ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ 8 เดือน กลับลำ “แหล่งเงิน” หลายตลบ ทำงบเบิกจ่ายปี’67 ค้างท่อกว่า 5 แสนล้าน

‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ 8 เดือน กลับลำ “แหล่งเงิน” หลายตลบ ทำงบเบิกจ่ายปี’67 ค้างท่อกว่า 5 แสนล้าน

26 พฤษภาคม 2024


เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภา : www.thaigov.go.th

แจก 10,000 บาท ผ่าน ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ 8 เดือน ‘กู้ – ไม่กู้’ กลับลำหลายตลบ กระทบผลการเบิกจ่ายงบฯปี’67 เหลือเวลาใช้จ่ายเงิน 5 เดือน งบลงทุนค้างท่อกว่า 5 แสนล้านบาท

กว่า 1 ปี นับจากวันที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายหาเสียง ชูโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นเรือธงในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ การกระจายเม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท เข้าสู่ชุมชนอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ เพื่อสร้างเงินหมุน และนำพาประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยยื่นแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ามาจาก 4 แหล่ง

    1. รายได้จากการจัดเก็บภาษีในปี 2567 ที่เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท
    2. ภาษีที่เก็บได้จากผลคูณทางเศรษฐกิจ 100,000 ล้านบาท
    3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท
    4. การบริหารงบประมาณที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้ระบุว่าจะใช้วิธีการกู้ยืมเงิน แต่อย่างใด

กลับลำครั้ง 1 ออก พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้าน แทนงบฯปกติ

แต่หลังจากได้เป็นรัฐบาล ปรากฏว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไปแถลงนโยบายที่รัฐสภา และที่ทำเนียบรัฐบาล ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขรายละเอียดโครงการ Digital Wallet ใหม่ จากเดิมใช้วิธีบริหารงบประมาณรายจ่าย เปลี่ยนมาเป็น การออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ยืมเงิน 500,000 ล้านบาท แทน โดยอ้างเหตุวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเงิน 10,000 บาท จากเดิมแจกทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ของใหม่แจกให้เฉพาะคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แต่ต้องมีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท ทำให้จำนวนผู้มีสิทธิรับเงินลดลงจาก 56 ล้านคน เหลือ 50 ล้านคน

เหตุผลที่ใช้เป็นข้ออ้างในการยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เศรษฐกิจไทย วิกฤติ หรือ ไม่วิกฤติ ทาง ป.ป.ช.จึงไปรวบรวมความเห็นหน่วยงานงานที่ทำหน้าที่ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ แบงก์ชาติ และนักวิชาการเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นำมาสรุปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ส่งให้รัฐบาลพิจารณา โดยผลการศึกษาของ ป.ป.ช. สรุป “เศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายวิกฤติ และไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดวิกฤติ…ตามนิยามของธนาคารโลก และ IMF … เพียงแต่มีอัตราการเจริญเติบในอัตราที่ชะลอตัว หรือ ต่ำกว่าศักยภาพ”

โดย ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะรัฐบาลว่า “หากยังคงเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท มาทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ต่อไป อาจมีความเสี่ยงผิดเงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 53 และ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศยังไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ถึงขั้นที่จะต้องตรากฎหมายพิเศษมากู้เงินแต่อย่างใด และโครงการนี้ไม่อยู่ในข่ายกรณีจำเป็นเร่งด่วน ตั้งงบประมาณไม่ทัน แต่เป็นการจ่ายเงินครั้งเดียวในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่อง … หากมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน ควรช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณปกติ…”

หลังจากที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาข้อเสนอของ ป.ป.ช.เสร็จ ก็ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ไปศึกษา และนำกลับมาเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ในวันที่ 10 เมษายน 2567

กลับลำครั้งที่ 2 ไม่กู้ – ใช้เงิน ธ.ก.ส.ผสมงบฯปกติแทน

ผลปรากฏว่า ไปต่อไม่ไหว นายกฯ จึงกลับลำไม่ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท แล้ว กลับไปใช้วิธีบริหารจัดการงบประมาณ หรือ “งบฯปกติ” แทนเหมือนตอนที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง และที่แจ้งต่อ กกต. โดยใช้แหล่งเงินจาก 3 ส่วน คือ

1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว

2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐวงเงิน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ 2561 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณปี 2568 และ

3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ซึ่งอาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ กรณีวงเงินไม่เพียงพอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากนั้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จัดประชุมหารือกับสำนักงบประมาณ (สำนักงบฯ) ตามที่ ครม.มอบหมาย ได้ข้อสรุปว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2567 เป็นต้นมา สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบฯให้หน่วยรับงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 3,457,941 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 99.37% ของวงเงินงบประมาณในปี 2567 ในจำนวนนี้ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณออกไปใช้จ่ายแล้ว 1,749,963 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50.61% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบฯ ที่เหลืออีกครึ่งมีเวลาใช้จ่ายเงินอีก 5 เดือน ประกอบกับกรมบัญชีกลางได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างประเภทรายการปีเดียว และเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายน 2567 ส่วนรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ควรก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567

กลับลำครั้งที่ 3 ไม่พับงบฯ – ใช้งบฯกลางปี’67 แทน

ดังนั้น การบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 หาเงิน 175,000 ล้านบาท มาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ตามที่ ครม.เคยมีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 โดยเฉพาะการใช้วิธีปรับลดงบประมาณหน่วยรับงบประมาณที่เบิกจ่ายไม่ทัน หรือ หมดความจำเป็นไปให้หน่วยงานอื่น ต้องออกเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น ปรากฎว่าในทางปฏิบัติก็มีข้อจำกัดในเรื่องวงเงินงบประมาณที่ได้จัดสรรไปแล้ว และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ต้องหยุดชะงัก หรือ ชะลอตัวลง เนื่องจากในระหว่างที่ยกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายฯ นั้น หน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยต้องชะลอกการเบิกจ่าย การโอน หรือ เปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรทุกกรณีไปจนกว่ากระบวนการพิจารณาโอนงบ ฯ จะแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ดังนั้น สำนักงบฯจึงทำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 มีมติเห็นชอบการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 หรือ “งบฯกลางปี 2567” แทนการยกร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ทั้งนี้ เนื่องจากติดปัญหาตามที่กล่าวข้างต้น

จากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แบบกลับไปกลับมาตามที่กล่าวข้างต้น แทนที่จะรีบออกมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ตั้งแต่วันที่ได้เข้ามาบริหารประเทศกลับไม่เร่งดำเนินการไปเสียเวลาอยู่กับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ส่งผลทำให้การลงทุนภาครัฐติดลบ 27.7% โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจค้างท่อกว่า 5.8 แสนล้านบาท เหลือเวลาเบิกจ่ายแค่ 5 เดือน สุดท้ายก็ต้องกลับมาใช้งบฯปกติ…

  • ครม.กลับลำจัดงบกลางปี’67 ทำ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ แทนโยกงบ กู้ชดเชยขาดดุลได้ 815,000 ล้าน-เคาะวงเงิน 28 พ.ค.นี้
  • สภาพัฒน์ฯหั่น GDP ปี’67 เหลือ 2.5% หลังเศรษฐกิจไทย Q1 โตแค่ 1.5%
  • การบริหารเศรษฐกิจ แบบเพี้ยนๆของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’
  • กลเกมหาแหล่งเงินรัฐบาลเศรษฐา! 10 เม.ย.นี้ เคาะ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ มาจากไหน?
  • รัฐบาล“เศรษฐา” กลับลำสั่งคลัง-สำนักงบฯ หา 5 แสนล้าน ลุย ‘Digital Wallet’- คาดใช้ 3 แนวทาง
  • ‘เพื่อไทย’ แจ้ง กกต. 70 นโยบาย ใช้เงินจากไหน ?
  • ครม.เร่งล้างท่องบฯปี’67 จี้ทำสัญญา พค.นี้ – ปรับบำนาญ ขรก.เป็น 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้