ThaiPublica > คอลัมน์ > แจกอะไรดี: คิดหน้าคิดหลังก่อนซ่อมการศึกษา (ตอนที่ 1)

แจกอะไรดี: คิดหน้าคิดหลังก่อนซ่อมการศึกษา (ตอนที่ 1)

17 มกราคม 2015


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ :  http://i.huffpost.com/gen/881733/thumbs/o-IPAD-GLASSES-facebook.jpg
ที่มาภาพ: http://i.huffpost.com/gen/881733/thumbs/o-IPAD-GLASSES-facebook.jpg

จะแจก iPad หรือแจกแว่นตา? จะให้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนหรือที่บ้าน? จะให้รางวัลครูตามความสามารถหรือให้รางวัลตามการไม่ขาดสอน? คำถามเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในสายตาของรัฐบาลและผู้บริหารโรงเรียนในประเทศกำลังพัฒนา

ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรและทรัพย์สินในจำนวนจำกัดกว่าประเทศที่เจริญแล้ว ต้องอย่าลืมว่ามีช่องทางอื่นๆ อีกมากมายนอกจากการศึกษาที่รัฐบาลสามารถกระจายเงินไปลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศและสังคมได้ ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนั้นก็ยังไม่มีความแน่ชัด ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ายิ่งประชากรเรียนมากขึ้นเรียนสูงขึ้นยิ่งทำให้เศรษฐกิจโตไวขึ้นจริงๆ หรือไม่ แต่ที่เรารู้แน่ๆ ขณะนี้คือคุณภาพของการศึกษาในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันมากแม้ว่าตัวเลขมาตรวัดการศึกษาโดยรวมจะดูดีขึ้น

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยควรจะคิดว่า ด้วยศักยภาพที่มีอยู่และแผนการพัฒนาประเทศแบบนี้ เราควรลงทุนกับนโยบายการศึกษาในรูปแบบไหน และทำการวิจัยนโยบายประเภทดังกล่าวอย่างจริงจังว่ามีผลต่อการเรียนรู้และรายได้ของเด็กๆ จริงๆ แค่ไหน

บทความนี้จะสรุปผลวิจัยจากงานวิจัยชั้นนำแบบย่อๆ ที่คัดมาจากบทความสรุปรวมผลวิจัยอีกที และแยกโครงการแต่ละประเภทออกเป็นหมวดหมู่ สำหรับตอนที่ 1 นั้นเราจะไปลองดูโครงการลดแลกแจกแถมในประเทศต่างๆ ว่ามีผลอย่างไรกัน

****หมายเหตุ: งานวิจัยที่คัดมาในที่นี้นั้นมีคุณภาพและความน่าเชื่อถือสูง ถือได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่มาจากโครงการและนโยบายจริง ไม่ได้มาจากตัวแปรอื่นๆ เช่น คุณลักษณะหรือฐานะของนักเรียนก่อนเริ่มโครงการ อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่าเราควรใช้วิจารณญาณก่อนนำผลวิจัยเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับกรณีของประเทศไทย เนื่องจากสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศและรายละเอียดของแต่ละโครงการนั้นไม่เหมือนกัน****

การลดค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียน

ที่มาภาพ :  http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/f3/Village_Children_going_to_School,_Madurai_SR.jpg
ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/f3/Village_Children_going_to_School,_Madurai_SR.jpg

แม้ว่าค่าเล่าเรียนโรงเรียนรัฐบาลแทบจะฟรีกันหมดทั้งโลกแล้ว ยังมีค่าใช้จ่าย “ลับ” ที่ผู้ที่วางแผนนโยบายอาจจะคาดไม่ถึง เช่น ค่าอาหารที่โรงเรียน ค่าชุดนักเรียน หรืออุปกรณ์การเรียนอื่นๆ

  • สร้างโรงเรียนให้ใกล้บ้านขึ้นDuflo (2004)
  • พบว่าการเปิดโรงเรียนประถมกว่า 60,000 โรงเรียนในอินโดนีเซียในสมัยปี ค.ศ. 1973 ทำให้วุฒิการศึกษาในหมู่เด็กๆ ในย่านพวกนี้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.2 ปี ส่วน Burde and Linden (2012) พบว่าการเปิดโรงเรียนในระดับหมู่บ้านในอัฟกานิสถานสามารถเพิ่มอัตราการลงทะเบียนเรียนได้ถึง 47%

  • แจกจักรยานให้นักเรียนหญิงMuralidharan and Prakash (2013)
  • พบว่าการแจกจักรยานให้กับนักเรียนหญิงในระดับมัธยมในประเทศอินเดียสามารถทำให้เพิ่มอัตราลงทะเบียนเรียนในนักเรียนหญิงได้ถึง 30% และลดความต่างระหว่างอัตรานี้ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงถึง 40%

  • แจกชุดนักเรียน – Evans et al. (2008)
  • พบว่าการแจกชุดนักเรียนให้กับเด็กประถมในประเทศเคนยานั้นสามารถลดการขาดเรียนได้โดยเฉลี่ยถึง 44% และสามารถลดลงได้ถึง 67% สำหรับนักเรียนที่ไม่มีชุดนักเรียนก่อนที่โครงการนี้จะเริ่มขึ้น (แถมเพิ่มคะแนนสอบได้ประมาณ 0.25 SD หนึ่งปีให้หลัง)

  • แจกแว่นตาGlewwe et al. (2012)
  • พบว่าการแจกแว่นตาในประเทศจีนทำให้คะแนนสอบดีขึ้นประมาณ 0.15 ถึง 0.22 SD และมีผลมากขึ้นไปอีกสำหรับนักเรียนที่เรียนได้ไม่ค่อยดีก่อนแจกแว่นตา งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเพราะว่าแว่นตามีต้นทุนที่ต่ำกว่า iPad หรือคอมพิวเตอร์มาก เว็บไซต์ Freakonomics มี podcast เกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ด้วย (Paul Glewwe เป็นอาจารย์ของผู้เขียนและเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์นโยบายการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนามากที่สุดคนหนึ่งของโลก หากผู้อ่านมีคำถามเพิ่มเติมสามารถคอมเมนต์ด้านล่างแล้วผู้เขียนจะแวะไปถามอาจารย์ให้ได้ครับ)

  • แจกยารักษาโรค – ผลการวิจัยจากหลายๆ งานขัดกันและยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีผลกับการเรียนรู้หรือไม่
  • การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนรู้

    ที่มาภาพ :  http://pixabay.com/en/family-together-parenting-lifestyle-492891/
    ที่มาภาพ: http://pixabay.com/en/family-together-parenting-lifestyle-492891/

    ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ปกครองที่มีฐานะทางการเงินไม่ค่อยดีมักไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไรให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทำให้โอกาสของเด็กๆ นั้นถูกจำกัด อันนี้ผู้เขียนคิดว่าน่าเป็นห่วงเพราะว่าปัญหานี้จะทำให้สังคมเหลื่อมล้ำและแบ่งแยกกันเข้าไปใหญ่สำหรับประเทศที่คนรวยได้เปรียบคนจนมากเกินไป งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นและทำให้เด็กๆ เหล่านี้สามารถโตขึ้นไปแข่งกับเด็กกลุ่มที่โชคดีกว่าได้มากขึ้น

  • ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพโรงเรียนAndrabi et al. (2009)
  • วัดผลจากโครงการที่ให้ข้อมูลคุณภาพโรงเรียนในประเทศปากีสถานแก่บรรดาพ่อแม่เด็ก ป.3 พบว่ามีผลทำให้โรงเรียนแข่งขันกันเพิ่มคุณภาพและลดค่าเล่าเรียนมากขึ้น คะแนนสอบดีขึ้น 0.1 SD โรงเรียนเอกชนมีผลมากกว่าโรงเรียนรัฐบาล ผู้เขียนคิดว่าข้อมูลคุณภาพโรงเรียนในประเทศไทยนั้นหายากเกินไปและมักเป็นเรื่องชื่อเสียงที่เล่าขานกันมานานและการเล่าแบบปากต่อปากมากกว่า บางครั้งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าที่โรงเรียนฟังดูดีเป็นเพราะเด็กที่เข้าไปเก่งหรือโรงเรียนเก่งในการผลิตเด็กเหมือนกัน

  • ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก Gertler et al. (2013)
  • ทำการวัดผลโครงการระยะยาวในประเทศจาไมกาที่ให้คนจาก community health workers ไปเยี่ยมตามบ้านอาทิตย์ละหนึ่งชั่วโมงเป็นเวลาสองปีเพื่อสอนวิชา parenting skills ให้กับพ่อแม่ที่ยากจนและมีลูกที่อยู่ในสภาวะ “stunted growth” เพื่อที่จะให้เด็กๆ มีการเติบโตทางสมองและทางบุคลิกภาพที่ดีขึ้น จากการติดตามโครงการนี้กว่า 20 ปีให้หลังพบว่าโครงการนี้สามารถเพิ่มรายได้ของเด็กที่อยู่ในโครงการนี้ได้ถึง 25% อีกทั้งยังทำให้รายได้ของเด็กเหล่านี้ตามทันรายได้ของเด็กกลุ่มที่ไม่ได้เคยมีสภาวะ “stunted growth” เลยทีเดียว

    การแจกคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์

    ที่มาภาพ : http://pixabay.com/en/baby-boy-child-childhood-computer-84627/
    ที่มาภาพ: http://pixabay.com/en/baby-boy-child-childhood-computer-84627/

    มีหลายโครงการทั่วโลกที่ทำการแจกจ่ายคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ทว่างานวิจัยหลายงานพบผลที่ไม่ตรงกัน ยังสรุปไม่ได้ว่ามีผลดีจริงหรือไม่

  • ติดตั้ง refurbished คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน Barrera-Osorio and Linden (2009)
  • พบว่าการติดตั้งคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนและการให้ครูสอนการใช้งานซอฟต์แวร์เพื่อช่วยการอ่านหนังสือนั้นไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้นกับคะแนนสอบ ไม่มีผลต่อคะแนนสอบแม้กระทั่งวิชาเดียว สาเหตุหลักเป็นเพราะว่าครูไม่ได้นำสิ่งที่รัฐบาลให้ทั้งหมดนี้ไปผนวกกับการเรียนการสอนปกติ

  • One laptop per child – Cristia et al. (2012)
  • พบว่าการแจก laptop กับ e-book ที่เหมาะสมกับวัยในย่านยากจนในประเทศเปรูนั้นเพิ่มความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์แต่ไม่มีผลต่อคะแนนเลขกับการอ่าน

  • ให้เงินไปซื้อคอมพิวเตอร์ของตนเอง – Malamud and Pop-Eleches (2011)
  • พบว่าโครงการล็อตเตอรี่แจกเงินให้เด็กๆ เอาไปซื้อคอมพิวเตอร์ในประเทศโรมาเนียมีผลทำให้เด็กๆ มีคะแนนสอบวิชาการใช้คอมพิวเตอร์ดีขึ้นมากแต่ผลสอบวิชาหลักๆ กลับแย่ลง สาเหตุหลักคือเด็กๆ ไม่ได้เอาคอมพิวเตอร์ที่ซื้อใหม่ไปใช้เกี่ยวกับการเรียนแต่เอาไปเล่นเกมกันเสียมากกว่า ทำให้ไม่มีเวลาว่างพอไปอ่านหนังสือทบทวนวิชาหลักๆ ที่แย่กว่านั้นคือทักษะคอมพิวเตอร์ที่เด็กได้รับนั้นอาจไม่ส่งผลพลอยได้ต่อทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ชนิดอื่นๆ นอกจากชนิดที่แจก Beuermann et al. (2013) พบว่าโครงการที่แจก OLPC laptop ในประเทศเปรูนั้นแม้ว่าจะทำให้เด็กๆ สอบทักษะการใช้ OLPC laptop ได้ดีขึ้น แต่กลับไม่ทำให้ทักษะในการใช้ Windows หรือการใช้อินเทอร์เน็ตคล่องขึ้นแต่อย่างใด!

    การแจกอุปกรณ์การเรียนการสอน

    ที่มาภาพ : http://pixabay.com/en/portrayal-portrait-baby-face-mood-89193/
    ที่มาภาพ: http://pixabay.com/en/portrayal-portrait-baby-face-mood-89193/

    แม้ว่าการแจกอุปกรณ์หรือสื่อการเรียนการสอนจะเป็นที่นิยมกันอย่างมาก งานวิจัยพบว่าโครงการเหล่านี้มีผลที่ไม่แน่ไม่นอน ที่พอจะเข้าใจได้คือสิ่งเหล่านี้จะช่วยการเรียนรู้ก็ต่อเมื่อมันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นในห้องเรียนเท่านั้น

  • แจกหนังสือเรียน Glewwe et al. (2009)
  • วิจัยผลการแจกหนังสือเรียนในประเทศเคนยา ไม่พบผลใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับเด็กนักเรียนปกติ จะไปมีผลดีก็สำหรับนักเรียนที่เรียนเก่งอยู่แล้วเท่านั้น สาเหตุคือนักเรียนส่วนมากอ่านภาษาอังกฤษที่อยู่ในหนังสือเรียนไม่ออก ซึ่งภาษาอังกฤษนั้นเป็นภาษาราชการของประเทศเคนยาแต่ไม่ใช่ภาษาแรกเกิดของเด็กๆ เหล่านี้

  • เปิดห้องสมุดและบริการส่งบรรณารักษ์ถึงที่ – Borkum et al. (2012)
  • พบว่าการเปิดห้องสมุดเพิ่มขึ้นและให้บรรณารักษ์เพิ่มความถี่ในการไปเยี่ยมเยียนเพื่อนำเด็กๆ ในคาบอ่านหนังสือในประเทศอินเดียนั้นทำให้นักเรียนไปใช้งานห้องสมุดมากขึ้นแต่ไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ ต่อทักษะทางภาษาของนักเรียน นักวิจัยเหล่านี้ยังพบอีกว่าการส่งบรรณารักษ์ไปเยี่ยมเยือนนั้นกลับทำให้คะแนนแย่ลง เพราะว่าโรงเรียนต้องสละเวลาการเรียนการสอนวิชาการอ่านเพื่อให้มาพบกับบรรณารักษ์

  • แจก flipcharts (แผ่นพลิก)Glewwe et al. (2004)
  • วิเคราะห์ผลจากโครงการแจกแผ่นพลิกในประเทศเคนยา โดยแผ่นพลิกพวกนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ วิทยาศาสตร์ คู่มือครูสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแผนที่แอฟริกาตะวันออกแปะผนัง พบว่านักเรียนในห้องที่ได้แผ่นพลิกไม่ได้ทำคะแนนได้ดีไปกว่านักเรียนในห้องที่ไม่ได้รับแผ่นพลิกเลย ทั้งๆ ที่ครูเกือบทุกคนในโครงการทราบว่ามีแผ่นพลิก ใช้แผ่นพลิก บอกว่าแผ่นพลิกพวกนี้มีประโยชน์ และใช้แผ่นพลิกเพื่อช่วยการเรียนการสอนกว่า 10-20% ของเวลาทั้งหมด จากการสอบถามภายหลัง คาดว่าสาเหตุคือครูเหล่านี้อาจไม่มีความรู้ว่าจะนำอุปกรณ์เหล่านี้มาพัฒนาการเรียนการสอนได้ดีที่สุดอย่างไร

    สรุปตอนที่ 1

    ผลวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เราเห็นว่า การพัฒนาการศึกษานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อะไรที่นึกว่าดีบางทีกลับไม่ดี ยิ่งไปกว่านั้น อะไรที่มีผลดีในบางโรงเรียน (เช่น ห้องเรียนขนาดเล็ก) อาจไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้นในโรงเรียนอื่น ไม่สามารถสุ่มสี่สุ่มห้าทุ่มเงินเข้าไปในระบบการศึกษาหรือใช้สัญชาติญาณอย่างเดียวได้ สัญชาติญาณเรามักจะผิดเพราะว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนกว่าที่เราคิด ในห้องเรียนที่มีผู้ใหญ่หนึ่งคนและมีคนตัวเล็กๆ อีกกว่า 30 คน มันมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีตัวแปรบางตัวที่หลุดรอดสายตาและสัญชาติญาณของเราไปได้ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการวัดผลและการวิจัยโครงการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพและไม่ลำเอียง จะได้ทราบกันให้ทั่วว่าโครงการแบบไหนสิ้นเปลืองและโครงการแบบไหนที่ดีจริงและน่าสนับสนุนต่อไป

    หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2557