ThaiPublica > คอลัมน์ > Generation Gap in Relationship สำรวจคู่รักในความสัมพันธ์ระหว่างวัย

Generation Gap in Relationship สำรวจคู่รักในความสัมพันธ์ระหว่างวัย

17 มกราคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“คำว่า คู่รักต่างวัยมันเชยมาก” ผู้ให้สัมภาษณ์ให้ความเห็นเมื่อทราบหัวข้อที่จะถูกเราซักถาม พร้อมขยายความว่า มันน่าเบื่อและไม่เหมาะสมพอๆ กับการระบุเพศในยุคสมัยนี้ “ตอนอยู่มัธยมก็คิดว่า ถ้าได้เดทกับรุ่นพี่คงเป็นอะไรที่โรแมนติกดี” ถึงอย่างนั้นผู้ให้สัมภาษณ์ก็ไม่เคยมีแฟนในวัยมัธยมเลย จนกระทั่งได้เจอกับแฟนคนปัจจุบัน ระหว่างที่เป็นนักศึกษา โดยมองว่าเป็นเรื่องบังเอิญและไม่คาดฝันมากๆ ที่แฟนคนแรกเป็นผู้ชายที่อายุห่างกันถึง 6 ปี

ปีที่ผ่านมาผมได้ร่วมกับทีมนักศึกษาและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พูดคุยถึงปัญหาชีวิตวัยรุ่นผ่านบทสนทนาอยู่หลายครั้ง จึงตั้งใจจะบอกเล่าผ่านบทความซีรีส์ Living in Generation สำรวจโลกวัยรุ่นผ่านเรื่องเล่าและประสบการณ์ท่ามกลางข้อมูลในเชิงสถิติและงานวิจัยเกี่ยวกับวัยรุ่นจำนวนมาก เป็นที่มาของการพูดถึงหนึ่งในเรื่องยอดฮิตคือ generation gap หรือ ช่องว่างระหว่างวัย เราได้เห็นงานเสวนา วงพูดคุย และงานเขียนถึงคำๆ นี้ตลอดปีที่แล้ว ตั้งแต่อคติที่เกิดจากวัย multi-generational development เกณฑ์การแบ่งช่วงวัย ไปจนถึงช่องว่างระหว่างวัยไม่มีจริง! ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนไอเดียที่เชื่อว่า สิ่งนี้ช่างเป็นเรื่องต้องแก้ไข ขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์กำลังมองอีกแบบหนึ่ง

แม้ในตอนแรกจะไม่ได้มองว่ามีอะไรแตกต่าง จนเริ่มสังเกตว่า แต่ละคนมีสิ่งที่ต้องทำในชีวิตต่างกัน อย่างแฟนก็จะมีธุระไปธนาคารเรื่อยๆ สักพักก็ประชุม ส่วนตนเองก็ต้องไปเรียนบ้าง ต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบอยู่บ่อยๆ หลักๆ คือแฟนมีงาน ส่วนเรามีการบ้าน เมื่อข้ามส่วนความรักในช่วงแรกไป ก็เริ่มพบปัญหาจากมุมมองที่ไม่ตรงกันกับแฟน “เราให้แฟนช่วยทำงานส่งอาจารย์ พวกงานวิชาการๆ หน่อย ส่วนเราก็ช่วยแฟนออกไอเดียเรื่องงานบ้าง ช่วยเรื่องเอกสารที่มีตัวเลขบ้าง”

“แต่วิธีทำงานของเราที่มองเดดไลน์เป็นหลัก ไม่ได้วางแผนไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน บางทีก็โดนแฟนมองว่าขี้เกียจ” ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นที่พบเจอได้ทั่วไปเมื่อต้องทำงานกับคนต่างวัยที่มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่เมื่อคุณภาพและความสดใหม่ของการทำงานสร้างสรรค์ในเจเนเรอชันสมัยนี้ได้พิสูจน์ตัวเองในวันเดดไลน์ อคติต่อวิธีการทำงานที่ถูกมองว่าขี้เกียจก็เปลี่ยนไป

เมื่อถามถึงปัญหารำคาญใจระหว่างคบกับแฟน “พูดอะไรแฟนไม่ค่อยฟังตาม เราคิดว่ามันน่าจะมาจาก mindset เรื่องอายุ แบบเราเด็กกว่า เลยไม่ฟังเรา” อีกปัญหาที่ฝ่ายอายุน้อยกว่าจะรู้สึกต่อการถูกปฏิบัติจากแฟนที่อายุมากกว่าคือ เมื่อไม่ถูกรับฟังเท่าที่ควร อาจด้วยมุมมองว่า อีกฝ่ายไม่เข้าใจโลกอย่างที่เขาเข้าใจ ส่วนการแก้ปัญหา ผู้ให้สัมภาษณ์ใช้วิธีอธิบายเหตุผลให้เข้าใจตรงกันและเลี่ยงที่จะใช้อารมณ์ ถึงในช่วงแรกจะต้องใช้ความพยายามมาก แต่ก็เป็นวิธีที่ยั่งยืน

“เรามีความคิดไม่ตรงกับแฟนบ่อยมาก เลยคิดจะเลิกอยู่เรื่อยๆ แต่เรากับแฟนก็จะมีเพื่อนคนนึงไว้ปรึกษาตลอด ไปถามเพื่อนทีไรเพื่อนก็จะบอกว่า ให้มองถึงข้อดีกันให้มาก อย่าไปโฟกัสที่ข้อเสีย แล้วก็ชวนคุยถึงเรื่องดีๆ ของอีกฝ่ายกัน แล้วเพื่อนก็มักจะยกข้อดีเสริมว่าเป็นบุญแล้วที่ไม่มีปัญหาด้านการเงินกับแฟน” บางครั้งมองไปที่ข้อดีก็ทำให้ข้อเสียเล็กลงไปได้ และมองเห็นว่า จะสามารถจัดการข้อเสียร่วมกันได้อย่างไรจากทั้งสองฝ่าย

คู่รักหลายคู่มีปัญหาด้านการเงิน แต่สำหรับผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว ถือว่าเป็นโชคดีที่แฟนมีหน้าที่การงานมั่นคงพอใช้จ่ายเลี้ยงดูได้ แต่จะเรียกว่าอีกฝ่ายเลี้ยงก็ไม่ถูก เพราะต่างฝ่ายต่างเลี้ยงดูกันคนละด้าน ทางฝ่ายผู้ให้สัมภาษณ์ก็เรียนไปช่วยดูแลแฟนไปให้แฟนสามารถโฟกัสกับการทำงานได้

การจะอยู่ร่วมกันต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะในบริบทไหน “ไม่มีคู่ไหนเพอร์เฟกต์ เราต้องยอมรับข้อเสียของกันและกันให้ได้ ถ้าหากมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ถ้าแต่ละคนยังสามารถส่งเสริมชีวิตกันและกันให้ก้าวหน้า ก็คบกันต่อไป” ประโยคข้างต้นถูกกล่าวเสริม เมื่อสังเกตเห็นว่า คู่ของผู้ให้สัมภาษณ์ก็คงไม่ใช่คู่ที่สมบูรณ์แบบ

“แต่ก่อนเวลาทะเลาะกันแฟนชอบพูดว่าเราเด็กเกินไป แต่เราก็ด่าจนแฟนเลิกพูด มันถูกซะที่ไหนล่ะพูดอย่างงี้ จะให้ทำยังไง ก็อายุเท่านี้ มันไม่ใช่เรื่องที่เราเปลี่ยนแปลงได้ พูดอย่างนี้ก็มีแต่จะขัดแย้ง” อีกคำแนะนำในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุข คือการไม่พูดสิ่งที่พูดแล้วอีกฝ่ายเอาไปใช้ปรับปรุงแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะมันมักนำมาซึ่งความคลางแคลงใจ

“เราว่าความห่างของอายุมันเติมเต็มคู่ของเรา” ผู้พูดกล่าวต่อ “เราไม่อยากให้มองเรื่องนี้เป็นแค่แฟนที่อายุห่างกัน แต่อยากให้มองว่านี่คือคนสองคนที่อายุต่างกันแต่เข้าใจกันได้ และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

ถามถึงเทคนิคที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น มีคำแนะนำที่ขัดแย้งกับสังคมไทยนั่นคือ การไม่พูดครับค่ะ ไม่เรียกพี่เรียกน้อง ผู้ให้สัมภาษณ์บอกกับเราว่า มันทำให้รู้สึกสนิทใจมากขึ้นและรู้สึกเท่าเทียมกันอย่างที่ควร

จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการที่คนสองคนซึ่งอายุต่างกันจะเข้าใจกัน คือความอยากที่จะทำความเข้าใจกัน ไม่ใช่จากทัศนคติที่ว่า ต้องทำงานด้วยกัน เลยต้องทำความเข้าใจกัน เชื่อว่าทัศนคติที่ดีต่อกันจะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยอันเป็นปัญหาของยุคสมัยได้

“พอเข้าใจกันถึงจุดหนึ่ง มันก็ลืมไปเลยว่าอายุต่างกันตั้งหลายปี” บทสรุปนี้นำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและมีความสุข โดยที่ความต่างทางอายุไม่ใช่เครื่องขวางกั้นความสัมพันธ์ที่ดี