ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เวทีประชุมสิ่งแวดล้อมวางเป้าโลกไร้มลพิษ มุ่งลดขยะทางทะเล-เศษพลาสติก เอกชนลงทุนเพิ่มแก้ Climate Change

เวทีประชุมสิ่งแวดล้อมวางเป้าโลกไร้มลพิษ มุ่งลดขยะทางทะเล-เศษพลาสติก เอกชนลงทุนเพิ่มแก้ Climate Change

15 ธันวาคม 2017


เวทีประชุมสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ปิดฉากด้วยประเทศสมาชิกจับมือมุ่งแก้ไขมลภาวะ ลดขยะทางทะเล เศษพลาสติก ลดโลกร้อนคืบหน้า ทุกประเทศเริ่มจัดทำแผน พร้อมใช้มาตรการทางการเงินกดดัน

ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสำคัญที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 2 เวทีด้วยกัน เวทีแรก คือ การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 3 (The third session of the United Nations Environment Assembly: UNEA 3) ระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม 2560 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ส่วนเวทีที่สองคือการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ One Planet Summit วันที่ 12 ธันวาคม ณ กรุงปารีส

ทั้งสองการประชุมได้ผลที่น่าพอใจ ผู้นำประเทศและผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบายเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก โดยในเวทีแรกที่ประชุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คนมีมติร่วมกันในการตั้งเป้าที่จะผลักดันให้โลกนี้เป็นโลกที่ปราศจากมลภาวะแวดล้อมหรือมลพิษ (pollution-free planet) ซึ่งตรงกับแนวคิดหลัก (theme) ที่กว่า 100 ประเทศสมาชิกส่งเข้ามาก่อนการประชุม อีกทั้งยังมีข้อเสนอแนะจำนวนมากต่อที่ประชุม ซึ่งรวมถึงแนวทางใหม่ในการจัดการกับมลพิษทางอากาศ ตลอดจนได้ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้กับพลเมืองหลายพันล้านคนทั่วโลก ทั้งการลดมลพิษทางอากาศ ดิน และน้ำ

สำหรับการประชุมเวทีที่สองซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 2 ปีของการยอมรับในความตกลงปารีส (Paris Agreement on Climate Change) เพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อน ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะหาแนวทางใหม่ๆ มาใช้เพื่อเร่งแก้ไขภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านการจัดการกับภาวะโลกร้อนของทุกประเทศสมาชิกที่มีการลงมือปฏิบัติจริงในทุกระดับ โดยที่หลายภาคส่วนได้ปรับแนวทางให้สอดคล้องกับความตกลงปารีสและเป้าหมายความยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

มุ่งลดขยะทางทะเลและเศษพลาสติก

การประชุมในเวทีแรกได้มีการนำเสนอข้อมูลด้านมลพิษที่น่าตระหนก โดยระบุว่าหากมีการปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรก ประชากรโลกจำนวน 1.49 พันล้านคนก็จะหายใจด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ พื้นที่ชายฝั่งที่มีความยาว 480,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 30% ของพื้นที่ชายฝั่งรวมของโลกจะสะอาดขึ้น และงบประมาณรวม 1.86 พันล้านดอลลาร์ สำหรับการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งโครงการนวัตกรรมทั้งหลายจะสามารถเริ่มเป็นจริงเป็นจังได้เสียที

การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 3 ที่มาภาพ: https://www.unenvironment.org/sites/default/files/styles/article_billboard_image/public/2017-12/UNEA3-2017.jpg?itok=s7hLePg5

การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 3 นี้ เป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ประกาศร่างปฏิญญาร่วมกัน ซึ่งมีใจความสำคัญคือ แต่ละประเทศต้องทุ่มเทเพื่อการป้องกัน บรรเทาผล และจัดการกับมลภาวะทางอากาศ บนบกและพื้นดิน แหล่งน้ำจืด และมหาสมุทร ที่มีผลต่อสุขภาพ สังคม ระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคง

ร่างปฏิญญาฉบับนี้ยังยึดมั่นต่อการเพิ่มการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายลดมลภาวะด้วยการลงมือปฏิบัติ การขับเคลื่อนสังคมไปสู่รูปแบบการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนที่มีพื้นฐานจากเศรษฐกิจที่หมุนเวียน รวมทั้งการส่งเสริมด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อผลักดันตลาดและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเสริมความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อม

ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบกรอบปฏิบัติ 13 ข้อที่ไม่มีผลผูกพันและ 3 ข้อกำหนด โดยหนึ่งในนั้น คือ การขับเคลื่อนให้จัดการกับขยะทางทะเลและเศษพลาสติก การป้องกันและลดมลพิษทางอากาศ ลดการใช้สารตะกั่วในสีและแบตเตอรี่ ปกป้องระบบนิเวศทางน้ำไม่ให้เกิดมลภาวะ จัดการกับมลภาวะของดิน และแก้ไขมลภาวะในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและการก่อร้าย

Dr.Edgar Gutiérrez รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและสิ่งแวดล้อม คอสตาริกา ในฐานะประธาน UNEA 3 กล่าวว่า “ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่นำเสนอต่อที่ประชุมแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจกับการรักษ์โลกน้อยมาก และแทบไม่มีโอกาสที่จะให้แก้ตัวอีกแล้ว ด้วยคำมั่นที่ให้ต่อที่ประชุมในครั้งนี้ เป็นการประกาศว่า เรายอมรับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และจะเปลี่ยนวิถีการผลิตการบริโภคและจัดการแก้ไขมลภาวะทุกรูปแบบทั่วโลก”

Erik Solheim ผู้บริหารยูเอ็นด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการกับมลภาวะได้บรรจุเป็นวาระสำคัญด้านนโยบายของโลก ซึ่งมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า แต่ที่ประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจจริงที่จะทำให้เกิดผลเชิงบวก

ทั้งหมดนี้ไม่เกิดจากยูเอ็นหรือรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่แรงสนับสนุนทั้งหลายมาจากภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และบุคคลทั่วไป ที่เรียกร้องให้กำจัดมลพิษ ที่แสดงให้เห็นว่าโลกมีความต้องการที่จะประสบความสำเร็จ ผ่านพ้นความท้าทายนี้ไปด้วยกัน

แรงสนับสนุนส่วนใหญ่ที่มีผลต่อการประชุมครั้งนี้มาจากทั่วโลก ผ่านแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมของยูเอ็นคือ Beat Pollution ที่ได้รับเสียงเรียกร้องให้แก้ไขถึง 2.5 ล้านเสียง และมีการแสดงเจตจำนงรายบุคคลที่จะลงมือปฏิบัติถึง 88,000 คน

Erik Solheim ได้นำเสนอรายงาน Towards a pollution-free planetต่อที่ประชุมเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในระดับนานาชาติ สำหรับการแก้ไขปัญหามลภาวะ ซึ่งประกอบด้วย 5 แนวทางด้วยกัน คือ

หนึ่ง ต้องมีผู้นำทางการเมืองและต้องมีพันธมิตร เพราะการร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นระดับโลกจะสร้างความยั่งยืนของการผูกพันในระดับนโยบายและรักษาความสำคัญไว้ได้ รวมทั้งจะมีผลให้ผู้มีอำนาจด้านนโยบายและพันธมิตรซึ่งรวมภาคเอกชนนั้น จะร่วมกันวางแผนป้องกันทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น กระบวนการพัฒนา ตลอดจนกลยุทธ์ด้านธุรกิจและงบประมาณ

สอง การมีนโยบายที่เหมาะสม กระบวนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมต้องมีความเข้มแข็งขึ้น โดยมีเป้าหมายไปที่มลภาวะที่มีภาวะรุนแรง ด้วยการบริหารความเสี่ยงและเสริมด้วยการนำกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาใช้ รวมทั้งการทำข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมแบบพหุภาคี และมาตรการอื่นๆ

สาม มีแนวทางใหม่ในการจัดการกับชีวิตและเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และให้ความสำคัญกับการลดและจัดการกับปริมาณขยะการบริโภคเป็นลำดับต้นๆ เพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

สี่ ลงทุนให้มากขึ้น โดยระดมเงินมาลงทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการผลิตการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมและจัดการกับมลภาวะ นอกจากนี้ควรเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัย การติดตามมลภาวะ โครงสร้างพื้นฐาน การจัดการและการควบคุม

ห้า การชี้แนะการปฏิบัติ ต้องมีการให้ข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชน เพื่อช่วยกันลดการมีส่วนในการสร้างมลภาวะ รวมทั้งชี้แนะให้มุ่งมั่นที่จะลดมลภาวะทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

สำหรับแนวปฏิบัติที่ประเทศสมาชิกเริ่มดำเนินการได้แก่

• ชิลี โอมาน แอฟริกาใต้ และศรีลังกา ได้ร่วมแคมเปญ CleanSeas ระหว่างการประชุมที่ไนโรบี โดยศรีลังกาให้คำมั่นว่าจะเริ่มห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2018 เป็นต้นไป รวมทั้งจะเริ่มให้มีการคัดแยกขยะกับรีไซเคิลขยะได้ และตั้งเป้าที่จะให้มหาสมุทรและชายฝั่งไร้มลภาวะภายในปี 2030 และขณะนี้มี 39 ประเทศเข้าร่วมแคมเปญ

• โคลอมเบีย สิงคโปร์ บัลแกเรีย ฮังการี และมองโกเลีย ร่วมกับอีก 100 เมืองในแคมเปญ BreatheLife ที่มีเป้าหมายจัดการกับมลภาวะทางอากาศ พร้อมลงนามที่จะลดมลภาวะทางอากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยภายในปี 2030 โดยที่สิงคโปร์ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงมาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซธรรมชาติจากรถยนต์รวมไปถึงมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม

มลภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายลงคือสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากร 1 ใน 4 คนทั่วโลก หรือ 12.6 ล้านคนต่อปี และยังมีผลทำลายระบบนิเวศในวงกว้าง โดยที่มลภาวะทางอากาศคร่าชีวิตคนได้มากสุด ราว 6.5 ล้านคนต่อปี และมีเมืองกว่า 80% ทั่วโลกที่คุณภาพอากาศต่ำกว่ามาตรฐาน UN

มลภาวะ ที่มาภาพ: http://web.unep.org/environmentassembly/assembly

การได้รับสารตะกั่วมีผลทำลายสมองในประชากรเด็ก 600,000 คนต่อปี ขณะที่ในทะเลมีพื้นที่อันตราย 500 แหล่งที่มีออกซิเจนน้อยที่จะให้สิ่งมีชีวิตทางทะเลดำรงชีวิตต่อไป อีกทั้งมากกว่า 80% ของน้ำเสียปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการบำบัด จึงเป็นพิษต่อพื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำทั้งทะเลสาบและแม่น้ำที่เป็นแหล่งน้ำดื่มของประชากร 300 ล้านคน

ทั้งหมดนี้คือต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดยรายงานของ Lancet Commission on Pollution and Health ระบุว่า ความสูญเสียด้านสวัสดิการที่มีต้นเหตุจากมลภาวะมีมูลค่ามากกว่า 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 6.2% ของจีดีพีโลกรวมกัน

ต้นทุนทางเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: http://web.unep.org/environmentassembly/assembly

เอกชนเล่นบทเชิงรุกใช้เงินเพิ่ม

การประชุมของเวทีที่สอง หรือ The One Planet Summit เป็นการประชุมระดับสุดยอดผู้นำอีกเวทีหนึ่ง เพราะนอกจากประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประธานธนาคารโลก เลขาธิการองค์การสหประชาชาติแล้วยังมีผู้นำระดับประเทศอีกจำนวนมากเข้าร่วมประชุมซึ่งหลังจากที่ Paris Agreement ผ่านพ้นไป 2 ปี พบว่าในจำนวน 170 ประเทศที่ลงนามยอมรับ Paris Agreement ได้เริ่มดำเนินการภายในเวลาไม่ถึงปี ซึ่งถือว่าเป็นสถิติใหม่ของการร่วมมือระดับโลก

นอกจากนี้ทุกประเทศมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในทุกระดับ โดยที่หลายภาคส่วนได้ปรับการทำงานให้สอดคล้องกับ Paris Agreement และเป้าหมาย SDGs ขณะที่หลายประเทศได้ร่างแผนปฏิบัติงานและเริ่มที่จะทำดำเนินการตามแผนที่จัดทำตาม ซึ่งหลายภาคมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดจากข้อมูลที่บ่งชี้การเติบโตของพลังงานทางเลือก เช่น พลังลมและพลังแสงอาทิตย์ที่โตขึ้น 2 เท่าในทุก 5.5 ปี

António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ลงทุนเพื่ออนาคต
ที่มาภาพ
: http://www.un.org/sustainabledevelopment/blog/2017/12/secretary-generals-remarks-one-planet-summit/

ที่ประชุม The One Planet Summit ประสบความสำเร็จอีกครั้ง เพราะมีการแสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนทางการเงิน จากสถาบันการเงินรัฐและเอกชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะบทบาททางการเงินของภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชากรโลกและการดำรงชีวิต ตลอดจนภาคเอกชนจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นและจะยิ่งผลักดัน Paris Agreement ให้มีความคืบหน้ามากขึ้น

นักลงทุนสถาบันจำนวน 225 รายที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมมูลค่า 26 ล้านล้านดอลลาร์ ประกาศว่าจะเพิ่มมาตรการกดดันให้ธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า 100 บริษัทใส่ใจกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงกรอบการทำงาน ให้คณะกรรมการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ มีการคำนึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และเน้นให้เปิดเผยข้อมูลทางการเงินของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ตามเกณฑ์ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD)

ปัจจุบัน 237 บริษัทที่มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) รวมกันมากกว่า 6.3 ล้านล้านดอลลาร์ ได้มีการแสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุน TCFD

ขณะที่ภาคเอกชนที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดย ExxonMobil ผู้ลิตน้ำมันอันดับต้นๆ ให้ข้อมูลว่า บริษัทยินดีที่จะปฏิบัติตามความต้องการของผู้ถือหุ้นที่จะให้มีการเปิดเผยว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีผลต่อธุรกิจอย่างไร โดยในเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ นั้น คณะกรรมการเห็นชอบที่จะเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นถึงผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้น 2 องศา และจุดยืนของบริษัทต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

บริษัท AXA จากเยอรมนี ยังคงมุ่งมั่นต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเพิ่มการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Investment) 4 เท่าจาก 3 พันล้านยูโรที่ประกาศไว้ในปี 2015 เป็น 12 พันล้านยูโรภายในปี 2020 และพร้อมที่จะใช้เงินอีก 3 พันล้านยูโร เพื่อลดการลงทุนในธุรกิจพลังงานที่มีการปล่อยก๊าซธรรมชาติในการผลิตมาก

กองทุนบำเหน็จบำนาญที่ใหญ่ที่สุดของนอร์เวย์ Storebrand มีแผนออกตราสารหนี้ fossil-fuel-free bond รวมมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ พร้อมกับเรียกร้องนักลงทุนให้ร่วมกันแก้ไขภาวะโลกร้อน

ทางด้านธนาคารโลกประกาศว่าจะหยุดการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต้นน้ำน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลังจากปี 2019 ยกเว้นโครงการก๊าซธรรมชาติในประเทศยากจนบางกรณี เพื่อให้ประชากรที่ยังยากจนได้มีโอกาสใช้พลังงาน และบางโครงการที่สอดคล้องกับ Paris Agreement นอกจากนี้ยังประกาศว่า กำลังเข้าสู่เป้าหมายที่จะปล่อยกู้เพื่อลดภาวะโลกร้อนให้ได้ 28% ภายในปี 2020

ขณะที่ฝั่งยุโรปเปิดเผยว่า ในแผน EU External Investment Plan ที่ตั้งเป้าระดมเงินเพื่อการลงทุนทั้งหมด 44 พันล้านยูโรนั้น ได้จัดสรรการลงทุนไว้ใน climate-smart investments ในวงเงิน 9 พันล้านยูโร ภายในปี 2020 โดยจะลงทุนใน 3 ด้านหลักคือ หนึ่ง sustainable cities สอง sustainable energy and connectivity สาม sustainable agriculture, rural entrepreneurs and agribusiness

ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนา (European Bank for Reconstruction and Development: EBRD) จับมือเป็นพันธมิตรกับGlobal Change Observation Mission: GCOM เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติการด้านภาวะโลกร้อนใน 60 เมืองทั่วโลก โดยมีวงเงินสนับสนุนโครงการ 1.5 พันล้านดอลลาร์

UN Environment ได้ทำข้อตกลงกับ BNP Paribas ที่จะสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการธุรกิจที่วัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ โดยมีวงเงินรวม 10 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2020

ผู้นำในทะเลแคริบเบียนได้ประกาศแผนที่ภายใต้ The Caribbean Climate-Smart Coalition จะสร้าง climate smart zone เป็นแห่งแรกของโลกด้วยเงินลงทุนรวม 8 พันล้านดอลลาร์ โดยจะลงทุนในพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับประชากรจำนวน 3.2 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะลดการพึ่งการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก ได้เต็ม 100%

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกาศต่อที่ประชุม โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกต่ำกว่า 2 องศา ขณะเดียวกันบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน SDGs ในปี 2030 ด้วย