ThaiPublica > เกาะกระแส > สกพอ.จัด 200 หลักสูตร พัฒนาบุคลากรในอีอีซี-บัณฑิตจบใหม่ 10,000 คน

สกพอ.จัด 200 หลักสูตร พัฒนาบุคลากรในอีอีซี-บัณฑิตจบใหม่ 10,000 คน

19 พฤษภาคม 2020


เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน อาคารอุดมศึกษา

สกพอ.จับมือกระทรวงอุดมศึกษา-คณะกรรมการการอาชีวะศึกษา-กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัด 200 หลักสูตร พัฒนาบุคลากรในอีอีซี-บัณฑิตจบใหม่ 10,000 คน บรรเทาผลกระทบแรงงานถูกเลิกจ้าง

ภาพหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล ครั้งที่ 1/2563 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต และการท่องเที่ยว คาดว่าเศรษฐกิจของภาคตะวันออกน่าจะหดตัว 8% และในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 100,000 คน และเพื่อเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น วันนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้มอบนโยบายให้ สกพอ. ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ,สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น หรือที่เรียกว่า “Short Course” ตามแนวทางอีอีซี โมเดล โดยให้ สกพอ.เป็นเจ้าภาพนัดผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 500 แห่ง หารือ เพื่อจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ รวมทั้งหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานร่วมกัน

“สาเหตุประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ติดลบ 8% สูงกว่า GDP ของประเทศที่คาดว่าจะติดลบไม่เกิน 5.5% เนื่องจาก EEC เป็นพื้นที่มีการลงทุนหนาแน่น อย่างเช่น พัทยาเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน ตอนนี้ไม่มีเลย ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ก็ปรับลดกำลังการผลิตลง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีแรงงานในพื้นที่อีอีซีถูกเลิกจ้าง รวมทั้งบัณฑิตจบใหม่หางานทำไม่ได้กว่า 1 แสนคน” ดร.คณิศ กล่าว

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สพกอ.

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมมาตรการรองรับปัญหาการว่างงานไว้แล้วประมาณ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างงานในชนบท โดยการว่าจ้างแรงงานที่เดินทางกลับบ้านเข้าทำงานในพื้นที่ , โครงการจ้างบัณฑิตจบใหม่ออกสำรวจและเก็บข้อมูลต่างๆให้กับส่วนราชการ และโครงการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรม เพิ่มทักษะฝีมือให้กับแรงงานและนักศึกษา ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอีอีซีนั้น ทางสกพอ.ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานตามที่กล่าวข้างต้น จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเอาไว้แล้ว ในเบื้องต้นมี 48 หลักสูตร อาทิ หลักสูตร Smart Farming , Digital Platform ,Logistic Plaform , Smart tourism , หลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น จากนั้นสกพอ.จะไปสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 500 แห่ง เพื่อนำมาพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว 48 หลักสูตร เพิ่มเป็น 200 หลักสูตรให้ได้ภายใน 3 เดือน ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีในการพัฒนา หรือ เพิ่มทักษะความรู้ให้แรงงาน หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิคฯไปแล้วจะได้ไม่มีปัญหาขาดแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงอีก สำหรับโครงการพัฒนาบุคลากรในอีอีซีหลักๆจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1.โครงการพัฒนาบุคลากรใน EEC ตามความต้องการของผู้ประกอบการ หรือ “Demand Driven” มีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้

  • ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรใน อีอีซี ใช้ EEC Model Type A และ EEC Model Type B เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาบุคลากรใน อีอีซี และให้ คณะทำงานศูนย์ประสานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC-HDC) เป็นผู้ประสานงานและรายงานให้ กพอ. ทราบในการประชุมครั้งต่อไป
  • ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (สป.อว.) ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ได้รับปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (Degree) เป็นแบบ EEC Model Type A ให้มากที่สุด โดยให้ EEC-HDC ประสานงานโครงการความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative Work Integrated Education : CWIE) และหาแนวทางและเป้าหมายเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
  • ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) ที่ได้รับงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 เร่งรัดการจัดทำหลักสูตรและประสานพลังเอกชนเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย 30,000 คน โดยให้ EEC-HDC เป็นผู้ประสานงานหลัก

2.โครงการขยายกรอบความร่วมมือเพิ่มการพัฒนาบุคลากรในอีอีซีระหว่างหน่วยงาน ประกอบไปด้วย

2.1 ความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  • ผลักดันให้สถาบันอาชีวศึกษาในภาคตะวันออก จำนวน 12 สถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งมีกำลังการผลิตนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) รวมปีละ 8,200 คน เป็นรูปแบบ EEC Model Type A ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของผู้สำเร็จการศึกษา ปวส. ในปี 2566 (ดำเนินการแล้วประมาณ 1,500 คน ต้องการเพิ่ม 7,000 คน)
  • ขยายจำนวนนักศึกษาที่เข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้น (short course) โดยรัฐเอกชนร่วมจ่าย 50:50 ให้ได้ 20,000 คน ในปีงบประมาณ 2564
  • ให้ขยายผลการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษากับเนื้อหา (Content and Language Integrated Learning – CLIL) กับการเรียนการสอนกลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งผู้สอนในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ นำภาษาอังกฤษไปสอดแทรกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ภาษาอังกฤษเฉพาะทางได้ เน้นให้ผู้เรียนรู้จักและใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่พบในวิชาชีพ และสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว

2.2 ความร่วมมือระหว่าง สกพอ.กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  • ให้หน่วยฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานใน อีอีซี เช่น สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) ทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น ทั้งการฝึกอบรม Res kill Up skill New skill ในหลักสูตรอบรมระยะสั้น (short course)
  • กรมพัฒนาฝีมือแรงงานสร้างหลักสูตรอบรมระยะสั้น (short course) รัฐเอกชน ร่วมจ่าย 50:50 และเป็นแกนนำประสานภาคอุตสาหกรรมเชื่อมต่อการศึกษา และฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงาน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

2.3 ความร่วมมือระหว่าง สกพอ.กับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) มีแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  • เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาตามแนวทาง Demand Driven โดยบูรณาการ การจัดการศึกษาในรูปแบบ EEC Model และ ความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative Work Integrated Education : CWIE) ให้สามารถพัฒนากำลังคนได้ตรงความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตมากที่สุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
  • กำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนสถานศึกษาที่จัดการศึกษาตามแนวทางดังกล่าว และให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนที่ร่วมผลิตบัณฑิตเพื่อเป็นการจูงใจเป็นพิเศษ
  • ขอให้ สป.อว. เร่งขยายจำนวนหลักสูตร CWIE ตามแนวทาง EEC Model Type A เพื่อรองรับ ความต้องการบุคลากรของ อีอีซี ให้ได้ 100,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี