ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. เสียงพลิกลงมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.75% – แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอ ปรับลดประมาณการณ์

กนง. เสียงพลิกลงมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.75% – แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอ ปรับลดประมาณการณ์

20 มีนาคม 2019


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวมติ กนง.

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 2/62 ว่า กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยให้เหตุผลในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับศักยภาพแม้ว่าจะชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ กนง. ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยลดลงบ้าง แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ทั้งการบริโภคและการลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งจะติดตามความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้โดยราคาพลังงานปรับสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน และราคาอาหารสดปรับเพิ่มขึ้นจากปัญหาอุปทานส่วนเกินที่คลี่คลายลงและภาวะภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ช่วยชดเชยผลของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนับจากการประชุมครั้งก่อน เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาจะช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งอาจน่าไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการจากตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมทั้งทิศทางการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงต่อไปยังจ่าเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลายทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม มาตรการก่ากับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential)

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันยังมีความเหมาะสม โดยจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

งดตอบคำถามสื่อ กังวลใกล้เลือกตั้ง – ชี้แถลงข่าวชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าวและเข้าสู่ช่วงถามตอบ นายทิตนันทิ์ กล่าวว่าเนื่องจากการประชุมครั้งนี้ใกล้เลือกตั้งจึงขอไม่ตอบคำถามของสื่อมวลชนและจะตอบคำถามต่างๆ ในการแถลงข่าว Analyst’s meeting ในช่วงหลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว ก่อนจะเดินลงจากโพเดียม

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้พยายามถามคำถามเพิ่มเติม นายทิตนันทิ์กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่าเอกสารแถลงข่าวรอบนี้ กนง. ใช้เวลาหารือกันและปรับปรุงแต่งแก้ไขให้ชัดเจนมากขึ้น พยายามจะสื่อให้ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ และคิดว่าในเอกสารอธิบายชัดเจนแล้ว แต่เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเฉพาะด้านเศรษฐกิจนายทิตนันทิ์จึงเดินกลับขึ้นมา

นายทิตนันทิ์กล่าวหลังเดินกลับขึ้นมาบนโพเดียมว่า ย้ำจากที่แถลงข่าวว่า เศรษฐกิจยังขยายตัวใกล้เคียงกับศักยภาพ กนง. ปรับประมาณการณ์ลงเล็กน้อย การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจที่ทำให้ปรับประมาณการณ์ลงบ้างมีสาเหตุมาจากการชะลอตัวของการส่งออกจากการชะลอตัวของการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ด้านอุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคและลงทุน

ส่วนมาตรการเพิ่มเติมของนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเพิ่มเติม นายทิตนันทิ์กล่าวว่า กนง. คุยกันในหลายประเด็น ทั้งเรื่องที่เคยหารือมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง หรือเรื่องใหม่อย่างหนี้ครัวเรือนที่เห็นว่าเพิ่มขึ้นในระยะหลัง และได้หารือกันค่อนข้างมาก

“ถ้าดูในเอกสารก็เห็นว่าเราต้องติดตามเรื่องสงครามการค้าของจีนกับสหรัฐฯ เรื่องเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งถ้าชะลอตัวต่อเนื่อง ท้ายที่สุดอาจจะส่งผลมาถึงเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออก ตรงนี้ให้การบ้านเจ้าหน้าที่ไว้ว่าต้องติดตามสถานการณ์พวกนี้ว่าต้องดูอะไร เศรษฐกิจชะลอมากหรือไม่ ผลต่อไทยเป็นอย่างไร ที่เราเรียกว่า data dependent หรือปัจจัยในประเทศว่าการลงทุนอาจจะมีแนวโน้มอย่างไร ต้องติดตามให้ชัดเจนขึ้น ส่วนถามว่าแปลว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงหรือไม่ คิดว่าดูจากเอกสารแถลงข่าวได้ จริงๆ เอกสาร กนง. ให้เวลามากเป็นพิเศษแล้ว” นายทิตนันทิ์กล่าว

ทั้งนี้ การปรับประมาณการครั้งนี้ กนง. ได้ปรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงจาก 4% เป็น 3.8% โดยครั้งนี้เป็นการปรับลดประมาณการลดลงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกนำเข้า

ย้อนฟังเสียง กนง. – นิ่งรอดูการเมือง หรือเศรษฐกิจกำลังแย่?

อนึ่ง หากย้อนดูเสียงของ กนง. ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย โดยการประชุมในครั้งนั้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง (มีกรรมการ 1 คนลาประชุม คือนายคณิศ แสงสุพรรณ) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยเสียงข้างมากให้เหตุผลว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ขณะที่กรรมการอีก 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2% ต่อปี โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ภาวะการเงินโดยรวมจะยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และสะสมขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้เสียงที่พลิกกลับมาเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ย อาจจะสอดคล้องกับการแถลงข่าวว่า กนง. ตั้งใจรอให้ผ่านการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้การตัดสินใจมีผลกระทบทางการเมือง หรือที่จริงแล้วอาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงขาลงจนทำให้ กนง. ต้องคงดอกเบี้ยเป็นเอกฉันท์

หากอ่านเอกสารแถลงข่าวครั้งนี้เทียบกับครั้งที่ผ่านมา กนง. ได้ระบุความเสี่ยงของเศรษฐกิจจากต่างประเทศเพิ่มในประเด็นการชะลอตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่อาจจะส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศไทย เพิ่มเติมจากเรื่องสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่พูดถึงในการประชุมมาสักระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ในคราวนี้ กนง. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการประสานนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยนโยบาย มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) เพื่อดูแลความเปราะบางของเสถียรภาพการเงินด้วย ซึ่งแตกต่างจากเดิมในคราวที่ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อปีที่ผ่านมาที่ส่งสัญญาณว่าเครื่องมือ micro-macro prudential เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน โดยระบุดอกเบี้ยยังเป็นเครื่องมือสำคัญ เปรียบเสมือนการดูแลต้นน้ำของระบบการเงิน และเมื่อสบโอกาสที่เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพอยู่จึงควรขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของระบบการเงินและสะสมพื้นที่นโยบายการเงินเพิ่มเติมสำหรับอนาคต