ThaiPublica > คนในข่าว > คณะก้าวหน้ารณรงค์แคมเปญ ‘สว.ประชาชน’ 2567 สร้าง ‘บั๊ก’ ในระบบบล็อกโหวตของสว.

คณะก้าวหน้ารณรงค์แคมเปญ ‘สว.ประชาชน’ 2567 สร้าง ‘บั๊ก’ ในระบบบล็อกโหวตของสว.

5 พฤษภาคม 2024


“พรรณิการ์ วานิช” กับภารกิจคณะก้าวหน้า รณรงค์แคมเปญ “สว.ประชาชน” ฝ่าระบบ เลือก สว. 2567 ที่มีกติกาซับซ้อน-ยุ่งยากที่สุดในโลก เพื่อให้ประชาชนที่มีเจตจำนงเสรี เข้ามาสมัคร สว. โหวตเพื่อเป็น ‘บั๊ก’ บล็อกโหวตกลุ่มผู้มีอำนาจ

นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า

สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญกับการเมืองไทย และการได้มาซึ่ง สว. ก็มีหลากหลายวิธี แล้วแต่ว่าใครเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ สามารถชี้เป็นชี้ตายในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ที่เราได้เห็นกันมาแล้วในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 สว. 250 คนที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหมดอำนาจตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศกำหนดวันรับสมัคร สว. ไว้แล้ว คือ 13 พฤษภาคม 2567 และปิดรับสมัครภายใน 5-7 วัน

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก โดยในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 จะเป็นวันคัดเลือก สว. ระดับอำเภอวันแรก วันที่ 16 มิถุนายน เลือกตั้ง สว. ระดับจังหวัด และวันที่ 26 มิถุนายน เลือก สว. ระดับประเทศ

ผลการคัดเลือก สว. จะประกาศในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 และเราจะได้เห็น สว. ชุดใหม่ 200 คน เข้ามาแทนที่ สว. 250 คน แต่ด้วยกระบวนการคัดเลือก สว. ที่ ‘ซับซ้อน-เงียบ-พิสดาร’ เราอาจไม่สามารถคาดเดาได้ว่า สว. ชุดใหม่ เป็น สว. ที่มีคุณภาพ ยืนบนหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะด้วยกระบวนการคัดเลือกที่เป็นแบบเลือกกันเอง แบบไต่ระดับจาก อำเภอ จังหวัดและประเทศ โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่มีส่วนร่วมกับคัดเลือกแต่อย่างใด

สำนักข่าวออนไลน์ ไทยพับลิก้า ได้พูดคุยกับ “นางสาวพรรณิการ์ วานิช” อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า กับแคมเปญ ‘สว.ประชาชน’ ของคณะก้าวหน้า เชิญชวนให้คนไทยสมัครสว.ให้มากที่สุด

เธอบอกว่า จุดเริ่มต้นมาจากระบบการเลือก สว. 2567 ที่บิดเบี้ยว ซึ่งก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดของระบบคัดเลือก สว. ที่บิดเบี้ยว อยากจะรณรงค์ให้ทุกคนเรียกการเลือกตั้ง สว. เป็น ‘การเลือก สว.’ เพราะหากใช้คำว่า ‘เลือกตั้ง’ จะทำให้คนเข้าใจผิดและทำให้การเลือก สว. ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นเรื่องชอบธรรม

เลือก สว. ไม่ใช่เลือกตั้ง สว.

“พรรณิการ์” อธิบายว่า แม้หลักการตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะเขียนไว้สวยหรู การได้มาซึ่ง สว. ที่ระบุเอาไว้ว่าให้ประชาชนเลือกกันเอง โดยเป็นการเลือกจากผู้มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์ ซึ่งทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ออกแบบการคัดเลือก สว. แบบเลือกกันเองโดยประสบการณ์ โดยคุณวุฒิ วัยวุฒิ ด้วยการกำหนดคุณสมบัติต้องมีอายุ 40 ปีถึงจะสมัครคัดเลือกได้

“คุณสมบัติที่กำหนดเรื่องคุณวุฒิ คืออายุ 40 ปี อ้าวแล้ว คนอายุ 39 ไม่ได้ คนอย่างดิฉัน สมัครไม่ได้นะคะ อายุยังไม่ถึง ยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ”

นอกจากกำหนดคุณสมบัติด้านคุณวุฒิอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว ผู้ที่จะสามารถเลือก สว. ได้ ต้องเป็นลงสมัคร สว. ซึ่งต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท ซึ่งชัดเจนว่า วิธีการคัดเลือกแบบนี้ไม่ใช่การเลือกตั้ง

“สุดท้ายแล้ว ก็ชัดเจนว่าพอคุณจะไม่ยอมให้เลือกตั้ง ก็อ้างว่า ถ้าเลือกตั้ง ก็มีการเลือกตั้ง สส. อยู่แล้ว จะมีการเลือกตั้งสองสภาไปทำไม แต่ในทางหนึ่ง ดิฉันก็ต้องถามกลับว่า ถ้าไม่เลือกตั้งแล้วความชอบธรรมจะมาจากไหน ในการได้มาซึ่ง สว.”

‘ตัวแทนกลุ่มอาชีพ’ สร้างความชอบธรรมปลอมๆ

พรรณิการ์บอกว่า ระบบที่ออกแบบมาเพื่อการคัดเลือก สว. มีความพยายามสร้างความชอบธรรมขึ้นมาในการอธิบายว่า การคัดเลือก สว. ได้ออกแบบให้มีตัวแทนของกลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มเฉพาะแล้วเลือกกันเองภายในกลุ่ม 20 กลุ่มอาชีพ

ปัญหามันเริ่มเกิดจากตรงนี้ 20 กลุ่มคือ 17 กลุ่มอาชีพ บวก 3 กลุ่มพิเศษคือกลุ่มอื่นๆ กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ การแบ่งแบบนี้ แน่นอนประเทศไทยไม่ได้มีแค่ 17 อาชีพ

ทั้งนี้ การจัดกลุ่มอาชีพก็ไม่ชัดเจน เช่น กลุ่มอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอดชีวิตกับอสังหาริมทรัพย์ ผู้สร้างเขื่อนไปอยู่ด้วยกัน ตลกมาก เอ็นจีโอบอกว่า ฉันต้องไปอยู่พวกเดียวกับบริษัทผู้รับเหมาเหรอ เพราะว่าสิ่งแวดล้อมและอสังหาริมทรัพย์อยู่ด้วยกัน ซึ่งไม่รู้อยู่ด้วยกันได้อย่างไร”

เธอบอกว่าความชอบธรรมแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพเพื่อเป็นตัวแทนของทุกคน จึงไม่ได้มีอยู่ เพราะกลุ่มอาชีพที่ออกแบบมาไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ได้มีปัญหาร่วมกัน ไม่ได้มีสิ่งที่ต้องการจะผลักดันร่วมกัน

ไม่เพียงการรวมกลุ่มอาชีพไม่ได้มีอยู่จริง แล้วหลักเกณฑ์การเลือกตัวแทนในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดประเทศก็ถูกออกแบบให้มีตัวแทน 2 คนเท่ากัน ทำให้ในบางจังหวัดที่มีอำเภอมากกว่าเสียเปรียบจังหวัดที่มีจำนวนอำเภอน้อยกว่า

“ระบบทำให้ตัวแทนกลุ่มอาชีพไม่เกิดขึ้นจริงแล้วยังทำให้ตัวแทนจังหวัดไม่เกิดขึ้นจริงด้วย เพราะเป็นเกณฑ์ที่ออกแบบให้มีการเลือกจากอำเภอ เข้าสู่จังหวัด คุณต้องการตัวแทน 2 คนเท่ากันหมด คำถามก็คือ แล้วสมุทรสงครามกับนครราชสีมา โดยนครราชสีมามี 32 อำเภอ เชียงใหม่มี 25 อำเภอ กรุงเทพฯ มี 50 เขต แล้วสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ลำพูน มี 3-4 อำเภอ แต่ได้ตัวแทนเท่ากัน เพราะฉะนั้น เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบที่ทำให้ประชาชนเองที่ต้องพยายามไปเลือกพื้นที่ที่ตัวเองน่าจะได้เปรียบ ก็คือจังหวัดที่อำเภอน้อย ทำให้ระบบตัวแทนไม่เกิดขึ้นจริง”

นอกจากนี้ ‘พรรณิการ์’ ยังบอกอีกว่า การสมัครในตัวแทนกลุ่มอาชีพตัวเอง ผู้สมัครยังสามารถเปรียบเทียบความได้เปรียบเสียเปรียบได้ เช่น ครู ที่มีอาชีพการศึกษา แต่ครูวิทยาศาสตร์ สามารถลงในกลุ่มวิทยาศาสตร์ซึ่งคู่แข่งน้อยกว่า ทำให้ตัวแทนกลุ่มอาชีพก็ไม่มีอยู่จริง

สุดท้ายได้ระบบเลือก สว.ได้สร้างความชอบธรรมปลอมๆ ขึ้นมา แต่ไม่เกิดการเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ เนื่องจากผู้ลงสมัครสามารถเลือก พิจารณาจากความน่าจะเป็นของการได้รับการคัดเลือกเข้าไปเป็น สว.

ประชาสังคมรณรงค์ “สว.ประชาชน” เข้าระบบเลือก สว.

การออกแบบระบบการเลือก สว. ที่ซับซ้อน ไม่ชัดเจน จนไม่สามารถบอกได้ว่า นี่คือการเลือกตั้งหรือการเลือกกันเองระหว่างสาขาอาชีพ รวมไปถึงผู้ที่จะสามารถโหวตเลือกได้ ต้องควักเงิน 2,500 บาท สมัครประสงค์จะเป็น สว. เท่านั้น ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance หรือ CALL) เปิดแคมเปญ ‘สมัครเพื่อโหวต’ เพื่อให้มีส่วนผสมของ ‘คนที่ซื้อไม่ได้’ ในหมู่ผู้สมัคร

เช่นเดียวกับคณะก้าวหน้าที่มี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นประธาน ได้เปิดแคมเปญ ‘สว.ประชาชน’ รณรงค์ให้ประชาชนผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ไปลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา เข้าไปอยู่ในระบบให้ได้มากที่สุดเพื่อหวังจะให้มี สว. ที่เป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปในระบบให้มากที่สุด

ความเลอะเทะของระบบการคัดเลือก สว. ทำให้ ภาคประชาขน อย่าง iLaw และอีก 17 องค์กร รวมถึงคณะก้าวหน้า ร่วมกันภายใต้กลุ่ม “Senate 67” โดยมีเว็บไซต์ senate67.com เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการคัดเลือก สว.

ภาคประชาชนและคณะก้าวหน้าเล็งเห็นแล้วว่าด้วยระบบนี้สุดท้ายนำไปสู่อะไร และคนกลุ่มไหนสามารถยึดกุมมากที่สุด ซึ่งกลุ่มที่มีเครือข่ายระดับชาติในสาขาอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ซึ่งหากแบ่งตามอำเภอ จังหวัด ประเทศ เป็นกลุ่มที่มีครือข่ายได้เปรียบสูงสุด เพราะฉะนั้นจึงรณรงค์ภาคประชาชน เพื่อให้มี สว.ประชาชนเข้าไปในระบบให้มากที่สุด

นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่รณรงค์แคมเปญ สว.ประชาชน

“ระบบซับซ้อน-ล็อกโหวตยาก” ส่อซื้อยกลอต

ด้วยระบบการคัดเลือกที่ออกแบบมาอย่างซับซ้อน ไม่ได้ล็อกแค่กลุ่มคนที่ผู้ออกแบบระบบการคัดเลือก สว. ต้องการสกัดเท่านั้น แต่อาจจะบล็อกกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มนักเมืองบ้านใหญ่ที่ต้องการให้เข้าไปเป็น สว. ชุดใหม่ด้วยเช่นกัน

‘พรรณิการ์’ บอกว่า ด้วยระบบการคัดเลือกที่เละเทะขนาดนี้ พอไปศึกษาเข้าจริงๆ ถึงได้พบว่า เอาจริงๆ การล็อกโหวตระหว่างทางจากอำเภอขึ้นจังหวัด จังหวัดขึ้นประเทศจริงๆ ก็ทำได้ยาก แม้แต่กลุ่มราชการหรือกลุ่มนักการเมืองบ้านใหญ่ผ่านการคัดเลือกด้วยระบบนี้ได้ยากเช่นกัน

“กลุ่มบ้านใหญ่อาจผ่านระบบการคัดเลือกในระดับอำเภอเข้ามาสู่ระดับจังหวัดได้ แต่พอจากจังหวัดขึ้นสู่ระดับประเทศ แล้วต้องเลือกไขว้กัน มันทำให้การบล็อกหรือความพยายามจัดตั้งเป็นไปได้ยากมาก”

ถามว่าระบบการคัดเลือก สว. แบบนี้เอื้อประโยชน์อะไร ซึ่งเธอบอกว่าระบบแบบนี้เอื้อให้เกิดการซื้อยกล็อต เมื่อการคัดเลือกแบบไต่ระดับตั้งแต่อำเภอ จังหวัด ประเทศ เสร็จแล้ว อาจจะมีการขายตัวยกล็อต หรือการซื้อเป็นจังหวัดแล้วขายตัวยกล็อตในระดับประเทศโดยอาจจะซื้อ 20 ล้าน หรือ 30 ล้านก็แล้วแต่ต่อรอง

“การจะซื้อหลังจากได้ สว. ครบ 200 คนแล้ว ซื้อทีเดียว สิ่งเหล่านี้เคยเกิดมาแล้วในสมัยรัฐบาลในอดีตซื้อ สว. เป็นครั้งๆ ในการโหวตกฎหมายบางฉบับผ่าน หรือให้โหวตเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ในเมื่อผู้ออกแบบระบบคิดปลายทาง และคิดว่าช้อนซื้อเอาปลายทางตอนจบง่ายที่สุด ไม่ต้องมานั่งสาละวนอยู่กับการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด”

ในเมื่อเขาคิดแบบนั้น เราต้องคิดสวนทาง เพราะระบบนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเขา ให้พวกเขากุมได้ เราก็บอกว่า เราต้องคิดกลับกัน

ระบบเลือก ‘มั่ว’ สุดท้ายต้องพึ่ง ‘ดวง’

พรรณิการ์บอกว่า คณะก้าวหน้าต้องออกมารณรงค์ สว.ประชาชน เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปเข้ามาในระบบการเลือกมากที่สุด เนื่องจากระบบที่ออกมามีลักษณะที่กีดกันทุกอย่าง นับตั้งแต่ผู้ที่จะสมัครได้ต้องอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว ยังไม่สามารถประชาสัมพันธ์แนะนำตัวเองได้ นอกจากนี้ผู้สมัครต้องจ่ายเงิน 2,500 บาทเพื่อให้เข้าไปโหวตเลือกได้

“ด้วยระบบที่ออกแบบมาให้มีความยุ่งยากต่างๆ ซึ่งคนทั่วไปจะท้อใจมาก ไม่อยากจะเข้าร่วมแล้ว แต่ถ้าเราออกมารณรงค์ เพื่อให้มีประชาชนที่มีความบ้าดีเดือด ที่บอกว่าฉันพร้อมจ่าย 2,500 บาท สมัครเองจ่ายเอง นักเลงพอ แล้วจับพลัดจับผลู สุดท้าย ระบบที่ออกแบบมามั่วๆ แบบนี้อาจจะต้องพึ่งดวง เพราะเลือกจากอำเภอ เข้าจังหวัด และวิธีการเลือกไขว้ 20 กลุ่มอาชีพ สุดท้ายดวงค่ะ เราเชื่อแบบนั้นนะ เพราะว่ายิ่งคนเยอะก็ยิ่งดวง เพราะว่าระบบมันเละ มันมั่วมาก จนใช้ดวงเป็นหลัก”

ในวันที่ 9 มิถุนายนวันแรกของการเลือก สว. ซึ่ง เริ่มจากการเลือกระดับอำเภอซึ่ง พรรณิการ์บอกว่า เธอและเครือข่ายประชาสังคมได้จำลองวิธีการคัดเลือก โดยที่ว่าการอำเภอ จะจัดแบ่งเรียงแถวตามกลุ่มอาชีพเป็น 20 กลุ่มมีที่กั้นของแต่ละคน

ก่อนเข้าห้องผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกต้องถูกริบมือถือ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะแจกเอกสารผู้สมัครเลือกปึกใหญ่เป็นรายชื่อผู้สมัครและคุณสมบัติความยาวไม่เกิน 5 บรรทัด ซึ่งต้องอ่านและจำเลขของผู้สมัครเพื่อเลือกผู้ที่คิดว่ามีคุณสมบัติที่ดีพอ แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเรียกไปเขียนเลขที่เราเลือก ซึ่งทำกลุ่มแรกจบก็ทำกลุ่มที่สอง โดยที่ผู้สมัครทุกคนไม่สามารถออกจากห้องได้

ขณะที่การเลือกครึ่งวันบ่ายต้องจะเริ่มเลือกไขว้ในแต่ละกลุ่มอาชีพ โดยการจับฉลากว่าจะได้เข้าไปเลือกกลุ่มอาชีพใดใน 20 กลุ่ม เช่น อยู่กลุ่มอาชีพสื่อได้ไปเลือกกลุ่มอาชีพเกษตรกรก็จะได้ใบเลือกไขว้ชาวนา หลังจากจับฉลากการเลือกไขว้ทั้งหมดแล้ว ก็จะเริ่มเลือกโดยมีเจ้าหน้าที่นำปึกคุณสมบัติผู้รับสมัครที่มีเนื้อหา 5 บรรทัดมาแจก โดยต้องจำหมายเลขเพื่อไปเลือกเลขที่เราเลือกไว้

“พูดตรงๆ คนที่ไปสมัครส่วนใหญ่อาจจะเป็นผู้สูงอายุ ต้องอยู่ในห้องเลือกทั้งวันเหมือนทำข้อสอบก็อาจจะมีเบลอได้ แล้วไม่รู้อะไรเลยนะ เพราะมือถือเข้าไปไม่ได้ ซึ่งดิฉันไปทดลองแล้วพบว่ามีการกาบัตรเสียเกือบ 50% คนงง! ต้องจำเลข ทั้งจำเลขตัวเองเสร็จ รอบแรกไม่เท่าไหร่ รอบแรกไม่ค่อยมีบัตรเสีย เพราะเลือกในกลุ่มอาชีพตัวเอง เข้าใจง่าย แต่รอบไขว้ 20 กลุ่มอาชีพ แล้วมันต้องไขว้ทุกรอบ อำเภอ จังหวัด ประเทศ ซึ่งจับกลุ่มอาชีพที่เราไม่รู้จักเลยมีแค่คุณสมบัติ 5 บรรทัดให้อ่านและให้จำเลข ซึ่งมีโอกาสที่จะจำผิดพลาดได้”

เหตุผลของการออกแบบเลือกไขว้ เพื่อป้องกันการฮั้ว ซึ่งพรรณิการ์บอกว่า ป้องกันการฮั้ว ป้องกันได้ดีมาก ป้องกันจนงง เพราะฉะนั้นโดยระบบแบบนี้ บอกเลย ฟลุก เนื่องจากสุดท้ายแล้ว แม้แต่กำโพยเข้าไปผู้สมัครก็อาจจะงง เพราะนอกจากโพยกลุ่มตัวเองแล้ว เมื่อเลือกไขว้ในกลุ่มอาชีพต้องจำโพยกลุ่มอื่นด้วย

“โพยกลุ่มตัวเองคงยังพอจำได้ แต่พอเป็นโพยตอนเลือกไขว้กลุ่มอื่นซึ่งไม่รู้ว่าจะจับฉลากได้กลุ่มไหนอาจจะลำบากขึ้น เพราะเขาไม่ให้คุณคุยกันด้วยนะ ตอนนั่งอยู่ในแถว มือถือถูกยึด ดิฉันเองก็เพิ่งตาสว่างเมื่อไปทดลองเลือกที่จังหวัดเพชรบูรณ์กับพิษณุโลก ที่เราจำลองการเลือกตามแบบ กกต. กำหนดทุกประการแล้วพบว่าบัตรเสียจำนวนมากเพราะแค่เขียนเบอร์ย้ำๆ สมมติปากกาอ่อน เขียนย้ำ บัตรเสีย เพราะถือว่าเป็นการทำสัญลักษณ์ ต้องเขียนเลขปกติ เลขไทยเสีย เพราะถือว่าเป็นการทำสัญลักษณ์ สุดท้ายอาจจะเป็นเรื่องดวง เพราะฉะนั้นอยากให้มาลงสมัคร เพราะอาจจะฟลุกได้รับเลือกจากการออกแบบระบบ”

ระดม สว.ประชาชน : สร้างบั๊กในระบบ

พรรณิการ์บอกว่า ด้วยระบบที่ออกมาให้เลือกทั้งยากและซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้จริงๆ ก็คือเอาบั๊กเข้าระบบ บั๊กคือประชาชนที่เดินเข้าไปแบบงงๆ เดินเข้าไปแบบไม่มีโพย แล้วก็เลือกกันแบบงงๆ และสุดท้ายก็ได้กันเข้าไปแบบงงๆ เพราะเราเชื่อว่ามีคนที่บ้าดีเดือดยอมจ่าย 2,500 ยอมเสียเวลา 1 เดือนในกระบวนการเลือกทั้งหมด

“คนเหล่านี้คือคนที่ตั้งใจจริงว่า การเป็น สว. เดี๋ยวเป็นให้ดู เพราะฉะนั้น เราคาดหวังว่าคนเหล่านี้จะเข้ามา แม้จะบอกว่าคาดหวังแบบเลื่อนลอยก็ได้นะ แต่ว่ามันก็เป็นแบบนี้ การทำงานการเมือง คุณต้องเชื่อมั่นในประชาชน ถ้าคุณเชื่อมั่นว่าจะมีประชาชนที่ยอมเสียเงินตัวเองให้เข้าสู่ระบบนี้ เสียเวลาไปสมัคร เสียเวลาเดินทาง เสียเวลาไปเลือก แล้วถ้าเราส่งคนแบบนี้เข้าไปถึงรอบลึกได้ เขาอาจจะได้เป็น สว. ก็ได้นะ”

พรรณิการ์เชื่อว่า คนที่ตั้งใจไปสมัคร สว. ด้วยเจตจำนงเสรี คนที่เข้าไปแบบไม่มีโพย จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม จะเป็นบั๊กในระบบ ที่จะทำให้ผู้มีอำนาจไม่สามารถทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ทั้งหมด ซึ่งเธอไม่ได้คาดหวังได้ว่าจะมี สว. 100 หรือ 80 คนที่ซื้อไม่ได้ แค่ สว. 70 คนที่ซื้อไม่ได้เข้าไปในระบบก็จบเกมแล้ว

“อย่างน้อยที่สุดเรามีกลุ่มก้อน สว.ประชาชนอยู่ใน สว. 200 คน เพราะที่ผ่านมา 250 คนไม่ใช่ของประชาชนเลย มันเป็นของผู้มีอำนาจทั้งหมด แต่ภายใต้ระบบอันมั่วซั่วนี้ เราก็หวังเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกล เพราะตอนออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 ผู้มีอำนาจก็ไม่คิดว่าจะเกิดพรรคอนาคตใหม่เข้ามาเป็นพรรคบั๊กได้มา 80 ที่นั่ง และเมื่อแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นบัตรสองใบลดจำนวนปาร์ตี้ลิสต์ เขาก็ไม่คิดว่าจะมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคบั๊กพรรคที่สองที่ชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง”

หลายคนอาจจะบอกว่า เราหวังลมๆ แล้งๆ มั่วๆ ซั่วๆ ไม่มีอะไรเลย แต่มันเป็นวิธีเดียวที่เราจะสู้ได้ เพราะเราไม่ใช่คนออกแบบเกม เราไม่ใช่คนคุมระบบ เราไม่ใช่คนคุมกฎหมาย เราคาดหวังได้อย่างเดียวคือพลังของประชาชน ซึ่งการเลือก สว. รอบนี้เรายอมรับว่ายากมาก สาหัสมากในการณรงค์

“รอบนี้สาหัสมาก เพราะทุกครั้ง คนเดินไปเลือกฟรี แต่รอบนี้ต้องเสียเงิน 2,500 บาท เพื่อเข้าไปโหวต แต่คำถามคือ เราก็ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ นี่คือวิธีเดียวที่เราจะสู้ได้ ก็คือใช้พลัง เจตจำนงเสรีของประชาชน เอาตัวเอง เขาไปเป็นบั๊กในระบบ แล้วเลือกโดยเจตจำนงเสรี แล้วหวังว่าเราจะได้คนแหกโพยขึ้นไป สามสิบ ห้าสิบ เจ็ดสิบคนนี้คือความหวังของเรา”

รณรงค์ให้ลงสมัคร สว. ไม่ ‘ผิด’ ไม่ใช่การ ‘ฮั้ว’

พรรณิการ์บอกว่า เราต้องการณรงค์ให้คนเข้าไปมากที่สุด เพราะในประเทศนี้คำว่าประชาชนมีอำนาจสูงสุดในประเทศและจำนวนที่มากที่สุดจะทำให้ประชาชนมีอำนาจ เนื่องจากไม่มีคุกไหนพอขังคน 70 ล้าน ไม่มีศาลไหนพอตัดสินคน 70 ล้าน ไม่มีกองทัพไหนมีอาวุธพอยิงคน 70 ล้านคน ประชาชนมีอำนาจสูงสุดด้วยปริมาณ เราถึงเรียกกันว่าแมส (mass) แมสคือมวลชน ปริมาณมหาศาล

เพราะฉะนั้น การทำงานการเมืองแบบพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงกลุ่มก้าวหน้าและพรรค ก้าวไกลเพราะเชื่อมั่นว่า พลังของประชาชนอันมีมหาศาลซึ่งหากไปในทิศทางเดียวกัน จะสามารถชนะทุกอย่าง

“ทำงานการเมืองของเราก็แบบนี้ แบบเรียบง่าย ส่วนพวกที่ตีโพยตีพายว่าผิดกฎหมาย บอกว่าคนที่โดนตัดสิทธิทางการเมืองมารณรงค์ได้ไง เพราะสิทธิที่ถูกตัดคือสิทธิการรับสมัครการเลือกตั้ง ไม่ใช่สิทธิการรณรงค์ สิทธิการรณรงค์ไม่มีใครตัดได้ ประชาชนไทยได้รับการคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนสามารถรณรงค์ตามรัฐธรรมนูญได้ สิทธินี้จะไม่ถูกตัดตลอดไป ยกเว้น เราถูกไล่ออกจากการเป็นพลเมืองไทยก็ไม่สามารถรณรงค์ได้”

พรรณิการ์บอกว่า เธอเป็นห่วงคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพราะออกมาบอกว่าคนนั้นคนนี้ผิดกฎหมายในเรื่องการรณรงค์ ซึ่งประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเองก็บอกเองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าการรณรงค์ของคณะก้าวหน้าถูกกฎหมายเพราะไม่ต่างจากที่ กกต. ทำ คือรณรงค์ให้ประชาชนไปสมัคร ใครๆ ก็รณรงค์ได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับระบบ

แต่หลังจากผ่านไปแล้ว 4 วัน เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งออกมาบอกว่า ชวนคนมาสมัครทำได้ แต่อย่าให้เกินเลย ตามกรอบมาตรา 77 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. คือ ผู้ใดให้อามิสสินจ้าง ให้ผลประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ จัดงานมหรสพ งานเลี้ยงรื่นเริง เพื่อที่จะให้ผู้ใดผู้หนึ่งสมัครหรือถอนการสมัคร หรือเลือกคนหนึ่งคนใด แต่สิ่งที่เราทำคือการณรณรงค์ให้มาสมัคร สว. ไม่ได้มีอามิจสินจ้าง

“คำถามก็คือเว็บไซต์ Senate 67 กับคณะก้าวหน้าไปจ่ายเงินให้ใคร ไปเลือกใครหรือเปล่า หรือจ่ายเงินให้ใครมาสมัคร เพราะสิ่งที่เราทำคือการรณรงค์ให้มาสมัครเอง จ่ายเอง นักเลงพอ ไม่ได้จะจ่ายตังค์ให้ คนที่จะไปสมัครก็หาเงินไปเองด้วย 2,500 บาท แล้ว การที่ผู้สมัครนำข้อมูลมาลงในเว็บไซต์ Senate 67 ก็ไม่ได้เสียเงิน ลงฟรีเพราะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล”

ส่วนปัญหาที่ กกต. ห่วงเรื่องฮั้ว เธอบอกว่า เลขากกต. บอกว่าการณรงค์แนะนำคนไปสมัคร ให้ความรู้ได้ แต่อย่าเกินเลยเป็นการฮั้ว ซึ่งคำถามคือ การฮั้วคืออะไร เพราะทุกครั้งที่ไปรณรงค์เราไม่ได้บอกว่าให้ไปเลือกใครเพราะไม่มีใครรู้ว่าใครจะไปสมัครที่อำเภอไหน จังหวัดอะไร แต่การณรงค์ของเราต้องการให้ไปสมัครกันให้มากที่สุด แต่หน้าที่ของเราไม่ได้บอกว่าคุณต้องเลือกใคร หน้าที่ของเราคือบอกว่า พวกคุณจงไปสมัครกันเยอะๆ เพื่อชนะบล็อกโหวต เพื่อเข้าไปเป็นบั๊กในระบบ

นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่รณรงค์แคมเปญ สว.ประชาชน

กกต. ต้องเปิดรายชื่อผู้สมัคร สว. อย่างเปิดเผย

ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลผู้สมัคร สว. ตามระเบียบ กกต. หลังพระราชกฤษฎีกาเลือก สว. ออกมา การออกสื่อทั้งหมดต้องยกเลิก ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก เพราะการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. ทางอิเล็กทรอนิกส์ในระเบียบ กกต. ต้องแนะนำตัวกับผู้สมัครด้วยกันเท่านั้น เพราะว่าโซเซียลมีเดียใครก็ดูได้

ในเรื่องนี้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน จะได้ตั้งคำถามไปยัง กกต. ว่า กกต. กำลังทำผิดคำพูดตัวเอง เพราะ กกต. มาให้ข้อมูลกับกรรมาธิการและให้คำมั่นสัญญาไว้แล้วว่าประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ผู้สมัครทั้งหมด อย่างเปิดเผย แต่สิ่งที่คุณออกมากลายเป็นว่า ใครลงสมัครบ้าง เป็นความลับ มันจะเป็นความลับได้อย่างไร การเลือก สว. ประชาชนควรจะรู้ ว่าเกิดอะไรขึ้น

“นี่คือการเลือกผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ มันจะเป็นความลับได้อย่างไร แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้มีสิทธิเลือก ซึ่งมีการตั้งคำถามตั้งแต่แรกว่าแล้วทำไมประชาชนไม่ได้เลือก เมื่อไม่ได้เลือกแล้วจะขอรู้ไม่ได้เลยเหรอ ตกลงประเทศนี้ใช้ภาษีเราหรือเปล่าในการไปทำระบบเลือก สว.”

สิ่งที่ กกต. ต้องทำคือ เปิดรับสมัครเสร็จ และเมื่อปิดรับสมัครแล้ว เปิดชื่อทันที แบ่งตามอำเภอ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้ชัด ไม่ใช่ประกาศชื่อเป็นบัญชีรายชื่อออกมายาวๆ แต่สุดท้ายแล้วเราหวังว่าจะมีการเปิดเผยรายชื่อผู้สมัครทั้งหมด

ขณะที่เวลาการเลือก สว. เริ่มงวดเข้ามาทุกขณะนับจากการเปิดรับสมัครในวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 และในวันเลือกระดับอำเภอ 9 มิถุนายน 2567 ทำให้ คณะก้าวหน้าและภาคประชาสังคมต้องรณรงค์ให้ประชาชนที่มีเจตจำนงเสรีออกมารับสมัครให้มากที่สุด

“เรามีเวลาจำกัดมาก สิ่งที่เราทำได้ คงเป็นพยายามออกไปสร้างการรับรู้ให้มากที่สุด เพราะสิ่งที่สำคัญคือ ประชาชนจำเป็นต้อนเข้าใจว่า ทั้งระบบการเลือกมันเป็นอย่างไรซึ่งมันซับซ้อนมาก เวลาเราไปรณรงค์ในพื้นที่ เราก็จะพูดให้ฟังหมด จำลองการเลือกให้เห็นภาพเลย ตามเวลาสถานการณ์จริง ตามที่ กกต. ระบุมา ระบบการเลือกจะเป็นอย่างไร เพื่อให้คนเข้าใจ แล้วก็สองคะแนนที่คุณถือไว้ในมือว่าจะเลือกให้ใครต้องไม่เสียเปล่า”

การทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้ง คณะก้าวหน้า Senate 67 กลุ่ม We Watch ILAW ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญมากในกฎกติกาของ กกต. จึงต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้ประชาชนเข้าไปในระบบ เพราะวัตถุประสงค์ของแคมเปญ ต้องการให้ประชาชนซึ่งถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในระบบนี้ พยายามแหกคอก นำตัวเองเข้าไปสู่ระบบให้ได้มากที่สุด

พรรณิการ์เชื่อว่า จำนวนของประชาชนที่เข้ามาในการเลือก สว. ปี 2567 ที่มีปริมาณมากเท่านั้นที่จะเอาชนะระบบที่ผู้มีอำนาจออกแบบไว้ เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ที่มีพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นบั๊กในระบบ ดังนั้น เธอมั่นใจว่าไม่ว่าจะออกแบบกฎกติกาแบบไหน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนได้