ThaiPublica > คอลัมน์ > Bitter Sweet Hell ฉันผิด หรือเธอบิดเบือน

Bitter Sweet Hell ฉันผิด หรือเธอบิดเบือน

10 มิถุนายน 2024


1721955

สารภาพว่า Bitter Sweet Hell (2024) https://youtu.be/ByqXHbjgvmE เป็นซีรีส์ที่เรากดดูโดยไม่รู้อะไรมาก่อนเลย แต่กลายเป็นว่าระทึกทุกช่วงตอนและพลิกไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน ขณะนี้มาแล้ว 6 อีพี ครึ่งทางพอดีอันเป็นช่วงวิกฤติที่พลิกทุกสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็เผยความจริงบางส่วนที่ทำให้เราไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่จริง แล้วราวกับจะตะโกนใส่หน้าเราว่ายังมีอีกครึ่งหลังที่จะยิ่งซับซ้อนไปกว่าที่ผ่านมา จนตอนนี้เราคาดเดาอะไรไม่ได้อีกต่อไป

Bitter Sweet Hell เป็นเรื่องของครอบครัวผู้ดีมีอันจะกิน ฉลาดทรงภูมิ เป็นที่รู้จักในวงสังคม และประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ด้วยคู่หลักที่เพิ่งคว้ารางวัลหมอแห่งปีมาด้วยกันหมาด ๆ ชเวแจจิน (คิมนัมฮี) หมอศัลยกรรมผู้เป็นสามี, โนยองวอน (คิมฮีซอน) จิตแพทย์คนดังมีรายการปรึกษาปัญหาทางทีวีผู้เป็นเมีย, ฮงซากัง (อีฮเยยอง) แม่ผัวผู้มีอดีตเป็นนักเขียนนิยายสืบสวนชื่อดัง, ชเวโกมยอน (กวอนแฮฮโย) พ่อผัวผู้เป็นอัยการปลดเกษียณ และ ชเวโดฮยอน (แจชาน) ลูกชายผู้กำลังติวเข้มและถูกคาดหวังให้เข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง กับคนรอบข้างที่แวะเวียนเข้ามาข้องเกี่ยวกับครอบครัวนี้ไม่ว่าจะญาติ, คนร่วมงาน คนร่วมงาน, เพื่อนร่วมชั้น แฟนนิยาย และผู้ป่วยที่มีบาดแผลทางกายหรือทางจิตใจ

เดิมทีซีรีส์นี้วางแผนจะออนแอร์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และประกาศผู้กำกับเป็นชื่อ คิมซึงอู ที่ไม่เคยกำกับซีรีส์มาก่อนเลย แต่เขาได้รับคำชมและแจ้งเกิดจากหนัง Bring Me Home (2019 ที่ได้ อียองแอ นางเอกตัวท็อปจากแดจังกึมมาแสดง) อีกทั้งบท อีเซนา นังตัวร้ายในซีรีส์นี้ ทีแรกจะแสดงโดย คังแฮอิม นางเอกร้ายลึกจากซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ Somebody แต่เกิดคิวไม่ว่างทั้งที่ถ่ายทำไปแล้ว 5 ตอน จึงมีการเปลี่ยนนักแสดงเป็น ยอนอู สมาชิกเกิร์ลกรุปวง Momoland และนักแสดงจากซีรีส์ Numbers กับ The Golden Spoon เข้ามาเสียบแทน พร้อมกับเปลี่ยนผู้กำกับมาเป็น อีดงฮยุน จากซีรีส์ Doctor Lawyer และ She Knows Everything

แต่นักแสดงสำคัญของเรื่องนี้จริง ๆ คือ ลูกสะใภ้กับแม่ผัว คิมฮีซอน เด็กยุคนี้อาจไม่รู้จักเธอไปแล้ว แต่ช่วงต้นยุค 2000 เธอคือนางเอกเบอร์หนึ่งที่ถึงขนาดเฉินหลงหมายตาให้เธอไปแสดงในหนังฮ่องกงประจำตรุษจีนใน The Myth (ดาบทะลุฟ้าฟัดทะลุเวลา, 2005) เธอโด่งดังไปทั่วเอเชียจากหนัง Calla (พลิกลิขิตฟ้าค้นหาหัวใจ,1999), Flying Warriors (เดชคัมภีร์บีชุนมู, 2000) และ Wanee and Junah (วานี & จูน่า 3 หัวใจ ความหมายหนึ่งเดียว 2001)

ส่วนบทแม่ผัว อีฮเยยอง เป็นนักแสดงกวาดรางวัลอายุ 61 ปี และเป็นลูกเพียงคนเดียวของ อีมันฮี ผู้กำกับหนังชื่อดังยุค60 ที่ผลักดันให้เธอเข้าสู่วงการมาตั้งแต่อายุ 18 และมีผลงานโดดเด่นในช่วงยุค 80 อาทิ The Blazing Sun (1985), Winter Wanderer (1986), Ticket (1986), The Age of Success (1988) ส่วนแฟนรุ่นหลัง ๆ อาจรู้จักเธอในหนังอินดี้อย่าง No Blood No Tears (2002), The Devil’s Game (2008), Anchor (2022) ไปจนถึงหนังของ ฮองซางซู ผู้กำกับชั้นครูใน Walk Up (2022) ที่เธอแสดงร่วมกับ กวอนแฮฮโย ผู้แสดงเป็นสามีของเธอในซีรีส์เรื่องนี้ด้วย และล่าสุดในปี 2022 เธอคว้ามาได้อีกหนึ่งรางวัลจากเวทีสูงสุด เบคซางอาร์ตอะวอร์ด สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในหนังคานส์ In Front of Your Face (2021)

หากมองจากภายนอกครอบครัวนี้คือรวมคนฉลาดเก่งหัวกะทิในทุกแขนง พวกเขาดูรักกันมาก เป็นแบบอย่างที่ใคร ๆ ต่างอิจฉา แต่หากมองลึกลงไปต่างคนต่างมีความลับที่ซ่อนไว้ และอันที่จริงคำว่ารักไม่น่าจะใช้กับคนบ้านนี้ได้เลย เหตุการณ์เหมือนจะปกติสุขจนกระทั่งหญิงปริศนา อีเซนา ย่างเข้ามาในออฟฟิศของจิตแพทย์สาวอันดับหนึ่ง โนยองวอน พร้อมกับปาคำถามใส่หน้าเธอว่า “คุณคิดว่าคุณรู้จักครอบครัวของคุณดีแล้วหรือ” ก่อนจะได้รับภาพถ่ายครอบครัวของโนยองวอนเองที่มีตัวเลขกำกับอยู่ในแต่ละคน ก่อนจะพบว่ามันคือลำดับการตายของแต่ละสมาชิกในบ้านแสนสุขหลังนี้

ซีรีส์นี้มีชื่อเกาหลีเรียบง่ายมาก มีความหมายว่า “บ้าน,พวกเรา” ขณะที่ทางช่องได้แจ้งข้อมูลไว้ว่าเดิมทีซีรีส์เรื่องนี้จะใช้ชื่อว่า “Gaslighting” ตรงนี้เองที่ทำให้เราสนใจขึ้นมาทันทีจนอดไม่ได้ที่จะหยิบมาเขียนถึงในบทความนี้

หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าภายในฉากเดียวกันมีการจัดแสงที่จ้าเกินไปและทึมเกินไปเมื่อเปลี่ยนมุมภาพ

Gaslighting

ต้นตอของคำนี้มาจากชื่อละครเวทีระทึกขวัญแนวจิตวิทยาของอังกฤษ Gas Light (1938 กำกับโดย แพทริค แฮมิลตัน ภายหลังในปี 1941 ไปทำการแสดงที่บอร์ดเวย์สหรัฐแล้วถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Angel Street ) ที่ต่อมาถูกต่อยอดไอเดียไปเป็นหนังอังกฤษเรื่องหนึ่ง Gaslight (1940 กำกับโดย ธอโรลด์ ดิกคินสัน ฉบับฉายในสหรัฐใช้ชื่อเดียวกับฉบับบอร์ดเวย์ว่า Angel Street) ซึ่งต่อมาถูกดัดแปลงไปเป็นหนังฮอลลีวูด Gaslight (1944 จอร์จ คูคอร์) อันเป็นเรื่องราวในหมู่ชนชั้นสูงของลอนดอนในยุควิคตอเรียน เล่าเรื่องของสามีสุดผู้ดีแสนสุภาพเจี๋ยมเจี้ยม แต่กลับใช้คำลวงและวางแผนบงการทำให้เมียของเขาตกอยู่ในสภาพจิตไม่ปกติ เพื่อกีดกันเธอออกจากการเป็นทายาทกองมรดก

แม้คำว่า ‘Gaslighting” จะไม่ปรากฎเลยในบทของเรื่องนี้ แต่เป็นการกระทำเมื่อสามีแอบหรี่ไฟสลับกับการเพิ่มแสงตะเกียงภายในบ้านที่ใช้แก๊สเป็นพลังงาน เพื่อจัดฉากแล้วปั่นหัวให้ภรรยารู้สึกสับสนว่าเธอกำลังตกอยู่ในวังวนของจินตนาการ ทำให้เธอตกอยู่ในสภาพใกล้บ้า

“เธอคิดไปเองอีกแล้วนะ ตะเกียงไม่ได้มืดลงสักหน่อย ก็ยังสว่างเป็นปกตินี่นา เธอบ้าหรือเปล่า”

ต่อมาศัพท์คำว่า “gaslighting” ถูกใช้ครั้งแรกในยุค50s ในละครซิทคอม The Burns and Allen Show (ออกอากาศทางทีวีในช่วงปี 1950-1958) ก่อนจะปรากฎในสิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรกในนิตยสารนิวยอร์กไทม์ปี 1995 ขณะที่สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ในปี 2021 ระบุว่า

“Gaslighting คำนี้ครั้งหนึ่งมันเคยมีความหมายถึงการบงการที่รุนแรงมากจนก่อให้เกิดความป่วยไข้ทางจิตใจ…เป็นคำพูดที่คลุมเครือลึกลับและนิยมใช้กันในช่วงกลางทศวรรษที่ 2010 ปัจจุบันพจนานุกรมฉบับ เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ ได้จำกัดความคำนี้ว่า “การบงการทางจิตวิทยา” จนทำให้ผู้ถูกบงการตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่ได้รับรู้นี้เป็นความจริงหรือไม่ และนำไปสู่การพึ่งพาผู้บงการ

Gaslighting เกิดขึ้นได้ทั้งในทางโรแมนติกกับคู่รักหรือพ่อแม่ที่มีต่อลูก ไปจนถึงการใช้อำนาจในที่ทำงาน เกี่ยวข้องกับผู้คนสองฝ่าย คือ “ฝ่ายผู้จุดไฟ” (gaslighter) ผู้บงการจัดฉากหรือปั่นประสาทด้วยการปั้นความเท็จเพื่อควบคุม “ฝ่ายผู้ถูกจุดไฟ” (gaslighted) ซึ่งพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาเสรีภาพของตนเอง โดยทั่วไป gaslighting จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อมีแรงกระเพื่อมของพลังงานที่ไม่เท่ากัน หรือเมื่อฝ่ายผู้จุดไฟมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกจุดไฟ

อย่างไรก็ตาม gaslighting นั้นแตกต่างจากความขัดแย้งในความสัมพันธ์ทั่วไป อันเป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ กล่าวคือความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ทว่า gaslighting ต่างออกไปตรงที่

    -ฝ่ายหนึ่งรับฟังและคล้อยตามความคิดเห็นนั้นอย่างต่อเนื่อง
    -อีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธการรับรู้ของอีกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา โดยหนักแน่นในการยืนกรานว่าอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิด หรือตอกย้ำซ้ำ ๆ ว่าอีกฝ่ายมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่ไร้เหตุผลและผิดปกติ

คำว่า gaslighting มักใช้กับรูปแบบของพฤติกรรมในระยะเวลาอันยาวนาน ไม่ใช่แค่การโน้มน้าวเพียงครั้งเดียว แต่เกิดการโน้มน้าวหลายครั้งหลายอย่าง จนเมื่อเวลาผ่านไปผู้รับสารจะแสดงอาการที่เกี่ยวข้องกับโรควิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ gaslighting จึงต่างจากความขัดแย้งทั่วไปเมื่อมีฝ่ายหนึ่งบิดเบือนการรับรู้ของอีกฝ่ายหนึ่ง

ยังคงใช้เทคนิคที่ทำให้ตัวละครอยู่ในแสงที่ไม่เท่ากัน

ในทางจิตเวชและจิตวิทยา

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา คำนี้ถูกใช้ในงานวรรณกรรมเชิงจิตวิทยาเพื่ออธิบาย “เจตนาอย่างมีสติมีการไตร่ตรองวางแผนเพื่อล้างสมองอีกฝ่ายหนึ่ง”

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการใช้คำนี้ในวงกว้างทำให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลว่าคำนี้จะกินความไปถึงความขัดแย้งโดยทั่วไป โรบิน สเติร์น ผู้ร่วมก่อตั้ง Yale Center for Emotional Intelligence กล่าวว่า “gaslighting มักใช้ในทางกล่าวหาอีกฝ่ายอย่างพร่ำเพรื่อ เมื่อมีใครสักคนยืนกรานหรือพยายามจะยืนกรานความเชื่อของเขาเอง เพื่อจะมีอิทธิพลต่อคุณ นั่นไม่ใช่ “gaslighting” ในทางการแพทย์คำนี้จึงเป็นคำไม่เป็นทางการ และหมายถึงผู้ป่วยที่ถูกแพทย์ละเลยหรือมองข้ามอาการที่แท้จริงไป อันนำไปสู่การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมักมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยหญิงหรือคนชายขอบ ต่างเชื้อชาติ

“เธอคิดไปเองอีกแล้วนะ ฉันเปล่าทำอะไรเลย”
“เธอต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ด้วยหรือ”
“ก็เธอนั่นแหละเป็นฝ่ายเริ่มก่อน”
“หลอนไปใหญ่แล้วนะเธอนี่”
“เธอมันประสาทไปแล้วล่ะ”

คุณอาจจะคุ้นเคยกับประโยคเหล่านี้ใช่ไหม และนี่คือส่วนหนึ่งที่ใช้ในการ gaslighting แต่อย่างที่บอกว่ามันต้องใช้เวลาย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน บางทีอาจนานนับหลายปีขึ้นอยู่กับว่าอีกฝ่ายจะตอบสนองต่อประโยคท็อกซิกเหล่านี้อย่างไร แล้ว gaslighting มีรูปแบบอย่างไรบ้าง

1.ทำให้เป็นกลายเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่สำคัญ อย่างในซีรีส์เรื่องนี้ Bitter Sweet Hell เมื่อฝ่ายภรรยาสงสัยเรื่องที่สามีชอบออกไปประชุมนอกเวลางานบ่อย ๆ ซึ่งฝ่ายสามีมักจะตอบยิ้ม ๆ อธิบายอย่างฉะฉานดูจริงใจ แต่มักตบท้ายด้วยประโยคเหล่านี้ “เพ้อเจ้อไปใหญ่แล้ว” “ไม่ได้มีอะไรเล๊ยยย” “เธอคิดมากอีกแล้วนะ” “เธอคิดไปเอง”

2.ยืนกรานปฏิเสธความจริง ในเหตุการณ์ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว เมื่อโนยองวอน ภรรยาผู้เป็นจิตแพทย์จะจับได้ ฝ่ายชเวแจจิน สามีผู้เป็นศัลยแพทย์กลับยังคงยืนกรานเสมอว่า “มันไม่จริง” “เธอจำผิดแล้ว” “ไม่เลยฉันไม่ได้ทำอย่างนั้น”

3.โกหกบิดเบือนความจริง นอกจากขัดแย้งกับสามีแล้ว โนยองวอน ยังขัดแย้งกับ ชเวโดฮยอน ลูกชายของเธอเองด้วย ทั้งที่เธอเห็นตำตาว่าลูกชายเธอไม่ได้ไปเรียนพิเศษ แต่ลูกชายของเธอกลับโกหกอย่างต่อเนื่อง สร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อค้านความจริงที่ฝ่ายแม่ยืนยัน

4.ทำให้อีกฝ่ายผิดเสมอ ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว นั่นคือสาเหตุที่ลูกชายทำให้แม่รู้สึกผิดเสมอ ทำให้เธอโทษตัวเองว่าสิ่งที่ผ่านมาเป็นความผิดของเธอเอง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคนในบ้านของเธอเองต่าง ๆ ที่ต่างโกหกคำโตใส่เธอ

ใบหน้ายิ้มแย้มใส่กันด้วยสายตาระแวงกันและกัน

คำถามสำคัญคือ คุณจะแก้ไข้สถานการณ์ทำนองนี้อย่างไรเมื่อคุณโดน gaslighting คำตอบคือ ตั้งสติ พยายามพิสูจน์ความจริง ไตร่ตรองหาเหตุผลหรือหลักฐานในการโต้แย้ง เมินคำพูดเท็จเหล่านั้นเสีย แต่เพราะเมื่อเราถูก gaslighting เป็นช่วงเวลายาวนาน อันทำให้เหนื่อยทั้งกายและใจ โดยส่วนใหญ่นักจิตวิทยามักจะแนะนำให้ออกไปจากความสัมพันธ์ท็อกซิกเหล่านี้เสีย เพราะเมื่ออีกฝ่ายยังคงยืนยันว่าตัวเองถูก แล้วเบลมว่าเราผิดเสมอ ก็ไม่จำเป็นต้องทนรับสภาพแย่ ๆ มาบั่นทอนจิตใจอีกต่อไป แต่นั่นแหละ ความสัมพันธ์อันยาวนานก็เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะตัดสินใจเดินออกไปจากความสัมพันธ์นั้น อีกอย่างถ้าสังเกตในซีรีส์เรื่องนี้ดี ๆ เราจะพบว่าไม่ใช่แค่ตัวนางเอกเท่านั้นที่ถูก gaslighting แต่กลับกลายเป็นว่าแต่ละตัวละครต่างถูกใครสักคนที่มีอำนาจเหนือกว่า gaslighting อยู่ด้วยอีกเช่นกัน