ThaiPublica > ประเด็นร้อน > วิกฤติโครงสร้างประเทศไทย > ข้อมูลภาครัฐ…ต้องเปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น เครื่องมือ-หัวใจต่อต้านวิกฤติคอร์รัปชันของไทย

ข้อมูลภาครัฐ…ต้องเปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น เครื่องมือ-หัวใจต่อต้านวิกฤติคอร์รัปชันของไทย

27 สิงหาคม 2024


ในช่วงสองทศวรรษมานี้ เราได้เห็นความพยายามในการต่อสู้กับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย โดยองค์กรภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมากขึ้น แต่จนถึงวันนี้สถานการณ์คอร์รัปชันในบ้านเราก็ยังไม่ดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ของประเทศไทยที่ไม่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดในปี 2566 ตกมาอยู่อันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

สถานการณ์และพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในภาพรวมของประเทศไทยเป็นอย่างไร? อะไรเป็นความท้าทายที่ทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน? เราจะต่อสู้กับปัญหานี้ให้ชนะหรือก้าวหน้าไปมากกว่านี้ได้อย่างไร? เมื่อผนวกกับการยอมรับในระดับสากลว่าการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็นหัวใจของการต่อต้านคอร์รัปชัน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้มาพูดคุยในวงเสวนาหัวข้อ “Open Data for Anti-Corruption Efforts in Thailand” ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567

มาตรฐานสากลของการเปิดเผยข้อมูลเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน

ในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน (Open Data for Anti-Corruption)ในระดับสากล นาตาเลีย คาร์ฟี่ ผู้อำนวยการ Open Data Charter ให้ข้อมูลว่า Open Data Charter เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาลทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยปัจจุบันมีรัฐบาลกว่า 100 ประเทศ รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมอีก 85 องค์กร ที่นำหลักการสากลเพื่อการเปิดเผยข้อมูลไปปฏิบัติใช้

หลักการสากลดังกล่าว ประกอบด้วย 6 ประการ ได้แก่ 1) เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น (Open by Default) 2) เปิดเผยทันเวลาและครอบคลุม (Timely and Comprehensive) 3)เข้าถึงได้และใช้งานได้จริง (Accessible and Usable) 4) มีคุณภาพและมีโครงสร้างที่ชัดเจน (Comparable and Interoperable) 5) เสริมสร้างธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชน (For Improved Governance & Citizen Engagement) 6) เสริมสร้างการพัฒนาและนวัตกรรม (For Inclusive Development and Innovation)

ในการเปิดเผยข้อมูลจะแบ่งเป็น 5 ระดับ

  • ต่ำสุดระดับ 1 ดาว เป็นการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบไฟล์ PDF ที่ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้อมูลได้ และนำไปใช้งานซ้ำไม่ได้
  • ระดับ 2 ดาว เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบ Excel sheet ที่เครื่องสามารถอ่านได้ (Machine-readable) สามารถนำไปใช้งานซ้ำได้ แต่อาจต้องจ่ายเงินซื้อโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศเพื่อใช้งาน
  • ระดับ 3 ดาว เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่ปลอดกรรมสิทธิ์ (Non-proprietary format) สามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • ระดับ 4 ดาว เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบไฟล์ RDF ที่ได้รับการออกแบบให้คอมพิวเตอร์สามารถอ่านและเข้าใจได้
  • ระดับ 5 ดาว เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบไฟล์ LOD ที่มีการเชื่อมโยงไปสู่แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ในบริบทที่เกี่ยวข้องกันได้
  • นาตาเลีย คาร์ฟี่

    สำหรับชุดข้อมูลเปิดเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันที่สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานและแนวทางในการส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะมีอยู่ 30 ชุดข้อมูล ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กร ทรัพยากรสาธารณะ กฎหมายและนโยบาย และทรัพย์สินและผลประโยชน์ ได้แก่ ทะเบียนผู้วิ่งเต้น ทะเบียนบริษัท รายชื่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง คำประกาศผู้รับผลประโยชน์ รายชื่อผู้รับเหมาของรัฐบาล ทะเบียนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทะเบียนคณะกรรมการที่ปรึกษา ทะเบียนองค์กรสาธารณกุศล ตำแหน่งที่ล่อแหลมต่อการทุจริต ผู้รับเหมาที่ถูกห้ามหรือถูกคว่ำบาตร งบประมาณภาครัฐ การใช้จ่ายภาครัฐ ทะเบียนโครงการของรัฐบาล กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) การเงินของพรรคการเมือง ใบอนุญาต เงินอุดหนุนจากรัฐบาล การบริจาคหรือความช่วยเหลือจากต่างประเทศ วันตรวจสอบ ทะเบียนสัญญา บันทึกการลงคะแนนเสียงของรัฐสภาบันทึกการประชุมของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ คำพิพากษาของศาล บันทึกการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบต่าง ๆ นโยบายหาเสียง ข้อมูลการร้องเรียนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บันทึกทางภาษี ทะเบียนการครอบครองที่ดิน และคำประกาศบัญชีทรัพย์สิน

    อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่ได้รับจากการศึกษาค้นคว้าและการนำแนวทางไปปฏิบัติของแต่ละประเทศ พบว่า มีความจำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการทำงานร่วมกันของข้อมูลและการประสานงานของบุคลากรเพื่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งควรมีการหารือร่วมกับผู้ใช้เพื่อให้มีกลไกการตอบรับอย่างต่อเนื่อง ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นในการใช้งานอย่างกว้างขวางเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน และควรมีการติดตามผลเพื่อให้ทราบว่าเมื่อนำข้อมูลนั้นไปใช้แล้วจะสามารถต่อต้านการทุจริตได้จริงหรือไม่ ในระดับใด

    สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยยังอยู่ในขั้นวิกฤติ

    ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยยังอยู่ในขั้นวิกฤติ การทุจริตยังมีอยู่มากในทุกกลุ่มของสังคม ขณะที่ระบบราชการเปลี่ยนแปลงได้อย่างช้า ๆ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วในวันนี้คือ สื่อมวลชนและภาคประชาชนที่มีความตื่นตัวสูง คนไทยมีแนวโน้มไม่ยอมรับพฤติกรรมการคอร์รัปชันมากขึ้น จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่างก่อนการเลือกตั้งในปี 2566 โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน พบว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่คนไทยต้องการให้แก้ไขมากที่สุดเมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ๆ

    “วันนี้คนไทยสนใจเรื่องคอร์รัปชันมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ชีวิตของเราอย่างมาก เหมือนกับว่าสังคมไทยกลายเป็นสังคมของคนโกงไปแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องแต่งตั้งนักการเมือง ข้าราชการ การซื้อขายตำแหน่ง เราได้ยินข่าวทุกปีว่ามีการโกงนมโรงเรียน โกงอาหารกลางวันเด็ก โกงการพิมพ์ตำรา หรือแม้แต่พระสงฆ์ก็มีเรื่องของการใช้เงินและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างชัดเจนว่าเราอยู่ในขั้นวิกฤติของปัญหาคอร์รัปชัน”

    นอกจากนี้ ผลสำรวจเกี่ยวกับมาตรวัดคุณภาพของสังคมไทย จากรายงานวิจัยเรื่อง “โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย: ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากร ในปี 2564 สะท้อนว่าคนไทยมีความเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง ครอบครัว และศักยภาพของคนรอบข้าง แต่สอบตกในเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนรวม โดยคนไทยไม่เชื่อใจในสังคมไทย ไม่เชื่อมั่นในองค์กร และไม่เชื่อว่าความสามัคคีมีอยู่จริง

    ดร.มานะยังได้ชวนคิดทบทวนถึงสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่ามี 2 ช่วงที่คนไทยเชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ช่วงแรกคือ ช่วงต้นของรัฐบาล คสช. สะท้อนผ่าน CPIในปี 2558 ไทยอยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศ และผลสำรวจจาก Global Corruption Barometer (GCB) ในปี 2560 คนไทยมองสถานการณ์คอร์รัปชันดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิกเนื่องจากช่วงนั้น รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนและมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การตั้งศาลคอร์รัปชัน การออกพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 การตั้งกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ฯลฯ

    อีกช่วงคือ หลังเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2565 โดยหลังเข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าฯ ได้ยกทีมงานและผู้บริหาร กทม. มาที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตอย่างจริงจังเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและความไว้วางใจกลับคืนมา รวมทั้งตอบรับคำแนะนำจากภาคเอกชน เช่น เรื่องกระบวนการเปิดเผยข้อมูล แนวคิดเรื่องการขอใบอนุญาต การคำนวณภาษีต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงเพื่อให้มีความโปร่งใสได้มากขึ้น

    “กล่าวโดยสรุปคือ การแสดงออกอย่างชัดเจนของผู้นำระดับประเทศ การให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้”

    อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน มี 6 ประการ ได้แก่

      1) สถานการณ์หลักนิติธรรมของไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ
      2) การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐยังไม่มีประสิทธิภาพ
      3) ประสิทธิภาพในการจำกัดอำนาจรัฐ ยังไม่เกิดขึ้นจริง
      4) ขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ
      5) เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งต้องมีระบบนิเวศที่เอื้อให้ทุกคนรู้สึกมั่นใจว่าพวกเขาจะปลอดภัยหากมีการเปิดเผยข้อมูลและ
      6) แม้ภาคประชาชนจะตื่นตัวมากขึ้น แต่หากไม่มีการเปิดข้อมูลภาครัฐให้ประสิทธิภาพเพียงพอ ก็อาจทำให้ประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ โดนกล่าวหาว่าใช้ข้อมูลเท็จมาใส่ร้ายหรือเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง

    แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย

    ในฐานะตัวแทนองค์กรภาคเอกชนที่มีความพยายามต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจังมากว่า 10 ปี นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เล่าถึงจุดเริ่มต้นจากความเชื่อว่าคอร์รัปชันเป็นเสมือนปีศาจที่ชอบแอบซ่อนตัวอยู่ในที่มืด ได้นำมาสู่โครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย หรือที่เรียกว่า CAC ในปี 2553 โดยความริเริ่มของ 8 องค์กรภาคเอกชนไทย ในการสร้างแพลตฟอร์มให้บริษัทที่ดีได้มารวมตัวกันในพื้นที่สว่างและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

    บริษัทที่จะเข้าเป็นสมาชิก CAC ไม่เพียงต้องประกาศเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันโดยความสมัครใจ แต่ยังต้องประเมินตนเองตามมาตรฐาน 71 ข้อ ซึ่งได้อ้างอิงแบบประเมินของ Transparency International และนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับภาคเอกชนไทย ซึ่งจนถึงวันนี้ มีบริษัทที่ผ่านกระบวนการรับรองของ CAC แล้วกว่า 600 บริษัท

    “เราอยากให้มีบริษัทเข้ามาเป็นแนวร่วมเยอะ ๆ เหมือนปลาตัวเล็ก ๆ ที่ผนึกกำลังกัน เพื่อจัดการกับปลาฉลามที่เรียกว่าคอร์รัปชันได้ ซึ่งหากดูจากตัวเลขสมาชิกวันนี้แล้วดูเหมือนเยอะ แต่กว่าจะถึงวันนี้ เราต้องต่อสู้กันมาด้วยความยากลำบาก”

    นายกุลเวชยังได้ย้ำว่าภาคเอกชนเป็นความหวังของประเทศไทยในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าในปี 2565 มีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของไทยมากถึง 26 ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และจากการประกาศผลของ S&P Global ในปี 2566 มี 37 บริษัทติดอันดับด้านความยั่งยืนระดับโลก แต่สิ่งที่ย้อนแย้งกันคือ ทำไมเราถึงมี PM 2.5 ในปริมาณที่สูง ทำไม CPI ของเรายังตกต่ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแต่ละบริษัททำเฉพาะในส่วนของตนเอง ยังไม่ได้ทำทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนจะต้องช่วยกันทำต่อไปคือการทำให้ทั้ง Supply Chain ของเราสะอาดขึ้น

    เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ หัวใจของการต่อต้านคอร์รัปชัน

    ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค ให้ข้อมูลว่าจากการศึกษาดูงานองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันในต่างประเทศ ทำให้เรียนรู้ว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจะแยกเรื่องระบบกับเรื่องคนออกจากกันอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่จะเน้นพัฒนาระบบ ซึ่งพื้นฐานแรกที่จะทำให้ระบบดีขึ้นได้ก็คือ “การเปิดเผยข้อมูล”

    “เราอยากให้ประชาชนออกมาร้องเรียนเรื่องการทุจริต หรือออกมารวมตัวกันมาก ๆ เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน แต่พอประชาชนออกมาก็โดนฟาดกลับ เพราะไม่มีข้อมูลในการต่อสู้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีข้อมูลเปิดภาครัฐ”

    ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ชี้ให้เห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ประชาชนสามารถเป็นแนวร่วมที่มีศักยภาพในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐได้ พร้อมยกตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีการเปิดเผยอยู่แล้วในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง แต่ต้องกรอกข้อมูลมากมายต้องรู้ว่าประกาศจัดซื้อจัดจ้างเป็นแบบไหน หรือวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเป็นแบบใด กว่าเข้าถึงข้อมูลชุดนั้นได้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาแพลตฟอร์ม ACTAi ที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีฐานข้อมูลอื่น ๆ เช่น ฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง และฐานข้อมูลเปิดเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน

    “ตอนนี้ดูเหมือนเรามีข้อมูลเยอะ แต่กว่าจะได้มา ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างได้มาด้วยฟอร์แมตที่แตกต่างกัน อย่างบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองซึ่งจะมีการเปิดเผยบนเว็บไซต์แค่ 180 วัน และยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น บางคนกรอกมาด้วยลายมือที่อ่านยาก มีการขีด ฆ่า ไม่เป็นระเบียบ เป็นไฟล์ PDF หรือเป็นไฟล์สแกนที่มองไม่ชัด ทำให้เห็นว่าทำไมเราจำเป็นต้องทำข้อมูลเปิดเหล่านี้ให้เข้าถึงและนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น”

    อีกความความสำคัญของข้อมูลเปิดคือ การนำชุดข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน และมีระบบ AI ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงซึ่งจากตัวอย่างที่ผ่านมาเพียงใช้ 2-3 ชุดข้อมูลมาเชื่อมโยงกันก็จะเห็นความเสี่ยงหรือจับทุจริตได้มากแล้ว ดังนั้น หากเชื่อมโยงข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันตามมาตรฐานสากลที่ต้องเปิดถึง 30 ชุดข้อมูล ต่อไปอาจรู้ได้ถึงรูปแบบวิธีการโกง และทำให้ประชาชนเป็นแนวร่วมในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของภาครัฐได้เสมือนเป็นป.ป.ช. ภาคประชาชน

    ต้องต่อสู้อีกมากเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ

    วงเสวนาย้ำว่า แม้จะมีความพยายามสู้กันมานาน แต่ปัจจุบันยังคงมีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ยังต้องพยายามต่อสู้กันอีกมาก เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ควรเปิดแต่ยังไม่ได้เปิด หรือทำให้ข้อมูลที่เปิดเผยแล้วมีประสิทธิภาพพอที่จะนำไปใช้ต่อต้านคอร์รัปชันได้และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

    ยกตัวอย่างคำพิพากษาศาล ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยกันเองระหว่างศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยเฉพาะคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่แม้โดยทฤษฎีจะบอกว่าเปิดเผย แต่ผู้ไม่มีส่วนในคดีก็ไม่สามารถขอข้อมูลได้ หรือตามทฤษฎีบอกว่าจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อเคยมีคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นแตกต่างกัน แต่เมื่อไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ก็เป็นข้อจำกัดว่าแล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าแตกต่างกัน

    ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ ทิ้งท้ายว่าปัญหาคอร์รัปชันในบ้านเราเกิดจากเรื่องของโครงสร้างอำนาจที่ไม่สมดุล เรื่องของระบบตรวจสอบที่อ่อนแอ และเรื่องของคน วัฒนธรรม และระบบอุปถัมภ์ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้างความโปร่งใสให้ภาครัฐ จะช่วยแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ทั้ง 3 เรื่องนี้ได้