ThaiPublica > คอลัมน์ > ในวันที่หายป่วยใจ – ชีวิตใหม่ของวัยรุ่นหลังการรักษาสุขภาพจิตจบลง

ในวันที่หายป่วยใจ – ชีวิตใหม่ของวัยรุ่นหลังการรักษาสุขภาพจิตจบลง

16 พฤษภาคม 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“คุณนึกออกมั้ยว่ารู้สึกอย่างไร ถ้าคุณคิดอยากจบชีวิต ในทุก ๆ เช้าที่ตื่นมา เป็นเวลาสามปี และยิ่งไปกว่านั้น ฉันเชื่อว่า คุณแทบนึกไม่ออกแน่ว่า ฉันหลุดพ้นจากห้วงเวลานั้นมาได้อย่างไร”

อาการเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องถาวร เช่นเดียวกันกับการป่วยทางใจ เราจะพามาสำรวจผู้ป่วยสุขภาพจิตว่า มองย้อนกลับไปเขามองตัวเองตอนที่ป่วยเป็นอย่างไร หายป่วยได้อย่างไร แล้วเขาเลือกที่จะใช้ชีวิตต่อไปจากวันนี้และในอนาคตอย่างไร เมื่อเขาไม่ต้องอยู่กับอาการป่วยใจอีกแล้ว จากคนที่เคยป่วยด้วยเป็นโรคซึมเศร้า ที่ต้องต่อสู้กับอาการเหล่านี้ จนวันหนึ่งสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ เรียนรู้การจัดการกับความรู้สึกในอดีตที่ผ่านไป ในวันที่หายดีแล้ว

“วันหนึ่งฉันตื่นมาพบว่า ความคิดอยากให้ชีวิตจบสิ้น ได้หายไปหมดแล้ว ฉันหายใจเข้าอย่างที่รู้สึกได้ว่า อากาศบริสุทธิ์กว่าทุก ๆ วันที่ฉันเคยหายใจ มันหายไปง่าย ๆ เพียงแค่นั้นเอง เหมือนตื่นขึ้นจากฝันร้าย แต่เรื่องราวต่อจากนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ง่ายเช่นเดียวกับเรื่องที่เพิ่งผ่านมา”

หลายคนที่กำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้ามักมีคำถามว่า สิ่งนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน

หนึ่งในความเห็นระบุว่า “ตอนนี้เราป่วยและรักษาโดยการใช้ยามาเกือบ 10 เดือนแล้ว แต่เรายังรู้สึกว่า เราไม่สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้ เรายังคงเบื่อหน่าย และไม่มีความสุขอยู่ตลอด เพียงแต่ดีขึ้น นอนหลับแบบไม่พึ่งยานอนหลับได้บ้างแล้ว ไม่ได้รู้สึกอยากจากโลกนี้ไปทุกวัน ไม่ได้ร้องไห้ทุรนทุราย หรือมีอารมณ์ดิ่งสุด ๆ เหมือนก่อนมารักษา รวม ๆ คือ เราจัดการตัวเองได้ดีขึ้นมาก รู้จักรับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น”

“แต่ลึก ๆ เรารู้สึกเหมือนว่า เราไม่มีวันหายจากโรคนี้ได้ เราเบื่อที่จะต้องกินยา เบื่อที่จะต้องไปหาหมอ และเบื่อที่สุดคือการรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ทั้ง ๆ ที่พยายามมองว่า โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคน่ารังเกียจ และไม่ใช่โรคติดต่อ เราแค่ป่วย กินยา รักษาเดี๋ยวก็หาย แต่ลึก ๆ มันก็สงสัยอยู่ตลอดว่า เราสามารถรักษาให้หายขาดได้จริง ๆ ใช่ไหม”

การป่วยด้วยอาการทางใจ สิ่งที่ปรากฏออกไปเหมือนเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ยังซุกซ่อนเรื่องราวขุ่นมัวจำนวนมากไว้ภายใน และรอวันปะทุออก หลายคนต้องใช้เวลาร่วมปี หรือ อาจจะหลายปีเพื่อเยียวยาสิ่งที่ประสบ แต่ ณ ขณะที่หายป่วย เหมือนได้อยู่ในอีกโลกใบหนึ่ง การรักษาที่ต่อเนื่องและไม่ขาดยาเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของการหายจากอาการซึมเศร้า

“ฉันตื่นมาแล้วพบว่า ตัวเองกำลังเรียนสิ่งที่ไม่ชอบ พบว่า ตัวเองได้เสียเพื่อนไปหลายคน พบว่า คนรักไม่ใช่คนที่ฉันต้องการ พบว่า ความสัมพันธ์กับครอบครัวนั้นได้แตกหักและพังทลายลง และพบว่า เรื่องเก่า ๆ ที่ได้จบไปแล้ว ยังคงตามหลอนหลอนฉันในรูปแบบที่เรียกว่า ความทรงจำ”

ผู้ป่วยหลายคน แม้จะรักษามาต่อเนื่องนานร่วมหลายเดือนแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับความทรงจำเชิงลบที่คอยตอกย้ำความรู้สึก เป็นความทรงจำที่คอยย้ำเตือนว่า เราเป็นคนไม่โอเค น่าอาย ทำอะไรไม่ได้ ไม่น่าภาคภูมิใจ

“ฉันยังคงไปพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากยาที่ถูกปรับลดลง ฉันได้รับคำแนะนำให้ปล่อยเรื่องราวในอดีตทิ้งไป การให้อภัยตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เหมือนกับการให้อภัยคนอื่น ๆ เลย จิตแพทย์บอกให้ฉันย้ำกับตัวเองว่า เรื่องราวในอดีตมันผ่านไปแล้ว และตอนนี้ฉันปลอดภัยแล้ว”

การให้อภัยตัวเองนั้นเป็นเรื่องยากเสมอ เพราะหนึ่งในวิวัฒนาการของมนุษย์คือ การให้อภัยผู้อื่น ซึ่งช่วยให้มนุษย์ยังสามารถอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนได้ แต่เพราะการที่เรารู้จักตัวเองดีเกินไป และรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ขณะที่เราตัดสินใจผิดพลาด สิ่งนี้ทำให้เราง่ายต่อการโทษตัวเองและยากเกินกว่าจะให้อภัย

การไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้ยังส่งผลต่อสุขภาพ เช่น ความเครียดสูงขึ้น นำมาซึ่งภูมิคุ้นกันในร่างกายที่ลดน้อยลง น้ำตาลในเลือดและความดันสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและระบบต่าง ๆ เมื่อเราเริ่มที่จะให้อภัยตัวเองแล้ว การพยายามเข้าใจและยอมรับคือจุดเริ่มต้นของการพยายามแก้ไขและการก้าวต่อไป

“และเมื่อฉันจัดวางให้อดีตเป็นเสมือนบทเรียน ฉันได้พบว่า ตัวเองนั้นแข็งแกร่ง เพราะฉันผ่านความเลวร้ายมาได้ด้วยตัวฉันเอง ฉันได้พบว่ามีคนที่รักฉันจริง เพราะพวกเขารับสายฉันทุกครั้งที่ฉันร้องไห้ ฉันพบว่าชีวิตมีคุณค่า อย่างที่จิตแพทย์ของฉันย้ำอยู่เสมอ”