ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเคาะ 13 โครงการ พัฒนา 7 จว.ภาคใต้ 552 ล้าน – มติ ครม.ตั้งคณะทำงานรับมือภัยแล้งปี’67

นายกฯเคาะ 13 โครงการ พัฒนา 7 จว.ภาคใต้ 552 ล้าน – มติ ครม.ตั้งคณะทำงานรับมือภัยแล้งปี’67

23 มกราคม 2024


เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุม ครม.นอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ หอประชุมคอซู้เจียง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯเคาะ 13 โครงการ พัฒนา 7 จว.ภาคใต้ 552 ล้าน
  • ชง ครม.แก้ไข กม.ช่วยประมงพื้นบ้านสัปดาห์หน้า
  • ยกเลิก มติ ครม.บังคับครูอยู่เวร
  • มอบ ‘มนพร’ ประสาน สว.กำหนดวันอภิปราย
  • มติ ครม.ตั้งคณะทำงานรับมือภัยแล้งปี’67
  • เห็นชอบกรอบเจรจายกร่างอนุสัญญา ฯต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์
  • ตั้ง “ธงทอง จันทรางศุ” คุมบอร์ดกองทุนประเทศเพื่อนบ้าน
  • เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ หอประชุมคอซู้เจียง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว และได้มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    รับเรื่องร้องเรียน กลุ่มคัดค้าน ‘แลนด์บริดจ์’

    นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจการก่อสร้างสะพานข้ามคลองอ่าวเขาควาย บนเกาะพยาม ทำให้เด็กชาวมอแกนสามารถเดินทางไปโรงเรียนได้

    ส่วนช่วงบ่ายของวันที่ 22 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อทำให้จังหวัดระนอง และชุมพรมีความเจริญจากการสร้างงาน และสร้างรายได้ โดยนายเศรษฐาได้รับหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ภารกิจสุดท้ายคือดูบ่อน้ำพุร้อนระนอง ซึ่งเป็นบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ปัจจุบันบ่อน้ำพุร้อนระนอง ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ต่อร่างกาย จึงสั่งการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ศึกษาในประเด็นดังกล่าว

    เคาะ 13 โครงการพัฒนา 7 จังหวัดภาคใต้ 552 ล้าน

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ มีมติเห็นชอบโครงการกลุ่ม 7 จังหวัด จำนวน 13 โครงการ มูลค่ารวม 350 ล้าน หรือ เฉลี่ย 50 ล้านบาทต่อจังหวัด และโครงการตามข้อเสนอของภาคเอกชน 5 โครงการ มูลค่า 202 ล้านบาท โดยให้ใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน

    ยกเลิก มติ ครม.บังคับครูอยู่เวร

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นกับครูเวร ดังนั้น ในที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้พิจารณายกเว้นมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 และยกเว้นภารกิจครูอยู่เวร เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี อีกทั้งสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป และต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น โดยขั้นตอนถัดจากนี้จะส่งให้หน่วยงานต่างๆ รับพิจารณา

    นายเศรษฐา เสริมว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ หรือ ‘Public Safety’ โดยเร่งจัดหางานไม่ให้เกิดความรุนแรงของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม

    เร่งจัดประชุม รมต.ท่องเที่ยว 5 ประเทศ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการอย่างเร่งรัดให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดการประชุมรัฐมนตรีว่การกระทรวงการท่องเที่ยว 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว และมาเลเซีย โดยมีรัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯไทย เป็นผู้นำการประชุม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้

    ชง ครม.แก้ไข กม.ช่วยประมงพื้นบ้านสัปดาห์หน้า

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ในการประชุมวันนี้ มีการพูดคุยเรื่อง พ.ร.บ.ประมง ซึ่งได้มีการชี้แจงใน ครม. และเห็นชอบในหลักการ ทั้งนี้ ยังต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อเร่งรัดเข้า ครม. อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

    มอบ ‘มนพร’ ประสาน สว.กำหนดวันอภิปราย

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี 98 สว. ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่ารัฐบาลจะพิจารณาในช่วงใด โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ยังไม่ทราบ ต้องให้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ประสานงานระหว่างรัฐสภากับ ครม. เป็นผู้กำหนดวันอภิปราย”

    เมื่อถามว่า รัฐบาลพร้อมชี้แจงใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “รัฐบาลพร้อมชี้แจงทุกเรื่อง ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่มีการเข้าชื่อแล้ว เราก็ต้องไปตอบฝ่ายนิติบัญญัติ”

    ยกเลิกมติ ครม.ให้เจ้าหน้าที่ อปท.- รสก.อยู่เวร

    ด้านนายชัย รายงานว่า สืบเนื่องจาก เหตุการณ์ทำร้ายคุณครูขณะอยู่เวรรักษาการณ์ในโรงเรียน ทำให้นายกฯ กล่าวแสดงความเสียใจ และระบุว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กกรกฎาคม 2542 ไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่มีบุคคล หรือ เครื่องมือในการช่วยเหลือดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการมากมาย เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย ภารโรง และกล้องวงจรปิด

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ยกเลิกมติ ครม. ย้อนหลัง รวมถึงการอยู่เวรรักษา ตรวจราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่มีการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว ต่อไปนี้นายกฯ ขอสั่งการ และที่ประชุมเห็นชอบ

    ปรับปรุงถนน – ท่าเรือระนอง รับนักท่องเที่ยว

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ลงพื้นที่โครงการพัฒนาศักยภาพจังหวัดระนอง และพบว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคอยู่ในสภาพทรุดโทรม ขาดการซ่อมแซมมานาน อีกทั้งท่าเรือซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ทันสมัยและไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการว่าขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการจัดทำแผนยกระดับฟื้นฟู ทำนุบำรุง ซ่อมแซมสาธารณูปโภคทุกประเภทอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี มีมาตรฐาน และสวยงามด้วย ท่าเรือต่างๆ และขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณา และจัดทำข้อเสนอเพื่อยกระดับการท่องเที่ยว

    ทั้งนี้ นายกฯ เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ดังนี้

      (1) โครงการปรับปรุงถนนและระบบสาธารณูปโภค พร้อมปรับภูมิทัศน์ถนนจัดสรรพัฒนา ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นถนนสายที่เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4 เข้าสู่ตัวเมืองระนอง รวมทั้งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปสู่ท่าเรือระนอง-เกาะสองด้วย
      (2) โครงการปรับปรุงท่าเรือระนอง-เกาะสองเพื่อการท่องเที่ยวและการสัญจร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ให้รองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นตามมาตรฐานสากลและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

    ยุบเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ

    นายชัย รายงานว่า นายกฯ แจ้งในที่ประชุม ครม. เรื่องการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่ประเทศสวิซเซอร์แลนด์ โดยได้เจอผู้นำประเทศและนักธุรกิจชั้นนำเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้สะท้อนถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแต่อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อเสนอแนะจากหลายภาคธุรกิจที่เป็นปัญหาจากการดำเนินธุรกิจในประเทศประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านข้อกฎหมายที่มีความทับซ้อนหรือปัญหาจากการขอใบอนุญาตต่างๆ โดยเฉพาะใบอาหาร และยา

    “นายกฯ รับทราบความเห็นจากภาคธุรกิจว่า เมืองไทยเวลาทำธุรกิจ มันมีปัญหากฎระเบียบข้อบังคับที่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้เรื่องดีๆ กว่าจะได้นำออกมาใช้ เช่น ยารักษามะเร็งหรือโรคสำคัญ ในยุโรปหรือประเทศที่เจริญแล้ว เขาขึ้นทะเบียนให้ประชาชนมีโอกาสใช้มานานหลายปีแล้ว แต่เมืองไทยขึ้นทะเบียนยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน ทั้งที่เขาได้รับมาตรฐานการแพทย์แล้ว” นายชัย กล่าว

    นายชัย รายงานว่า นายกฯ บอกว่าเรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเรื่อง Ease of doing business จึงสั่งการว่าให้ให้คณะกรรมการด้านการขอปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตผ่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สำนักงานอาหารและยาผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้เร่งแก้ไขและปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นการดึงนักลงทุนจากต่างชาติ รวมไปถึงนักธุรกิจในประเทศไทยเองจะได้สร้างบรรยากาศที่ดีที่เอื้อต่อการลงทุน

    สั่งทุกหน่วยเร่งให้ความเห็น ร่าง กม.ประมงฉบับแก้ไข

    สืบเนื่องจากที่ประชุม ครม. รับทราบร่าง พ.ร.บ. แก้ไข พ.ร.ก. ประมง พ.ศ.2558 หรือที่เรียกว่า “IUU” โดยที่ประชุม ได้เห็นชอบในหลักการ

    นายชัย อธิบายว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ และเน้นการลงโทษ แต่ไม่เน้นการคุ้มครองการประกอบอาชีพ มีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคมาก จึงมีข้อเสนอจากชาวประมง เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการทำมาหากิน

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. จะนำข้อเรียกร้องต่างๆ ของชาวประมงมาใช้ประกอบการพิจารณาการยกร่าง ซึ่งได้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงฯ และผ่านการรับฟังความเห็นชอบของประชาชนมาแล้ว อย่างไรก็ตาม บางหน่วยงานยังพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ครบถ้วน

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้สั่งการไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาการประมง โดยให้นำกลับไปรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด และนำมาเสนออีกครั้งการประชุม ครม. ครั้งหน้า

    วอนทุกหน่วยช่วยสนับสนุน OTOP

    นายชัย กล่าวถึงเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มและการผลักดันสินค้าในโครงการพระราชดำริและสินค้า OTOP ในชุมชนสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า นายกฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ไปดูโครงการพระราชดำริพร้อมกับหลักสูตรรวมมิตร ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ภาคธุรกิจจะได้ร่วมมือกับเกษตรกรในการยกระดับผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้ต่อยอดทางวิธีการผลิต การทำการตลาดและโฆษณาการส่งออกไปยังต่างประเทศ การขายออนไลน์ และขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือในการส่งเสริม และผลักดันให้สินค้าในโครงการพระราชดำริและสินค้า OTOP ในชุมชนในการเพิ่มมูลค่าและยอดขาย

    สั่ง มท. – แรงงาน หาอาชีพให้เยาวชน ลดความรุนแรง

    นายชัย ยังรายงานเรื่องมาตรการส่งเสริมการมีงานทำว่า เนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาการรวมกลุ่มของวัยรุ่นที่อาจจะเกิดจากการที่ไม่มีงานทำ หรือ รายได้ไม่เพียงพอ ตลอดจนมีการใช้อาวุธ และความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของสังคมโดยรวม โดยที่ในปัจจุบันมีหน่วยงานความมั่นคงได้มีมาตรการและเข้ามาดูแลความปลอดภัยของสังคมโดยรวมแล้ว แต่นายกฯ สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานกำหนดให้มีมาตรการในการส่งเสริมอาชีพ หรือ มาตรการในการควบคุมความปลอดภัยให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ตั้งคณะทำงานรับมือภัยแล้งปี’67

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบสรุปสถานการณ์สาธารณภัยและการช่วยเหลือ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีสาระสำคัญในส่วนของการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567 ตามข้อสั่งการของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ดังนี้

    1. จัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า ปริมาณฝน และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ พร้อมทั้งวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดภัยแล้งในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อผู้อำนวยการจังหวัด ในการสั่งการหน่วยงานตามแผนเผชิญเหตุภัยแล้งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา ภัยแล้งได้ทันท่วงที

    2. ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำและนำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง มาใช้ประกอบในการกำหนดหน่วยงานการแบ่งมอบพื้นที่ และมอบหมายภารกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ครอบคลุมถึงระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน/ชุมชน

    3. สำรวจพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนที่เคยเกิดปัญหากรณีขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นประจำตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ ที่ในห้วงฤดูฝนมีปริมาณฝนตกน้อย จนไม่สามารถเก็บกักน้ำในห้วงที่ผ่านมาได้ พร้อมทั้งให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานของกรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวให้ชัดเจน

    4. วางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการของจังหวัด ในการกำหนดแนวทางการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งกรณีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งกำหนดแนวงทางการระบายและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำขนาดต่าง ๆ ให้เพียงพอ

    5. การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะกรณีพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมถึงประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เกษตร เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย เพื่อกักเก็บน้ำเพิ่มเติมในแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

    6. เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเครื่องมือของหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานในพื้นที่ไว้เป็นการล่วงหน้า โดยจัดเป็นชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ สอดส่อง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะกรณีการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ระมัดระวังอย่าให้เกิดปัญหาจากกรณีการแย่งชิงน้ำ หรือการนำประเด็นการขาดแคลนน้ำมาใช้จัดตั้งกลุ่มมวลชน เพื่อสร้างสถานการณ์ความขัดแย้ง

    7. สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ภาคส่วนต่าง ๆ มีความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการซ่อมสร้าง บำรุงรักษาภาชนะเก็บน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

    8. รายงานผลการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567 สถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ ให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง

    เห็นชอบกรอบเจรจายกร่างอนุสัญญา ฯต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ การประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจ เพื่อจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรมตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

    1. เห็นชอบกรอบการเจรจาร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม (อนุสัญญาฯ)

    2. เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยร่วมเจรจาร่างอนุสัญญาฯ โดยใช้กรอบการเจรจาร่างอนุสัญญาฯ ในการกำหนดท่าทีในการเจรจาร่างอนุสัญญาฯ โดยหากมีความจำเป็นและมีการปรับแก้ร่างอนุสัญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของคนไทย ขอให้คณะผู้แทนไทยใช้ดุลยพินิจในการร่วมการเจรจาร่างอนุสัญญาฯ ได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก ทั้งนี้ โดยคำนึงว่าไทยสามารถเลือกเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่กำลังมีการจัดทำดังกล่าวได้เมื่อมีความพร้อม (การเจรจาร่างอนุสัญญาฯ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ นครนิยอร์ก สหรัฐอเมริกา)

    เรื่องเดิม คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 อนุมัติให้คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจ เพื่อจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม (คณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ) ประกอบด้วย กต. สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (United Nations: UN) ณ นครนิวยอร์ก หรือเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำ UN ณ กรุงเวียนนาเป็นหัวหน้าคณะ ขึ้นอยู่กับสถานที่ของการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ โดยไม่ต้องมีการเสนอองค์ประกอบคณะผู้แทนของฝ่ายไทยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ให้ผู้แทนของสำนักงานคณะกรมการกฤษฎีกา (สคก.) เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้วย

    โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    1. การประชุมสมัชชา UN สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 (UNGA74) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ได้รับรองข้อมติ UNGA ที่ 74/247 เรื่อง “Countering the use of information and communications technologies for criminal purposes” ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ เพื่อให้มีการเริ่มหารือเกี่ยวกับการจัดทำอนุสัญญาฯ ในกรอบ UN โดยอนุสัญญาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม ซึ่งเป็นภัยคุกคามข้ามชาติและเป็นประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ที่สร้างความเสียหายต่อรัฐ เอกชนและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

    2. การประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ ได้จัดการประชุมมาแล้ว 6 สมัย [การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นสมัยสุดท้าย (Concluding Session)] โดยที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมีท่าทีที่แตกต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการเจรจาเพื่อพยายามหาฉันทามติในบางประเด็น เช่น

      2.1 ประเด็นขอบเขตของอนุสัญญาฯ ด้านฐานความผิดทางอาญา โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำระหว่าง (1) อาชญากรรมไซเบอร์ (cybercrime) กับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม (use of information and communications technologies for criminal purposes) และ (2) อาชญากรรมที่ต้องพึ่งพาระบบไซเบอร์และระบบคอมพิวเตอร์ (cyber-dependent crimes)2 กับอาชญากรรมดั้งเดิม ที่กระทำผ่านระบบไซเบอร์และระบบคอมพิวเตอร์ (cyber-enabled crimes)
      2.2 ประเด็นถ้อยคำและคำนิยาม โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำ (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ (computer data) กับข้อมูลดิจิทัล(digital information) (2) ระบบคอมพิวเตอร์ (computer system) กับอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communications technology device)

    3. กต. ได้มีการจัดประชุมหารือเพื่อเตรียมท่าทีไทย สำหรับการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ1 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อส. ตช. สมช. สกมช. ยธ. และ ดศ. ซึ่งหน่วยงานส่วนใหญ่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการมีอนุสัญญาระหว่างประเทศภายใต้กรอบ UN ความจำเป็นในการปรับปรุง และพัฒนากฎหมายภายใน รวมถึงการดำเนินการอื่น ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่จากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม ที่สามารถส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ตลอดจนประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศและการเสริมสร้างขีดความสามารถในเรื่องดังกล่าว กต. จึงได้จัดทำกรอบการเจรจาร่างอนุสัญญาฯ โดย ร่างอนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและผลักดันประเด็นและแนวทางที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทย ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม ซึ่งเป็นภัยคุกคามข้ามชาติ โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางกฎหมาย การสืบสวนสอบสวนร่วมกัน มาตรการป้องกัน และความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

    ตั้ง “ธงทอง จันทรางศุ” คุมบอร์ดกองทุนประเทศเพื่อนบ้าน

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียด ดังนี้

    1.การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายธนสาร ธรรมสอน เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ดังนี้

      1. ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ
      2. นายเสรี นนทสูติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. นางสาวเกตุสุดา สุประดิษฐ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      4. นายจักร บุญ-หลง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. นายปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 23 มกราคม 2567 เพิ่มเติม