ThaiPublica > เกาะกระแส > พ้นกับดักการศึกษา ชูสองโลกการเรียนรู้ เปลี่ยนสู่โหมด The World is My School

พ้นกับดักการศึกษา ชูสองโลกการเรียนรู้ เปลี่ยนสู่โหมด The World is My School

30 พฤษภาคม 2024


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สัมภาษณ์กับสภาการศึกษาต่อมุมมองเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและที่แก้ไขเพิ่มเติม และแนวทางของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

1. ความจำเป็นที่ต้องเร่งยกเครื่องการศึกษาทั้งระบบ

โลกในศตวรรษที่ 21 ขับเคลื่อนด้วยทุนมนุษย์และเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีทุนมนุษย์ที่มีความสามารถพอ วิกฤติการศึกษาไทยที่สะท้อนผ่านความเหลื่อมล้ำ ความล้าหลัง และความอ่อนด้อย ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของคนไทยอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 1) การขาดความรู้ความสามารถที่จะรับมือ กับชุดของโอกาสและความท้าทายในศตวรรษที่ 21 และ 2) การขาดโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เป็นปฐมบทของช่องว่างความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติที่ถ่างมากขึ้น นำไปสู่วิกฤติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และการถูกครอบงำจากต่างประเทศตามมา สภาวการณ์ต่างๆ ข้างต้นอาจนำไปสู่วิกฤติชาติในอนาคต ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้ไขวิกฤติทางการศึกษาซึ่งเป็น “วิกฤติฐานราก” ที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบตามมาเป็นลูกโซ่ ดังภาพ 1

วิกฤติทางการศึกษา เป็น “วิกฤติฐานราก” ก่อเกิดผลกระทบเชิงลบเป็นลูกโซ่

การยกเครื่องระบบการศึกษาจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและพอเพียงที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างแท้จริง

2. ประเด็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยในภาพรวม

ปัญหาของระบบการศึกษาไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไล่ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ต้นน้ำ คือ ระดับโครงสร้างธรรมาภิบาล (governance structure) กลางน้ำ คือ ระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ (policy and strategy) และปลายน้ำ คือ ระดับปฏิบัติการ (execution) ดังภาพที่ 2

ปัญหาเชิงระบบการศึกษาไทย

ในระดับโครงสร้างธรรมาภิบาล ยังมีความอ่อนแอในเชิงสถาบัน (institutional framework) ภายใต้ระบบนิเวศทางการศึกษา 3 ผู้มีบทบาทหลัก (key player) อันได้แก่ 1) ภาคการเมือง 2) ระบบราชการ และ 3) ผู้มีส่วนได้เสีย (interest groups) ขาดเจตจำนงร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ดังภาพ 3

สภาพความอ่อนแอของสถาบันในระบบนิเวศทางการศึกษา

การเมือง ซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาศึกษายังติดอยู่ในกับดัก short-termism ในลักษณะมองสั้นไม่มองยาว การเห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้นที่อาจส่งผลเสียในระยะยาว เน้นสร้างคะแนนเสียงจากประชาชนเพียงเพื่อการชนะเลือกตั้ง ทำให้การศึกษาซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว และต้องใช้เวลาไม่ได้รับความสนใจและใส่ใจ พรรคการเมืองยังให้ความสำคัญกับวาระการศึกษาเป็นลำดับรอง ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่ขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ยังเอาทรัพยากรทางการศึกษาไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองด้วย

ระบบราชการ ยังติดกับดัก bureaucracy ของการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ เฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ทำให้การศึกษาไทยปรับเปลี่ยนไม่ทัน อีกทั้งในการทำงานยังยึดปัจจัยนำเข้า (input-based) เป็นหลัก ไม่ได้มุ่งผลสัมฤทธิ์ (outcome – based) ที่ยึดพัฒนาการของเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก

ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นตัวเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น องค์กร สมาคม สถาบันด้านการศึกษา มีความอ่อนแอ ขาดอำนาจต่อรอง ไม่มีเจตจำนงและเป้าหมายร่วมกัน ขาดการผนึกกำลัง (Collective Action) ปัจจุบันต่างคนต่างดำเนินการอย่างกระจัดกระจาย แบบเบี้ยหัวแตก ทำให้ไม่มีพลังที่จะนำการเปลี่ยนแปลง

ในระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ เรามีภาพฝันของนโยบายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และบทเรียนที่ได้เรียนรู้มาแล้วทางการศึกษาอยู่จำนวนมาก สูญเสียงบประมาณจำนวนไม่น้อยกับการไปดูงานการศึกษาจากต่างประเทศ แต่ภาพฝันดังกล่าวไม่ได้ถอดรหัสออกมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

ความอ่อนแอของสถาบันในระบบนิเวศทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง ระบบราชการ และผู้มีส่วนได้เสีย ส่งผลให้การพัฒนาหรือการปฏิรูปการศึกษาขาดเจ้าภาพที่แท้จริง ไม่มีวิสัยทัศน์ร่วม ขาดเจตจำนงร่วมเชิงยุทธศาสตร์ และความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ไม่มีพิมพ์เขียวหรือแผนแม่บท ตลอดจนข้อบังคับกำกับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง จะเห็นได้จากความล้มเหลวของความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งเกิดกลายเป็นความชินชาและความเบื่อหน่ายทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา

ในระดับการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติยังทำงานในรูปแบบเดิมๆ มีกระบวนทัศน์การทำงานแบบเดิมๆ ไม่ยอมปรับเปลี่ยนภายใต้สภาวะแวดล้อมและพลวัตที่เปลี่ยนไป

ความอ่อนแอของสถาบันในระบบนิเวศทางการศึกษา นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ไม่ชัดเจนต่อเนื่อง ก่อให้เกิดประเด็นปัญหาในระดับปฏิบัติ มากมาย เช่น

1) ค่าตอบแทนและสวัสดิการครูได้รับการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ค่าตอบแทนและสวัสดิการดังกล่าวเป็นเพียงเงื่อนไขที่จำเป็น ทว่าไม่พอเพียงต่อการปลดปล่อยศักยภาพของครูอย่างเต็มที่ ค่าตอบแทนและสวัสดิการดังกล่าว จะต้องดำเนินการควบคู่กับการบริหารจัดการหนี้ครูที่เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน พร้อมๆ กับป้องกันไม่ให้เกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร

2) จะทำอย่างไรให้ “ครูติดถิ่น” และ “ครูคืนถิ่น” เพื่อตัดวงจรการวิ่งเต้นขอย้ายไปยังภูมิลำเนาที่ต้องการและทำให้ครูมีความทุ่มเทกับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่

3) จะทำอย่างไรให้ครูมีเส้นทางอาชีพที่สามารถเติบโตได้ในสายของการเรียนการสอน จะได้ทุ่มเทให้กับเด็กได้อย่างเต็มที่ แทนที่จะพยายามหาโอกาสแข่งขันขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารเพียงอย่างเดียว

4) จะทำอย่างไรที่จะลดภาระที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของครู

5) ภายใต้พลวัตโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะทำอย่างไรให้มีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ความเข้าใจในพลวัตโลก แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ความเข้าใจในโอกาส ข้อจำกัด และภัยคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์

6) จะทำอย่างไรให้ระบบการประเมินตรงปก ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผู้เรียน ครู หรือโรงเรียน ต้องกำหนดตัวชี้วัดที่ตอบคำถามได้ว่า การประเมินผู้เรียนสะท้อนพัฒนาการของผู้เรียนได้จริงหรือไม่ การประเมินครูสะท้อนภารกิจทั้งเชิงประสิทธิผล คุณภาพ และประสิทธิภาพได้มากน้อยเพียงใด การประเมินโรงเรียนหากใช้ได้จริง โรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้วต้องทัดเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนจากความแตกต่างของขนาดและที่ตั้งต้องลดลง

การกำหนดตัวชี้วัดเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทางการศึกษา ดังคำว่า You Are What You Measure การกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้อง เหมาะสม ทำให้เกิดการทุ่มเททรัพยากรไปในทิศทางที่ไม่ตอบโจทย์ เกิดปรากฏการณ์ “ถมไม่เต็ม” สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่ได้ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น

ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทยในทั้ง 3 ระดับดังกล่าว ทำให้ผลผลิตและผลลัพธ์ไม่ตอบโจทย์ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่เมื่อเติบโตไปไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและเป็นปกติสุข เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในสังคมศตวรรษที่ 21

ปัญหาใหญ่ของเด็กไทยที่พบ ได้แก่ การอ่านได้แต่ไม่เข้าใจ คิดไม่เป็น ทำงานไม่เป็น สื่อสารไม่ได้ทั้งการสื่อสารด้วยภาษาและเทคโนโลยีดิจิทัล สะท้อนจากคะแนน PISA ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอ่าน การคิดวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์และการใช้ภาษาอังกฤษ โดยรวมแล้วเด็กไทยโดยส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพต่ำ โอกาสน้อย มีแรงบันดาลใจต่ำ ขาดเจตจำนงและเป้าหมายในการเรียนรู้ มีปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา ขาดการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง

3. การปรับเปลี่ยนระบบนิเวศการเรียนรู้

พลวัตโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยี ได้ทำให้ระบบนิเวศการเรียนรู้เปลี่ยนไปจาก The School is My World เป็น The World is My School นโยบาย ยุทธศาสตร์ และการบริหารจัดการทางการศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยน โดยเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเรียนรู้ในห้องเรียน ในโรงเรียนและในระบบ กับการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกโรงเรียน และนอกระบบ

ภายใต้ The World is My School จะมี 2 โลกการเรียนรู้ คือ การเรียนรู้ทั้งจากโลกจริงและโลกเสมือน จะต้องจัดความสมดุลของการเรียนรู้ ใน 2 โลก เพื่อให้เด็กสามารถปรับสมดุลการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

มิเพียงเท่านั้น ภายใต้ The World is My School ต้องทำให้เด็กสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มทั้งที่จับต้องได้และดิจิทัล ทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในต้นทุนที่ต่ำ เข้าถึงเนื้อหาและแอปพลิเคชันที่มีประโยชน์และมีคุณภาพ รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยยกระดับการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาในเวลาเดียวกัน

หลักสูตรภายใต้ The World is My School นี้จะต้องมีความยืดหยุ่น มีทางเลือก มีทั้งส่วนที่เป็นสากล ส่วนที่สอดรับกับบริบทเชิงพื้นที่ รวมถึงส่วนที่ตอบโจทย์ความต้องการและศักยภาพรายบุคคล

  • 3.1) หลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการใช้ชีวิตในโลกกว้าง
  • หลักสูตรภายใต้ The World is My School จะต้องเน้นการเรียนการสอนเพื่อการเข้าใจชีวิต ควบคู่ไปกับการดำรงชีพในโลกกว้าง

    ในความเป็นจริง สังคมไทยมีหลักคิดเพื่อการเข้าใจในชีวิตและการดำรงชีพอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่าง เช่น หลักปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติ หมายถึง การเรียนรู้ ปฏิบัติ หมายถึง การพัฒนาทักษะผ่านการลงมือทำ การฝึกฝนเพื่อสั่งสมประสบการณ์ และปฏิเวธ หมายถึง ความกระจ่างชัดจนเกิดเป็นปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของอับราฮัม มาสโลว์ ในการพัฒนาให้เต็มศักยภาพของตนเอง นำไปสู่ขั้นการบรรลุความหมายเติมเต็มความสมบูรณ์ของชีวิตในการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ในศตวรรษที่ 21 เด็กและเยาวชนต้องมีความรู้คู่ปัญญา หลักสูตรการศึกษาควรสร้างปัญญาสำหรับการใช้ชีวิต และความรู้สำหรับการดำรงชีพควบคู่กันไป

    เนื้อหาสาระในหลักสูตรควรประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ชุดการเรียนรู้ฐานราก (fundamental-based learning) 2) ชุดการเรียนรู้เชิงฟังก์ชัน และการเรียนรู้รายประเด็นเพื่อการพัฒนาเฉพาะทางหรือตอบโจทย์เฉพาะเรื่อง (functional & agenda -based learning) ดังภาพ 4

    ชุดการเรียนรู้ 2 ระดับที่ควรมีในหลักสูตร

    3.1.1 ชุดการเรียนรู้ฐานราก เป็นชุดความรู้ที่มีความสำคัญแต่หลักสูตรในระบบการศึกษาไทยยังขาดส่วนนี้ไปไม่น้อย ประกอบไปด้วย

    1. ชุดค่านิยมที่ถูกต้อง แม้จะมีค่านิยมที่ดีจำนวนมากสังคมไทยแต่ก็ยังมีค่านิยมผิดๆ ที่ฝังรากมานานและไม่เคยคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลง อาทิ อำนาจนิยม วัตถุนิยม สุขนิยม และบริโภคนิยม จึงควรปลูกฝังค่านิยมที่ 1) ยึดประโยชน์ส่วนรวม 2) เน้นสิทธิที่มาพร้อมหน้าที่ 3) ยึดหลักการและความถูกต้อง 4) เน้นการรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน 5) เน้นเนื้อหาสาระมากกว่ารูปแบบ 6) เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ 7) เน้นเนื้องานมากกว่าคอนเนคชั่น ค่านิยมที่ถูกต้องดังกล่าวจะเป็นฐานรากสำคัญของการสร้าง 1) สังคมที่โปร่งใสตรวจสอบได้ 2) สังคมที่เสรีและเป็นธรรม และ 3) สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปันกัน

    สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความย้อนแย้งอยู่ค่อนข้างมาก แต่เราไม่เคยปรับเปลี่ยนความย้อนแย้งให้เป็นพลัง ประเทศอิสราเอลเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่สามารถนำความย้อนแย้งมาทำให้เกิดพลัง เช่น 1) การผสมผสานระหว่างความทันสมัยกับขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม 2) การนำเรื่องศาสนามาผสานกับการดำรงชีวิตของประชาชนในทางโลก ได้อย่างลงตัว 3) การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยไม่ลืมวิถีชีวิตเดิม (โดยแต่ละสัปดาห์กำหนดให้ 1 วัน เป็นวันงดใช้ไฟฟ้า) และ 4) การสร้างครอบครัวที่มีความผูกพันกัน (แต่ละสัปดาห์กำหนดให้ 1 วัน เป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวจะทำกิจกรรมร่วมกัน) สังคมอิสราเอลมองว่าทุกคนอยู่ในครอบครัวเดียวกันพร้อมให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

    สังคมไทยควรปรับค่านิยมให้ถูกต้องและสอดรับกับบริบทของโลกศตวรรษที่ 21 ยกตัวอย่างเช่น การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างความลงตัว ความพอประมาณ ความพอดี รวมถึงการพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง ตลอดจนการหลอมรวมความเป็นสากลเข้ากับความเป็นไทยในทำนองเช่นเดียวกับกรณีของอิสราเอล

    2. ชุดความคิดที่ถูกต้อง ควรปลูกฝังชุดความคิดที่ถูกต้องก่อนการพัฒนาทักษะและความรู้ให้กับเด็ก เพราะหากมีชุดความคิดที่ไม่ถูกต้องอาจใช้ความรู้ความสามารถและทักษะในทางที่ผิด อย่างน้อยต้องปลูกฝัง 3 ชุดความคิดตั้งแต่เด็ก ได้แก่ 1) ความเป็นพลเมืองโลก ที่ตระหนักถึงความเป็นพลเมืองของประเทศและท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย 2) ความคิดที่ก้าวไปข้างหน้า การพัฒนาตนเอง เอาชนะข้อจำกัด ล้มแล้วลุกได้ มองโลกของความเป็นไปได้ และ 3) ความคิดที่มองระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง เห็นแก่ส่วนรวม มนุษยชาติ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก

    3. ชุดทักษะเพื่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น

    4. ชุดเครื่องมือ ปลูกฝังความชำนาญในการนำเครื่องมือมาสนับสนุนการทำงานหรือการดำรงชีวิต เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีโลกเสมือน (augmented reality: AR, mixed reality: MR, virtual reality: VR)

    5. ชุดของความฉลาดรู้ เช่น ความฉลาดรู้ในการใช้ชีวิต ความฉลาดรู้ทางสังคม ความฉลาดรู้ในการติดต่อสื่อสาร ความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี

    3.1.2. ชุดการเรียนรู้เชิงฟังก์ชัน และการเรียนรู้ผ่านโจทย์หรือประเด็นท้าทาย เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย ความรู้ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ (ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ) ควรออกแบบหลักสูตรให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้จากทั้ง 8 กลุ่ม เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้จากการบูรณาการดังกล่าว เช่น การมอบหมายงานที่เป็นลักษณะโครงงาน การทำงานเป็นทีม การมอบหมายงานที่ค่อยๆ เพิ่มขอบเขตและขนาดของโครงงานเพื่อเพิ่มพูนทักษะและความรู้ข้ามศาสตร์ที่ต้องใช้ในการทำให้โครงการบรรลุผลสัมฤทธิ์ การปรับเปลี่ยนจากการหยิบยื่นการเรียนรู้ให้เด็ก มาเป็นการเรียนรู้ร่วมกับเด็ก และการเรียนรู้โดยเด็กให้มากขึ้น

  • 3.2 การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตในโลกกว้าง
  • กระบวนการจัดการเรียนการสอนภายใต้ The World is My School จะต้อง 1) ยึดตัวผู้เรียนมากกว่าผู้สอนเป็นศูนย์กลาง 2) เปิดโอกาสให้เรียนรู้มากกว่าเน้นการสอน 3) ทิ้งเชื้อให้ไปคิดต่อมากกว่าหลักสูตรปรุงสำเร็จ 4) เน้นความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการลอกเลียนแบบ 5) เน้นการลงมือปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี 6) เน้นการพึ่งพาตนเองมากกว่าการพึ่งพาผู้อื่น และ 7) เน้นการสร้างความเป็นคนมากกว่าการสร้างความเป็นตน

    กระบวนการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตในโลกกว้างจะต้องเป็นการผสมผสาน learning, living และ loving ไปด้วยกันอย่างลงตัว เริ่มต้นจาก 1) รักที่จะเรียนรู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียน และ 2) รู้ที่จะเรียน เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการแสวงหาแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมครอบคลุมทั้ง why, what, how to learn รวมถึงเครื่องมือในการเรียนรู้มากมาย เช่น การจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งการเรียนรู้ในโรงเรียนและในระบบกับนอกโรงเรียนและนอกระบบ การเรียนรู้ต้องยืดหยุ่นเป็นวงจรของการเรียนรู้ และการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น จนกลายเป็นวงจรการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องติดตัวไปตลอดชีวิต เอื้อให้เกิดผลลัพธ์ในเรียนรู้ที่จะอยู่รอด คือการเรียนรู้เพื่อความเป็นตนควบคู่ไปกับเรียนรู้ที่จะรัก คือการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นคน ดังภาพ 5 โดยการผสมผสานผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้งสองให้สมดุลกันระหว่างความเป็นคนและสร้างความเป็นคน ถือเป็นสาระสำคัญหนึ่งในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

    การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้
  • 3.3 เป้าหมาย บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง บริบทและพัฒนาการของการเรียนรู้
  • หลักสูตรควรมีความยืดหยุ่นรองรับพลวัตการเปลี่ยนแปลง (ดังภาพ 6) องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้ คือ เนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ เนื้อหาที่ผสมผสานอย่างลงตัวในกระบวนการเรียนรู้ต้องทำให้ผู้เรียนสนุก เกิดแรงบันดาลใจ มีบรรยากาศของการเอื้ออาทรและแบ่งปันกัน ปลูกฝึกฝังนิสัย “การสำรวจสืบค้น” ให้ผู้เรียนท่องไปในโลกกว้างทั้งโลกจริงและโลกเสมือน รู้จักฝึกใช้จินตนาการ รังสรรค์ความคิดใหม่ๆ กล้าที่จะลองผิดลองถูกในการทดลองทดสอบความรู้ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์จากการเรียนรู้ และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปแชร์ไปแบ่งปันกับผู้อื่นเพื่อปลูกฝัง “free culture” ที่เน้น free to take ควบคู่ไปกับ free to share

    ภายใต้แนวคิด The World is My School ต้องมีเป้าหมายการเรียนรู้ 4 ประการ ที่ยึดโยงกันเป็นองค์รวม ได้แก่ 1) การเรียนรู้อย่างมี “ความมุ่งมั่นและเป้าหมาย” 2) การเรียนรู้ที่เน้น ‘การรังสรรค์’ 3) การเรียนรู้ที่เน้น “การมีส่วนร่วมและแบ่งปัน” และ 4) การเรียนรู้ที่ “เน้นผลสัมฤทธิ์”

    จากการวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า บทบาทของครูและผู้ปกครองควรเป็นหุ้นส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ประกอบด้วย 1) การเฝ้าติดตามการพัฒนาการ อยู่ห่างๆ โดยไม่เข้าไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเด็กมากจนเกินงาม 2) การสนับสนุนทางจิตใจ คอยให้กำลังใจเมื่อล้มแล้วลุกได้ สามารถก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบาก และ 3) การคอยให้คำแนะนำปรึกษา ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ครูมีหน้าที่สอน และเด็กมีหน้าที่เรียนเท่านั้น แต่โลกปัจจุบันทั้งครูและเด็กต้องมีทั้งสองบทบาทเป็นทั้งผู้สอนและเป็นผู้เรียนด้วย ครูนอกจากสอนแล้วสามารถเรียนรู้จากเด็กได้ เด็กนอกจากเรียนแล้วยังสอนให้เพื่อนร่วมชั้นและครูในสิ่งที่ตัวเองสนใจหรือถนัดได้ตัวอย่างกรณีศึกษาการทำวิจัย โครงการ Fun, Find, Focus, Fulfill (สนุก ค้นหา มุ่งเน้น เติมเต็ม) ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เด็กเกิดความสนุกที่จะเรียนรู้แล้วเด็กก็จะขวนขวายค้นหาความรู้เอง เมื่อมีข้อมูลจากการค้นหาที่มากพอเด็กจะเริ่มรู้ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร จะมุ่งเน้นเรื่องอะไรและแสวงหาความรู้และประสบการณ์ต่างๆ มาเติมเต็มเพิ่มเติม ดังนั้น วงรอบของหลักสูตรต้องยืดหยุ่น เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว

    บริบทและพัฒนาการของการเรียนรู้

    4. ข้อเสนอการปรับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการศึกษา

    โครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาของประเทศไทยยังเป็นแบบรวมศูนย์ในแนวดิ่งจากบนลงล่าง ทำให้เกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ เช่น ผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือหน่วยงานทางการศึกษา ดำเนินการจัดการศึกษาหรือปฏิบัติงานในพื้นที่ภายใต้ตัวชี้วัดหรือกรอบนโยบายที่ไม่เหมาะสมจากส่วนกลาง ไม่ได้พิจารณาบริบทของพื้นที่และไม่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จึงควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เป็นแบบกระจายอำนาจในแนวระนาบ ให้โรงเรียนเป็นหน่วยการจัดการศึกษาที่ประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่น ผู้ปกครอง เอกชนในพื้นที่ (ดูภาพที่ 7) เพื่อให้เกิดความคล่องตัว มีความเป็นอิสระในการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับแผนความต้องการและบริบทของชุมชนท้องถิ่น

    ส่วนกลางจะต้องมีความเชื่อมั่นว่าชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาด้วยตนเอง เพราะการรวมศูนย์อำนาจแบบอำนาจนิยมทำให้การศึกษาไทยอ่อนแอ ส่งผลให้คนไทย ชุมชนท้องถิ่น และประเทศชาติอ่อนแอตามไปด้วย การกระจายอำนาจจะเป็นฐานรากสำคัญของการสร้างสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่เท่าเทียม สังคมแห่งโอกาส สังคมที่สามารถและสังคมที่เอื้ออาทรแบ่งปัน

    ภาพรวมของปัญหาทางการศึกษาของประเทศไทย

    อย่างที่ทราบกันดีว่า คนเราเกิดมามีความแตกต่างกันอย่างน้อย 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) ธรรมชาติ (nature) ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด บางคนเกิดมาพร้อมความฉลาด บางคนเกิดมาพิการ และ 2) การเลี้ยงดู (nurture) ธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและคุณภาพของการเลี้ยงดูจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาการของบุคคลนั้น ปัจจัยทั้งสองแสดงได้ดังภาพที่ 8 ดังนี้ กลุ่มที่ 1 กลุ่มธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นบวก และการเลี้ยงดูเป็นบวก เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพเป็นเลิศ ควรใช้ศักยภาพของคนกลุ่มนี้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสไปช่วยเหลือคนด้อยโอกาส กลุ่มที่ 2 กลุ่มธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นบวก แต่การเลี้ยงดูเป็นลบ ทำให้การพัฒนาไม่เต็มศักยภาพ เป็นกลุ่มเพชรในตมที่จะช่วยกันเจียระไนให้เกิดประกายอย่างไร กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นลบแต่การเลี้ยงดูเป็นบวก เป็นกลุ่มผู้มีความบกพร่องพิการแต่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นลบและการเลี้ยงดูเป็นลบ เป็นกลุ่มผู้มีความบกพร่องพิการและได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ดีพอ

    Nature – Nurture Policy

    นี่คือบทบาทภารกิจสำคัญในการสร้างคนของกระทรวงศึกษาธิการในอนาคต ภาพที่ 8 จะสะท้อนทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์ การสร้างความเท่าเทียมของเด็กและเยาวชนผ่าน nature – nurture policy คนที่เกิดมามีศักยภาพดีอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้เขาสร้างความเป็นเลิศและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสที่จะไปช่วยคนด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ สำหรับกลุ่มเด็กที่ธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดดีแต่อยู่ในสังคมที่ไม่ดีเปรียบเหมือน “เพชรในตม” จะพัฒนาเขาอย่างไร และกลุ่มเด็กพิเศษ เด็กพิการแต่อยู่ในสภาพสังคมที่ไม่ดีด้วยจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร

    การแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างส่วนกลางและชุมชนท้องถิ่น

    การบริหารจัดการศึกษาในทางปฏิบัติเป็นเรื่องของการสร้างความสมดุลระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น (ดังภาพที่ 9) การถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางไปท้องถิ่นโดยไม่มีแผนการดำเนินการที่ดีจะทำให้ระบบการศึกษามีปัญหา งานของส่วนกลางควรต้องทำเอง แต่งานบางอย่างเหมาะกับส่วนท้องถิ่นควรให้ท้องถิ่นดำเนินการ ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการได้ระดับหนึ่ง ภารกิจที่ส่วนกลางจะต้องทำคือ โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา เช่น การกำหนดมาตรฐาน กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนครู กองทุนเด็กเสมอภาค กองทุนนวัตกรรมทางการศึกษา กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา การส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมทางการศึกษา การเปิดโอกาสให้ทำ regulatory sandbox ในรูปแบบต่างๆ

    พวกเราอาจจะเหนื่อยล้ากับการปฏิรูปการศึกษาที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ต้องไม่ท้อถอย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดต้องผนึกกำลังกัน ร่วมกับขับเคลื่อน education transformation ทั้งระบบให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อสร้างเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังของชาติในการนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนในอนาคต