1721955
ซีรีส์แนวโตกุซัทสึ ความยาว 10 ตอนจบ ตอนละ 5 นาที ที่ NHK ทำออกมาเพื่อฉายหลังเที่ยงคืนทาง E Tele1 ช่องเพื่อการศึกษา Taroman (2022) ทำเอา ฮิเดโอะ โคจิมะ (เนิร์ดหนังและพ่อมดวงการเกม ผู้ออกแบบเกมซับซ้อนสุดล้ำอย่าง Death Stranding) ถึงกับโพสต์ทวิตบ่นอุบว่า ‘รอจนดึกเพื่อ Taroman แต่เหมือนว่าวันนี้จะไม่ออนแอร์ แย่จัง…”ยอมตายดีกว่าต้องเจอเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ” รับทราบ…เจอกันเร็ว ๆ นี้นะ Taroman’
FYI
โตกุซัทสึ คือหนังหรือละครคนแสดงที่เน้นเทคนิคพิเศษเป็นส่วนใหญ่ มักเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ แฟนตาซี หรือสยองขวัญ ซีรีส์แนวนี้มีแบ่งประเภทย่อยที่ได้รับความนิยมมาก เช่น แนวไคจู ตัวประหลาดยักษ์อย่าง Godzilla หรือ Gamera, แนวซูเปอร์ฮีโร่ อย่าง ซีรีส์ Kamen Rider หรือ Metal Hero และแนวหุ่นยนต์เช่น Robocon, Giant Robo บางทีก็มีทั้งฮีโร่พลังพิเศษ หุ่นยนต์ หรือสัตว์ต่างดาวรวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน อย่าง Ultraman หรือพวกแนวซูเปอร์เซนไต (ที่บ้านเราเรียกขบวนการ 5 สี)
Taroman เป็นการผสมผสานระหว่างแนวโตกุซัทสึ กับ ม็อคคิวเมนทารี (สารคดีปลอม หรือการใช้กลวิธีเล่าเรื่องอย่างสารคดี แต่แท้จริงเป็นการจัดฉากขึ้นมา) ที่ผลิตขึ้นโดยใช้แนวคิด คำพูด เพื่อนำเสนอผลงานศิลปะสุดประหลาดล้ำของ ทาโร่ โอกาโมโต้ ด้วยรูปแบบแนวซูเปอร์ฮีโร่ และสัตว์ประหลาดแปลงร่างในแบบยุค70s เดิมทีมันเป็นโฆษณานิทรรศการของทาโร่ โอกาโมโต้ ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ณ Nakanoshima Museum of Art เมืองโอซาก้า โดยมีที่ปรึกษาผู้ช่ำชองแนวนี้อย่างทีมงาน ทซึบูราย่า (สตูดิโอผู้สร้างอุลตร้าแมน)
ใครคือทาโร่ โอกาโมโต้
ทาโร่ โอกาโมโต้ (1911-1996) เป็นนักทฤษฎีทางศิลปะ นักเขียน ศิลปินด้านจิตรกรรม ประติมากรรมในแนวล้ำยุค (อาวอง-การ์ด) ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าแม้คุณจะไม่รู้จักเขา แต่คุณน่าจะเคยผ่านตาผลงานของเขามาบ้าง เพียงแต่คุณอาจไม่รู้มาก่อนว่านั่นคือผลงานของเขา ที่โดดเด่นมากคือใน 20th Century Boys ทั้งในฉบับมังงะ และฉบับคนแสดง นั่นก็คือ หอคอย Sun Tower (Tower of the Sun) สัญลักษณ์สำคัญของงานเวิร์ล เอ็กซ์โป ในโอซาก้า เมื่อปี1970 ที่ในฉบับ 20th Century Boys เล่าว่ามันคือฐานลับที่แปลงเป็นหุ่นยนต์ได้ของตัวร้ายที่มีชื่อว่า “โทโมดาจิ(เพื่อน)” โดยถ้าคุณสังเกตลายสีแดงบนพื้นขาว ประหลาด ๆ ของหอคอยแห่งนี้ มันคือลวดลายที่ต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ร่างกายของมนุษย์ดาวอุลตร้าทั้งหลาย จนผู้สร้าง Ultraman ตั้งชื่อตัวหนึ่งว่า “ทาโร่” เพื่อคารวะต่อ ทาโร่ โอกาโมโต้
ในบทความของ อัตสึชิ ฟุคุดะ ศาสตราจารย์จากโยโกฮามา คอลเลจ ออฟ อาร์ต เปิดเผยว่า แท้จริงแล้วแรงบันดาลใจสำคัญของ Tower of the Sun คือเสาโทเท็ม ของพวกชนเผ่าในออสเตรเลีย เขาเล่าว่าในปี 2011 เคยไปเยี่ยม ไอ ชิจิโมโตะ (อายุ 101 ปีในขณะนั้น) ผู้เป็นแม่ของ โชจิ โอโตโมะ บรรณาธิการผู้ปั้นให้ Ultraman โด่งดัง ตรงทางเข้าบ้านนั้นมีภาพวาด เสาโทเท็ม โดยจิตรกรและนักวาดการ์ตูน อิปไป โอกาโมโต้ ที่อิปไปวาดมาจาก เสาโทเท็ม ที่ลูกชายของเขาซื้อมาฝาก และลูกคนนั้นก็คือ ทาโร่ โอกาโมโต้ ซึ่งตลอดมาเป็นอันรู้กันอยู่แล้วว่า ผลงานล้ำอนาคตของโอกาโมโต้ ได้แรงบันดาลใจมาจากอารยธรรมโบราณต่าง ๆ รวมถึงวัฒนธรรมโอกินาว่า และเครื่องปั้นดินเผาสมัยโจมงโบราณ (12,000-800 ปีก่อนคริสตกาล) อย่างไรก็ตามนอกจากนี้ยังอธิบายถึงความสัมพันธ์ของคนเหล่านี้ด้วยว่า พวกเขารู้จักมักจี่เป็นมิตรสหายใกล้ชิดกัน กล่าวคือ บรรณาธิการผู้ปั้น Ultraman สนิทกับ อิปไป คุณพ่อของ ทาโร่ โอกาโมโต้ แต่ผู้ออกแบบวัฒนธรรมต่าง ๆ ใน Ultraman คือ โทรุ (Tohl) นาริตะ วิช่วลอาร์ตทิสต์ ผู้ออกแบบคาแร็คเตอร์หลายตัวใน Ultraman
FYI
Tower of the Sun เพิ่งเปิดให้เข้าชมด้านในเมื่อมีนาคม 2018 ที่ผ่านมานี้เอง หลังจากปิดไม่ให้เข้าอย่างยาวนาน ซึ่งเผยให้เห็นผลงานภายในที่มีชื่อว่า ที่ออกแบบวาดโดย โทรุ (Tohl) นาริตะ จากไอเดียของ โอกาโมโต อีกที อันเป็นผลงานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของมนุษย์จากสัตว์เซลล์เดียวใต้น้ำ มาสู่มนุษย์นีแอนเดอธัล ธีมหลักของงานเอ็กซ์โป’70 คือ “ความก้าวหน้า และสมานสามัคคีเพื่อมวลมนุษยชาติ” โอกาโมโต้ เคยให้ความเห็นเอาไว้ว่า “เมื่อคุณได้ยินคำว่าสมานสามัคคี ผู้คนมักคิดถึงทุก ๆ สิ่งที่เคยว่างเปล่า (เหมือนจักรวาล) แล้วถูกผลิตขึ้นโดยเครื่องจักร (ให้ทุกอย่างเหมือนกัน เป็นในทิศทางเดียวกัน) แต่สำหรับผมไม่เชื่อในกรณีนั้น ความสมานสามัคคีบังเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ของสิ่งตรงข้ามกันปะทะกัน จากนั้นก็เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงออกแบบสร้างวัตถุที่ดูตลกขบขันนี้ออกมา” รูปทรงของ Sun Tower ที่กำลังบอกเล่าถึงยุคอนาคตแต่กลับได้แรงบันดาลใจจากโบราณวัตถุ
การเตรียมการเปิดให้ชมด้านในอีกครั้งเกิดขึ้นในปี 2016 ด้วยการนำพิมพ์เขียวต้นแบบเดิมมาทำโมเดลใหม่ เนื่องจากของเก่าแตกหักผุพังไป อย่างไรก็ตาม ภายใน Tree of Life มีทั้งสัตว์เซลล์เดียว หอยโบราณ แมลงเปลือกแข็ง ไดโนเสาร์ ลิงวานร แต่ไม่มีมนุษย์ โอกาโมโต้เชื่อว่า “แท้จริงมนุษย์ไม่เคยพัฒนาเลย เมื่อเทียบกับพวกที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำ” หมายความว่ามนุษย์ยังคงทำซ้ำ ๆ สิ่งเดิม ๆ แบบเดียวกับพวกมนุษย์ถ้ำมาจนทุกวันนี้ คือการสู้รบฆ่าฟันกันเอง “ดังนั้นผมจึงไม่รวมพวกโฮโมเซเปี้ยนส์เอาไว้ใน ต้นไม้แห่งชีวิต ต้นนี้”
สิ่งที่ทำให้ทาโร่เติบโตมาเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่
ตอนทาโร่ อายุ 18 เขาตามครอบครัวไปยุโรป เนื่องจากตอนนั้น พ่อของเขาเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์อาซาฮี พวกเขาแวะผ่านทางเนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม ก่อนจะอาศัยอยู่และเรียนในปารีสจนถึงอายุ 29 ในปี 1940 เขาเรียนมาทางด้านวรรณกรรม เชี่ยวชาญด้านสุนทรียศาสตร์ ก่อนจะศึกษาด้านชาติพันธุ์ แล้วนำความรู้ทางชาติพันธุ์มาวิเคราะห์วัฒนธรรมญี่ปุ่น จึงเริ่มมีผลงานจิตรกรรมโดยได้แรงบันดาลใจจาก ปิกัสโซ่ เป็นพิเศษ กระทั่งเริ่มมีชื่อเสียงจากการส่งงานไปแสดงที่ Salon des surindépendants
ทำให้ในปี 1933-1936 เขากลายเป็นสมาชิกของกลุ่ม Abstraction-Création และเริ่มแสดงงานแบบกลุ่ม ได้เจอปัญญาชนมากมายในฝรั่งเศส ก่อนที่ภาพวาดของเขา Wounded Arm (1936) จะได้โชว์ในนิทรรศการเซอร์เรียลิสต์ นานาชาติ ในปารีส ต่อมาในปี 1938 เขาเป็นเพื่อนกับศิลปินดัง ๆ อีกหลายคน อาทิ อังเดร เบรตอง, เคิร์ท เซลิกมันน์, แม็กซ์ เอิร์นต์, ปาโบล ปิกัสโซ, แมน เรย์, โรเบิร์ต คาปา
ทาโร่ กลับญี่ปุ่นในช่วงสงครามในปี 1940 เนื่องจากแม่ของเขาเสียชีวิตจากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเขากลับมา เขาได้รับรางวัล นิกะ ไพร์ซ จากงานประกวด นิทรรศการศิลปะนิกะ ในปี1942 ซึ่งทำให้ปีนั้นเขามีผลงานแสดงเดี่ยวในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ภายในห้างสรรพสินค้าย่านกินซ่า
แต่ในปี 1942 นั้นเอง เขาถูกเกณฑ์เข้ากองทัพในฐานะศิลปินที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับสงคราม ก่อนจะถูกจับเป็นเชลยศึกในฉางอาน แล้วกลับมาญี่ปุ่นในปี 1946 เพื่อจะพบว่า บ้านและผลงานของเขาทั้งหมดถูกทำลายทางอากาศในช่วงสงครามโลก
1946-1950 หลังสงคราม ทาโร่ก่อตั้งสตูดิโอขึ้นในโตเกียว เป็นสมาชิกสมาคมศิลปิน นิกะ-ไก (ชนชั้นสอง) ในปี 1947 และเริ่มแสดงผลงานประจำที่ นิทรรศการศิลปะนิกะ และเริ่มเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ของยุโรป พร้อมกับเผยแพร่แนวคิดของเขาเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ ในปี 1948 เขาและนักวิจารณ์ศิลปะได้ก่อตั้งกลุ่มวิจัยศิลปะแนวอาวอง-การ์ด ที่ให้คำปรึกษาแก่ศิลปินและนักจารณ์รุ่นใหม่ อันเป็นกลุ่มที่ต่อมาแตกแขนงเป็นกลุ่มนักวิจารณ์ศิลปะสมัยใหม่ในเวลาต่อมาจนปัจจุบัน
1950-1969 ความโด่งดังของทาโร่ทำให้เขาได้แสดงงานหลายครั้งในช่วง 1950 ก่อนจะไปแสดงใน เซาเปาโล เบียนนาเล่ และเวนิสเบียนนาเล่ ต่อมาในปี 1951 สิ่งที่พลิกผันต่อแนวคิดของเขาและวงการศิลปะในญี่ปุ่นคือ เมื่อเขาไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว แล้วเห็นเครื่องปั้นดินเผาจากยุคโจมอง เขาเริ่มหมกมุ่นกับมันเป็นพิเศษ ก่อนที่ปีต่อมาจะตีพิมพ์ “บทสนทนากับมิติที่สี่: ทฤษฎีเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผายุคโจมอง” ในนิตยสารศิลปะ Mizue สร้างความฮือฮาให้แวดวงศิลปะที่ต้องหันกลับไปศึกษารากเหง้าย้อนกลับไปไกลถึงยุคโจมอง ที่น่าจะมีอิทธิพลไม่น้อยต่อความเป็นญี่ปุ่นทุกวันนี้
เขาเริ่มเขียนหนังสือในปี1954 ที่เน้นมุมมองศิลปะดั้งเดิม และกลายเป็นหนังสือขายดีในยุคนั้น กระทั่งในปี 1961 เขาได้ตีพิมพ์ Wasurerareta Nihon: Okinawa bunka-ron (ญี่ปุ่นที่ถูกลืม: วัฒนธรรมโอกินาว่า) ซึ่งมีภาพถ่ายมากมายจากการเดินทางของเขา หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล Mainichi Publication Culture Award ภาพถ่ายหลายภาพของโอกาโมโต้ที่มาเยือนโอกินาว่าถูกถ่ายภาพโดยช่างภาพชาวญี่ปุ่นคนอื่น ๆ เช่น อิเฮอิ คิมูระและเคน โดมอน ความสนใจของเขาในโอกินาว่าอาจถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของญี่ปุ่นยุคใหม่ที่มองว่าโอกินาว่าเป็นแหล่งรวมประเพณีที่คงอยู่ ตรงกันข้ามกับเกาะหลักของญี่ปุ่นที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
ปี1967 ทาโร่ไปเยือนเม็กซิโก และได้แรงบันดาลใจอย่างมากจากภาพแขวนบนฝาผนังขนาดยักษ์ของ เดวิด อัลฟาโร ซิเคอิรอส ศิลปินแนวสัจจะนิยมสังคมนิยม ผู้เลื่อมใสแนวคิดแบบสตาลิน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทาโร่ผลิตผลงานชิ้นเอกในชื่อ Myth of Tomorrow
FYI
Myth of Tomorrow ตำนานของวันพรุ่งนี้ คำสองคำที่ดูขัดแย้งกันดูจะเป็นสิ่งที่ทาโร่ชื่นชอบเสมอมา ผลงานขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันซุกตัวอวดโฉมอยู่ภายในสถานีรถไฟชิบุย่า (ที่เดียวกันกับที่มีรูปปั้นหมาฮาจิโกะผู้ซื่อสัตย์ตั้งอยู่หน้าสถานี) หากใครมีโอกาสเยือนโตเกียวไม่ควรพลาดที่จะไปเยี่ยมชมภาพขนาดยักษ์ชิ้นนี้
ต้องไม่ลืมว่าก่อนญี่ปุ่นจะมีงานเอ็กซ์โป’70 ญี่ปุ่นผ่านความย่อยยับมาอย่างสาหัสที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออเมริกาถล่มนิวเคลียร์ ลิตเติลบอย และแฟทแมน ลงญี่ปุ่น มันคือหน้าประวัติศาสตร์ที่ดำมืดที่สุดที่ญี่ปุ่นต้องพยายามอย่างหนักเพื่อจะผ่านพ้นมันไปสู่วันพรุ่งนี้
ผลงานของ ทาโร่ โอกาโมโต้ ภาพนี้ถูกวาดขึ้นเพื่อแขวนไว้ใน Hotel de México โรงแรมสูง 44 ชั้น ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา เพื่อต้อนรับโอลิมปิกในเม็กซิโกปี 1968 แต่แล้วกิจการโรงแรมนี้ก็ล้มละลายในปี 1970 ก่อนที่จะหายสาบสูญไปหลายสิบปี แล้วถูกค้นพบในปี 2003 และผ่านการเจรจาเพื่อทวงคืนภาพกลับคืนมาสู่ประเทศแม่และทำการบูรณะใหม่จนกว่าจะอวดโฉมในญี่ปุ่นได้ก็ปาไปปี 2008 (ทาโร่เสียชีวิตในปี 1996)
โตชิโกะ โอกาโมโต้ ลูกสาวบุญธรรมและเป็นเลขาของทาโร่ (ที่โดยพฤตินัยเธอคือภรรยาของ ทาโร่ แต่ทาโร่ไม่เชื่อในการมีครอบครัว และออกจะนิสัยเพลย์บอยมากรัก) คือหนึ่งในผู้ผลักดันอย่างยิ่งในการจะได้ภาพนี้กลับคืนมา แต่เธอก็เสียชีวิตไปเสียก่อนในปี 2005 ก่อนจะได้เห็นภาพนี้มาตั้งสง่าใจกลางโตเกียว ครั้งหนึ่งเธอเล่าว่า “ตรงกลางภาพคือมนุษย์ที่ถูกเผาไหม้ด้วยระเบิดปรมาณู โครงกระดูกที่ถูกเผากำลังหัวเราะร่าอ้าปากกว้าง และร่างของมันระเบิดความกราดเกรี้ยวเพื่อแสดงความภาคภูมิใจในสิ่งที่มนุษย์กระทำ”
FYIจริง ๆ แล้ว Myth of Tomorrow มีภาพคู่พี่น้องของมันคือ Myth of Fertility ที่เดิมทีจะถูกตั้งในส่วนของห้องอาหารในโรงแรมเดียวกันที่เม็กซิโก แต่ถูกระงับการจ้างเนื่องจากโรงแรมเจ๊งไปเสียก่อน ต่อมาภาพร่างหนึ่งในสามของภาพคู่นี้ได้ปรากฎขึ้นเพื่อจัดแสดงในปี 2011ในนิทรรศการ 100 ปีชาตกาล ทาโร่ โอกาโมโต้ ในห้างชิบุย่า ปาร์โก
ใครไปโตเกียว ถ้ามีเวลาไม่มาก ผู้เขียนแนะนำมิวเซียมเล็ก ๆ แห่งนี้ ที่เคยเป็นสตูดิโอทำงานของ ทาโร่ มาก่อน บ้านหลังใหญ่ ที่อึดอัดคับแคบลงไปถนัดตา เพราะมันอัดแน่นด้วยผลงานพิลึกกึกกือสุดหวือหวาของ โอกาโมโต้ มีห้องขายของที่ระลึก และห้องแสดงผลงานอันเกี่ยวเนื่องกับ ทาโร่ อาทิ ตอนที่ผู้เขียนไปเยือน ที่นี่จัดแสดงภาพของช่างภาพที่ติดตามทาโร่ตอนไปทำวิจัยเกี่ยวกับโอกินาว่า
หรือถ้าใครพอมีเวลา นั่งรถไฟออกไปนอกเมืองประมาณหนึ่งชั่วโมง ที่เมืองคาวาซากิ บ้านเกิดของ ทาโร่ ที่นั่นมีมิวเซียมขนาดใหญ่ (แต่ต้องเดินเท้าราว 20 นาทีจากสถานีรถไฟ) ที่อยู่บนเขาด้านหลังสวนสาธารณะที่บรรยากาศดีมาก (โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิ) ภายในมีผลงานของ ทาโร่ แสดงอยู่ รวมถึงภาพสำคัญของจริง ก็ตั้งอยู่ที่นี่ด้วย ด้านหน้าอาคารมีคาเฟ่ธีม ทาโร่ สุดคิ้วท์ ไม่ควรพลาด น่าเสียดายที่ขณะนี้ปิดปรับปรุงจนถึงสิ้นเดือนมกราปีหน้า ซึ่งถ้าวางแผนดี ๆ เมืองเงียบสงบแห่งนี้ มีมิวเซียมน่าสนใจหลายอย่าง อาทิ พิพิธภัณฑ์ฟูจิโกะ เอฟ (ผู้เขียน โดราเอมอน), พิพิธภัณฑ์รถไฟและรถบัส, มิวเซียมบ้านโบราณ, มิวเซียมภาพพิมพ์แนวอุคิโยะ ก็อยู่ที่นี่ด้วย และอย่าลืมหยุดฟังเสียงกระดิ่งรถไฟที่นี่เป็นเพลงธีมโดราเอม่อน น่ารักไม่ไหว
น่าสนใจที่ช่องการศึกษานำเสนอผลงานของ ทาโร่ ในรูปแบบซีรีส์สั้น ซึ่งในด้านหนึ่งก็เหมือนจะเหมาะสำหรับเด็ก แต่ซีรีส์นี้กลับจงใจจะเฟรมภาพขนาด 3:4 หรือแบบกรอบจอทีวีรุ่นเก่า ด้วยภาพที่ถูกแต่งให้ดูไม่คมชัด เหมือนสีทีวียุค 70 อย่าง ซึ่งถูกคอชาวเนิร์ดยิ่งนัก แต่ก็มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า ถ้าต้องการให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักผลงานของเขา ทำไมถึงวางโปรแกรมออกอากาศไว้หลังเที่ยงคืน ทั้งที่ความยาวแต่ละตอนมีแค่ 5 นาทีเท่านั้น
“ชีวิตคือการถูกเล่นตลก” และ “ชีวิตคือโศกนาฎกรรมที่เต็มไปด้วยความหมายและงดงาม” -ทาโร่ โอกาโมโต้