ThaiPublica > คอลัมน์ > ตีความความหมายในเพลงและ MV Rockstar

ตีความความหมายในเพลงและ MV Rockstar

29 มิถุนายน 2024


1721955

กลายเป็นกระแสที่ตามมาพร้อมดราม่าตั้งแต่ภาพนิ่งยันภาพเคลื่อนไหว กับการเปิดตัวครั้งล่าสุด และเป็นครั้งแรกของการฉายเดี่ยวในนาม LLOUD Co. ค่ายของเธอเอง ภายใต้สังกัด RCA Records หนึ่งในสี่ค่ายลูกของ Sony อเมริกา หรือ Radio Corporation of America (RCA) อันเป็นค่ายเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี1929 ซึ่งเคยมีศิลปินในสังกัดเบอร์ปังระดับตำนานอย่าง Elvis Presley, David Bowie, Cher, Diana Ross, Whitney Houston, ABBA, Justin Timberlake, Britney Spears, Christina Aguilera ฯลฯ หลังจากจบสัญญากับค่ายเกาหลี ที่ทำเอาเกิดดราม่าข้ามปี จนหุ้นค่าย YG ถึงกับทรุดฮวบ แต่สุดท้ายเธอก็ยังคงสัญญาในฐานะวง Blackpink กับค่าย YG เอาไว้

อย่างไรก็ตามการกลับมาครั้งนี้ของ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ที่ผ่านไปเพียง 12 ชั่วโมง MV เพลง Rockstar ของเธอก็ฟาดยอดวิวไปแล้วเกือบ 20 ล้าน ทะยานกลายเป็นคลิปไวรัลอันดับหนึ่งในระดับเวิร์ลไวด์ ไปจนถึงบัญชี TikTok ของ @lalalalisa_m ที่เปิดตัวควบคู่ไปกับเนื้อหาทีเซอร์สำหรับ “Rockstar” ทำลายสถิติใหม่ของกินเนสส์ด้วยจำนวนผู้ติดตามทะลุหนึ่งล้านฟอลภายในสองชั่วโมง (ปัจจุบันอยู่ที่ 10.5 ล้านฟอล)

Gold teeth sittin’ on the dash, she a Rockstar นังฟันทองนั่งบนแผงหน้ารถ หล่อนคือร็อคสตาร์

Make your favorite singer wanna rap, baby, la-la เธอทำถึงขนาดนักร้องโปรดของคุณยังอยากจะแรปตาม เบบี๋ ลา-ลา
“Lisa, can you teach me Japanese?” I said, “はい, はい” “ลิซ่าเธอสอนภาษาญี่ปุ่นให้ฉันได้ป่ะ” ฉันบอก “ไฮ่ ไฮ่ (ได้เลย)”

That’s my life, life, baby, I’m a Rockstar นี่แหละชีวิตฉัน เบบี๋ ฉันคือร็อคสตาร์

มาถึงบรรทัดนี้เราขอให้ข้อมูลสำหรับคนที่ไม่ใช่บลิงค์ (fcของแบล็คพิงค์ เรียกว่า “Blink”) ลิซ่าแจ้งเกิดในตำแหน่งแร็ปเปอร์ในวงเกาหลี Blackpink ดังนั้นความฟาดแรกที่ปรากฏภายในเพลงนี้คือ นี่คือเพลงแรกของเธอที่ไม่มีภาษาเกาหลีอยู่เลยแม้แต่คำเดียว แถมหลายคนยังงงด้วยว่าทำไมมีภาษาญี่ปุ่นอย่าง ไฮ่ ไฮ่ ที่แปลว่า ใช่ ใช่ มาอยู่ในเนื้อเพลง

ตรงนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2021 สมัยที่ลิซ่าออกอัลบัมเดี่ยวครั้งแรก Lalisa ที่ติดชาร์ตท็อป 10 ในระดับโกลบอลเป็นครั้งแรก มีสำนักข่าวหนึ่งที่ไม่รู้ว่าแกล้งมึนหรืออย่างไร รายงานเนื้อข่าวว่า ‘ลิซ่า ขึ้นแท่นอันดับ 2 ในชาร์ตโกลบอล 200 อันเป็นครั้งที่สองแล้วที่ลาลิสาติดชาร์ตท็อป 10 ในอัลบัมต่อจาก Homura ที่เคยขึ้นชาร์ตในอันดับ 8 เมื่อเดือนตุลาคม 2020’

อันที่จริงอัลบัม Lalisa นั้นไม่ใช่อัลบัมที่สองของ ลิซ่า และ Homura ก็ไม่ใช่อัลบัมของลิซ่า ทว่ามันคืออัลบัมของศิลปินญี่ปุ่น ริสะ โอริเบะ แม้ว่าภายหลังจะมีการแก้ไขบทความนี้แต่ก็กลายเป็นดราม่าจุก ๆ อยู่พักหนึ่ง และนี่คือที่มาของเนื้อหาของเพลงท่อนที่ว่า “ลิซ่าเธอสอนภาษาญี่ปุ่นให้ฉันได้ป่ะ” ฉันบอก “ไฮ่ ไฮ่ (ได้เลย)” เพราะช่วงนั้นมีแอนตี้แฟนหน้ามึนที่ไม่รู้แกล้งหรือสับสนจริง ๆ มาขอให้เธอสอนภาษาญี่ปุ่นเพราะเข้าใจผิดว่าเธอคือ ริสะ โอริเบะ

“นังฟันทองนั่งบนแผงหน้ารถ หล่อนคือร็อคสตาร์”

แต่ไม่แค่นั้น ลิซ่า ถูกแซะมาตลอดไม่ว่าจะเรื่องรอยสัก เรื่องใส่จิวที่ฟัน เรื่องเชื้อชาติ ไปจนถึงเคยถูกแขวะว่านางเป็นกะเลยโครงร่างใหญ่ หรือแม้แต่ดราม่าแซะไทยที่ว่าเธอมาจากประเทศที่มีกะเลยสวย ๆ เต็มไปหมด หรือเมืองไทยเป็นประเทศที่มีสมรสเท่าเทียม เรื่องพวกนี้เป็นดราม่าได้อย่างไร ก็เพราะเกาหลีเป็นประเทศที่มีการต่อต้าน LGBTQ+ หนักมาก

[อ่านเพิ่มเติมกรณีเกาหลีชัง LGBTQ+ ]

MV นี้ลิซ่าจึงจัดเต็มฟาดมาฟาดกลับไม่โกง เธอประโคมมาทั้งชาวรอยสัก ชาวหญิงข้ามเพศ แถมโคลสอัพให้เห็นทั้งจิวรูปดาวบนฟันเธอ และไม่ปกปิดปานดำอันเป็นตำหนิใหญ่บนริมฝีปากเธอเลย แถมถ้าสังเกตดี ๆ นี่คือครั้งแรกที่เธอมาในลุคผิวไม่ขาวว่อกอย่างเทรนด์เกาหลีทั่วไป ซึ่งประเด็นนี้ก็กลายเป็นดราม่าใหญ่มาตั้งแต่ภาพนิ่งแรกของเธอแล้ว

Blackfishing

*ในบทความนี้เราขอเรียกคนดำแทนที่จะเป็นคนผิวสี เนื่องจากการสำรวจล่าสุดพบว่าคนดำภาคภูมิใจในการเป็นคนดำและถูกเรียกว่าคนดำมากกว่าจะถูกเรียกว่า “color people” อย่างในอดีตที่อาจหมายถึงคนผิวสีชาติอื่น ๆ เช่น สเปน เม็กซิโก เอเชียกลาง หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่ครึ่งค่อนโลกกำลังปลื้มกับลุคใหม่ของลิซ่าที่เก๋เปรี้ยวเยี่ยวราดมากมาในโทนผิวแทน แต่ไม่วายกลายเป็นดราม่าหนักมากเมื่อเกิดกระแสในกลุ่มเกาหลีขี้เหยียดหาว่าลิซ่ากำลัง Blackfishing อันเป็นการนำเอาอัตลักษณ์ของคนดำมาฉวยใช้เพื่อประโยชน์ของตน หรือไปจนถึงการล้อเลียน

เฟธ คาริมิ คอลัมนิสต์ผิวดำประจำ CNN เคยรายงานบทความในเดือนกรกฎาคมปี 2021 อธิบายเอาไว้ว่า ‘คำนี้โด่งดังในกระทู้บน Twitter เมื่อสองปีที่แล้ว(2019) เมื่อนักข่าววานน่า ทอมป์สัน กล่าวว่าเธอสังเกตเห็นคนดังผิวขาวและบรรดาอินฟลูทั้งหลายคอสเพลย์เป็นผู้หญิงผิวดำบนโซเชียลมีเดีย’ พร้อมทั้งสาธยายต่อว่า “Blackfishing คือการที่บุคคลสาธารณะผิวขาว หรือเซเล็บ อินฟลู เปลี่ยนลุคตนเองให้กลายเป็นคนดำ” ทอมป์สันบอกกับ CNN ว่า “นั่นหมายถึงการเปลี่ยนผิวแทนในโทนที่คล้ำมากเกินไปเพื่อพยายามให้เกิดความคลุมเครือ และสวมทรงผมและเทรนด์เสื้อผ้าที่ผู้หญิงผิวดำบุกเบิกเอาไว้”

เลสลี่ โบว์ ศาสตราจารย์ด้านเอเชียอเมริกันศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน อธิบายว่า Blackfishing “เป็นการสวมหน้ากากทางเชื้อชาติที่ดำเนินการในรูปของการหลงไหลในเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่ของตน พวกเขาอาจคิดว่ามันเป็นการแสดงความเคารพต่อชนชาติอื่น เพราะมันดูเหมือนจะให้เกียรติสไตล์ของคนผิวดำ แต่ในความเป็นจริงแล้วการกระทำของคุณกำลังไม่ให้ความเคารพ ล้อเลียน และเหยียดเชื้อชาติ ไปจนถึงทำให้วัฒนธรรมคนดำกลายเป็นเพียงสินค้าหรือการโฆษณา และแฟชั่นดาด ๆ”

ดราม่าทำนองนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงกระแสซีรีส์เกาหลีดัง ๆ อย่าง Penthouse (2020-2021) และ Squid Game (2021) เมื่อหนึ่งในนักแสดงนำ โฮฮยอนจอง ผู้เป็นนางแบบ แล้วทันทีที่กระแสซีรีส์เรื่องนี้ดังในเน็ตฟลิกซ์ ก็มีคนไปค้นรูปของเธอในอินสตาแกรมพบว่าเธอเคยแต่งตัวผมเปียถักในลักษณะของคนผิวดำ หรือแม้แต่ตัวละคร โลแกน-อี ในซีรีส์ Penthouse ที่ปรากฎตัวในลุคผมทรงเดรดร็อคอย่างคนผิวดำ หรือแม้แต่ในแวดวง K Pop อันเป็นที่รู้กันว่าแนวเพลงเกาหลีคือการดัดแปลงแนวเพลงสไตล์อาร์แอนด์บี หรือแบบของไมเคิล แจ็คสัน ที่เคยโด่งดังมาในอดีต เหล่านี้ล้วนเป็นวัฒนธรรมคนดำ พวกนักร้องรุ่นใหม่ ๆ เลยนิยมแปลงโฉมตัวเองให้มีสไตล์แบบคนดำ (ฟีลเหมือนยุคหนึ่งที่คนไทยนิยมทำ MV เพลงรักอบอุ่นต้องใส่เสื้อไหมพรมพันผ้าพันคอถัก ให้ดูอบอุ่น หรือดูโทนเกาหลี ทั้งที่บ้านเราร้อนตับแล่บ)

กรณีนี้ในเวลานั้นถูกเรียกว่า “Culture Appropriation (ฉวยใช้ทางวัฒนธรรม)” ซึ่งถูกมองว่าเป็นการฉวยวัฒนธรรมมาใช้อย่างผิดที่ผิดทาง หรือในเชิงล้อเลียน ขณะที่ก็มีบางกระแสว่าทำไมจึงทำให้ทรงผมหรือสีผิวกลายเป็นถูกครอบครองผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียว เมื่อแฟชั่นคือกระแสความงาม และบรรดาสไตลิสต์ก็มองว่าสิ่งนี้งามทำไมจึงจะนำไปใช้ไม่ได้

วกกลับมาในกรณีของลิซ่า ที่สุดท้ายก็มีคนออกมาทานกระแสนี้ว่า เฮลโล! ช่วยย้อนกลับไปดูนังตัวต้นเรื่องด้วยว่าที่ผ่านมาลิซ่าถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นขาวว่อกแบบเกาหลีต่างหากล่ะ ขณะที่จริง ๆ แล้วเธอเป็นคนไทย นี่คือเวย์ที่ถูกต้องแล้วที่จะเผยให้เห็นผิวแทน ผิวสีน้ำผึ้ง แล้วเอาจริง ๆ ใน MV ล่าสุดนี้เธอก็กำลังพูดถึงว่าทำไมคนเอเชียจึงมักจะถูกเหมารวมว่าเป็น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เหมือน ๆ กันตะพึดตะพือ อย่างที่เคยมีคนเข้าใจผิดว่าลิซ่าเป็นชาวญี่ปุ่นมาแล้ว

ตัวตึงซอล์ฟพาวเวอร์

Yes, yes, no pretendin’ ใช่ ใช่ ไม่มีเสแสร้ง

Tight dress, LV sent it เดรสรัดรูปนี่ หลุยส์ วิตตองส่งมา

Oh shit, Lisa reppin’ โอ้ ชิท! ลิซ่ายอมรับว่าเป็นตัวขาย

Reppin เป็นสแลงที่หมายถึง representing (เป็นตัวแทน) หรือ promoting (โฆษณา/สนับสนุน) ในเพลงนี้ ลิซ่า ไม่ปฏิเสธว่าตัวเธอเองเป็นเหมือนตู้โชว์สินค้าเคลื่อนที่ เธอจะหยิบจับสวมใส่อะไรก็กลายเป็นกระแสนอกจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกอย่าง Bvlgari หรือ Louis Vuitton ที่เธอเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์อยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่านางตัวตึงในการซอฟต์พาวเวอร์เมืองไทยอย่างไม่ต้องมีใครจ้าง ตั้งแต่เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์ถึงเมนูโปรดอย่าง “ลูกชิ้นยืนกิน” แถวบ้านเกิดนาง ไปจนถึงการนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ย้อมครามจากอุดรไปเช็คอินอยุธยา หรือแม้แต่ MV อัลบัมเดี่ยวแรกภายใต้ YG ของเธอก็มาทั้งชฎา เครื่องหัว ชุดไทย และปราสาทหินพนมรุ้ง อันสื่อถึงความไทยและบุรีรัมย์บ้านเกิดเธอ ที่ทำให้ลูกชิ้นยืนกินกลายเป็นของนิยม ชาวบลิงค์ทั้งในและนอกประเทศต่างแห่กันนุ่งซิ่นเที่ยวเมืองเก่า ฯลฯ

การกลับมาในอัลบัมเดี่ยวครั้งที่สองนี้ก็เช่นกัน อันเป็นอัลบัมแรกนอกสังกัดเกาหลี เธอก็ยังไม่เคยลืมกำพืดเดิม ที่ยังพูดถึงความเป็นไทย อันเป็นความเป็นไทยแบบสากลให้ผู้คนตีความ เมื่อเธอเลือกย่านเยาวราช สตรีทฟูด สามล้อ และวัฒนธรรมแสงสียามค่ำคืน ชนชั้นล่าง วัฒนธรรมผสมผสาน คนเดินตลาดเข้าถึงได้ง่าย และผู้แสดงทั้งหมดเป็นชาวไทย

*รูปนี้ขอแจงเป็นหมายเหตุแล้วกัน เห็นหลายเว็บให้ข้อมูลผิดว่าบันไดเลื่อนนี้อยู่ในห้างนิวเวิร์ลบางลำพูที่กำลังซ่อมแซมเตรียมเปิดตัวอยู่ จริง ๆ แล้วไม่ใช่นะครับ นี่คือโลเคชั่นถ่าย MV ถ่ายหนัง (เช่น บุปผาราตรี, อินทรีแดง) ยอดฮิตโลหนึ่งก็ว่าได้ บันไดเลื่อนนี้อยู่ในโรงหนังร้างชื่อว่า “ออสการ์” บนถนนเพชรบุรี ที่นอกจากในส่วนบันไดแล้ว ยังมีบางฉากถ่ายด้านข้างโรงหนังนี้ด้วย

Been MIA, BKK so pretty เคยไปสนามบินไมอะมี่, กรุงเทพก็งามหลาย

Every city that I go is my city ทุกเมืองที่ฉันไปเป็นเหมือนเมืองฉันเอง

สอดแทรกสัญลักษณ์ให้ตีความ

ท่ามกลางชุดแฟชั่นสุดจี๊ดทั้งสีดำ สีเงินเล่นลวดลายในช่วงต่าง ๆ ของ MV กลับมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทุกคนแต่งตัวเป็นเสื้อฮู้ดสีขาวเหมือนกันหมด แต่ท่ามกลางความขาวบล็อคเดียวกันแล้ว กลับมีลิซ่าที่โดดเด่นเห็นได้ชัด แต่แม้จะเห็นได้ชัด ลิซ่า ก็ไม่ต่างจากใครคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เป็นการเปิดให้ผู้ชมตีความได้หลายมิติ ไม่ว่าจะสมัยเธอยังเป็นเทรนนีเด็กฝึกชาวไทยบ้าน ๆ จากบุรีรัมย์ หรือแม้แต่การยืนหมู่ในชุดขาวจะตีความเป็นเหมือนแถวนักร้องประสานเสียงในโบสถ์ก็ได้ ไปจนถึงเวทีสุดท้ายที่มีเธอยืนหนึ่งลำพัง บางคนตีความไปว่าสามเหลี่ยมด้านบนมันสัญลักษณ์ อิลูมินาติหรือเปล่า บางคนคนไปใหญ่มองเป็นสีธงชาติ แดง ขาว น้ำเงิน โอ้โห บางคนคิดว่าเอ๊ะหรือมันเป็นสีส้มสัญลักษณ์พรรคการเมือง

อย่างไรก็ตามมันคือสีทอง เงิน และดำ เป็นมุมภาพแบบเปอร์สเปคทีฟที่แสดงความลึก ขณะเดียวกันยังดูเหมือนจุดสูงสุดก็ได้ เนื่องจากลิซ่าเธอยืนอยู่ในตำแหน่งยอดแหลมของสามเหลี่ยมทั้งด้านบนและเงาด้านล่าง ที่แสดงความลึกให้เห็นว่ามันยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เพราะหนทางยังต้องเดินไปอีกยาวไกล เบื้องล่างเป็นเงามืด และเธออยู่อย่างโดดเดี่ยวในการตัดสินใจครั้งนี้ที่แม้เธอจะมาถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่มันยังคงไม่สิ้นสุด และอีกไกลจนมองไม่เห็นปลายทาง

Been on a mission, boy, they call me catch-and-kill
อยู่ในภารกิจ ผู้ชาย พวกเขาเรียกฉันว่าจับแล้วฆ่า

I’m stealin’ diamonds, make them chase me for the thrill
ฉันขโมยเพชรล้ำค่า ทำให้พวกเขาล่าฉันเพื่อความตื่นเต้น

ประโยคนี้น่าสนใจ catch-and-kill หลายสำนักแปลทำนองว่า “ยั่วให้อยากแล้วจากไป” อย่างไรก็ตาม catch-and-kill เป็นศัพท์เทคนิคทางหนังสือพิมพ์หมายถึง “การสยบข่าวด้านลบ” ซึ่งหากมองในแง่นี้ ก็เป็นอีกพฤติกรรมที่ลิซ่าเป็นมาตลอด คือเป็นตัวมัมอยู่เหนือดราม่าทั้งหลายทั้งปวง ชนิดที่ไม่มีใครคว่ำใครฆ่าเธอได้ลงเลย