ThaiPublica > คอลัมน์ > ย้อนรอย 12 ปี สารเคมีรั่ว ตรวจสารพิษเด็กไทยอันตรายเกิน 73 คน

ย้อนรอย 12 ปี สารเคมีรั่ว ตรวจสารพิษเด็กไทยอันตรายเกิน 73 คน

20 พฤษภาคม 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับฝ่ายสื่อสารสาธารณะ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งติดตามเหตุการณ์ตายผิดปกติในเด็กไทยมาตลอดหลายสิบปี ถึงข่าวใหญ่ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2567 ที่เพิ่งผ่านมา กับกรณีไฟไหม้ถังเก็บแก๊สโซลีน กระทั่งเกิดระเบิดที่โรงงานแห่งหนึ่งในย่านอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประชาชนต้องอพยพออกนอกพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นแค่ไม่กี่วัน (ปลายเดือน เม.ย. 2567) เพิ่งจะมีข่าวการลักลอบขนย้ายกากแร่แคดเมียมจากบ่อฝังกลบในจังหวัดตาก มายัง 3 โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร

แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ 1 ใน 3 โรงงานที่เป็นข่าวข้างต้น คือโรงงานเดียวกับที่สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงาน ได้เพิกถอนใบอนุญาตไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว โทษฐานเป็นต้นตอปล่อยสารตะกั่ว (มิ.ย. 2555)

เรื่องมีอยู่ว่า กลางเดือน มิ.ย. 2555 ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับผู้ป่วยเป็นเด็กหญิงทารกวัย 8 เดือน ที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในจังหวัดสระแก้ว โดยพ่อแม่กระเตงมาที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อทำงานโรงงานย่านบางน้ำจืด

ทารกหญิงรายนี้ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากมีอาการชักเกร็งทั้งตัวอย่างต่อเนื่อง และแพทย์ลงความเห็นว่าอาการชักน่าจะเกิดจากการได้รับสารพิษตะกั่ว

เมื่อมาถึงมือแพทย์ที่รามาฯ ก็ได้ให้ยาขับสารตะกั่วทันที เพราะตรวจพบระดับสารตะกั่วในเลือดสูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยถึง 16 เท่า คือตรวจพบ 166 mcg (ไมโครกรัม)/DL (เดซิลิตร) ในขณะมนุษย์ไม่ควรมีสารตะกั่วในเลือดเกินกว่า 10 mcg/DL แล้วยังต้องรีบใส่สายระบายลมในช่องปอด เพราะเด็กมีระบบหายใจล้มเหลว ระบบการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในปอดผิดปกติ ร่วมกับมีลมรั่วออกจากปอด กระทั่งระดับสารตะกั่วลดลงเหลือ 25 mcg/ DL แพทย์จึงอนุญาตให้พาเด็กกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านพักได้

จากนั้น ทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลสมุทรสาคร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ห้องแล็บเอกชน ได้ลงพื้นที่และเข้าพบเจ้าของโรงงานที่เด็กอาศัยอยู่ดังกล่าว เพื่อสอบถามและขอความร่วมมือตรวจสภาพโรงงาน ซึ่งก็พบว่า สภาพที่พักคนงานที่มีราว 20 ห้องนั้น เป็นลักษณะปิดทึบไม่มีช่องระบายลม เป็นห้องที่ใช้ทั้งนอนพักทั้งทำอาหารที่มีลักษณะเก่าโทรม

จากการสอบถามพ่อของทารกได้ให้ข้อมูลว่า ตนเองทำงานในหน้าที่ “ตากดิน” ซึ่งส่งมาจากโรงงานแห่งหนึ่งของจังหวัดในภาคกลาง มาตากให้แห้งใส่ถุงใหญ่ (big bag) เพื่อนำไปส่งต่อยังต่างประเทศ (จากการสังเกตเห็นพบว่า ดินที่พูดถึงมีลักษณะเป็นฝุ่นผงมีทั้งสีดำ สีเขียว สีเหลือง ซึ่งได้ทราบในภายหลังว่า คือกากขยะไอที เช่น พวกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาบดจนเป็นฝุ่นผง)

หลังจากนั้นไม่นาน กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานนี้ เพราะพบว่าเป็น “ต้นตอที่ปล่อยสารตะกั่ว” และยังได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวอีกว่า “โรงงานนี้ได้ยื่นจดทะเบียนทำอุตสาหกรรมประเภทคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย แต่กลับพบว่า มีการลักลอบนำตระกรันมาบดและตากแดดบริเวณภายนอกตัวอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารตะกั่วออกสู่อากาศ”

นั่นก็คือสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อคณะแพทย์ได้ทำการตรวจเลือดของคนงานทั้ง 15 คนของโรงงานเจ้าปัญหานี้ก็พบว่า มีค่าสารตะกั่วเกินมาตรฐานความปลอดภัยครบทั้ง 15 คน

ช่วงนั้นเกิดเป็นข่าวใหญ่ระดับอึกทึกครึกโครม ยิ่งเมื่อคณะแพทย์ได้ทำการตรวจเลือดเด็กๆ นักเรียนและคุณครูของโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงงานมหาภัยรายนี้ ก็พบว่าเด็กนักเรียนมีค่าสารตะกั่วเกินค่าความปลอดภัยถึง 73 คน แถมถัดมายังพบปัญหาเดียวกันนี้กับนักเรียนในอีก 3 โรงเรียนและ 1 ศูนย์เด็กเล็กในละแวกเดียวกันด้วย

เหตุการณ์ในครั้งนั้นยังคงติดค้างอยู่ในใจเสมอมา กระทั่งวันนี้มันเกิดปะทุขึ้นมาอีกหลังมีข่าวโรงงานที่เคยถูกสั่งปิดได้ก่อปัญหาร้ายแรงซ้ำซากขึ้นอีกแล้ว

กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 43, 57, 58 ที่ว่าด้วยสิทธิการอยู่อาศัยในบ้านเมืองนี้อย่างมีสุขภาพดีสิ่งแวดล้อมดี รวมทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 กฎหมายสำคัญเหล่านี้ยังคุ้มครองประชาชนอยู่หรือไม่ หรือได้กลายเป็นแค่เศษกระดาษ

อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของเสียอันตราย, อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีอันตรายล่วงหน้า, อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารพิษที่ตกค้างยาวนาน ฯลฯ บรรดาอนุสัญญาสารพัดที่รัฐไทยไปร่วมลงนามกับเขานั้น ท่านได้ปฏิบัติตามอย่างมีศักยภาพเช่นเดียวกับบ้านอื่นเมืองอื่นหรือไม่

ยิ่งคิดยิ่งรู้สึกผิดปกติ