ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่า ธปท.ชี้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ Neutral เหมาะสม ที่ Pause for Now

ผู้ว่า ธปท.ชี้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ Neutral เหมาะสม ที่ Pause for Now

29 กันยายน 2023


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
วันที่ 29 กันยายน 2566 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลัง ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

  • กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
  • ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธปท.ได้สื่อสารนโยบายอัตราดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแบ่งการสื่อสารออกได้เป็น 2 ระยะ ระยะแรก ดูแลการฟื้นตัวที่ราบรื่น โดยมีคำสำคัญคือ smooth takeoff เพราะถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็ไม่สามารถที่จะยึดเหนี่ยว(ankor) การคาดการณ์เงินเฟ้อไว้ได้ เป็นเรื่องการดูแลเสถียรภาพ มิฉะนั้นจะกระทบชีวิต ความเป็นอยู่ของคน เงินเฟ้อมีผลกระทบทุกคน ซึ่งการปรับดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในช่วงนั้นยึดหลักการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป(gradual and measure) เพื่อรักษา smooth takeoff ให้ไปได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ

    “ตอนนั้นถ้าจำได้เงินเฟ้อไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆด้วย สูงสุดที่ระดับ 7.5-8% ในเดือนสิงหาคมปีก่อน สูงกว่าประเทศอื่น ก็เกิดเป็นกระแสว่า ทำไมไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่านี้ ขึ้นดอกเบี้ยช้าไป ควรขึ้นเร็วกว่านี้ ประเทศอื่นขึ้นเยอะกว่านี้ ทำไมเราขึ้นแค่ 0.25% แต่ธปท.ได้อธิบายไปว่าเหมาะกับบริบทของไทย ที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น การเติบโตอิงกับการท่องเที่ยวเยอะ และสองเงินเฟ้อที่ธปท.มองคือเงินเฟ้อไม่น่าจะอยู่ยาว ถ้าจัดการการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ เพราะส่วนใหญ่มาจากด้านอุปทาน ไม่ใช่จากอุปสงค์ จึงเป็นที่มาของนโยบายในระยะแรก”

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นธปท.ได้เริ่มพยายามส่งสัญญานว่าไม่ใช่เรื่อง takeoff แล้ว เริ่มเข้าจุดเปลี่ยน (Inflection Point) แล้ว โดยเป็นเรื่องของ landing “to get the landing right” ทำให้ลงได้อย่างเหมาะสมและราบรื่น

    “Landing ของเราคือความหมาย ว่า ดอกเบี้ยเข้าเฟสที่จะหยุดขึ้น จะเห็นได้จากแถลงของกน.ที่ถอดคำว่า gradual and measure ออก และใช้ว่า Landing แต่คำถามก็คือ landing ตรงไหนถึงจะเหมาะสม ตอนนี้ไม่ได้ดูแค่ปัจจัยระยะสั้น แต่เป็นรื่องที่เราจะให้ดอกเบี้ยควรอยู่ที่ไหนที่เหมาะสมกับเรื่องของภาพระยะยาวด้วย” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้โจทย์ไม่ใช่แค่เรื่องว่า จะทำอย่างไรให้ดอกเบี้ยเหมาะสมกับโจทย์ระยะสั้น GDP หรือเงินเฟ้อ แต่เหมาะสมกับโจทย์ระยะที่ยาวกว่านี้

    “สิ่งที่เราสื่อคือ อยากให้ดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับ neutral คือเหมาะสมกับภาพระยะยาวของเศรษฐกิจ ไม่ได้เหมือนกับการเหยียบคันเร่งหรือเหยียบเบรค คืออยู่ในช่วงที่ neutral โดยดูจาก การสอดคล้องกับเสถียรภาพระยะยาว หลัก 3 เรื่อง” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่าเสถียรภาพระยะยาวหลัก 3 เรื่อง ได้แก่

      หนึ่ง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่มีศักยภาพระยะยาวของไทย คือ GDP 3-4%
      สอง เงินเฟ้ออยู่ในภายในกรอบอย่างยั่งยืน ในช่วงที่เป็นเป้าหมายตามที่ตกลงกันไว้ คือ 1-3%
      สาม ซึ่งสำคัญไม่น้อยในช่วงนี้ ได้แก่ การไม่สร้างความไม่สมดุลทางด้านการเงิน

    ทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องระยะยาว และเป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก นาวนาน ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ที่เห็นชัดที่สุดคือ หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการที่ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงพฤติกรรม search for yield การแสวงหาผลตอบแทนสูง นโยบายจึงต้องตอบโจทย์ตรงนี้ด้วย

    “อันนี้คือ path ที่เราวางไว้เปลี่ยนแปลงเฟสหนึ่งมาเป็นเฟสสอง เรื่องของ landing ที่คำนึงถึงเรื่องระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะระยะสั้น เราทำนโยบายที่คำนึงเรื่องของข้างหน้า เพราะผลของนโยบายการเงินต้องใช้เวลา”

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อีกด้านหนึ่งที่ธปท.พยายามสื่อคือ outlook dependent ขึ้นอยู่กับแนวโน้มมากกว่า data dependent หรือขึ้นอยู่กับข้อมูลที่จะออกมา ที่พยายามเน้นคือ data เวลาที่ออกจะมีเรื่องของช่วงเวลาหรือ lag เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งมีความไม่เสถียร noisy “ความที่ออกมา lag และ noisy ถ้าตัดสินใจตาม data ที่ออก ก็เหมือนกับเราขับรถโดยดูกระจกหลัง แทนที่จะมองไปข้างหน้า”

    “นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเรายึดนโยบายดอกเบี้ยที่ outlook มากกว่า data เพราะช่วงหลังตลาดผนผวนอย่างมาก ตลาดโลกผันผวนมาก ซึ่งเราไม่ต้องการที่จะเป็นแหล่งที่ทำให้ความผันผวนมากขึ้น เราไม่ต้องการให้ policy add more noise to the market, it’s enough noise out there”

    ยิ่งการทำให้นโยบายไม่แน่นอน ตามข้อมูลที่ออกมา ก็จะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอน เพิ่มความผันผวน ซึ่งเห็นปรากฎการณ์นี้จากตลาดใหญ่ ตลาดหลักของโลก ทุกอย่างเพิ่มความผันผวนในตลาด ตลาดผันผวนพอแล้ว

    สำหรับคำถามที่ว่า ตอนนี้เหมาะสมที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้วใช่หรือไม่ ดร.เศรษฐพุฒิ ตอบว่า ในแถลงของกน.ระบุไว้ชัดว่า “การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาจนถึงการประชุมครั้งนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสม” ก็น่าจะสื่อให้เห็นว่า…

    “ตอนนี้ก็เหมาะที่จะ pause for now เหมาะในระดับ neutral ที่ตั้งไว้ เราพูดมาตลอดว่าเราต้องการถอนคันเร่งและเหยียบเบรค”

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ในแถลงของกน.ยังระบุไว้ว่า “ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ” หมายถึง หากแนวโน้มในระยะข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยะ GDP เงินเฟ้อ ไม่ได้อยู่ในกรอบที่พูดถึง เสถียรภาพทางการเงินมีปัญหา…

    กนง.ก็พร้อมที่จะ take action แต่ถ้า outlook ตัวเลขที่ออกมา สอดคล้องกับ outlook ที่มองไว้อย่างไม่มีนัยะสำคัญ ดอกเบี้ยก็จะอยู่ที่ระดับนี้ไประยะหนึ่ง

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธปท.ไม่ต้องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบขึ้นลง ดังที่เห็นจากต่างประเทศที่หยุดชั่วคราวและปรับขึ้นใหม่ แนวทางนั้นไม่เหมาะกับไทย ตลาดของไทยเป็นตลาดที่ผันผวนมาก “เราไม่อยากทำแบบที่คนอื่นทำ เรามองไว้แล้วว่า get to neutral เป็นตัวที่เหมาะ และหาก GDP ออกมาตามที่คาด การที่คงไว้ที่ neutral ถือว่าเหมาะ”

    คำถามต่อมาจากสื่อมวลชนคือ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังมีทิศทางที่สอดคล้องกันหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลมุ่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ธปท.เห็นว่านโยบายการเงินไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ในขณะนี้ไม่ได้คิดว่า เป็นอัตราที่ตึงเกินไป ไม่ใช่อัตราที่ restrictive ขนาดนั้น แต่เป็นอัตราที่ neutral”

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ที่บอกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ไม่ได้เป็นอัตราที่ตึงเกินไปเพราะ หนึ่ง แนวโน้มเงินเฟ้อระยะยาวรวมทั้งเงินเฟ้อคาดการณ์จะอยู่ที่ 2% อัตราดอกเบี้ยแท้จริงก็จะอยู่ที่ 0.5% ในแง่ลูกหนี้ดอกเบี้ย 2.5% ก็ถือว่าสูงขึ้น ธปท.ก็เข้าใจแต่ในภาพรวม เสถียรภาพเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยระดับนี้ถือว่าเหมาะ

    สอง อัตราดอกเบี้ยของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นถือว่าต่ำสุด โดยอัตราดอกเบี้ยของมาเลเซียอยู่ที่ 3% เกาหลีใต้อยู่ที่ 3.5% อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 5-6% อัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำสุดในภูมิภาค ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีแม้ปรับขึ้นในช่วงหลังก็ยังต่ำสุดในภูมิภาค

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้จบแล้ว สำหรับตอนนี้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ neutral เหมาะสม และะการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปก็จะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ”

    “การสื่อสารดอกเบี้ยของธนาคารกลางหาก too much forward guidance ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะมีอะไรเกิดขึ้นที่เราคาดการณ์ไม่ได้อยู่แล้ว ความไม่แน่นอนตอนนี้สูง ความผันผวนในตลาดสูงมากมาก”

    สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจ ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ใน GDP ธปท.พิจารณาถึงตัวชี้วัด สภาวะเศรษฐกิจไม่ใช่จากการเผยแพร่ข้อมูลของสภาพัฒน์อย่างเดียว อย่าง GDP ไตรมาสสองที่ต่ำกว่าคาด ธปท.ดูไปที่ตัวเลขอื่นๆ ที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจด้วย ทั้งการจ้างงาน รายได้ การบริโภค

    “ธปท.เชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตของ GDP เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ค่อนข้างมั่นใจเพราะการบริโภคที่โตเร็ว และการท่องเที่ยวกลับมา อีกทั้งภาครัฐจะมีมาตรการการใช้จ่ายที่สนับสนุนในปีนี้ ความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้มาก” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

    ด้านเงินเฟ้อที่คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ 1.6% ในปี 2566 ก็ถือว่าอยู่ในกรอบ แต่มีปัจจัยภายในที่กระทบต่อเงินเฟ้อได้ “ถามว่าเรามีความกังวลต่อเงินเฟ้ออยู่หรือไม่ คำตอบคือใช่ ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น”

    ปัจัยที่มีผลต่อเงินเฟ้อในปีหน้า มีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ

      หนึ่ง ปรากฎการณ์เอลนีโญ จากสัญญานต่างๆน่าจะรุนแรง เช่น น้ำในเขื่อน ปรากฎการณ์เอลนีโญจะกระทบเงินเฟ้อมาก เพราะตะกร้าบริโภคของไทยมีอาหารในสัดส่วนสูง
      สอง ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในช่วงหลัง โอกาสที่จะเกิด cost-push ก็มีค่อนข้างสูง
      สาม เศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว output gap เริ่มปิด การท่องเที่ยวกลับมา ก็สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อ
      สี่ ค่าแรงขั้นต่ำ
      ห้า นโยบายการกระตุ้นจากภาครัฐ ที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อ

    “ธปท.ดูในภาพรวม ไม่ได้ดูประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่ถ้าดูภาพรวมมีหลายปัจจัยที่สะท้อนความเสี่ยงเงินเฟ้อ ในการคาดการณ์เงินเฟ้อของธปท. ได้คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้แล้ว แต่ในแต่ละปัจจัยโดยตัวเองอาจจะส่งผลไม่เยอะ แต่หากเกิดขึ้นพร้อมหลายอย่างก็อาจจะทำให้ผลมันมากกว่าที่คาดก็ได้” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ให้น้ำหนักกับเสถียรภาพระยะยาว 3 เรื่อง คือ การเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและสถียรภาพทางการเงิน ไม่ได้มุ่งไปที่ค่าเงินเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่า ธปท.ไม่ได้ดูเรื่องค่าเงิน เพราะมีผลต่อเสถียรภาพ และเงินเฟ้อทางอ้อม แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักในการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับ neutral

    ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ค่าเงินบาทไทยผันผวนค่อนข้างมาก และผันผวนมากกว่าปกติ อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ ค่าเงินญี่ปุ่นและเกาหลี มีสาเหตุมาจาก

      ข้อแรก ปัจจัยภายนอก เงินดอลลาร์ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
      ข้อสอง ความสัมพันธ์(correlation)ระหว่างไทยกับจีนอยู่ในระดับสูงลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ค่าเงินบาทกับค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน เพราะเศรษฐกิจไทยโยงกับเศรษฐกิจจีนมาก เห็นชัดคือ การท่องเที่ยว
      ข้อสาม การซื้อทองคำของคนไทย คนไทยชอบซื้อทองคำอย่างมาก correlation ระหว่างเงินบาทกับทองคำจะสูงกว่า correlation สกุลเงินอื่นกับทองคำ

    ตั้งแต่ต้นปีมีเงินไหลออกจำนวน 8.8 พันล้านดอลลาร์ ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับประเทศอื่นที่เงินไหลเข้า เนื่องจากปัจจัยเฉพาะของไทย หลังการเลือกตั้งในช่วงแรกไทยยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลมีผลต่อความเชื่อมั่น ในช่วงหลังที่มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว มีประเด็นที่น่ากังวลจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่อนโยบายของรัฐบาล เป็นหนึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบ ให้เงินบาทอ่อนค่า