ThaiPublica > คอลัมน์ > ร่องรอยรายละเอียดแห่งกาลเวลา

ร่องรอยรายละเอียดแห่งกาลเวลา

3 มีนาคม 2024


1721955

อย่างที่เกริ่นไว้เมื่อ สัปดาห์ก่อนในอีกคอลัมน์ ว่าสัปดาห์นี้เราจะเล่าถึงเบื้องหลังงานกำกับศิลป์ของหนังสุดละมุนเรื่องนี้ Your Name Engraved Herein

“การสร้างช่วงเวลาในอดีตขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่แค่การทำซ้ำสิ่งเดิม แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของความรู้สึกล้วน ๆ” -เหยากั๋วเจิน

เหยากั๋วเจิน เป็นผู้กำกับศิลป์ของหนังเรื่องนี้ หนังที่ย้อนไปในปี 1987 ยุค 80 ที่ความรักระหว่างเพศเดียวกันในไต้หวันเวลานั้นดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เพราะถ้าไม่ถูกล้อเลียน ถูกบูลลี่ ทำร้าย ก็จะโดนครูทำโทษ สังคมตราหน้าว่าเป็นตัวประหลาด อาจถึงขั้นเป็นบ่อนทำลายชาติโดนจับขังคุกได้เลย หนังถ่ายทอดผ่านการกำกับของ หลิวกวงฮุย ที่หยิบเอาความทรงจำสมัยมัธยมมาเล่า ทว่าสำหรับเหยากั๋วเจินแล้ว เขาไม่มีประสบการณ์ร่วมเกี่ยวกับห้วงเวลาเหล่านั้นเลย เพราะตัวเหยาเกิดในปี 1987 พอดีเป๊ะ คำถามคือเขาจะรังสรรค์ช่วงเวลาเหล่านั้นออกมาเป็นฉากหนังได้อย่างไรทั้งที่ตอนนั้นเขายังมีอายุไม่ถึงขวบปีด้วยซ้ำไป

(บน) ภาพงานออกแบบหอพักนักเรียนมัธยมชาย (ล่าง) ฉากในเรื่อง

ไม่ใช่การเลียนแบบ แต่คือการถ่ายทอดความรู้สึก

“ผมนึกภาพไม่ออกหรอกว่าเวลาในปี 1987 เป็นอย่างไร แน่นอนว่าคงมีบางอย่างจากยุค 80 ที่อยู่ในความประทับใจบางอย่างของฉัน แต่คุณนึกออกไหม สิ่งที่ตัวผู้กำกับเห็น เขาเห็นสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ในช่วยวัย 18-19 ของเขา แต่สำหรับผมคือว่างเปล่า สำหรับเขามันเต็มไปด้วยเรื่องราว เต็มไปด้วยความรู้สึกที่หลากหลาย และการจะทำซ้ำในแบบที่หลายคนเรียกมันว่า re-enactment (การจำลองสร้างขึ้นมาใหม่) แต่สำหรับผม ผมไม่ได้จำลองมันขึ้นมา แต่มันมาจากความรู้สึกล้วน ๆ ความรู้สึกที่ผมมีต่อยุคสมัยนั้นผ่านการเล่าเรื่องของผู้กำกับ” เหยา เล่าถึงขั้นตอนแรก

“ปกติหลังจากผมอ่านบทหนังแล้วก็จะคิดทันทีว่าจะสร้างมันออกมาอย่างไร วางของนั่นนี่ไว้ตรงไหน มีอะไรประกอบอยู่ในฉากบ้าง แต่สำหรับเรื่องนี้ สิ่งที่เด่นเด้งขึ้นมาในหัวผมคือ ความรู้สึก ห้วงอารมณ์ บทมีความละเมียดมาก แล้วก็เต็มไปด้วยอารมณ์หลายอย่างที่ผสมผสานกันอยู่ในแต่ละฉาก เขาเขียนบรรยากาศ สภาพแวดล้อมเอาไว้ได้ดีมาก และถึงแม้จะไม่มีฉากน้ำตาแตกฟูมฟาย หรือฉากโลดโผนอะไร แต่เมื่อผมทบทวนถึงมัน มันคือความรักเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และนั่นคือสิ่งที่ผมสรุปได้ในทันที”

“การสื่อสารอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมาปรากฏอยู่ในทุกช่วงตอน เราจะพบว่าตัวละครหลักคู่นี้มีนิสัยแตกต่างกันในหลายอย่าง อย่างฉากที่เห็นแล้วเข้าใจได้ทันทีคือคนหนึ่งนับถือพุทธ อีกคนมาจากครอบครัวชาวคริสต์ แล้วนักแสดงส่งความรู้สึกถึงกันด้วยสายตา….หน้าที่ผมในลำดับแรกคือประชุมกับผู้กำกับ คนเขียนบท และโปรดิวเซอร์ เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ผมเข้าใจตรงกับสิ่งที่พวกเขาต้องการ ผมจะเล่าออกมาเป็นฉาก ๆ ให้เห็นภาพได้มากที่สุด แล้วก็ฟังว่าพวกเขาต้องการอะไรเพิ่มเติมตรงไหนบ้าง มีอะไรเป็นพิเศษที่ตัวผู้กำกับอยากจะให้คนดูเห็น จากนั้นก็ไปสรุปกับทีมออกแบบฉาก ทีมทำพร็อพประกอบฉาก ไปจนถึงคนทำคอสตูมเครื่องแต่งกาย อย่างตอนแรกเลยผู้กำกับยืนกรานว่าเขาอยากให้มีฉากกินเค้กถั่วเขียว ของอร่อยยอดฮิตในซีเหมินติง แต่พอถ่ายไปเรื่อย ๆ เขาก็ตัดสินใจตัดสิ่งนี้ออกไปจากเรื่องเฉยเลยก็มี”

“แต่ก็มีรายละเอียดบางอย่างที่ตอนวาดผมไม่เข้าใจถึงบริบทในเวลานั้น คือฉากพิธีศพประธานาธบดี ซึ่งในความเข้าใจผมคือมีรั้วกั้น แต่สำหรับตัวผู้กำกับยืนยันว่าเวลานั้นไม่ใช่แค่รั้วกั้น เพราะฝ่ายรัฐบาลหวาดกลัวประชาชนของตัวเอง จึงแทนที่จะเป็นแค่รั้ว แต่คือรั้วลวดหนาม ซึ่งพอมันปรากฏอยู่ ก็ทำให้คนดูเข้าใจความโหดเหี้ยมของช่วงเวลานั้นได้อย่างชัดเจน”

ราศีมีน อิมเพรสชั่นนิสต์ และประวัติศาสตร์

แม้ว่าจินตนาการของ เหยา จะมีจำกัด คลุมเครือ และบางฉากก็ถึงกับว่างเปล่า แต่เขาได้เปลี่ยนความคลุมเครือเหล่านั้นให้กลายเป็นบรรยากาศอันมีเอกลักษณ์ได้อย่างชาญฉลาด เหยาซึ่งเป็นคนราศีมีนกล่าวว่า “หลังจากอ่านบทจบ ผมได้แต่คาดเดาว่าบทจางเจียฮั่น ที่เป็นตัวผู้กำกับเอง จะเป็นพวกราศีมีนเหมือนกันด้วยหรือเปล่านะ ซึ่งในที่สุดผมก็รู้ว่าตัวผู้กำกับเองเป็นคนราศีมีน ทำให้เราคุยกันได้อย่างรืบรื่น เพราะผมรู้ว่าความทรงจำแบบคนราศีมีนมักจะจินตนาการมันออกมาให้สวยเกินกว่าความเป็นจริง ดังนั้นแทนที่ผมจะทำให้ฉากมันดูสมจริง ผมต้องการมุมมองที่สวยงามของฉากด้วยเช่นกัน แม้จะเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ก็ตาม ในที่สุดเลยวางมุมมองการออกแบบในแนวอิมเพรสชั่นนิสต์”

“อิมเพรสชั่นนิสต์ไม่ได้เน้นความสมจริง แต่คือภาพรวมของทัศนียภาพ ด้วยมุมมองอันงดงาม งานออกแบบของผมในหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน แน่นอนว่ามันอยู่บนพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ แต่โดยองค์รวมจะไม่ได้ดูหดหู่ตามบริบททางสังคมที่ถูกกดขี่ในเวลานั้น แต่เลี่ยงไปเล่าในมุมที่สวยงามแทน อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องทำการบ้านในแง่วัตถุที่มีอยู่จริงในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงดราม่า หรือความรู้สึกผิดที่ผิดทางของวัตถุบางอย่าง เราค้นข้อมูลมหาศาลในห้องสมุด ค้นคลิปหนังเก่า ๆ ในช่วงเวลานั้นจากสถานีโทรทัศน์ ไปจนถึงข้อมูลเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อค้นหา อาหาร แฟชั่น ร้านรวงต่าง ๆ ไปจนถึงสีเสื้อผ้า ฉาก และเสื้อผ้า หรือทรงผม แต่เราไม่ได้ทำเฉพาะสิ่งที่จะเห็นได้ในหนังเท่านั้น เราหาข่าวจำพวกคดีฆาตกรรม หรือเหตุการณ์สำคัญในช่วงปีเหล่านั้นด้วย ไปจนถึงการต่อสู้กันระหว่างประชาชนกับรัฐบาล สิ่งเหล่านี้คือรายละเอียดที่สามารถบอกเล่าบรรยากาศของยุคนั้นได้เป็นอย่างดี”

ภาพถ่ายต่าง ๆ ในยุคสมัยนั้นเพื่อสังเกตสี แฟชั่น บรรยากาศ ฯลฯ

“จากภาพถ่ายที่เรารวบรวม เพื่อมาหาบทสรุปของช่วงเวลา เราพบว่าคนไต้หวันช่วงเวลานนั้นนิยมสีแดง เหลือง น้ำเงิน เขียว แต่ด้วยมู้ดของหนังเราเลือกโทนสีที่ขุ่นทึมลง และให้ความรู้สึกอบอุ่น เลยจำแนกสีไปตามแต่ละช่วงอารมณ์ในแต่ละฉาก สีแดง สื่อถึงความรัก, สีเขียว อาจหมายถึงอำนาจ ทหาร, สีฟ้าให้ความรู้สึกอิสระ และสีเหลือง เป็นเหมือนกฎระเบียบที่เราเลือกเป็นเหมือนสีเอิร์ธโทนเหมือนชุดข้าราชการ ถ้าสังเกตดี ๆ คุณจะเห็นสีเหล่านั้นที่ช่วยขับเน้นความหมายในแต่ละช่วง เช่น ตอนที่เขาจูบกัน ฉากเป็นสีแดง ฉากที่พวกเขาร้องเพลงประกวดทางทหาร พื้นที่เป็นสีเหลืองครีมชุดเป็นสีข้าราชการ หรือตอนพวกเขาไปทะเลด้วยกัน บรรยากาศทั้งหมดเป็นสีฟ้า”

“แต่เราไม่ได้ออกแบบแค่สิ่งที่ปรากฏในหนังเท่านั้น จริง ๆ เราออกแบบแม้แต่สิ่งที่ไม่เห็นบนจอด้วย อย่างที่เด่นชัดสุดและคนดูน่าจะจำได้ ในฉากท้ายเรื่องอันเป็นเวลาปัจจุบัน ตัวละครทั้งสองเจอกันในอีก 30 ปีต่อมา พวกเขาพูดถึงภาพเปลือยที่ถ่ายเอาไว้ตอนเด็ก ๆ และหนึ่งในนั้นเก็บรูปเปลือยของอีกฝ่ายไว้ดูต่างหน้าในกระเป๋าสตางค์ คนดูไม่มีวันรู้ว่าภาพนั้นคือภาพอะไร แต่ภาพนั้นมีอยู่จริง และอยู่ในกระเป๋าใบนั้นจริง ๆ ด้วย”

“เราใส่ใจกับรายละเอียดไม่ว่าในฉากบ้านของตัวละคร บนฝาบ้านเวลานั้นทุกบ้านต้องมีรูปท่านประธานเจียงไคเช็กไว้ประดับ แน่นอนว่าแม้หลายครอบครัวจะได้รับผลกระทบจากกฎอัยการศึก แต่พวกเขาจำเป็นต้องแขวนรูปเอาไว้ เพราะถ้าวันใดเกิดเจ้าหน้าที่รัฐบุกเข้ามาค้นบ้าน พวกเขาอาจโดนตั้งข้อหากบฏ ไม่รักชาติ ไม่จงรักภักดี อย่างไรก็ตามเมื่อตอนถ่ายทำ ผู้กำกับตัดสินใจปลดออกแล้วใช้นาฬิกาใส่เข้าไปแทน เนื่องจากเวลาของหนังคือหลังจากยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว แล้วพวกเขาก็ไม่ใช่คนไทเป ในความเป็นจริง คือ ชาวบ้านรอบนอกเมืองจะได้รับผลกระทบต่อกฎอัยการศึกมากที่สุด ดังนั้นคนเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ปลดรูปออก เพราะพวกเขาไม่ได้รู้สึกดีต่อกฎเกณฑ์เหล่านี้เลย ส่วนใหญ่ออกจะเกลียดชังด้วยซ้ำ

“เรามีรายละเอียดแม้แต่กระเป๋าสะพายของตัวละครที่วาดตัวการ์ตูนลงไปที่ดูปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าใบหนึ่งเป็นของเบอร์ดี้ เพราะตัวละครของเขาอยากจะเป็นนก แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ได้เข้าฉายในโรงในประเทศอื่น (เช่นในไทย) หรือคนส่วนใหญ่จะได้ดูจากเน็ตฟลิกซ์จนมองไม่เห็นรายละเอียดเหล่านี้ แต่ถ้าคุณได้ดูหนังเรื่องนี้บนจอใหญ่ ยังไงคนดูจะสังเกตเห็นอย่างแน่นอน เราจึงต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย”

“จริง ๆ เราทำงานกันเป็นครอบครัว ถึงแม้ผมจะรับหน้าที่ผู้กำกับศิลป์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในหน้าที่ผมคือการรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น สิ่งของหลายอย่างเราหาไม่ได้ในยุคนี้แล้ว บางอย่างแม้แต่ร้านขายของเก่าก็ไม่มี หลายอย่างผมต้องประดิษฐ์มันขึ้นมาเองก็ตาม แต่จริง ๆ แล้วอย่างตัวผู้กำกับก็สะสมโปสเตอร์ของยุคนั้นไว้ไม่น้อย หรือนักแสดงของเราก็มาช่วยวาดนั่นนี่ในตำราเรียนบ้าง บนกระเป๋าบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดของความสมจริงอีกอย่างหนึ่ง มันเป็นเหมือนผลงานของพวกเราร่วมกันออกแบบสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา”

กล่าวทิ้งท้ายว่า “คนทำหนังบางคนทุ่มเงินจำนวนมหาศาลหมดไปกับฉากเพียงฉากเดียว ราวกับต้องการให้ฉากนั้นเป็นเหมือนใบเบิกทางไปสู่งานที่ใหญ่กว่า แต่ถ้าจะให้ผมแนะนำอะไร เรื่องที่ผู้กำกับศิลป์ควรคิดเอาไว้เสมอคือ อย่าทำให้หนังเสียหาย แน่นอนว่าสิ่งที่คุณทำมีผลต่อบรรยากาศของเรื่อง ช่วยในการสื่อสารความหมาย ความรู้สึก ในทางกลับกันมันก็สามารถทำลายบรรยากาศ หรือทำร้ายความรู้สึกได้เช่นกัน” เหยากั๋วเจิน