ThaiPublica > ประเด็นร้อน > วิกฤติโครงสร้างประเทศไทย > รัฐธรรมนูญที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางกับการสถาปนาหลักนิติธรรมในประเทศไทย

รัฐธรรมนูญที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางกับการสถาปนาหลักนิติธรรมในประเทศไทย

25 กันยายน 2024


(ซ้ายไปขวา) ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวธนิสรา เรืองเดช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พันช์อัพ เวิล์ด จำกัด,นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน และนายธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าว The Standard ผู้ดำเนินรายการ

แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งเป็นกติการ่วมกันของคนในสังคม แต่ทำไมรัฐธรรมนูญในประเทศไทยกลับพูดถึงมิติเกี่ยวกับประชาชนน้อยมาก? หากเป็นกฎหมายสูงสุดจริงก็ต้องสามารถวางหลักนิติธรรมให้จำกัดการใช้อำนาจรัฐได้? และจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง?

จากประเด็นคำถามข้างต้น ซึ่งชวนคิดโดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้นำเข้าสู่วงเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการสถาปนาหลักนิติธรรมในประเทศไทย” ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 โดยมีวิทยากรผู้คร่ำหวอดในวงการกฎหมาย การเมืองการปกครอง และเรื่องรัฐธรรมนูญ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ มุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา
และทางออกที่เป็นประโยชน์ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ประกอบด้วยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวธนิสรา เรืองเดช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พันช์อัพ เวิล์ด จำกัด

สร้างวัฒนธรรมการใช้รัฐธรรมนูญ ปักหมุดในใจคน

ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือต้องการให้ทหารหยุดเข้ามาแทรกแซงการเมือง และยังได้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับกินได้” เพราะประชาชนรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมและสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับอำนาจรัฐได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกใช้เป็นเครื่องมือกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ทำให้รัฐบาลอ่อนแอลง และพรรคการเมืองเข้มแข็งน้อยลง แต่ผลก็คือพลังประชาชนยังชนะ รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงเป็นยาแรงสำหรับการรักษาฐานอำนาจของรัฐบาลรัฐประหาร ที่ทำให้ประชาชนยิ่งรู้สึกเหินห่างและไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของเลย ซ้ำยังทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา

ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาโดยตลอด แต่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ซึ่งหากดูจากเวลาในปัจจุบัน คาดว่าประชามติครั้งแรกเพื่อรับรองการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะทำได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2568 กลางปีรัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 15 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และทำประชามติครั้งที่ 2 ได้ปลายปี 2568 หลังจากนั้นจึงเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และยกร่างรัฐธรรมนูญได้ในปี 2569 ดังนั้น อย่างเร็วที่สุดที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คือ ช่วงการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2570 แต่อาจเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ผ่านประชามติครั้งที่ 3 ที่ให้ความเห็นชอบแล้ว นั่นหมายความว่า เราอาจจะยังต้องใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ศ.ดร.สิริพรรณให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีที่หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุ่งยากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประกอบกับความคุ้มค่าในการทำประชามติที่ต้องใช้งบประมาณสูง ครั้งละประมาณ 3,000 ล้านบาท 3 ครั้ง 9,000 ล้านบาท โดยชี้ให้เห็นว่ามีหลายประเทศใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อเปลี่ยนผ่านจากอำนาจนิยมหรือเผด็จการทหารอย่างรุนแรงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้โดยไม่ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น “อินโดนีเซีย” มีการแก้รัฐธรรมนูญถึง 4 ครั้ง ระหว่างปี 2542-2545 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2488 หรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังคงใช้มาถึงทุกวันนี้ แต่ทุกครั้งเป็นการแก้เพื่อเพิ่มอำนาจสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน “โปแลนด์” ช่วงแรกของการเปลี่ยนไปสู่เสรีประชาธิปไตย ได้นำรัฐธรรมนูญปี 2495 ในยุคคอมมิวนิสต์มาปรับใช้จนกระทั่งรับรองฉบับใหม่ในปี 2540 ขณะที่ “ชิลี” ยังคงใช้รัฐธรรมนูญปี 2523 เพราะความพยายามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาประสบความล้มเหลว

ล่าสุดทางพรรคเพื่อไทยได้มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราใน 6 ประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรม ซึ่ง ศ.ดร.สิริพรรณได้ตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขมาตรา 160 เรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีและกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กำหนดไว้ในมาตรา 256 (8) ซึ่งต้องไปทำประชามติพร้อมกับกรณีที่แก้ทั้งฉบับอยู่ดี พร้อมให้มุมมองว่า โดยส่วนตัวไม่ติดขัดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพียงแต่คงต้องแก้ไขทั้งฉบับควบคู่กันไปด้วย เพราะประชาชนรู้สึกว่าไม่มีความชอบธรรมในเรื่องของที่มา

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับผู้เชี่ยวชาญ ที่มีการเขียนในเชิงเทคนิคสูง มีการโยงจากมาตราหนึ่งไปยังมาตราอื่น ๆ เช่น มาตรา 160 (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 และพอไปดูมาตรา 98 ก็โยงไปมาตราอื่นอีก ซึ่งอาจทำให้ประชาชนหรือแม้แต่นักการเมืองเองเข้าใจผิดได้ และในหมวดเรื่องสิทธิมนุษยชน มีบรรจุไว้ถึง 15 มาตรา (มาตรา 64-78) แต่กลายเป็นว่า สิทธิไหนที่ไม่ได้บรรจุไว้ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง ในขณะที่ในต่างประเทศพยายามเขียนให้สั้น กระชับ ครอบคลุม โดยไม่ต้องใส่รายละเอียดทั้งหมด ดังนั้น การแก้รายมาตราอย่างเดียวจึงแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด

ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรพิจารณาประเด็นเหล่านี้ และที่สำคัญคือ ต้องปักหมุดเรื่องหลักนิติรัฐหลักนิติธรรมในใจประชาชน ทำให้รัฐธรรมนูญมีชีวิต (The Constitution came alive) เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนทุกคน ไม่ใช่เป็นแค่ของนักร้องเรียน โดยสร้างวัฒนธรรมการใช้รัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนรู้สึกว่าสามารถใช้ได้จริง ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญในอินเดียซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2493 และมีคนบอกว่าร่างโดยชนชั้นผู้นำ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม แต่มีหลายปรากฏการณ์ที่คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือปกป้องตัวเอง
ให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น หญิงให้บริการทางเพศต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกอบอาชีพ คนขายเนื้อชาวมุสลิมในอินเดียร้องเรียนให้ทบทวนกฎหมายคุ้มครองวัว หรือพ่อค้ารายย่อยท้าทายกลุ่มทุนใหญ่ที่กำหนดราคาเสื้อผ้าฝ้าย เป็นต้น

แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับคู่ขนานกับการแก้รายมาตรา

ในฐานะตัวแทนฝ่ายการเมือง นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน ได้ฉาพภาพในมุมของปัญหาและข้อถกเถียงเกี่ยวกับทางออกปัจจุบันในการแก้ไขเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากประเด็นฉุกคิดว่าวันที่ 19 กันยายน 2567 เป็นวันครบรอบ 18 ปี ในการทำรัฐประหารปี 2549 พร้อมกับฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 ไป และหลังจากนั้น เราก็ไม่เคยได้ใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนอีกเลย สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น ทุกฝ่ายเริ่มเห็นตรงกันว่ามีปัญหาเรื่องความชอบธรรมของกระบวนการได้มา เพราะถูกร่างโดยคนของคณะรัฐประหาร ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และในแง่ความชอบธรรม

ด้านเนื้อหาต้องยอมรับว่ามีความถดถอยทั้งในเรื่องของเป้าหมายการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมือง เช่น มีการใช้ถ้อยคำในหลายมาตราที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รัดกุมน้อยลง แต่สิ่งที่ถูกขยายให้กว้างขึ้นคืออำนาจของรัฐ โดยเพิ่มคำว่า “ความสงบเรียบร้อย” และ “ความมั่นคงของรัฐ” เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมที่รัฐสามารถใช้อำนาจแล้วไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

ในภาพรวม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ขยายอำนาจสถาบันการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เช่น สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับมีอำนาจรับรองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากมองความชอบธรรมทางประชาธิปไตยแล้ว อำนาจและที่มาต้องสอดคล้องกัน ยิ่งสถาบันการเมืองที่มีอำนาจมาก ก็ควรจะต้องมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนสูง นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกขาดอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องจริยธรรม ตลอดจนมีวาระซ่อนเร้นอย่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน

โดยสรุปแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาทั้งที่มาและเนื้อหา จึงจำเป็นต้องเสนอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับเดิม แต่เนื่องจากการแก้ไขทั้งฉบับต้องใช้กระบวนการที่ยาวนาน แม้รัฐบาลจะเร่งสปีดเต็มที่ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะได้ฉบับใหม่ไม่ทันการเลือกครั้งหน้า

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคู่ขนานกันไปคือ การแก้บางมาตราที่จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งพรรคประชาชนได้เสนอให้แก้ไขรายมาตรา 2 แพ็กเกจ ได้แก่ แพ็กเกจที่ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ซึ่งได้มีการยื่นแก้ไขแล้ว 3 เรื่อง ได้แก่ การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การยกเลิกมาตรา 279
ที่คุ้มครองการใช้อำนาจในยุครัฐประหาร และการเพิ่มหมวดป้องกันการทำรัฐประหาร และอีกแพ็กเกจที่จำเป็น แต่น่าจะเป็นข้อถกเถียงในสังคมเพราะอาจมองว่าพรรคการเมืองทำเพื่อตัวเอง ก็คือ การทบทวนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เรื่องการวินิจฉัยมาตรฐานจริยธรรมและเรื่องการยุบพรรค

นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า พรรคประชาชนอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมมากที่สุด ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงมองว่า สสร. ซึ่งเป็นคนที่จะเข้ามาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ โดย สสร. อาจจะแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหรือกลุ่มความหลากหลายต่าง ๆ มาช่วยได้ อาจเปรียบประชาชนเป็นเจ้าของบ้าน ที่เลือกตัวแทนหรือสภาผู้แทนราษฎรมาสร้างบ้าน ซึ่งจะไปออกแบบหรือจ้างสถาปนิกคนไหนมาทำบ้านเราก็ได้ให้ตรงกับโจทย์ที่ให้ไป

ประชาชนคือหัวใจของรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม

ในฐานะนักวิชาการที่ได้ศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญโดยตรงมาหลายสิบปี ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพปฐมบทของรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๆ ของโลกว่าในสมัยก่อนอำนาจการปกครองบ้านเมืองนั้นจะรวมศูนย์อยู่ที่ผู้ปกครอง ทั้งในเรื่องของการออกกฎหมาย การบริหารจัดการ และการตัดสินคดี แต่ประเด็นที่สำคัญคือ กฎหมายนั้นใช้ควบคุมกับทุกคน ยกเว้นตัวของผู้ปกครองเองที่มีสถานะอยู่เหนือกฎหมาย ลักษณะแบบนี้นำไปสู่ “รัฐแบบอำนาจเบ็จเสร็จ” สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ

เมื่อการใช้อำนาจตามอำเภอใจกระทบสิทธิของประชาชนมาก ๆ จึงนำไปสู่การต่อสู้กันและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ย้ายอำนาจจากผู้ปกครองมาอยู่ฝั่งประชาชน ซึ่งประชาชนคิดว่าลักษณะการปกครองแบบเดิมน่าจะเป็นอันตรายต่อพวกเขาและประโยชน์ส่วนรวม จึงร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์บางอย่าง เพื่อเข้ามาคุมการใช้อำนาจไม่ให้เกิดประสบการณ์แบบเดิม ๆ โดยออกแบบกลไกกฎหมายที่ใช้บังคับกับผู้ปกครอง และมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งต่อมาเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” จะเห็นได้ว่า ลักษณะของรัฐธรรมนูญ ประการแรกคือ เป็นผลมาจากการที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการกำหนดโครงสร้างการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นมาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการถืออำนาจ ประการที่สอง ประชาชนเป็นคนช่วยกันออกกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสัญญาประชาคม จึงกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญมีที่มาจากประชาชน มีวัตถุประสงค์ทำเพื่อประชาชน และบังคับใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และประการสุดท้ายคือ ประชาชนออกกฎหมายฉบับนี้มาเพื่อกำกับการใช้อำนาจของรัฐให้มีบรรทัดฐาน มีครรลองคลองธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันออกแบบเพื่อควบคุมการใช้อำนาจรัฐนี้ ก็คือ “หลักนิติธรรม” นั่นเอง

ดังนั้น หากจะสถาปนา “หลักนิติธรรม” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ต้องมาพร้อมกับประชาธิปไตย เพราะหากไม่มีประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น หลักนิติธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ ประชาธิปไตยเข้มแข็ง หลักนิติธรรมก็เข้มแข็ง ประชาธิปไตยอ่อนแอ หลักนิติธรรมก็อ่อนแอ เพราะไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือหลักนิติธรรม จุดสูงสุดก็คือ “ประชาชน”

ผศ.ดร.พรสันต์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญจะมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น นอกจากการกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังต้องดูการจัดวางโครงสร้างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยหลักการแล้วต้องไม่ให้มีการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งนอกจากการแบ่งองค์กรเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ให้รัฐสภาทำหน้าที่ออกกฎหมาย รัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศ และให้ศาลตัดสินคดีต่าง ๆ แล้ว ลึกลงไปกว่านั้นคือ ต้องมีการแบ่งภารกิจของแต่ละองค์กรเท่า ๆ กัน โดยมีการวางสมดุลของอำนาจ ไม่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเหนือองค์กรอื่น รวมทั้งต้องมีความชอบธรรมในการกำหนดภารกิจด้วย

สำหรับรัฐธรรมนูญไทยเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้วว่ามีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกเคยถกเถียงกันว่า อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุด “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ประชาชน ซึ่งฉบับแรกก็ใช้คำว่า “เป็นของ” ฉบับที่ 2 ก็เปลี่ยนเป็น “มาจาก” หลังจากนั้นก็สลับสับเปลี่ยนกันไปมาจนกระทั่งถึงฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งผศ.ดร.พรสันต์ ได้ให้นิยามว่าเป็นรัฐธรรมนูญในเชิงเทคนิคทางกฎหมาย เป็น 1 ใน 20 ฉบับที่อ่านยากมาก ๆ ในทางปฏิบัติถ้านักการเมืองอ่านไม่ดี ก็จะมีปัญหาเพราะเขียนโยงในหลายมาตรา เป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง

ในมุมมองของ ผศ.ดร.พรสันต์ รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะใช้รัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งเป็นช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบมาเป็นโมเดลในการยกร่าง นอกจากนี้ อารัมภบทของรัฐธรรมนูญยังสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ร่างที่พยายามออกแบบเพื่อถ่วงดุลอำนาจเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ไม่ได้นำศาลและองค์กรอิสระมาอยู่ในการถ่วงดุล เขียนแต่เพียงว่าให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงได้เห็นว่าศาลและองค์กรอิสระมีบทบาทอย่างมาก เช่น ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปคุมการตราพระราชกำหนดของรัฐบาลได้ หรือให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปกำกับการใช้งบประมาณ ซึ่งอาจกระทบนโยบายของพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมาอีกข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สะท้อนว่ารัฐธรรมนูญไทยยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ก็คือ การที่ประเทศไทยได้คะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้อำนาจของบางองค์กรยิ่งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นมา หลักนิติธรรมไทยยิ่งมีปัญหามากขึ้น และพิสูจน์หลักการว่าเป็นเพราะประชาธิปไตยไทยอ่อนแอ คะแนนหลักนิติธรรมจึงตกต่ำไปด้วย

ดังนั้น ในการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับจัดวางโครงสร้างองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้ดีพอ มีการถ่วงดุลอำนาจกันอย่างเหมาะสมและมีความสมดุล เพราะสุดท้ายแล้ว การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ อาจไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ในท้ายที่สุด

ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญในฝันของเราทุกคน

ในฐานะตัวแทนจากกลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน นางสาวธนิสรา เรืองเดช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พันช์อัพ เวิล์ด จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวใช้เวลา 20 ปีในชีวิต โดยไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องรัฐธรรมนูญเลย เพราะรู้สึกว่าเป็นคำใหญ่ ไกลตัว และไม่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งมีหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าเห็นผลกระทบกับตัวเอง และคิดว่ามีคนที่อยากมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญ เพราะรู้สึกว่าเสียงของเราไม่มีความหมายความ เช่น รู้สึกว่าจะออกไปเลือกตั้งทำไม ในเมื่อสุดท้ายก็มีคนอื่นมาเลือกให้ มายุบพรรค หรือมาตัดสินคนที่เราเลือกเข้าไป เป็นต้น

ในช่วงปี 2563-2564 ทางกลุ่มได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม “Reconstitution” ฐานข้อมูลรัฐธรรมนูญออนไลน์ที่สามารถเปรียบทียบรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับได้ และโครงการสำรวจไอเดียสิทธิเสรีภาพจากรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ แพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือนตลาดออนไลน์ให้ชอปปิงไอเดียรัฐธรรมนูญจาก 161 ประเทศรอบโลก และล่าสุดกำลังทำโครงการ “DREAM CON” เพื่อเป็นแหล่งรวมบทสนทนาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในฝัน ให้เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ฝันถึงได้สำหรับคนไทยทุกคน เตรียมความพร้อมสำหรับนำเสนอต่อ สสร. และเป็นแพลตฟอร์มให้นักวิชาการและคนทำกฎหมายมาเลือกชอปปิงได้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ จากการจัดทำแบบสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในฝันในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า มีกลุ่มตัวอย่าง 1,650 คน จาก 74 จังหวัดทั่วประเทศ เข้ามาทำแบบสำรวจ โดยในจำนวนนี้มี 1,060 คน ตอบคำถามเรื่อง “รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราแค่ไหน” ซึ่งส่วนใหญ่ตอบว่ารัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรามากที่สุด เพราะเปรียบเสมือนเสาหลักให้กับหลักยุติธรรมในทุก ๆ เรื่อง เป็นข้อตกลงที่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ เป็นสิ่งที่ทำให้คนเคารพกัน เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องโดยตรง และเป็นกฎหมายที่ควรมีที่มาจากประชาชน ขณะที่มีคนส่วนน้อยตอบว่าไม่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวข้องน้อย เพราะมองว่าทุกวันนี้ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับข้อกำหนดต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญแต่ก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าใจยาก มีแต่หลักการ ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง และเป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจ ประชาชนคนทั่วไปไม่มีสิทธิใช้

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากการทำแคมเปญล่าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญมากกว่าที่คิด โดยครั้งแรกมีคนร่วมลงชื่อกว่าแสนคน ครั้งที่ 2 มากกว่า 1.5 แสนคน และครั้งล่าสุดในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และการตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่ามีคนมาลงชื่อมากกว่า 2 แสนคน จึงกล่าวได้ว่า ประชาชนไม่ได้นิ่งเฉยเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเมื่อมีวาระสำคัญ ๆ เพียงแต่ยังติดอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากนัก