ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” เปิดแนวคิด ปั้นเยาวชนรับโลกใหม่ อยู่กับโลกอย่างปกติสุข อยู่กับเพื่อนอย่างมีความสุข

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” เปิดแนวคิด ปั้นเยาวชนรับโลกใหม่ อยู่กับโลกอย่างปกติสุข อยู่กับเพื่อนอย่างมีความสุข

28 กันยายน 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดการประชุมมหกรรมการศึกษาไทย “Education in Thailand” โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การศึกษาไทยหลังโควิด-19 ว่า หลักการศึกษาไทยหลังโควิด-19 คือความสมดุลระหว่างความเป็นพลเมืองไทยกับความเป็นพลเมืองโลก และถึงเวลาที่จะต้องมาทบทวนกระบวนทัศน์ยุทธศาสตร์การศึกษาไทยในโลกยุคหลังโควิด ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย 2 ประการ

ความท้าทายประการแรก คือ แรงกดดันจากภายนอก โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เรากำลังเผชิญกับ 3 ระลอกคลื่นดิสรัปชัน (3 waves of disruption)

ระลอกแรกแรกคือ กระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียว ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า หนึ่งโลก หนึ่งระบบเศรษฐกิจโลกร่วม (one world one economy) เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทไม่เฉพาะสินค้าบริการ แต่รวมถึงทุนมนุษย์ เรากลายเป็นพลเมืองโลกโดยปริยาย

คำถามคือเราจะสร้างความสมดุลของเด็กและเยาวชนไทย ให้เป็นพลเมืองไทยพร้อมกับการเป็นพลเมืองโลกได้อย่างไร

มันเป็นเรื่องของความสมดุล เรื่องของความพอดี เป็นเรื่องเอกลักษณ์ของความเป็นไทยว่าจะอยู่ร่วมกับเอกภาพของการเป็นประชาคมโลกอย่างไร ระบบการศึกษาไทยจะสามารถถักทอให้เกิดความสมดุลในบทบาททวิพลเมืองของคนไทยเราได้อย่างไร

ระลอกคลื่นที่สอง ที่รุนแรงมาก คือ เทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย เทคโนโลยีทุกวันนี้เหมือนดาบสองคม เป็นได้ทั้ง Harmful กับ Helpful

ทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนของเราเรียนรู้อย่างฉลาดในการใช้เทคโนโลยี มีความสมดุล ความพอดี ระหว่างปัญญามนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ (AI — artificial intelligence)

เพราะถ้าไม่สามารถพัฒนาคนของเราให้ดีพอ มีโอกาสที่เครื่องจักรอัตโนมัติจะมาทดแทนการทำงานของคน มีโอกาสที่เทคโนโลยีทำให้เกิด career disruption ทำให้ต้องมีการยกระดับทักษะเดิม และพัฒนาทักษะใหม่ การที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับ coding nation และ STEM จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะจะทำให้เราสามารถอยู่กับเทคโนโลยีได้

ระลอกคลื่นที่สาม คือ การต้องเผชิญกับวิกฤติต่างๆ ทุกวันนี้เราอยู่ใน 1 โลก 1 ชะตากรรมร่วม (one world one destiny) สุขก็สุขด้วยกัน ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน เช่น เรื่องโควิด-19 แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือวิกฤติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (climate disaster) เพราะในขณะที่โควิดเรามีวัคซีน เรามีภูมิคุ้มกัน แต่ climate disaster ไม่มีวัคซีนหรือภูมิคุ้มกัน

ความท้าทายประการที่สอง คือ ปัญหาเรื้อรังจากภายใน โดยเฉพาะ “แนวคิดที่ไม่ถูกต้องของคนไทย” ที่หากยังดำเนินแบบนี้ต่อไป โอกาสที่จะสอดรับกับพลวัตโลกจะยากยิ่ง

โดยเฉพาะโลกหลังโควิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเน้นผลประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม เรียกร้องสิทธิมากกว่าหน้าที่ ชอบความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง ชิงสุกก่อนห่ามมากกว่าจะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหาสาระ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เน้นสายสัมพันธ์มากกว่าเนื้อหา

ในฐานะของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นเจ้าภาพหลักที่สำคัญ ต้องช่วยปรับเปลี่ยนหลักคิดที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ เพราะส่วนหนึ่งมาจาก “ความบกพร่องในระบบการศึกษาไทย” ในอดีตที่ผ่านมาที่เน้นผู้สอนมากกว่าให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นการสอนมากกว่าการเรียนรู้ ให้จำมากกว่าการเปิดให้เขารู้จักคิด เน้นปรุงสำเร็จมากกว่าการเป็นเชื้อกระตุ้นให้เขาไปคิดต่อ เน้นการลอกมากกว่าการสร้างสรรค์ เน้นการสร้างความเป็นตนมากกว่าความเป็นคน จึงนำมาสู่การเอาตัวเองมากกว่ายึดส่วนรวมเป็นศูนย์กลาง

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า แรงกดดันจากภายนอกทั้ง 3 disruptions บวกกับปัญหาเรื้อรังจากภายใน ถ้าไม่เตรียมการให้ดีจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหนักหน่วงมากขึ้น จึงต้องแก้ไขเรื่อง “ความเท่าเทียม” ทางการศึกษา คู่ไปกับ “คุณภาพ” การศึกษา เพราะถ้าความเท่าเทียมดีแต่คุณภาพไม่ดี ไม่มีประโยชน์ คุณภาพดีแต่ไม่มีความเท่าเทียมก็จะสร้างปัญหา นี่คือความสมดุล ความพอดีของสองสิ่ง ที่ในที่สุดจะนำไปสู่โอกาสการเข้าถึงศึกษา เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และยังเติมเต็มความสามารถ ตอบโจทย์ภาพใหญ่ของประเทศ เป็นการเดินหน้าไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมกับการมีความสามารถในการแข่งขันในประชาคมโลก

ดังนั้น เมื่อโจทย์คือ disruptions คำตอบคือ education transformation เพื่อให้สามารถรับมือกับ disruptions และปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้น กระทรวงศึกษาธิการมีการผลักดันการปฏิรูปมาโดยตลอด และต้องปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เหมือนจีนที่ปฏิรูปมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้

ดร.สุวิทย์ได้นำเสนอ 7 ขยับปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์การศึกษาไทยหลังโควิด (7 Major Shifts for Education Transformation) เพื่อเตรียมเด็กและเยาวชนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 สอดรับกับพลวัตโลก

ขยับแรก คือ โลกที่พวกเราอยู่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พวกเราชอบไปเอาแนวคิดต่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21 จริงๆ แล้วต้องเริ่มที่ mindset แล้วค่อยพูดถึง skill set ทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนมีกรอบความคิดที่ถูกต้อง เมื่อ mindset เขาถูกต้อง เขาจะเรียกหา skill set เอง

ขยับที่สอง คือ การท่องโลกกว้าง เรียนรู้เชิงประจักษ์ การเรียนรู้แต่ในห้องเรียน ในโรงเรียนและในระบบ อาจยังจำเป็นอยู่ แต่ต้องเติมเต็มด้วยการเรียนรู้นอกโรงเรียน นอกห้องเรียน นอกระบบมากขึ้น

ต้องเปลี่ยนแนวคิดจาก my school is my world เป็น my world is my school

คือทำให้เด็กมองกว้างขึ้น เด็กในชนบทต้องรู้ว่าเด็กในเมืองคิดอ่านอย่างไร เด็กในเมืองก็ต้องตระหนักและรับรู้ว่าเด็กในชนบทคิดอ่านอย่างไร เป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะ เรียนรู้ประสบการณ์ ทำให้มุมมองของเด็กกว้างขึ้น

ขยับที่สาม เติมเต็มศักยภาพ มุ่งเรียนสิ่งที่ชอบ ทำสิ่งที่ใช่ เพราะโลกอนาคตเป็นโลกที่ growth for people ไม่ใช่ people for growth อีกต่อไป ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนมุ่งเรียนสิ่งที่ชอบ และทำสิ่งที่ใช่ หลักสูตรการเรียนการสอน 8 หมวดวิชายังจำเป็น แต่ต้องไม่แข็งทื่อแบบเดิม ในอนาคตเพื่อมุ่งสู่การให้เด็กสามารถทำงานได้ เป็นพลเมืองที่ดีได้ ต้องเริ่ม personalized education เพราะเมื่อเด็กได้เรียนสิ่งที่ชอบ ทำสิ่งที่ใช่ เขาจะทำได้ดี จะก่อเกิดเป็น passion เป็น purpose เขาจะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ไม่เฉพาะตัวเอง แต่กับคนอื่นด้วย

ขยับที่สี่ ผนึกกำลัง ร่วมรังสรรค์ ในศตวรรษก่อนๆ ครูเป็นที่รวมศูนย์ขององค์ความรู้ แต่จากนี้ไปไม่ใช่แล้ว ครู ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง ต้องมาคุยกันเพื่อค่อยๆ ปั้นเด็กแต่ละคนขึ้นมา เรียกว่าเป็นพันธมิตร หรือหุ้นส่วนของการศึกษา การเรียน

ขยับที่ห้า การรับมือกับการเรียนตลอดชีวิต โลกในอดีตเราจะมี 3 ช่วง คือ เรียน ทำงาน เกษียณ ดำรงชีวิต แต่โลกอนาคตคนไม่มีการเกษียณอีกแล้ว เพราะอายุยืนยาวขึ้น ต้องทำงานมากขึ้น หรือช่วงระหว่างทำงานถูกดิสรัปต์ตลอด ก็ต้องเรียนตลอด กลายเป็นวงจร เรียนเพื่อทำงาน ทำงานเพื่ออยู่รอด จะอยู่รอดได้ต้องเรียน เพื่อไปทำงานต่อ การศึกษาจะจัดหลักสูตรอย่างไรที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงนี้ได้

ขยับที่หก เตรียมพร้อมการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ อย่างโควิดทำให้ต้องเรียนออนไลน์แทนออนไซต์ แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างเป็นเรื่องการผสมผสาน โควิดจะอยู่กับยาวหรือไม่ ไม่รู้ แต่ออนไลน์กับออนไซต์มันเสริมซึ่งกันและกัน ไม่ใช่พอโควิดคลี่คลายจะเรียนออนไซต์หมด เพราะออนไลน์เปิดโลกกว้างกว่า แต่การเรียนออนไซต์ได้ความลึกกว่า สองสิ่งนี้เป็นความพอดี ความลงตัว ขึ้นกับว่าจะเสริมกันอย่างไรภายใต้การเรียนแบบผสมผสาน (hybrid education)

ขยับที่เจ็ด คือ เสริมสร้างปัญญามนุษย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ AI ต้องไม่ใช่เป็นตัวนำ แต่เป็นตัวเสริมปัญญามนุษย์ เราจะจัดระบบการศึกษาอย่างไรให้ปัญญามนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์เสริมกันในทิศทางที่ก่อให้เกิด collaborative intelligence ซึ่งสุดยอดมาก เพราะอุดช่องว่าง ช่องโหว่ อุดจุดด้อยของความเป็นมนุษย์ และเติมเต็มด้วยเทคโนโลยีไปพร้อมกัน

ทั้งหมดนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ เปลี่ยนกรอบความคิด เปลี่ยน mindset ก่อน จากเดิมเรียนเพื่อควบคุมธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่สร้างประโยชน์มากมาย แต่ส่งผลข้างเคียงมากมายเช่นกัน จนเกิดเป็นวิกฤติต่างๆ โจทย์ใหญ่ คือความสมดุล ความพอดี ทำอย่างไรจะเปลี่ยนจากการพยายามควบคุมธรรมชาติ ไปสู่การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน

ต่อมาคือ แทนที่จะสอนให้คนแข่งกัน ระบบการศึกษาต้องหล่อหลอมต้องสอนให้คนอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ที่ผ่านมาทั้งโลกเคยผิดพลาดจากการอยู่ในความทันสมัย สร้างกฎกติกาให้แข่งขันกัน แต่ ณ วันนี้เราอยู่ในโลกของความยั่งยืนที่ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้ อยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้

การศึกษาไทยจึงไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาหลักสูตรอย่างเดียว แต่ปรัชญาการศึกษาต้องแปลงออกมาในทิศทางทำให้เด็กที่เคย “ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง” มาเป็น “ยึดโลกเป็นศูนย์กลาง” ด้วยความพอดี ความลงตัว คือยึดโลกเป็นศูนย์กลางแล้วลงมาที่ไทย ทำอย่างไรที่จะให้มีเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยและมีความเป็นเอกภาพกับโลก และต้องปลดล็อกเยาวชนที่มองโลกมืดมัว ไร้อนาคต ให้มองเป็นโลกที่เต็มไปด้วยโอกาส มีความเป็นไปได้ ซึ่งเป็น growth mindset มองเห็นวิกฤติ แต่ก็เห็นโอกาส มองเชิงบวกเพื่อเดินหน้าต่อไป มีความยืดหยุ่น ทำอย่างไรให้ egocentric เป็น ecocentric มองตัวเองเป็นการมองโลกมากขึ้น ขับเคลื่อนโลกด้วยปัญญามนุษย์ สร้างความเติบโตอย่างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความเป็นมนุษย์ คิดถึงการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม แทนที่จะเรียนให้เก่งเพื่อควบคุมสั่งการคนอื่น เป็นการเรียนเพื่อเกื้อกูลและแบ่งปันซึ่งกันและกัน

“ต้องทำให้เยาวชนเชื่อว่าเขามีพลัง มีศักยภาพมากกว่าที่เขาคิด ถ้าระบบการศึกษาไปกดทับเขา ตีกรอบเขา เขาจะไม่สามารถปลดปล่อยสิ่งเหล่านี้ได้ เขาจะดำรงชีวิตอยู่บนข้อจำกัด แทนการหลุดพ้นจากข้อจำกัด เราต้องทำให้เขามีความฝัน คิดการณ์ใหญ่ได้ แต่เป็นการคิดการณ์ใหญ่เพื่อทั้งโลก เพื่อสังคม นอกจากตัวเอง”

“และมองโลกในเชิงบวก เพราะวิกฤติจะมาอีกมาก แต่ทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ จะทำได้ถ้าเด็กและเยาวชนต้องหลุดพ้นจากข้อจำกัด สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือข้อจำกัดทางความคิด ซึ่งมาจากการที่ครู หรือพ่อแม่ไปครอบเขา ไปตีกรอบให้เขาเดิน ถ้าเขาหลุดพ้นได้ บวกกับการคิดเชิงบวก โลกทั้งใบจะดีขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน”

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ถึงคุณค่าและเสน่ห์ของความหลากหลาย ความเป็นคนเมือง กับความเป็นคนชนบท ความเป็นคนปกติกับคนพิการ ความเป็นคนได้โอกาสกับด้อยโอกาส ที่ไม่มีความแตกต่างในความเป็นมนุษย์ ทั้งหมดนี้ขึ้นกับการเห็นคุณค่าของความหลากหลายและการเคารพในความแตกต่าง เป็นความสวยงามไม่ใช่ความขัดแย้ง ไม่ใช่ความแตกแยกอย่างที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ การทำให้เขารู้สึกถึงชีวิตที่สมดุล มีความปกติสุข จะทำให้เขาอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ ไปข้างหน้าก็ได้ เจอสิ่งที่ท้าทายก็รับได้

“โควิดอาจจะมีอีกหลายระลอก เราหยุดคลื่นเหล่านี้ไม่ได้ แต่ต้องให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ที่จะโต้คลื่นได้ ฉะนั้น เขาต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ไปถึงการเรียนรู้เรื่องเดิมในบริบทใหม่”

เช่นเดียวกับเรื่อง unthink และ rethink ชวนให้เด็กคิดเรื่องใหม่ๆ ไม่ติดยึดกับวิธีคิดเดิม และทบทวนความคิดเดิมด้วยมุมมองใหม่ พร้อมกับเรื่อง do , undo และ redo คือการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ไม่ติดยึดกับประสบการณ์เดิม รวมทั้งทำเรื่องเดิมด้วยวิธีการใหม่ โดยสร้างระบบนิเวศน์การเรียนใหม่ (learning ecosystem) ทำให้เด็กและเยาวชนได้ปลดปล่อยพลัง บนโจทย์ที่ท้าทายร่วมกัน กระตุ้นต่อมขี้สงสัยของพวกเขา เพราะโลกอนาคตต้องท่องโลกอีกมาก ทั้งโลกจริง และโลกเสมือน

“เมื่อเขาสำรวจสืบค้นได้ เขาจะต้องทดลองปฏิบัติได้ ให้เขากล้าที่จะฝัน ลองถูกลองผิดได้ และกล้าที่จะรับความล้มเหลวได้ ไม่เช่นนั้นเราจะสร้างผู้ประกอบการขึ้นมาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจหรือผู้ประกอบการทางสังคม ผู้ประกอบการไม่ได้มีแต่ด้านความสำเร็จ เมื่อมีการทดลองปฏิบัติ มีความผิดพลาด ก็มีบทเรียน หรือนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีกว่าเดิม หรือเป็นแนวปฏิบัติใหม่ที่เกิดขึ้น สุดท้าย คือการแลกเปลี่ยน แบ่งปันกับคนอื่น สร้างวัฒนธรรม free to take และ free to share เป็นวัฒนธรรมที่จะรังสรรค์นวัตกรรมต่างๆ มากมาย ฉะนั้น การท่องโลก เท่ากับเปลี่ยนโลกจินตนาการไปสู่โลกความเป็นจริง”

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า หน้าที่ของผู้ใหญ่ คือ สร้างบรรยากาศ ใจกว้าง ยอมรับความหลากหลาย และเคารพความแตกต่าง เชื่อมโยงโรงเรียนกับครอบครัว กับชุมชน กับสังคม ซึ่งแนวคิดเดิมของกระทรวงศึกษาฯ ที่มีอยู่นั้นดีอยู่แล้ว คือ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) เพียงแต่ขยาย บวร ในโลกศตวรรษที่ 21 ให้เยาวชนสามารถเผชิญกับปัญหา ความท้าทายต่างๆ เป็นการเตรียมมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21

ทั้งหมดนี้ จะทำให้เกิดวงจรใหม่ เริ่มจาก “รักที่จะเรียนรู้” (love to learn) บน mindset ที่ถูกต้อง โดยไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ประเด็น “รู้ที่จะเรียน” (learn to learn) ว่า เรียนไปทำไม เรียนอะไร เรียนอย่างไร เรียนรู้กับใคร กับเพื่อน กับครู กับพ่อแม่ หรือเรียนรู้กับคนในโลกกว้าง สุดท้ายหมุดหมายคือ “เรียนรู้เพื่อจะอยู่รอด” (learn to live) แต่ไม่ใช่อยู่รอดอย่างเดียว ต้อง “เรียนรู้ที่จะรัก” (learn to love) อยู่ร่วมกับคนอื่น มีความสมดุล ความพอดี ระหว่างความเป็นคนและความเป็นตน ความมีอัตลักษณ์ของตัวเอง พร้อมๆ กับความเป็นเอกภาพกับคนในสังคม

“นี่คือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากเดิมทั้งโลกถูกสอนให้เรียนเพื่ออยู่รอด ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง เน้นทักษะ ประสิทธิภาพ เน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน แต่โลกในอนาคต เป็นโลกที่มีทั้งเบรกและคันเร่ง เมื่อรักษาผลประโยชนตัวเองแล้วต้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมด้วย แทนที่จะมองเรื่องประสิทธิภาพ ก็เป็นเรื่องการเกื้อกูลแบ่งปันกันด้วย เรื่องผลสัมฤทธิ์ของงานก็จะมีการเคารพในกติกาของสังคม ทำให้สังคมของกู ของพวกกู (me society) กลายเป็นสังคมของพวกเรา (we society)”

อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นหน้าที่ครูฝ่ายเดียว แต่ครู ผู้ปกครองและเด็กต้องมาร่วมกันถักทอ และบทบาทของครู ของผู้ปกครอง ส่วนหนึ่ง คือการเฝ้าติดตาม (monitoring) เพราะเด็กอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต โลกออนไลน์ ที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ต้องคอยเฝ้าติดตาม รวมทั้งคอยแนะนำ ชี้แนะ (mentoring) แต่ไม่ใช่ ห้าม ห้าม ห้าม ต้องเป็น moral support คอย cheer up เขา กระตุ้นต่อมคิด ถ้าไม่มีแรงผลักดัน ก็ทำให้เกิดแรงผลักดัน มีแรงผลักดันแล้วจะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาให้ได้ ในการเติมเต็มศักยภาพ มุ่งเรียนสิ่งที่ชอบ ทำสิ่งที่ใช่นั้น ต้องปรับหลักสูตรไม่ใช่เน้นแต่เรื่อง academic discipline เพียงอย่างเดียว ต้องค่อยๆ สอดแรกด้วยการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีลักษณะเฉพาะตัว (personalized education) เพื่อประตุ้นให้เด็กและเยาวชนที่ไม่มี passion ให้มี passion และเด็ก เยาวชนที่มี passion แล้ว สามารถแปลง passion ให้เป็น purpose เพื่อสานฝันสิ่งที่เขาคิด ขยายผลสิ่งที่เขาทำ

เด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21 พวกเขาเหล่านี้ต้องการ และต้องเผชิญกับสิ่งท้าทาย (challenge) ต้องการการถูกยอมรับและการมีตัวตน (significance) และต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต (achievement) เพื่อให้ตอบโจทย์ดังกล่าว personalized education จึงเป็นการจัดหลักสูตรที่ไม่ใช่แค่ for-youth education แต่ต้องให้เด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมจัดหลักสูตร ทั้งการร่วมจัดหลักสูตร การเรียน การสอน (with-youth education) และการให้เยาวชนจัดหลักสูตรการเรียนการสอนกันเอง (by-youth education) ควบคู่ไปด้วย

ดร.สุวิทย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ใน Hybrid Education ที่ผสมผสานออนไลน์กับออนไซต์นั้น ต้องลงทุนในดิจิทัลแพลตฟอร์ม, ดิจิทัลคอนเทนต์ และรูปแบบการเรียนการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน ผู้สอน อย่างมีประสิทธิภาพ หากมี online education ที่มีคุณภาพและทั่วถึงจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการปรับเปลี่ยนจากการพัฒนาครูในเชิงปริมาณ มาสู่การพัฒนาครูในเชิงคุณภาพ โดยอาศัยช่วงเวลาที่จะมีครูเกษียณจำนวนมาก ในการผลิตครูพันธุ์ใหม่เข้าทดแทน ควบคู่กับการสร้างครูผู้เชี่ยวชาญที่มุ่งเน้นในการพัฒนาของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาเพียงอย่างเดียว ตลอดจนการพัฒนา master teacher เพื่อเป็น “ครูของครู” มาเป็นโค้ชของครูที่ยังไม่เก่งให้เก่งขึ้น

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ในเรื่องการเสริมปัญญามนุษย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ พวกเราต้องเข้าใจธรรมชาติ จุดเด่นและจุดด้อยทั้งปัญญามนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเอามาเสริมซึ่งกันและกัน (complement) มากกว่าเอามาทดแทนกัน (supplement) ยกตัวอย่างเช่น AI เก่งเรื่องการประมวลข้อมูลไปจนถึงการจัดการองค์ความรู้ แต่ปัญญามนุษย์จะพัฒนาองค์ความรู้ (knowledge) ต่อยอดเป็นปัญญา (wisdom) หรือ AI เก่งเรื่องความคิดแบบรวบยอด (convergent thinking) แต่ปัญญามนุษย์จะเก่งเรื่องการพัฒนาความคิดที่หลากหลาย (divergent thinking) เป็นต้น

ทั้ง 7 ขยับปรับเปลี่ยนการศึกษาไทยจะเติมเต็มศักยภาพและพัฒนาความสามารถที่หลากหลาย ตลอดจนการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กและเยาวชนของเรา

ดร.สุวิทย์ทิ้งท้ายไว้ว่า ศตวรรษที่ 21 ขับเคลื่อนโดยปัญญามนุษย์และเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยียังพอหาซื้อได้ แต่คนต้องสร้าง และหากสร้างคนที่มีคุณภาพได้ดีพอแล้ว คนเหล่านี้จะไปสร้าง พัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีเอง

“ไม่มีห้องว่างสำหรับฝันเล็กๆ ในระบบการศึกษาไทยครับ”

ดูเพิ่มเติม