซึ่งต้นทุนการเงินไม่ได้มีเฉพาะเงินฝากเท่านั้น แต่ยังมีหุ้นกู้ นอกจากนี้มีค่าใช้ดำเนินการ (operating expense) เช่น การวิเคราะห์งบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายเล็กหรือรายใหญ่ ต้นทุนต่อรายไม่ต่างกันคือ 2-3% ต้นทุนการให้สินเชือ SME บางครั้งอาจจะสูงกว่า เพราะข้อมูลประกอบการพิจารณาอาจจไม่ครบถ้วน ถูกต้อง เหมาะสม ต้องมีการหาข้อมูลอื่นๆเทียบเคียง
นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่หนักที่สุด คือ ค่าความเสี่ยงจากหนี้เสีย (credit cost) อยู่ที่ 6-8%
ดังนั้นจากการที่พูดคุยกับหลายธนาคารคือ ขณะนี้ชะลอการปล่อยสินเชื่อ SME และหากรวมต้นทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ 11-13% เทียบกับผลตอบแทนที่ได้จากการปล่อยกู้แล้วไม่เพียงพอ
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs นางสาว สุวรรณี กล่าวว่า SME ปัจจุบันขาดหลักทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักประกันการสินเชื่อ อจจจะมาจากการที่ใช้ทรัพย์สินนั้นเป็นหลักประกันไปแล้ว หรือ ทรัพย์สินที่ใช้นั้นมาจากการเช่า
สิ่งที่จะช่วยให้มีการปล่อยสินเชื่อ SME คือ มีกลไกค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพ เช่น ที่เกาหลี การจัดตั้งกลไกค้ำประกันเครดิตจะช่วยแชร์ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs
ที่ผ่านมา บสย.ช่วยค้ำประกันสินเชื่อ SME ไปแล้ว 50,000 ล้านบาท แต่ไม่พอ เพราะสินเชื่อ SME มีมูลค่าหลายล้านล้านบาท จำนวน SME จดทะเบียนในประเทศมี 3.2 ล้านราย จากฐานข้อมูลแบงก์ชาติ SME ที่เข้าถึงสินเชื่อ ไม่รวมหนี้เกษตรกับ SFIs มีจำนวนประมาณ 1 ล้านกว่าราย แม้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 500,000 รายช่วงก่อนโควิด
“ถ้าจะทำให้ SME ในประเทศไปต่อได้ กลไกค้ำประกันความเสี่ยงที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าปัจจุบัน ที่ประเมินความเสี่ยงลูกหนี้แต่ละรายได้ชัดเจน และคิดค่าความเสี่ยงเท่ากันและสามารถค้ำประกันได้มากกว่าลูกหนี้สถสบันการเงิน ก็น่าเปิดให้ SME เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
นอกจากนี้ต้องมีมีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่ครบถ้วนขึ้น การเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open data) จะช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้น ด้วยต้นทุนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง ผู้เล่นที่เป็นnon bank ควรได้รับการแชร์ข้อมูลด้วย รวมถึงข้อมูลที่มากกว่างบการเงินและที่อยู่ในฐานระบบ
กระตุ้นเศรษฐกิจโตไม่ยั่งยืนต้องยกศักยภาพ
ในช่วงตอบคำถาม คำถามส่วนใหญ่เป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ย การเติบโตของเศรษฐกิจ กรอบเงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบาย
คำถามแรก นอกจากต้องชั่งน้ำหนักโจทย์ต่างๆ ในการปรับนโยบายดอกเบี้ยตามที่ได้อธิบายมา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยสหรัฐต้องคำนึงถึงหรือไม่ และระหว่างที่ยังไม่ลดดอกเบี้ย มองว่าประชาชนจะมีความสามารถรับมือความทุกข์ยากได้แค่ไหน
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การที่จะรับมือความทุกข์ยาก อย่าไปคิดว่าดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือเดียว มีเครื่องมืออื่นอีก เช่น เครื่องมือปรับโครงสร้างหนี้ จะเหมาะกว่าสำหรับคนที่ลำบาก ส่วนเรื่องการปรับดอกเบี้ยสหรัฐจะมีผลต่อการปรับดอกเบี้ยของแบงก์ชาติหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ากรอบนโยบายเงินเฟ้อแบบยึดหยุ่น ไม่ได้ดูต่างประเทศ ไม่ได้ดูส่วนต่างเป็นหลัก ไม่ต้องขึ้นหรือลงตาม
“สิ่งที่เรามองเป็นหลักคือ ภาพ รวมเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพการเงิน แต่ด้วยความที่ไทยเป็นประเทศเล็ก และเป็นประเทศที่เปิดมาก มีการส่งออก นำเข้า มีการท่องเที่ยว ที่มผลกระทบมากก็ต้องจับตา เสถียรภาพต่างประเทศด้วย การคำนึงถึงว่าธนาคารสหรัฐทำอะไร ที่มีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ และต่อมาที่เงินบาทต้องจับตา”
คำถามต่อมา การที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดปรับกรอบเงินเฟ้อ จะกดดันการทำงานของแบง์ชาติหรือไม่และขอให้อธิบายกระบวนการการตัดสินใจกำหนดดอกเบี้ย ที่ทำให้ตกลงร่วมกันได้ และมีการพูดกันว่า 1% เป็นกรอบที่ต่ำเกินไปทำให้ไม่มีการผลิตและกระทบเศรษฐกิจ เพราะต่ำเกินไปไม่จูงใจให้มีการผลิต แบงก์ชาติจะอธิบายอย่างไร
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า กรอบเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ต้องตกลงร่วมกัน โดยจะหารือกันในไตรมาสที่สี่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่หารือ คุยกันและร่วมกัน แต่ก็ต้องถามว่าการที่มีกรอบเงินเฟ้อ มีไว้เพื่ออะไร กรอบเงินเฟ้อมีไว้เพื่อยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ยึดเหนี่ยวความชัดเจนเรื่องของนโยบาย การที่จะปรับกรอบเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องชั่งหลายอย่าง ตัวอย่างต่างประเทศ ตอนนี้หลายประเทศไม่ได้อยู่ในกรอบ ถามว่ามีใครขยับกรอบหรือไม่ จากที่ดูแทบไม่มีประเทศไหนเลยที่จะปรับกรอบ เพราะว่า logic ของการที่มีกรอบเพื่อที่จะสร้าง credibility และ anchor การคาดการณ์เงินเฟ้อ ถ้าปรับกรอบ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าทำไมมีกรอบ
ถ้ามีการปรับกรอบทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อขยับ เปลี่ยนแปลง ผลจะเป็นอย่างไร อันแรกอาจจะทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะสูงขึ้นจากการขยับลรอบก็ได้ เพราะกรอบที่เคยมี ไม่มีแล้ว มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ถ้าการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนเพิ่มขึ้นโอกาสที่เงินเฟ้อจริงจะสูงขึ้นก็เป็นเรื่องธรรมดา และมีการจะไปต่อรองเรื่องราคา ค่าจ้าง เพราะคิดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ก็จะมีการขอราคา หรือค่าจ้างที่สูงขึ้น ตลาดก็เหมือนกันจะมีปฏิกิริยาทันที ต้นทุนการกู้ยืม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็จะเพิ่มขึ้น ฉะนั้นต้องชั่งให้ดี
ส่วนที่มีการพูดกันว่า 1% เป็นกรอบที่ต่ำเกินไปทำให้ไม่มีการผลิตและกระทบเศรษฐกิจ เพราะต่ำเกินไปไม่จูงใจให้มีการผลิต ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เงินเฟ้อที่ต่ำ 1% ไม่ได้มาจากกรอบเงินเฟ้อ แต่มาจากการอุดหนุนราคาพลังงาน ปัจจัยที่สำคัญตอนนี้คือ การแข่งขัน ธุรกิจไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้เพราะเจอการแข่งขัน จากการสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ 600 กว่าบริษัทของแบงก์ชาติ ให้คำตอบว่า ข้อกังวลอันดับต้นๆ คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สองความสามารถในการปรับราคาขึ้นไม่มาก ซึ่งความสามารถในการปรีบราคาขึ้นไม่มาก ก็ไม่ได้มาจากกรอบเงินเฟ้อ กรอบเงินเฟ้อเป็นกรอบที่แบงก์ชาติใช้ แต่แบงก์ชาติไม่ใช่หน่วยงานที่ดูแลด้านการปรับราคาสินค้า จึงไม่ควรจะนำไปสู่การปรับกรอบเงินเฟ้อ กรอบเงินเฟ้อไม่ได้เป็นสาเหตุของการไม่ปรับราคาขึ้น
นอกจากนี้จากการสำรวจธุรกิจกว่า 600 บริษัท พบว่าดอกเบี้ยอยู่อันดับ 10 ของอุปสรรคในการทำธุรกิจ ขณะที่อันดับ 1 คือต้นทุนสูงขึ้นและอันดับ 2 คือ ปรับราคาขึ้นไม่ได้ เพราะเจอภาวะการแข่งขัน ซึ่งน่าจะเป็นการนำเข้าจากจีน ส่วนอุปสงค์ไม่ได้รุนแรงมาก แต่สำหรับ SME อุปสรรคหลัก คือ การเข้าถึงสินเชื่อ
นอกจากนี้ยังมีคำถามในลักษณะเดียวกัน 2-3 คำถามคือ 1) เศรษฐกิจกว่าจะโตไปถึง 3% ได้นั้น ดอกเบี้ยสูงเกินไปหรือไม่ แล้วแบงก์ชาติหรือกนง.ก็บอกว่าดอกเบี้ยเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว มีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ เครื่องมือต่างๆเพียงพอไหม ที่จะทำให้ถึง 3% หรือ 4-5% ตามที่รัฐบาลต้องการ 2) ถ้าพูดถึง Poptential growth ขณะนี้มาตรการทางการคลัง ที่มีโครงการใหญ่สุดคือ ดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพได้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นโครงการอื่นที่ใหญ่พอจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และ 3) นอกจากมาตรการที่พูดถึงเช่น LTV หรือ softloan จะต้องทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า “ศักยภาพของไทยถ้าปล่อยไปอย่างนี้ ก็จะอยู่ประมาณ 3% แต่ถ้าจะปรับตรงนั้น ต้องเป็นอะไรที่เป็นเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่กระตุ้น เพราะการกระตุ้นจะเห็นตัวเลขโต แต่จะโตพักหนึ่งแล้วก็จะกลับไปเข้าเทรนด์เดิม ซึ่งเราทำอย่างนี้มาเยอะแล้ว จะใช้สินเชื่อ หรือด้านการคลังกระตุ้นขึ้นไปแล้วกลับมา มันไม่ยั่งยืน ไม่ได้ยกศักยภาพ ของที่อยากเห็นจริงๆที่จะยกศักยภาพ คือ แรงงานกับประสิทธิภาพของแรงงาน แรงงานจะอาจจะมีเท่าที่มี แต่ประสิทธิภาพหนีไม่พ้น การลงทุน ไม่ว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ฝั่งภาครัฐ ภาคเอกชน เทคโนโลยีต้องเป็นของพวกนี้ รวมทั้งคุณภาพของแรงงาน การวิจัยและพัฒนา ตรงนั้นจะช่วยยก 3% นี้ขึ้น”
การที่จะไปถึงศักยภาพต้องใช้เวลา การฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่คาด หลักๆ คือ ไตรมาสสี่ปีก่อนและไตรมาสแรกปีนี้ เมื่อดูในรายละเอียด การที่ช้าและอ่อนลงไปในไตรมาสสี่และไตรมาสแรก ไม่ได้เป็นของที่โยงกับดอกเบี้ยขนาดนั้น ไตรมาสสี่ปีก่อนและไตรมาสแรกปีนี้ “ถ้าอิงจากตัวเลข ตัว critical คือ งบประมาณ งบประมาณที่หายไปจากที่ช้า ถ้ารวมทั้งไตรมาสสี่ปีก่อนและไตรมาสแรกปีนี้ด้วย ทำให้ GDP หายไปประมาณ 0.8%” นอกจากนี้ประเด็นสต็อกสินค้า การส่งออกที่ซบเซากว่าที่คาด แต่ภายในประเทศอุปสงค์ไม่ได้ตก ดอกเบี้ยน่าจะไปช่วยเรื่องการบริโภค ไม่ให้กู้เพื่อการบริโภค เพราะหากปล่อยให้มีการกู้เพื่อบริโภคเยอะ ก็จะมีผลต่อเสถียรภาพและหนี้ครัวเรือน
คำถามต่อมา สามปัจจัยแรกที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับไปถึงเป้าหมาย 3% หรือเกินกว่านั้น คืออะไร
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะถึง 3% แต่จะถึงช้ากว่าที่คิด สิ่งที่จะทำให้ตัวเลขพุุ่งคือ การส่งออก ถ้าส่งออกขยายตัว ตัวเลขก็จะพุ่ง เพราะ GDP มีสัดส่วนการส่งออกมาก ถ้าส่งออก รถยนต์ อิเล็กทรอนิคส์ HDD เซ็กเตอร์เดิมขยายตัว ตัวเลขก็จะดีขึ้น แต่ทั้งสามเซ็กเตอร์เจอสภาวะการแข่งขันที่หนัก ซึ่งก็บ่งชี้ว่าไทยต้องการของใหม่ ที่ต้องจากการลงทุนใน growth sector growth engine
คำถามต่อมา แบงก์ชาติมีความกังวลต่อสถานะการคลังของประเทศในระยะยาวหรือไม่ เนื่องจากธนาคารโลกให้ความเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ตจะกดดันฐานะการคลังในประเทศในระยะยาว
ดร.เศรษฐพุฒิตอบว่า ก็คล้ายๆกับที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่า ในภาพรวมในโลก สิ่งที่ระดับโลกอยากเห็นหลังจากการโควิด คือเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเสถียรภาพฝั่งการคลัง โดยทุกคนก็ทราบดีว่าในช่วงโควิด ทุกคนเหยียบคันเร่งอะไรต่างๆ แต่แต่เมื่อเสร็จตรงนั้น เขาก็อยากเห็น fiscal consolidation ค่อยๆรัดเข็มขัด ไม่ใช่ว่า ต้องเร็วอะไร แต่ต้องเห็นว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่วิ่งขึ้นไปอีก เหมือนกับที่เรา (ธปท.) เป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เราไม่อยากเห็นมันวิ่งขึ้นอีก อยากจะเห็นว่ามันค่อยๆกลับมา
“ถ้าถามผม ตัวเสถียรภาพทางการคลัง มันเป็นหัวใจสำคัญของเสถียรภาพโดยรวม จึงคิดว่าการต้องดูแลภาพระยะยาวของการคลังให้กลับมาเข้มแข็งนั้น สำคัญ และถ้าดู เราขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีล่าสุดก็อยู่ที่ 64-65% ต่อจีดีพีแล้ว ก็ควรที่จะใส่ใจตรงนี้”ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
คำถามที่ต่อเนื่อง นโยยายการคลังยังมีความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่
ดร.เศรษฐพุฒิตอบว่า “ถ้าถามผม ถ้าจะให้ priority กับอะไร ผมจะให้ความสำคัญกับการสร้างประสิทธิภาพต่างๆ ในเรื่องของโครงสร้างมากกว่าการกระตุ้น เพราะถ้าดู จะเห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังดูโอเคอยู่ และด้วยความที่ลูกกระสุนเราเริ่มมีจำกัด จึงต้องใช้ให้ตรงจุด”
คำถามต่อมา หนี้ครัวเรือนที่ลดลงเล็กน้อยมาจากอะไร เป็นห่วงไหม
ดร.เศรษฐพุฒิตอบว่า ไม่ได้ห่วงว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ NPL เพิ่มขึ้นมากและกระทบสถาบันการเงิน เพราะสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง มีการตั้งสำรองที่ไม่น้อย แต่แนวโน้ม NPL คงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ขึ้นจนกระทบเสถียรภาพการเงิน
หนี้ครัวเรือนที่ลดลง มาจากสินเชื่อรถยนต์ที่หดตัว ราคารถมือสองตกลง 40% ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวไม่ทัน รวมทั้งสินเชื่อบ้านชะลอลง สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว หนี้ต่อ GDP ลดลงเพราะ GDP ปรับเพิ่มขึ้น มองไปข้างหน้าคาดว่าหนี้ต่อ GDP จะค่อยๆลลดลง จาก GDP ที่ขยับดีขึ้น
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า ความเสี่ยงด้านหนึ่งที่เป็นห่วงคือ การแข่งขันกับจีน ที่มีกำลังการผลิตเยอะมาก อุปสงค์ในประเทศไม่ขยายตัวนัก ดังนั้นจึงส่งสินค้าออกไปประเทศอื่น จะส่งไปสหรัฐ ยุโรปก็ยาก เพราะเจอมาตรการกีดกัน จึงส่งมาในภูมิภาคนี้ ทั้งในไทยและใกล้เคียง บางเซ็กเตอร์จะเจอการแข่งขันจากจีนสูง แต่ต้องดูว่าท้ายสุดจะทำให้เกิดเงินฝืดหรือไม่ หลายอย่างที่เห็นจากปัญหาเชิงโครงสร้าง การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากจีน